สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568

พบฝุ่นแม่เหล็กจาก Chemtrail ในสิ่งแวดล้อม…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2ddbu81zlvm9w


เม็ดสีน้ำตาลเล็กๆ ในไข่ไก่ อันตราย…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/5u5do9ls5tsr


แก็งมิจฉาชีพ พันผ้าผสมยาสลบ ที่กระจกรถยนต์…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1zumz8mha9115


ปอกเปลือกว่านหางจระเข้แช่แข็งไว้ ใช้เหน็บในช่องทวารหนัก ช่วยให้ริดสีดวงหดและฝ่อ…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1aqpxa2vksgv3


พบเฮลิคอปเตอร์ยกรถบรรทุกขนส่งน้ำมันจากฝั่งไทยข้ามไปยังเมียวดี…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1j6raibgjguwb


 ปิดอ่าวไทย ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ประจวบฯ ชุมพร สุราษฎร์ฯ

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2u86z9qz2zxv2


 รถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย คมนาคม ยืนยัน ประกาศใช้เดือน ก.ย. นี้

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/338j67y5nfrkl


   ชาวเมียนมาข้ามมาเติมน้ำมันฝั่งไทยจำนวนมาก

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1gb4vgyhrkd0


 รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย เปิดนั่งฟรี 1 เดือน เริ่มปลายเดือน มิ.ย. 68

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1c2r7qz18youk


 เตรียมประกาศเข้าฤดูร้อน 28 ก.พ.นี้ คาดบางพื้นที่ทะลุ 42 องศา

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3k1yliae1hkmb


 ทันตแพทย์ – นักวิชาการ ยืนยัน “หนอนกินฟัน” ไม่มีจริง อย่าเชื่อ

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/jq7xd953bf00



รายงานพิเศษ: แนวทางการสร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพในการพูดและมาตรฐานความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยในโลกออนไลน์ด้วยการกลั่นกรองเนื้อหาที่มีประสิทธิภาพ

กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ที่ปรึกษาโคแฟค 

งานศึกษาของนีโอโมเมนตัม พบโลกโซเชียลท็อกซิกมากขึ้นหลังเลือกตั้งปี 66

โคแฟคชวนอ่านสรุปรายงานวิจัยล่าสุด1 ที่ร่วมจัดทำโดยนีโอ โมเมนตัม (Neo Momentum)2 โครงการติดตามและวิเคราะห์กระบวนการเลือกตั้งในโซเชียลมีเดีย (DEAL)3 และโคแฟค ซึ่งได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลในโซเชียลมีเดียสองช่วง คือระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 15 มิถุนายน 2566 และ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 สิงหาคม 2567 โดยได้ศึกษาพฤติกรรมการสื่อสาร เนื้อหาและเครือข่ายของบัญชีผู้ใช้งานทางการใน X (หรือ Twitter ในอดีต) และ Facebook ของพรรคการเมือง 67 พรรค แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บุคคลสาธารณะ รวมทั้งสื่อมวลชนหลายสำนัก โดยนำมาเปรียบเทียบการสื่อสารทางการเมืองช่วงระหว่างและหลังการเลือกตั้งทั่วไปของไทยปี 2566

ทั้งนี้ เพื่อทบทวนดูมาตรฐานชุมชนแพลตฟอร์มว่ามีความเข้มข้น และมีช่องว่างในการกลั่นกรองเนื้อหาเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพในการพูดและความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของผู้ใช้งานมากน้อยและแตกต่างกันอย่างไรในช่วงเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งปี 2566 และ เพื่อสำรวจแนวทางที่เป็นไปได้ในการกำกับดูแลเนื้อหาออนไลน์ที่เหมาะสมหรือการแทรกแซงที่มีประสิทธิภาพจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม รวมถึงบทบาทของสื่อในการส่งเสริมการสื่อสารออนไลน์ที่อิงข้อเท็จจริงและปราศจากความรุนแรง ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาสมดุลของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จนมาถึงการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เรายังเห็นพลวัตของการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์ของการใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารทางการเมืองเพื่อปลูกฝังการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีคุณภาพในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไม่มากพอ

ปริมาณของข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือน รวมทั้งคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (hate speech) ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังมีความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นจากการนำเทคโลโลยีปัญญาประดิษฐ์ล่าสุด Generative AI มาใช้ในการกระบวนการผลิตและเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไม่รับผิดชอบ และการที่แพลตฟอร์มค่อย ๆ ลดความสำคัญของการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหักล้างข้อมูลเท็จลงไปเรื่อย ๆ

การเลือกตั้ง อบจ. ได้ตอกย้ำให้เราเห็นถึงวัฒนธรรมการสื่อสารทางการเมืองที่ยังอยู่ในวังวนของการใช้ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนรวมถึงการใช้ hate speech เพื่อทำลายคู่ต่อสู้ โดยผู้ที่สร้างข้อมูลเท็จมิได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อความสุจริตของการเลือกตั้งและความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยที่ยังหาทางออกไม่ได้

แพลตฟอร์มยังคงถูกใช้เป็นพื้นที่สื่อสารทางการเมืองที่สำคัญ แต่ขาดการกลั่นกรองเนื้อหาอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและขาดความน่าเชื่อถือ

คำนิยาม

Hate Speech

คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง แบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ ระดับที่ 1 การด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่นสติปัญญา ดูถูกเหยียดหยาม และการสร้างความเป็นอื่น ระดับที่ 2 การคุกคาม ข่มขู่ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว การเรียกร้องให้บังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก ระดับที่ 3 การเหมารวม การแปะป้าย การลดทอนคุณค่า การดูถูกเหยียดหยาม การทำให้เป็นปีศาจ ระดับที่ 4 การแบ่งแยก กีดกัน การปฏิเสธที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม ระดับที่ 5 การยุยง สนับสนุน เรียกร้องให้เกิดความรุนแรง ยกย่องผู้ก่อความรุนแรง ให้ความชอบธรรมกับการก่อความรุนแรง

Malinformation

หมายถึง การบิดเบือนข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานของความจริง แต่ถูกนำมาใช้ในบริบทที่ผิดหรือแฝงเจตนาที่ทำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าในผิด มีเจตนาเพื่อก่อให้เกิดอันตราย ทำลายชื่อเสียง โจมตีความคิด บุคคล องค์กร หรือประเทศ ฯลฯ

AI Deepfake

หมายถึง การใช้เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) สร้างเนื้อหาสื่อ เช่น ข้อความ รูปภาพ คลิปเสียง วิดีโอปลอมของบุคคล โดยมีเจตนาเพื่อหลอกลวง

แนวโน้มสำคัญ: การสื่อสารทางการเมืองในโซเชียลมีเดียช่วงระหว่างและหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566

  • ภายหลังการเลือกตั้งฯ ปฏิบัติการปั่นข้อมูลข่าวสาร (influence operation) ในโลกออนไลน์ก็ยังเข้มข้น และเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากช่วงการเลือกตั้งที่อาจจะมุ่งเน้นแค่โน้มน้าวผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มาสู่การโจมตีบุคคล การสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และการทำลายความเชื่อถือของพรรคการเมืองและนักการเมือง เช่น การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (Doxing) และการออกมาแฉ (Call-out tactics) ในหลายกรณี กลวิธีเหล่านี้ได้พัฒนาไปสู่การบิดเบือนข้อเท็จจริงในลักษณะ malinformation รวมถึงการใช้ทฤษฎีสมคบคิด เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากแพลตฟอร์ม และทำให้กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงทำได้ยากมากยิ่งขึ้น
  • Facebookและ X ยังคงเป็นพื้นที่สื่อสารทางการเมืองที่เข้มข้นในแต่ละช่วงของเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเลือกตั้งปี 2566 เป็นต้นมา เป้าหมายการโจมตีฝ่ายตรงข้ามมุ่งไปที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำในรัฐบาลชุดปัจจุบัน และนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคฯ ทั้งนายเศรษฐา ทวีสินและนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร บิดาของนางสาวแพทองธาร และผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ซึ่งกลับมามีบทบาทสำคัญทางการเมืองอีกครั้งภายหลังจากที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษในคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีผลประโยชนทับซ้อนขณะดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  • พรรคประชาชน หรือพรรคก้าวไกลเดิม ซึ่งได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งแต่ได้เป็นแกนนำฝ่ายค้านภายหลังจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากไม่สำเร็จและถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคปมเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา112 ว่าด้วยการหมิ่นพระมหากษัตริย์ในเวลาต่อมา  ยังคงเป็นเครือข่ายที่ทรงพลังและใหญ่ที่สุดทั้งในแง่ที่ถูกพูดถึงและเป็นเป้าหมายของการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน

จากการกวาดข้อมูลช่วงการเลือกตั้ง (โดยใช้ licensed third-party platforms) ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ 1 เมษายน 2566 – 15 มิถุนายน 2566 จำนวน 6,333,778 ข้อความ จาก 73,189 บัญชี โดยแบ่งออกตามแพลตฟอร์ม ได้แก่

  • X จำนวน 6,225,197 ข้อความ จาก 65,925 บัญชี
  • Facebook จำนวน 108,581 ข้อความ จาก 7,264 บัญชี

ข้อมูลหลังการเลือกตั้ง ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 – 31 สิงหาคม 2567 จำนวน 1,348,641 ข้อความ จาก 674,103 บัญชี โดยแบ่งออกตามแพลตฟอร์มได้แก่

  • X จำนวน 1,297,450 ข้อความ จาก 666,380 บัญชี
  • Facebook จำนวน 51,191 ข้อความ จาก 7,723 บัญชี
กราฟแสดงข้อมูลดิบและข้อมูลที่ทำความสะอาดแล้ว

โดยการกลั่นกรองเนื้อหาร่วมกันระหว่าง AI GPT Model และผู้เขี่ยวชาญในการจำแนก แปะป้ายข้อความ (labelling) และวิเคราะห์ภาษาร่วมกัน พบว่า

  • ข้อความที่มีมูลความจริงแต่แฝงเจตนาให้เกิดความเข้าใจผิด (malinformation) และคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (hate speech) เพิ่มมากขึ้นในFacebookภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 โดย malinformation เพิ่มจาก 2.2% เป็น 4% และ hate speech เพิ่มจาก 0.59% เป็น  3.52% ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกลวิธีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนแปลงไปเป็นการโจมตีสถาบันการเมืองต่าง ๆ และการด้อยค่านักการเมืองให้เป็นปีศาจ จากเดิมที่เน้นการสื่อสารนโยบายพรรคและผู้สมัคร สส. ในช่วงการเลือกตั้ง
  • สำหรับใน X พบ hate speech เพิ่มขึ้นจาก 12.1% เป็น 12.72% ส่วน malinformation ลดลงเหลือ 4.16% จาก 8.14% สะท้อนให้เห็นธรรมชาติของผู้ใช้งานใน X ว่าเมื่อการเลือกตั้งผ่านไป ความสนใจในประเด็นสาธารณะก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องอื่น ประกอบกับการเก็บและคัดแยกข้อมูลหลังการเลือกตั้งที่แตกต่างไปจากเดิม อาจส่งผลต่อสถิติที่ออกมาด้วยเช่นกัน
  • ปริมาณข้อความ hate speech ใน X มีสัดส่วนที่สูงกว่าในFacebookและมีระดับความรุนแรงสูงกว่า โดยมีข้อความรุนแรงระดับ 5 อยู่บ้าง ส่วนในFacebookไม่มีข้อความระดับ 5 เลย สะท้อนลักษณะการสนทนาในFacebookที่เน้นการให้ข้อมูล (informative) การอภิปรายเนื้อหาในประเด็นต่าง ๆ  โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการอภิปรายในประเด็นการบริหารงานของรัฐบาล ความล้มเหลวของระบบราชการ ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้งานFacebookมักให้ความสำคัญกับการสนทนาเชิงข้อมูลมากกว่า ในทางกลับกัน X มีลักษณะการสนทนาที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกและความคิดเห็นส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น (expressive/emotive) โดยมีการใช้ถ้อยคำรุนแรง การแสดงออกถึงความเป็นศัตรู และการโจมตีเชิงดูถูกอย่างชัดเจน ข้อความที่ปรากฏบน X มักสะท้อนถึงการเผชิญหน้าระหว่างผู้ใช้งานและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ มากกว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างสร้างสรรค์
กราฟแสดงสัดส่วนของข้อความจำแนกตามประเภทช่วงการเลือกตั้งใน Facebook และ X
กราฟแสดงสัดส่วนของข้อความจำแนกตามประเภทหลังการเลือกตั้งใน Facebook และ X

เนื้อหาที่เป็น AI deepfake พบในวงจำกัด ทั้งในช่วงเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เป็นการสร้างภาพจากเทคโนโลยี AI-generated images ในการรณรงค์หาเสียงอย่างสร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดความสนใจ สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในเรื่องทักษะและความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ อีกหนึ่งรูปแบบที่พบได้บ่อยคือการ์ตูนล้อการเมือง หรือ editorial cartoons ซึ่งใช้เพื่อสะท้อนความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางการเมืองในลักษณะที่สร้างสรรค์และเข้าถึงง่าย สื่อในรูปแบบนี้ยังคงมีบทบาทสำคัญมากกว่าเนื้อหาที่ใช้เทคโนโลยี AI deepfake โดยตรง การใช้งาน deepfake ที่ยังไม่แพร่หลายในบริบทนี้

การวิเคราะห์บทสนทนาออนไลน์ในช่วงหลังการเลือกตั้ง โดยใช้เทคนิค Topic Modeling เผยให้เห็นประเด็นสำคัญที่สะท้อนถึงความสนใจและความคิดเห็นของผู้ใช้งานในบริบททางการเมืองและสังคม ประเด็นที่พบ ได้แก่

  • การด่ากันของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเป็นปฏิปักษ์และความแตกแยกในระดับกลุ่ม
  • การวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มอนุรักษนิยม หรือ establishment ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทและแนวคิดทางการเมืองของกลุ่มดังกล่าว
  • การเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามที่พบในบทสนทนา โดยเฉพาะในรูปแบบของ malinformation ซึ่งสะท้อนถึงความซับซ้อนของการสื่อสารในพื้นที่ออนไลน์
  • การโจมตีผู้นำทางการเมืองและนักการเมือง ซึ่งครอบคลุมทุกพรรคการเมือง รวมถึงการตั้งคำถามต่อสถาบันทางการเมือง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจในระบบการเมืองในปัจจุบัน
  • การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาลและการจัดสรรทรัพยากรเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ได้รับความสนใจ โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณและการกระจายทรัพยากร ทั้งนี้ บางหัวข้อยังมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่สำคัญ เช่น การแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 การพักโทษอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายปี 2567 เหตุการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการสะท้อนประเด็นทางการเมืองในโลกออนไลน์ซึ่งเชื่อมโยงกับสภาพการณ์ในโลกจริง
  • ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระดับนานาชาติ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และอิทธิพลของจีนในภูมิภาค เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงการรับรู้และถกเถียงในประเด็นที่กว้างไกลกว่าเพียงแค่การเมืองภายในประเทศ

สำหรับการวิเคราะห์เครือข่ายบัญชีในโซเชียลมีเดีย (Social Network Analysis) พบเครือข่ายของพรรคการเมืองหลัก 4 พรรค ที่ปรากฏในระบบนิเวศออนไลน์ในช่วงการเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งของไทย ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ  ยังคงมีลักษณการเกาะกลุ่มในลักษณะเดิม โดยพรรคก้าวไกลซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชนยังคงเป็นเครือข่ายที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุด แม้ว่าในภาพรวม เครือข่ายของทุกพรรคจะมีขนาดเล็กลงภายหลังการเลือกตั้ง สืบเนื่องจากความถี่ในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบัญชีเครือข่ายน้อยลง โดยมีบางบัญชีอาจเปลี่ยนชื่อไป บ้างก็ไปสนใจประเด็นอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือบัญชีถูกปิดลงหรืออาจถูกลบไปก่อนหน้าโดยแพลตฟอร์ม

เครือข่ายบัญชีในFacebookช่วงการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง
เครือข่ายบัญชีใน X ช่วงการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง

สรุปช่องว่างการบังคับใช้มาตรฐานชุมชนของ Meta, Google และ X

โครงการวิจัยฯ ได้หยิบเฉพาะกฎชุมชนที่เกี่ยวข้องกับข่าวลวงและ hate speech ในช่วงเลือกตั้งปี 2566 และหลังการเลือกตั้ง (ฉบับที่ใช้วิเคราะห์ของทุกแฟลตฟอร์มคือเข้าถึงในวันที่ 18 กรกฎาคม 2567) ซึ่งพบว่า

  • Meta (Facebook, Instagram) และ Google (YouTube) มีกฎชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการบิดเบือนเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งชัดเจนและใส่ใจเกี่ยวกับการควบคุมและปิดกั้นเนื้อหาข่าวลวงและเนื้อหาบิดเบือนเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากที่สุด  โดยมีมาตรการจากเบาไปหาหนัก ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเนื้อหา โดยเฉพาะ YouTube มีการระบุอย่างชัดเจนถึงมาตรการลงโทษผู้ที่โพสต์เนื้อหาบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หากผิดตามกฎชุมชนจริง จะมีมาตรการลงโทษเริ่มจากการตักเตือน ปิดช่องชั่วคราว ไปจนถึงการปิดช่องถาวร
  • Meta และ X ให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตยโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ใช้วิธีการติดฉลากข้อความที่บิดเบือนหรือเป็นอันตราย แต่ไม่เน้นการเอาข้อความออกทันทีหากไม่เป็นอันตรายร้ายแรง คือการยุยงให้ใช้ความรุนแรงหรือมุ่งหมายเอาชีวิต ทำให้ข้อความที่บิดเบือนหรือเป็นอันตรายยังคงอยู่ในระบบและมีการแพร่กระจายต่อไปได้
  • Facebook เน้นการจัดการกับข้อความ hate speech ที่เป็นอันตรายทางกายภาพในช่วงการเลือกตั้งเป็นหลัก ทำให้ข้อความที่เป็น hate speech ที่ไม่ถึงขั้นรุนแรงระดับ 5 ยังคงอยู่ในระบบ
  • มาตรการของ X ในการลดการมองเห็นมีข้อจำกัด โดยการปรับอัลกอริทึมเพื่อลดการมองเห็นของข้อความที่เป็นอันตราย อาจไม่ช่วยลดการแพร่กระจายของข้อความนั้น หากผู้ใช้งานที่สนใจค้นหาข้อความนั้นเจอ
  • การตอบสนองและการดำเนินการต่อเนื้อหาที่มีการร้องเรียนที่ล่าช้าของ Facebook เนื่องจากมีกระบวนการตรวจสอบเนื้อหาล่าช้า ทำให้ข้อความเหล่านั้นยังคงอยู่ในระบบและแพร่กระจายไปได้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองที่อ่อนไหว

ข้อสังเกตของทีมวิจัยเรื่อง hate speech และ malinformation

Hate speech ที่ตรวจพบในบริบทการเมืองไทยกับ “วัฒนธรรมชาวเน็ตไทย”

จากการตรวจสอบข้อความที่ถูกระบุว่าเป็น hate speech จากการวิเคราะห์โดยโมเดล AI พบข้อสังเกตหลายประการที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมออนไลน์ของผู้ใช้งานชาวไทย และความท้าทายในการจัดการเนื้อหาในภาษาที่มีลักษณะซับซ้อนอย่างภาษาไทย

ในกรณีของ hate speech ระดับ 5 ซึ่งควรถูกระบุว่าเป็นข้อความที่มีลักษณะยุยงหรือสนับสนุนความรุนแรงอย่างชัดเจนกลับพบการตรวจจับคำหรือวลีที่ไม่เข้าข่าย hate speech จริง เช่น ชื่อคน วลีเปรียบเปรย หรือคำอุทาน ตัวอย่างเช่น “เผาหัว” “ยิงได้ยัง” หรือ “คมแบบปาดคอคนได้” สะท้อนถึงความท้าทายของ AI ในการทำความเข้าใจบริบทเฉพาะของภาษาไทย รวมถึงวัฒนธรรมย่อย (subculture) และการใช้คำในเชิงล้อเลียนหรือประชดประชันของชาวเน็ตไทย การตรวจจับลักษณะนี้ชี้ให้เห็นว่าภาษาไทยมีความซับซ้อน ทั้งในด้านโครงสร้างไวยากรณ์และบริบทการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ใช้งานออนไลน์มักสร้าง “มีม” หรือวลีที่ได้รับความนิยมในกลุ่มสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจดูรุนแรงในความหมายผิวเผิน แต่ไม่ได้มีเจตนาร้าย

อีกประเด็นสำคัญคือการพบ hate speech ระดับ 1 ซึ่งประกอบด้วยข้อความหยาบคายและการดูถูกสติปัญญาในอัตราที่สูง ทั้งบน Facebook และ X โดยเฉพาะใน X ซึ่งมีสัดส่วนถึง 89.81% ของข้อความที่ถูกระบุว่าเป็น hate speech การใช้ถ้อยคำลักษณะนี้สะท้อนถึงวัฒนธรรมชาวเน็ตไทยที่ถ้อยคำหยาบคายและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาเป็นเรื่องปกติในบทสนทนาออนไลน์ นอกจากนี้ ลักษณะของแพลตฟอร์ม X ซึ่งสนับสนุนการแสดงออกเชิงอารมณ์อย่างรวดเร็วและเข้มข้น อาจส่งเสริมพฤติกรรมการเลียนแบบในกลุ่มผู้ใช้งานและการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ผ่านการกลั่นกรอง

ในทางกลับกัน การเพิ่มขึ้นของ hate speech ระดับ 3 บน Facebook หลังการเลือกตั้ง (15.85%) อาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของลักษณะการโจมตีทางวาจา จากการใช้ถ้อยคำหยาบคายทั่วไปในระดับ 1 ไปสู่คำพูดที่มีลักษณะลดทอนคุณค่าและเหมารวมกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแสดงถึงเจตนาการโจมตีที่มีความซับซ้อนและลึกซึ้งมากขึ้น ลักษณะนี้อาจเชื่อมโยงกับบริบทของความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ซึ่งการแบ่งแยกทางอุดมการณ์และความตึงเครียดในโลกออฟไลน์ถูกสะท้อนออกมาในบทสนทนาออนไลน์

การตรวจพบ hate speech ระดับ 4 และ 5 ในจำนวนที่น้อย ไม่ได้สะท้อนว่าการแสดงออกในสองระดับนี้มีจำนวนน้อย แต่ระบบกลั่นกรองของแพลตฟอร์มอาจสามารถตรวจจับและจัดการข้อความประเภทนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พบข้อความในลักษณะนี้น้อยจากการกวาดข้อมูล  อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญคือการจัดการกับ hate speech ในระดับที่ต่ำกว่า ซึ่งอาจไม่ถูกมองว่าเป็นภัยร้ายแรงในทันที แต่สามารถสะสมผลกระทบในเชิงลบต่อบรรยากาศของสังคมออนไลน์ในระยะยาว

การเพิ่มขึ้นของ malinformation ใน Facebook อาจสะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่ใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนในลักษณะที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การบิดเบือนเชิงบริบทหรือการแฝงข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในประเด็นทางการเมือง การเพิ่มขึ้นนี้ยังอาจบ่งชี้ถึงความแตกต่างในวิธีการกลั่นกรองของแพลตฟอร์ม Facebook และ X ซึ่งอาจนำไปสู่ความสามารถในการจัดการกับเนื้อหาบิดเบือนที่ไม่เท่าเทียมกัน

Malinformation ที่ตรวจพบในการศึกษา ได้แก่ 1. ประเด็นเชิงนโยบายรัฐ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต การขายข้าวในโครงการจำนำข้าวของกระทรวงพาณิชย์ และโครงการ entertainment complex 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3. ประเด็นทางเศรษฐกิจ เช่น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับวาทกรรมเกี่ยวกับ “หนี้ชั่วลูกชั่วหลาน” 4. การเมืองและการเลือกตั้ง เช่น ระบอบทักษิณ ข่าวลือเกี่ยวกับดีลลับ การคัดเลือก สว. การซื้อสิทธิขายเสียง และการแทรกแซงของต่างชาติ เป็นต้น และ 5. ประเด็นความขัดแย้งในสังคม เช่น กรณี “Saveทับลาน” กับ “Saveชาวบ้านทับลาน”

การถกเถียงในประเด็นเหล่านี้มักมาพร้อมกับการปกป้องหรือการโจมตีข้อมูลจากทั้งสองฝั่งที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปที่อาจเข้าถึงข้อมูลเพียงด้านเดียวมีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลที่ได้รับโดยไม่ตั้งคำถามต่อความครบถ้วนหรือบริบทที่ซับซ้อนของข้อมูล นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถสร้าง ความแบ่งแยก (polarization) และบั่นทอนความไว้วางใจ (trust) ในระดับสังคม

ข้อเสนอแนะหลักของทีมวิจัย

การรักษาสมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กับความปลอดภัยและความไว้วางใจในการใช้โซเชียลมีเดีย

  • ต้องปรับปรุงมาตรฐานชุมชนและแนวทางปฏิบัติของแพลตฟอร์มให้โปร่งใสและตอบสนองต่อบริบทเฉพาะ โดยการพัฒนามาตรฐานชุมชนควรได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้กำหนดนโยบาย
  • ระบบการจัดการเนื้อหาของแพลตฟอร์มควรมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับความซับซ้อนทางสังคมและการเมืองในแต่ละบริบท เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเนื้อหาที่เป็นอันตรายและส่งเสริมสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
  • การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถประเมินและจัดการข้อมูลได้อย่างเหมาะสม

แนวทางการกำกับดูแลเนื้อหาออนไลน์หรือการแทรกแซงที่เป็นไปได้

  • การใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการมีส่วนร่วมของมนุษย์ (human-AI collaboration) ในต้นทุนที่เหมาะสม เป็นแนวทางสำคัญในการกำกับดูแลเนื้อหา AI สามารถช่วยวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว เช่น การระบุคำสำคัญหรือรูปแบบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ hate speech หรือ malinformation แต่การใช้ AI เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เนื่องจาก AI มักขาดความเข้าใจในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ซับซ้อน การให้มนุษย์ทำหน้าที่ตรวจสอบขั้นสุดท้ายจะช่วยลดข้อผิดพลาดและเพิ่มความแม่นยำของกระบวนการตรวจจับและจัดการเนื้อหา
  • การสร้างกลไกการเฝ้าระวัง (monitoring mechanism) ที่สามารถแจ้งเตือนและตรวจจับการแพร่กระจายของเนื้อหาที่อาจเป็นอันตรายแบบเรียลไทม์ เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์สำคัญ เช่น การเลือกตั้งหรือวิกฤตทางสังคม กลไกดังกล่าวควรได้รับการพัฒนาโดยอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงตัวแทนจากภาคประชาชน กลุ่มการเมือง สื่อมวลชน และผู้กำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้มั่นใจว่ามุมมองและความคิดเห็นที่หลากหลายได้รับการพิจารณา การมีส่วนร่วมนี้จะช่วยสร้างความไว้วางใจและความโปร่งใสในกระบวนการกำกับดูแล มากกว่าการพึ่งพากลไกที่เน้นการควบคุมหรือกำกับดูแลเพียงฝ่ายเดียว
  • บทบาทของสื่อในการส่งเสริมการสื่อสารออนไลน์ที่อิงข้อเท็จจริงและปราศจากความรุนแรงก็มีความสำคัญ สื่อสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้อง และช่วยสนับสนุนการสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด (cognitive resilience) ให้กับประชาชนผ่านการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) ทั้งนี้ การสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องเส
  • รีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรับรองความปลอดภัยในพื้นที่ออนไลน์จำเป็นต้องมีการพัฒนานโยบายที่ยืดหยุ่นและตอบสนองต่อบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน

  • มาตรการการกลั่นกรองเนื้อหาในเชิงรุกและปฏิบัติได้จริง เพื่อให้การจัดการกับข้อมูลลวงหรือบิดเบือน และ hate speech มีประสิทธิภาพ
  • การปรับอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละท้องถิ่นและสังคม
  • การส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างปลอดภัย โดยการออกกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปาก (strategic lawsuits against public participation: SLAPP) เพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐปิดกั้นการวิจารณ์รัฐบาลหรือปราบปรามผู้มีความเห็นแตกต่าง

หมายเหตุ   

  1. รายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์จะมีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของนีโอโมเมนตัม (www.neomomentum.co) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ↩︎
  2. โอโมเมนตัม เป็นองค์กรที่มุ่งมั่นในการให้บริการข้อมูล การวิจัย และการพัฒนา โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และข้อมูลเชิงลึกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data-driven) มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมที่ซับซ้อน (social enterprise) จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและมีประสบการณ์ในการศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมการสื่อสารทางการเมืองในช่วงการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและเยาวชนไทยเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและสังคม ช่วงปี 2020-2021 ↩︎
  3. Digital Election Analytic Lab เกิดจากการรวมตัวแบบเฉพาะกิจของเครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดย WeWatch, Monitoring Centre on Organised Violence Events (MOVE), นักวิชาการและนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์และสื่อดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ และประชาชนอาสาสมัคร ที่เห็นพ้องกันถึงความสำคัญของพื้นที่กลาง พื้นที่การสื่อสารและการถกแถลงทางการเมืองที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ และให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งในฐานะของกระบวนการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ปราศจากความรุนแรง ↩︎

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

สานสัมพันธ์‘ออนไลน์-ออฟไลน์’ ข้อพึงตระหนักไว้ ลดเสี่ยงภัย-ไม่ตกเป็นเหยื่อ

กิจกรรม

รายการ “Cofact Live Talk” ทางเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย)รับเทศกาล วันแห่งความรัก 14 ก.พ. 2568 ใน EP.3 ชวนพูดคุย ในหัวข้อ “Unlock Romance scam story! 18+ หลอกให้รักออนไลน์ บทเรียนสอนใจเช็กอย่างไรให้ชัวร์ กับ ปังปอนด์ – ณตภณ ดิษฐบรรจง ซึ่งที่ผ่านมาได้มาช่วยทาง Cofact เขียนบทความ Fact Check ข่าวลวงในประเด็น HIV/AIDS แต่ก็เป็นคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงประเภทนี้ด้วย

ณตภณ เล่าว่า ประมาณ 10 ปีก่อน ตนเคยมีช่วงเวลาบ้านแตกสาแหรกขาด ไม่ได้รับความอบอุ่นจากครอบครัว อีกทั้งยังเป็นช่วงวัยรุ่น จึงใช้เวลาไปกับสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ อีกทั้งยังใช้แพลตฟอร์มหาคู่ทางออนไลน์ แม้เวลานั้นจะยังอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่อนุญาตให้ใช้งานได้ก็ตาม จำได้ว่าเจอคนคนหนึ่ง คุยกันจนคุ้นเคยแล้วก็ยอมเดินทางด้วยรถไฟไปไกล จากหัวลำโพง กรุงเทพฯ ถึง จ.นครราชสีมา แต่รอที่สถานีรถไฟประมาณ 2 ชั่วโมง อีกฝ่ายก็ไม่มาตามนัดทั้งที่ตนโอนเงินให้ไปแล้ว และเมื่อตรวจสอบช่องทางออนไลน์ก็พบว่าโดยบล็อกทั้งหมด ครั้งนั้นเสียเงินไปเกือบ 3,000 บาท  นั่นคือประสบการณ์โดนหลอกครั้งแรก

เคสนี้เป็นเคสแรกที่รู้แล้วว่าเป็น Romance Scam อาจจะไม่เป๊ะๆ เหมือนชาวบ้านเขา แต่ผมก็รู้สึกว่านี่คือการหลอกให้เรารักก่อนแล้วก็หลอกให้เราควักสตางค์ให้เขา ใช้เวลา 3 เดือน แล้วนอกจากผม ก็เคยมีแม่ผมก็เคยโดน นานแล้ว แต่อันนั้นเขาเอ๊ะก่อนที่จะโอน แต่เคสที่แม่เจอจะเป็นชาวต่างชาติ คุยไป 3  4 วัน รู้แล้วนี่หลอกแน่นอน ก็เลยตัดการคุย แต่ของผมคือไปมากกว่านั้นแล้ว และคนไทยด้วยกันด้วย รุปลักษณ์เป็นคนไทย ถ้าเคสนั้นไม่เคยเห็นหน้าตา ไม่เคยวีดีโอคอลคุย เขาบอกโอนค่าโรงแรมไปให้ก่อน เดี๋ยวจ่ายส่วนต่างกลับมาให้ เจอกันแล้วค่อยจ่ายคืน

จากประสบการณ์ดังกล่าว มีคำแนะนำแรก 1.หากอยากเจอตัวให้เจอในที่สาธารณะ ไม่ใช่ที่ลับตา เช่น การนัดที่โรงแรม การนัดเจอในพื้นที่สาธารณะจะลดความเสี่ยงอย่างการถูกชิงทรัพย์หรือถูกลักพาตัวได้ 2.ชวนเพื่อนไปด้วย นอกจากเป็นการเผื่อไว้หากมีเหตุร้ายเกิดขึ้นจะได้มีคนช่วยแล้ว หรือแม้ไม่มีเหตุร้ายเกิดแต่อย่างน้อยเพื่อนก็รู้สถานะของเรา จะได้รู้ว่าคนคนนี้คุยกับเราอยู่ ควรระวังหรือไม่ระวังอะไรบ้าง

3.แม้จะเป็นแพลตฟอร์มหาคู่ที่มีชื่อเสียงเป็นทางการก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะหากอยากหลอกก็สามารถทำได้แม้จะมีเครื่องหมายรับรอง เช่น บางครั้งได้เครื่องหมายแล้วก็เปลี่ยนภาพโปรไฟล์ แต่สำหรับแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (ที่ไม่ใช่แพลตฟอร์มหาคู่โดยตรง) อย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือ X หากสมัครขอใช้เครื่องหมายรับรองยืนยันตัวตน ทุกครั้งที่เปลี่ยนรูปโปรไฟล์จะถูกตรวจสอบเสมอว่าใบหน้าตรงกับบัตรประชาชนที่เราใช้สมัครหรือไม่ ซึ่งช่วยกรองได้ระดับหนึ่งแม้จะไม่ 100% ก็ตาม 

4.จับจังหวะการคุย พึงระวังการสนทนาในลักษณะ เร่งเร้าให้โอนเงิน เพราะมีแนวโน้มอาจเป็นมิจฉาชีพ ดังตัวอย่างที่คลาสสิกที่สุด คือมิจฉาชีพจะบอกว่ารักคุณมาก แต่ก็จะบอกว่ามีเงินหรือของมีค่าติดอยู่ที่ศุลกากร ขอให้ช่วยโอนเงินมาเป็นค่าดำเนินการ เรื่องนี้เคยมีคนในครอบครัวเกือบตกเป็นเหยื่อมาแล้วแต่ยังดีที่ตนห้ามไว้ทันการโอนเงินหากจะทำก็ขอให้ทำกันต่อหน้า เช่น นัดเจอกัน กินข้าวแล้วจะหารจ่ายค่าอาหารก็ว่าไปกันให้จบตรงนั้น

5.อย่าส่งภาพโป๊เปลือยวาบหวิว เพราะอาจถูกนำไปทำเรื่องไม่ดี หรือแม้แต่เกิดภาพหลุดได้ และเมื่อหลุดมาแล้ว Digital Footprint จะอยู่ในอินเตอร์เน็ตไปอีกนานแสนนาน 6.สุดท้ายหากจะไปจบที่เรื่องบนเตียงจริงๆ ก็ต้องระมัดระวัง เช่น ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงระวังการถูกแอบถ่ายภาพหรือคลิปวีดีโอขณะมีเพศสัมพันธ์ 

เคยมีเพื่อนมีโทษเหยื่อ สุดท้ายเพื่อนคนนั้นโดนหลอก คือมันไม่ใช่ความโง่หรือฉลาด คนเราโดนหลอกเพราะเขามีอะไรบางอย่างที่ให้เชื่อได้ว่าเราจะได้สิ่งนั้น แค่นั้นเลยเราไม่ได้โง่หรือฉลาด มันคือการที่ ณ ตอนนั้นเราเห็นผลประโยชน์ข้างหน้าแค่นั้นเอง แล้วพอเราโดนหลอกก็แค่โดนหลอก เราต้องยอมรับว่าตัวเองโดนหลอกอยู่ ไม่ต้องอาย ไปแจ้งความ ไปดำเนินการ รู้ว่ามันช้า บางทีมันมีปัญหาอยู่ แต่การแจ้งความคือหนทางหนึ่งที่สามารถทำให้เราทวงความยุติธรรมกลับมาได้ แล้วคิดในมุมกลับกัน ถ้าเราไม่ฟ้องร้องดำเนินคดี เขาก็หลอกคนอื่นได้อยู่ดี แต่ถ้าเราฟ้องร้องดำเนินคดี เท่ากับเราตัดวงจรได้แล้ววงจรหนึ่ง

หมายเหตุ : รับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/1612639109353873/


สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568

พะยูนไทยจะสูญพันธุ์ ใน 3 เดือน เกยตื้นตายไปแล้ว 29 ตัว…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/uupztcaobnym


เช็กสุขภาพเลือดได้จากเส้นผม…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3anfi93e9vlgw


งูกลัวหินเกล็ดเพราะผิวท้องบอบบาง…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1ukvl9rkmhaam


  ทุเรียน ลิ้นจี่ มะม่วง ลำไย และกล้วยสุก กินเยอะเสี่ยงเป็นเบาหวาน

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/22iezypum51gq


 โครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต เตรียมแจกให้นักเรียน 6 แสนคน ในเดือน มิย. 68

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3unwybglwhwli


 อินเดีย ขยายเวลา ฟรีค่าวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ แก่นักท่องเที่ยวคนไทย ถึงสิ้นปี 68

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2jzny6j3no42m


 “ชาไทย ใส่สี” กินไม่ได้…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/379l7bnspd19p


การอมเกลือทำความสะอาดฟันได้จริงหรือ?

    การอมเกลือเพื่อทำความสะอาดฟันอาจดูเหมือนเป็นวิธีธรรมชาติและปลอดภัย แต่ความจริงแล้ว เป็นวิธีที่อันตรายต่อฟันอย่างมาก เนื่องจากเกลือมีเนื้อสัมผัสที่หยาบ ทำให้ฟันสึกกร่อนได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีฟันบอบบางหรือมีปัญหาฟันผุอยู่แล้ว นอกจากนี้การอมเกลืออาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบที่เหงือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีเหงือกอักเสบอยู่แล้วอีกเด้วย 

      วิธีทำความสะอาดฟันที่ถูกต้องมีดังนี้

– แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 นาที โดยใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์

-ใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดซอกฟันที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง

– ตรวจสุขภาพฟันกับทันตแพทย์เป็นประจำ ทุกๆ 1 ปี หรือตามที่ทันตแพทย์แนะนำ

       สรุปการอมเกลือทำความสะอาดฟัน เป็นวิธีที่อันตรายและไม่แนะนำ ควรทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธีตามที่กล่าวข้างต้นเพื่อสุขภาพฟันที่ดี แข็งแรง และป้องกันปัญหาช่องปากต่าง ๆ

(ข้อมูลจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)

Banner :

ลิ้งค์กระทู้ Cofact  : https://cofact.org/article/k36jywhr8ihu

‘โคแฟค’ร่วมเปิด2หัวข้อสนทนา ในงาน‘มหกรรมพบเพื่อนใจ Soul Connect Fest 2025’

กิจกรรม

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมวงเสวนา “Soul Connect : จิตวิญญาณ การร่วมทุกข์ และความหวัง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานแถลงข่าว มหกรรมพบเพื่อนใจ Soul Connect Fest 2025 ภายใต้แนวคิด HUMANICE : มาพบเพื่อนที่ดีต่อใจ พาคุณไป Connect หัวใจความเป็นมนุษย์ในตัวคุณ ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญา 100 องค์กร ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ และถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Soul Connect Fest”

Screenshot

โดย สุภิญญา เปิดเผยว่า มหกรรมพบเพื่อนใจ Soul Connect Fest 2025 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-2 มี.ค. 2568 โคแฟคได้รับเชิญให้จัดห้องย่อย2 เรื่อง คือ 1.พัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเชื่อมโยงกับมิติความเป็นมนุษย์ (AI & Humanity) โดยเน้นเป้าหมายเรื่องการสร้างสันติภาพและการเข้าถึงความจริง เหตุที่เลือกหยิบยกประเด็นนี้เนื่องจากความทุกข์ร่วมสมัยปัจจุบันเราอาจอยู่กับข้อมูลข่าวสารมากเกินไป และบางครั้งก็มีความรู้สึกลบๆ เข้ามา จากข้อมูลไม่จริงบ้าง หรือข้อมูลจริงแต่ทำให้เกิดความเครียดบ้าง เป็นต้น 

โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุค AI และเทคโนโลยี Deepfake ก็รู้สึกว่าน่ากลัวมากขึ้น ดังที่เห็นจากสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) กำหนดให้ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ที่เป็นผลจากปัญญาประดิษฐ์ เป็นความเสี่ยงของโลก (Global Risk) อันดับ 1 ของโลกในช่วง 2-3 ปีล่าสุด จึงอยากเชื่อมโยงผลกระทบของเทคโนโลยีมาสู่ความเป็นมนุษย์ เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยเองก็พูดกันมากเรื่องการปรับตัวให้อยู่รอดในยุค AI เช่น การเพิ่มทักษะ (Upskill) หรือการเรียนรู้ใหม่ (Reskill) แต่ผลกระทบด้านสังคมและด้านจิตวิญญาณก็เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมตัวรับมือเช่นกัน

ทั้งนี้ ผลกระทบของ Deep Tech (เทคโนโลยีขั้นสูง) เมื่อก่อนอาจอยู่แค่เรารู้ไม่เท่าทันสื่อ อยู่ในเรื่องของความคิด แต่จากงานวิจัยบอกว่า Deep Tech ส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับร่างกาย เช่น อีก 10 – 20 ปีข้างหน้า สรีระของคนเราอาจเปลี่ยนไปจากการที่เราใช้โทรศัพท์มือถือกันนานเกินไป กับผลผลกระทบต่อสมอง จิตใจและจิตวิญญาณ อย่างที่เราหลงเชื่อมิจฉาชีพ ซึ่งที่หลงเชื่อก็เป็นเพราะสารของมิจฉาชีพที่สื่อมาไปกระตุ้นอะไรบางอย่างในความคิดหรือความรู้สึกของตัวเราหรือไม่ 

หรือแม้แต่ไปถึงขั้นจิตไร้สำนึก ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าหงุดหงิดเพราะอะไร เนื่องจากสมองก็ยังคิดว่าตนเองปกติดี แต่จิตไร้สำนึกที่สะสมความคิดมายาวนานมาก ตลอดชีวิตของเราก็ไม่รู้ว่าเก็บสะสมอะไรไว้บ้าง เพราะความทุกข์ของมนุษย์ก็มาจากการสะสมความคิดและความรู้สึกที่ฝังลึกลงไป โดยหากเป็นคนที่เคลียร์ตนเองได้ จะเหมือนกับโยนหินลงไปในน้ำ แม้จะเกิดรอยแต่ไม่นานรอยก็หายไป แต่หากเป็นคนที่ชอบสร้างอารมณ์ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็จะเหมือนกับศิลาจารึก ความทุกข์สมัยเด็กผ่านไปเป็นสิบปี หากไม่เคลียร์ออกก็ยังคงอยู่ ซึ่งการเคลียร์ออกที่ว่านี้แต่ละคนจะมีวิธีไม่เหมือนกัน ก็ขอเชิญชวนให้มาหาคำตอบกันที่งาน Soul Connect Fest

Screenshot

ในมุมของโคแฟค จริงๆ เรายังเล่นแค่ในระดับความคิดอยู่ ให้รู้เท่าทัน ให้มีสติ ไม่เชื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่แชร์อะไรโดยไม่เช็ค แต่งานนี้เราโชคดีมากเลยที่ได้มาเชื่อมโยงกับภาคีสุขภาวะทางปัญญา เพราะผลกระทบของ Deep Tech ก็คงไม่ใช่แค่ระดับสมองหรือความคิดที่อยู่ๆ เราเผลอโอนไป แต่มันลึกซึ้งไปถึงจิตวิญญาณ แล้วเราจะรับมืออย่างไร? อันนี้ก็น่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับภาคีสุขภาวะทางปัญญาและภาคีระบบสื่อ มันก็ต้องแก้ไป 2 อย่างด้วยกัน สุภิญญา กล่าว

สุภิญญา กล่าวต่อไปว่า ในขณะที่เราต้องกลับมาดูแลจิตใจตนเองในเชิงลึก เพื่อให้พร้อมกับการรับมือกับโลกที่ผันผวน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยปัญหามากมายซึ่งไม่ใช่แต่ในประเทศไทย แต่อีกด้านหนึ่ง การแก้ปัญหาเชิงระบบโครงสร้างก็ต้องทำด้วย เช่น จะออกแบบระบบนิเวศสื่อให้ดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งความรับผิดชอบของแพลตฟอร์ม องค์กรสื่อ รวมถึงระดับปัจเจกอย่างบุคคลที่มีชื่อเสียง (Influencer) การที่โคแฟคซึ่งทำเรื่องระบบสื่อได้มาร่วมกับภาคีสุขภาวะทางปัญญา จึงเป็นโอกาสดี

ส่วนอีกหัวข้อที่โคแฟคจะร่วมจัดในงาน Soul Connect Fest 2025 คือ 2.ผลกระทบจากด้านลบของอินเตอร์เน็ต เช่น ความเกลียดชัง มีคำถามว่าเหตุใดในอินเตอร์เน็ตคนเราจึงเกลียดกันมาก แสดงความคิดเห็นกันแบบรุนแรงสุดโต่งจนอาจลุกลามออกจากโลกออนไลน์ไปสู่โลกจริง แต่ขณะเดียวกันเราก็ยังต้องทนอยู่ ซึ่งนอกจากการมีความรู้เท่าทัน มีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) ยังต้องมีความเป็นมนุษย์ที่ใจเย็นๆ และใจดีต่อกัน

โดยในวงนี้จะมีผู้ได้รับผลกระทบจากความเกลียดชังบนโลกออนไลน์มาร่วมพูดคุย ยิ่งยุคหลังๆ เป็นยุค 4.0 มีการยกระดับ เช่น ใช้เทคโนโลยี Deepfake มีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation – IO) ทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นและวนอยู่ไม่หายไปไหน แล้วจะหาทางออกกันอย่างไร ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่ตั้งไว้ในงานคือ ปัญญารวมหมู่ (Collective Wisdom)” รวมถึงมีความเป็นมนุษย์ ที่แม้การชอบหรือเกลียดเป็นสิทธิของบุคคล แต่การแสดงออกในพื้นที่สาธารณะควรจะต้องมีขอบเขต และต้องอยู่บนฐานของความเป็นจริงไม่ใช่บิดเบือน

เราจะใช้พลังปัญญารวมหมู่ เราจะสร้างความเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือการเคารพกันและกันแม้จะเห็นต่างกันในพื้นที่ออนไลน์ได้อย่างไร ซึ่งทุกวันนี้พื้นที่ออนไลน์ก็เป็นพื้นที่ของเราเกินครึ่งไปแล้ว ก็คือต้องสร้างวัฒนธรรมของความเป็นมนุษย์คู่กันไปด้วย อันนี้ก็น่าจะเป็นประเด็นที่เราได้คุยกัน สุภิญญา กล่าว 

สำหรับวงเสวนา “Soul Connect : จิตวิญญาณ การร่วมทุกข์ และความหวัง ในการแถลงข่าวมหกรรมพบเพื่อนใจ Soul Connect Fest 2025 ยังมีผู้ร่วมเสวนาอีก 3 ท่าน โดย จารุปภา วะสี ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญากล่าวว่า การเฝ้ามองความเคลื่อนไหวทั้งในประเทศไทยและโลก มีสิ่งหนึ่งที่รายงานหลายฉบับกล่าวตรงกันคือ วิกฤติต่างๆ ที่ซับซ้อนหนักหนาแล้วเราหาทางออกไม่ได้ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือมนุษย์ไม่สามารถร่วมมือกันได้ หรือร่วมมือกันได้ยาก จึงเกิดคำถามว่าจะฝ่าเรื่องนี้ออกไปอย่างไร

Screenshot

ศ.(เกียรติคุณ) น.พ.ประเวศ วะสี  เคยกล่าวถึงคำหนึ่งที่สำคัญมาก คือ สันติภาพ  สันติภาวะ แต่สันติภาพหรือสันติภาวะของโลกหรือสังคมภายนอกนั้นเชื่อมโยงกับสันติภาพหรือสันติภาวะภายในจิตใจของเราแต่ละคนกับคนใกล้ตัว  ขณะที่คำว่าการร่วมทุกข์ จริงๆ คือการร่วมเข้าสู่ความเป็นมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะสถานการณ์ในโลกปัจจุบันการร่วมทุกข์ คือ เรื่องใหญ่ หากเข้าไปถึงตรงนั้นเชื่อได้ว่าเราจะเจอความหวัง

เคยสัมภาษณ์คนทำงานระดับสูงที่สุด กับคนทำงานกับคนรากหญ้าที่สุด พูดคำเดียวกัน ฟังแล้วน้ำตาไหล เขาบอกคุณรู้ไหม? เมื่อใดก็ตามที่เขาลงไปทำงานในพื้นที่แล้วเจอผู้คนที่ทำงานแบบนี้ด้วยกัน เขาไม่เคยหมดหวังเลย ฉะนั้นจากสันติภายในสู่สันติภาพสังคม สู่สันติภาพโลก จุดร่วมองเราคือเรากลับมาที่จิตวิญญาณ เชื่อมโยงกัน เราร่วมทุกข์ด้วยกันแล้วเราจะเจอความหวังแน่ๆ จารุปภากล่าว

Screenshot

ญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สุขภาวะทางปัญญา หมายถึงความสุขที่เกิดจากการที่เราได้กลับมาใคร่ครวญ ได้รู้จักตนเองและเกิดการเชื่อมโยงกับผู้อื่น สังคมและธรรมชาติ เรื่องนี้เป็นฐานของงานสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งปัญหาของโลกเราทุกวันนี้เรียกว่า บานี (BANI)” ที่ทั้งเปราะบางซับซ้อน คลุมเครือ  คาดเดาไม่ได้ ไม่เป็นเส้นตรง จึงสร้างความกังวลและความทุกข์ภายในใจให้กับผู้คนในสังคม 

เคยมีนักศึกษาไปถาม มาร์กาเร็ต มีด (Margaret Mead) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ว่า อะไรคือจุดเริ่มต้นของอารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งในชั้นเรียนนั้น นักศึกษาหลายคนมองไปที่เรื่องการก่อสร้างต่างๆ แต่นักมานุษยวิทยาผู้นี้กลับตอบว่า การค้นพบกระดูกโคนขาของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์จะอยู่รอดไม่ได้เลยหากร่างกายบาดเจ็บ เพราะไม่สามารถออกไปหาอาหาร แต่การที่กระดูกโคนขาดังกล่าวมีร่องรอยการได้รับการเยียวยา นั่นหมายถึงมีมนุษย์คนอื่นๆ ช่วยกันโอบอุ้มฟูมฟัก คอยดูแลกันจนกระดูกโคนขาหายเป็นปกติ นั่นคือจุดเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์ 

Screenshot

เรามองว่าสุขภาวะทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่ง เรียกว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการคลี่คลายหรือเข้าไปแก้ไขหรือป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ในระยะยาว ดังนั้นเราจะเห็นการเคลื่อนไหวของประเด็นต่างๆ ที่เป็นประเด็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกเดือด ความมั่นคงทางอาหาร หรือแม้แต่สุขภาพจิตที่เริ่มเอามิติในการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา หรืออาจเรียกจิตวิญญาณหรือการพัฒนาภายใน เข้าไปร่วมขับเคลื่อนกับปัญหาหล่านั้น อันนี้เรียกว่าเป็นความหวังของสังคมแล้วก็มนุษยชาติผอ. สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าว

Screenshot

สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า วิถีชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันไม่มีพื้นที่ทำให้เราได้พูดในสิ่งที่เป็นตัวเราเอง ไม่มีเวลาหรือความเงียบที่เพียงพอที่เราจะได้สำรวจหรือเปิดบทสนทนา เพราะเมื่อว่างกันเราก็มักจะใช้เวลาไปกับสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการเบียดบังเวลาที่เราจะได้ทำความรู้จักจิตวิญญาณข้างใน ต้องเริ่มจากตรงนี้ก่อน เมื่อเราไม่รู้จักและเกิดการขัดแย้งกับความรู้สึกภายใน 

ซึ่งบางทีเราจะรู้สึกสับสน หงุดหงิด ไม่รู้จะจัดวางตนเองอย่างไร และตอบคำถามตนเองไมได้ด้วยว่าที่เป็นแบบนั้นเพราะอะไร ในขณะที่คนคลี่คลายได้มักเป็นคนที่เปิดบทสนทนาแล้วเคลียร์ เปิดใจอย่างตรงไปตรงมาแล้วคุยกับจิตใจโดยมองว่าเป็นเพื่อน เพราะหากมองว่าเป็นคู่ต่อสู้รบไปก็ไม่ชนะ ส่วนคำว่าความทุกข์ก็คือความขัดแย้งหรือสิ่งที่ไม่เป็นไปตาม แม้กระทั่งความสุขของผู้อื่นก็ยังเป็นความทุกข์ของเราได้ อย่างยุคนี้ในสื่อสังคมออนไลน์ไปทางไหนก็เจอแต่คนโพสต์อะไรที่เป็นความสุข ทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดเราไม่สุขอย่างเขาบ้าง

อันนี้ก็ต้องกลับไปฝึกกันว่าเราจะเบิกบานกับความสุขของคนอื่นได้อย่างไร ยินดีกับคนอื่นที่มีความสุขได้อย่างไร แต่เป็นเรื่องที่ต้องฝึก ต้องเปลี่ยนวิธีคิดหรือวิธีการตอบสนองกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายหน้า หรือเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ ถ้าในมิติศาสนาก็มีผู้ค้นพบว่าปัญญาก็เกิดจากการที่คุณต้องผ่านช่วงเวลาของความทุกข์ให้ได้ คุณจะเกิดปัญญาได้อย่างไรว่าคุณไม่ผ่านความทุกข์ ถ้าเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความทุกข์ ตีความมันอีกในมิติหนึ่ง เราก็อาจยินดีกับการที่เราจะต้องอยู่กับความทุกข์ เรายินดีได้จากความทุกข์ มีประโยชน์ได้จากความทุกข์ สมบัติ กล่าว

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากคนดังในวงการบันเทิงย่าง “วู้ดดี้ – วุฒิธร มิลินทจินดา” และ “ชาย – ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ” ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “2 คนบันเทิงกับการตกผลึกตัวตนและความคิด” ซึ่งผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/SoulConnectFest/videos/834869462093916/?locale=th_TH

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

Screenshot
Screenshot

คลิปเก่าที่มีผู้โพสต์เมื่อ 3 ปีก่อน ถูกนำมาอ้างเท็จว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุกน้ำมันไปเมียวดี

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค

คลิปวิดีโอเฮลิคอปเตอร์เคลื่อนย้ายรถบรรทุก ซึ่งผู้ใช้โซเชียลมีเดียนำมาโพสต์และ “ท็อปนิวส์ออนไลน์” นำไปเผยแพร่ต่อ โดยผู้โพสต์อ้างว่าเป็นภาพเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงไปที่เมืองเมียวดี สหภาพเมียนมา หลังจากที่ทางการไทยตัดไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โคแฟคตรวจสอบพบว่าเป็นคลิปวิดีโอเก่าที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอินโดนีเซียนำมาเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2564

อย่างไรก็ตาม โคแฟคยังไม่ได้ตรวจสอบในเชิงลึกว่า วิดีโอนี้ถ่ายจากเหตุการณ์จริงหรือไม่ หรือใช้เทคนิคการตัดต่อ/สร้างภาพด้วย AI และหากเป็นวิดีโอที่ถ่ายจากเหตุการณ์จริง นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในสถานที่ใดและเมื่อไหร่

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 บัญชีผู้ใช้ติ๊กต็อกชื่อ talkwiththepolice (ผู้ติดตาม 4.66 แสนบัญชี) โพสต์คลิปความยาว 13 วินาที เป็นภาพเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุกบินอยู่เหนือพื้นที่ป่า ขึ้นข้อความว่า “ขนส่งน้ำมันทาง ฮ.” และ “หลังจากที่ประเทศไทยตัดไฟฟ้าและเชื้อเพลิงไปที่เมืองเมียวดี เฮลิคอปเตอร์ Mi-26 ลึกลับก็ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้าและขนส่งรถบรรทุกเชื้อเพลิงไปที่เมืองเมียวดี” คลิปนี้มียอดเข้าชมกว่า 1.5 ล้านครั้ง ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 (ลิงก์บันทึก https://archive.ph/lh2bb)

วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก “เหยี่ยว ข่าวสายรถบรรทุก” (ผู้ติดตาม 8.6 หมื่นบัญชี) โพสต์วิดีโอและข้อความเดียวกัน มีผู้แชร์ต่อมากกว่า 200 ครั้ง

ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ช่องยูทูป “TOP NEWS LIVE” นำคลิปวิดีโอนี้ไปเผยแพร่ในรายงานข่าวหัวข้อ “วิกฤติหนัก เมียวดี ราคาน้ำมันทะลุลิตรละ 100 แชร์ว่อนคลิป พม่าใช้ ฮ.ขนรถน้ำมัน” วิดีโอนี้มีผู้เข้าชมเกือบ 1 แสนครั้งในเวลา 20 ชั่วโมง

โคแฟคตรวจสอบ

โคแฟคใช้ InVID-WeVerify ซึ่งเป็นเครื่องมือออนไลน์ที่ร่วมพัฒนาโดยสำนักข่าวเอเอฟพีเพื่อช่วยในการค้นหาที่มาของวิดีโอ โดยระบบจะแยกเฟรมภาพในวิดีโอเป็นภาพนิ่งและนำภาพนั้นไปค้นหาในเสิร์ชเอนจิน เมื่อนำ URL ของวิดีโอที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊ก “เหยี่ยว ข่าวสายรถบรรทุก” ไปแยกเฟรมภาพและค้นหาใน Google และ Yandex พบว่าคลิปวิดีโอนี้เคยถูกเผยแพร่มาแล้วหลายครั้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 (พ.ศ. 2564) ส่วนใหญ่เป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ยังพบว่า ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2021 เว็บไซต์รวมข่าวสารและเรื่องราวเบาสมองของอินโดนีเซีย เช่น Hops และ Saura.com รายงานว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอินโดนีเซียได้แชร์ภาพและวิดีโอการเดินทางด้วยวิธีแปลก ๆ พร้อมด้วยข้อความเช่น “กลับบ้านอย่างไรไม่ให้ถูกจับได้” เพื่อเสียดสีคำสั่งของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ห้ามประชาชนเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลอีด (Eid al-Fitr) ในเดือนพฤษภาคม 2021 เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หนึ่งในภาพที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ คลิปวิดีโอเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุก ที่เผยแพร่โดยผู้ใช้อินสตาแกรมรายหนึ่ง ซึ่งเว็บไซต์ Hops และ Saura ระบุว่าไม่สามารถยืนยันต้นตอและสถานที่ในวิดีโอได้ แต่วิดีโอนี้ก็ได้ทำให้ชาวเน็ตสนทนากันอย่างสนุกสนาน

ขณะที่เว็บไซต์ Riau24 รายงานเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2021 ว่าคลิปวิดีโอเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุกที่โพสต์โดยบัญชีผู้ใช้อินสตาแกรมกำลังเป็นไวรัลในกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียของอินโดนีเซีย โดยผู้โพสต์ระบุว่านี่เป็นภาพที่ถ่ายในจังหวัดปาปัว เว็บไซต์ Riau24 ระบุในรายงานเช่นกันว่าไม่สามารถยืนยันต้นตอของวิดีโอดังกล่าวได้

โคแฟครวบรวมตัวอย่างคลิปวิดีโอเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุกที่ถูกนำมาอ้างเท็จว่าเป็นการขนรถบรรทุกน้ำมันไปที่เมียวดี ที่เคยมีการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอินโดนีเซีย

  • วันที่ 5 พฤษภาคม 2021 ช่องยูทูบ SEKITAR LABURA เผยแพร่วิดีโอนี้โดยเขียนคำบรรยายภาษาอินโดนีเซีย ใช้เครื่องมือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ไวรัล.!! รถบรรทุกขนส่งเฮลิคอปเตอร์ในปาปัว” 
  • วันที่ 7 พฤษภาคม 2021 โพสต์โดยบัญชีผู้ใช้ติ๊กต็อก พร้อมกับข้อความภาษาอินโดนีเซีย ใช้เครื่องมือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า การขนย้ายรถบรรทุกด้วยวิธีนี้มีเฉพาะในปาปัวเท่านั้น
  • วันที่ 12 กรกฎาคม 2021 เพจเฟซบุ๊กชื่อ “Dika Mobil Towing/Derek Kota Jambi” โพสต์วิดีโอนี้ พร้อมคำบรรยายภาษาอินโดนีเซียเกี่ยวกับการให้บริการรถลาก-ขนย้ายพาหนะ
  • วันที่ 6 กรกฎาคม 2023 ผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่งโพสต์คลิปวิดีโอเดียวกันนี้ โดยไม่ได้ให้ข้อมูลใด ๆ ประกอบ แต่มีการปักหมุดสถานที่ในวิดีโอว่า “Bangsring Breeze” ซึ่งเป็นชื่อของโรงแรมที่พักในจังหวัดชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย โคแฟคไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นจุดที่ถ่ายวิดีโอนี้จริงหรือไม่

ข้อสรุปโคแฟค

วิดีโอนี้เป็นวิดีโอเก่าที่เคยมีการเผยแพร่มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอินโดนีเซีย ดังนั้นภาพเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุกในคลิปวิดีโอจึงไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ตามที่บัญชีผู้ใช้ติ๊กต็อกชื่อ talkwiththepolice และเพจเฟซบุ๊ก “เหยี่ยว ข่าวสายรถบรรทุก” รวมทั้งท็อปนิวส์ออนไลน์ อ้างว่าเป็นการ “ขนส่งน้ำมันทาง ฮ.” ที่เกิดขึ้นหลังจากที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หยุดส่งกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเมียนมาตามมติของสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568

ทั้งนี้ โคแฟคยังไม่ได้ตรวจสอบในเชิงลึกใน 2 ประเด็น คือ 1) วิดีโอนี้เป็นวิดีโอที่ถ่ายจากเหตุการณ์จริงหรือไม่ หรือเป็นวิดีโอที่ใช้เทคนิคการตัดต่อภาพหรือใช้เทคโนโลยี AI 2) หากเป็นวิดีโอที่ถ่ายจากเหตุการณ์จริง นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในสถานที่ใดและเมื่อไหร่ ซึ่งต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบ แต่เนื่องจากคลิปวิดีโอนี้กำลังสร้างความเข้าใจผิด เป็นที่สนใจและถูกส่งต่ออย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย อีกทั้งมีสื่อมวลชนนำไปรายงานต่อ โคแฟคจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่รายงานการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหานี้ในเบื้องต้น และหากมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิดีโอนี้ โคแฟคจะรายงานให้ทราบต่อไป

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

การทำ IF ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์น้ำหนักโยโย่จริงหรือไม่ ? 

การทำ IF (Intermittent Fasting) หรือ วิธีการจำกัดเวลาในการรับประทานอาหาร เป็นวิธีที่รู้จักกันในกลุ่มคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก และหากหยุดทำ IF จะทำให้น้ำหนักโยโย่หรือไม่

IF (Intermittent Fasting) เป็นวิธีลดน้ำหนักแบบจำกัดเวลารับประทานอาหาร เพื่อช่วยควบคุมปริมาณแคลอรี่หรือพลังงานที่ร่างกายได้รับ ซึ่งจะส่งผลในการควบคุมน้ำหนักตัว

การทำ IF แบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเวลารับประทานอาหาร (Feeding/Eating) และช่วงเวลาอดอาหาร (Fasting) 

สูตรยอดนิยม สูตร 16/8 คือ การรับประทานอาหาร 8 ชั่วโมง และอดอาหาร 16 ชั่วโมง เช่น รับประทานอาหารเวลา 10.00 – 18.00 น. แต่หลังเวลา 18.00 น. จะเป็นช่วงอดอาหาร เหมาะสำหรับผู้เริ่มทำ IF เพราะทำได้ง่ายและไม่กระทบกับชีวิตประจำวันมากเกินไป 

ผลลัพธ์ที่ดีในการทำ IF 

  • ช่วยลดน้ำหนักและไขมันหน้าท้อง
  • ช่วยกระตุ้นการล้างสารพิษและลดความเครียด
  • ช่วยลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี
  • ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • ลดความเสี่ยงของโรคต่างๆและช่วยให้อายุยืนขึ้น

ดังนั้นการทำ IF ไม่ได้ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์โยโย่ของน้ำหนัก แต่อาจเกิดจากการทำ IF ที่ไม่ถูกวิธี จึงควรศึกษาวิธีการทำ IF ที่เหมาะสมกับตัวเองเพราะหากทำไม่ถูกวิธี อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ และควรออกกำลังควบคู่อย่างสม่ำเสมอ

(ข้อมูลจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข /ผศ.(พิเศษ) พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ ฝ่ายอายุรศาสตร์)

กระทู้ https://cofact.org/article/3m2pl8xku686n

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568

การล็อกดาวน์ไม่ช่วยลดฝุ่น PM 2.5…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1ryxrvcx18g0c


ป้าย Hollywood ถูกไฟป่าเผาในแอล.เอ….จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/x434tumso5kz


ใส่ผ้าอนามัยระยะเวลานาน ทำให้เสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก”…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3pw67a6ue2mem


หลักฐานการใช้เลเซอร์ก่อไฟป่าแอล.เอ…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2x3t6x44e9vh8


  เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 68

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/24o59eun7dun2


  กยศ. ปรับการคิดดอกเบี้ยสูตรใหม่ ส่ง SMS คืนเงินเข้าบัญชีลูกหนี้

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/21qqswnkubq6w


 ใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ตาดำเล็กลง

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3mwsaikoi6d7n


 ล้างหน้าด้วยน้ำเย็นช่วยลดอาการหน้าบวม…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2bclyne1f1jrt


 รับประทานช็อกโกแลตทำให้เป็นสิว…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/29ao24sylpaxn


 รับประทานไก่ทำให้เป็นโรคเกาต์…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/ybhmot92owat