โคแฟครวมการตรวจสอบข้อมูล เหตุการณ์ปะทะระหว่างไทยกับกัมพูชา วันที่ 24 – 25 ก.ค. 2568 

นับตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 24 ก.ค. 2568 ซึ่งมีรายงานว่า กองทัพกัมพูชาเปิดฉากโจมตีเข้ามาในฝั่งไทย และทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย ตามด้วยการตอบโต้จากกองทัพไทย ในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งทางโคแฟคได้ร่วมตรวจสอบแล้วบางส่วน มีทั้งที่เป็นข้อมูลจริงและเท็จ ดังนี้ 

ภาพ 01 ภาพจากคลิปกระสุนตกบริเวณปั๊ม ปตท. บ้านผือ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ

เนื้อหาที่ตรวจสอบ : คลิปกระสุนตกบริเวณปั๊ม ปตท. บ้านผือ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ 

ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **เนื้อหาจริง**

เนื้อหาโดยสรุป: วันที่ 24 ก.ค. 2568 เวลา 11.19น. ผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์คลิปภาพกลุ่มควันพวยพุ่งบริเวณปั๊มน้ำมัน ปตท. บ้านผือ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยบรรยายว่าเป็นภาพจุดที่ได้รับความเสียหายจากเหตุปะทะที่ชายแดนไทยกัมพูชาซึ่งโคแฟคตรวจสอบจากการรายงานของสื่อมวลชนและเฟซบุ๊กกองทัพภาคที่ 2 พบว่าคลิปดังกล่าวเป็นภาพเหตุการณ์จริง โดยกองทัพภาคที่ 2 โพสต์คลิปเมื่อเวลา 11.29 น. ว่ากระสุน BM21 ตกใส่ปั๊ม ปตท. บ้านผือ มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

อนึ่ง ปั๊มน้ำมัน ปตท.ที่เกิดเหตุตั้งอยู่บริเวณรอยต่อพื้นที่บ้านผือและบ้านน้ำเย็น คนในพื้นที่จึงเรียกทั้งสาขาบ้านผือและบ้านน้ำเย็น แต่หากเช็กใน Google Map จะระบุว่าเป็นบ้านน้ำเย็น

ภาพ 02 : ภาพจากคลิป “ยิง รพ.พนมดงรัก” จ.สุรินทร์

เนื้อหาที่ตรวจสอบ: คลิป “ยิง รพ.พนมดงรัก” จ.สุรินทร์

ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **เนื้อหาจริง**

เนื้อหาโดยสรุป: วันที่ 24 ก.ค. 2568 เวลา 12.09 น. เพจเฟซบุ๊ก “แนวหน้า มั่นคง” โพสต์คลิปภาพทหารหมอบหาที่กำบังในอาคาร ขณะที่ด้านนอกมีกลุ่มควันพวยพุ่ง เขียนคำบรรยายเหตุการณ์ว่า กระสุน BM-21 ตกใส่บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลพนมดงรัก อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์

โคแฟคตรวจสอบกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ เจ้าหน้าที่ยืนยันว่ามีกระสุนจากเหตุปะทะที่ชายแดนไทย-กัมพูชาตกบริเวณ รพ. จริง ขณะนี้ผู้บริหารกำลังประชุมสรุปเหตุการณ์และมาตรการที่จำเป็น ขณะที่ภาคีเครือข่ายโคแฟคที่เป็นเจ้าหน้าที่ รพ. พนมดงรัก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีลูกปืนตกบริเวณฐานพระพุทธรูปด้านหน้า รพ. และมีทหารได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด

นอกจากนั้น เพจเฟซบุ๊ก กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความเมื่อเวลา 9.34 น. วันนี้ว่า “จากเหตุปะทะบริเวณปราสาทตาเมือนธม สถานบริการของ สธ. เริ่มปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ โดย รพ.พนมดงรักได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจาก รพ. หมดแล้ว” รวมถึงเว็บไซต์ข่าวสาธารณสุข Hfocus รายงานคำพูดของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุขว่า รพ.พนมดงรัก มีขนาด 30 เตียง ได้ย้ายผู้ป่วย ไป รพ. อื่น 19 ราย และให้กลับบ้าน 19 ราย

ภาพ 03 : ภาพจากคลิปที่อ้างว่าเป็นเครื่องบิน คลิป F-16 ของไทย ทิ้งระเบิดกองบัญชาการกัมพูชา

นื้อหาที่ตรวจสอบ: คลิป F-16 ทิ้งระเบิดกองบัญชาการกัมพูชา

ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **เนื้อหาเท็จ หยุดแชร์**

เนื้อหาโดยสรุป: วันที่ 24 ก.ค. 2568 เวลา 12.54 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์คลิปวิดีโอเป็นภาพเครื่องบินทิ้งระเบิด พร้อมข้อความบรรยายว่า “ด่วน! F-16 ทิ้งบอมบ์ 2 กองบัญชาการกัมพูชา กระเจิง หลังยิงปืนใหญ่ใส่บ้านเรือนคนไทย…”

โคแฟคตรวจสอบด้วยการนำภาพจากวิดีโอไปสืบค้นด้วยเครื่องมือ Google Reverse Image พบเป็นคลิปที่ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์มานานหลายปีก่อนเหตุการณ์ปะทะระหว่างทหารไทยกับกัมพูชาวันนี้ โดยคลิปนี้ถูกแชร์กันอย่างแพร่หลายในบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้ภาษาอาหรับ มีการอ้างอิงว่าเป็นภาพจากเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย เช่น การสู้รบระหว่างอินเดีย –ปากีสถาน และการทิ้งระเบิดในประเทศซูดาน

อย่างไรก็ตาม โคแฟคยังไม่สามารถตรวจสอบได้คลิปนี้เป็นภาพเหตุการณ์ใด ที่ไหน หรือเป็นภาพที่สร้างจากเอไอหรือไม่

ภาพ 04 : ภาพจากคลิปที่อ้างว่าทหารกัมพูชาไล่ยิงนักศึกษาใน จ.สุรินทร์

เนื้อหาที่ตรวจสอบ: ทหารกัมพูชาไล่ยิงนักศึกษาใน จ.สุรินทร์

ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **เนื้อหาบิดเบือน**

เนื้อหาโดยสรุป: ช่วงบ่ายวันนี้ (24 ก.ค. 68) ผู้ใช้ติ๊กตอกโพสต์คลิปวิดีโอนักเรียนวิ่งหนีและส่งเสียงร้องด้วยความตกใจและหวาดกลัว โดยฝังคำบรรยายว่า “เขมรบุกเข้ามาไล่ยิงในพื้นที่ของนักศึกษาแล้ว”

โคแฟคตรวจสอบเครื่องแบบนักเรียนในคลิปพบว่าเป็นเครื่องแบบของนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพสังขะ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ จึงได้ติดต่อสอบถามข้อมูลจากวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่มีเหตุการณ์ที่คนเขมรเข้ามาก่อเหตุตามที่คลิปกล่าวอ้าง ส่วนภาพในคลิปเป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาของวิทยาลัยตกใจเสียงปืนช่วงสายวันนี้จึงวิ่งหาที่หลบภัย

เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าวิทยาลัยได้สั่งปิดสถานศึกษาระหว่างวันที่ 24 ก.ค.- 1 ส.ค. 68 เนื่องจากเหตุความไม่สงบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากร

ภาพ 05 : ภาพจากคลิปที่อ้างว่าชาวกัมพูชารวมตัวขับไล่ ฮุน เซน 

เนื้อหาที่ตรวจสอบ: ชาวกัมพูชานับแสนรวมตัวขับไล่ฮุน เซน

ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **เนื้อหาเท็จ เป็นคลิปแฟนฟุตบอลก่อจลาจลในอินโดนีเซีย**

เนื้อหาโดยสรุป: วันที่ 24 ก.ค. 2568 เวลา 18.17 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์วิดีโอภาพเหตุการณ์ขณะฝูงชนพยายามดันประตูและขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่โดยใส่ข้อความบรรยายว่าชาวเขมรนับแสนคนชุมนุมขับไล่สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา

คลิปนี้เคยถูกนำมาอ้างเท็จแบบเดียวกันนี้มาแล้วครั้งหนึ่งช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2568 โคแฟคและ AFP Fact Checkตรวจสอบแล้วพบว่าคลิปนี้ถูกโพสต์ในติ๊กตอกตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. 2568 ซึ่งเจ้าของโพสต์ระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่สนามกีฬา Gelora Bandung Lautan Api Stadium ในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย โดยรายงานข่าวท้องถิ่นระบุว่าเกิดเหตุแฟนฟุตบอลทีม Persib Bandung ที่ไม่มีบัตรพยายามจะพังประตูเข้าไปชมการแข่งขันฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศระหว่างสโมสรท้องถิ่นสองทีมเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2568

ภาพ 06 : ภาพที่อ้างว่าทหารไทยเข้ายึดปราสาทพระวิหาร

เนื้อหาที่ตรวจสอบ: ทหารไทยยึดพื้นที่ปราสาทพระวิหาร

ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **เนื้อหาเท็จ หยุดแชร์**

เนื้อหาโดยสรุป: ช่วงสายของวันที่ 25 ก.ค. 2568เพจเฟซบุ๊ก “Army Military Force – สำรอง” โพสต์ข้อความว่า “ด่วน! เวลา 09.25 น. ทหารไทยเข้ายึดพื้นที่ปราสาทพระวิหารและวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระที่เคยเป็นของไทยได้สำเร็จแล้ว…” ซึ่งต่อมานายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้นำไปรายงานในรายการ “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ” ที่เผยแพร่ทางช่องยูทูบ

เวลา 10.30 น. กองทัพบกชี้แจงว่าเนื้อหาดังกล่าว #ไม่เป็นความจริง โดยได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก กองทัพบก Royal Thai Army ว่า “เป็นข่าวปลอม อย่าหลงเชื่อ”

แม้ทางกองทัพบกจะออกมาปฏิเสธข่าว และเพจต้นทางก็ได้ลบเนื้อหาออกแล้ว แต่โคแฟคพบว่าในติ๊กตอกยังมีการแชร์เนื้อหาเท็จนี้อย่างกว้างขวาง โดยบางโพสต์ได้ตัดต่อคลิปจากรายการ “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ” มาเผยแพร่

ภาพ 07 : ภาพจากคลิปวีดีโอที่อ้างว่ามีการปลดธงชาติกัมพูชาในไทยเพื่อตัดความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ

เนื้อหาที่ตรวจสอบ: องค์กร-หน่วยงานในไทยปลดธงชาติกัมพูชาจากกลุ่มธงประเทศอาเซียน

ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **เนื้อหาบิดเบือน**

เนื้อหาโดยสรุป: 25 ก.ค. 2568 ผู้ใช้ติ๊กตอกหลายรายโพสต์คลิปวิดีโอชายคนหนึ่งกำลังลดธงชาติกัมพูชาลงจากเสาธง บางโพสต์ระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่สวนนงนุช อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี บางโพสต์เขียนคำบรรยายว่า “ตามหน่วยงาน องค์กร ลดธงชาติกัมพูชาลงจากเสาในบรรดากลุ่มธงชาติประเทศอาเซียน” เป็นสัญลักษณ์ว่าไทยตัดความสัมพันธ์กับกัมพูชาอย่างถาวร

โคแฟคโทรศัพท์สอบถามไปยังสวนนงนุช พนักงานให้ข้อมูลว่าภาพในคลิปเป็นกลุ่มเสาธงนานาชาติที่อยู่ด้านหน้าศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยาจริง แต่คลิปลดธงกัมพูชาที่มีการแชร์กันอย่างแพร่หลายนั้น ไม่ได้มาจากบัญชีโซเชียลมีเดียทางการของสวนนงนุช ขณะนี้ผู้บริหารกำลังตรวจสอบเหตุการณ์ในคลิป การบันทึกภาพและการเผยแพร่

โคแฟคตรวจสอบเพิ่มเติมกับกระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าทางราชการไม่มีคำสั่งเรื่องการลดธง ซึ่งการลดธงไทยและธงอาเซียนมีกฎหมายและระเบียบกำกับ เช่น การลดธงในกรณีไว้อาลัย และทางการไทยไม่เคยมีคำสั่งเกี่ยวกับการลดธงของประเทศอื่น

ภาพ 08 : ภาพจากคลิปที่อ้างว่าชาวกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม บรรเลงเพลงชาติไทยให้กำลังใจคนไทย 

เนื้อหาที่ตรวจสอบ: คลิปชาวกรุงบรัสเซลล์บรรเลงเพลงชาติไทย ให้กำลังใจคนไทยในความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **เนื้อหาบิดเบือนเป็นคลิปจากพิธีมอบชุดไทยแก่รูปปั้นเด็กฉี่Manneken Pis ในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2568**

เนื้อหาโดยสรุป: วันที่ 25 ก.ค. 2568 ผู้ใช้ติ๊กตอกและเฟซบุ๊กหลายรายโพสต์คลิปวิดีโอที่มีเสียงบรรเลงเพลงชาติไทย อ้างว่าชาวชาวกรุงบรัสเซลส์บรรเลงเพลงชาติไทยเพื่อส่งกำลังใจให้คนไทยในช่วงที่เผชิญความขัดแย้งกับกัมพูชา บางคลิปถูกแชร์ไปมากกว่า 3 หมื่นครั้ง ซึ่งโคแฟคตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าว พบว่าเป็นภาพที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบันทึกในพิธีมอบชุด “ยิงกระต่าย เด็ดดอกไม้” แก่รูปปั้นเด็กฉี่ (Manneken Pis) ใจกลางกรุงบรัสเซลส์ ที่มีผู้เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. 2568

เพจเฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ โพสต์ภาพบรรยากาศและพิธีมอบชุดไทยแก่รูปปั้นเด็กซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2568 ว่า “…มีการเคลื่อนขบวนเพื่อไปมอบชุดแก่ Manneken Pis โดยได้รับเกียรติจากวงดุริยางค์แห่งกระทรวงการคลัง กรมศุลกากร ราชอาณาจักรเบลเยียม บรรเลงบทเพลงอันทรงเกียรติ ได้แก่ เพลงชาติไทย เพลงชาติเบลเยียม และเพลงมหาฤกษ์ บริเวณกลาง Grand Place ก่อนเคลื่อนขบวนท่ามกลางผู้คนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมชมขบวนแห่กันอย่างคับคั่ง” พร้อมกับเผยแพร่คลิปการบรรเลงเพลงชาติไทยของวงดุริยางค์ ซึ่งมีภาพและเสียงใกล้เคียงกับคลิปที่ถูกนำมาอ้างเท็จว่าเป็นการบรรเลงเพลงชาติให้กำลังใจคนไทย

โคแฟค ประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ตลอดจนกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่แนวชายแดน เราขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยความสงบ ปลอดภัย

-โปรดใช้วิจารณญาณในการรับและส่งต่อข้อมูล

-หลีกเลี่ยงการแชร์ข้อความ รูปภาพ และคลิปที่อาจสร้างความเข้าใจผิด

-ตรวจสอบข้อมูลก่อนทุกครั้งจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

-ร่วมเป็นคนช่วยตรวจสอบข้อมูลในชุมชนทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ขอให้สื่อมวลชนและสื่อบุคคลรายงานภาพและข้อมูลผู้เสียชีวิตด้วยความเคารพ นำเสนอข่าวบนฐานข้อเท็จจริงควบคู่แนวจริยธรรมมากกว่าการใช้ความรู้สึก ขอให้ภาครัฐสนับสนุนและคุ้มครองการทำงานของสื่อมวลชน ด้วยการให้ข้อมูลที่เป็นจริงและเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างทันท่วงที

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง 

https://www.facebook.com/photo?fbid=1045703144432871&set=a.407800974889761&locale=th_TH

https://www.facebook.com/photo?fbid=1045732281096624&set=a.407800974889761&locale=th_TH

https://www.facebook.com/photo?fbid=1045839897752529&set=a.407800974889761&locale=th_TH

https://www.facebook.com/photo?fbid=1045888377747681&set=a.407800974889761&locale=th_TH

https://www.facebook.com/photo?fbid=1045983127738206&set=a.407800974889761&locale=th_TH

https://www.facebook.com/photo?fbid=1046458251024027&set=a.407800974889761&locale=th_TH

https://www.facebook.com/photo?fbid=1046542974348888&set=a.407800974889761&locale=th_TH

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1046653044337881&set=a.407800974889761&locale=th_TH