เหตุใดคนมุสลิมจึงตกเป็น ‘แพะรับบาป’ ในเหตุฆ่าหมู่ออสเตรเลีย

Editors’ Picks
ประชาชนวางดอกไม้อาลัยผู้เสียชีวิตในเหตุไล่แทงผู้คนที่ย่าน Bondi Junction ใกล้นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (ภาพโดย AFP)

โดย ธีรนัย จารุวัสตร์ สมาชิก Cofact

กรณีผู้ก่อเหตุใช้มีดแทงผู้คนกลางเมืองในประเทศออสเตรเลีย จนมีผู้เสียชีวิต 6 ราย ถูกนักการเมืองและสื่อมวลชนบางกลุ่มบิดเบือนว่าเป็นฝีมือการก่อการร้ายโดยชาวมุสลิมหัวรุนแรง ซึ่งตำรวจออสเตรเลียยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ด้านผู้เชี่ยวชาญเตือนว่านี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของ “กระแสเกลียดกลัวอิสลาม” หรือ “อิสลามโมโฟเบีย” ในโลกโซเชียลมีเดีย

ย้อนกลับไปเมื่อวันเสาร์ที่ 13 เมษายน ขณะที่ย่าน Bondi Junction ใกล้นครซิดนีย์ พลุกพล่านด้วยผู้คนที่ออกมาจับจ่ายซื้อของและพบปะมิตรสหายในช่วงวันหยุด 

แต่ทว่าวันดังกล่าวได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของออสเตรเลีย เมื่อจู่ๆ ชายคนหนึ่งใช้อาวุธมีดไล่ฟันแทงผู้คนตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าในย่านแห่งนั้น ตำรวจออสเตรเลียต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการปิดล้อมพื้นที่และตามล่าคนร้ายให้จนมุม จนกระทั่งผู้ก่อเหตุถูกวิสามัญฯหลังไม่ยอมวางอาวุธ

เมื่อเหตุสงบลงในที่สุด ตำรวจสรุปรายงานว่าคนร้ายได้คร่าชีวิตผู้คนรวม 6 ราย สร้างความโศกเศร้าใจและสะเทือนขวัญชาวออสเตรเลียโดยทั่วไป 

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เหตุการณ์ยังไม่ทันสงบ ปรากฎว่าผู้คนจำนวนมากในโซเชียลมีเดียกลับปล่อยข่าวบิดเบือนไปเรียบร้อยแล้วว่าผู้ก่อเหตุเป็น “ผู้ก่อการร้ายมุสลิม” ทั้งที่ไม่มีหลักฐานใดๆ จนสร้างความเสียหายต่อชุมชนชาวมุสลิมในประเทศออสเตรเลีย และยิ่งเสี่ยงให้ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติและศาสนาบานปลายยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย 

สื่อ-กลุ่มขวาจัดกระพือข่าว

กระแสข่าวบิดเบือนดังกล่าวเริ่มไวรัลขึ้นมา หลัง Julia Hartley-Brewer นักจัดรายการวิทยุชาวอังกฤษของสำนักข่าว Talk Radio ระบุว่าเหตุฆ่าหมู่ในออสเตรเลียเป็น “การก่อการร้ายของพวกผู้ก่อการร้ายอิสลามมิสต์อีกแล้ว”

ด้าน Rachel Riley ผู้สื่อข่าวและพิธีกรรายการชื่อดังของสำนักข่าว Channel 4 โยงเหตุสังหารหมู่ครั้งนี้ว่า เป็นผลมาจากกระแสการประท้วงของผู้สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ ตั้งแต่อิสราเอลเริ่มถล่มฉนวนกาซ่าในเดือนตุลาคม 2566 “สิ่งที่คนพวกนี้เรียกร้องมาตลอดอย่างภาคภูมิใจ คือการก่อเหตุแบบใน [ออสเตรเลีย] แต่ยิ่งทวีคูณหลายเท่าตัวเข้าไปอีก” Riley กล่าวในทวิตเตอร์ ซึ่งเธอลบทิ้งในเวลาต่อมา 

ต่อมาไม่นาน นักการเมืองฝ่ายขวาจัดในโลกตะวันตกก็ร่วมผสมโรงและเผยแพร่ข่าวบิดเบือนนี้ด้วย เช่น ผู้ก่อตั้งพรรคอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง Britain First และ Tommy Robinson นักเคลื่อนไหวต่อต้านอิสลามคนสำคัญ ที่กล่าวว่าเหตุไล่แทงผู้คนที่ Bondi Junction เป็น “จีฮัด” ของผู้ก่อการร้ายมุสลิม 

แน่นอนว่าแต่ละบุคคลที่กล่าวมาข้างต้น มีผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียรวมกันนับล้านคน ดังนั้น การกล่าวอ้างที่โทษชาวมุสลิมเช่นนี้จึงแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในอินเทอร์เน็ต ก่อนจะเริ่มมีการ “ใส่สีตีไข่” ไปกันใหญ่ด้วย บางโพสต์เพิ่มข้อมูล(ลวง)ว่าผู้ก่อเหตุเป็นผู้ลี้ภัย หรือเป็นผู้อพยพ และกล่าวโจมตีนโยบายด้านผู้ลี้ภัยของรัฐบาลออสเตรเลีย

ในเวลาต่อมา ตำรวจออสเตรเลียแถลงว่าผู้ก่อเหตุครั้งนี้ เป็นชาวออสเตรเลียโดยกำเนิด และไม่พบหลักฐานที่เชื่อมโยงกับกลุ่มหรืออุดมการณ์ทางศาสนาใดๆ โดยตำรวจตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า คนร้ายมีอาการทางจิต พร้อมสรุปว่าการก่อเหตุดังกล่าวมิได้เกี่ยวเนื่องการกับก่อการร้ายแต่อย่างใด กระแสข่าวบิดเบือนจึงเริ่มค่อยๆ ซาลงไป หลังก่อความเสียหายไว้เรียบร้อยแล้ว 

ทั้งนี้ รายงานระบุว่าหนึ่งใน 6 ผู้เสียชีวิต เป็นชายมุสลิมอายุ 30 ปีนามว่า Faraz Tahir มีอาชีพเป็นยามรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าใน Bondi Junction และยังมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากประเทศปากีสถานด้วย

เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุและช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ Bondi Junction ใกล้นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 (ภาพโดย AFP)

พยานที่เห็นเหตุการณ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า Faraz เข้าช่วยเหลือประชาชนในห้างสรรพสินค้าให้หลบหนีจากที่เกิดเหตุและพยายามหยุดยั้งผู้ก่อเหตุด้วย จนตนเองถูกแทงเสียชีวิต ด้านผู้แทนคณะทูตปากีสถานในออสเตรเลียได้กล่าวไว้อาลัยนาย Faraz ว่าเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญอย่างยิ่ง

กระแสข่าวบิดเบือนทำให้องค์กรและเครือข่าวชาวมุสลิมต่างแสดงความผิดหวังและวิตกกังวลกับเรื่องนี้ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีกรณีการเหยียดหยาชาวมุสลิม หรือนำเสนอภาพชาวมุสลิมว่าเป็น “พวกหัวรุนแรง” เกิดบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะในสื่อมวลชนตะวันตกกระแสหลัก ดังที่เรียกว่า “อิสลามโมโฟเบีย” (Islamophobia) 

ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฎการณ์อิสลามโมโฟเบียพุ่งสูงขึ้น หลังการสู้รบรอบล่าสุดระหว่างอิสราเอลกับฮามาสปะทะขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งนำไปสู่การทิ้งระเบิดถล่มฉนวนกาซาครั้งมโหฬารโดยกองทัพอิสราเอล และปลุกกระแสประท้วงในหลายประเทศเพื่อเรียกร้องการหยุดยิง

คนยิวก็โดนป้ายสีด้วย  

ขณะที่ชาวมุสลิมกลายเป็นแพะรับบาปในโซเชียลมีเดีย ก็มีกลุ่มฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาจัดบางส่วน กระพือข่าวลือด้วยว่า ผู้ก่อเหตุไม่ใช่ชาวมุสลิมแต่เป็นคนยิวต่างหาก ถึงขนาดมีการส่งต่อกันในทวิตเตอร์ว่า คนร้ายมีชื่อว่า “Benjamin Cohen” 

และก็ตกเป็นโชคร้ายของชายชาวยิวในออสเตรเลียคนหนึ่ง ที่มีชื่อว่า Benjamin Cohen พอดี เมื่อ “นักสืบอินเทอร์เน็ต” เอาชื่อและภาพของเขาไปแชร์กันว่า เขาเป็นผู้ก่อการร้ายชาวยิวที่ก่อเหตุไล่แทงประชาชนที่ Bondi Junction

เคราะห์กรรมของ Benjamin Cohen (ตัวจริง) ยังไม่จบสิ้น เมื่อสำนักข่าว Seven News ในออสเตรเลีย เอาข่าวลือนี้ไปรายงานต่อในช่วงข่าวด่วนถึงสองครั้ง พร้อมด้วยรูปของนาย Cohen ทำให้เขาและครอบครัวถึงกับช็อก ทำให้เขาต้องตัดสินใจดำเนินคดีกับสำนักข่าว

ต่อมา สำนักข่าว Seven News ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการ และได้มอบเงินชดเชยให้แก่นาย Cohen เพื่อเป็นการไกล่เกลี่ยแลกกับการยุติเรื่องคดี ซึ่งนาย Cohen ได้ระบุว่าขอให้กรณีของตนเป็นอุทาหรณ์ว่าด้วยการแชร์ข่าวบิดเบือนโดยไม่ตรวจสอบ จนสร้างผลกระทบต่อประชาชนธรรมดาๆอย่างตัวเขาเอง

“ผมรู้สึกผิดหวังอย่างมากที่เห็นผู้คนนับหมื่นๆคน แห่ข้อมูลเท็จส่งต่อกันแบบไม่ฉุกคิดแม้แต่นิดเดียวที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน หรือคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาในชีวิตบ้าง” Cohen กล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ทั้งนี้ รายงานระบุว่าแม้เหตุการณ์ที่ Bondi Junction จะสงบลงแล้วก็ตาม โพสต์ที่กล่าวว่าหา Cohen ว่าเป็นผู้ก่อเหตุยังปรากฎอยู่ตามโพสต์ในทวิตเตอร์ถึง 70,000 ครั้ง 

ด้านองค์กรสภาชาวยิวแห่งออสเตรเลียกล่าวว่า การป้ายสีนาย Cohen มีลักษณะหวังผลสร้างความเกลียดกลัวชาวยิว หรือที่เรียกว่า “antisemitism” ซึ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งเช่นกัน ตั้งแต่ศึกระหว่างอิสราเอลกับฮามาสรอบล่าสุดเปิดฉากเมื่อเดือนตุลาคม 

“พวกเราขอประณามความพยายามใดๆ ที่ยุยงให้เกิดความกลัว ความเกลียดชัง หรือการเลือกปฏิบัติต่อผู้อพยพ ชาวมุสลิม หรือชาวยิว จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้” แถลงการณ์ระบุ 

‘ก่อการร้าย’ หรือ ‘ไอ้คลั่ง’ ใครตัดสิน? 

อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจารณ์ด้านสื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตคือ การรายงานข่าวของสื่อมวลชนและการสรุปเหตุการณ์โดยเจ้าหน้าที่ทางการเวลาเกิดเหตุสังหารหมู่ในโลกตะวันตก ดูเหมือนจะแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติและศาสนาของผู้ก่อเหตุ ซึ่งกรณี Bondi Junction นี้ก็อาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งได้ด้วย

กล่าวคือ เมื่อเกิดเหตุสังหารหมู่ (ไม่ว่าจะเป็นกราดยิง ไล่แทงผู้คน ฯลฯ) และผู้ก่อเหตุดูเหมือนจะเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม หรือมาจากประเทศแถบตะวันออกกลางหรือเอเชีย สื่อมวลชนและทางการมักจะตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นการก่อการร้าย โดยที่ความรุนแรงนั้นๆ อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเชื้อชาติหรือศาสนาเลยก็ได้

ในทางกลับกัน เมื่อผู้ก่อเหตุเป็นคนผิวขาว หรือไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม สื่อมวลชนและทางการมักจะสรุปโดยรวบรัดเกือบทุกครั้งว่า เป็น “ไอ้คลั่ง” ที่ก่อเหตุเพราะ “อาการทางจิต” แต่กลับละเลยที่จะพิจารณาแรงจูงใจ ของผู้ก่อเหตุคนนั้นๆ ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองหรืออุดมการณ์สุดโต่งด้วย

ภาพมุขตลกในอินเทอร์เน็ตล้อเลียนการนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักในตะวันตก ที่มักจะสรุปว่าผู้ก่อเหตุเป็น “ผู้ก่อการร้าย” หากเป็นคนผิวสี แต่ถ้าหากเป็นคนผิวขาวจะสรุปว่าเป็น “ผู้ป่วยทางจิต”

กรณี Bondi Junction ก็เหมือนกัน นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ก่อเหตุดูจงใจพยายามพุ่งเป้าไล่แทงเฉพาะเหยื่อที่เป็นสุภาพสตรีอย่างเดียว (กรณีนาย Faraz Tahir ที่ถูกแทงเสียชีวิต เป็นเพราะผู้ตายพยายามเข้าระงับเหตุและปกป้องผู้หญิงคนอื่นๆ) ซึ่งอาจจะบ่งบอกว่า ผู้ก่อเหตุอาจมีอุดมการณ์หรือความเกลียดชังต่อผู้หญิงเป็นพิเศษขณะก่อเหตุหรือไม่ ดังเช่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลุ่มหัวรุนแรงในชุมชนขวาจัดจำนวนมาก มักมีความเชื่อมโยงกับกระแสความเกลียดชังต่อสตรีนิยมด้วย 

เป็นที่มาของเสียงวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อมวลชนว่า การนำเสนอข่าวที่เอนเอียงของสื่อกระแสหลัก สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ “ความสุดโต่ง” หรือความรุนแรงทางอุดมการณ์เป็นเรื่องของคนศาสนาใดคนศาสนาหนึ่ง แต่พอผู้ก่อเหตุเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง มักถูกนำเสนอให้กลายเป็นเพียงเรื่องของ “อาการทางจิต” เท่านั้น 

เรื่องนี้จึงเป็นอีกปมว่าด้วย “ความรู้เท่าทันสื่อ” (media literacy) ที่ทั้งคนทำงานสื่อมวลชน และประชาชนผู้เสพข้อมูลข่าวสาร ควรตระหนักไว้ด้วยนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม

Bondi attack triggers false claims 

False claims started spreading about the Bondi Junction stabbing attack as soon as it happened

Sydney stabbing incidents stoke Islamophobia, antisemitism as social tensions in Australia unravel

เฝ้าระวัง ‘Islamophobia’ กระแสความหวาดกลัวทางศาสนาที่ผลิตซ้ำจากข้อมูลลวงออนไลน์