โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมฉลองวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ด้วยบทความแปลจาก Reuters Institute ว่าด้วยอนาคตสื่อในยุคเอไอ

ChatGPT คือโอกาสหรืออุปสรรคของสื่อมวลชน? มุมมองจาก 5 ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์  

นับตั้งแต่มีการเปิดตัวแชทบอท ChatGPT ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สื่อมวลชนต่างถกเถียงกันว่าเทคโนโลยีนี้จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมข่าวอย่างไร คำถามหลัก ๆ คือความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (generative AI) จะมาแทนที่สื่อมวลชนจำนวนเท่าไหร่และรวดเร็วเพียงใด สื่อมวลชนสาขาไหนที่จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตของเทคโนโลยีนี้ และเราควรมองว่า ChatGPT นั้นเป็นอุปสรรคหรือโอกาสในการแก้ปัญหาที่อุตสาหกรรมข่าวกำลังเผชิญ? ฟรานเชสโก มาร์โคนี มัดฮูมิตา เมอร์เจีย ชาร์ลี เบคเกตต์และสองผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพร่วมให้ความเห็นต่อผลกระทบของการใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (generative AI) ในอุตสาหกรรมสื่อ 

รายงานชิ้นนี้ต้องการเปิดประเด็นถกเถียงที่กำลังร้อนแรงในหัวข้อนี้ด้วยการนำความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้เห็นภาพว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างและโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language models) จะส่งผลต่องานสื่อสารมวลชนในระยะสั้นและระยะกลางอย่างไร 

ผู้เชี่ยวชาญคนแรกคือฟรานเชสโก มาร์โคนี (Francesco Marconi) นักข่าวสายข้อมูลและผู้ร่วมก่อตั้งของบริษัท AppliedXL ที่มีประสบการณ์การทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ The Wall Street Journal และหัวหน้าฝ่ายผลิตข่าวและปัญญาประดิษฐ์ของ  The Associated Press มาร์โคนีได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ AI และสื่อสารมวลชนชื่อ “Newsmakers: Artificial Intelligence and the Future of Journalism” และได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 2563 ผู้เชียวชาญคนถัดมาคือมัดฮูมิตา เมอร์เจีย (Madhumita Murgia) บรรณาธิการข่าวจากปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ของหนังสือพิมพ์ The Financial Times และศาสตราจารย์ชาร์ลี เบคเกตต์(Charlie Beckett) หัวหน้าโครงการ JournalismAI ซึ่งเป็นโครงการวิจัยของสถาบันวิจัยด้านการสื่อสารมวลชนประจำมหาวิทยาลัย London School of Economics (LSE) ซึ่งมีงานวิจัยและตีพิมพ์รายงานในหัวข้อ AI และการสื่อสารมวลชน และทุนสำหรับสื่อมวลชนและนักเทคนิคด้านเทคโนโลยี รวมถึงโครงการอบรมสำหรับสำนักข่าวขนาดเล็กไปจนถึงการเผยแพร่ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในงานด้านสื่อสารมวลชนให้กับผู้สนใจ

นอกจากนี้ รายงานชิ้นนี้ได้รวมความเห็นจากเจนนี โรมาโน (Jenny Romano) และเปโดร เอนริเกซ(Pedro Henriques) สองผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน The Newsroom โมเดลใหม่ในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ด้านการสื่อสารมวลชน โดยแอปพลิเคชันนี้ใช้เทคโนโลยี AI ในการนำเสนอสรุปข่าวสำคัญรายวันที่เน้นนำเสนอข้อเท็จจริงหลักจากเนื้อหาข่าว บริบทของข่าวและจุดยืนของการนำเสนอข่าวนั้น

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่ใช่เรื่องใหม่

การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการทำงานด้านสื่อสารมวลชนและผลิตข่าวเป็นสิ่งที่หลายสำนักข่าวดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง ฟรานเชสโก มาร์โคนีจัดกลุ่มของนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ในงานสื่อสารมวลชนช่วงศตวรรษที่ผ่านมาออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีให้ช่วยทำงาน (Automation) การใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายการวิเคราะห์ (Augmentation) และการใช้เทคโนโลยีเพื่อผลิตเนื้อหา (Generation)

ในระยะแรก การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้ความสำคัญกับการผลิตเนื้อหาข่าวด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล เช่น รายงานด้านการเงิน ผลการแข่งขันกีฬา และตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจด้วยเทคนิคการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (natural language generation) ฟรานเชสโกกล่าวว่าตอนนี้สำนักข่าวระดับโลกหลายแห่งได้ใช้เทคโนโลยีนี้ในการทำงานแล้ว เช่น รอยเตอร์ (Reuters ) เอเอฟพี (AFP) และเอพี (AP) รวมถึงสำนักข่าวเล็ก ๆ อีกหลายแห่งด้วย

ฟรานเชสโก มาร์โคนีระบุว่าระยะที่สองของการใช้เทคโนโลยีเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการขยายการใช้งานด้วยเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องคอมพิวเตอร์ (machine learning) และเทคนิคการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (natural language processing) ที่สามารถวิเคราะห์ชุดข้อมูลที่มีขนาดมหาศาลและระบุเทรนด์ต่าง ๆ ได้ ตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีระยะที่สองนี้สามารถดูได้จากหนังสือพิมพ์ La Nación หนังสือพิมพ์รายวันของอาร์เจนตินาที่ริเริ่มนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาสนับสนุนการทำงานของทีมข้อมูลในปี 2562 และก่อตั้งห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ (AI lab) ที่ทำงานร่วมกับนักวิเคราะห์ข้อมูลและนักพัฒนาซอร์ฟแวร์

สำหรับคลื่นลูกที่สามที่พัฒนาและใช้ในปัจจุบันคือปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง ซึ่งฟรานเชสโกอธิบายว่าเป็นการประมวลผลด้วยโมเดลข้อมูลภาษาขนาดใหญ่ที่สามารถผลิตข้อความจำนวนมากได้ ซึ่งช่วยให้การทำงานด้านการสื่อสารมวลชนไปไกลกว่าการรายงานหรือวิเคราะห์ข้อมูลอัตโนมัติ ตอนนี้ เราสามารถสั่งให้แชทบอทเขียนบทความขนาดที่ยาวขึ้นด้วยจุดยืนที่เป็นกลางในเรื่องต่าง ๆ หรือเขียนความเห็นจากจุดยืนหนึ่ง อีกทั้งเรายังสามารถสั่งให้เขียนในสไตล์ของนักเขียนชื่อดังคนใดคนหนึ่งหรือสำนักพิมพ์ใดสักที่หนึ่งก็ได้ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะใช้เทคโนโลยีนี้คือการใช้แชทบอทในการเขียนและตรวจสอบแก้ไขข่าว ซึ่งสื่อมวลชนได้ทดลองใช้กันอย่างแพร่หลายมากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 

มัดฮูมิตา เมอร์เจียอธิยายว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แชตบอท ChatGPT และเครื่องมืออื่น ๆ สามารถสร้างความตื่นเต้นเร้าใจเป็นเพราะเทคโนโลยีนี้มีความเป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากและสามารถสื่อสารในภาษาที่เป็นธรรมชาติ เธอกล่าวว่ามันให้ความรู้สึกเหมือนมีสมองกลอัจฉริยะอยู่จริง  ๆ แม้ว่าอันที่จริงมันก็แค่เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการพยากรณ์สิ่งที่เราต้องการ

โมเดลการประมวลผลภาษาที่เครื่องมือเหล่านี้ใช้นั้นมาจากการป้อนคำสั่งของเราตอนผลิตเนื้อหาใหม่ ไม่ได้มาจากการคิดขึ้นมาเองของปัญญาประดิษฐ์ โมเดลการทำงานเกิดจากการป้อนเนื้อหาและข้อมูลที่ทำให้สามารถผลิตผลลัพธ์ออกมาจากสิ่งที่ถูกป้อนเข้าไป นั่นหมายความว่าเทคโนโลยีนั้นมีประโยชน์ในการสังเคราะห์ข้อมูล แก้ไขข้อมูลและรายงานข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว เธอเชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างที่เราเห็นในปัจจุบันยังขาดทักษะสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถมีบทบาทมากกว่านี้ในงานสื่อสารมวลชน มัดฮูมิตา เมอร์เจียอธิบายว่าจากจุดที่เรายืนอยู่ในวันนี้ การทำงานของ AI ไม่ได้เป็นเนื้อหาที่ผลิตขึ้นเองและไม่ได้เสนออะไรใหม่ การทำงานของเอไอมาจากการประมวลผลของข้อมูลที่มีอยู่แล้วและ AIไม่ได้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์หรือแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้ ดังนั้น ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านการผลิตเนื้อหาข่าวเชิงวิเคราะห์หรือแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในหัวข้อนั้น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้อ่านต้องการเมื่อรับข่าวจากสำนักข่าว เช่น เดอะไฟแนนเชียล ไทม์ แม้แต่ ChatGPT ก็ยังเห็นด้วยในประเด็นนี้

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างนั้นไม่สามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพหรือก้าวหน้าไปมากกว่านี้ เพราะยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีกันต่อ แต่เธอต้องการสะท้อนถึงข้อดีของเสียงและความเห็นที่มาจากมนุษย์ซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ และเธอเชื่อว่าโมเดลการวิเคราะห์ภาษาในปัจจุบันนั้นยังไม่สร้างสรรค์หรือยังไม่ใช่ต้นฉบับที่ผลิตเนื้อหาอะไรใหม่ ๆ ได้ เพียงแต่สามารถลอกเลียนแบบมนุษย์ได้ดีมาก ๆ เท่านั้นเอง

ข้อท้าทายอีกประการของปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างในงานสื่อสารมวลชนคือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการประมวลผลของ ChatGPT ที่พบบ่อย แม้แต่ในตัวอย่างเครื่องมือที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ของกูเกิลหรือไมโครซอฟท์ อีกทั้ง ChatGPT ยังระบุแหล่งอ้างอิงของข้อมูลที่ไม่มีจริงด้วย มาร์โคนีกล่าวว่าโมเดลการทำงานของเอไอเหล่านี้ยังพบปัญญาในการผลิตข้อมูลที่แม่นยำและข้อเท็จจริงที่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือการรายงานข้อมูลที่เกิดขึ้นทันที (real-time data) ซึ่งหมายความว่าเครื่องมือเอไอที่มีตอนนี้ยังไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในการรายงานข่าวด่วน (breaking news) ที่มีความซับซ้อนและต้องใช้ปฏิบัติการด้านงานข่าวที่เข้มข้น และต้องตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงด้วยการอ้างอิงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง

นอกจากนี้ โมเดลปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างยังมีปัญหาในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงตัวเลข ผลงานของปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างที่วิเคราะห์คำนวนตัวเลขที่ถูกต้องยังไม่มีความแม่นยำมากนัก การบกพร่องในการตรวจสอบการผลิตอัลกอริทึ่มมีความเสี่ยงสูงเพราะการทำงานของมันเกี่ยวข้องกับการระบบการทำงานของข้อมูลทั้งระบบ ทั้งนี้ ความเห็นนี้ไม่ได้หมายความว่าปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างจะไม่มีบทบาทในงานสื่อสารมวลชนเพียงแต่ว่าเราไม่สามารถพึ่งพาการทำงานของเอไอเพียงอย่างเดียวได้

 ศาสตราจารย์ชาร์ลี เบคเกตต์ หัวหน้าโครงการวิจัย Polis/LSE Journalism AI แนะนำให้ใช้เทคโนโลยีนี้ด้วยความระมัดระวังและไม่สนับสนุนให้สื่อมวลชนใช้เครื่องมือใหม่เหล่านี้โดยไม่มีการกำกับควบคุมโดยมนุษย์ ศาสตราจารย์ชาร์ลีกล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่ใช่การผลิตเนื้อหาข่าวอัตโนมัติตั้งแต่ต้นจนจบแต่มันคือการช่วยให้สื่อมวลชนมีเครื่องมือในการทำงานที่เร็วขึ้นและให้สื่อมีเวลาในการทำงานที่มนุษย์ทำได้ดีที่สุด งานสื่อสารมวลชนด้วยมนุษย์ยังเต็มไปด้วยข้อบกพร่องมากมากและเราก็ลดความเสี่ยงนี้ด้วยระบบบรรณาธิการ เรื่องนี้ก็ต้องใช้กับเทคโนโลยีเอไอด้วย สื่อมวลชนต้องมั่นใจว่าตนเองเข้าใจเครื่องมือนั้น ๆ รวมถึงความเสี่ยงของเครื่องมือและอย่าคาดหวังกับเทคโนโลยีจนมากเกินไป

มาร์โคนีอธิบายเพิ่มเติมว่าสื่อมวลชนควรทำงานร่วมกับเทคโนโลยีโดยยอมรับและเผชิญหน้ากับจุดอ่อนของมันด้วย เขากล่าวว่านวัตกรรมในงานสื่อสารมวลชนควรเน้นเรื่องข้อจำกัดของโมเดลภาษาขนาดใหญ่แบบ GPT โดยเน้นการพัฒนาระบบเตือนข้อผิดพลาดต่าง ๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ในการตรวจตราข้อมูลทันทีแบบ real-time การรวมระบบเตือนเหล่านี้กับโมเดลภาษาขนาดใหญ่จะช่วยเปิดทางให้เราสามารถพัฒนารูปแบบใหม่ในการทำงานสื่อสารมวลชนได้

มาร์โคนียกตัวอย่างระบบเตือนปัญหาที่พบในบริษัท AppliedXL ที่ตนเองเป็นเจ้าของว่าเป็นบริษัทที่ใช้ระบบเตือนภัยทำงานร่วมกับคนที่มีใจรักงานสื่อสารมวลชนเพื่อการผลิตข่าว ซึ่งทีมงานของเขามีเป้าหมายในพัฒนาการผลิตข่าวที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในคน เช่น แจ้งเตือนล่วงหน้าเมื่อพบสัญญาณผิดปกติในชุดข้อมูลก่อนที่บริษัทต่าง ๆ จะเผยแพร่สู่สาธารณชนพร้อมก่อให้เกิดปัญหา

การใช้งานปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง

สำนักข่าวหลายแห่งได้ประกาศแผนงานที่จะนำปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างมาใช้หรือบางแห่งก็ได้เริ่มดำเนินการแล้ว BuzzFeed ประกาศว่าจะนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ในแบบทดสอบบุคลิกภาพที่โด่งดัง และนิวยอร์คไทม์ได้ทดลองใช้ ChatGPT ให้ผลิตข้อความสำหรับวันวาเลนไทน์ด้วยคำสั่งต่าง ๆ ที่ออกแบบไว้

สำนักข่าวหลายแห่งยังอยู่ระหว่างการค้นหาแนวคิดใหม่ ๆ ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานข่าว รวมถึง Axel Springer สำนักข่าวยักษ์ใหญ่ของเยอรมันที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่บทความชิ้นแรกที่เขียนขึ้นโดย AI ในเว็บไซต์สำนักข่าวท้องถิ่นแห่งหนึ่ง หนังสือพิมพ์ Il Foglio ของอิตาลีก็ได้ประกาศชวนผู้อ่านเล่นเกมทายว่าบทความสั้นชิ้นไหนที่ผลิตขึ้นโดย AI ในสรุปข่าวรายวันของหนังสือพิมพ์เป็นระยะเวลา 30 วันเริ่มต้นจากอาทิตย์ที่สองของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำหรับผู้อ่านที่ทายได้ถูกต้องต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์จะได้เป็นสมาชิกฟรีพร้อมแชมเปญหนึ่งขวด

สำหรับเปโดร เอนริเกซและเจนนี โรมาโน การนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ในงานสื่อสารมวลชนเป็นหัวใจของธุรกิจ The Newsroom ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 พวกเขาได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้ AI ผลิตสรุปข่าวสำคัญประจำวัน ซึ่งข่าวเหล่านี้ไม่ได้เป็นข่าวด่วน แต่เป็นข่าวที่รายงานโดยสำนักข่าวหลาย ๆ แห่งแล้ว ประเด็นสำคัญในการทำงานของแอปพลิเคชันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการรายงานข้อมูลใหม่ให้แก่ผู้อ่านแต่ต้องการฉายให้เห็นภาพของข้อเท็จจริงที่สำนักข่าวหลาย ๆ แห่งมีความเห็นตรงกันและชี้ให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างด้วย

เอนริเกซอธิบายว่าขั้นตอนแรกของการทำงานคือการรวบรวมข้อมูลจากสำนักข่าวหลายแห่งเพื่อทำความเข้าใจว่ามีข่าวใดที่ได้รับความสนใจและใครรายงานข่าวเรื่องนี้บ้าง 

เมื่อรวบรวมบทความข่าวที่รายงานเรื่องเดียวกันและอยู่ในมาตรฐานที่ยอมรับ เขาใช้โมเดลการประมวลผลข้อมูลสองแบบที่แยกย่อยองค์ประกอบของเนื้อหาข่าวออกมา เอนริเกซกล่าวว่า พวกเขาจะระบุว่ามีองค์ประกอบส่วนไหนบ้างที่หลายสำนักข่าวมีความเห็นตรงกันและความเห็นที่ตรงกันนั้นตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงใดบ้าง รวมถึงระบุด้วยว่าองค์ประกอบส่วนไหนที่มีการรายงานข่าวแตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่คำถามถัดไปว่าในหัวข้อนี้มีมุมมองที่แตกต่างอย่างไร หลังจากนั้น พวกเขาก็จะเขียนบทความขึ้นใหม่ที่ร้อยเรียงคำตอบทั้งหมด เริ่มต้นจากองค์ประกอบของประเด็นที่สำนักข่าวต่าง ๆ มีความเห็นตรงกัน ข้อมูลเบื้องต้นของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจากนั้นผู้อ่านก็สามารถอ่านความเห็นผ่านมุมมองที่หลากหลายที่ได้รวบรวมไว้ ภายใต้แถบเมนู “มุมมองที่หลากหลาย” ได้รวบรวมรายการสรุปเนื้อหาของหัวข้อข่าวดังกล่าวจากสำนักพิมพ์หลาย ๆ แห่งพร้อมกับมีลิงค์ของรายงานข่าวด้วย

บทความของ The Newsroom ที่เขียนขึ้นโดย AI จะได้รับการตรวจทานจากมนุษย์ก่อนเผยแพร่อีกที ขณะที่มนุษย์จะมีบทบาทสำคัญในการดูแลควบคุมเนื้อหา โรมาโนกล่าวว่าพวกเขากำลังพยายามลดขั้นตอนการทำงานด้วยเช่นกัน “พวกเราวางแผนที่จะให้มีแนวทางที่หลากหลายรีวิวด้วยคนสำหรับหัวข้อแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน” เอนริเกซกล่าวว่า “ยกตัวอย่างเช่นหัวข้อที่พวกเขากำลังทำงานเป็นหลักคือเรื่องภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitics) ปัญหาโลกร้อน (Climate change) เป็นต้น แต่เมื่อพวกเราเริ่มที่จะทำงานในหัวข้อที่มีความเสี่ยงน้อยกว่านี้ เช่น หัวข้อกีฬา เป็นต้น พวกเราคิดว่าเราจะมีระดับการรีวิวที่แตกต่างไปในหัวข้อเหล่านี้”

ในตอนนี้ Newstime ประมวลผลจากข้อมูลที่มาจากแหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษและเผยแพร่สรุปข่าวเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่พวกเขามีแผนว่าจะขยายการทำงานให้ครอบคลุมภาษาอื่นด้วยเพื่อปรับปรุงให้มีความหลากหลายเชิงภูมิศาสตร์ของช่องทางการเผยแพร่บทความ ซึ่งเป็นความพยายามในอุตสาหกรรมสื่อหลัก แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ในการใช้แชตบอท ChatGPT ในหลาย ๆ ภาษาแต่คุณภาพของผลลัพธ์ที่ได้นั้นไม่ได้เท่ากัน

เมื่อถามว่าพวกเขามีประสบการณ์ปัญหาแบบเดียวกับโมเดลอื่นประสบหรือไม่ เอนริเกซและโรมาโนกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้เผชิญปัญหานั้น โมเดลการทำงานของพวกเขาไม่ได้ผลิต “ภาพหลอน” (hallucinations) ที่เกิดขึ้นเมื่อ AI ผลิตข้อความที่ไม่ได้มาจากข้อมูลที่ป้อนเข้าไป อีกทั้งคู่มือการรีวิวของพวกเขาเน้นเรื่องการระบุข้อผิดพลาดบนฐานของข้อเท็จจริง “พวกเราไม่ได้ทำงานกับข่าวประเภทข่าวด่วน (breaking news) เวลาที่มีการรายงานข่าวด่วน เราไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น ข้อมูลที่รายงานโดย Newsroom จึงเป็นข้อมูลที่ตั้งใจรายงานภายหลังเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นแล้ว” เอนริเกซกล่าว

ขณะนี้ แอปพลิเคชันดังกล่าวยังอยู่ในขั้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ใช้งานได้จริง ซึ่งตอนนี้มีผู้ใช้งานอยู่ประมาณ 1,000 คนในหลายประเทศทและส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป โดยกลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 35 ปี โรมาโนกล่าวว่ากลุ่มผู้ใช้งานของ Newsroom แบ่งออกคร่าว ๆ ได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ใช้งานที่อ่านข่าวจากสื่อหลาย ๆ แห่งอยู่แล้วและอีกกลุ่มเป็นผู้ใช้งานที่ไม่อ่านข่าว ซึ่งทีมงานของพวกเขาพบผู้ใช้งานกลุ่มนี้จากการติดต่อพูดคุยกับผู้ใช้งานบางคนโดยตรง

อย่างไรก็ตาม เอนริเกซเน้นว่าแอปพลิเคชันนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเป็นแหล่งข่าวเดียวสำหรับผู้ใช้เท่านั้น พวกเขามองว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยนำทางให้ผู้ใช้ในการอ่านข่าวต่าง ๆ และไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์แล้วและเป็นแหล่งข่าวเดียวที่ผู้อ่านสามารถใช้ได้ แต่มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้ผู้คนได้เริ่มเข้าไปอ่านและไม่ได้จบที่ตรงนี้ หลังจากนั้นผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านเนื้อหาจากแหล่งอื่น ๆ ต่อไปในเรื่องที่ตัวเองสนใจจริง ๆ 

มองไปในอนาคต

เมอร์เจียและมาร์โคนีกล่าวว่าบทบาทของสื่อมวลชนคือการสังเคราะห์ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลตามบริบทและระบุเรื่องที่จะรายงาน มาร์โคนีบอกว่าสิ่งเหล่านี้จะยิ่งยากขึ้นมากกว่าเดิม “การระเบิดของข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ เซ็นเซอร์ อุปกรณ์มือถือและดาวเทียมได้สร้างโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล ตอนนี้พวกเราผลิตข้อมูลขึ้นมากกว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาซึ่งทำให้การคัดเลือกข้อมูลที่ไม่สำคัญออกไปเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น” มาโคนีกล่าว

เขาคิดว่าสิ่งนี้เป็นอีกด้านหนึ่งของงานสื่อสารมวลชนที่เทคโนโลยี AI สามารถมีบทบาทสำคัญในการลดภาระงานของมนุษย์ เขามองว่า AI ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยผลิตเนื้อหาแต่เป็นเครื่องมือในการช่วยพวกเราในการกรองเนื้อหา ผู้เชี่ยวชาญบางคนกระบุว่าในปี 2569 เนื้อหาร้อยละ 90 ที่เผยแพร่ออนไลน์อาจมาจากการผลิตขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ตอนนี้พวกเราต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างสมองกลที่ช่วยกรองเนื้อหาที่ไม่สำคัญออกไป แยกข้อเท็จจริงจากเรื่องที่แต่งขึ้น และเน้นว่าอะไรคือเรื่องสำคัญ

มาร์โคนีเชื่อว่าสื่อมวลชนควรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ใหม่ ๆ เช่น การเขียนอัลกอริทึมที่สามารถทำหน้าที่บรรณาธิการได้และประยุกต์ใช้หลักการด้านการสื่อสารมวลชนเข้าไปในเทคโนโลยี เหล่านี้ เขากล่าวว่าอุตสาหกรรมข่าวต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับการปฏิวัติเทคโนโลยีของเอไอ ซึ่งอันที่จริงแล้วนั้น บริษัทสื่อเหล่านี้มีโอกาสที่จะเป็นผู้เล่นหลักในเรื่องนี้เพราะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่มีค่าสำหรับการพัฒนาเอไอ คือข้อมูลภาษาสำหรับป้อนคำสั่งและหลักจริยธรรมสื่อสำหรับการสร้างระบบที่มีเสถียรภาพและเชื่อถือได้

ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่มาของบทความ

https://reutersinstitute.politics.ox.ac.uk/news/chatgpt-threat-or-opportunity-journalism-five-ai-experts-weigh (Is ChatGPT a threat or an opportunity for journalism? Five AI experts weigh in)