คนเวียดนามแห่กด “ติดตาม-ถูกใจ” โพสต์เฟซบุ๊กผู้สมัครนายก อบจ. พรรคประชาชน ?

Top Fact Checks Political

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน

โคแฟคตรวจสอบกรณีเพจเฟซบุ๊ก “วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร” และ “ความจริงของระยอง” ตั้งข้อสังเกตว่าเฟซบุ๊กทางการของผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) เชียงใหม่และระยอง สังกัดพรรคประชาชน มีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวเวียดนามเข้ามากด “ติดตาม” และ “ถูกใจ” เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่าผู้สมัครทั้งสองคนใช้งบประมาณหาเสียงสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ติดตามหวังสร้างกระแสความนิยม

เพจ “วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร” และ “ความจริงของระยอง” ซึ่งเป็นเพจที่มีเนื้อหาโจมตีพรรคประชาชน เป็นเพจแรก ๆ ที่พบความผิดปกตินี้ และโพสต์ข้อความกล่าวหาว่า นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ และนายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้สมัครนายก อบจ. ระยอง สังกัดพรรคประชาชน “ปั๊มยอดผู้ติดตาม” เฟซบุ๊ก เพื่อสร้างภาพว่าผู้สมัครได้รับความนิยมจากประชาชน นอกจากนี้ยังล้อเลียนด้วยถ้อยคำอย่างเช่น “พรรคประชาชนเวียดนาม” “ด้อมส้มฮานอย” และ “นายก อบจ. โฮจิมินห์” ต่อมาข้อกล่าวหาและข้อความล้อเลียนนี้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดยผู้ใช้ TikTok

นายพันธุ์อาจและทีมงานของนายทรงธรรมให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า พบบัญชีที่ใช้ชื่อภาษาเวียดนามเข้ามากดติดตามเฟซบุ๊กและกด “ถูกใจ” จำนวนมากผิดปกติจริง แต่ผู้สมัครทั้งสองคนยืนยันว่าไม่ได้ใช้งบประมาณหาเสียงในการเพิ่มยอดผู้ติดตามหรือเพิ่มยอดเอ็นเกจเมนต์ในเฟซบุ๊กตามที่ถูกกล่าวหา และสันนิษฐานว่าบัญชีผู้ใช้เวียดนามเหล่านี้เป็นบัญชีที่ผู้ไม่หวังดีสร้างขึ้นโดยใช้โปรแกรมอัตโนมัติหรือ “บอต” (bot) เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของผู้สมัครนายก อบจ. ของพรรคประชาชน

ลำดับเหตุการณ์และข้อความกล่าวหา

26 พฤศจิกายน 2567 เพจเฟซบุ๊ก “ความจริงของระยอง” ผู้ติดตาม 2.5 พันคน โพสต์ข้อความว่าเพจเฟซบุ๊กทางการของนายทรงธรรมมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลายพันคน โดยพบว่า “เป็นแอคเวียดนามเกือบทั้งหมดและเป็นอวตารทั้งนั้น” และกล่าวหาว่ากรณีนี้เป็นการปลอมบัญชีผู้ติดตามเพจซึ่งแสดงถึง “ความไม่ซื่อสัตย์” ของผู้สมัครนายก อบจ. ระยอง (ลิงก์บันทึก)

ภาพจากเฟซบุ๊ก “ความจริงของระยอง” ที่ระบุว่าพบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวเวียดนาม
กดติดตามเพจเฟซบุ๊กของนายทรงธรรม สุขสว่าง จำนวนมาก

24 ธันวาคม 2567 เพจเฟซบุ๊ก “ความจริงของระยอง” โพสต์ภาพคล้ายโปสเตอร์หาเสียงของนายทรงธรรม มีสัญลักษณ์พรรคประชาชน และข้อความเป็นภาษาเวียดนามเชิญชวนให้เลือกนายทรงธรรมเป็นนายก อบจ.ระยอง (ลิงก์บันทึก)

26 ธันวาคม 2567 เพจ “ความจริงของระยอง” โพสต์ภาพรายชื่อผู้ติดตาม/กดถูกใจ เฟซบุ๊กของนายพันธุ์อาจและนายทรงธรรมที่เป็นชื่อคนเวียดนาม มีข้อความในภาพว่า “ด้อมส้มฮานอย ผู้สมัครไทยขวัญใจชาวเวียดนาม” (ลิงก์บันทึก)

26 ธันวาคม 2567 เพจเฟซบุ๊ก “วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร” ผู้ติดตามกว่า 8.3 หมื่นคน โพสต์ข้อความว่า เฟซบุ๊กของนายพันธุ์อาจ ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ มีบัญชีผู้ใช้ชาวเวียดนามมากดถูกใจจำนวนมาก และตั้งคำถามว่า “ผู้สมัครพรรคส้มลงสมัคร อบจ.โฮจิมินห์ หรือ อบจ.เชียงใหม่กันแน่คะ ทำไมมีแต่เฟสเวียดนามมากดถูกใจทั้งนั้นเลย” (ลิงก์บันทีก)

เนื้อหาลักษณะเดียวกันนี้ยังปรากฏในแอปพลิเคชัน TikTok โดยนำภาพและข้อความจากเพจ “ความจริงของระยอง” และ “วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร” ไปเผยแพร่ต่อ (ลิงก์บันทึก 1, 2 และ 3)

เนื้อหาจากเพจ “ความจริงของระยอง” ถูกนำไปเผยแพร่ใน TikTok

โคแฟคตรวจสอบ

● เฟซบุ๊ก ทรงธรรม สุขสว่าง – Songtam Suksawang – พี่ถัง ผู้ติดตาม 6.7 พันคน (ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2567) ทางเพจตั้งค่าไม่แสดงรายชื่อผู้ติดตาม โคแฟคจึงไม่สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ติดตามได้ว่ามีบัญชีที่ใช้ชื่อเวียดนามจำนวนเท่าไหร่

ทีมงานพรรคประชาชน จ.ระยอง ให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า จำนวนผู้ติดตามเพจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจริงในช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังจากเปิดเพจเฟซบุ๊กนี้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 โดยมีบัญชีผู้ใช้ที่ใช้ชื่อภาษาเวียดนามจำนวนมาก เมื่อทีมแอดมินกดเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมของบัญชีผู้ใช้เหล่านั้นพบว่ามีลักษณะคล้ายบัญชีปลอมที่สร้างด้วยบอต ทีมงานเห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติ จึงได้แจ้ง Meta ผู้ให้บริการเฟซบุ๊กเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและขอให้ช่วยตรวจสอบ แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่า “ไม่พบความผิดปกติ”

ทีมงานพรรคประชาชน จ.ระยอง ยืนยันว่านายทรงธรรมและทีมแอดมินเพจเฟซบุ๊กไม่ได้เป็นผู้สร้างบัญชีผู้ติดตามเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อ “ปั๊มยอดผู้ติดตามเพจ” ตามที่ถูกกล่าวหา ในทางกลับกันเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อการประเมินความนิยมที่แท้จริงของประชาชนต่อผู้สมัคร และยังถูกนำไปทำลายความน่าเชื่อถือของผู้สมัครนายก อบจ. พรรคประชาชนด้วย

● เฟซบุ๊ก พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้ติดตาม 4.3 พันคน (ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2567) ทางเพจตั้งค่าไม่แสดงรายชื่อผู้ติดตามเช่นเดียวกัน โคแฟคจึงไม่สามารถเข้าถึงรายชื่อผู้ติดตามได้ แอดมินเพจให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า จำนวนผู้ติดตามเพจเฟซบุ๊กไม่ได้เพิ่มขึ้นผิดปกติ แต่ทีมงานพบว่าเนื้อหาที่โพสต์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 มีบัญชีผู้ใช้ชื่อเวียดนามเข้ามากด “ถูกใจ” จำนวนมาก

โคแฟคตรวจสอบโพสต์ดังกล่าวพบว่า เป็นคลิปวิดีโอขบวนรถหาเสียงของนายพันธุ์อาจในตัวเมืองเชียงใหม่ มีการเข้ามากดแสดงความรู้สึกทั้งหมด 224 บัญชี (ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2567) ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ใช้ชื่อภาษาเวียดนามมากกว่า 60 บัญชี เมื่อกดเข้าไปดูโปรไฟล์บัญชีผู้ใช้เหล่านี้พบว่ามีเพียงชื่อและรูปโปรไฟล์เท่านั้น ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของบัญชีหรือโพสต์ย้อนหลัง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับบัญชีผู้ใช้อื่น เป็นบัญชีที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ในช่วงเดือนธันวาคม 2567 รูปโปรไฟล์ไม่ใช่ภาพบุคคลจริงและเมื่อนำไปค้นหาที่มาก็พบว่าเป็นรูปที่นำมาจากแหล่งอื่น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของบัญชีเฟซบุ๊กปลอมที่ควบคุมด้วยบอต (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของบัญชีเฟซบุ๊กปลอม ที่นี่)

ส่วนหนึ่งของบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เข้ามากด “ถูกใจ” โพสต์เฟซบุ๊กของนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์

นายพันธุ์อาจยืนยันกับโคแฟคว่าเขาและทีมงานไม่ได้ใช้เงินในการโปรโมทเพจเฟซบุ๊กหรือเพิ่มจำนวนผู้ติดตาม ไม่มีนโยบายใช้บอตสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ติดตาม และในความเป็นจริงก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่คนเวียดนามจะมาให้ความสนใจการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศไทย

นายพันธุ์อาจกล่าวว่า เหตุการณ์นี้ทำให้คนบางกลุ่มเช่นเพจ “วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร” นำมาโจมตีเขาและทีมงาน ทำให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในตัวผู้สมัคร นายก อบจ.

“หากยังคงมีการใช้ข้อมูลเท็จโจมตีผู้สมัครอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น ก็อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่หลงเชื่อข้อมูลเท็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย” นายพันธุ์อาจกล่าว

ความเห็นโคแฟค

1) จากการตรวจสอบของโคแฟคและข้อมูลจากการให้สัมภาษณ์ของนายพันธุ์อาจและทีมงานพรรคประชาชน จ.ระยอง สรุปได้ว่า เพจเฟซบุ๊กของผู้สมัคร นายก อบจ. เชียงใหม่และระยอง ของพรรคประชาชนมีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อภาษาเวียดนามเข้ามากดติดตามและกด “ถูกใจ” เป็นจำนวนมากจริง  

2) โคแฟคตรวจสอบโปรไฟล์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อเวียดนามพบว่าเป็นลักษณะโปรไฟล์ที่สร้างโดยบอต กล่าวคือมีแค่ชื่อและรูปโปรไฟล์ ไม่มีข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับเจ้าของบัญชี ไม่มีโพสต์ย้อนหลัง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับบัญชีอื่น รูปโปรไฟล์ไม่ใช่ภาพบุคคลจริงและนำมาจากแหล่งอื่นในอินเทอร์เน็ต

3) โคแฟคไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กต้องสงสัยว่าสร้างโดยบอตเหล่านี้ แต่ผู้สมัคร นายก อบจ. เชียงใหม่และทีมงานของนายทรงธรรม ผู้สมัครนายก อบจ.ระยอง ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติที่เกิดขึ้น และไม่เคยใช้งบประมาณหาเสียงไปในการสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมเพื่อเพิ่มยอดผู้ติดตามหรือเพิ่มเอ็นเกจเมนต์ พร้อมทั้งแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการส่งเรื่องให้ Meta ตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นแล้ว

4) Meta ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเฟซบุ๊กประกาศว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะกำจัดบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กปลอม โดยรายงานว่าระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2567 ได้ลบบัญชีปลอมไปมากกว่า 3 พันล้านบัญชี โคแฟคเห็นว่าเมื่อแอดมินเพจของผู้สมัครนายก อบจ. ได้รายงานความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับ Meta แล้ว ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มควรดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง และหากพบว่าเป็นบัญชีที่สร้างโดยบอตจริง ก็ควรดำเนินการลบอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้มีการนำไปใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองต่อไป

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ