Post-truth VS. Primary source กับ Cofact Vocab

Editors’ Picks

Cofact Vocab วันนี้มาแล้ว มารู้ 2 ศัพท์ใหม่กัน

Post-truth
ไม่สนใจความจริง เป็นคำอธิบายที่สะท้อนภาพจากสถานการณ์ที่ความคิดเห็นของผู้คนในสังคมถูกหล่อหลอมจากความเชื่อส่วนบุคคลและความรู้สึก มากกว่าสิ่งที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง

Primary source
ข้อมูลปฐมภูมิ คือสารสนเทศที่ได้มาจากต้นแหล่งโดยตรง หรือข้อมูลที่ได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาและสถานที่จริง เช่น อัตชีวประวัติ ไดอารี่ จดหมาย บทสัมภาษณ์ สุนทรพจน์ เอกสารทางประวัติศาสตร์ บทความในหนังสือพิมพ์ที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาของเหตุการณ์ ข้อมูลต้นฉบับ นวนิยาย ภาพวาด และงานศิลปะอื่น ๆ การสืบค้นข้อมูลปฐมภูมิจะช่วยให้เราได้รับข้อมูลที่ตรงตามความจริงยิ่งขึ้น

ประกาศแจ้งการเลื่อนการประกาศผล Cofact Video Cover Contest 2021

Editors’ Picks

ประกาศแจ้งการเลื่อนการประกาศผล Cofact Video Cover Contest 2021

เนื่องจากมีผู้ส่งวิดีโอ TikTok cover วิทยุชุมชนครั้งนี้จำนวนมาก (มากจริงๆ แบบสุดปัง)
ทีมผู้จัดกิจกรรมจึงขอเลื่อนการประกาศผลเป็นวันที่ 15 ต.ค 64
ทางผู้จัดกิจกรรมขออภัยสำหรับทุกการรอคอยนะคะ

และตอนนี้คลิปวิดีโอทั้งหมดของน้องๆ ได้เผยแพร่ลงในเพจ Cofact Youth Network เรียบร้อยแล้ว
โดยน้องๆ สามารถชวนเพื่อนๆ มา Like&Share ได้ถึงวันที่ 10 ต.ค 64
https://www.facebook.com/Cofact-Youth-Network-100765405554755/

Google News Initiative และ Cofact Thailand ชวนร่วม โครงการ Verification Workshop

Editors’ Picks

เชิญชวนนักเรียน นักศึกษา คนทำงานสายข่าว หรือผู้ที่ทำงานตรวจสอบข้อมูล ร่วม โครงการฝึกอบรมผู้ตรวจสอบข้อมูล Verification Workshop จัดโดย Google News Initiative ร่วมกับ Cofact Thailand

วัตถุประสงค์
เพื่อฝึกฝนทักษะ วิธีคิด และกระบวนการทำงานตรวจสอบข้อมูลสำหรับการทำงานในกองบรรณาธิการ โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากการส่งต่อจากอินเทอร์เน็ตก่อนนำไปเผยแพร่ต่อ เพื่อให้การรายงานข่าวมีความสมบูรณ์ ปราศจากข้อมูลเท็จ

รายละเอียดหลักสูตร
6 บทเรียน บทเรียนละ 1:30 ชั่วโมง
เรียนทุกวันอังคาร และ พฤหัสบดี ตั้งวันที่ 12 ถึง 28 ตุลาคม 2021
เวลา 19:00 – 20:30 ผ่านทาง Google Meet

12 ตุลาคม – ทำความเข้าใจและแยกแยะข้อมูลกับความคิดเห็น อะไรที่ตรวจสอบและหักล้างได้
14 ตุลาคม – กระบวนการทำงานในกองบรรณาธิการตรวจสอบข้อมูล
19 ตุลาคม – เครื่องมือตรวจสอบข้อมูล 1: ตรวจสอบข้อมูลบนสื่อโซเชียล
21 ตุลาคม – เครื่องมือตรวจสอบข้อมูล 2: ตรวจสอบข้อมูลด้วยภาพและวีดีโอ
26 ตุลาคม – เครื่องมือตรวจสอบข้อมูล 3: ยืนยันตำแหน่งและสถานที่เกิดเหตุ
28 ตุลาคม – จริยธรรมในการตรวจสอบข้อมูล

หลักสูตรนี้ผ่านการตรวจสอบและรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญจาก Google News Initiative แล้ว

วิทยากร
ธนภณ เรามานะชัย – AAJA-Asia Training Network by Google News Initiative
พีรพล อนุตรโสตถิ์ – ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท.

คุณสมบัติของผู้เข้าอบรม
นักเรียน นักศึกษา บุคลากรด้านสื่อ นักข่าว หรือผู้ที่ทำงานด้านการตรวจสอบข้อมูล

ผู้เข้าอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรจาก Cofact Thailand และ Google News Initiative หลังจบการอบรม เราขอสงวนสิทธิ์มอบประกาศนียบัตรให้กับผู้ที่เข้าอบรมครบทั้ง 6 วันเท่านั้น

สนใจสมัครได้ที่นี่ คลิก (ปิดรับสมัครวันที่ 10 ต.ค. 64)

https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSedZb9Tvv26t_QA_BozZbPDv_X6qeDfWxZejm0GWBOKU4wNWQ/viewform

ตรวจสอบข่าวลวง-ข่าวลือโรคระบาดต่างๆ ในปี 2021 COFACT Special Report #3

บทความ

ตรวจสอบข่าวลวง-ข่าวลือโรคระบาดต่างๆ ในปี 2021

English Summary

The recent global pandemic makes people aware of diseases around them. There have been reports of other diseases that could potentially spread widely just like COVID-19, including Acute Flaccid Myelitis (AFM) or Polio-like disease, Nipah Virus, and Respiratory Syncytial Virus. World Health Organization has been watching these three diseases closely but all of them do not spread in the way COVID-19 does. Therefore, no warning of the new epidemic has been issued. We take a closer look at the symptoms of each disease, how they spread, and how much should you worry or not to worry about them.

การแพร่ระบาดอย่างหนักของ COVID-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมาส่งผลให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยวิตกกังวลว่าจะมีโรคระบาดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้อีกหรือไม่ จนทำให้เกิดกระแสข่าวโรคระบาดอื่นๆ ตามมาเป็นจำนวนมาก บางโรคเป็นโรคจริงที่เกิดการแพร่ระบาดแต่ยังไม่เป็นวงกว้าง บางโรคเป็นโรคประจำฤดูที่เคยแพร่ระบาดมาก่อน และบางโรคเป็นการนำเสนอข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกเกินจริง 

1) โรคระบาดคล้ายโปลิโอในสหรัฐฯ?

ในสหรัฐฯ มีการแชร์ภาพและบทความที่ระบุว่า สำนักงานควบคุมโรคสหรัฐฯ หรือ CDC เตือนประชาชนให้เฝ้าระวังรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคคล้ายโปลิโอ ชื่อ Acute Flaccid Myelitis หรือเอเอฟเอ็ม ที่คาดว่าจะแพร่ระบาดอย่างหนักในอีก 4 เดือนข้างหน้า ข้อความดังกล่าวถูกแชร์ต่อหลายร้อยครั้งและสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา สก็อต พอลลี โฆษกประจำสำนักงานควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า CDC ยังไม่ได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังโรคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม CDC แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้กับบุคลากรทางการแพทย์และหาทางรับมือหากเกิดการระบาดขึ้นจริง 

เอเอฟเอ็มเป็นโรคที่มีอาการคล้ายกับโปลีโอ และพบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการกล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง ระบบประสาทสัมผัสไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ 

2) ไวรัสนีปาห์ในอินเดีย? 

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานจากสื่อในอินเดียว่า เด็กชายอายุ 12 ปีในรัฐเกรละเสียชีวิตจากไวรัสนีปาห์ สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานข่าวนี้พร้อมกับระบุว่าไวรัสตัวนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน และผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 40-75%

ไวรัสนีปาห์ที่จริงแล้วไม่ใช่ไวรัสชนิดใหม่แต่อย่างใด ไวรัสตัวนี้ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1999 ในฟาร์มสุกรที่มาเลเซีย ต่อมาพบว่าสัตว์ที่เป็นพาหะนำเชื้อคือค้างคาวผลไม้ การติดเชื้อมาจากการสัมผัสหรือถูกสัตว์กัดเข้าที่ผิวหนัง อาการที่พบได้คือมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นมีความผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ และอาการชัก ปัจจุบันยังไม่มียารักษา ต้องประคับประคองและรักษาตามอาการ

ไวรัสนีปาห์สามารถแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนได้ผ่านทางสารคัดหลั่ง ออย่างไรก็ตามจำนวนผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่มีการค้นพบไวรัสตัวนี้มามีเพียง 260 รายเท่านั้น ทั้งหมดอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไวรัสตัวนี้แตกต่างจาก COVID-19 ตรงที่นักวิทยาศาสตร์ทราบต้นตอของการแพร่ระบาดมาจากค้างคาวผลไม้ และส่วนใหญ่มักเกิดจากการแพร่เชื้อจากคนสู่สัตว์ ดังนั้นวิธีการรับมือกับไวรัสนีปาห์ที่ได้ผลที่สุด คือการตรวจสอบที่มาของการแพร่เชื้อในชุมชน ทำลายฟาร์มสัตว์หรือแหล่งที่พบการแพร่ระบาด และกักตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อก่อนหน้า

องค์การอนามัยโลกยังคงเฝ้าจับตาไวรัสตัวนี้ แต่ยังคงไม่ออกคำเตือนว่าไวรัสตัวนี้แพร่ระบาดอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ไวรัสนีปาห์เป็นเชื้อโรคที่เราทราบกันดีว่ามีต้นตอจากสัตว์ พบว่าเคยมีผู้ป่วยในไทยมาก่อน แต่ยังไม่มีการรายงานว่ามีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง วิธีที่จะตัดวงจรการแพร่เชื้อได้คือมนุษย์ต้องเลิกบุกรุกทำลายระบบนิเวศน์ของสัตว์ ธรรมชาติ และทำให้สัตว์ป่าที่ปฏิบัติตัวเป็นแหล่งรังโรค โดยไม่มีอาการทำการย้ายถิ่นฐาน และมีโอกาสแพร่เชื้อไปยังมนุษย์ และสัตว์เศรษฐกิจได้ง่าย จนระบาดมายังคน

3) ไวรัสอาร์เอสวีระบาดนอกฤดูกาล?

อาร์เอสวี หรือไวรัสมวลเซลล์รวมระบบหายใจ ปกติมักจะพบมากในช่วงฤดูหนาวของประเทศเขตเหนือ อาการที่พบได้บ่อยคืออาการหายใจลำบาก ไอ หอบ ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็ก ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมากลับพบว่ามีการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อน และอาการของโรคใกล้เคียงกันกับ COVID-19 ทำให้ผู้ปกครองหลายคนกังวลว่าไวรัสตัวนี้อาจยิ่งทำให้เด็กมีโอกาสป่วยมากขึ้น

สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานว่า โรงพยาบาลหลายแห่งในสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น พบผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อจากไวรัส RSV ในช่วงฤดูใบไม่ผลิ และฤดูร้อนจำนวนมากผิดปกติ ทั้งๆ ที่ปกติแล้วจะเป็นช่วงที่ไวรัสตัวนี้จะไม่ค่อยแพร่เชื้อ เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศอบอุ่น 

แพทย์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมที่ผิดแปลกของไวรัสชนิดนี้อาจมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการด้านสุขอนามัยต่างๆ ส่งผลถึงไวรัสชนิดอื่นๆ ด้วย เมื่อมาตรการต่างๆ ในหลายประเทศเริ่มผ่อนคลาย ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ก็ทำให้ไวรัสบางชนิดที่เป็นไวรัสประจำฤดูกาลกลับมาแพร่ระบาดได้อีก ถึงแม้จะไม่ใช่ฤดูของพวกมันก็ตาม

สำนักงานควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่าไวรัสตัวนี้ไม่น่ากังวลเท่าไร เพราะส่วนมากเด็กเกือบทุกคนจะต้องติดเชื้อไวรัสตัวนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งภายในอายุ 2 ขวบ อาการที่พบได้บ่อยคือน้ำมูกไหล ไอ หรือจาม จากนั้นมักจะหายป่วยไปเอง บางรายอาจมีภาวะหลอดลมฝอยอักเสบ และอาการอักเสบที่ปอดส่วนล่าง ทำให้หายใจและรับประทานอาหารลำบาก วิธีการรักษาคือการให้ออกซิเจนทางจมูก จากนั้นอาการก็จะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน

หากพบว่าบุตรหลานของท่านติดเชื้อไวรัส RSV วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการไม่ให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในครัวเรือนเดียวกันเข้าใกล้กับเด็กที่มีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ เพื่อไม่ให้บุคคลดังกล่าวนำเชื้อไปแพร่ต่อให้กับเด็กคนอื่นๆ 

ที่มา: 

https://factcheck.afp.com/http%253A%252F%252Fdoc.afp.com%252F9MZ7X9-1

https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/nipah-virus

https://www.cbsnews.com/news/nipah-virus-outbreak-india-kerala/

https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2021/09/12/1035571714/why-the-world-should-be-more-than-a-bit-worried-about-indias-nipah-virus-outbrea

https://www.komchadluek.net/news/484444

https://www.bbc.com/thai/international-58570983

เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand 

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT)  https://www.damikemedia.com

ถาม-ตอบ ปัญหาคาใจผู้ปกครอง: วัคซีน COVID-19 สำหรับเด็ก CO-FACT Special Report 2

บทความ

CO-FACT Special Report 2  

รายงานพิเศษโคแฟค ตรวจสอบความจริงร่วมเรื่องวัคซีน ฉบับที่

ถามตอบ ปัญหาคาใจผู้ปกครอง: วัคซีน COVID-19 สำหรับเด็ก

กระทรวงสาธารณสุขประกาศนโยบายฉีดวัคซีนให้กับเยาวชนอายุ 12-18 ปีตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยจะเน้นไปที่จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด วัคซีนที่จะนำมาใช้ฉีดให้กับเยาวชนกลุ่มนี้คือ Pfizer-BioNTech ซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ให้ใช้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และเป็นวัคซีนเพียงชนิดเดียวในขณะนี้ที่สามารถฉีดให้กับเยาวชนได้ ก่อนที่ผู้ปกครองจะนำบุตรหลานของท่านไปฉีดวัคซีน ท่านอาจจะมีคำถามเหล่านี้ในใจ:

คำถาม: วัคซีน Pfizer-BioNTech มีความปลอดภัยในเด็กมากน้อยเพียงใด?

คำตอบ: ผลการศึกษาจากบริษัท Pfizer และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ระบุว่าวัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัย เหมาะสำหรับฉีดให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ผลการศึกษาดังกล่าวยังระบุด้วยว่าเด็กอายุ 12-17 ปีที่ได้รับการฉีดวัคซีนตัวนี้มีภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน

คำถาม: วัคซีน Pfizer-BioNTech สำหรับเด็กจะต้องฉีดกี่เข็ม ระยะเวลาต่อเข็มห่างกันเท่าไร?

คำตอบ: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า วัคซีน Pfizer-BioNTech จะฉีดให้ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป 2 เข็ม แต่ละเข็มห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ซึ่งตรงกับคำแนะนำของผู้ผลิตวัคซีน และเป็นไปตามผลการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) 

คำถาม: ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าเด็กติดเชื้อและป่วยจาก COVID-19 ไม่มาก และส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ทำไมฉันจึงจำเป็นต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนด้วย?

คำตอบ: นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เชื้อเกิดการพัฒนาและกลายพันธุ์ให้สามารถแพร่กระจายได้ง่าย และจำนวนเชื้อที่ติดมีปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดอย่างหนักในปัจจุบัน สำนักงานควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุจำนวนเด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่คิดเป็นจำนวนถึง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด มีเพียง 2-3% ในจำนวนผู้ติดเชื้อเด็กที่ป่วยหนักและต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล (ผู้ป่วยสีเหลือง หรือแดง) แสดงให้เห็นว่า COVID-19 สายพันธุ์เดลต้ายังไม่ส่งผลให้เด็กป่วยหนักมากนัก แต่ก็ทำให้เห็นว่าเด็กสามารถติดเชื้อได้มากไม่ต่างจากผู้ใหญ่ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า และหากเด็กไปโรงเรียนแล้วนำเชื้อเข้ามาสู่คนในบ้านก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้คนในบ้านด้วย ดังนั้นการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงจากการป่วยในเด็ก และถ้านักเรียนในโรงเรียนได้ฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วนก็จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงการป่วยในโรงเรียนจากการติดเป็นกลุ่มก้อนได้มากขึ้นด้วย

คำถาม: ก่อนไปฉีดวัคซีน เด็กควรเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง?

คำตอบ: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แนะนำให้เด็กที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนนอนหลับพักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนวันฉีดวัคซีน เช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ หากเด็กมีประวัติแพ้ยาให้ปรึกษาแพทย์และแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่บริเวณจุดคัดกรองก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน

คำถาม: ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ในเด็กมีอะไรบ้าง?

คำตอบ: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แนะนำให้เด็กที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่ควรวิ่ง หรือออกำลังกายหนักๆ 2-3 วันหลังจากได้รับวัคซีน ส่วนอาการหลังการฉีดวัคซีนในเด็กจะพบได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ อาจมีอาการเจ็บ ปวดบวมบริเวณที่ฉีด มีไข้อ่อนๆ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งเป็นอาการทั่วไปเช่นเดียวกับผู้ใหญ่หลังจากที่ได้รับวัคซีน วิธีการดูแลตนเองก็จะเหมือนกัน คือรับประทานยาแก้ปวด ลดไข้ ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะหายเองภายในไม่กี่วัน แต่ถ้าผ่านไป 2-3 วันแล้วอาการยังทวีความรุนแรงขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์

คำถาม: ฉันยังไม่อยากให้ลูกฉีดวัคซีน เนื่องจากกลัวว่าผลข้างเคียงอาจทำให้เขาพิการหรือเสียชีวิตได้จริงหรือไม่?

คำตอบ: โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย และมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ สหรัฐฯ ระบุตรงกันว่า ผลการศึกษาการฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ในเด็ก พบผลข้างเคียงที่พบหลังจากฉีดวัคซีนจะคล้ายกับผู้ใหญ่ เช่นมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย แต่อาการเหล่านี้จะหายเองภายในไม่กี่วัน ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบพบได้ในอัตราที่ต่ำมาก อ้างอิงตัวเลขจากรายงานของอนุกรรมการขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งมีคณะที่ปรึกษาระดับโลกในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน (COVID-19 subcommittee of the WHO Global Advisory Committee on Vaccine Safety -GACVS: updated guidance regarding myocarditis and pericarditis reported with COVID-19 mRNA vaccines พบรายงานในสหรัฐอเมริกา (US Vaccine Adverse Events Reporting System -VAERS)  ว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสในหนึ่งล้านราย ช่วงอายุ 12-29 ปีนั้นมีผู้ชายประมาณ 40.6 รายและผู้หญิง 4.2 รายที่พบอาการดังกล่าว (รายงานถึงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2564)  ด้านรพ.จุฬาฯ ยืนยันว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนในเด็กมีมากกว่าผลข้างเคียง อย่างไรก็ตามผู้ปกครองที่ยังรู้สึกไม่สบายใจ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถปรึกษากับแพทย์ประจำตัวของบุตรหลานของท่านได้

คำถาม: ทำไมวัคซีน COVID-19 สำหรับเด็กจึงใช้เวลานานกว่าจะได้รับการอนุมัติ?

คำตอบ: สำนักงานควบคุมโรค (CDC) ของสหรัฐฯ ระบุว่า การเก็บข้อมูลและผลการศึกษาการฉีดวัคซีนในเด็กแตกต่างจากการเก็บข้อมูลในผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในการทดสอบ ตัวแปรต่างๆ ที่ใช้ในการทดสอบซึ่งมีความละเอียดอ่อนมากกว่า ดังนั้นผลการศึกษาการฉีดวัคซีนในเด็กจึงออกมาช้ากว่ากำหนด อย่างไรก็ตาม FDA มีข้อมูลเพียงพอที่อนุญาตให้ฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปสำหรับการใช้งานฉุกเฉิน และ 16 ปีขึ้นไปสำหรับการใช้งานทั่วไป และในเร็วๆ นี้ FDA กำลังจะอนุมัติวัคซีนตัวอื่นๆ เช่น Moderna เพิ่มเติมด้วย 

คำถาม: พาเด็กไปฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ที่ไหนบ้าง?

คำตอบ: กระทรวงสาธารณสุขวางแผนฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไปที่สถานศึกษาที่นักเรียนกำลังศึกษาอยู่ ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ผู้ปกครองสามารถติดตามรายละเอียดได้จากประกาศของสถานศึกษาของนักเรียน สำหรับผู้ปกครอง หรือสถานศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการฉีดวัคซีน Sinopharm “VACC 2 School” ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://vaccine.cra.ac.th/

คำถาม: นอกจาก Pfizer-BioNTech แล้ว ยังมีวัคซีนชนิดไหนอีกบ้างที่เด็กสามารถฉีดได้?

คำตอบ: ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติให้ใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เป็นวัคซีนตัวเดียวที่ผ่านการอนุมัติเพื่อการใช้ฉุกเฉิน โดยจะฉีดให้ฟรีกับเด็กทั่วประเทศ และเมื่อไม่นานมานี้ อย. ยังอนุมัติวัคซีนทางเลือก Moderna สำหรับฉีดในเด็กเพิ่มเติม ขณะที่บางประเทศ เช่นจีน และยูเออีอนุมัติให้ใช้วัคซีน Sinopharm ในเด็กแล้ว และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมนำวัคซีนชนิดนี้มาฉีดให้กับเด็กเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครอง แต่วัคซีนชนิดนี้จะไม่ใช่วัคซีนหลักที่จะใช้กับเด็กทั่วประเทศจนกว่าจะได้รับการอนุมัติจาก อย. อย่างเป็นทางการ

คำถาม: เมื่อไรเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีจะได้ฉีดวัคซีน COVID-19?

คำตอบ: บริษัทผู้ผลิตยาหลายแห่งทั่วโลกต่างเร่งศึกษาผลการฉีดวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี โดยบริษัทที่ทำการศึกษาในระยะที่สาม และกำลังเตรียมยื่นผลการศึกษาให้กับหน่วยงานด้านอาหารและยาแล้วคือ Pfizer-BioNTech โดยบริษัทบอกว่าผลการศึกษากับเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปีเป็นที่น่าพอใจ และคาดว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) จะออกใบอนุญาตให้ใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech ในเด็กช่วงอายุดังกล่าวได้ภายในปลายเดือนตุลาคมนี้ 

ขณะที่จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นสองชาติในโลกที่อนุมัติให้มีการใช้วัคซีน Sinopharm กับเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป โดยอ้างอิงผลการศึกษาในเด็กทั้งสองประเทศ แต่ขณะนี้ อย.ไทยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาต ซึ่งวัคซีนที่ อย.ไทยอนุญาตให้ฉีดในเด็ก ณ ขณะนี้มี Pfizer-BioNTech และ Moderna อย่างไรก็ตาม อย. อนุญาตให้หน่วยงานที่ได้รับอนุญาต เช่น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สามารถฉีดวัคซีน Sinopharm ให้เด็กได้ โดยต้องอยู่ในความควบคุมของบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด

คำถาม: หากเด็กได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว สามารถถอดแมสก์ หรือทำกิจกรรมในโรงเรียนได้ตามปกติเหมือนก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้หรือไม่?

คำตอบ: ผู้อำนวยการ CDC สหรัฐฯ ระบุว่า COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ในปริมาณเชื้อที่สูงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ถึงแม้เราจะได้รับวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ วัคซีนสามารถช่วยยับยั้งอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดี แต่ก็ไม่สามารถลดจำนวนเชื้อที่อยู่บริเวณโพรงจมูกได้ ดังนั้นการสวมหน้ากากครอบบริเวณปากและจมูก รวมทั้งการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดจำนวนเชื้อที่สูดเข้าไปในร่างกาย และช่วยให้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนแล้วได้รับเชื้อในปริมาณที่น้อยเกินกว่าจะทำให้ร่างกายป่วยจาก COVID-19 ได้ ดังนั้นการสวมหน้ากาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีคนอยู่จำนวนมากเช่นโรงเรียนจึงยังจำเป็นอยู่ในช่วงนี้

หมายเหตุ
มติ อย. ไม่อนุญาตให้ฉีดวัคซีน Sinopharm ในเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ชี้ข้อมูลความปลอดภัย-ประสิทธิภาพไม่เพียงพอ

วันที่ 20 กันยายน 2564 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่ บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีน Sinopharm ในประเทศไทย ได้ยื่นเอกสารกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขออนุญาตขยายกลุ่มอายุผู้ใช้วัคซีน จากเดิมกำหนดไว้ที่ 18 ปีขึ้นไป เป็นตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ อย. และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานได้ร่วมกันพิจารณาด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีมติยังไม่สามารถอนุญาตขยายการฉีดวัคซีน Sinopharm ในเด็กตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เนื่องจากข้อมูลความปลอดภัยในการใช้วัคซีนยังไม่เพียงพอ และขาดข้อมูลด้านประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันโรคในกลุ่มอายุ 3-17 ปี

ทั้งนี้ อย. ได้แจ้งให้ทาง บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด รับทราบ และขอให้นำส่งข้อมูลเพิ่มเติมแก่ อย. โดยด่วน โดยเฉพาะข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลที่ได้จากประสบการณ์การใช้วัคซีนแบบฉุกเฉินในเด็กจากประเทศต่างๆ ที่อนุญาต เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาโดยเร็วต่อไป

แหล่งข่าว https://thestandard.co/

ที่มา:

https://www.who.int/news/item/09-07-2021-gacvs-guidance-myocarditis-pericarditis-covid-19-mrna-vaccines

https://www.cnbc.com/2021/09/14/pfizers-covid-vaccine-data-for-kids-under-age-5-may-come-in-late-october-ceo-says-.html

https://www.fda.gov/news-events/press-announcements/fda-will-follow-science-covid-19-vaccines-young-children

https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/recommendations/adolescents.html

https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/coronavirus/covid19-vaccine-what-parents-need-to-know

https://www.reuters.com/world/middle-east/uae-rolls-out-sinopharm-covid-19-vaccine-children-aged-3-17-2021-08-02/

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/154926

https://www.thairath.co.th/news/local/2195938

https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2193591

https://www.thairath.co.th/news/society/2195538

เกี่ยวกับผู้เขียน 

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand 

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT)  https://www.damikemedia.com/

FacebookTwitterLINEEmail

FACTkathon: Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic นัดแถลง 22 ก.ย. เชิญ นศ.จัดทีมร่วมกิจกรรม

Editors’ Picks

FACTkathon: Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มูลนิธิสภาการหนังสือพิมพ์
สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย Thailand Institute of Justice (TIJ)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth
มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย Fnf Thailand
สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ChangeFusion
Centre for Humanitarian Dialogue (HD)
และ ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) Cofact โคแฟค
ขอเชิญผู้สื่อข่าว นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานแถลงข่าว โครงการแข่งขันระดมสมอง “การหักล้างมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” “FACTkathon : Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic”
ในวันพุธที่ 22 กันยายน 2564 ผ่านทางระบบออนไลน์ (ZOOM Meeting) เวลา 10.00-12.00 น. จากนั้นในช่วงบ่ายขอเชิญรับฟังการเสวนานักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 18
ในหัวข้อ “การหักล้างข้อมูลเท็จในยุคโควิด บทเรียนจากเอเชีย Debunking Dis-infodemic in Asia”
โครงการ “FACTkathon” เป็นการส่งเสริมให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ จัดระดมสมองค้นคว้าเชิงลึก เพื่อนำไปสู่ต้นแบบการพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับคุณภาพของสื่อสารมวลชน และพลเมืองดิจิทัล ในการรับมือสถานการณ์โรคระบาดของข่าวลวง ข่าวปลอม ที่ทำให้สังคมตกอยู่ในภาวะสับสนอลหม่านเช่นในปัจจุบัน
สำหรับทีมนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ที่สนใจ ลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวและเสวนาได้ที่นี่
https://docs.google.com/…/1FAIpQLScb422QC4jr8…/viewform
ติดตามการถ่ายทอดสดได้ที่เพจ สภาการสื่อมวลชน แห่งชาติ @Cofact โคแฟค @FnF Thailand.

รายงานพิเศษโคแฟค ตรวจสอบความจริงร่วมเรื่องวัคซีน ฉบับที่ 1

บทความ

รายงานพิเศษโคแฟค ตรวจสอบความจริงร่วมเรื่องวัคซีน ฉบับที่

CO-FACT Special Report #1 by Mike Raomanachai

CoronaVac vaccine by Sinovac is one of the major COVID-19 vaccines in Thailand. Recently there has been many news and information about the lack of effectiveness against COVID-19, especially the Delta variant. To help Thai people understand this vaccine better, we put together 10 most common myths about CoronaVac and debunk them with facts from creditable sources, including World Health Organization, medical journals, and research from well-known institutions both in the country and abroad. These myths include the effectiveness of the vaccine against Delta variant, mixing the vaccine with viral vector vaccine (e.g., AstraZeneca), health concerns among pregnant women, and misinformation about the vaccine in the news.

ถามตอบ 10 ข้อสงสัยว่าด้วยวัคซีน Sinovac

ปัจจุบันจีนมีวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในประเทศ และส่งออกให้กับต่างประเทศหลักๆ 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน Coronavac ผลิตโดยบริษัท Sinovac และ Sinopharm วัคซีนทั้งสองชนิดผลิตด้วยเทคโนโลยีเซลล์เชื้อตาย ปัจจุบันเราจะเห็นว่าตามสื่อสังคมออนไลน์ และเว็บไซต์ต่างๆ มีผลการศึกษาหลายชิ้น และการนำเสนอข่าวสารที่ระบุถึงประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองชนิดนี้ในหลากหลายทิศทาง วันนี้เรารวบรวมคำถามคำตอบที่มักพบบ่อยเกี่ยวกับวัคซีนเชื้อตาย และข้อมูลความเป็นจริง เน้นที่ Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่ใช้ในไทย โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก

Myth: Sinovac มีประสิทธิภาพต่ำที่สุดในบรรดาวัคซีนโควิดทั้งหมด

Fact: ตัวเลขประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ของวัคซีน Sinovac ที่เราเห็นทั่วไปตามสื่อต่างๆ ที่ 50-51% มาจากผลการศึกษาระยะที่ 3 ในบราซิลที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างไรก็ตามมีผลการศึกษาในหลายประเทศที่ใช้วัคซีนตัวนี้ได้ตัวเลขสูงกว่าผลการศึกษาในบราซิล ดังนั้นเราจึงไม่สามารถฟันธงได้ว่า Sinovac มีประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากตัวแปร และสภาพแวดล้อม บวกกับช่วงเวลาที่ใช้ทดสอบวัคซีน Sinovac ของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน

Myth: Sinovac ไม่ได้รับความไว้วางใจในหลายประเทศ

Fact: ผลการศึกษาที่ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า วัคซีน Coronavac ที่พัฒนาขึ้นโดย Sinovac มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ในการแพทย์ฉุกเฉินได้ในเวลานี้ อย่างไรก็ตามในบางประเทศอาจมีการเลือกหรือไม่เลือกใช้วัคซีนชนิดนี้ก็ได้ ในบางประเทศที่ไม่ได้เลือกใช้วัคซีน Coronavac เป็นวัคซีนหลัก เช่น สิงคโปร์ แต่ก็อนุญาตให้ประชาชนเลือกฉีดวัคซีน Coronavac เป็นทางเลือกได้หากมีความจำเป็น 

Myth: Sinovac ไม่ป้องกันการติดเชื้อ COVID-19

Fact: จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ วัตถุประสงค์หลักของวัคซีนคือการป้องอาการป่วยจากเชื้อ COVID-19 ซึ่งวัคซีนแต่ละชนิดให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยแตกต่างกัน แต่ทุกชนิดสามารถป้องการกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ในระดับที่น่าพึงพอใจตามการประเมินขององค์การอนามัยโลก ซึ่งรวมถึง Sinovac ด้วยเช่นกัน 

Myth: วัคซีน Sinovac ไม่ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า

Fact: รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ปัจจุบันหน่วยงานของจีนยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าอย่างเป็นทางการ แต่ผลการศึกษาล่าสุดของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พบว่า วัคซีน Sinovac สร้างภูมิ (Antibody) ได้น้อยกว่าวัคซีนประเภทไวรัลเวกเตอร์ เช่น AstraZeneca และวัคซีนประเภท mRNA เช่น Pfizer-BioNTech 

Myth: ผู้สูงอายุไม่เหมาะที่จะฉีด Sinovac

Fact: ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้วัคซีน Sinovac ในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุสามารถฉีดวัคซีน Sinovac ได้

Myth: สตรีมีครรภ์ไม่ควรฉีด Sinovac

Fact: รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาเพียงพอถึงผลกระทบต่อสตรีมีครรภ์หลังจากฉีดวัคซีน Sinovac แต่ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เชื้อตายที่ใช้พัฒนาวัคซีนชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกันกับวัคซีนที่เราใช้มาก่อน อาทิ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบบี ซึ่งสตรีมีครรภ์สามารถฉีดได้ แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้สตรีมีครรภ์ปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน 

Myth: วัคซีนเชื้อตายเช่น Sinovac ให้ภูมิคุ้มกันได้ไม่เพียงไม่กี่เดือน

Fact: ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ MedRXiv ระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 โดยไปแล้ว 6 เดือนจะเริ่มมีภูมิคุ้มกันเชื้อ COVID-19 ต่ำลง แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับหนึ่ง ดังนั้นการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนเข็มที่ 3 จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น

Myth: การฉีดวัคซีนแบบไขว้ เช่น Sinovac ต่อด้วย AstraZeneca เป็นอันตรายมากกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน 2 เข็ม

Fact: ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกเฟิร์ด (University of Oxford) เผยผลการศึกษาว่า การฉีดวัคซีนไขว้ ระหว่าง Pfizer-BioNTech และ AstraZeneca ให้ภูมิต้านทานเชื้อ COVID-19 สูงกว่าการฉีด AstraZeneca อย่างเดียว 2 เข็ม และมีความปลอดภัย ขณะที่ไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ฉีดวัคซีนไขว้ ระหว่าง Sinovac หนึ่งเข็ม ต่อด้วย AstraZeneca อีกหนึ่งเข็ม ผลการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า สูตรการฉีดไขว้นี้ให้ภูมิคุ้มกันการติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าการฉีด Sinovac สองเข็ม และมีความปลอดภัย สามารถฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปได้

Myth: การฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 (ต่อจากการฉีด Sinovac เข็มที่ 1+2) ให้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับวัคซีนประเภท mRNA เช่น Pfizer-BioNTech

Fact: ปัจจุบันผลการศึกษาการฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่สามยังไม่มีความชัดเจน จากรายงานของสำนักข่าว South China Morning Post ระบุว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของจีน เช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของจีน ระบุว่าการฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 ช่วยป้องกัน COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าได้ดี แต่ผลการศึกษาดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ที่รับการฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 มีภูมิต้านทานมากกว่า หรือเทียบเท่ากับวัคซีนชนิดอื่น ที่สำคัญผลการศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์โดยนักวิจัยจากฝั่งของจีนเท่านั้น และยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก หรือ Peer Review ดังนั้นเราจึงยังไม่สรุปได้ว่าการฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 ให้ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับวัคซีนชนิดอื่นได้หรือไม่

Myth: บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ประชาชนนิยมฉีดวัคซีน Sinovac มากกว่าเนื่องจากมีความปลอดภัยมากกว่าวัคซีน mRNA 

Fact: รายงานของสำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์ระบุว่า ประชาชนชาวสิงคโปร์จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนต้องการฉีดวัคซีนที่ผลิตจากจีน เช่น Sinovac เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าวัคซีนที่ผลิตจากจีนมีความปลอดภัยกว่า และการฉีดวัคซีนที่จีนรับรองจะช่วยให้พวกเขาเดินทางในจีนสะดวก อย่างไรก็ตามรัฐบาลสิงคโปร์ยังคงยืนยันว่า Sinovac ไม่ใช่วัคซีนหลักที่ใช้ในประเทศ (วัคซีนหลักของสิงคโปร์คือ Pfizer-BioNTech และ Moderna) ประชาชนที่ต้องการฉีด Sinovac จะต้องเข้ารับการฉีดที่คลินิกเอกชน 

รัฐบาลสิงคโปร์ยืนยันว่าวัคซีนหลักที่ใช้อยู่มีผู้ทำการศึกษาวิจัยยืนยันว่าให้การป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ดีอยู่แล้ว ประชาชนคนไหนที่อยากฉีดวัคซีนตัวอื่น เช่น Sinovac ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล รัฐบาลจะไม่ก้าวก่ายการติดสินใจ ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นด้านสุขภาพ เช่นมีอาการแพ้วัคซีน Pfizer-BioNTech หรือ Moderna ให้แพทย์เป็นผู้ออกดุลยพินิจในการให้ฉีดวัคซีน Sinovac ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ขณะที่มาเลเซีย และบางประเทศในภูมิภาคเอเชียประกาศหยุดการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac โดยให้เหตุผลว่าวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีนประเภทอื่นๆ ในท้องตลาด โดยเฉพาะวัคซีนประเภทไวรัลเวคเตอร์ เช่น AstraZeneca และวัคซีนประเภท mRNA แต่เนื่องจากกำลังการผลิตของ Sinovac ที่มากกว่า และการกระจายวัคซีนที่ดีกว่าโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้องค์การอนามัยโลกยังคงแนะนำให้ใช้วัคซีนตัวนี้ รวมถึงรัฐบาลในบางประเทศยังคงเลือกใช้ Sinovac ไปพลางก่อน จนกว่าพวกเขาจะได้รับวัคซีนประเภทอื่น หรือจนกว่า Sinovac จะพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่ารุ่นปัจจุบัน

ที่มา: https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-sinovac-covid-19-vaccine-what-you-need-to-know?gclid=Cj0KCQjw-NaJBhDsARIsAAja6dOKykMlP4lXFQw2oxMqmnD45QMIkL1UqqjscuH72LJ4NWLSQA3LELMaArRPEALw_wcB

https://www.reuters.com/world/china/are-chinese-covid-19-shots-effective-against-delta-variant-2021-06-29/

https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/antibodies-sinovacs-covid-19-shot-fade-after-about-6-months-booster-helps-study-2021-07-26/

https://www.scmp.com/news/china/science/article/3147852/delta-vaccine-chinese-researchers-find-sinovac-booster-aids

https://www.globaltimes.cn/page/202107/1229716.shtml

https://www.pharmaceutical-technology.com/features/covid-19-vaccine-mixing-astrazeneca-pfizer/

https://www.si.mahidol.ac.th/th/hotnewsdetail.asp?hn_id=2691

https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2021.07.23.21261026v1

https://www.todayonline.com/singapore/moh-helping-private-institutions-facilitate-ordering-more-sinovac-covid-19-vaccine-doses

https://www.channelnewsasia.com/singapore/sinovac-vaccine-covid-19-recipients-national-count-evidence-data-1987511

https://thediplomat.com/2021/07/malaysia-to-phase-out-chinas-sinovac-vaccine/

https://cofact.org/article/1dkf1qsrehrti

เกี่ยวกับผู้เขียน 

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand 

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT)

Parody vs. Peer review

Editors’ Picks

รู้ศัพท์ ฉบับ Cofact วันนี้ กับ 2 คำใหม่

Parody
การล้อเลียน การเลียนแบบสไตล์ของนักเขียน นักร้องหรือศิลปินโดยมีเจตนาให้เกินจริง เพื่อให้ตลกขบขัน

Peer review
การตรวจทานโดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นกระบวนการในการนำผลงานทางวิชาการ (เช่น ข้อเขียนหรือหัวข้องานวิจัย) ไปตรวจสอบโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสาขาเดียวกัน เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามมาตรฐาน ก่อนที่จะนำไปเผยแพร่หรือให้การยอมรับ

Cofact มีเพจเยาวรุ่นแล้ว!!!

Editors’ Picks

Cofact มีเพจเยาวรุ่นแล้ว!!!

ติดตามเครือข่ายวัยรุ่นโคแฟค เช็ก ชัวร์ แชร์ ได้ที่นี่ กดไลก์เลย

https://www.facebook.com/Cofact-Youth-Network-100765405554755