5 ข้อชวนคิดจาก “ลลิตา หาญวงษ์” ว่าด้วยมายาคติและไวรัลปั่นความเกลียดชังแรงงานเมียนมา

บทความ

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน

ในช่วงเวลาเพียงสองเดือนกว่า ๆ ระหว่างกรกฎาคมถึงกันยายน 2567 ปรากฏเนื้อหาที่ปลุกปั่นความเกลียดชังแรงงานเมียนมาจนเป็น “ไวรัล” ออนไลน์อย่างน้อย 3 กรณี ซึ่งมากเพียงพอที่จะทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าการโหมกระพือความเกลียดชังระลอกนี้จะทำลายการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติระหว่างคนไทยกับแรงงานข้ามชาติ

ไวรัล #1 “บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย” หรือ “บัตรสีชมพู” ที่กรมการปกครองออกให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อยู่และมีถิ่นพำนักในประเทศเกิน 6 เดือน ซึ่งรวมถึงแรงงานสัญชาติเมียนมา ถูกนำมาบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นการเปิดช่องให้มีการ “ฟอกสัญชาติ” และ “ชุบตัวต่างด้าว” ให้มีสิทธิเลือกตั้งและถือครองที่ดินในประเทศไทย

ไวรัล #2 คลิปเด็กนักเรียนร้องเพลงชาติไทยตามด้วยเพลงชาติเมียนมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริงแต่ถูกนำมาใส่ข้อความที่สร้างความเกลียดชังและปลุกปั่นความคิดชาตินิยม ถูกเผยแพร่และสร้างเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทำให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567 ทำให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาตินับพันคน ต้องหยุดเรียนกลางคันและสั่งให้ตรวจเข้มศูนย์การเรียนสำหรับเด็กข้ามชาติในจังหวัดสุราษฎร์ธานีทุกแห่ง

ไวรัล #3 ช่วงหนึ่งของการอภิปรายเรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 น.ส. ธิษะณา ชุณหะวัณ ส.ส. พรรคประชาชน กล่าวถึงการปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดูแลชาวเมียนมาที่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศ ต่อมามีผู้ใช้โซเชียลมีเดียตัดบางช่วงบางตอนของการอภิปรายมาโจมตี ส.ส.ธิษะณาและพรรคประชาชนว่าห่วงคนเมียนมามากกว่าคนไทย พร้อมทั้งเกิดแฮชแท็ก #พรรคประชาชนเมียนมา  

ท่ามกลางการโหมกระพือความเกลียดชังที่ไม่มีใครบอกได้ว่าจะยุติลงเมื่อไหร่ และจะมีไวรัลอื่น ๆ ตามมาอีกหรือไม่ โคแฟคชวน ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษากรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร มาพูดคุยในหัวข้อ “จากมายาคติต่อแรงงานข้ามชาติสู่ไวรัลปั่นความเกลียดชังออนไลน์” ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ Cofact Live Talk เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2567 ต่อไปนี้คือ 5 ประเด็นที่ อ.ลลิตาฝากไว้ให้สังคมไทยคิดและทำความเข้าใจ ก่อนที่การสร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์จะกลายเป็นความหวาดระแวงต่อกันจนถึงจุดที่ยากจะเยียวยา

1. ทำไมแรงงานเมียนมาตกเป็นเป้าของการสร้างความเกลียดชัง

เหตุที่แรงงานเมียนมาตกเป็นเป้าของการสร้างความหวาดกลัวเกลียดชังมากกว่าแรงงานจากลาวหรือกัมพูชา นอกจากจะเป็นเพราะแรงงานเมียนมามีจำนวนมากถึง 6-7 ล้านคน (ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ) แล้ว อ.ลลิตามองว่าประวัติศาสตร์และรากทางวัฒนธรรมก็มีส่วน กล่าวคือ คนไทยในจังหวัดชายแดนภาคอีสานจะรู้สึกเป็นพวกเดียวกันกับแรงงานที่มาจากลาวและกัมพูชาเพราะพูดภาษาลาวหรือภาษาเขมรเหมือนกัน ต่างจากคนไทยที่อยู่ชายแดนไทย-เมียนมา ที่มองว่าคนกะเหรี่ยงหรือเมียนมาเป็นคนต่างเชื้อชาติ แม้จะอยู่ร่วมกันมายาวนานแต่ก็ยังรู้สึกถึงความเป็นอื่น นอกจากนี้อคติต่อแรงงานข้ามชาติยังมีเชื้อมาจากทัศนคติของสังคมไทยที่ไม่ชอบเพื่อนบ้านมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจด้อยกว่าเรา ส่วนประวัติศาสตร์สงครามเสียกรุงหรือสงครามไทย-พม่ายุคจารีตที่รัฐไทยมักหยิบมาปลุกชาตินิยม อ.ลลิตาวิเคราะห์ว่าไม่มีผลต่อทัศนคติของคนรุ่นใหม่ต่อแรงงานเมียนมามากเท่าประเด็นทางเศรษฐกิจและสาธารณสุข เห็นได้จากความไม่พอใจที่ภาษีของคนไทยถูกใช้ไปในการดูแลคนเมียนมา

2. คนไทย-คนเมียนมาอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ แต่ “ไอโอ” ทำให้ไขว้เขว

คนไทยมีขันติธรรมในเรื่องของเชื้อชาติประมาณหนึ่ง เพราะบรรพบุรุษเราก็เสื่อผืนหมอนใบมาจากจีน หลายชุมชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็มีเชื้อสายมอญ คนอีสานอาจจะมีบรรพบุรุษเป็นคนเวียดนามหรือลาวที่อพยพมาเป็นแรงงานหรือหนีสงครามมา” อ.ลลิตากล่าว ดังนั้นความหลากหลายทางเชื้อชาติจึงเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย แม้ว่าจะคนไทยบางส่วนจะมีอคติต่อแรงงานข้ามชาติ แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจดีว่าประเทศไทยต้องพึ่งพาคนเหล่านี้ ผู้ประกอบการก็อยากได้แรงงานมาขับเคลื่อนกิจการของเขาและเห็นตรงกันว่า แรงงานเมียนมานั้นคุ้มค่าเพราะค่าแรงถูกและทำงานหนัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้แรงงานเมียนมาเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการไทย

แต่ขณะเดียวกันก็มีคนกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ) หรือกลุ่มที่มีเป้าหมายทางการเมือง พยายามจุดประเด็นเรื่องแรงงานเมียนมา กระพือให้คนหวาดกลัวซึ่งนำไปสู่ความเกลียดชัง เช่น การเผยแพร่รูปแผงค้าขายของชาวเมียนมาบนสะพานลอยที่สำโรง ภาพตลาดแม่สอดที่เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้าชาวเมียนมา พร้อมบรรยายว่าเมียนมาครองเมือง คนไทยกำลังไม่มีแผ่นดินจะอยู่และจะกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง หรือตัดตอนคำอภิปรายของ ส.ส.พรรคประชาชนมาบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิด ดิสเครดิตพรรคด้วยแฮชแท็ก #พรรคประชาชนเมียนมา เป็นต้น เนื้อหาที่ปลุกปั่นความเกลียดชังต่อแรงงานเมียนมามีทั้งที่เป็นข้อมูลเท็จและข้อมูลจริงแต่ใส่ทัศนคติและความเกลียดชังลงไป “จริง ๆ คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจเรื่องนี้ แต่พอมีการปั่นแบบนี้ ก็ทำให้สังคมเกิดความไขว้เขว เกิดความ ‘เอ๊ะ’ขึ้นมาว่าหรือคนเหล่านี้เป็นภัยคุกคามจริง ๆ” อ.ลลิตากล่าว

3. ชาตินิยมที่ล้นเกิน สุดท้ายจะทำร้ายคนในชาติ

ความหวาดกลัวและเกลียดชังแรงงานเมียนมาเป็นปัญหาของทัศนคติและแนวคิดแบบชาตินิยม เกิดจากความคิดว่าในประเทศไทย คนไทยต้องมาก่อน เราเป็นคนจ่ายภาษี เพราะฉะนั้นสิทธิประโยชน์ใด ๆ เราต้องได้ก่อน

“คุณมีทัศนคติชาตินิยมได้มั้ย ได้ ความรักชาติเป็นเรื่องปกติ…แต่ถ้าคุณรักชาติแบบล้นเกินจนไม่ได้มองว่าสถานการณ์จริง ๆ ในประเทศเราเป็นยังไง ท้ายสุดมันทำให้ประเทศชาติของเราเดือดร้อน ไม่ได้เดือดร้อนแค่ตัวคุณคนเดียว แต่เดือดร้อนถึงพ่อแม่พี่น้องร่วมชาติที่เป็นคนไทยแท้ ๆ ด้วย”

อ.ลลิตาหยิบยกกรณีคลิปเด็กเมียนมาร้องเพลงชาติเมียนมาที่ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ จ.สุราษฎร์ธานี มาขยายความประเด็นนี้ว่า การปลุกปั่นในโลกออกไลน์จนนำมาสู่การปิดศูนย์การเรียนของเด็กข้ามชาติอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่และรุนแรงกว่าที่หลายคนคิด เพราะเมื่อลูกหลานแรงงานเหล่านี้ต้องเคว้งคว้าง ไม่มีที่เรียนหนังสือ พ่อแม่ดูแลไม่ได้เพราะต้องทำงาน เด็กเหล่านี้อาจต้องกลายเป็นแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมประมง การใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมประมงอาจทำให้ไทยถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำ ทำให้ผู้ประกอบการประมงไทยส่งออกกุ้งไปขายในสหรัฐฯ ไม่ได้ เศรษฐกิจไทยก็จะเสียหาย

“เราจะรัก เราจะโกรธ เราจะเกลียดอะไรได้หมด แต่ต้องมีความยั้งคิด มองให้เป็นระบบว่า ฉันเกลียดคนนี้เพราะอะไร เพราะโดนไอโอหลอกหรือเปล่า คนเมียนมาทำอะไรผิด ถ้าเราสนับสนุนให้ปิดศูนย์การเรียนฯ เด็กกลุ่มนี้จะถูกลอยแพ จะกลายเป็นแรงงานเด็กนอกระบบ…ต้องคิดหลาย ๆ ชั้น คิดให้ลึกลงไปก็จะเห็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบ [จากการปิดศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ] ก็คือสังคมไทยโดยรวม มันเป็นปัญหาความมั่นคงในองค์รวม ไม่ใช่แค่ชุมชนคนเมียนมา”

เจ้าหน้าที่นำประกาศสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีเรื่องให้ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะบางกุ้งยุติการดำเนินการไปติดตั้งที่หน้าศูนย์การเรียน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อาคารเรียนเดิมของวิทยาลัยเทคโนโลยีบางกุ้ง

4. กฎหมาย-มาตรการของรัฐ ไม่ใช่การให้อภิสิทธิ์คนเมียนมา

ในโลกออนไลน์มักมีการแชร์เนื้อหาที่สร้างความเข้าใจผิดว่า การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติหรือการออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้คนต่างด้าวเป็นการให้อภิสิทธิ์แรงงานข้ามชาติในไทย

“อย่าคิดว่ากฎหมายหรือร่างกฎหมายหลายฉบับที่พยายามเปลี่ยนแปลงเรื่องการให้ใบอนุญาตแรงงานคือการให้อภิสิทธิ์คนเมียนมา แต่ต้องคิดว่านี่คือการแก้ปัญหาที่ทำให้รัฐไทยสามารถบริหารจัดการแรงงานเมียนมาได้ดีขึ้น” อ.ลลิตากล่าว “ถ้าเราทำให้แรงงานเมียนมาในไทยเข้ามาอยู่ในระบบได้มากที่สุด จะสามารถจัดการได้หลายอย่าง ดีทั้งกับนายจ้าง แรงงาน และสังคมไทยโดยรวม” ส่วนความกังวลว่ารัฐบาลไทยใช้เงินภาษีของคนไทยไปดูแลแรงงานเมียนมา เช่น การรักษาพยาบาลนั้น อ.ลลิตายอมรับว่าอาจต้องใช้งบประมาณของไทยบางส่วน แต่ส่วนใหญ่เป็นเงินจากองค์กรต่างประเทศที่เข้ามาช่วย และคนไทยไม่ควรคิดว่าแรงงานเมียนมาไม่ได้จ่ายภาษี เพราะเมื่อเขาจ่ายเงินซื้อสินค้า ซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ก็เท่ากับว่าเขาจ่ายภาษี เท่ากับว่าเขามีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยด้วย

5. หยุดคิดและตั้งสติก่อนเชื่อ-ชัง-แชร์

ประเด็นสุดท้ายที่ อ.ลลิตาชวนให้คิดคือ ขณะนี้ประเทศไทยขาดแรงงานเมียนมาไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาแรงงานกลุ่มนี้ ตราบใดที่เขาอยู่ที่นี่ ทำงานที่นี่ เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย และหากคิดดูให้ดีก็จะพบว่าจริง ๆ แล้ว แรงงานเมียนมาไม่ได้สร้างผลกระทบหรือความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันของเรา ยกเว้นคนบางกลุ่มอย่างเช่นพ่อค้าแม่ค้าที่อาจได้รับผลกระทบด้านอาชีพบ้าง

ดังนั้นเมื่อพบเห็นเนื้อหาในโซเชียลมีเดียที่กระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัว เกลียดชังหรือมีอคติกับแรงงานข้ามชาติ อ.ลลิตาแนะนำว่าให้หยุดคิด อย่าเพิ่งอ่อนไหวไปกับกระแสสังคมหรือดรามา ถามตัวเองว่าเรากำลังถูกชักจูงให้เกิดความเกลียดชังหรือเปล่า

“หลายคนรับสารมา อ่านยังไม่ทันจบก็แชร์แล้ว นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคนไทยถึงโดนมิจฉาชีพหลอกเยอะ เพราะเราเชื่อง่าย ไม่ตรวจสอบข้อมูล…ขอให้คิดอย่างมีเหตุผล อยู่บนฐานข้อเท็จจริง อย่ารีบโพสต์ อย่ารีบแชร์”

การเชื่อหรือแชร์ข้อมูลต่อโดยขาดความยั้งคิดหรือไม่ตรวจสอบความถูกต้อง หากเป็นการหลอกลวงทางการเงินก็อาจนำไปสู่การสูญเสียทรัยพ์สิน หากเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางสังคมอย่างเรื่องแรงงานข้ามชาติ อาจทำให้เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้

“เราอยากให้สังคมของเราไปถึงจุดนั้นหรือ ทุกวันนี้ เราอยู่ในสังคมที่มีขันติธรรมต่อคนต่างเชื้อชาติประมาณหนึ่ง แต่ถ้าความเกลียดชัง หรือปฏิบัติการไอโอไปในระดับที่รุนแรงมากขึ้น สังคมเราก็เป๋ได้เหมือนกัน” อ.ลลิตาทิ้งท้าย

อ่านเรื่องอื่นที่น่าสนใจ