เชิญชวนเยาวชน 15-24 ปี สมัครแข่งขันตรวจสอบข่าวลวงชิงรางวัล พร้อมพัฒนาทักษะนักสืบดิจิทัล

Editors’ Picks

เชิญชวนเยาวรุ่นร่วมสมัครเข้าแข่งขันตรวจสอบข่าวลวงชิงรางวัล
หากคุณอายุ 15-24 ปีต้องการพัฒนาทักษะนักสืบดิจิทัล ร่วมกิจกรรม Youth Verification Challenge
กับ Google News Initiative ชัวร์ก่อนแชร์ Cofact
พร้อมรับของรางวัลจาก Google
ลงทะเบียนภายใน 16 เม.ย. 65
อ่านรายละเอียด
verificationchallenge.com/th
ชมเพิ่มเติมในชัวร์ก่อนแชร์ x โคแฟค ไลฟ์ทอล์กที่
เพจชัวร์ก่อนแชร์ https://fb.watch/camaG37gDL/
เพจนักสืบสายชัวร์ x ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร https://fb.watch/cam0Os1zmw/
เพจโคแฟค https://fb.watch/calwNHpd6v/


เปิดโครงการ‘Youth Verification Challenge’ ชวนเยาวรุ่นอายุ 15-24 ปี ฝึกอบรม-ประลองทักษะตรวจสอบข่าวลวง

Google news Initiative  ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ MCOT เปิดตัวโครงการ “Youth Verification Challenge” ชวนเยาวชนร่วมฝึกทักษะการตรวจสอบข่าว และร่วมแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับเอเชีย  

นายธนภณ เรามานะชัย Trainer Google News Initiative (GNI) กล่าวว่า โครงการ Youth Verification Challenge เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี เข้าร่วมฝึกอบรมทักษะการตรวจสอบข่าวหรือข้อมูลลวงต่างๆ กับทีมงานของ GNI พร้อมด้วยพันธมิตรที่เป็นผู้สื่อข่าวและนักตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checker) ทั่วทั้งเอเชีย กิจกรรมนี้แบ่งออกเป็น 4 ระยะ มีทั้งการเล่นเกมตอบคำถาม การฝึกอบรม ไปจนถึงการแข่งขันในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เปิดรับสมัครวันนี้ -16 เมษายนเท่านั้น  

ทำไม GNI อยากจัดโครงการนี้ ถ้ามองจากประสบการณ์ของผม น้องๆ เยาวชน ถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกันให้ทางบ้าน ถ้าเราจะสอนเรื่องการตรวจสอบข่าวลวง-ข่าวเท็จ บางทีถ้าเราคุยกับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุอาจจะไมได้มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว ดังนั้นแล้วน้องๆ เยาวชน น่าจะมีความคล่องแคล่วในเรื่องการใช้เครื่องมือตรวจสอบข้อมูลลวงมากกว่า และน้องๆ ยังสามารถเอาไปบอกต่อกับคุณพ่อคุณแม่ ไปบอกต่อญาติผู้ใหญ่ทางบ้านได้ด้วย นายธนภณ กล่าว

นายธนภณ กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมนี้นอกจากจะทำให้เยาวชนมีทักษะตรวจสอบข่าวหลอกลวงในชีวิตประจำวันได้แล้ว ยังเป็นการปูทางไปสู่การมีงานทำในอนาคตด้วย Fact Checker นั้นปัจจุบันเป็นอาชีพใหม่ในแวดวงสื่อสารมวลชน โดยระหว่างการอบรมจะมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้คำแนะนำตลอดโครงการ ซึ่ง Youth Verification Challenge ในครั้งนี้จัดเป็นปีที่ 2 แล้ว กิจกรรมในภาพรวมจะคล้ายกับปีก่อน แต่จะแตกต่างกันบ้างในเนื้อหาและรายละเอียด

โดยกิจกรรม ระยะที่ 1 เป็นการเรียนรู้ทักษะง่ายๆ รวม 8 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที ในรูปแบบ Youtube Live ว่าด้วยเทคนิคการตรวจสอบข้อมูลบนโลกออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อความตัวอักษร ซึ่งมักพบบ่อยๆ ในการแชร์ผ่านกลุ่มไลน์ จะตรวจสอบได้อย่างไร รูปภาพหรือคลิปวีดีโอที่แชร์กันมาจะหาต้นตอได้จากที่ไหน เริ่มเรียนครั้งแรก 18 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยท้ายการเรีบนแต่ละครั้งจะมีชุดคำถามให้ตอบเพื่อเก็บสะสมคะแนน ให้เวลา 3-5 นาทีในการตอบ 

จากนั้น ระยะที่ 2” ประมาณเดือน พ.ค. 2565 จะได้เรียนรู้การทำงานของวิทยากรหรือพี่เลี้ยง (Mentor) 4 ท่าน เพื่อให้เห็นว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงในแต่ละนั้นทำอย่างไรกันบ้าง โดยในส่วนของวิทยากร เป็นกิจกรรมที่เพิ่มเข้ามาในปีนี้ จากเดิมปีก่อนที่เน้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการตอบคำถามมากกว่า ระยะที่ 3 ประมาณกลางปี 2565 เป็นการให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการและผ่านระยะที่ 1-2 มาแล้ว มารวมทีมเพื่อเข้าร่วมแข่งขันระดับชาติ และ ระยะที่ 4 เฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันต่อในระดับเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ก.ย. 2565 ในงาน Trusted Media Summit ของ GNI เพื่อให้ได้สุดยอดนักตรวจสอบข้อเท็จจริงรุ่นเยาวชนของเอเชีย-แปซิฟิก 

นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ MCOT กล่าวว่า โครงการ Youth Verification Challenge มีความสำคัญกับคนที่ในอนาคตต้องการทำงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประโยชน์ที่ได้รับของเยาวชนผู้เข้าร่วมนอกจากจะได้เห็นว่าคนที่ทำงานด้านนี้ต้องมีทักษะและใช้เครื่องมืออะไรบ้าง ได้ลงมือทำเพื่อฝึกฝนทักษะเนื่องจากวิชานี้ไม่มีการสอนในห้องเรียน ได้พบกับทีมงานที่ปกติอาจเข้าถึงได้ยาก เช่น ทีม GNI ของกูเกิ้ล ตลอดจนคนที่ทำงานด้านตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 

“เป็น Shortcut (ทางลัด) หรือก้าวกระโดดสำหรับน้องๆ ที่มีความสนใจ โดยเฉพาะคนที่สนใจเรื่องอนาคตของวงการข่าว อนาคตของวารสารศาสตร์ น้องๆ คนที่เป็นครีเอเตอร์ คนที่อยากสร้างสรรค์สื่อแต่ไม่อยากทำสื่อบันเทิงอย่างเดียว อยากจะทำสื่อที่มันเสริมสร้างบางอย่างให้สังคม หรืออยากจะทำสื่อที่มีแต่ความจริง สื่อที่ทำให้ข้อเท็จจริงมันมีความสำคัญขึ้นในสังคมไทย อะไรแบบนี้ โอกาสนี้จะเป็นหนึ่งในโอกาสที่ดีมากๆ” นายพีรพล กล่าว

นายพีรพล กล่าวอีกว่า ทักษะการตรวจสอบข้อมูลบนสื่อออนไลน์ หลายคนอาจทำเป็นอยู่แล้ว หรือใช้เครื่องมือเป็นแล้วในบางส่วน แต่การมาอบรมครั้งนี้เหมือนกับการทำความเข้าใจโครงสร้างใหญ่ของชุดเครื่องมือทั้งหมด โดยจะได้รู้ว่าคนที่ทำงานด้านนี้จริงๆ ใช้เครื่องมือกันอย่างไร และมองเครื่องมือเหล่านี้อย่างไร ถือว่าเป็นเนื้อหาที่ต่อยอดได้อย่างมาก ส่วนคนที่ยังทำไม่เป็นจะยิ่งได้ความรู้ หรือคนที่บอกว่าทุกวันนี้สงสัยอะไรก็ค้นหาในกูเกิ้ลอยู่แล้วทำไมยังต้องมาเรียนอีก ก็ต้องบอกว่าสิ่งที่จะได้เรียนไม่เหมือนกับที่ค้นหากันอง

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงสากล (International Fact-Checking Network : IFCN) กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันตรวจสอบข้อมูลสากล (International Fact-Checking Day) โดยวันที่ 2 เมษายน นั้นเป็นวันถัดมาจากวันที่ 1 เมษายน ที่เป็นวันโกหก (April Fool’s Day) ในวันดังกล่าวหลายคนอาจถูกหลอกกันได้ง่ายๆ แต่ในยุคนี้มีโอกาสถูกหลอกกันได้ทุกวัน 

ดังนั้นทักษะในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจึงสำคัญมากในยุคดิจิทัล เพื่อที่จะได้รู้ทันไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวลวงและอาชญากรรมต่างๆ บนโลกไซเบอร์ ซึ่ง Youth Verification Challenge เป็นโครงการที่เชิญชวนเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันตรวจสอบข่าวลือ-ข่าวลวง ริเริ่มโดยทาง Google News Initiative โดยมี โคแฟค (ประเทศไทย) และ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ MCOT ร่วมสนับสนุน

เท่าที่เราตามตอนนี้ จะเห็นว่า เยาวรุ่นก็ตื่นตัวเรื่องการตรวจสอบข้อมูลกันมาก เราจะมีนักสืบโซเชียลเยอะแยะไปหมดเลยเวลามีอะไรต่างๆ จริงๆ ถ้าได้มาเข้าร่วมโครงการนี้ ได้อบรม ได้ร่วมแข่ง ก็เพิ่มทักษะตรงนี้มากขึ้นด้วย ก็ฝากทุกท่านประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม ใครที่มีน้องๆ ลูกๆ หลานๆ หรือญาติๆ คนไหนที่สนใจ เป็นโครงการที่น่าสนุก น.ส.สุภิญญา กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://www.verificationchallenge.com/th

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

กรณีศึกษา‘ชายแดนใต้’ เหตุใดสังคมไทยต้องตระหนัก‘สิทธิดิจิทัล’ ชี้ข่าวลวง-มิจฉาชีพออนไลน์แก้ยากหากรัฐไม่ปรับท่าทีให้ประชาชนเชื่อมั่น

Editors’ Picks

วงเสวนายกกรณีศึกษา‘ชายแดนใต้’ เหตุใดสังคมไทยต้องตระหนัก‘สิทธิดิจิทัล’ ชี้ข่าวลวง-มิจฉาชีพออนไลน์แก้ยากหากรัฐไม่ปรับท่าทีให้ประชาชนเชื่อมั่น

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ Doc Club & Pub ย่านศาลาแดง กรุงเทพฯ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ โคแฟค (ประเทศไทย) จัดกิจกรรมฉายหนังสั้น 8 เรื่อง และการเสวนาหัวข้อ สิทธิดิจิทัลในประเทศไทยคืออะไรทำไมจึงสำคัญ? และควรเริ่มต้นที่ตรงไหน?” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์ค้นหาข้อเท็จจริง ในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2565 ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-2 เม.ย. 2565

นุรอาซีกีน ยูโซ๊ะ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ในพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องด้วยอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษที่เข้มงวดกว่าพื้นที่อื่นๆ การแสดงออกหรือวิพากษ์วิจารณ์จึงทำได้ยากกว่า ขณะเดียวกันก็มีปัญหาข่าวลือ-ข่าวลวงจำนวนมาก เช่น เมื่อมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น ในฐานะคนทำงานในพื้นที่ก็ต้องค้นหาข้อมูลจากหลายแหล่ง ซึ่งน่าเป็นห่วงสำหรับคนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้ค้นหาข้อมูลในระดับเดียวกัน แต่เลือกที่จะเชื่อข้อมูลจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเพียงแหล่งเดียว ก็ยิ่งสร้างความแตกแยกในสังคมมากขึ้น

โดยในเหตุการณ์เดียวกันจะมีการสื่อสารทั้งจากหน่วยงานความมั่นคง องค์กรภาคประชาชน และอื่นๆ อีกมากมายผ่านบัญชีบุคคลหรือเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งหากเป็นคนที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องก็พอจะแยกออกว่าบัญชีบุคคลใดหรือเพจใดอยู่ฝ่ายไหน แต่การรายงานให้ระงับบัญชีหรือเพจที่สร้างข่าวปลอมก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เนื่องจากมีบัญชีหรือเพจใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีก ซึ่งมักเป็นบัญชีหรือเพจอวตารที่ไม่แสดงตัวตนจริง หรือการจะไปไล่แก้ข่าวในทุกเพจก็เป็นเรื่องเกินกำลัง หลายครั้งยังถูกตอบกลับด้วยถ้อยคำรุนแรงจนกระทบต่อสภาพจิตใจ นอกจากนี้ ยังกังวลเรื่องมาตรการลงทะเบียน 2 แชะ หรือบังคับลงทะเบียนอัตลักษณ์บุคคลในการใช้ซิมโทรศัพท์มือถือ ที่หมายเลขใดไม่ลงทะเบียนจะถูกระงับสัญญาณด้วย

“ลงทะเบียน 2 แชะ ตอนนี้หยุดไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้คือสัญญาณให้กับหมายเลขเดิมที่ถูกตัดไปก่อนหน้านี้ ณ ตอนนี้ขอให้ข้อมูลที่มีคนลงทะเบียนเข้าไปแล้ว เราก็อยากจะได้คำชี้แจงว่าใครเป็นคนเก็บข้อมูล แล้วถ้าข้อมูลเหล่านั้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง ใครจะเป็นคนรับผิดชอบในส่วนเสียหายที่เกิดขึ้น อันนี้เราก็อยากได้คำชี้แจงอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่ต้องการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ 2 แชะ ในพื้นที่เรา” นุรอาซีกีน กล่าว

สฤณี อาชวานันทกุล สมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า สิทธิดิจิทัลมี 2 ความหมาย ด้านหนึ่งคือทุกวันนี้ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา หมายถึงเราใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ ดังนั้นจึงคาดหวังการคุ้มครองสิทธิต่างๆ เฉกเช่นที่มีการคุ้มครองบนโลกออฟไลน์ อาทิ สิทธิในการแสดงออก การรวมกลุ่ม ความเป็นส่วนตัว แต่อีกด้านหนึ่ง ในโลกดิจิทัลก็มีบางแง่มุมที่ไม่เหมือนกับโลกออฟไลน์ อาทิ รอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint) ที่เราทิ้งไว้มากมายบนโลกออนไลน์โดยไม่รู้ตัวผ่านการใช้งานเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ดังนั้นการคำนึงถึงมาตรฐานเรื่องความเป็นส่วนตัว จะมีความเข้มข้นแตกต่างกันระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์

เมื่อพูดถึงโลกออนไลน์ จะมีมุมมอง 2 ฝั่ง ระหว่างฝั่งที่คิดว่าโลกออนไลน์ช่วยยกระดับ (Enhance) เรื่องสิทธิ เช่น การรวมกลุ่ม ซึ่งยุคก่อนโลกออนไลน์อาจเป็นเรื่องยากที่เราจะเจอคนอื่นๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกัน ฝั่งนี้ก็จะเห็นว่าสิทธิดิจิทัล รวมถึงการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชน กับฝั่งที่เห็นว่า แม้สิทธิดิจิทัลจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็มองว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นเพียงการเสริมสร้างสิทธิดั้งเดิมอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบัญญัติเพิ่มว่าเป็นสิทธิมนุษยชน ถึงกระนั้น ทั้ง 2 ฝั่งก็เห็นว่าสิทธิดิจิทัลต้องได้รับการคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่กฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ จะพบสิทธิเสรีภาพหลายอย่างมีข้อยกเว้นไว้เสมอด้วยการเขียนต่อท้ายไว้ว่าตามที่กฎหมายบัญญัติ นำไปสู่การที่กฎหมายหลายฉบับเขียนอารัมภบทไว้ก่อนว่าจะมีการละเมิดสิทธิบางอย่าง ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิดิจิทัล เช่น เสรีภาพในการแสดงออก จะมีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แม้จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้จัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ เช่น ในมาตรา 14 ว่าด้วยการนำเข้าข้อมูลเท็จ หมายถึงการปลอมแปลงเป็นบุคคลหรือหน่วยงานอื่นโดยมิจฉาชีพ อาทิ การทำเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกเหยื่อให้ใส่ข้อมูลบัตรเครดิต เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริง มาตราดังกล่าวกลับถูกนำไปตีความอย่างบิดเบือนเพื่อใช้จัดการกับการแสดงออก คำว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ จึงถูกตีความอย่างกว้างว่าข้อมูลอะไรก็ได้ที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต แทนที่จะตีความอย่างเคร่งครัดว่าข้อความที่เครื่องประมวลผลเท่านั้น จึงกลายเป็นกฎหมายที่คุกคามการแสดงออกหรือใช้กลั่นแกล้งกันได้ง่าย ซึ่งไม่ใช่แต่รัฐที่ใช้ในลักษณะนี้ แต่ประชาชนก็ยังใช้กันเองด้วย นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งออกมาแล้วแต่ยังไม่มีการบังคับใช้ โดยรัฐบาลอ้างสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ว่าควรให้เวลาหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนได้ปรับตัว จึงเลื่อนการบังคับใช้มาแล้ว 2 รอบ และหากไม่เลื่อนอีกก็จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2565

ดังนั้นจะเห็นว่า กฎหมายที่ควรจะคุ้มครอง ถึงที่สุดมันมีปัญหาการใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ ลำพังการใช้กฎหมายนี้เพื่อกลั่นแกล้งกัน เพื่อคุกคามก็แย่อยู่แล้ว แต่การใช้ระยะหลังที่เป็นการไปเชื่อมโยงกับคำว่า Fake News มันยิ่งทำให้คนสับสนไปอีก คำว่า Fake News ตามความหมายที่เราเข้าใจกัน คือรวมไปถึงข่าวปล่อย ข่าวบิดเบือน ดังนั้นวิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดเลยคือส่งเสริมสิทธิสื่อมวลชน เพราะโดยอาชีพแล้วเป็นหน้าที่และเป็นผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมไปถึงสนับสนุนสื่อพลเมือง โครงการภาคประชาชน ที่จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checking) แล้วใครก็ทำก็ต้องทำให้ได้มาตรฐานสากล 

ซึ่งประเด็นสิทธิดิจิทัล โดยสรุปแล้วต้องกลับไปที่ 1.ต้องมีหลักการรับผิด กับ 2.หลักการได้สัดส่วน โดยทั้ง 2 ข้อนั้นเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่ารัฐจะไม่สามารถแตะต้องสิทธิใดๆ ของประชาชนได้เลย แต่ต้องมีเหตุผลจำเป็นเพียงพอ เช่น การโดยสารเครื่องบิน ผู้โดยสารรับได้กับการเอ็กซเรย์กระเป๋าเพื่อป้องกันการซุกซ่อนระเบิดขึ้นเครื่องบิน แต่คงไม่ยินยอมหากวันหนึ่งมีกฎว่าต้องถอดเสื้อผ้าต่อหน้าคนอื่นๆ ก่อนขึ้นเครื่อง และคงมีคำถามตามมา เช่น ผู้ก่อการร้ายมีวิธีการวางระเบิดแบบใหม่หรือไม่? เครื่องเอ็กซเรย์แบบเดิมใช้ไม่ได้ผลอย่างไร? เป็นต้น

“ในสังคมหรือในยุคที่หน่วยงานรัฐไม่ต้องรับผิดกับประชาชน เขาก็ยิ่งไม่ต้องรับผิดกับเรื่องเหล่านี้ อยากฝากไว้ตรงนี้ เมื่อไรก็ตามที่เราสามารถกลับมาให้เขามีความรับผิดที่ชัดเจน ความรับผิดชอบต่อมาตรการต่างๆ เขาก็จะต้องกลับมาคิดถึงหลักการที่เป็นหลักการพื้นฐานเหล่านี้มากขึ้น เพราะว่าเอาเข้าจริง นักกฎหมายก็จะบอกว่าหลักความจำเป็นและได้ส่วนมันพื้นฐานมากๆ เลยนะเวลาเราคุยกันเรื่องสิทธิ คือเราย่อมคาดหวังว่าสิทธิเราต้องได้รับการคุ้มครองเป็นเบื้องต้น ถ้าจะมาละเมิดหรือละเว้นต้องอธิบายให้ชัดว่าจำเป็นหรือไม่? อย่างไร? แล้วถ้าเกิดปัญหาใครจะรับผิดชอบ? แล้วเมื่อหมดความจำเป็นก็จะต้องกลับมาคุ้มครองตามเดิม” สฤณี กล่าว

สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ข่าวปลอม (Fake News) นั้นแยกได้ไม่ยาก นั่นคืออะไรก็ตามที่ไม่อยู่บนข้อเท็จจริง (Fact) ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่ Fake News นั้นก็มีหลายประเภท เช่น การเสียดสี (Parody) การแกล้ง (Bully) หรือการสื่อความให้เข้าใจผิดในเชิงสองแง่สองง่าม ทำให้แยกแยะได้ยาก 

อาทิ คน 2 คน สนิทกัน คนหนึ่งไปพูดจาบางอย่างกับอีกคนในลักษณะล้อเลียน คำถามคือทำได้หรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วก็ไม่ควรใช้คำพูดที่ทำให้อีกฝ่ายได้รับผลกระทบเจ็บปวด ซึ่งก็เป็นเรื่องของจริยธรรมด้วย เนื่องจากการใช้เพียงกฎหมายอย่างเดียวกับทุกเรื่องนั้นทำได้ยาก ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการดำเนินการกับ Fake News ส่วนใหญ่จะเป็นการตักเตือน ให้ลบโพสต์และชี้แจง โดยการดำเนินคดีจะใช้กับ Fake News ที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างเท่านั้น เช่น ข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนก คนไม่กล้าไปฉีดวัคซีน ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจของประชาชนและการเปิดประเทศ 

ทั้งนี้ ในการทำงานแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ด้านการบังคับใช้กฎหมายจะเป็นเรื่องของตำรวจและศาล ส่วนศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองข้อมูลว่าข่าวใดจริงหรือปลอม โดยทุกข่าวที่ศูนย์ฯ หยิบยกมากล่าวถึงต้องอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเสมอ เพื่อเป็นการตรวจสอบย้อนกลับไปยังเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานนั้นที่ออกมาให้ข้อมูล หากต่อมามีผู้แย้งว่าข้อเท็จจริงเป็นอีกแบบหนึ่งและมีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าไม่เป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานชี้แจง

ประเด็นต่อไปคือการระบุตัวตน ซึ่งประชาชนยินดีที่จะให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด ฯลฯ ทั้งที่เป็นบริษัทในต่างประเทศ แต่เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้น เช่น ข้อมูลรั่วไหล กลับไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทางกระทรวงฯ จึงต้องการหารือกับทางแพลตฟอร์ม เช่น เฟซบุ๊ก เพื่อเก็บข้อมูลนี้ด้วย เพราะหากมองในมุมผู้เสียหาย อาทิ หากมีลูกแล้วลูกถูกปล่อยภาพอนาจารแล้วจะต้องไปตามจับใคร

อันนี้เป็นมุมมองส่วนตัว คนไทยมีเสรีภาพ ไม่ได้ระวังกับต่างชาติมากพอสมควร หมายถึงว่าเรารู้สึกว่าถ้าเป็นภาครัฐฉันระแวง แต่ถ้าเป็นเฟซบุ๊กฉัน OK หรือบางเรื่องที่เราหลุดง่ายๆ ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี่ยิ่งเห็นบ่อย บัตรประชาชนกับถุงกล้วยแขก ที่มันมีนานแล้ว อย่างนี้เราไม่เคยระวังเลย แต่พอวันนี้มันมีดิจิทัลเข้ามา ทำให้สิ่งที่อยู่ในโลกออนไลน์มันเปลี่ยนไป ซึ่งกฎหมายกับภาครัฐไทย อันนี้ก็บอกได้ว่าในการจะเคลื่อนไหวหรืออะไรมันก็จะมีช่วงของการลองผิดลองถูก มันไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ทันที ซึ่งเหมือนกัน ในการที่เราเข้ามาอยู่บนโลกออนไลน์ บางทีเราก็ยังอาจปรับตัวได้ไม่เต็มร้อย อันนี้ผมว่ามันต้องใช้เวลาอีกสักนิดในการที่จะจูนและก้าวไปพร้อมกัน สันติภาพ กล่าว

สุธิดา บัวคอม ตัวแทนทีม บอทผู้ชนะการแข่งขัน FACTkathon หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้สนใจเรื่องของ Fake News และมองว่าเป็นปัญหาของผู้สูงอายุ เพราะห็นว่าคนรุ่นใหม่เกิดมาในยุคที่มีเครื่องมือดิจิทัลพร้อมในการตรวจสอบ แต่พอมาร่วมโครงการ FACTkathon ก็ได้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ซึ่งนิยมใช้ทวิตเตอร์ หลายครั้งมีการแชร์หรือรีทวิตแบบตามๆ กัน โดยที่ไม่รู้ว่าทวิตต้นทางเป็นข้อมูลจริงหรือไม่

แต่ในบริบทของประเทศไทย Fake News มีพลังในการทำลายล้างเพราะคนไม่เชื่อมั่นในรัฐหรือข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพราะอินเตอร์เน็ตเป็นการสื่อสาร 2 ทาง อีกทั้งยังทำให้ผู้ใช้งานได้เห็นข้อมูลต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเมื่อคนเราต้องประมวลข้อมูลว่าอะไรจริงหรือเท็จ การที่แต่ละคนมีความคิดเห็น มีอคติ (Bias) ไม่เหมือนกัน ทำให้ข้อมูลที่ประมวลออกมาอาจไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งก็ไม่รู้จะไปพึ่งพาการตรวจสอบได้จากที่ไหน เพราะเกิดความรู้สึกว่าไม่มีแหล่งใดที่เชื่อใจได้ ถึงกระนั้น การที่รัฐจะปรับปรุงเพื่อเรียกความน่าเชื่อถือก็ไม่ง่ายอีกเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาได้กลายเป็นภาพจำไปแล้ว แต่อีกมุมหนึ่งก็เห็นการช่วยกันตรวจสอบกันเองของประชาชนมากขึ้น

“อย่างในทวิตเตอร์ คนก็ทำในสิ่งที่จริงๆ ตัวเองไม่ต้องทำก็ได้ อย่างกรณีของคุณแตงโม ที่ผ่านมาแล้วก็ยังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ คือพอมันมีข่าวปลอมเกิดขึ้นมาก็จะมีคนไปแก้ทันที มันไม่จริง มันมีแหล่งข่าวบอกว่าอย่างนี้ ทั้งที่เขาเองก็อาจจะไม่ได้มีประโยชน์อะไรก็ได้แต่เขารู้สึกว่ามันต้องแก้ไขในความผิดพลาดนี้ เรารู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงไปของนิสัยคนก็ทำให้สังคมมันดีขึ้น” สุธิดา กล่าว

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวถึงงานวิจัยที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งพบว่า แม้ประเทศไทยจะมีผู้เผยแพร่ข่าวลวง หรือข้อมูลคลาดเคลื่อน (Disinformation) อยู่มาก แต่ปริมาณการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็มีมากเช่นกัน ส่วนประเด็นเสรีภาพที่ด้านหนึ่งอันดับของไทยถดถอยลง แต่อีกด้านก็พบคนไทยใช้งานสื่อสังคมออนไลน์กันมาก กรณีของประเทศไทยจึงน่าสนใจ และคนไทยเองก็ไม่ได้ซีเรียสกับปัญหามากนักเพราะยังมีแง่มุมดีๆ ให้มองเห็นอยู่ จึงไม่ได้คิดว่าสถานการณ์ในไทยนั้นเลวร้ายมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ

ทั้งนี้ แม้จะเชื่อว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นสิทธิเสรีภาพที่ควรได้รับการปกป้อง แต่หลายปีที่ผ่านมาก็มองเห็นด้านมืดบนอินเตอร์เน็ตค่อนข้างมาก ความท้าทายจึงอยู่ที่จะมีหนทางแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนหนึ่งคือทุกคนต้องกลับมาดูแลตนเอง ต้องตื่นรู้เท่าทัน แต่อีกส่วนหนึ่ง สมดุลระหว่างกฎหมายหรือกฎกติกามารยาทต่างๆ ก็เป็นเรื่องซับซ้อน แต่ละคนอาจเห็นไม่เหมือนกัน และเป็นเรื่องยากในการหาจุดสมดุล

เมื่อมองไปยังอนาคต ยังมีความท้าทายใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือการทำคลิปวีดีโอที่ปลอมแปลงใบหน้าและเสียงจนแยกแยะได้ยาก (Deepfake) ด้านหนึ่งต้องทำให้ประชาชนรู้เท่าทันเพราะใครๆ ก็อาจตกเป็นเหยื่อได้ แต่อีกด้านหนึ่งกฎหมายหรือนโยบายก็ต้องปรับแก้ให้เอื้อต่อการรับมือด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีข้อสังเกตว่า การดำเนินการทางกฎหมายของไทยจะรวดเร็วหากเป็นเรื่องที่กระทบความมั่นคงของรัฐ แต่ก็อาจเกินสัดส่วนไป อาทิ กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือเรื่องการเมือง เมื่อเทียบกับเรื่องที่กระทบต่อประชาชน เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ 

พอเกิดเหตุอย่างนี้ ถ้าเราไปถามหน่วยงานรัฐจะผลักมาที่ผู้บริโภค ประชาชนก็อย่าโง่สิ อย่าทำตัวให้ถูกหลอกสิ พอมาเจอเรื่องอาชญากรรมออนไลน์จริงๆ ภาครัฐจะโยนกลับไปให้ผู้บริโภค แต่พอเจออะไรที่มันกระทบความมั่นคงของรัฐ รัฐจะบอกต้องบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็ง ฉะนั้นมันก็ไม่สมดุลแล้วคนก็ไม่เชื่อในหลักนิติธรรม หรือ Rule of Law มันก็นำไปสู่การที่คนเลือกที่จะ Support บริษัท Tech Company ขนาดใหญ่ มากกว่าที่จะ Support นโยบายของรัฐ เพราะฉะนั้นก็ต้องสลับตรงนี้เพื่อที่จะรับมือกับโลกยุค Metaverse ยุค 5G 6G แล้วก็ยุค Deepfake” สุภิญญา กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

วงเสวนาชี้แก้ปัญหาข่าวปลอมเรื่องของทุกฝ่ายไม่ใช่แค่ภารกิจสื่อมวลชน แต่ทั้งแหล่งข่าว-ผู้รับสารต้องร่วมมือกัน

Editors’ Picks

2 เม.ย. 2565 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สำนักข่าว ThaiPBS FNF Thailand และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา “บทบาทสื่อไทยในการสกัดข่าวปลอม: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ที่ รร.เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์ค้นหาข้อเท็จจริง ในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2565 ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-2 เม.ย. 2565 

ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยพีบีเอส กล่าวว่า เมื่อพูดถึงคำว่าข่าวปลอม (Fake News) จะนิยามอย่างไร ความผิดพลาดทางวารสารศาสตร์จะนับเป็นข่าวปลอมหรือไม่ หรือแค่ไหนจึงเรียกว่าข่าวปลอม แต่สำหรับตนแล้ว ข่าวปลอมนั้นต้องดูที่ผู้สร้างว่ามีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือของคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง 

โดยในอดีตนั้นไม่ค่อยมีปัญหาข่าวปลอม แต่จะเป็นข่าวผิดพลาดคลาดเคลื่อนเสียมากกว่า ซึ่งเกิดจากการเร่งรีบในกระบวนการผลิต ทั้งนี้ สื่อมวลชนมีคำว่า Gatekeeper หมายถึงบทบาทในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนเผยแพร่ ปัจจุบันคนทำงานสื่อก็ยังต้องทำหน้าที่นี้อยู่ ดังนั้นคำถามที่ว่าสื่อจะต่อสู้กับปัญหาข่าวปลอมได้มาก-น้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของกองบรรณาธิการ สำหรับกระบวนการตรวจสอบก็คือการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล เช่น ใครเป็นแหล่งข่าว เป็นแหล่งข่าวประเภทปฐมภูมิหรือทุติยภูมิ วิธีนี้ก็ยังไม่เก่า

แต่ปัจจุบันสื่อต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากทั้งจากผู้รับสารปกติทั่วไป และผู้มีส่วนได้-เสียกับข้อมูลข่าวสาร การที่สื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารแล้วไม่ตรงกับความต้องการของผู้มีส่วนได้-เสีย ก็อาจถูกตีตราได้ว่าเป็นผู้นำเสนอข่าวปลอม แม้ว่าข้อมูลนั้นจะมีปัญหามาจากแหล่งข่าวต้นทางก็ตามแต่จะไม่ค่อยถูกพูดถึง ดังนั้นการแก้ปัญหาข่าวปลอมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องรู้เท่าทัน ทั้งคนทำงานสื่อ แหล่งข่าวซึ่งเป็นต้นทางของการสื่อสาร และผู้รับสาร ซึ่งยุคนี้กรอบจริยธรรมสื่อเป็นวิชาที่ทุกคนควรได้เรียน

“ผู้รับสารซึ่งปัจจุบันเป็นผู้สื่อสารแล้ว ทันทีที่รับข้อมูล ใช้เวลากะพริบตาไม่เกิน 3 นาที ก็เป็นผู้ส่งสารได้ทันที ก็คือแชร์ ทำอย่างไรคนเหล่านี่จึงตระหนักว่าสถานะของเขาไม่ใช่แค่ผู้รับสาร พวกเธอทั้งหลายตรวจสอบให้ฉันแน่นอน ถ้าเธอไม่ทำคือเธอไม่ทำหน้าที่ แต่พอถึงตัว ได้มาปุ๊บส่งต่อเลย ทำอย่างไรจึงสร้างความตระหนักว่าเมื่อไรก็ตามที่คุณแชร์หรือส่งต่อ คุณควรมีกระบวนการคิดและตรวจสอบสารเช่นกัน ตั้งคำถามสักนิดว่าตกลงอันนี้ใช่ไหม 

ขณะเดียวกันมันต้องย้อนไปถึงต้นทางด้วย ผมถามหน่อยทุกวันนี้เราเข้าใจว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรป้องกันโรคโควิดได้ไหม หน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือบอกไม่ได้ อย่าไปคิดว่าป้องกันได้นะ แต่มีอาการแล้วก็ให้รีบรักษา แต่บางอัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องนี้ บอกใช้วันละ 2,000 มิลลิกรัม 5 วัน เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน คุณตีความว่าอย่างไร เขาไม่ได้บอกว่าป้องกัน แต่เพิ่มภูมิต้านทาน คุณเข้าใจว่าอย่างไรในบริลบทของโควิด-19 ก่อเขต กล่าว

นพปฏล รัตนพันธ์ รองเลขาธิการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า สื่อหนังสือพิมพ์ไม่เจอปัญหาข่าวปลอม แต่เป็นปัญหาข่าวสารที่ไม่ครบถ้วน ณ เวลานั้น โดยการปิดต้นฉบับหากเป็นฉบับที่ไปจำหน่ายในจังหวัดไหลๆ ก็ต้องปิดเร็ว แต่หากเป็นฉบับที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ ปริมณฑล หรือภาคกลาง ก็จะปิดช้า โดยยึดว่าหนังสือพิมพ์จะต้องไปอยู่บนแผง ณ จังหวัดปลายทาง ในเวลา 05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ดังนั้นวิธีการที่กอง บก. หนังสือพิมพ์ใช้กันคือ หากเรื่องใดไม่มั่นใจก็จะยังไม่ฟันธง

สำหรับข่าวปลอมนั้นในอดีตตนมองว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่ง แต่การจะมาผ่านพื้นที่สื่อนั้นเป็นไปได้ยากเพราะกอง บก. ของสื่อหลักไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ จะตรวจสอบก่อนเสมอ เช่น การกล่าวอ้างว่าคนนั้นพูดคนนี้พูด ก็จะต้องยืนให้ได้ก่อนว่าบุคคลดังกล่าวพูดเรื่องนั้นจริง ต่างจากปัจจุบันที่เทคโนโลยีทำให้การส่งต่อหรือกระจายข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว ซึ่งหากใช้ประโยชน์ในทางที่ดีก็ดีไป แต่หากใช้ในทางที่ไม่ดี บิดเบือนเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะสร้างความปั่นป่วนทั้งผู้บริโภคข่าวสาร คนทำสื่อ และผู้เกี่ยวข้องไม่ว่ารัฐหรือเอกชน

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีปัญหาก็มาจากแหล่งข่าว เช่น กรณีสมุนไพรฟ้าทะลายโจรกับโควิด-19 แพทย์ท่านหนึ่งบอกช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน แพทย์อีกท่านบอกให้ใช้เพื่อรักษาโรค ส่วนอีกหน่วยงานหนึ่งบอกว่ายังไม่มีผลวิจัยรองรับ โอกาสที่สื่อจะนำข้อมูลจากทั้ง 3 แหล่งมาใส่รวมกันแทบเป็นไปไม่ได้ และแหล่งข่าวแต่ละแหล่งอาจให้ข้อมูลคนละวัน รวมไปถึงคำนิยามอีก อะไรคือสร้างภูมิคุ้มกัน แล้วการไม่มีผลงานวิชาการยืนยัน เท่ากับที่ผ่านมาหลอกลวงผู้ประชาชนหรือเปล่า ความคลาดเคลื่อนจึงเกิดขึ้นได้ แต่ที่แน่ๆ คือคนพากันกว้านซื้อฟ้าทะลายโจรแล้ว

ต้องตรวจสอบตัวแหล่งข่าวให้ชัด หรือไม่ถ้าเอาชัวร์ๆ ไม่ให้ถูกด่า แต่จริงๆ เป็นสื่ออย่างไรก็โดนด่าอยู่แล้ว ก็ว่ากันไป แต่เราก็ทำให้มันชัดเจนมากที่สุด หาข้อมูลประกอบให้มันมากที่สุดในการที่จะนำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าจะเพลย์เซฟหน่อยก็โควตคำพูด เอาคำที่หมอคนนั้นหรือแหล่งข่าวคนนั้นมาใส่ แค่นั้นไม่ต้องมีการแต่งเติม เพราะบางทีการเข้าใจของเรากับคำพูดของเขา บางทีคนที่ฟังคนที่ 3 อาจจะเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง สมมติมีญาติพี่น้องกำลังลงทุนเรื่องฟ้าทะลายโจร สุดท้ายใช้ไม่ได้แล้วก็มาโทษสื่อเขาบอกมา ฟังสื่อมา 

ก็คือเพลย์เซฟที่สุด แหล่งข่าวว่าอย่างไรเราก็ว่าอย่างนั้น แต่สิ่งที่เราจะช่วยผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร ก็คือการหาข้อมูบเพิ่มเติม ว่ามันอาจจะ อาจจะเฉยๆ นะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ตรวจสอบกับหน่วยงานที่เชื่อถือได้  ซึ่งมันก็ตรวจสอบยากนะ เพราะหน่วยงานรัฐบางทีก็เข้าถึงยาก อย่างศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไม่รู้ประชาชนทั่วไปจะเข้าได้มากน้อยแค่ไหน บางทีสื่อจะขอข้อมูล หรือไปทำอะไรด้วยกันสักนิดสักหน่อย ขั้นตอนก็ยากอยู่” นพปฏล กล่าว

ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่การรับข้อมูลข่าวสารเป็นแบบตามเวลาจริง (Real Time) แต่ปัญหาคือเมื่อเกิดข่าวปลอมขึ้น เช่น มีข้อมูลที่น่าสงสงสัยว่าจริงหรือไม่ถูกเผยแพร่ในวันที่ 1 เมื่อสื่อพยายามสอบถามไปยังแหล่งข่าวที่เป็นผู้เกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบเรื่องนั้นโดยตรง (Direct Source) กลับถูกบอกให้ทำหนังสือมาแล้วให้รอ 2 เดือนบ้าง 2-3 สัปดาห์บ้างแล้วจะชี้แจง ในช่วงที่ต้องรอดังกล่าว ข่าวปลอมก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางนับแสนข้อความแล้ว 

ผมเคยเจอเคสตอนโควิดมาเวฟ 2 ผมมีโอกาสได้รับเชิญไปทำเนียบ ไปคุยกับผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองหลายๆ ท่าน หลายๆ สื่อ หลายๆ สมาคมสื่อเข้าไป สิ่งที่เราพยายามบอกคือเวลานั้นมีปัญหาเตียงไม่พอ แล้วปัญหาเตียงไม่พอมันมีคำถามเยอะมากเลยว่าแล้วที่ไหนมีเตียง แล้วเวลาป่วยที่ไหนมีเตียง ช่วยบอกหน่อย สิ่งที่เราได้รับข้อมูลทุกวันคือตอนแถลง 11 โมง ว่าไปเท่าไรแล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นเมื่อคืน

ก็มีกรณีศึกษาจากสิงคโปร์ เขามีเว็บไซต์กลางที่รายงานตามเวลาจริงว่าเตียงถูกใช้ไปเท่าไรในพื้นที่ไหนบ้าง ก็มีเรียนถามผู้เกี่ยวข้องไป เขาก็บอกทำไม่ได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่สิ่งที่มันสร้างความทุกข์กับประชาชนคือข่าวที่ออกในเวลานั้นคือเตียงเต็มทั้งประเทศ ดังนั้นคนป่วยตื่นตระหนกหมด แล้วมันไปเปลี่ยนคำว่าตื่นตระหนกให้กลายเป็นข่าวปลอม เช่น โรงพยาบาลนี้ต่อคิว 100 คิว โรงพยาบาลนี้ต่อคิว 200 โรงพยาบาลนี้มีคนตายแล้ว ไทม์ไลน์มันมีปัญหาหมด นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าว

พีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ MCOT กล่าวว่า เริ่มทำชัวร์ก่อนแชร์มาตั้งแต่ปี 2558 พบว่าระยะหลังๆ ประชาชนสามารถตรวจสอบข่าวได้ดีขึ้น ซึ่งหลายคนก็เคยตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมมาก่อนแล้วเกิดการเรียนรู้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือคนที่เติบโตมาในยุคที่การสร้างและเผยแพร่สื่อทำได้ง่าย หากไม่เข้าใจธรรมชาติของอินเตอร์เน็ตอาจได้รับผลกระทบ ทั้งการรับข้อมูลโดยที่ไม่รู้ว่าใครๆ ก็สร้างเว็บไซต์ได้หรือใครๆ ก็ตัดต่อภาพได้ ก็อาจจะถูกหลอก และการส่งที่ไม่รู้ว่าส่งไปแล้วข้อมูลสามารถกระจายเป็นวงกว้างมาก แล้วอาจย้อนกลับมาทำร้ายตนเองได้

แต่เมื่อหันมาดูการทำงานของสื่อก็พบข้อจำกัดหลายครั้งอยู่ที่แหล่งข่าว เช่น บางคนไม่อยากออกสื่อเพราะจะมีปัญหาตามมาแม้เป็นการพูดความจริง หรือเรื่องที่แชร์กันอยู่บนโลกออนไลน์บางเรื่องแหล่งข่าวที่เป็นนักวิชาการมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระและไม่อยากพูดถึง หรือบางคนก็มีเวลาน้อย หรือเรื่องของสายการบังคับบัญชา ถ้าคนนี้ไม่พูดตนเองก็ยังพูดไม่ได้ แต่ในทางกลับกันก็จะมีแหล่งข่าวบางคนที่ใช้ช่องทางเฟซบุ๊กในการสื่อสารโดยตรง เพราะดีกว่าให้สัมภาษณ์กับสื่อแล้วไม่รู้ว่าสื่อจะไปนำเสนออย่างไร จะเกิดการตีความผิดพลาดหรือนำเสนอไม่ครบถ้วนหรือไม่

ถ้าแหล่งข่าวเขาเชื่อว่าการให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนโดยเร็วที่สุดมันคือทางออกของการแก้ปัญหาทั้งปวง เป็นการปิดการทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ถ้าเขาเชื่อแบบนี้มันก็จะเป็นการแสดงออกมา เช่น แถลงข่าวทันทีเมื่อสำคัญ เป็นการทำให้เอกสารมันถูกเข้าถึงได้โดยเร็ว ทำให้เอกสารที่มันควรเป็นเอ็กเซลก็ควรมาเป็นตารางที่สื่อเอาไปใช้ต่อได้ เชื่อในมาตรฐานข้อมูลเปิด ซึ่งถ้ามีความเชื่อและผลของความเชื่อในลักษณะแบบนี้ออกมา มันก็จะไปบรรจบกันพอดีกับเรื่องของเทคโนโลยีในอนาคต พีรพล กล่าว 

มณธิรา รุ่งจิรจิตรานนท์  ผู้สื่อข่าว ตรวจสอบข้อเท็จจริง สำนักข่าว AFP ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในอดีตการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนจะมาจากสื่อมวลชนหรือสำนักข่าว ทำให้การนำเสนอไม่เป็นไปตามเวลาจริง เช่น เหตุการณ์เกิดตอน 3 ทุ่ม แต่หนังสือพิมพ์ปิดต้นฉบับไปแล้ว แต่ปัจจุบันในยุคสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ใครเจอเหตุการณ์อะไรก็นำเสนอผ่านช่องทางดังกล่าวได้ ไม่กี่นาทีก็อาจกลายเป็นกระแสแล้ว ดังนั้นข่าวปลอมจึงเกิดได้ง่าย โดยข่าวปลอมนั้นมี 2 ความหมาย คือข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนแต่ผู้ส่งข่าวไม่มีเจตนาร้าย (Misinformation) กับข้อมูลที่นำมาใช้เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามหรือสร้างความเกลียดชังในสังคม (Disinformation)

สำหรับ AFP นั้น เริ่มต้นแผนกตรวจสอบข้อเท็จจริงในปี 2560 ซึ่งมองเห็นอันตรายจากข่าวปลอมในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในเวลานั้นมีคนทำงานตรวจสอบเพียงคนเดียว แต่ปัจจุบันในปี 2565 มีทีมงานอยู่ใน 80 ประเทศทั่วโลก ทำการตรวจสอบข้อมูลเหตุการณ์สำคัญที่แชร์กันในโลกออนไลน์มาแล้วหลายเรื่อง ทั้งการชุมนุมประท้วงในไทย กลุ่มตาลีบันยึดอำนาจในอัฟกานิสถาน มาจนถึงล่าสุดคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

โดยเลือกข้อมูลที่หากพบว่าเป็นข่าวปลอมจะสร้างความเสียหายต่อสังคมอย่างมาก เช่น เกิดการจลาจล หรือเกิดอันตรายต่อสุขภาพ มาตรจสอบ ขณะเดียวกันก็ต้องดูศักยภาพตนเองด้วยว่าสามารถตรวจสอบได้ลึกหรือละเอียดเพียงใด หากไม่มากพอก็จะไม่ทำเด็ดขาดเพราะต้องการให้เมื่อนำเสนอแล้วทุกอย่างจบสิ้น ไม่มีช่องโหว่ให้ใครตั้งข้อสงสัยใดๆ ได้อีก

แต่นอกจากบทบาทของสื่อแล้ว ประชาชนก็ต้องเข้าใจด้วยว่าการแชร์ข้อมูลข่าวสารที่ดูเป็นเรื่องตลกแต่บางครั้งก็อาจเป็นอันตรายต่อคนอื่นได้ โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ เพราะทุกคนก็มีสิทธิ์เป็นเหยื่อของข่าวปลอม แต่ระยะหลังๆ ก็พบความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น ตัวอย่างจากแม่ของตน  ที่แต่ก่อนมีอะไรก็ส่งต่อ แต่ปัจจุบันมีการตรวจสอบก่อนส่งว่าเรื่องนั้นจริงหรือไม่ อีกทั้งยังไปบอกกับเพื่อนบ้านด้วยว่าเรื่องไหนจริง-ไม่จริง ถือว่าพัฒนาขึ้นหากเทียบกับเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่ไม่มีแนวคิดนี้อยู่เลย

ในขณะที่สื่อเอง แม้ต้องการทำงานอย่างรวดเร็วเพื่อตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่แชร์กันในสังคม อาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งข่าว เช่น เรื่องโควิดที่บางครั้งหาแหล่งข่าวในไทยไม่ได้ก็ต้องไปพึ่งแหล่งข่าวในต่างประเทศ  รวมถึงลำดับชั้น (Hierarchy) ที่ต้องรอผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานนั้นให้ข้อมูล หรือให้ผู้บริหารนั้นมอบหมายเจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่งให้ข้อมูล เป็นต้น

เนื่องจากว่าตอนนี้ประชาชนก็รับข่าวสารกันแบบ Real Time ส่วนตัวคิดว่าทุกภาคส่วนในสังคมควรที่จะปรับตัวเข้าสู่ระบบ Real Time ด้วยเช่นกัน ขอยกตัวอย่างกรณี AFP ที่ตอนนั้นมันมีข่าวว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมาพบกับท่านนายกฯ ประยุทธ์ แล้วก็มีคลิปอันหนึ่งออกมาแล้วก็ถูกแชร์โดยสื่อหลักและเพจ Activist หลายๆ เพจ ทีนี้ทาง AFP ก็เลยได้ไปสอบถามกับโฆษกของตำรวจ ก็ได้รับความร่วมมืออย่างเร็วเลย ตอนนั้นก็คิดว่าสังคมของเราเริ่มเข้าสู่ Real Time มากกว่าในอดีต ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นบุคคลที่เป็นผู้ติดตามของท่านนายกฯ ส่วนตัวคิดว่าทุกภาคส่วนควรปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ควรมีประสิทธิภาพและขณะเดียวกันก็รวดเร็ว เพื่อจะได้ตามทันยุคสมัย มณธิรา กล่าว

ในช่วงท้ายของการเสวนา บายบาร์ ออร์เซ็ค (Baybars Orsek) ผู้อำนวยการ International Fact-Checking Network (IFCN) ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยกล่าวว่า IFCN ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 ต่อมาในปี 2559 เฟซบุ๊กหรือปัจจุบันคือเมตา META ได้ประกาศใช้ชุดประมวลหลักการของ IFCN ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภารกิจของ IFCN คือการให้องค์กรต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ในการพัฒนามาตรฐาน ความถูกต้องและโปร่งใส ตลอดจาการนำเสนอข้อมูล สนับสนุนทรัพยากรและจัดประชุมต่างๆ ปัจจุบันมีสมาชิก 110 องค์กร จาก 54 ประเทศ

สำหรับองค์กรที่อยากเข้าร่วมเป็นสมาชิกคือต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองหรือขั้วอำนาจทางการเมืองใด เพราะหลักการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checking) ต้องไม่เข้าข่ายฝ่ายใดอยู่แล้ว ต้องนำเสนอข่าวสารในประเด็นที่สนใจของสาธารณะ และนำเสนออย่างเป็นธรรม มีการจัดทำมาตรฐานการนำเสนอข่าวอย่างโปร่งใส ที่มาแหล่งข่าวต้องสามารถตรวจสอบและเปิดเผยได้  เมื่อผู้รับสารมีข้อสงสัยองค์กรต้องสามารถชี้แจงได้ และหากนำเสนอข่าวผิดพลาดต้องอธิบายต่อสาธารณะด้วยว่าผิดพลาดในส่วนใด

เราต้องการให้ทุกๆ องค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงสามารถเป็นองค์กรที่ตรวจสอบได้นั่นเอง เพื่อที่จะสามารถคุ้มครองความน่าเชื่อถือของเราได้โดยการทำงานอยู่บนหลักการที่ตั้งอยู่บนความเปิดเผย และสุดท้ายหลักการข้อนี้เป็นหลักการที่มีความสำคัญมากที่สุด องค์กรต้องสามารถบอกได้ว่าวิธีการทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเขาเป็นอย่างไร เพราะมันไม่มีวิธีการที่เป็นวิธีการเดียวถูกต้องเหมือนกันทั่วทุกประเทศทั่วโลก ผอ.IFCN กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์  ที่ปรึกษาภาคีโคแฟค ประเทศไทย กล่าวปิดการเสวนา ว่า ปีนี้เป็นการจัดกิจกรรมแบบผสมผสาน (Hybrid) มีทั้งในห้องประชุมและรับชมหรือร่วมกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งได้ฟังมุมมองจากวิทยากรมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้เห็นสถานการณ์ที่เผชิญกันอยู่ ไม่ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การไหลเวียนของข้อมูลหลอกลวง ไปจนถึงสงครามและความรุนแรง เป็นความท้าทาย

“ข้อสรุปของการพูดคุยวันนี้ได้พูดถึงความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะสื่อมวลชน ไม่เฉพาะสื่อออนไลน์ เป็นความร่วมมือของผู้ที่ร่วมใช้ออนไลน์ทุกคน” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 2 เมษายน 2565

จริงหรือไม่…? จ.เชียงใหม่ พบนักศึกษา ม.เชียงใหม่ ติดเชื้อโควิด 19 จำนวนมาก

ไม่จริง

เพราะ…เป็นข่าวเก่าเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 ที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำ ปัจจุบัน การระบาดของโรคโควิด 19 ในจังหวัดเชียงใหม่เริ่มลดลง ไม่พบการระบาดในผับ หรือในกลุ่มนักศึกษา

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/26vq9hoi9xvkk


จริงหรือไม่…? กินยาฟ้าทะลายโจร  3 แคปซูล ก่อนออกจากบ้าน สามารถป้องกันโควิดได้ 12 ชม.

ไม่จริง

เพราะ…ยาฟ้าทะลายโจรไม่ได้มีส่วนช่วยในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด แต่ยังมีความสามารถในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้จึงสามารถนำไปใช้เป็นยารักษาร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/nqgcne0783jj


จริงหรือไม่…? ผู้ที่ฉีดวัคซีนจะมีเชื้อมากกว่าคนที่ไม่ฉีดวัคซีน 250 เท่า

ไม่จริง

เพราะ…การวิจัยชิ้นนี้มีปัญหาเพราะเทียบปริมาณไวรัสจากคนฉีดวัคซีนที่ติดเชื้อเดลต้ากับคนไม่ฉีดวัคซีนที่ติดเชื้อโควิด19 สายพันธุ์เดิม รวมที้งการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนเกิดได้ยากและปริมาณเชื้อจะลดลงเร็ว

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/5sgu6sjdtf94


จริงหรือไม่…? นำผิวมะกรูด ฝานใส่ขวดโหล แล้วเอาน้ำส้มสายชูเทลงหมักไว้ 1 ชั่วโมงและนำมาฉีดพ่นและสูดดมต้านโควิดได้

ไม่จริง

เพราะ…ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สามารถยืนยันว่าช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัส ลดอาการฟักตัว ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/f8mykzrcllfd


จริงหรือไม่…? หญ้าพันงูเขียว สามารถรักษาไตระยะสุดท้ายได้

ไม่จริง

เพราะ…ข้อมูลเชิงประจักษ์ทางแผนปัจจุบันยังไม่พบการศึกษาวิจัยการใช้รักษาในผู้ป่วยโรคไต

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/hmsbeofx50sm


จริงหรือไม่…? ผู้ที่ต้องการใบรับรองแพทย์สามารถเอาใบรับรองแพทย์ดิจิทัลผ่านแอพหมอพร้อม

จริง

เพราะ…เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงาน และบริการประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/33dis7k75u93z


จริงหรือไม่…? ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสสามารถติดเชื้อโควิดได้อีกรอบ

จริง

เพราะ…ทั้งที่เป็นโควิดสายพันธุ์เดิม และโควิดกลายพันธุ์ เพราะตัวเชื้อโรคไวรัสมีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ เช่น บางรายเคยติดสายพันธุ์เดลตา ก็อาจติดโอมิครอนได้ รวมทั้งในไทยก็มีหลายกรณีที่ติดโควิดรอบ 2 แล้ว

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2er029ph4wfon


จริงหรือไม่…? ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

จริง

เพราะ…วารสาร The Lancet Diabetes and Endocrinology เผยงานวิจัย กลุ่มที่เคยป่วยโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานภายใน 1 ปี ไม่จำกัดอยู่ในผู้ป่วยที่มีอาการหนักเท่านั้น

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3ptsmmcc6pztd


จริงหรือไม่…? ธนาคารกรุงไทย เตรียมคิดค่าโอนเงินต่างธนาคาร รายการละ 5 บาท

จริง

เพราะ…ผ่าน KTB netbank หรือการโอนเงินผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคารกรุงไทย ไปยังธนาคารอื่น เริ่มตั้งแต่ 30 เม.ย. 65 แนะนำให้โอนผ่านโมบายแบงกิ้ง แอพ Krungthai Next ฟรี

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/36gm8p1i0ypwm


จริงหรือไม่…? หากถูกมิจฉาชีพหลอก สามารถแจ้งความทางออนไลน์ หรือ สถานีตำรวจได้ทุกแห่ง

จริง

เพราะ…สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์คดีทางเทคโนโลยี ร่วมกับสมาคมสถาบันทางการเงินฯ ผ่าน www.thaipoliceonline.com

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1g37y9b21pwrn


จริงหรือไม่…? แอพ #Whoscall เป็นแอพระบุเบอร์โทร ที่สามารถช่วยสกัดการโทรหลอกลวงของมิจฉาชีพ

จริง

เพราะ…แอพWhoscall มีฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ขนาดใหญ่ทำให้ระบบสามารถตรวจสอบหมายเลขโทรเข้า และแจ้งให้ผู้ใช้ทราบก่อนที่จะรับสายว่าเบอร์ที่โทรเข้ามาเป็นเบอร์ของใคร แม้ว่าจะไม่เคยบันทึกไว้ในสมุดโทรศัพท์ของเครื่อง

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2zs7qvvntirzw


จริงหรือไม่…? วัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้โควิดกลายเป็นแค่ไข้หวัด

ข่าวจริงบางส่วน

เพราะ… นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ผู้คิดค้นวัคซีนแอสตราเซเนก้า ให้ความเห็นว่า มีแนวโน้มเชื้อโควิด-19 จะไม่กลายพันธุ์จนอันตรายมากขึ้นไปกว่านี้ และท้ายที่สุด มันจะกลายเป็นแค่เชื้อไวรัสไข้หวัดธรรมดาเท่านั้น

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/34uo12kpy68ha


จริงหรือไม่…? #แกงเลียง สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ถึง 40%

ข่าวจริงบางส่วน

เพราะ…ทางเวซศาสตร์ชะลอวัยถือว่าเป็นสารธรรมชาติที่มีคุณสมบัติทำลายอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบของเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งได้แต่ไม่ได้รักษามะเร็งให้หายขาด  ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/q4secyescvzt

ทำความเข้าใจสถานการณ์โควิด-19 ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ COFACT Special Report #20

บทความ

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แต่ข้อมูลผู้เสียชีวิตและป่วยหนักนับตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาพอจะส่งสัญญาณว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงป่วยหนัก และเสียชีวิตมากที่สุด คือผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่ไม่ยอมเข้ารับการฉีดวัคซีน หรือไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนประชาชนวัยหนุ่มสาวที่ฉีดวัคซีนครบแล้วเกือบทั้งหมดไม่ป่วยหนัก สามารถรักษาตัวได้เองที่บ้าน

English Summary

The COVID-19 pandemic in Thailand is still ongoing. On the bright side, most people who are fully vaccinated or boosted but got infected were not severely sick compare to those who are unvaccinated or those 60 years old or older with pre-existing conditions. Thai government and infected disease experts agree that Thailand must move forward to endemic stage, by treating COVID-19 patients who are vaccinated or have mild symptoms with home isolation and medication. Hospital beds will only be reserved for those who have severe symptoms. On March 18, Thai government announced preventive measures for tourists and Thai people to enjoy the Songkran’s holiday, by allowing outdoor events for the first time in two years. Event organizers must follow the preventive measures strictly, such as social distancing and mask wearing. The government also encourages people to get a third vaccination if they have not done so before they travel.

ด้วยเหตุนี้รัฐบาล และหน่วยงานด้านสาธารณสุขจึงค่อยๆ เริ่มปรับระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จากเดิมที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นการรักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) ในกลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง และเปลี่ยนระบบรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มนี้แบบผู้ป่วยนอก เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าอาการไม่รุนแรง ก็สามารถรับยาไปรับประทานที่บ้านได้ (เจอ-แจก-จบ) ทำให้ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้มากขึ้น รวดเร็วขึ้น และการครองเตียงในโรงพยาบาลมีเฉพาะผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องการการดูแลจากแพทย์โดยเฉพาะ ทำให้ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจะสูงถึง 2 หมื่นกว่ารายต่อวัน แต่ก็ไม่ทำให้เตียงโรงพยาบาลเต็มเหมือนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดในช่วงแรกๆ 

ดังนั้นจึงเป็นที่มาที่หน่วยงานภาครัฐเริ่มให้ประชาชนคุ้นเคยกับรูปแบบการรักษาแบบใหม่ ปรับความเข้าใจของโควิด-19 จากโรคระบาดหนัก เข้าสู่โรคประจำถิ่นเมื่อเหมาะสม 

และเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลสำคัญ อย่างสงกรานต์ หลายๆ คนก็อยากจะทราบว่า เราจะกลับมาเล่นน้ำสงกรานต์เหมือนแต่ก่อนได้ไหม ผลการประชุมของ ศบค. เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม มีมติผ่อนปรนให้มีการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน ภายใต้มาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

คำถาม: สงกรานต์ปีนี้สามารถเล่นน้ำ และจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ได้หรือไม่

คำตอบ: ศบค. กำหนดมาตรการให้หน่วยงานต่างๆ สามารถจัดกิจกรรมสงกรานต์ในปีนี้ได้ แต่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด (เช่น การสวมหน้ากากอนามัย, เว้นระยะห่าง, จำกัดจำนวนคนตามขนาดของพื้นที่, มีการตรวจเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน หรือ ATK เป็นต้น) โดยการจัดงานจะต้องจัดในสถานที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท ไม่อนุญาตให้จัดในอาคาร หรือสถานที่ปิด สามารถจัดแสดงดนตรีได้ โดยต้องขออนุญาตจากหน่วยงานราชการในพื้นที่

คำถาม: เมษายนนี้เราสามารถถอดหน้ากากอนามัยในสวนสาธารณะได้หรือยัง?

คำตอบ: มติของ ศบค. เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ยังไม่อนุญาตให้ถอดหน้ากากอนามัยขณะทำกิจกรรมในสวนสาธารณะ 

คำถาม: หากเราจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงวันหยุดยาวเดือนเมษายนนี้ จะต้องเตรียมอะไรบ้าง? มาตรการ Test & Go ล่าสุดมีอะไรบ้าง

คำตอบ: มติของ ศบค. วันที่ 18 มีนาคม ปรับมาตรการเข้าประเทศ Test & Go สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทยที่เดินทางกลับประเทศ และฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ไม่ต้องแสดงผลตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง แต่จะต้องเข้ารับการตรวจ RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึง และเข้าพักในโรงแรม SHA+ เพื่อรอผลตรวจจึงจะออกจากห้องพักเพื่อเที่ยว หรือเดินทางกลับบ้านหรือภูมิลำเนาได้ สำหรับการชำระค่าตรวจ RT-PCR สามารถสอบถามได้จากโรงแรม SHA+ ที่เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐ เนื่องจากโรงแรมจะเป็นผู้รับผิดชอบในการรับผู้โดยสารจากสนามบิน และพาไปตรวจ RT-PCR กับโรงพยาบาลคู่สัญญา

คำถาม: สถานบันเทิงสามารถเปิดให้บริการตามปกติในเดือนเมษายนนี้หรือยัง?

คำตอบ: ยังเปิดไม่ได้ ศบค. ยังคงมาตรการเดิม ไม่อนุญาตให้สถานบันเทิงเปิดให้บริการ แต่สามารถปรับการให้บริการเป็นร้านอาหารได้ โดยจะต้องเปิดให้บริการตามเวลาที่ ศบค. และหน่วยงานท้องถิ่นกำหนด และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองผู้เข้าใช้บริการอย่างเคร่งครัด 

คำถาม​: ถ้าช่วงนี้ฉันติดโควิด-19 จะต้องทำอย่างไร? ยังต้องไปนอนโรงพยาบาลอยู่หรือไม่?

คำตอบ: ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขปรับมาตรการการตรวจรักษาโควิด-19 ใหม่ โดยเน้นการรักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) เป็นหลัก ผู้ป่วยสามารถติดต่อโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อขอรับยาไปรับประทานที่บ้าน หรือไปยังแผนกผู้ป่วยนอกเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์​ และรับยาไปรับประทานที่บ้าน หากผู้ป่วยเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องทำการรักษาต่อในโรงพยาบาลหรือไม่

คำถาม: ฉันจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นหรือไม่?

คำตอบ: จำเป็น เนื่องจากผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นระบุไปในทางเดียวกันว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายในไทย 

คำถาม: ถ้าฉันเคยติดโควิด-19 มาแล้ว จำเป็นหรือไม่ที่ต้องฉีดเข็มกระตุ้น?

คำตอบ: จำเป็น ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นระบุว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เมื่อหายเป็นปกติแล้วจะมีภูมิคุ้มกันสูง อย่างไรก็ตามเมื่อระยะเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันจะเริ่มตก โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยแนะนำให้ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปนับจากวันที่เคยติดเชื้อ


ที่มา: 

https://www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_3246210

https://www.komchadluek.net/covid-19/508747

https://www.bangkokbiznews.com/health/994918


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com


แนวทางการจัดการกับปัญหาการส่งข้อความสั้นหรือโทรศัพท์ที่ไม่พึงประสงค์ (spam) และหลอกลวง (scam) ต่อผู้บริโภคในต่างประเทศ

Cofact Journal 1/2022

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 27 มีนาคม 2565

จริงหรือไม่…? โควิด19 สายพันธุ์ h3n2 ระบาดถึง จังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว

ไม่จริง

เพราะ…สาธารณสุขชี้แจง ไวรัส H3N2 เป็นเพียงเชื้อไขหวัดใหญ่ธรรมดา ไม่ได้มีความรุนแรง และยืนยันว่าไม่ใช่เชื้อไวรัสโคโรนาตามที่มีการแชร์กัน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/bshgoyiqlfxt


จริงหรือไม่…? การทำ Ice bathing สามารถรักษาโรคมะเร็งระยะสุดท้ายให้ดีขึ้นได้

ไม่จริง

เพราะ…ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่าวิธีการ Ice Bathing สามารถรักษาหรือชะลอโรคมะเร็งได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/a6756tmeoksi


จริงหรือไม่…? น้ำเกลือช่วยลดอาการเป็นตะคริวได้

ไม่จริง

เพราะ…การให้น้ำและเกลือแร่ ไม่สามารถแก้อาการตะคริวได้  จึงไม่แนะนำให้ดื่มน้ำละลายเกลือแกงเพื่อบรรเทาหรือรักษาอาการตะคริว

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2azlqhgwcxsli


จริงหรือไม่…? ยาปฏิชีวนะกับยาแก้อักเสบ เป็นยาตัวเดียวกันแค่เรียกต่างกัน

ไม่จริง

เพราะ…ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) คือ ยารักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย แต่มักถูกเรียกอย่างผิด ๆ ว่ายาแก้อักเสบ ทั้งที่ไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบแต่อย่างใด

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/v6pn1r4t2atn


จริงหรือไม่…? อันตราย เด็กอายุ14 ทำ IF 23/1 นาน 1 ปี สุดท้ายป่วยหนักเจอภาวะเสี่ยงจนเข้า รพ.

จริง

เพราะ…เด็กหญิงรายหนึ่งลดน้ำหนักแบบ IF 23/1 ติดต่อกัน 1 ปี ป่วยเจอภาวะเสี่ยงโรคธาลัสซีเมีย, ไขมันในเลือดสูง, ร่างกายไม่รับอาหารทุกชนิด พร้อมเตือนเป็นบทเรียนสำคัญ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3lhf2qpggsepi


จริงหรือไม่…? ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลวันสงกรานต์  เปิดขึ้นทางด่วนฟรี 5 เส้นทาง

จริง

เพราะ…ทางพิเศษบูรพาวิถีและกาญจนาฯ/มอเตอร์เวย์ หมายเลข 7และ9 ระหว่าง 12 – 18 เม.ย. 65 ทางพิเศษศรีรัช อุดรรัถยา และเฉลิมมหานคร 13 – 15 เม.ย. 65

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2oi6y28hybzz4


จริงหรือไม่…? สามารถยื่นจ่ายภาษีเป็นแบบออนไลน์ได้

จริง

เพราะ…สามารถยื่นผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรถึงวันที่ 8 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สะดวกและรวดเร็วมาก

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/25m73jvxzbkhi


CofactDaily🔵ข่าวจริงบางส่วน

จริงหรือไม่? งานวิจัยเผยคนเคยติดโควิดเสี่ยงเป็นเบาหวาน

จริงบางส่วน🔵 Beta cell ที่ถูกไวรัสเข้าไปติดแล้วที่ยังมีชีวิตรอดอยู่อาจเกิด transdifferentiation เปลี่ยนคุณสมบัติของเซลล์ให้ทำหน้าที่แตกต่าง ที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดแทน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3lkesf5pyk43k


CofactDaily🔵ข่าวจริงบางส่วน

จริงหรือไม่? ดื่มน้ำอัดลมก่อนตรวจ ATK อาจทำให้ขึ้น 2 ขีด ATK ทำให้ผลเป็นบวก

จริงบางส่วน🔵 ผลวิจัยในวารสาร IJID ประเทศเยอรมัน เผยว่า  เกิดจากความเป็นกรดด่างของน้ำเหล่านี้ที่ทำให้ปฎิกิริยากับแอนติบอดีที่เคลือบอยู่เปลี่ยนไป ควรงดก่อนตรวจ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/ltb55jobiqgy


จาก‘Echo Chamber’สู่‘Hate Speech’

Editors’ Picks

โดย Windwalk_Jupiter นักข่าว นักเขียน นักตรวจสอบข้อมูล

จาก‘Echo Chamber’สู่‘Hate Speech’

เลือกรับข้อมูลเฉพาะที่ถูกใจ..ต้นตอสำคัญผิดพร้อมทำลายผู้คิดต่าง

“มันน่าใจหายนะ ที่บทสนทนาทั่วไปของเด็กสมัยนี้คือการด่า …… ฯลฯ เราเป็นติวเตอร์สอนเด็กมาเข้าปีที่ 8 บทสนทนาของเด็กเดี๋ยวนี้คืออยู่ๆก็โพล่งมาเลยว่า….. ผมจะฆ่า…. ถ้ามีพลังวิเศษจะไปฆ่า…… ฯลฯ และเป็นแบบนี้เยอะมาก ฉันคือสอนแค่ประถม/มัธยมต้นนะ”

“ว่าตามตรง เราก็ยี้คนพวกนั้น แต่ทีนี้บางทีเห็นพฤติกรรมชาว…เด็กๆ ก็น่ากลัวจนน่าใจหาย ไม่ต่างอะไรจากพวก…แก่ๆ ที่แช่งคนเห็นต่างเลย”

“มองในแง่นึง ก็ไม่แปลกนะที่พวกคนมีอำนาจจะโดนแบบนั้น แต่ที่แปลกใจคือพวกดาราก็โดนด้วยนี่หละ (ไม่นับพวกตัวเป้งๆ ที่ด่า…นะ) บางคนก็ไม่แสดงตัวว่าซัพม็อบผ่านโลกโซเชียล แต่กลับโดนด่า ไล่ไปตายแบบไม่ใช่คนเลยนี่สิ”

“มันคือพลังของการใช้สื่อ อยู่ๆคนมันไม่โพล่งขึ้นมาเกลียดคนเองหรอก แต่ลองดูในทวิต ในเฟส ในติ๊กต่อก ทุกคนล้วนด่าๆๆๆ สาปแช่ง ไล่ไปตายต่อบรรดาคนใน…และ… เด็กที่อยู่กับสื่อออนไลน์ค่อนชีวิต เขาเจอแบบนั้น เขาจะซึมซับไปก็ไม่น่าแปลก”

ข้างต้นเป็นบทสนทนาหนึ่งของ ชาวทวิตหรือผู้ใช้ทวิตเตอร์ ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนไทยที่แสดงอารมณ์ โกรธเกรี้ยว อย่างรุนแรงบนโลกออนไลน์ในเรื่องที่เกี่ยวกับ การเมือง ซึ่งดูไปแล้วก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอีกกลุ่มที่อายุอานามมากกว่า ที่มีความเห็นทางการเมืองไปอีกฝั่งหนึ่ง จนอาจมีคำถามว่า ตกลงใครเป็นคนดี หรือเป็นคนหัวก้าวหน้ากว่ากันแน่ 

ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ “ไม่ใช่เรื่องใหม่” เพราะแม้แต่ในสังคมไทย “Hate Speech” หรือที่มีผู้แปลเป็นภาษาไทยว่า “ประทุษวาจา” น่าจะคุ้นหูมาตั้งแต่ยุคการเมืองเสื้อสีที่มีการประท้วงสลับฝั่งรายปีกันตั้งแต่เมื่อราวๆ 10 ปีก่อน แม้ยุคนั้นสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมในหมู่คนไทยเท่าใดนัก แต่ในกระดานข่าว (Webboard) ที่เว็บไซต์ต่างๆ เปิดให้ชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็น ก็มักมีการใช้ถ้อยคำรุนแรงด่าทอโจมตีฝ่ายตรงข้ามกันอย่างดุเดือดเผ็ดร้อน 

บทความ “Hate Speech ทำไมต้องให้ร้ายใส่กัน โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDTA) อธิบายความหมายของ Hate Speech ว่า วาทะสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ไม่ได้หมายถึง คำพูด เท่านั้น แต่รวมถึงการสื่อสารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ วิดีโอ หรือสื่อต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาในเชิงยุยง ก่อให้เกิดอคติ สร้างความเกลียดชัง ทำให้เกิดการแบ่งแยก การดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ชาติพันธุ์ สีผิว ความพิการ เพศสภาพ หรือกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างทางด้านความคิด เช่น การเมือง ศาสนา

ซึ่ง Hate Speech มีเป้าหมายเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการสร้างความเกลียดชังอย่างชัดเจน ต้องการแบ่งแยกสังคม กำจัดออกจากสังคม หรือต้องการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีรูปแบบของการสื่อสาร ไม่จำกัดที่การใช้ถ้อยคำหยาบคาย ด่าทอ ดูถูกเหยียดหยาม เท่านั้น แต่อาจตั้งใจทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด แล้วโน้มน้าวชักจูงให้เกลียดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมาย การลดศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ สร้างความรู้สึกแบ่งแยก กีดกันออกจากสังคมที่อยู่ การเหมารวมในด้านลบ ข่มขู่คุกคามและสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มเป้าหมาย ระรานกันทางออนไลน์ (Cyberbullying) แบ่งชนชั้นหรือเลือกข้าง สร้างความแตกแยกในสังคมก็ได้

ทั้งนี้ Hate Speech ไม่ใช่เป็นปรากฎการณ์เฉพาะในไทยแต่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งคำถามคือ Hate Speech เกิดขึ้นได้อย่างไร? ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับอีกคำหนึ่งคือ “Echo Chamber” หรือ ห้องเสียงสะท้อนเป็นการเปรียบเปรยปรากฎการณ์ธรรมชาตืที่ว่าเมื่อส่งเสียงประเภทใดออกไปแล้วก็จะได้ยินเสียงประเภทเดียวกันสะท้อนกลับมาเสมอ (ที่เห็นได้บ่อยๆ คือการตะโกนใส่หน้าผาแล้วผู้ตะโกนจะได้ยินเสียงตนเองสะท้อนกลับมา) กับปรากฎการณ์ในสังคมมนุษย์ ที่ในพื้นที่หนึ่ง ผู้คนจะได้ยิน (หรือได้เห็น) แต่มุมมองความคิดที่สอดคล้องกับตนเองเท่านั้น 

เดวิด โรเบิร์ต กริมส์ (David Robert Grimes) นักฟิสิกส์ชาวไอร์แลนด์ ซึ่งผันตัวมาเป็นนักสื่อสารสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ (คล้ายๆ กับประเทศไทยที่มี รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีอีกบทบาทคือการให้ความรู้ด้านปรากฏการณ์แปลกๆ ที่สังคมสงสัย ในมุมมองด้านวิทยาศาสตร์ผ่านสื่อต่างๆ) เขียนบทความ “Echo chambers are dangerous –  we must try to break free of our online bubbles” เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ นสพ.The Guardian ของอังกฤษ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากเดิมที่เคยมีผู้ฝันแบบ ยูโทเปีย ว่าอินเตอร์เน็ตจะเชื่อมร้อยผู้คนเข้าด้วยกัน ทำให้คนที่มีมุมมองแตกต่างเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อเวลาผ่านไป โลกออนไลน์ดูจะเป็น ดิสโทเปีย หรือดินแดนที่เต็มไปด้วยภยันตรายทั้งการระรานรังแก รวมถึงการปั่นกระแสด้วยข้อมูลเท็จและอื่นๆ เสียมากกว่า

กริมส์ อ้างถึงผลการศึกษาที่อาจจะเรียกได้ว่า “มาก่อนกาล” นั่นคือ “Electronic Communities: Global Village or Cyberbalkans?” ที่จัดทำโดย 2 นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา คือ มาร์แชล ฟาน อัลสไตน์ (Marshall Van Alstyne) และ เอริค ไบรน์จอล์ฟสัน (Erik Brynjolfsson) เผยแพร่ในปี 2540 อันเป็นยุคที่การใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่งเริ่มแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป ชี้ว่า การที่อินเตอร์เน็ตให้อำนาจผู้ใช้งานสามารถเลือกรับเนื้อหาตามที่ตนเองต้องการ อาจนำไปสู่การที่แต่ละคนมีแนวโน้มเลือกเข้าร่วมกลุ่มกับบุคคลที่มีมุมมองหรือความเชื่อคล้ายกัน และปิดกั้นการรับรู้มุมมองหรือความเชื่อของฝ่ายตรงข้าม กลายเป็นว่า เทคโนโลยียิ่งช่วยพอกพูน “อคติ (Bias)” ในใจของแต่ละคนให้หนาแน่นหรือเข้มข้นมากขึ้น

จริงอยู่ที่อคติจากการรับข้อมูลข่าวสารไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ตเสมอไป เห็นได้จากที่ผ่านมาสื่อดั้งเดิมที่เป็นองค์กรสำนักข่าว แต่ละแห่งมีจุดยืนไปทางใดทางหนึ่งไม่มากก็น้อย ถึงกระนั้น สื่อดั้งเดิมมักต้องวางตนอยู่ในกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพและกฎหมาย ทำให้อย่างน้อยที่สุด สำนักข่าวแบบดั้งเดิมมักหลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหาที่มีลักษณะแต่งนิยายจับแพะชนแกะ ไปจนถึงการหมิ่นประมาทใส่ร้ายด้วยข้อมูลเท็จ แต่บนโลกออนไลน์ที่ใครจะนำเสนออะไรก็ได้ ผู้นำเสนอเนื้อหาบางรายสามารถเติบโตด้วยเนื้อหาที่ตอบสนองความต้องการของผู้รับสาร โดยไม่ต้องสนใจจรรยาบรรณของคนทำงานสื่อสารมวลชนแต่อย่างใด 

การเลือกเสพสื่อที่ตรงกับความคิดหรือความเชื่อของตนเองเป็นพฤติกรรมที่คนเราทำกันโดยทั่วไปไม่ใช่ข้อค้นพบที่น่าประหลาดใจ  ชาห์รัม เฮชมัท (Shahram Heshmat) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเกี่ยวกับพฤติกรรมเสพติด มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สปริงฟิลด์ สหรัฐฯ เขียนบทความ “What Is Confirmation Bias?” เผยแพร่ในเว็บไซต์นิตยสาร Psychology Today อันเป็นสำนักข่าวในสหรัฐฯ ที่นำเสนอเนื้อหาด้านจิตวิทยามาตั้งแต่ปี 2510 อธิบายว่า เมื่อคนเราสร้างมุมมองใดมุมมองหนึ่งขึ้นมา เราก็มักเลือกยอมรับเฉพาะข้อมูลที่สอดคล้องกับมุมมองนั้น และปฏิเสธข้อมูลที่ทำให้ตั้งข้อสงสัยกับมุมมองที่สร้างขึ้น นั่นคืออคติที่ทำให้เราไม่สามารถรับรู้สถานการณ์อย่างเป็นกลาง และพฤติกรรมการเลือกรับข้อมูลแบบนี้ทำให้คนเราติดกับดักสมมติฐานของตนเอง

เฮชมัท อธิบายต่อไปอีกว่า ปรากฎการณ์ข้างต้นที่เรียกว่า “Confirmation Bias” หรือ อคติแห่งการยืนยัน สามารถพบได้ในคนที่ชอบคิดวิตกกังวลและมองว่าโลกนี้เป็นอันตราย เช่น ผู้ที่ความนับถือตนเองต่ำ (Low Self-esteem) และมีอารมณ์อ่อนไหวสูงต่อการถูกผู้อื่นเมินเฉย คนประเภทนี้มักคอยมองหาสัญญาณว่าผู้อื่นอาจไม่ชอบตนเองอยู่เสมอ ดังนั้นจึงอยากให้ผู้อ่านบทความดังกล่าวลองสังเกตว่า มีความรู้สึกกังวลเกี่ยวกับผู้อื่นที่รบกวนบ้างไหม ถ้ามี อาจหมายความว่ากำลังตกอยู่ในอคติ มองสิ่งที่คนอื่นๆ ปฏิบัติต่อตัวเราเองในแง่ลบไปเสียทั้งหมด 

“โดยรวมแล้ว ผู้คนมักจะเชื่อในสิ่งที่พวกเขาต้องการจะเชื่อ การพยายามยืนยันความเชื่อของเราเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ในขณะที่การมองหาหลักฐานที่ขัดกับความเชื่อของเรานั้นเรารู้สึกว่ามันขัดกับสัญชาตญาณ สิ่งนี้อธิบายได้ว่าทำไมความคิดเห็นถึงดำรงอยู่และแพร่กระจาย การยืนยันจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการพิสูจน์ความจริง การยืนยันจะต้องมองหาหลักฐานที่สามารถพิสูจน์เพื่อหักล้างได้ บทเรียนที่อยากให้นำติดตัวไปด้วยในครั้งนี้คืออยากให้ลองตั้งสมมติฐานและมองหาตัวอย่างว่าสิ่งที่ตัวเราคิดนั้นอาจจะผิด นี่อาจเป็นคำจำกัดความที่แท้จริงของคำว่าความมั่นใจในตัวเอง นั่นคือการมองโลกโดยไม่จำเป็นต้องหาตัวอย่างที่ทำให้อัตตาของเราพอใจ” เฮชมัท กล่าว

ในประเทศไทย นพ.อุเทน บุญอรณะ นักเขียนและแพทย์ด้านประสาทวิทยา เคยให้สัมภาษณ์กับ Hfocus สำนักข่าวที่เน้นนำเสนอเนื้อหาด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะ อธิบายความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาข่าวปลอม-ข่าวลวง (Fake News) กับกลไกการทำงานของสมองและจิตใจของมนุษย์ ว่า จริงๆ แล้วข้อความหลายอย่างไม่ได้น่าเชื่อถือสำหรับเรา แต่มันดันไปตรงกับอะไรลึกๆ ในใจเราต่างหาก มันเป็นอะไรที่สั่นพ้อง หรือ Resonance ตรงกับความเชื่อในใจเรา เราจึงเชื่อ แล้วรับมันมาทันที ฉะนั้น ข่าวลวงอะไรที่เราเชื่อ มันคือสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนจริงๆ ของเรา

Fake News ยังเชื่อมโยงกับ ความเกลียดชัง นพ.อุเทน ขยายความในส่วนนี้ว่า ความเกลียดชังเปรียบเหมือนหัวหน้าหรือตัวคน ส่วน Fake News เปรียบเหมือนลูกน้องหรืออุปกรณ์ โดยสรุปก็คือหัวหน้าหรือคนคนหนึ่ง สั่งลูกน้องหรือใช้อุปกรณ์ชิ้นหนึ่งไปทำให้ผู้คนเกลียดชังกัน อย่างไรก็ตาม ระยะหลังๆ ดูเหมือน Fake News จะกลายเป็นลูกน้องหรืออุปกรณ์ที่ไม่ได้เรื่องเสียแล้ว เพราะผู้คนเริ่มสงสัยและจับผิดได้มากขึ้น ถึงกระนั้น ตัวความเกลียดชังจะยังคงอยู่ต่อไป และคอยหาลูกน้องหรืออุปกรณ์ใหม่ๆ มาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างความเกลียดชังในสังคม เช่น ความเชื่อ ดังที่ในอดีตเคยมีการล่าแม่มดหรือการตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนถึงปัจจุบันที่มีการสรรหาถ้อยคำแรงๆ มาเรียกผู้ที่มีมุมมองทางการเมืองแตกต่างจากตนเอง 

อีกทั้ง ผู้คนมีแนวโน้มที่จะทำตามๆ กัน อาทิ ในการทดลอง “People in the lift” ทีมวิจัยรวมกลุ่มกันเข้าไปยืนในลิฟท์แล้วทุกคนหันหน้าไปทางเดียวกันหมด คนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในทีมเมื่อเห็นเข้าก็มักจะหันหน้าไปทางเดียวกันด้วย เพราะคนเรามักกลัวว่าตนเองจะไม่เหมือนคนอื่น ดังนั้นเมื่อเราอยู่ในสิ่งแวดล้อม (Chamber) แบบใด เราก็มักจะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมนั้น แล้วก็คิดไปเองว่าเราอยากทำ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราถูกสิ่งแวดล้อมบังคับให้ทำ ซึ่งปรากฎการณ์นี้สามารถพบเห็นได้บนพื้นที่ออนไลน์เช่นกัน เช่น ผู้ที่ใช้เวลากับชุมชนออนไลน์ที่พูดคุยเรื่องศิลปินเกาหลี อาจเข้าใจไปว่าสังคมนี้ชื่นชอบศิลปินเกาหลีกันหมด ทั้งที่จริงๆ บนโลกออนไลน์ยังมีผู้สนใจเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเราถูกทำให้เชื่อ แต่หากเชื่ออยู่แล้วก็อาจยิ่งแสวงหาเพราะเห็นว่าจุดนั้นมีแต่คนที่ชอบเหมือนกับเรา

“เรากลัวการที่เราไม่มีฝูง เราเป็นม้าลายที่อยากอยู่ในฝูงม้าลาย เราอยากอยู่ท่ามกลางคนที่คิดแบบเดียวกับเรา หรือเรารู้สึกว่านี่แหละครอบครัว หรือฝูงของเราที่แท้จริง นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติของสัตว์” นพ.อุเทน กล่าว 

ปรากฎการณ์ Echo Chamber ส่งผลต่อความเกลียดชังอย่างไร? ย้อนไปในปี 2544 สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ เคยนำเสนอสารคดี “Five Steps to Tyranny” ที่สรุปวิธีเปลี่ยนคนธรรมดาๆ ให้พร้อมจะออกไปเข่นฆ่าทำร้ายคนอื่นที่คิดต่าง โดยเริ่มจาก 1.แบ่งเขาแบ่งเรา 2.เชื่อฟังทันทีโดยไม่ตั้งคำถาม ซึ่งเมื่อได้องค์ประกอบ 2 ข้อแรกนี้แล้ว อีก 2 ข้อที่เหลือจะตามมา คือ 3.พร้อมทำร้ายฝ่ายตรงข้าม 4.เมินเฉยกับฝ่ายตรงข้ามและช่วยเหลือเฉพาะฝ่ายเดียวกัน และเมื่อมาถึงขั้นนี้ก็จะเข้าข้อสุดท้ายคือ 5.ทำร้ายอีกฝ่ายได้แบบไม่ต้องลังเลใจ 

ซึ่งแม้สารคดีข้างต้นจะสร้างขึ้นใน บริบทของการเชื่อฟังคำสั่งผู้นำหรือผู้มีอำนาจ (เช่น รัฐบาลเผด็จการ) และยุคสมัยที่อินเตอร์เน็ตเพิ่งแพร่หลาย แต่หากพิจารณาจากองค์ประกอบ 2 ข้อแรก (1.แบ่งเขาแบ่งเรา กับ 2.เชื่อฟังทันทีโดยไม่ตั้งคำถาม) จะพบว่าคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ที่แต่ละคนเลือกอยู่กับกลุ่มที่คิดเหมือนกัน รับข้อมูลข่าวสารเฉพาะจากฝ่ายเดียวกันและเชื่อตามกันโดยมองว่าฝ่ายตนนั้นถูกส่วนอีกฝ่ายผิด ท้ายที่สุดแม้ยังไม่ถึงขั้นออกไปทำร้ายกันในชีวิตจริง แต่ก็พร้อมแบกความเชื่อของตนเองออกไปสาด Hate Speech ต่อผู้เห็นต่างบนโลกออนไลน์

ปัญหาจากปรากฎการณ์ Echo Chamber ยังทวีความรุนแรงขึ้นอีกเมื่ออินเตอร์เน็ตเข้าสู่ยุคของสื่อสังคมออนไลน์ ที่แพลตฟอร์มมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เก็บข้อมูลผู้ใช้งานแต่ละคนว่าสนใจเรื่องใด แล้วคัดกรองเฉพาะเนื้อหาที่ “ถูกจริต” ของผู้ใช้งานมาให้ได้พบเห็นเท่านั้น โดยตัดเนื้อหาอื่นๆ ที่ผู้ใช้งานไม่ชอบหรือไม่สนใจออก สิ่งนี้ถูกเรียกว่า “Filter Bubble” หรือ “ฟองสบู่ตัวกรอง” คำนี้ถูกพูดถึงครั้งแรกโดย เอลี ปารีเซอร์ (Eli Pariser) นักคิดและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน บนเวที Ted Talk ในปี 2554 

ปารีเซอร์ ยกตัวอย่าง อาทิ วันหนึ่งเขาได้สังเกตเห็นข่าวสารฝ่ายอนุรักษ์นิยม (Conservative) หายไปหน้าจอเฟซบุ๊คของตน สาเหตุเพราะตนเองมีแนวคิดเสรีนิยม (Liberal) จึงมักโต้ตอบกับข่าวสารฝ่ายเสรีนิยมเป็นหลัก และเฟซบุ๊คก็มีระบบที่จดจำพฤติกรรมการค้นหาหรือเนื้อหาที่ผู้ใช้งานแต่ละคนมีปฏิกิริยาโต้ตอบ (กด Like กด Share หรือแสดงความคิดเห็น) บ่อยๆ ก่อนนำไปประมวลผลแล้วเลือกแต่เฉพาะเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่คนคนนั้นชอบส่งมาให้เห็น 

เช่นเดียวกับ Search Engine ยอดนิยมอย่างกูเกิ้ล ปารีเซอร์ ไหว้วานเพื่อนอีก 2 คน ลองค้นหาคำว่าประเทศอียิปต์ (Egypt) แล้วพบว่า หน้าแรกของการค้นหาของคนหนึ่งมีข่าวการประท้วงในอียิปต์ (ที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ในเวลานั้น) โผล่ขึ้นมาเต็มไปหมด แต่ของอีกคนหนึ่งไม่มีข่าวดังกล่าวปรากฏเลย และย้ำว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์เจ้าอื่นๆ ก็กำลังดำเนินการแบบเดียวกัน นั่นคือการปรับรูปแบบการใช้งานให้เข้ากับผู้ใช้งานแต่ละคน นำไปสู่ข้อกังวลว่า ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตอาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนรอบด้าน จากระบบที่กรองสิ่งที่ผู้ใช้งานมีแนวโน้มไม่ชอบ หรือตรงข้ามกับทัศนคติของผู้ใช้งานออกไปหมด เหลือแต่สิ่งที่แต่ละคนพอใจเพียงด้านเดียวเท่านั้น

บทความ “How algorithms and filter bubbles decide what we see on social media” ที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว BBC ของอังกฤษ อธิบายการทำงานของ อัลกอริทึม (Algorithms) ของ AI ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ว่า มันเก็บข้อมูลผู้ใช้งานทั้งประวัติการค้นหา การซื้อของออนไลน์ แพลตฟอร์มที่ใช้ รายละเอียดเวลาสมัครใช้บริการต่างๆ ทางออนไลน์ ตลอดจนการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ก่อนจะประมวลผลและแสดงให้เห็นตามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานแต่ละคน 

ดังนั้นเมื่อบวกกับพฤติกรรมที่คนเรามักเลือกรับข้อมูลข่าวสาร หรือติดตามผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่มุมมองคล้ายกับตนเองแล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจที่ท้ายที่สุดเราจะมองเห็นแต่ข้อมูลข่าวสารในทางเดียวกัน และไม่เห็นมุมมองที่แตกต่างออกไป นี่คือปรากฎการณ์ Filter Bubble ซึ่งยังส่งผลให้ข่าวปลอม-ข่าวลวงแพร่กระจายได้ง่ายด้วย หากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ติดตามอยู่ต่างพากันเชื่อหรือแชร์เนื้อหาดังกล่าว 

ในตอนท้ายของบทความข้างต้นของ BBC ได้แนะนำ 3 ข้อที่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตควรทำเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในวังวนของ Filter Bubble ประกอบด้วย 1.ให้พื้นที่ในการติดตามฝ่ายที่มีมุมมองแตกต่าง เพื่อคานอำนาจกับการทำงานของอัลกอรึทึมที่เลือกป้อนแต่สิ่งที่ผุ้ใช้งานชื่นชอบหรือเห็นด้วยเพียงด้านเดียว 2.รับข้อมูลให้กว้างขวาง อย่ายึดติดกับสื่อสังคมออนไลน์หรือเว็บไซต์บางแห่งมากเกินไป (แต่ก็ต้องดูแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือด้วย) 3.กลับสู่ชีวิตจริง พักการท่องโลกออนไลน์แล้วไปใช้เวลากับคนรอบๆ ตัวอย่างครอบครัวหรือเพื่อนฝูงบ้าง แทนที่จะรับข้อมูลข่าวสารด้านเดียวจากปรากฎการณ์ Filter Bubble ทั้งนี้ ขอให้ตระหนักไว้ว่า อย่าเชื่อทุกอย่างบนฟีดข่าวหน้าจอ เพราะยังมีคนอีกมากที่อาจคิดต่างออกไปจากมุมมองนั้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว มนุษย์มีพื้นฐานตั้งต้นคือความพอใจที่จะเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่ตรงกับจริตของตนเอง และปฏิเสธข้อมูลข่าวสารในมุมอื่นๆ ที่ไม่ตรงกับความเชื่อ-ความชอบ ซึ่งอินเตอร์เน็ตสามารถตอบสนองจุดนี้ได้เพราะผู้ใช้งานเป็นผู้ตัดสินใจเลือกรับ แต่ผลกระทบคือทำให้สังคมแบ่งขั้วและแตกแยกกันมากขึ้นเพราะต่างฝ่ายต่างไม่คิดจะรับฟังกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ใช้เทคโนโลยีป้อนแต่เนื้อหาที่ชอบและคัดกรองเนื้อหาที่ไม่ชอบออกไป ยิ่งทำให้ระดับความอคติของผู้ใช้งานเข้มข้นขึ้น และพร้อมใช้ถ้อยคำรุนแรงโจมตีด่าทอหรือระรานผู้ที่เห็นต่างกไปจากตนบนโลกออนไลน์ 

ดังนั้นการ “ฝืนความเคยชิน” แบ่งใจ-เปิดพื้นที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่มีมุมมองแตกต่างบ้าง (แม้จะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากๆ ก็ตาม) คงเป็นหนทางที่พอจะช่วยให้อุณหภูมิความเดือดดาลรุนแรงลดลงได้บ้าง!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.etda.or.th/th/Knowledge-Sharing/Hate-Speech-in-IFBL.aspx (Hate Speech ทำไมต้องให้ร้ายใส่กัน : EDTA 16 ธ.ค. 2562)

https://news.thaipbs.or.th/content/117718 (เผยผลสำรวจพบเว็บไซต์การเมืองใช้”Hate Speech”เกลื่อนเว็บ แซงทีวีดาวเทียม : ThaiPBS 11 ต.ค. 2555)

https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/echo-chamber (echo chamber : Cambridge Dictionary)

https://www.theguardian.com/science/blog/2017/dec/04/echo-chambers-are-dangerous-we-must-try-to-break-free-of-our-online-bubbles (Echo chambers are dangerous –  we must try to break free of our online bubbles : The Guardian 4 ธ.ค. 2560)

https://web.mit.edu/marshall/www/papers/CyberBalkans.pdf (Electronic Communities: Global Village or Cyberbalkans? : MIT มีนาคม 2540)

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/science-choice/201504/what-is-confirmation-bias (What Is Confirmation Bias? : Psychology Today 23 เม.ย. 2558)

https://www.hfocus.org/content/2020/05/19325 (เข้าใจเฟคนิวส์ในมุมมองแพทย์ด้านประสาทวิทยา: “เราเชื่อ เพราะเราอยากเชื่อ” : Hfocus 14 พ.ค. 2563)

https://kottke.org/16/11/five-steps-to-tyranny (Five Steps to Tyranny : Kottke.org 23 พ.ย. 2559)

https://www.ted.com/talks/eli_pariser_beware_online_filter_bubbles (Beware online “filter bubbles” : Ted Talk มีนาคม 2554)

https://www.naewna.com/likesara/434893 (‘โลกออนไลน์’ ไฉนเป็น‘สังคมอุดมดราม่า’ : นสพ.แนวหน้า 22 ส.ค. 2562)

https://www.bbc.co.uk/bitesize/articles/zd9tt39 (How algorithms and filter bubbles decide what we see on social media : BBC)

28 มีค.-2เมย. เชิญชวน #รู้ทันข่าวลวง สัปดาห์ค้นหาข้อเท็จจริง ในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก

Editors’ Picks

📢 เชิญชวน #รู้ทันข่าวลวง ผ่านงานสัปดาห์ค้นหาข้อเท็จจริง ในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2565 ระหว่างวันที่ 28 มี.ค. – 2 เม.ย. 65

📌 พบกับกิจกรรมสัปดาห์วันตรวจสอบข่าวลวงโลก

  • จ. 28 มี.ค. : เสวนาออนไลน์ เวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 20 “รับมือมิจฉาชีพยุค 5G ถึงเวลาวาระแห่งชาติ”
  • อ. 29 มี.ค. : กิจกรรมฉายหนังสั้นจาก 8 ประเทศ พร้อมเสวนาทำไมสิทธิดิจิทัลจึงสำคัญ ณ Doc Club & Pub. โดย Engagemedia Cofact Thailand มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Doc Club
  • พ. 30 มี.ค. : เสวนาออนไลน์ Media Forum ครั้งที่ 14 “บทบาทอัลกอริทึมกับการเข้าถึงข้อเท็จจริงในยุคดิจิทัล”
  • พฤ. 31 มี.ค. และ ศ. 1 เม.ย. : Verification Training workshop in Ampawa ฝึกอบรมการตรวจสอบข่าวลวง
  • ส. 2 เม.ย. : กิจกรรม FactCollabTH ในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2565 International Fact-Checking Day 2022 Hybrid event The Sukosol Hotel

📌ติดตามชมการถ่ายทอดสดทางออนไลน์
Facebook : Thai PBS , Cofact โคแฟค, สภาองค์กรของผู้บริโภค, สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ , สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
• YouTube : www.youtube.com/ThaiPBS #ThaiPBS


Fact-Collab Week to celebrate International Fact-Checking Day 2022

กิจกรรม สัปดาห์ร่วมค้นหาข้อเท็จจริง ในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก ปี พ.ศ.2565

……

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2565

เสวนาออนไลน์ เวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 20 รับมือมิจฉาชีพยุค 5G ถึงเวลาวาระแห่งชาติ

How to counter fake calls/SMS/mobile scams?

Co-hosted by Cofact Thailand Consumers Council, Whoscall

ถ่ายทอดสดผ่านเพจ Thai PBS, Cofact โคแฟค และ สภาองค์กรของผู้บริโภค

9.30 – 10.00 น.        กล่าวต้อนรับ  

โดย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์  ที่ปรึกษาภาคีโคแฟค  

กล่าวเปิดโดย  คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค

10.00 – 10.15 น.     นำเสนอผลการสำรวจแบบสอบถามปัญหา SMS Call center หลอกลวง 

โดย สภาองค์กรของผู้บริโภค 

  • คุณปาณิสรา ตุงคะสามน     เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม
  • คุณภัทรกร ทีปบุญรัตน์        จ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ

ผู้บริโภค

10.15 – 10.30 น.    นำเสนอรายงาน โดย

คุณฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ     Country Marketing Head,

Gogolook Thailand (Whoscall)

10.30 – 12.00 น.     เสวนานักคิดดิจิทัล  รับมือปัญหามิจฉาชีพยุค 5G ถึงเวลาวาระแห่งชาติ

  • คุณประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา  กสทช. 
  • คุณชลดา บุญเกษม     อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และ

เทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค

  • คุณสุภิญญา กลางณรงค์  ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย 
  • คุณมีธรรม ณ ระนอง     รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนา

ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า)

ดำเนินรายการโดย  คุณวิชดา นฤวรพัฒน์

12.00 – 12.15 น.    แถลงการณ์เรียกร้องให้ภาครัฐแก้ปัญหามิจฉาชีพยุค 5G ถึงเวลาวาระแห่งชาติ 

หมายเหตุ: กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม FactsCollabTH ในวาระ International Fact Checking Day 2022


วันอังคารที่ 29  มีนาคม พ.ศ.2565

Tech Tales Film Screening, Doc Club & Pub

17.00 – 18.20 น.      เริ่มฉายภาพยนตร์สั้น ทั้ง 8 เรื่อง 

18.30 – 18.35 น.     กล่าวเปิดงานโดยคุณ  Yawee (Jimmy) Butrkrawee ตัวแทนจาก Engage Media เอเชียแปซิฟิก 

18.35 – 20.00 น.     กิจกรรมพูดคุยในหัวข้อ “สิทธิดิจิทัลในประเทศไทยคืออะไรทำไมจึงสำคัญ? และควรเริ่มต้นที่ตรงไหน?” โดย Speaker และ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิดิจิทัล

  • สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ – รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
  • สฤณี อาชวานันทกุล – สมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต 
  • สุภิญญา กลางณรงค์  – ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค 
  • นุรอาซีกีน ยูโซ๊ะ – เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนในจชต มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 
  • สุธิดา บัวคอม – ผู้ชนะการแข่งขัน FACTkathon หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม

ดำเนินรายการโดย ฐิตาภา สิริพิพัฒน์ สื่อมวลชน


วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565

Media Forum 14

“บทบาทของอัลกอริทึม กับการเข้าถึงข้อเท็จจริงของประชาชน”

 (Media Forum on Algorithm and gate keeper for facts in digital age)

ผ่านระบบการประชุมทางไกล (ZOOM Meeting)

————

10.00 – 10.15 น.       กล่าวเปิดการเสวนา 

            โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 

  10.15 – 11.30 น.    เสวนา “บทบาทของอัลกอริทึม กับการเข้าถึงข้อเท็จจริงของประชาชน   

              ร่วมให้ความเห็น  โดย      

  • นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
  • ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด
  • นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด
  • น.ส.กนกพร ประสิทธิผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อใหม่ สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส 
  • น.ส.สถาพร อารักษ์วัฒนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค 

    ดำเนินรายการ โดย น.ส.โสภิต หวังวิวัฒนา คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ   

  11.30-12.00 น.        สรุปและปิดการเสวนา   

✵ติดตามชมการถ่ายทอดสดที่ เพจสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, เพจ Cofact โคแฟค และ เพจ Thai PBS


วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2565

*****

กิจกรรม FactsCollabTH  ในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก

9.00 – 9.30 น.        ลงทะเบียน

9.30 – 10.00 น.     กล่าวต้อนรับและเปิดงาน โดย 

  • Frederic Spohr          หัวหน้าส่วนงานประเทศไทยและเมียนมาร์ มูลนิธิฟรีดริช เนามันเพื่อเสรีภาพ (FNF)
  • ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์     กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 
  • คุณระวี ตะวันธรงค์      นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) 

10.00 – 12.00 น.     เสวนา ทบทวนตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือของสื่อ Reviewing Barometer for Trusted Media 

  • Stephane Delfour    Bureau Chief, AFP 
  • Gemma B Mandoza    Lead of Digital Strategy, Rappler
  • Irene Jay Liu        News Lab Lead, APAC, Google
  • Premesh Chandran    Former CEO, Malaysiakini 
  • Dr.Masato Kajimoto    Annie Lab Lead, Journalism and Media 

Studies Center, University of Hongkong    

  • Thepchai Yong        Advisor, ThaiPBS  

Moderator: Nattha Komolvadhin    ThaiPBS

พักกลางวัน 

13.00 – 15.00 น.      เสวนา “บทบาทสื่อไทยในการสกัดข่าวปลอม: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต”

ผู้ร่วมเวทีเสวนา

  • ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์     ผู้อำนวยการสำนักข่าว ไทยพีบีเอส
  • นพปฏล รัตนพันธ์           รองเลขาธิการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 
  • พีรพล อนุตรโสตถิ์         ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ MCOT
  • ระวี ตะวันธรงค์         สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
  • มณธิรา รุ่งจิรจิตรานนท์    ผู้สื่อข่าว ตรวจสอบข้อเท็จจริง AFP

15.00 – 16.00 น.     ร่วมแลกเปลี่ยนโดย Baybars Orsek ผู้อำนวยการ International Fact-Checking Day ในประเด็น โอกาสและข้อท้าทายของสื่อไทยในการเข้าร่วม IFCN 

16.00- 16.15 น.     กล่าวขอบคุณและปิดงานโดย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์  ที่ปรึกษาภาคีโคแฟค ประเทศไทย

*****

กิจกรรมช่วงค่ำ  20.00 – 21.00 น. 

Cofact Live Talk x Clubhouse เปิดตัวโครงการ Youth Verification Challenge” 

ความร่วมมือระหว่าง Google News Initiative x ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์  x โคแฟค ประเทศไทย 

ถ่ายทอดสดผ่านเพจ Thai PBS,  Cofact Thailand และ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ


ติดต่อสอบถาม คุณพลินี 095 169 5328