ออกกำลังกายช่วยบรรเทาโรคซึมเศร้าได้จริงหรือ

ในปัจจุบัน โรคซึมเศร้ากลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยความเครียดและการแข่งขันสูง ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในประเทศไทย หนึ่งในวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าที่ได้รับการพูดถึงคือการออกกำลังกาย แต่การออกกำลังกายจะสามารถช่วยบรรเทาโรคซึมเศร้าได้จริงหรือ?

การออกกำลังกายหรือการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่องมีผลต่อสมองของเรา ทำให้สมองส่วนต่าง ๆ ได้รับการกระตุ้น ส่งผลให้เกิดการหลั่งสารเคมีกลุ่มสารสื่อประสาท เช่น เซโรโทนิน (Serotonin), นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine), และโดปามีน (Dopamine) ซึ่งสารเหล่านี้เกี่ยวข้องภาวะอารมณ์ที่จะสามารถส่งผลทำให้สภาวะอารมณ์ดีขึ้น เมื่อเราทำเป็นประจำต่อเนื่อง เซลล์ประสาทจะถูกกระตุ้นและเกิดการขยายตัว ช่วยเสริมสร้างความคิด ความจำ และสมาธิในระยะยาว จึงมีผลเชิงบวกต่อการบรรเทาอาการซึมเศร้า

นอกจากนี้ งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ค้นพบว่าการออกกำลังกายวันละประมาณ 35 นาที ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายอย่างหนัก สามารถเลือกกิจกรรมที่ชอบ เช่น วิ่ง โยคะ หรือการยืดเส้นยืดสายง่าย ๆ ได้ นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องประมาณ 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ถึง 17% ถือเป็นการป้องกันและบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ในระยะยาว 

ทั้งนี้ การออกกำลังเป็นเพียงวิธีการที่ช่วย “บรรเทาอาการซึมเศร้า หรือ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้า” ไม่ใช่การรักษาที่หายขาด ดังนั้น ควรที่จะปรึกษาแพทย์ ควบคู่ไปด้วยเพื่อสังเกตความผิดปกติ ทางอารมณ์ และจิตใจ 

( ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช / สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. )

Cofact

https://cofact.org/article/dkjcy6d4sx08

กินหมูกระทะไม่แยกตะเกียบเสี่ยงโรคไข้หูดับจริงหรือไม่?

  หมูกระทะ อาหารยอดฮิตของคนไทยที่หากินได้ง่าย และหลายคนคงไม่ได้แยกตะเกียบที่ใช้คีบหมูดิบ อาหารทะเล เครื่องในต่างๆที่อยู่ในภาชนะเดียวกัน จริงหรือไม่ถ้าไม่แยกตะเกียบคีบหมูกระทะเสี่ยงเป็นโรคไข้หูดับ

โรคไข้หูดับ เกิดจากการกินเนื้อหมู หรือเลือดหมูสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส  (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตาได้ 

อาการของโรคไข้หูดับ เริ่มต้นจากมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว หูหนวกหรือการได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน ภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจลุกลามถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นพิษต่ออวัยวะต่าง ๆ จนเสียชีวิต ซึ่งหากไม่แยกตะเกียบที่คีบหมูดิบย่างบนกระทะและตะเกียบที่ใช้คีบหมูเข้าปากอาจทำให้ได้รับเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้ 

กินหมูกระทะให้ปลอดภัย เพียงแค่ใส่ใจกับ “ความสะอาด”  

  • เลือกใช้ตะเกียบคีบเฉพาะ 
  • ก่อนรับประทาน หมู เนื้อ หมึก กุ้ง ต้องลวกนาน 5-10 นาทีให้สุก 
  • รับประทานแค่เนื้อสุก เพื่อความปลอดภัย  
  • ล้างมือด้วยสบู่ก่อนหยิบอาหาร และ หลังเข้าห้องน้ำ  

ดังนั้น การกินหมูกระทะแบบไม่แยกตะเกียบจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หูดับ

(ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข / สสส. / กรมควบคุมโรค)

Cofact

https://cofact.org/article/3bia5pr7fz8d3

Banner

น้ำข้าวผสมไข่ขาวช่วยรักษาโรคไตได้จริงหรือไม่?

น้ำข้าวผสมไข่ขาวมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายในด้านการบำรุงสุขภาพทั่วไป ซึ่งช่วยเสริมสร้างพลังงานและบำรุงร่างกายให้แข็งแรง แต่หลายคนอาจสงสัยถึงความสามารถของน้ำข้าวผสมไข่ขาวในการรักษาหรือฟื้นฟูการทำงานของไต

การดูแลและรักษาโรคไตนั้นไม่สามารถทำได้ด้วยการทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง การป้องกันโรคไตเสื่อมสามารถทำได้โดยการควบคุมการทานอาหาร และการหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับไต เช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ อาหารเค็มจัด อาหารหวานจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคที่ทำลายไตได้

ในกรณีที่มีภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ (albuminuria) ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการที่ปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ หรือมีอาการบวมตามร่างกาย แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานไข่ขาวเพื่อทดแทนโปรตีนที่สูญเสียไปในกระบวนการขับถ่าย แต่ก็ต้องไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ไตเสื่อมลงและนำไปสู่ภาวะไตวายได้

วิธีป้องกันโรคไต

  1. ไม่ควรทานโปรตีนในปริมาณมากเกินไปติดต่อกันหลายวัน เพราะอาจทำให้ไตทำงานหนักเกินไป
  2. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารเค็มจัด อาหารหวานจัด และอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน
  3. การออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยให้ไตทำงานได้ดีขึ้น

ดังนั้น น้ำข้าวผสมไข่ขาวเป็นอาหารที่สามารถบำรุงสุขภาพได้ แต่ไม่สามารถรักษาโรคไตเสื่อมได้ หากตรวจพบว่าเป็นโรคไต ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสม และปรับพฤติกรรมการทานอาหารและการออกกำลังกายอย่างสมดุล

(ข้อมูลจาก :   กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข /ศูนย์ต้านข่าวปลอม / ชัวร์ก่อนแชร์ )

Banner :

ลิงก์กระทู้Cofact : https://cofact.org/article/3rj2064ixyjd6

กินกระเทียมที่มีจุดดำอาจได้รับเชื้อราเสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือไม่?

จุดสีดำ น้ำตาลบนเนื้อกระเทียม อาจเกิดจากรอยช้ำของกระเทียมที่ส่งผลให้เชื้อราหลากหลายชนิดปนเปื้อนหรือเข้าไปเจริญอยู่ในบริเวณรอยช้ำนั้น ๆ โดยมักพบในกระเทียมที่มีการเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสมหรือเก็บไว้เป็นเวลานาน ซึ่งเชื้อราที่พบคือ แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และแอสเปอร์จิลลัส พาราซิติกัส (Aspergillus parasiticus) เป็นเชื้อราที่สามารถสร้างสาร อะฟลาทอกซิน  สารที่จัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง 

แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าพบสารอะฟลาทอกซินบริเวณรอยจุดสีน้ำตาลบนกระเทียม 

ดังนั้น ควรเลือกรับประทานกระเทียมที่มีความสดใหม่ เนื้อแน่น ไม่นิ่ม ไม่ฝ่อ ไม่มีรา จะดีที่สุดและควรเก็บรักษาไว้ในที่แห้งไม่อับชื้นและไม่เก็บไว้นานเกินไป หากพบรอยจุดสีน้ำตาลบนกระเทียมควรทิ้งไปทั้งกลีบหรืออาจหั่นบริเวณนั้นทิ้งและควรรับประทานกระเทียมที่ปรุงสุกเพื่อลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ

(ข้อมูลจากสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม / มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ / สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข / สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.))

Cofact

https://cofact.org/article/rjdldcak0ojo

Banner

รับประทานผักปริมาณมากทำให้ท้องอืดจริงหรือไม่

ผักนับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และให้คุณค่าแก่ร่างกาย อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย และเป็นแหล่งของใยอาหารที่ช่วยร่างกายกำจัดสิ่งหมักหมมในลำไส้ แต่รู้หรือไม่ว่า หากรับประทานผักในปริมาณที่มากจนเกินไปจะทำให้ ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือแน่นท้องได้

เนื่องจากผักมี “เซลลูโลส” ที่เป็นสารประกอบของคาร์โบไฮเดรต พบได้ในผนังเซลล์พืช ธัญพืชและผักใบเขียวทั่วไป  ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายมนุษย์ไม่สามารถการย่อยสลาย เซลลูโลส ได้โดยตรง ใยอาหารหรือไฟเบอร์เหล่านี้ต้องใช้แบคทีเรียในการย่อย ทำให้เมื่อเรารับประทานผักในปริมาณมาก ร่างกายจะต้องส่งเส้นใยเหล่านี้ไปยังลำไส้  เพื่อให้แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ทำหน้าที่ย่อยเส้นใยอาหารบางส่วนผ่านกระบวนการหมัก เมื่อเกิดกระบวนการหมัก แบคทีเรียจะปล่อยก๊าซออกมา ซึ่งแก๊สเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ท้องอืด แน่นท้อง หรือมีลมในกระเพาะอาหาร 

วิธีป้องกันอาการท้องอืดจากการกินผัก มีดังนี้

  • เริ่มกินผักทีละน้อย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น จะช่วยให้ลำไส้ปรับตัวและย่อยสลายกากใยในผักได้ดีขึ้น เลือกกินผักที่มีกากใยน้อย เช่น ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ผักโขม ผักบุ้ง ฯลฯ ปรุงผักให้สุกก่อนกิน จะทำให้ผักมีกากใยน้อยลง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อช่วยในการย่อยอาหารและขับถ่ายแก๊ส
  • หลีกเลี่ยงการกินผักที่มีกากใยสูง เช่น กะหล่ำปลี บร็อคโคลี ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว ผักกาดหอม ผักกาดขาว ฯลฯ ในช่วงที่มีอาการท้องอืด

สรุปคือ การรับประทานผักในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้เกิดอาการท้องอืดได้  เนื่องจากร่างกายเราไม่สามารถย่อยเส้นใยเหล่านี้ได้โดยตรง ทำให้ต้องอาศัยแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้เป็นตัวช่วยย่อยสลาย จึงทำให้เกิดแก๊สที่เป็นสาเหตุของท้องอืด  

( ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล / โรงพยาบาลพญาไท 2 / โรงพยาบาลรามคำแหง )

Cofact

https://cofact.org/article/1m370x79zj03r

Banner

การรับประทานลูกปลาช่อนสดช่วยให้แผลหลังผ่าตัดหายเร็วขึ้นจริงหรือไม่? 

การบริโภคลูกปลาช่อนสดเพื่อช่วยให้แผลหลังการผ่าตัดหรือคลอดหายเร็วขึ้นความเชื่อที่มีมานาน และได้มีการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะใน TikTok ซึ่งบางกลุ่มคนแนะนำให้กลืนลูกปลาช่อนสดๆ ในปริมาณหลายร้อยตัวจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

การรับประทานปลาน้ำจืดดิบ เช่น ลูกปลาช่อนสด อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากพยาธิและแบคทีเรียต่างๆ เช่น พยาธิใบไม้ตับ พยาธิปากขอ หรือพยาธิตัวจี๊ด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง หรือโรครุนแรง เช่น การอุดตันท่อทางเดินน้ำดี ซึ่งอาจนำไปสู่การอักเสบหรือมะเร็งท่อน้ำดีได้ นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่สามารถทำให้เกิดอาหารเป็นพิษและลำไส้อักเสบได้อีกด้วย

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การรับประทานลูกปลาช่อนสดดิบไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ดังนั้น การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดหรือคลอดควรเน้นการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวและช่วยสมานแผลได้ดี เช่น การทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ไข่ หรือผักและผลไม้ที่มีวิตามินซี และแร่สังกะสีที่ช่วยในการซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย

ดังนั้น การรับประทานลูกปลาช่อนสดไม่สามารถช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นตามที่มีการกล่าวอ้างในบางสื่อออนไลน์ และยังเสี่ยงเพิ่มโอกาสติดเชื้อพยาธิและแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้ ควรเลือกทานอาหารที่ปรุงสุกและมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อฟื้นฟูร่างกายอย่างปลอดภัย และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการดูแลตัวเองที่ดีที่สุดหลังการผ่าตัดหรือคลอด

(ข้อมูลจาก :  กลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ / ศูนย์ต้านข่าวปลอมประเทศไทย)

Banner : 

ลิงก์กระทู้Cofact : https://cofact.org/article/3rb0elqguxrex

การรับประทานผงชูรสทำให้ผมร่วงจริงหรือไม่?

       ผงชูรสหรือที่รู้จักในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) เป็นสารปรุงแต่งรสชาติให้กลมกล่อมที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในอาหารไทยและเอเชีย มีส่วนประกอบหลักคือ โซเดียมที่ได้จากเกลือและกรดกลูตามิกซึ่งกรดอะมิโนที่พบได้ตามธรรมชาติในโปรตีนจากสัตว์และพืช

การบริโภคผงชูรสมีผลต่อสุขภาพอย่างไร?

  1. โซเดียมในผงชูรสทำให้ร่างกายต้องการน้ำมากขึ้น
  2. อาหารที่มีผงชูรสอาจทำให้รสชาติอาหารเค็มน้อยลงในความรู้สึกของผู้บริโภค ส่งผลให้บริโภคโซเดียมมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว
  3. การบริโภคโซเดียมเกินความจำเป็นในระยะยาว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไตและความดันโลหิตสูง

สาเหตุของปัญหาผมร่วงส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดปกติของหนังศีรษะ กรรมพันธุ์ ความเครียดและการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ธาตุเหล็ก หรือโปรตีน

ตัวอย่างหนึ่งที่พบได้ในคลินิกผิวหนัง คือ ผู้ที่มาปรึกษาปัญหาผมร่วงมักระบุว่าได้หลีกเลี่ยงผงชูรสแล้ว แต่ผมก็ยังร่วงอยู่ นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่ยืนยันว่า ผงชูรสไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผมร่วง

ดังนั้น ผงชูรสไม่ทำให้ผมร่วงและปลอดภัยหากบริโภคในปริมาณไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในทุกมื้อเพื่อลดการสะสมโซเดียมในร่างกาย การบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะช่วยป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น โรคไต ควรรับประทานอาหารที่หลากหลายและสมดุลเพื่อสุขภาพที่ดี

(ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลศิครินทร์ /คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล/ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์)

Banner :

ลิงก์กระทู้Cofact : https://cofact.org/article/3c0lfem1ln257 

เบตาดีน ช่วยรักษาสิวอักเสบภายใน 1 คืนจริงหรือไม่

เมื่อเราเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดแผลถลอก แผลสด จึงต้องทำความสะอาดแผลเพื่อฆ่าเชื้อสิ่งสกปรกและ เบตาดีน เป็นอีกหนึ่งยาฆ่าเชื้อที่หลายๆคนต้องนำมาใช้ล้างแผล แล้วเบตาดีนช่วยฆ่าเชื้อหรือรักษาสิวอักเสบได้จริงหรือไม่

เบตาดีน ยาประเภทใช้ภายนอก เป็นยาฆ่าเชื้อชนิดหนึ่ง (antiseptic)  ที่มีส่วนผสมของตัวยา โพวิโดน ไอโอดีน ที่ช่วยในการฆ่าเชื้อไวรัส เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย มักใช้ทำความสะอาดผิวก่อนผ่าตัดหรือการทำแผล โดยสามารถใช้ตรงบริเวณที่เกิดแผลได้ ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง 

ซึ่งการเกิดสิว เกิดจากความผิดปกติของรูขุมขุนหรือต่อมเหงื่อ  (Pilosebaceousunit) เกิดได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักจะเกิดมากที่สุดในช่วงวัยรุ่น โดยกลไกการเกิดสิวนั้น

 • การอุดตันของรูขุมขน 

• การผลิต sebum หรือไขมันจากต่อมไขมันที่มากผิดปกติ 

• เชื้อก่อโรค Cutibacterium acnes ที่ผิวหนัง

• การอักเสบของร่างกาย 

การรักษาสิว มีตั้งแต่การทายาและอาจให้ร่วมกับยารับประทานโดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิวเป็นหลัก ปัจจุบันไม่แนะนำให้รักษาสิวด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการดื้อยาได้  ส่วนเบตาดีนเป็นเพียงยาฆ่าเชื้อที่ครอบคลุมเชื้อได้หลายชนิด มักใช้ในการฆ่าเชื้อทำความสะอาดผิวก่อนผ่าตัด หรือใช้ในกระบวนการทำแผล

ดังนั้น เบตาดีน จึงไม่ใช่ยาหลักที่ใช้ในการรักษาสิวและยังไม่ได้มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่าสามารถใช้ในการรักษาสิวได้

(ข้อมูลจาก Betadine / สถาบันโรคผิวหนัง กรมหารแพทย์ สาธารสุข / กระทรวงศึกษาธิการ )

Cofact

https://cofact.org/article/2xhsuoaarm4fo

Banner

การโกนขนทำให้ขนงอกเร็วและหนาขึ้นจริงหรือไม่?

การโกนขนเป็นวิธีที่หลายคนเลือกใช้เพื่อกำจัดขนที่ไม่ต้องการจากบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการโกนขนขา รักแร้ หรือใบหน้า เนื่องจากเป็นวิธีที่รวดเร็วและสะดวกสบาย และมักถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุดในการจัดการกับขนที่รบกวน บางครั้งคนอาจเลือกการโกนขนเพราะความสะดวกและความรวดเร็ว แต่ก็ยังมีคำถามและข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการโกนขน ทั้งในแง่ของการเติบโตของขนและความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากการโกน

หลังการโกนขน ขนที่งอกใหม่มักมีลักษณะปลายทู่ เนื่องจากปลายขนถูกตัดในระนาบเดียวกับผิวหนัง การสัมผัสขนใหม่จึงอาจทำให้รู้สึกว่าขนหยาบหรือหนาขึ้น อย่างไรก็ตาม ขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง และโครงสร้างของขนยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือผู้ที่ตัดผมสั้นหรือโกนศีรษะ ผมที่งอกใหม่ในช่วงแรกอาจดูหนาและแข็ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปและผมยาวขึ้น ความหยาบหรือความแข็งเหล่านั้นจะลดลง

ถึงแม้ว่าการโกนขนจะเป็นวิธีที่สะดวกในการกำจัดขน แต่ยังมีผลข้างเคียงบางประการที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยบางคนอาจพบว่า ขนที่งอกใหม่ทำให้ผิวบริเวณที่โกนเกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะบริเวณที่ผิวบอบบาง เช่น ใบหน้า รักแร้ หรือขา ขนที่ตัดปลายเป็นระนาบอาจทำให้รู้สึกว่าผิวไม่เรียบเนียนในช่วงแรกของการงอกใหม่ แต่เมื่อขนยาวขึ้น ขนจะรู้สึกนุ่มลง และความระคายเคืองจะลดลง

อีกหนึ่งผลข้างเคียงจากการโกนขนคือการเติบโตของขนบางเส้นที่ผิดทิศทาง ซึ่งอาจทำให้ขนฝังตัวอยู่ใต้ผิวหนัง ส่งผลให้เกิดตุ่มแดงหรือการอักเสบที่เรียกว่าขนคุด

คำแนะนำสำหรับการโกนขนอย่างปลอดภัย

  1. ใช้ใบมีดโกนที่สะอาดและคมเพื่อลดโอกาสการบาดเจ็บหรือการระคายเคือง
  2. ใช้ครีมโกนขนหรือเจลหล่อลื่นเพื่อช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างใบมีดกับผิวหนัง
  3. โกนขนในทิศทางเดียวกับการงอกของขนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดขนคุด
  4. บำรุงผิวหลังการโกนโดยใช้ครีมหรือโลชั่นที่เหมาะสมเพื่อลดการระคายเคือง

ดังนั้น การโกนขนไม่ได้ทำให้ขนเพิ่มจำนวนหรือหนาขึ้นตามความเข้าใจผิดที่มีการแพร่หลาย การโกนขนเป็นวิธีจัดการขนที่ง่ายและสะดวก แต่ต้องทำอย่างระมัดระวังและดูแลผิวหลังการโกนอย่างเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น.

(ข้อมูลจาก : สถาบันโรคผิวหนังแห่งอเมริกา (American Academy of Dermatology) / ศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลนครธน )

Banner :

ลิงก์กระทู้Cofact : https://cofact.org/article/2s8gr06l71qx0