ความจริงจากนักวิชาการ กรณีปลาตายและน้ำทะเลสีเขียวที่ชลบุรี

เนื้อหาเป็นจริง

ภาพปลาตายเกลื่อนชายหาดและน้ำทะเลกลายเป็นสีเขียวในหลายพื้นที่ของจังหวัดชลบุรี ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียในช่วงต้นเดือนกันยายน 2566 กลายเป็นประเด็นที่สร้างความสงสัยและความตระหนกตกใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว โคแฟคตรวจสอบพบว่าเป็นภาพจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่ามีสาเหตุจากปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม

หนึ่งในโพสต์ที่ถูกแชร์เป็นจำนวนมากคือภาพปลาตายจำนวนมากที่หาดบางแสนโดยผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “ธนกร สุขศรี” เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2566 พร้อมข้อความว่า “…บริเวณชายหาดบางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พบปลาหลากหลายชนิด ตายเกลื่อนชายหาด จากการลงพื้นที่สำรวจที่บริเวณชายหาดบางพระ มีปลาหลากหลายชนิดถูกคลื่นซัดมาตายเกลื่อน อาทิเช่นปลากระบอก ปลาแป้น ปลาเจ๊กเล้ง ปลาคุด ปลากระพงเป็นต้น ได้ลอยมาติดบริเวณชายหาดบางพระ ส่วนสาเหตุปลาตายเกลื่อนครั้งนี้ คาดว่าอาจเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ทำให้น้ำทะเลเป็นสีเขียวและน้ำมีกลิ่นแรง”

ณ วันที่ 14 ก.ย. 2566 โพสต์นี้ถูกแชร์ไปมากกว่า 2,700 ครั้ง

โคแฟคตรวจสอบ

เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงของโคแฟคในพื้นที่จังหวัดชลบุรีตรวจสอบภาพและเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วยืนยันว่า ภาพที่เผยแพร่เป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

นอกจากเหตุการณ์ปลาตายที่หาดบางพระแล้ว ยังพบว่าเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันที่หาดวอนนภา ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข ตำบลแสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี และวันที่ 9 ก.ย. 2566 มีรายงานการพบคราบน้ำมันและแพลงก์ตอนบลูมบริเวณสะพานปลานาเกลือ เมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี อีกด้วย

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยกับโคแฟคว่า สาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ทะเลตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ขึ้นปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมที่ทำให้ปริมาณก๊าซออกซิเจนในทะเลลดลง

นายสนธิอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับปรากฏการณ์แพลงก็ตอนบลูม ดังนี้

แพลงก์ตอนบลูมเกิดจากอะไร?

แพลงก์ตอนบลูมหรือ “ขี้ปลาวาฬ” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอนพืช จากการได้รับธาตุอาหารทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมที่ถูกชะลงทะเลมากในช่วงหน้าฝน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นธาตุอาหารที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น สารทางการเกษตร น้ำทิ้งจากชุมชน เป็นต้น แพลงก์ตอนบลูมเริ่มก่อตัวในทะเลนอก และขยายจำนวนขึ้น จนเข้าสู่ระยะสุดท้ายบริเวณชายฝั่ง โดยมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดไปรวมที่อ่าวไทยตอนในแถวจังหวัดชลบุรี

คราบน้ำมันรั่วที่ไหลลงทะเลเกี่ยวข้องอย่างไร?

ก่อนที่จะเกิดแพลงก์ตอนบลูมในทะเลชลบุรีครั้งนี้เพียงไม่กี่วัน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด ได้แจ้งข่าวต่อสาธารณะว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2566 เวลาประมาณ 21.00 น. เกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมัน ขณะขนถ่ายน้ำมันดิบบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเลหมายเลข 2 ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บริษัทฯ ควบคุมสถานการณ์ด้วยการปิดวาล์วท่อน้ำมัน วางทุ่นล้อมคราบน้ำมันเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย และใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน บริษัทฯ ประเมินว่าน้ำมันที่รั่วมีปริมาณ 60,000 ลิตร

เพจเฟซบุ๊กของกรมควบคุมมลพิษเผยแพร่ภาพจากกองทัพเรือ แสดงจุดที่เกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลระหว่างการขนถ่ายน้ำมันของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด เหตุเกิดเมื่อ 3 ก.ย. 2566

นายสนธิกล่าวว่าปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมมักจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลในทะเล โดยอ้างผลการวิจัยในต่างประเทศที่พบความเชื่อมโยงระหว่างคราบน้ำมันจำนวนมากในทะเลและการเจริญเติบโตของสาหร่ายที่มีพิษ (Harmful Algal Blooms) บริเวณอ่าวเม็กซิโกเหนือ การศึกษาพบว่าการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันจะทำให้น้ำมันดิบที่รั่วไหลกลายเป็นละอองน้ำมันตกลงไปปกคลุมใต้ทะเล ส่งผลกระทบต่อแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ทะเล ขณะเดียวกันก็ทำให้สาหร่าย dinoflagelates ที่ทนทานต่อน้ำมันดิบและสารขจัดคราบน้ำมันเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมหรือขี้ปลาวาฬในทะเล ซึ่งมักเกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหล สาหร่ายชนิดนี้มีสีเหลือง-เขียว น้ำตาลหรือแดง และผลิตสารที่เป็นพิษต่อระบบนิเวศในทะเล

โลกร้อนกับแพลงก์ตอนบลูม

ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นถึง 1.2 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยในมหาสมุทรสูงขึ้นถึง 21 องศาเซลเซียส ทำให้ธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมลอยขึ้นผิวน้ำ แพลงก์ตอนได้รับสารอาหารในปริมาณมากจึงเติบโตและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ประกอบกับน้ำทะเลจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ถึง 40%  ส่งผลให้พื้นที่ใต้ทะเลขาดอ็อกซิเจน สัตว์ทะเลจึงตายเป็นจำนวนมาก

“โลกร้อนขึ้น ก๊าซคาร์บอนไดอกไซด์เพิ่มขึ้น มีส่วนทำให้ทะเลอ่าวไทยในช่วงฤดูฝนเกิดแพลงค์ตอนบลูมทำให้น้ำทะเลเป็นสีเขียวบ่อยขึ้น..ระบบนิเวศในอ่าวไทยเปลี่ยนแปลง” นายสนธิระบุ

ข้อสรุปโคแฟค: ภาพจริง

ภาพและคลิปปลาตาย-น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียวที่เกิดขึ้นใน อ.ศรีราชา อ.เมือง และ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เป็นภาพจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงวันที่ 8-9 ก.ย. 2566 นายสนธิ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมให้ข้อมูลว่าเกิดจากปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม ซึ่งมักเกิดในช่วงฤดูฝน และอาจเชื่อมโยงกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเล อ.ศรีราชา ทำให้สถานการณ์แพลงก์ตอนบลูมและปลาตายรุนแรงยิ่งขึ้น พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนมาตรการการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันในทะเล ซึ่งไม่ควรใช้ในพื้นที่น้ำตื้นเพราะอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และต้องตรวจสอบการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในสัตว์น้ำด้วยเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค 

เรื่องแนะนำ