น้ำที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะทำปลาตายเต็มหาด ?

เนื้อหาเป็นเท็จ

คลิปวิดีโอและข้อความที่ส่งต่อกันในแอปพลิเคชันไลน์ที่ระบุว่า การปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะทำให้ปลาตายจำนวนมหาศาล เป็นข้อมูลเท็จ โดยโคแฟคตรวจสอบพบว่า คลิปดังกล่าวเป็นภาพเหตุการณ์เก่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ชายหาดแห่งหนึ่งในเมืองอิโตอิกาวะ จังหวัดนีงะตะ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะซึ่งเริ่มดำเนินการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566

ภาพคลิปวิดีโอความยาว 20 วินาที เผยให้เห็นปลานับแสนตัวลอยตายเป็นแพอยู่ในทะเลและถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกลื่อนชายหาด โดยมีเสียงบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่น กำลังถูกส่งต่อกันในหมู่ผู้ใช้แอปพลิเคชันไลน์ในไทย พร้อมด้วยข้อความภาษาไทยระบุว่า “เพียงวันเดียวเท่านั้นหลังจากญี่ปุ่นปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงสู่ทะเล” และ “งดการไปเที่ยวญี่ปุ่น งดทานอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะปลาดิบ อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี”

คลิปวิดีโอและข้อความนี้ถูกเผยแพร่ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่  11 มี.ค. 2554 เริ่มดำเนินการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วปริมาณ 1.3  ล้านตัน ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เริ่มตั้งแต่วันที่  24 ส.ค. 2566 และจะทยอยปล่อยออกมาจนกว่าจะหมด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 ปี   

โคแฟคตรวจสอบ

โคแฟคตรวจสอบคลิปวิดีโอและข้อความดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2566 โดยค้นหาที่มาของคลิปวิดีโอและข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในภาพ รวมทั้งติดต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทยเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดของการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ได้ข้อมูลดังนี้

  ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในคลิปวิดีโอ

คลิปวิดีโอนี้เป็นภาพจากการไลฟ์สตรีมของผู้ใช้แอปพลิเคชันติ๊กต็อกชาวญี่ปุ่น ที่บรรยายเหตุการณ์ฝูงปลาจำนวนมากลอยตายเกลื่อนอยู่ในทะเล เสียงบรรยายภาษาญี่ปุ่นสั้นๆ แปลเป็นภาษาไทยได้ใจความเพียงว่า ผู้ถ่ายวิดีโอเป็นคนท้องถิ่นที่ไม่เคยพบเห็นปรากฏการณ์ปลาตายจำนวนมหาศาลเช่นนี้ และขอบคุณที่ติดตามชม

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 Taiwan Fact Check ได้ตรวจสอบที่มาของคลิปวิดีโอนี้และรายงานว่าเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ที่ชายฝั่งทะเลในจังหวัดนีงะตะ เมื่อโคแฟคสืบค้นเพิ่มเติมพบว่ามีรายงานข่าวเหตุการณ์ปลาตายที่จังหวัดนีงะตะโดยสื่อมวลชนญี่ปุ่นหลายสำนัก หนึ่งในนั้นคือรายการ “News Every.” ของสถานีโทรทัศน์นิปปอนทีวี (Nippon TV) ซึ่งรายงานข่าวนี้ออกอากาศและช่องทางออนไลน์ทั้งยูทูปและติ๊กต็อกเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 มีภาพที่เชื่อได้ว่าถ่ายจากสถานที่และเหตุการณ์เดียวกันกับคลิปวิดีโอปลาตายที่ถูกส่งต่อในกลุ่มผู้ใช้ไลน์ของไทยในขณะนี้

ภาพบนเป็นภาพจากคลิปที่อ้างว่าเป็นเหตุการณ์ปลาตายหลังการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ส่วนภาพล่างเป็นภาพจากรายงานข่าวปลาตายเกลื่อนชายหาดที่จังหวัดนีงะตะ ของสถานีโทรทัศน์นิปปอนทีวีเมื่อ 8  ก.พ. 2566
ภาพจากเว็บไซต์ https://www.yokohama-maruuo.co.jp/ เผยแพร่วันที่ 9 ก.พ. 2566

สำหรับเหตุการณ์นี้ NHK รายงาน ว่าปลาที่ตายจำนวนมหาศาลและถูกคลื่นซัดมาเกยหาดเมืองอิโตอิกาวะ จังหวัดนีงะตะ เป็นปลาซาร์ดีน เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยประมงและมหาสมุทร สำนักงานประมงท้องถิ่นไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดของปรากฏการณ์นี้ แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่ฝูงปลาซาร์ดีนถูกปลาโลมาไล่ต้อน หรืออาจเกิดจากกระแสอุณภูมิน้ำที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้จังหวัดนีงะตะอยู่ทางตะวันตกของเกาะฮอนชู ฝั่งทะเลญี่ปุ่น ส่วนโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะตั้งอยู่ในจังหวัดฟุกุชิมะ ทางตะวันออก ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบของการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ

นับจากวันที่ 24 ส.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันแรกที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะเริ่มปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดลงสู่ทะเล จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานการตายของสัตว์ทะเลจำนวนมาก ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า ทางการญี่ปุ่นเฝ้าระวังผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สถานทูตญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2566 ระบุว่า  “รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญและยังคอยตรวจสอบเฝ้าระวังน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่ทะเลด้วยความโปร่งใส สำนักงานการประมงแห่งประเทศญี่ปุ่นและกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศผลการตรวจสอบระดับความความเข้มข้นของทริเทียมในวัตถุดิบจากท้องทะเล และในน้ำทะเลหลังจากปล่อยน้ำที่ผ่านระบบการบำบัดน้ำขั้นสูง (ALPS) พบว่ามีระดับอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย”

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ผลการตรวจสอบของสำนักงานการประมงแห่งประเทศญี่ปุ่นว่าไม่พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในตัวอย่างปลาที่จับได้ในระยะรัศมีประมาณ 4 กิโลเมตรทางทิศเหนือและในระยะรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตรทางทิศใต้จากจุดปล่อยน้ำ ด้านกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ทำการตรวจสอบน้ำทะเลในสถานีเฝ้าระวัง 11 แห่ง เมื่อวันที่ 27 ส.ค. พบว่าระดับความเข้มข้นของทริเทียมของน้ำทุกจุดอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น นายฟูมิโอะ คิชิดะ ยังได้รับประทานปลาดิบโชว์สื่อมวลชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคว่าอาหารทะเลจากจังหวัดอิวาเตะ มิยางิ ฟุกุชิมะ และอิบารากิ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ มีความปลอดภัย

ขณะที่ทางการไทย ได้แก่ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมประมง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น หลังการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งหากพบการปนเปื้อนจะใช้มาตรการส่งคืนหรือทำลาย

ข้อสรุปโคแฟค: เนื้อหาบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิดและความตื่นตระหนก

คลิปวิดีโอภาพปลาตายในทะเลความยาว 20 วินาที ที่ถูกส่งต่อทางแอปพลิเคชันไลน์ เป็นภาพเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ที่จังหวัดนีงะตะ หรือราว 6 เดือน ก่อนที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะจะเริ่มการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ข้อความที่ระบุว่าคลิปนี้เป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียง 1 วันหลังการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าจึงเป็นข้อมูลเท็จที่สร้างความเข้าใจผิดและอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นตระหนก และส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเลได้

ผู้ที่พบเห็นวิดีโอนี้ที่ถูกนำมาให้ข้อมูลในลักษณะที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผลกระทบจากการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะควรหยุดแชร์

อย่างไรก็ตาม ความกังวลของประชาชนต่อผลกระทบจากการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะและความปลอดภัยของอาหารทะเล เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ จึงควรดำเนินมาตรการเฝ้าระวังตรวจสอบอย่างเข้มข้น และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง  

เรื่องแนะนำ