กกต.-ไอลอว์ ร่วมจับตาเลือกตั้ง 2566 กับการกลับมาของข้อกล่าวหา “อเมริกาแทรกแซงการเมืองไทย”
กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน
ข้อกล่าวหาเรื่องสหรัฐอเมริกาแทรกแซงการเมืองไทยโดยใช้องค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งทุนในสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือ กำลังกลับมาวนซ้ำในช่วงที่ไทยนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 หลังจากที่ข้อกล่าวหานี้เคยถูกเผยแพร่หลายมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ช่วงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2563 และก่อนหน้านี้มีมาเป็นระยะนับตั้งแต่ช่วงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยปี 2553
โคแฟคตรวจสอบพบว่า ข้อกล่าวหานี้มีต้นตอมาจากบทวิเคราะห์ของนายไบรอัน เบอร์เลติก (Brian Berletic) ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็นนักวิเคราะห์อิสระด้านภูมิรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่พำนักอยู่ในไทย และถูกนำมาเผยแพร่ต่อในโซเชียลมีเดียโดยสื่อมวลชนและองค์กรแสดงตัวชัดว่าสนับสนุนรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่น Top News และสถาบันทิศทางไทย
บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเมืองไทยของนายไบรอันมีทั้งบทความออนไลน์และวิดีโอในยูทูป เนื้อหาหลักเป็นการกล่าวหารัฐบาลสหรัฐฯ ว่าเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยเพื่อกำจัดรัฐบาลที่ขัดขวางผลประโยชน์และแทนที่ด้วยรัฐบาลที่ “พร้อมรับใช้” อเมริกา การแทรกแซงนี้กระทำผ่านการให้เงินสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เช่น โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ National Endowment for Democracy (NED) ซึ่งนายไบรอันเปรียบว่าเป็น “ซีไอเอภาคพลเรือน” ที่ใช้เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมาบังหน้าปฏิบัติการลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่าง ๆ
โคแฟคเห็นว่า ประเด็นเรื่องสหรัฐฯ แทรกแซงการเลือกตั้งของไทยผ่านเอ็นจีโอที่รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้นเป็นเพียงความคิดเห็นและข้อกล่าวหาที่ยังไม่มีบทสรุป หรือที่เรียกว่าทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) แม้การวิเคราะห์หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องที่บุคคลจะกระทำได้ แต่ประชาชนควรรับฟังอย่างมีวิจารณญาณ แยกแยะระหว่างเนื้อหาที่เป็นความคิดเห็นและข้อเท็จจริง พิจารณาข้อมูลให้รอบด้านก่อนเชื่อหรือแชร์ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งที่อาจมีการปล่อยข่าวลวงโน้มน้าวให้เชื่อข้อมูลบางอย่างที่บั่นทอนและทำลายกระบวนการเลือกตั้งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ “ไบรอัน เบอร์เลติก”
นายไบรอันให้สัมภาษณ์ในรายการ “Talk 2 Ways” ของ Top News เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 ว่าเขาเป็นอดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่เคยเดินทางมาประเทศไทยเพื่อฝึกซ้อมรบ ด้วยความที่ชอบประเทศไทยมาก หลังจากปลดประจำการจึงเดินทางมาอยู่ที่ไทยจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว โดยทำงานด้านการออกแบบอุตสาหกรรม และศึกษาค้นคว้าด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นงานอดิเรก ประเด็นที่สนใจและเชี่ยวชาญเป็นพิเศษคือสหรัฐฯ กับการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆ
ไบรอันบอกว่าเขาเริ่มสนใจบทบาทของสหรัฐฯ กับการเมืองไทยในปี 2553 ซึ่งมีการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดง จึงเริ่มเขียนแสดงความคิดเห็นโดยใช้นามปากกาว่า “โทนี คาตาลุชชี” (Tony Cartalucci) เผยแพร่ในเว็บไวต์วารสารออนไลน์ New Eastern Outlook ของรัสเซีย และ Land Destroyer ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เขาก่อตั้งและดูแลเอง
โคแฟคตรวจสอบพบว่า ในเดือนกรกฎาคม 2562 เฟซบุ๊กได้ปิดเพจและลบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก กว่า 20 รายการ รวมทั้งเพจ/บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เผยแพร่บทวิเคราะห์ของนายไบรอัน หลังจากสอบสวนพบว่าเพจ/บัญชีผู้ใช้เหล่านี้ดำเนินการโดยเครือข่ายของผู้ที่ใช้ตัวตนปลอม (Coordinated Inauthentic Behavior) ซึ่งมักเผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความแตกแยกเกี่ยวกับการเมืองไทย การเคลื่อนไหวของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน การประท้วงในฮ่องกง เฟซบุ๊กยังพบด้วยว่าหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังกิจกรรมเหล่านี้ “เป็นบุคคลที่พำนักอยู่ในไทยและมีความเชื่อมโยงกับเว็บไซต์วารสารออนไลน์ New Eastern Outlook ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย”
นายไบรอันกล่าวว่าบัญชีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ทั้งหมดของเขาถูกลบจริง ซึ่งเขามองว่าเป็นการเซ็นเซอร์มากกว่าเหตุผลเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ตามที่เฟซบุ๊กอ้าง
ข้อกล่าวหาเดิมในบริบทใหม่
นายไบรอันเผยแพร่บทวิเคราะห์ว่าด้วยการแทรกแซงการเมืองไทยโดยสหรัฐฯ หลายครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมักจะเชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง
สำหรับการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 นายไบรอันได้เผยแพร่ข้อกล่าวหาเรื่องสหรัฐฯ แทรกแซงการเลือกตั้งของไทยมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 7 เม.ย. 2566 ซึ่งเขาโพสต์วิดีโอวิเคราะห์การเมืองไทยทางช่องยูทูป @TheNewAtlas บทวิเคราะห์นี้อ้างถึงบทความเรื่อง “Shut Out of Democracy Summit, Thailand Prepares for May Elections as Restrictive Laws Aim to Silence Youth Activists” ที่เขียนโดย น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ “ทนายจูน” ผู้ร่วมก่อตั้งและทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเผยแพร่บนเว็บไซต์ Just Security เมื่อ 28 มี.ค. 2566 โดยไบรอันตีความว่าบทความชิ้นนี้เป็นการเรียกร้องให้สหรัฐฯ แทรกแซงการเมืองไทยและกดดันรัฐบาลไทยให้ยกเลิกการตั้งข้อหาและการดำเนินคดีนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย เขาระบุว่าศูนย์ทนายฯ เป็นหนึ่งในองค์กรที่รับทุนจาก NED และกรณีนี้เป็นตัวอย่างของการที่สหรัฐฯ ใช้เอ็นจีโอเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงกิจการภายในของไทย
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 นายไบรอันได้โพสต์วิดีโอทางยูทูป อ้างถึงรายงานข่าวเมื่อ 23 เม.ย.2566 ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมมือกับไอลอว์ในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยนายไบรอันตั้งคำถามว่า “ทำไม กกต. ถึงยอมทำอะไรก็ตามร่วมกับไอลอว์ ทั้งที่ไอลอว์เป็นองค์กรที่รับเงินสนับสนุนจากประเทศที่เข้ามายุ่งเหยิงกับกิจการภายในของไทยอย่างโจ่งแจ้ง” ก่อนสรุปในตอนท้ายว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. นี้ “ไม่ได้มาจากการกำหนดอนาคตตนเองของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวไทย แต่มาจากการแทรกแซงของต่างชาติ”
บทวิเคราะห์ของนายไบรอันทั้ง 2 ชิ้น ซึ่งแต่ละคลิปมียอดการเข้าชมกว่า 5 หมื่นครั้ง ถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดย Top News และสถาบันทิศทางไทย ซึ่งระบุว่านายไบรอันเป็น “ผู้ชำนาญการด้านสถานการณ์ต่างประเทศของสถาบันทิศทางไทย” ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ให้ความเห็นทำนองเดียวกับนายไบรอันว่า “เตือนสติ กกต. ดึงต่างชาติแทรกแซงการเลือกตั้ง…มีตั้งหลายหน่วยงานทั้งเอกชนและรัฐออกมาช่วยกันตรวจสอบเลือกตั้งให้สุจริต กกต. ดันไม่สนใจ แต่ไปสนใจองค์กร NGO ที่รับเงินต่างประเทศ” พร้อมกับนำลิงก์วิดีโอยูทูปของนายไบรอันมาประกอบ
คำอธิบายจากไอลอว์
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า ไอลอว์ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก NED จริง โดยปีนี้เป็นปีที่ 9 ที่ NED ซึ่งเป็นแหล่งทุนอิสระของสหรัฐอเมริกาที่รับทุนจากสภาครองเกรสเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในโลก อนุมัติเงินทุนสนับสนุนไอลอว์ในการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย แต่ยืนยันว่า NED ไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายหรือกำกับการดำเนินงานของผู้รับทุน
“NED เป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นองค์กรใต้ดิน มีระบบการเสนอโครงการเพื่อขอรับทุน เราเป็นผู้เสนอโครงการไป ถ้าเขาอนุมัติเงินทุนให้ เราก็กลับมาดำเนินการตามโครงการที่เราเป็นผู้ริเริ่มเองทั้งหมด และมีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานว่าสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ เขาไม่ได้เข้ามาจี้หรือเป็นนายจ้าง ไม่ใช่ว่าทำงานสำเร็จแล้วเขาถึงจะจ่ายเงิน แต่เราเป็นคนคิดและทำทั้งหมด ซึ่งก็มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ” นายยิ่งชีพให้สัมภาษณ์โคแฟคทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566
ในส่วนของการทำงานร่วมกับ กกต. นั้น ผู้จัดการไอลอว์อธิบายว่า ไอลอว์ได้หารือและแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ กกต. 2-3 ครั้งในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2566 ตามคำเชิญของนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ซึ่งนายยิ่งชีพบอกว่า “นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ไอลอว์และ กกต.ได้สื่อสารกันโดยตรง”
นายยิ่งชีพให้ข้อมูลว่าประเด็นที่ กกต. กังวลมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การซื้อเสียง ขณะที่ไอลอว์เป็นห่วงเรื่องการโกงผลการเลือกตั้งในช่วงนับคะแนน เลขา กกต. จึงได้ประสานให้ไอลอว์ประชุมร่วมกับ ร.ต.อ. มนูญ วิเชียรนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 3 ของ กกต. ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือกันถึงแนวทางการรับและตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการซื้อเสียง และได้ข้อสรุปว่าจะร่วมกันผลิตคลิปวิดีโอสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเกี่ยวกับกระบวนการร้องเรียน การแจ้งเบาะแส การคุ้มครองพยานและการให้รางวัลนำจับเพื่อสร้างแรงจูงใจและความมั่นใจให้ประชาชน
“ความร่วมมือระหว่าง กกต.และไอลอว์เป็นเพียงการประสานงานกันในระดับผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความราบรื่นและสุจริต…ไอลอว์ไม่มีอำนาจใดที่จะแทรกแซงการทำงานของ กกต. ดังนั้นข้อกล่าวหาว่าการที่ กกต. ร่วมมือกับไอลอว์เป็นการเปิดประตูให้สหรัฐฯ แทรกแซงการเลือกตั้งของไทยจึงไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิง” ผู้จัดการไอลอว์กล่าว
กกต. “พร้อมให้ความร่วมมือองค์กรภาคประชาสังคม”
ทางด้านสำนักงาน กกต. เผยแพร่เอกสารข่าวเมื่อ 26 เม.ย. 2566 ระบุว่า กกต.“มีความยินดีและพร้อมให้การสนับสนุน และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติภารกิจขององค์กรภาคประชาสังคมในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง” โดยพร้อมสนับสนุนทุกองค์กร ไม่เพียงไอลอว์และ We Watch ที่ประสานงานมาเท่านั้น เพราะเล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เพื่อทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย