สมรภูมิข่าวลวงการเมืองไต้หวัน ผ่านมุมมองของพรรค DPP
ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน ที่ปะทุขึ้นไม่กี่วันหลังจากนายไล ชิง-เตอ แห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party-DPP) สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2567 ตอกย้ำว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวันและพรรค DPP จะต้องรับมือกับความท้าทายอันหนักหน่วง ซึ่งรวมถึงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation-IO) ที่มีแนวโน้มจะเข้มข้นรุนแรงขึ้นนับจากนี้
นายไล หรือ “วิลเลียม ไล” กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนตอนหนึ่ง เรียกร้องให้จีนหยุดคุกคามไต้หวันทั้งทางการทหารและการเมือง และเคารพการเลือกของชาวไต้หวัน ทำให้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนออกมาย้ำว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และจีนจะใช้มาตรการตอบโต้ใครก็ตามที่ไม่ยอมรับนโยบายจีนเดียวและสนับสนุนเอกราชไต้หวัน จากนั้นจีนก็เปิดฉากซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันเมื่อวันที่ 23 พ.ค. โดยระบุชัดว่าเพื่อปราบปราม “กองกำลังแบ่งแยกดินแดน” ขณะที่บีบีซีรายงานว่า สื่อของรัฐบาลจีนโจมตีนายไลอย่างดุเดือด เช่น หนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ส เรียกนายไลว่า “คนอวดดี” ส่วนสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีเตือนว่า หากประธานาธิบดีไต้หวันและพรรค DPP ยังคงเดินหน้านำไต้หวันสู่อิสรภาพ พวกเขาจะ “ถูกบดขยี้และเผาไหม้” ในที่สุด
นี่เป็นสัญญาณว่า สงครามข้อมูลข่าวสารระลอกใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
ราวสองสัปดาห์ก่อนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี แม้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่พรรค DPP จะมีภารกิจรัดตัว แต่ก็สละเวลาเปิดที่ทำการพรรคในกรุงไทเปเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2567 ต้อนรับทีมงานโคแฟคและสื่อมวลชนไทยที่เดินทางไปศึกษาดูงานเรื่องบทเรียนการรับมือกับข่าวลวงของภาคส่วนต่าง ๆ ในไต้หวัน ในวาระครบรอบ 5 ปี การก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย การศึกษาดูงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีดิช เนามันเพื่อเสรีภาพ หนึ่งในภาคีร่วมก่อตั้งโคแฟค
ผู้แทนพรรค DPP นำโดยคุณหยาง ยี-ชาน รักษาการเลขาธิการพรรค คุณพูมา เชน สมาชิกสภานิติบัญญัติ คุณจาน เหอ-เชิน ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมสื่อ และคุณเวน ลี ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ ได้ให้ข้อมูล ข้อสังเกต และความคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์การเผยแพร่ข่าวลวงทางการเมือง (political disinformation) ในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2567 โดยประเด็นที่พรรค DPP ให้ความสนใจและจับตาดูอย่างใกล้ชิดก็คือบทบาทของจีนในสงครามข้อมูลข่าวสารเพื่อชี้นำความคิดของชาวไต้หวันและประชาคมโลก
นี่คือข้อสังเกต 5 ประการเกี่ยวกับสถานการณ์ข่าวลวงทางการเมืองในมุมมองของพรรค DPP
1. ข่าวลวงระบาดทั้ง “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์”
ก่อนจะมาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ คุณพูมา เชน เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Doublethink Lab องค์กรภาคประชาชนที่ศึกษาและเปิดโปงปฏิบัติการไอโอของจีน ประเด็นแรกที่คุณพูมาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข่าวลวงการเมืองในไต้หวันคือ ช่องทาง “ออฟไลน์” หรือการพูดกันแบบ “ปากต่อปาก” ยังมีบทบาทมากในการเผยแพร่ข่าวลวง/ข่าวลือ เช่น ตามร้านน้ำชา การพบปะกันในกิจกรรมทางศาสนาและความเชื่อ หรือผ่านการกระจายข่าวของผู้นำชุมชน
ส่วนในช่องทางออนไลน์ แน่นอนว่าข่าวลวงปรากฏทั้งใน IG, Facebook, YouTube, TikTok และ Line ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อกระแสหลักอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่รับเนื้อหาจากบัญชีโซเชียลมีเดียของบุคคลทั่วไปที่จะเผยแพร่เนื้อหาอะไรก็ได้ และกลายมาเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่ข่าวลวง ซึ่งพรรค DPP มองว่าส่งผลกระทบต่อการสื่อสารของพรรคกับประชาชนทั้งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งและการสื่อสารนโยบายในการบริหารประเทศ
คุณพูมาเรียกบัญชีผู้ใช้โซเชียลมีเดียเหล่านี้ว่าเป็น “อินฟลูเอนเซอร์จิ๋ว” (micro influencer) ที่มีผู้ติดตามไม่มากนัก ราวหลักหมื่น แต่ถ้าอินฟลูเอนเซอร์จิ๋วเหล่านี้พร้อมใจกันแพร่ข่าวลวง พวกเขาก็สามารถกระจายข่าวลวงและมีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของผู้คนจำนวนมากได้
2. เนื้อหามุ่งทำลายความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับประเทศอื่น ๆ
เนื้อหาข่าวลวงทางการเมืองที่พรรค DPP เจอมีตั้งแต่ประเด็นเชิงนโยบาย ข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริต ไปจนถึงเรื่องส่วนตัวของบุคคลในพรรค แต่แนวโน้มที่น่าสนใจในความเห็นของคุณเวน ลี ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศของพรรค คือการเพิ่มขึ้นของข่าวลวงที่เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น ความใกล้ชิดระหว่างพรรค DPP กับสหรัฐอเมริกา ตลอดรวมทั้งข่าวลวงที่มุ่งทำลายความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและยุโรป ซึ่งคุณเวน ลี มองว่าข่าวลวงเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อชี้นำให้คนไต้หวันเชื่อว่า ไม่มีประเทศไหนที่น่าไว้ใจเลยนอกจากจีน
3. ต่อสู้กับข่าวลวง “ไม่ง่าย”
แม้จะเป็นพรรคการเมืองใหญ่ มีบุคลากรระดับหัวกะทิ และทีมงานจำนวนมาก แต่ DPP ก็ยังพบว่าการต่อสู้กับข่าวลวงนั้นเป็น “งานยาก” และเผชิญอุปสรรคไม่ต่างจากองค์กรที่ทำงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่น การที่ข่าวลวง/ข้อมูลเท็จเข้าถึงประชาชนได้ง่ายกว่าและรวดเร็วกว่าความจริง/ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่เอื้อต่อการทำให้ข่าวลวงกลายเป็นไวรัล พฤติกรรมการเสพข้อมูลข่าวสารของประชาชน และปฏิบัติการไอโอที่ทำให้การเผยแพร่ข่าวลวงเป็นไปอย่างมีระบบ
คุณจาน เหอ-เชิน ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมสื่อ พรรค DPP ผู้ดูแลงานสื่อสารสาธารณะของพรรค กล่าวเสริมว่า จากประสบการณ์ทำงานรณรงค์หาเสียงทางการเมืองมากว่า 10 ปี เขาพบว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ภูมิทัศน์การสื่อสารทางการเมืองเปลี่ยนไปมากที่สุด พรรคการเมืองต้องทุ่มสรรพกำลังจำนวนมากไปกับการตรวจสอบข้อมูล หักล้างข่าวลวง/ข้อมูลเท็จ และเผยแพร่ข้อเท็จจริงแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังต้องออกแบบการสื่อสารและเนื้อหาให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่แตกแยกย่อยเป็นกลุ่ม มีความสนใจเฉพาะและพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
4. AI ทำให้สถานการณ์ข่าวลวงซับซ้อนยิ่งขึ้น
ช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อเดือนมกราคม 2567 เครือข่ายพลเมืองด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบการใช้ Artificial Intelligence (AI) สร้างวิดีโอที่มีเนื้อหาเท็จหรือ Deepfake เพื่อโจมตีพรรค DPP ซึ่งคุณพูมามองว่ายังมีจำนวนไม่มากนัก แต่แนวโน้มการใช้ AI สร้างข่าวลวงการเมืองจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และจะส่งผลต่อการเผยแพร่ข่าวลวงในอย่างน้อย 3 มิติ คือ
- AI ทำให้ข่าวลวงมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้นและเหมือนจริงมากขึ้นจนทำให้แยกแยะว่าอะไรจริง-ไม่จริงได้ยากมาก จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่มาช่วยจับเท็จ Deepfake ควบคู่ไปกับการทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันข่าวลวง ด้วยการรู้เท่าทันเทคโนโลยีและมีทักษะในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
- AI ทำให้เกิดการบิดเบือนความเห็นสาธารณะด้วยการเผยแพร่ข้อมูลและความเห็นผ่าน bots และจากนั้นอัลกอรึทึมของโซเชียลมีเดีย ก็จะทำให้เนื้อหาที่มาจาก bots เพิ่มจำนวนและแพร่กระจายได้กว้างขวางอย่างรวดเร็ว กลายเป็นความเห็นสาธารณะที่ไม่ได้มาจากบุคคลที่มีตัวตน และกลบเสียงของประชาชนที่แท้จริง
- AI สร้างข่าวลวงหลายภาษา ความสามารถในการแปลภาษาของ AI ทำให้ข่าวลวงก้าวข้ามพรมแดนของภาษาสู่การรับรู้ของผู้คนในหลากหลายประเทศ เกิดการเข้าถึงและ engagement มหาศาล
5. “ความร่วมมือกัน” คือหนทางสู้ข่าวลวง
คุณพูมาให้ความเห็นว่า การต่อสู้กับข่าวลวงจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือกัน โดยเฉพาะความร่วมมือจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ในการกำหนดมาตรฐานการใช้งานร่วมกันของชุมชนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของข่าวลวงและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง เขายกตัวอย่างการประสานงานระหว่างพรรค DPP กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มในการลบเนื้อหาเท็จว่าด้วยการทุจริตการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน คุณพูมาย้ำว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเป็นตัวแปรสำคัญในสมรภูมิการต่อสู้กับข่าวลวง
นอกจากความร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแล้ว พรรค DPP ยังเสนอให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันในทุกระดับเพื่อต่อต้านข่าวลวง เพราะด้วยเทคโนโลยี AI ทำให้ข่าวลวงก้าวข้ามพรมแดน ก้าวข้ามภาษาที่สามารถจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างประเทศ และบ่อนทำลายประชาธิปไตยได้