ดื่มนมพร้อมยาได้ผลจริงหรือไม่


      นม เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน และหลายคนมักเลือกดื่มนมพร้อมยาเมื่อเจ็บป่วย หรือรู้สึกไม่สบาย โดยเชื่อว่านมช่วยเคลือบกระเพาะอาหารและลดการระคายเคืองจากยา แต่การดื่มนมพร้อมยานั้นได้ผลจริงหรือ?
      เนื่องจากนมมีปริมาณแคลเซียมสูง เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงที่ช่วยในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุ ส่งผลให้การดื่มนมควบคู่กับยาอาจทำให้แคลเซียมเกิดปฏิกิริยากับยา ส่งผลให้ยาหมดฤทธิ์และประสิทธิภาพของยา โดยมีผลเกี่ยวกับการดูดซึมของยาบางชนิดในร่างกายดูดซึมยาได้น้อยลง และอาจส่งผลให้ผลการรักษาจากยานั้นลดลง
ยาที่ไม่ควรรับทานพร้อมนม ได้แก่
1. ยาฆ่าเชื้อกลุ่ม Quinolone (Ciprofloxacin, Norfloxacin, Ofloxacin)
2. ยาต้านเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Tetracyclines
3. ยาบำรุงเลือดธาตุเหล็ก เป็นต้น

       ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการทานยาร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแคลเซียมและแร่ธาตุอื่น ๆ หากต้องการดื่มนมหรืออาหารที่มีแคลเซียม ควรทานหลังจากรับประทานยาไปแล้วเพื่อไม่ให้กระทบต่อการดูดซึมยาและประสิทธิภาพการรักษา

 (ข้อมูลจากเว็บไซต์ : กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค / พบแพทย์ (PobPad) / สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) / สำนักงานอาหารและยา / กระทรวงสาธารณสุข)

ยิ่งออกกำลังกายหนัก น้ำหนักยิ่งลดเร็วจริงหรือ


      หลายคนที่ชอบออกกำลังกายเพื่อหุ่นสวย ผอมพลิ้ว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไม ยิ่งออกกำลังกายยิ่งอ้วน” ทั้งที่ออกกำลังกายเป็นประจำในทุก ๆ วัน แต่ยังอ้วน ทำให้เกิดความสับสนและสงสัยว่า ยิ่งออกกำลังกายหนัก น้ำหนักยิ่งลดเร็วจริงหรือ
      บางคนที่อยากลดน้ำหนัก หรือสร้างกล้ามเนื้อแบบเร่งรัด มักจะหักโหมออกกำลังกายวันละหลายๆ ชั่วโมง ซึ่งจริงๆ แล้วแม้อาจจะช่วยให้น้ำหนักลดได้บ้าง แต่ถือเป็นการออกกำลังกายที่ผิดวิธี นำมาซึ่งผลกระทบต่อร่างกายหลายอย่าง ทั้งทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ ทำให้อ่อนเพลีย บางคนยังกดดันตัวเองหรืออาจมีอาการเครียดและจิตตกในวันที่ไม่ได้ออกกำลังกายอีกด้วย และหากเครียดมากๆ จะทำให้ร่างกายของเราหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามากกว่าปกติ 

       ฮอร์โมนคอร์ติซอลในภาวะปกติ มีหน้าที่ช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยเผาผลาญพลังงานจากอาหารที่เราทานเข้าไป แต่ถ้าฮอร์โมนชนิดนี้หลั่งออกมามากเกินไป จะส่งผลในทางตรงกันข้ามคือ ทำให้อยากอาหาร โดยเฉพาะของหวานมากขึ้น ทั้งยังจะไปเผาผลาญมวลกล้ามเนื้อของเราให้ลดน้อยลง ซึ่งกล้ามเนื้อเปรียบเสมือนเตาเผาพลังงาน เมื่อมวลกล้ามเนื้อลดลง จะส่งผลให้การเผาผลาญพลังงานของร่างกายน้อยลงตาม คนที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อย จะทำให้อ้วนขึ้นง่ายกว่าแม้จะกินน้อยกว่าคนอื่นๆ และอาจส่งผลเสียต่อร่างกายและสุขภาพในระยะยาว ซึ่งอาจเกิดขึ้นหากออกกำลังกายมากไปโดยไม่มีการพักผ่อนหรือฟื้นฟูร่างกายอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ
           

       ดังนั้น หากเราอยากลดน้ำหนักจริง ๆ โดยไม่ทำร้ายสุขภาพของตนเองควรลดน้ำหนักอย่างถูกวิธีโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับการควบคุมอาหารและนอนหลับให้เพียงพอ

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ : Fit Me Sportswear / กรมสุขภาพจิต / กรมอนามัย / สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

มังคุดนึ่งรักษามะเร็งได้จริงหรือ?

       มังคุด ผลไม้ที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวและคุณค่าทางโภชนาการที่สูง โดยเปลือกมังคุดยังมีสาร
แทนนิน และ แซนโทน ที่ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระและการอักเสบ มังคุดนึ่งสามารถช่วยรักษามะเร็งได้จริงหรือ

       มังคุด (Mangosteen) เป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากมีแคลอรี่น้อยแต่ให้สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและชะลอความเสื่อมของร่างกาย โดยในเนื้อมังคุดมีสารต้านอนุมูลอิสระ ส่วนในเปลือกมังคุดจะมีสาร แทนนิน และ แซนโทน (Xanthones) ที่ช่วยในการต้านการอักเสบและอาจช่วยป้องกันโรคบางประเภท

แต่หากมังคุดถูกนำไปนึ่ง เปลือกที่มีสารแทนนินซึ่งละลายน้ำได้อาจซึมเข้าสู่เนื้อผลไม้ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องผูก และอาจสะสมในตับและไตได้ และการนึ่งมังคุดไม่สามารถทำให้สารแซนโทนที่มีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระออกมาได้ เพราะสารแซนโทนไม่ละลายน้ำ

นอกจากนี้ การวิจัยจะแสดงให้เห็นว่าสารแซนโทนในมังคุดมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่ยืนยันว่า มังคุดนึ่ง หรือสารจากมังคุด สามารถรักษามะเร็งในมนุษย์ได้จริง

ดังนั้นการรับประทานมังคุดนึ่งหรือผลิตภัณฑ์จากมังคุดอาจช่วยเสริมสุขภาพได้ แต่ไม่ควรใช้เป็นการรักษาหลักสำหรับมะเร็ง

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม / กระทรวงสาธารณสุข / สำนักงานอาหหารและยา)

ล้างหน้าด้วยน้ำเย็นช่วยลดอาการหน้าบวม?

หลายคนอาจเคยเห็นเคล็ดลับการล้างหน้าด้วยน้ำเย็นจากโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นการแช่หน้าลงในน้ำแข็งตามเทรนด์ของเหล่าเซเลบริตี้ ก่อนการแต่งหน้า หรือการล้างหน้าด้วยน้ำเย็นในช่วงเช้าหลังตื่นนอน โดยเฉพาะหลังจากผ่านการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก เพราะมีความเชื่อและมีการพูดถึงบนโลกออนไลน์กันว่า น้ำเย็นสามารถช่วยลดอาการบวมของใบหน้าได้

เนื่องจากน้ำเย็นสามารถช่วยทำให้เส้นเลือดฝอยบนใบหน้าหดลง ซึ่งการหดตัวของเส้นเลือดนี้จะช่วยลดอาการบวมบริเวณใบหน้าและเปลือกตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังช่วยกระชับรูขุมขนชั่วคราว ทำให้หลังจากที่เราล้างหน้าด้วยน้ำเย็นแล้ว ผิวหน้าดูเรียบเนียนและสวยงามขึ้นนั้นเอง แต่อย่างไรก็ตาม  การล้างหน้าด้วยน้ำเย็นไม่ได้มีผลในระยะยาวต่อสุขภาพผิว และผลลัพธ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้ที่มีผิวแห้งหรือผิวแพ้ง่ายอาจต้องระมัดระวังการล้างหน้าด้วยน้ำเย็น เนื่องจากอาจทำให้ผิวแห้งและเกิดการระคายเคืองได้ หากมีปัญหาผิวที่ไวต่อความเย็น ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อนใช้วิธีนี้ การดูแลผิวให้เหมาะสมกับสภาพผิวเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผิวสุขภาพดีและลดปัญหาผิวที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม

สรุปได้ว่าการล้างหน้าด้วยน้ำเย็นสามารถช่วยลดอาการบวมของใบหน้าได้จริงในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ไม่สามารถรักษาอาการบวมได้อย่างถาวร

( ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย / สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย   )

Cofact

https://cofact.org/article/2bclyne1f1jrt

การทำ IF ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์น้ำหนักโยโย่จริงหรือไม่ ? 

การทำ IF (Intermittent Fasting) หรือ วิธีการจำกัดเวลาในการรับประทานอาหาร เป็นวิธีที่รู้จักกันในกลุ่มคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก และหากหยุดทำ IF จะทำให้น้ำหนักโยโย่หรือไม่

IF (Intermittent Fasting) เป็นวิธีลดน้ำหนักแบบจำกัดเวลารับประทานอาหาร เพื่อช่วยควบคุมปริมาณแคลอรี่หรือพลังงานที่ร่างกายได้รับ ซึ่งจะส่งผลในการควบคุมน้ำหนักตัว

การทำ IF แบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเวลารับประทานอาหาร (Feeding/Eating) และช่วงเวลาอดอาหาร (Fasting) 

สูตรยอดนิยม สูตร 16/8 คือ การรับประทานอาหาร 8 ชั่วโมง และอดอาหาร 16 ชั่วโมง เช่น รับประทานอาหารเวลา 10.00 – 18.00 น. แต่หลังเวลา 18.00 น. จะเป็นช่วงอดอาหาร เหมาะสำหรับผู้เริ่มทำ IF เพราะทำได้ง่ายและไม่กระทบกับชีวิตประจำวันมากเกินไป 

ผลลัพธ์ที่ดีในการทำ IF 

  • ช่วยลดน้ำหนักและไขมันหน้าท้อง
  • ช่วยกระตุ้นการล้างสารพิษและลดความเครียด
  • ช่วยลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี
  • ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • ลดความเสี่ยงของโรคต่างๆและช่วยให้อายุยืนขึ้น

ดังนั้นการทำ IF ไม่ได้ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์โยโย่ของน้ำหนัก แต่อาจเกิดจากการทำ IF ที่ไม่ถูกวิธี จึงควรศึกษาวิธีการทำ IF ที่เหมาะสมกับตัวเองเพราะหากทำไม่ถูกวิธี อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ และควรออกกำลังควบคู่อย่างสม่ำเสมอ

(ข้อมูลจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข /สำนักโภชนาการ)

กระทู้ https://cofact.org/article/3m2pl8xku686n

Banner

รับประทานน้อยเท่ากับผอมจริงหรือไม่ 


      การลดน้ำหนัก เราอาจคุ้นเคยว่าเราถ้าอยากให้น้ำหนักลดลงสิ่งสำคัญที่ต้องทำก็คือการควบคุมอาหารเพื่อลดการนำพลังงานเข้าสู่ร่างกาย ให้ร่างกายได้เกิดการเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไปทำให้น้ำหนักลดลง ทำให้หลายคนคงจะหนีไม่พ้นการอดอาหาร แต่การอดอาหารหรือการกินน้อยลงทำให้เราผอมจริงหรือ
      การลดอาหารหรือการกินน้อยลงอาจทำให้ลดน้ำหนักในระยะสั้นได้ แต่ไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนในการทำให้ผอมอย่างถาวร การกินน้อยเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว เนื่องจากร่างกายอาจขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ และยังสามารถทำให้ระบบเผาผลาญพลังงานช้าลง ส่งผลทำให้ร่างกายเกิดการโยโย่ ทำให้เรากลับมามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
      โยโย่ (Yo-Yo effect) คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อลดน้ำหนักด้วยวิธีที่ไม่ยั่งยืน เช่น การอดอาหาร หรือการลดแคลอรี่มากเกินไป ทำให้น้ำหนักลดลงในระยะสั้น
ตัวอย่างของโยโย่เอฟเฟกต์
      คนที่ลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วด้วยการอดอาหารหรือทานแคลอรี่ต่ำมาก อาจเห็นผลลัพธ์ในช่วงแรก โดยน้ำหนักลดลงเร็ว แต่เมื่อกลับมาทานอาหารปกติ น้ำหนักก็อาจกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และบางครั้งอาจเพิ่มมากขึ้น
      โดยจะมีปัญหาเรื่องสัดส่วนเกินแม้น้ำหนักตัวจะไม่มากเท่าไหร่ และมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักตัวและส่วนเกินที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่ละนิดจนดูไม่ออกและไม่รู้ว่าทำไมน้ำหนักถึงขึ้นทั้งที่ไม่ได้ทานเยอะเลย ยิ่งวันไหนที่มีเหตุจำเป็นต้องทานในมื้อที่ไม่ได้ทานมานาน ร่างกายก็จะพยายามเก็บพลังงานจากอาหารมื้อนั้นให้มากที่สุดด้วยการสะสมไขมัน ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นทันที

ดังนั้น การลดน้ำหนักด้วยการอดอาหารเป็นวิธีที่ไม่สามารถทำให้เราผอมได้ 100% เพราะยิ่งเราอดอาหารนานเท่าไหร่ ร่างกายก็จะยิ่งเผาผลาญน้อยลง การลดน้ำหนักจึงยากขึ้น ในขณะที่น้ำหนักขึ้นง่ายกว่าเดิม และมีไขมันสะสมมากขึ้น 

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ : กรมสุขภาพจิต / โรงพยาบาลกรุงเทพ / อินเตอร์ ฟาร์มา / คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี )

การไม่รับประทานไขมันดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่?

สำหรับคนที่กำลังเริ่มดูแลสุภาพน่าจะเคยได้ยินถึงการงดไขมัน  งดการรับประทานของที่มีความมัน ซึ่งจะทำให้เราอ้วน ลดน้ำหนักยาก ไขมันอุดตัน จริงหรือไม่ถ้าเราไม่รับประทานไขมันเลยจะทำให้สุขภาพดีขึ้น

“ไขมัน” เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย มีส่วนสำคัญต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะการทำงานของระบบสมอง รวมถึงการสร้างฮอร์โมน และผิวพรรณ กรดไขมันดีส่งผลดีต่อการทำงานของระบบหัวใจ 

ร่างกายควรได้รับแคลลอรี่ประมาณ 20-35% ของปริมาณไขมันที่ร่างกายต้องการ หรือไม่เกิน 7 ช้อนชาต่อวัน และที่สำคัญควรเน้นไปที่ “ไขมันดี”  (HDL) หรือ High Density Lipoprotein คือไขมันไม่อิ่มตัว ที่มีความหนาแน่นของไขมันสูงเป็นไขมันที่ดีสำหรับหลอดเลือดแดง และยังช่วยป้องกันไม่ให้  “ไขมันไม่ดี” (LDL) หรือ Low Density Lipoprotein ที่สะสมอยู่ตามหลอดเลือดส่งไปที่ตับ เพื่อกำจัดออกจากร่างกาย 

หากระดับไขมันดีในเลือดต่ำ จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวและเกิดาการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไตวาย โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต เป็นต้น 

ดังนั้น การไม่รับประทานไขมันเลยถือเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะไขมันยังมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่ควรรับประทานไขมันดี เพื่อให้กำจัดไขมันไม่ดีออกจากหลอดเลือดและควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน

(ข้อมูลจาก : สำนักโภชนาการ / โรงพยาบาลรามาธิบดี / คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล)

กระทู้  https://cofact.org/article/3lj99zzgji6of 

ใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ตาดำเล็กลง

การใส่คอนแทคเลนส์เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อปรับแก้สายตาหรือเพื่อเสริมความสวยงาม คอนแทคเลนส์ได้กลายเป็นทางเลือกที่สะดวกสำหรับหลายคน แม้จะดูมีประโยชน์ในหลายด้าน แต่ก็ยังมีข้อกังวลที่หลายคนตั้งคำถาม โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าการใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ดวงตาดำดูเล็กลงหรือไม่

โดยทั่วไปดวงตาจะมีน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาเพื่อนำออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงกระจกตาดำอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งคอนแทคเลนส์ที่เรานิยมใส่กันนั้น นับว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมของดวงตา ทำให้เมื่อเราใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานานติดต่อกันจะส่งผลให้กระจกตาได้รับออกซิเจนน้อยลง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดเล็ก ๆ รอบกระจกตาดำ เพื่อช่วยส่งออกซิเจนไปเลี้ยงบริเวณนั้นมากขึ้น การเพิ่มการไหลเวียนของเส้นเลือดนี้ทำให้พื้นที่ขอบกระจกตาดำถูกแทนที่ด้วยเส้นเลือดและเยื่อบุตาขาว ส่งผลให้ดวงตาดำดูเล็กลง 

คำแนะนำในการป้องกันคือ ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป โดยควรใส่ไม่เกิน 8-9 ชั่วโมงต่อวัน และหมั่นล้างทำความสะอาดคอนแทคเลนส์อย่างถูกวิธีเพื่อความปลอดภัย 

สรุปการใส่คอนแท็กเลนส์บ่อย ทำให้ตาดำเล็กลงนั้นเป็นความจริง

( ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย / สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย )

Cofact

https://cofact.org/article/3mwsaikoi6d7n

ใช้น้ำมันทอดซ้ำ เสี่ยงอันตรายจริงหรือ?

       การใช้น้ำมันทอดซ้ำ หรือน้ำมันที่เสื่อมคุณภาพ จะมีลักษณะเหนียวข้น สีดำ มีกลิ่นเหม็นหืน มีฟอง และเกิดควันมากขณะทอด เมื่อน้ำมันถูกทอดซ้ำมาก ๆ ที่ความร้อนสูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้เร่งการเสื่อมสภาพของน้ำมันทำให้เกิดสารประกอบโพลาร์ (Polar compounds) หรือสารโพลาร์ และสารประกอบโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon; PAHs) 

       สารโพลาร์ เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง อีกทั้งผู้ประกอบอาหารทอดที่สูดดมไอระเหยของน้ำมันทอดอาหารเป็นเวลานานมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด

ข้อแนะนำในการใช้น้ำมันทอดอาหาร

– หลีกเลี่ยงการซื้อน้ำมันที่ผ่านการใช้แล้ว ซึ่งมักนำมาบรรจุถุงพลาสติกวางจำหน่าย

– เลือกซื้อน้ำมันที่มีภาชนะบรรจุที่มีฉลากชัดเจน และมีเลขสารบบอาหาร ต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น ผงสีดำ หรือตะกอนขุ่นขาว รวมทั้งภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพปิดผนึก ไม่มีรอยฉีกขาด

– ไม่ใช้น้ำมันที่มีกลิ่นเหม็นหืน เหนียวข้น สีดำ มีฟองมาก เป็นควันง่าย และมีกลิ่นเหม็นไหม้

– ควรซับน้ำบริเวณผิวหน้าอาหารดิบก่อนทอด เพื่อชะลอการเสื่อมคุณภาพของน้ำมัน 

– ควรเปลี่ยนน้ำมันทอดอาหารบ่อยขึ้น 

– หมั่นกรองอาหารทิ้งระหว่างและหลังการทอดอาหาร

ดังนั้นการใช้น้ำมันเก่าซ้ำแล้วซ้ำอีก และเติมน้ำมันใหม่ผสมลงไป ยิ่งเป็นการเร่งการเสื่อมสภาพของน้ำมันทำให้เกิดสารโพลาร์สูงขึ้น เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

(ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) / กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค )

Braner : 

กระทู้ Cofact : https://cofact.org/article/3mg1o81jx1k85