เลือก สว. ระดับประเทศ: เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ 153 ผู้สมัครกลุ่มสาธารณสุข

โคแฟคตรวจสอบเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มการสาธารณสุขจำนวน 153 คนที่ผ่านเข้ารอบการเลือกระดับประเทศที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 มิ.ย. 2567 พบว่าส่วนใหญ่จบการศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ ส่วนประวัติการทำงานพบว่าผู้สมัครเกือบครึ่งหนึ่งมาจากสายงานสาธารณสุข เช่น สถานีอนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและจังหวัด รองลงมาคือแพทย์ 24 คน และพยาบาล 23 คน ส่วนผู้สมัครที่ระบุชัดว่าเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มี 2 คน

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สมัครบางคนให้ข้อมูลไม่ชัดเจนหรือไม่ครบถ้วน เช่น ผู้สมัคร 1 คน ไม่เขียนประวัติการศึกษาและประวัติการทำงานเลย ผู้สมัคร 2 คน นามสกุลเดียวกัน ผ่านการเลือกระดับจังหวัดจากจังหวัดเดียวกัน ลักษณะภาพถ่ายและการกรอกข้อมูลในเอกสารแนะนำตัวคล้ายกันอย่างมาก คือ ระบุประวัติการศึกษาว่า “ปริญญาตรี สาขาพยาบาล และระบุประวัติการทำงานเพียงประโยคเดียวว่า “ประกอบอาชีพกลุ่มพยาบาล”

ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 แบ่งผู้สมัครเป็น 20 กลุ่มอาชีพ กลุ่มที่ 4 คือ “กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน” มีผู้สมัคร 1,628 คน ผ่านการรับรองคุณสมบัติ 1,597 คน ผ่านการเลือกระดับอำเภอไประดับจังหวัด 1,024 คน จากระดับจังหวัดไประดับประเทศ 153 คน ในจำนวนนี้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกจะได้รับเลือกเป็น สว. กลุ่มสาธารณสุข ส่วนอันดับที่ 11-15 เป็นรายชื่อสำรอง

เปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันของข้อมูลในเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครกลุ่มสาธารณสุข 2 คน ที่เป็นตัวแทนจากจังหวัดเดียวกัน ระบุประวัติการศึกษาและการทำงานเหมือนกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่ากระบวนการเลือก สว. ครั้งนี้เต็มไปด้วยปัญหาและข้อร้องเรียน โดยเฉพาะข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติ ประวัติการศึกษาและการทำงานของผู้สมัคร กลุ่ม 4 เป็นกลุ่มที่ถูกจับตามมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะนอกจากการแพทย์และสาธารณสุขจะเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนแล้ว กลุ่มนี้ยังมีการร้องเรียนเรื่องการตีความคุณสมบัติของผู้สมัครและข้อกล่าวหาเรื่องการ “จัดตั้ง” ผู้สมัคร ก่อนหน้านี้ที่จังหวัดมุกดาหารมีการยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยว่า อสม. มีสิทธิสมัครในกลุ่มนี้หรือไม่ แต่ศาลยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าผู้ร้องไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ส่วนข้อกล่าวหาว่ามีการระดม อสม. มาสมัคร สว. ในหลายพื้นที่ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง

สืบจาก สว.3

โคแฟคตรวจสอบข้อมูลแนะนำตัวผู้สมัครกลุ่มสาธารณสุขทั้ง 153 คน ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อดูว่าผู้ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายและมีโอกาสจะได้เป็น สว. นี้เป็นใครกันบ้าง เรียนจบอะไรมา และทำงานอะไร โดยใช้ข้อมูลจากเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครหรือ “สว. 3” ที่ กกต.กำหนดให้ผู้สมัครระบุชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ที่ติดต่อได้ ประวัติการศึกษา และประวัติ/ประสบการณ์การทำงานไม่เกิน 5 บรรทัด ประกอบกับข้อมูลในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกระดับประเทศ (สว.ป. 5) กลุ่มที่ 4 ที่ กกต. เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2567 สรุปข้อมูลที่น่าสนใจได้ดังนี้

อายุ

อายุน้อยสุด 40 ปี อายุมากสุด 77 ปี

เพศ

ชาย 97 คน (63.4%) หญิง 56 (36.6%)

อาชีพ

  • ข้าราชการบำนาญ 78 คน
  • แพทย์และศัลยแพทย์ 17 คน
  • รับราชการ 14 คน
  • พยาบาล 13 คน
  • เภสัชกร 6 คน
  • ทันตแพทย์ 3 คน
  • สัตวแพทย์ 3 คน
  • อาจารย์มหาวิทยาลัย 2 คน
  • เจ้าของกิจการ 2 คน
  • พนักงานราชการ, พนักงานหน่วยงานเอกชน, พนักงานช่วยเหลือด้านการแพทย์, ข้าราชการการเมือง, ทนายความ, เกษตรกรรม, ทำสวน, ค้าขาย, ตัวแทนประกันชีวิต, รับจ้าง อาชีพละ 1 คน 
  • อาชีพอื่น ๆ 5 คน

ข้อสังเกตโคแฟค: ข้อมูลนี้นำมาจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกระดับประเทศ กลุ่มที่ 4 (สว.ป. 5) ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่ไม่ตรงกับอาชีพที่ผู้สมัครระบุในเอกสารแนะนำตัว (สว. 3) เช่น ผู้สมัครคนหนึ่งระบุใน สว. 3 ว่า “แม่บ้าน” แต่ใน สว.ป. 5 เขียนว่า “เภสัชกร” อีกคนหนึ่งระบุอาชีพ “นวดแผนไทยและสมุนไพร” ใน สว.ป. 5 เปลี่ยนเป็น “ผู้ปฏิบัติงานด้านบริการอื่น ๆ”    

การศึกษา

1) วุฒิการศึกษาสูงสุด (ข้อมูลจาก สว.ป.5)

  • ปริญญาเอก 14 คน
  • ปริญญาโท 49 คน
  • ปริญญาตรี 77 คน
  • ต่ำกว่าปริญญาตรี 13 คน

2)  ผู้สมัคร 14 คน ที่ระบุการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอก จบมาทางด้านไหนบ้าง

  • ด้านการแพทย์ 6 คน (วุฒิบัตรสูติศาสตร์และนรีเวช, วุฒิบัตรศัลยศาสตร์, วุฒิบัตรสาขาจิตเวชศาสตร์, วุฒิบัตรสาขาประสาทศัลยศาสตร์, วุฒิบัตรศัลยกรรม)
  • ด้านอื่นๆ 8 คน (จิตวิทยา, ศิลปศาสตร์, บริหารจัดการ, บริหารธุรกิจ, นิติศาสตร์, พุทธศาสตร์, รัฐประศาสนศาสตร์)

3) ผู้สมัครที่ได้วุฒิปริญญาตรีหรือเทียบเท่า จบมาทางด้านไหนบ้าง

  • สาธารณสุขศาสตร์ 46 คน (ปริญญาตรีสาธารณสุขศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สาขาสาธารณสุขชุมชน)
  • พยาบาลศาสตร์ 28 คน (รวมวุฒิการศึกษาด้านพยาบาลทั้งหมด เช่น ปริญญาตรีสาขาพยาบาลศาสตร์, ประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์และการผดุงครรภ์ขั้นสูง, วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาพยาบาล) 
  • แพทยศาสตร์ 24 คน
  • เภสัชศาสตร์ 7 คน
  • วิทยาศาสตร์ 5 คน
  • ทันตแพทยศาสตร์ 3 คน
  • สัตว์แพทย์ศาสตร์ 1 คน
  • สาขาอื่นๆ ได้แก่ นิติศาสตร์ (6 คน) รัฐศาสตร์ (2) รัฐประศาสนศาสตร์ (1) พัฒนาชุมชน (1) ส่งเสริมการเกษตร (1) ศึกษาศาสตร์ (1) สุขศึกษา (1) ศิลปศาสตร์ (1)

หมายเหตุ: ผู้สมัครบางคนระบุวุฒิปริญญาตรีมากกว่า 1 วุฒิ

4) ในจำนวนผู้สมัคร 153 คน มีกี่คนที่มีประวัติการศึกษาการแพทย์หรือการสาธารณสุข

  • มีประวัติการศึกษาด้านการแพทย์หรือสาธารณสุข (ทุกหลักสูตรและวุฒิการศึกษา) 140 คน
  • ไม่มีประวัติการศึกษาด้านสาธารณสุข 6 คน (จบชั้น ม.ศ.3, ม.6, ปวช.บัญชี, ปวส.พาณิชยการ, กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี)
  • ประวัติการศึกษาไม่ชัดเจน ไม่บอกว่าเรียนด้านไหนมา 6 คน
  • ไม่ระบุประวัติการศึกษา 1 คน

ประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ในการทำงาน

1) สายงานด้านสาธารณสุข 70 คน

  • เคยเป็นหัวหน้าสถานีอนามัย, ผู้อำนวยการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สถานีอนามัยขนาดใหญ่)  21 คน
  • เคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 18 คน
  • เคยเป็นสาธารณสุขอำเภอหรือรองสาธารณสุขอำเภอ 16 คน
  • เคยเป็นสาธารณสุขจังหวัดหรือรองสาธารณสุขจังหวัด 9 คน
  • เคยเป็นผู้บริหารในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 4 คน (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน, สถาบันป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง, ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ)
  • เคยเป็นผู้บริหารงานด้านสาธารณสุขในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาลตำบล อบต. 6 คน
  • เคยเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล 1 คน

หมายเหตุ: ผู้สมัครหลายคนมีประวัติการทำงานในหลายตำแหน่ง ส่วนมากจะเริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ขึ้นเป็นหัวหน้าสถานีอนามัย ผู้อำนวยการ รพ.สต. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และสาธารณสุขจังหวัด หรือไปสังกัดกองการสาธารณสุขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2) แพทย์ 24 คน

  • เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล รองผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ หรือเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล 10 คน
  • เคยเป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งในแพทยสภา 2 คน
  • เคยเป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งในสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน 2 คน
  • เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข 1 คน (รองปลัดกระทรวง)
  • มีประวัติทำงานการเมือง 4 คน (สส./อดีตผู้สมัคร สส., สมาชิกวุฒิสภา, นายกเทศมนตรี)
  • โซเชียลมีเดียอินฟลูเอนเซอร์ด้านการแพทย์และสุขภาพ 1 คน

3) พยาบาลวิชาชีพ 23 คน

4) เภสัชกร 6 คน    

ข้อสังเกตโคแฟค: จากข้อมูลในเอกสารแนะนำตัว พบว่ามีประวัติการทำงานด้านเภสัชกรรมชัดเจน 2 คน คนหนึ่งเป็นเภสัชกรประจำโรงพยาบาลรัฐและเอกชน อีกคนหนึ่งเป็นเภสัชกรประจำร้านยา ผู้สมัครอีกคนหนึ่งระบุว่ามีใบประกอบโรคศิลปะ สาขาเภสัชกรรมไทย ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายยาแผนโบราณและทำโครงการแจกสมุนไพรต้านมะเร็ง

ผู้สมัครอีก 3 คน ไม่ได้ระบุประวัติการทำงานด้านเภสัชกรรมที่ชัดเจนนัก คนหนึ่งเป็นอดีตผู้สมัคร สส. เน้นประวัติงานด้านการเมือง อีกคนหนึ่งระบุว่าเคยเป็นผู้อำนวยการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และผู้ทรงคุณวุฒิที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัด และผู้สมัครอีกคนระบุอาชีพ “แม่บ้าน” และเคยทำงานผลิตยาและหน่วยเตรียมเคมีบำบัดที่โรงพยาบาล

5) ทันตแพทย์ 3 คน

เปิดคลินิกทันตกรรม 2 คน อีก 1 คน เป็นทันตแพทย์สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติทันตวิทยา

6) สัตวแพทย์ 3 คน

ผู้สมัคร 2 คน เป็นอดีตสัตวแพทย์สังกัดกรมปศุสัตว์ อีก 1 คนจบสัตวแพทยศาสตร์และเปิดคลินิกรักษาสัตว์

7) แพทย์แผนไทย นวดแผนไทยและการใช้สมุนไพร 4 คน

8) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 2 คน 

ผู้สมัคร 2 คนที่ระบุในประวัติการทำงานว่าเป็น อสม. คนหนึ่งจบการศึกษาสูงสุดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2547 ได้รับเครื่องราชยอิสริยาภรณ์ชั้นอดิเรกคุณปี 2530 ได้รับรางวัล อสม.ดีเด่น ปี 2561 อีกคนหนึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็น อสม. มาตั้งแต่ปี 2551 และเป็นกรรมการชมรม อสม. อำเภอ

สว.3 “ไม่เคลียร์”

จากการอ่านข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัครหรือเอกสาร “สว.3” ของผู้สมัครทั้ง 153 คน อย่างละเอียด พบว่ามีข้อมูลของผู้สมัครบางรายที่ชวนให้เกิดคำถามเกี่ยวกับประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน และคุณสมบัติ เช่น 

  • ผู้สมัคร 2 คน นามสกุลเดียวกัน ผ่านการเลือกระดับจังหวัดจากจังหวัดเดียวกัน ลักษณะภาพถ่ายและการกรอกข้อมูลในเอกสารแนะนำตัวคล้ายกันอย่างมาก คือ ระบุประวัติการศึกษาว่า “ปริญญาตรี สาขาพยาบาล และระบุประวัติการทำงานเพียงประโยคเดียวว่า “ประกอบอาชีพกลุ่มพยาบาล”
  • จบการศึกษาระดับ ปวส. เคยทำงานเป็นพนักงานธุรการประจำโรงพยาบาล รับผิดชอบด้านการประสานร้อยเวรและแพทย์ในการชันสูตรพลิกศพ
  • ไม่ระบุประวัติการศึกษาและการทำงานใดๆ ในเอกสารแนะนำตัว สว.3
  • ระบุอาชีพว่า “อื่นๆ” การศึกษาสูงสุดชั้น ม.ศ.3 ประสบการณ์การทำงานระบุเพียงว่าเคยทำงานที่ รพ.สต.3 แห่ง
  • ระบุอาชีพว่าเป็น “แพทย์” จบการศึกษาหลากหลายสาขา ทั้งพยาบาลศาสตร์ บริหารธุรกิจ และแพทยศาสตร์ Doctor of Medicine จากประเทศฟิลิปปินส์ ประวัติการทำงานระบุว่าเป็นเจ้าของคลินิกเวชกรรมฝังเข็ม ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล และกรรมการสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย โคแฟคตรวจสอบเพิ่มเติมจากฐานข้อมูลแพทย์ของแพทยสภาพบว่ามีชื่อเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว
  • ระบุอาชีพ “ธุรกิจส่วนตัว” ประวัติการศึกษาระบุเพียงว่าจบปริญญาตรีและโท แต่ไม่ระบุสาขาและสถาบัน ส่วนประวัติการทำงานเขียนว่าสนใจเรื่องการระบาดของไข้เลือดออกและเป็นวิทยากรเรื่องการป้องกันไข้เลือดออกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากว่า 20 ปี
  • ระบุอาชีพ “รับจ้าง” จบการศึกษาปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ระบุหน่วยงานหรือองค์กรที่สังกัด ให้ข้อมูลว่าทำงานเป็นนักจิตวิทยาด้านยาเสพติด ให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาทางโทรศัพท์ทั้งแบบส่วนตัวและครอบครัว วิทยากรด้านสุขภาพจิต และเป็นนักวิชาการด้านจิตวิทยา

หมายเหตุ: ข้อมูลชุดนี้ได้มาจากเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร สว. ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ กกต. ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้สมัครเป็นผู้เขียน โคแฟคไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้อมูลดังกล่าวตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ ทั้งประวัติการศึกษาและประวัติการทำงาน และเนื่องจาก กกต. กำหนดให้ผู้สมัครเขียนประวัติและประสบการณ์ทำงานไม่เกิน 5 บรรทัด ข้อมูลที่ได้จึงมีข้อจำกัดและอาจจะไม่สะท้อนประวัติ/ประสบการณ์การทำงานที่แท้จริงของผู้สมัครได้

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง