ความจริงจากมหาดไทย “บัตรสีชมพู” เปิดช่องแรงงานข้ามชาติ ได้สัญชาติไทยจริงหรือ?

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน

เพจเฟซบุ๊ก THE STATES TIMES เผยแพร่บทวิเคราะห์การชุมนุมของแรงงานชาวเมียนมาเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2567 โดยให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับบัตรประจำตัวแรงงานข้ามชาติและการได้สัญชาติไทยของลูกแรงงานข้ามชาติที่เกิดในไทย รวมทั้งกล่าวหาว่ามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อมาตรการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของทางการไทย และสร้างทัศนะคติเชิงลบ/หวาดระแวงแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานชาวเมียนมา 

“ฟอกสัญชาติ !! แฉ !! แผนระยะยาวต่างชาติเคลมไทย ชุบตัวต่างด้าว ให้สิทธิเลือกตั้ง-ครองที่ดิน”

ข้อความนี้อยู่ในภาพประกอบบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่บนเพจเฟซบุ๊ก THE STATES TIMES ที่มีผู้ติดตามกว่า 4.7 แสนบัญชี เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2567 โดยผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า “AYA IRRAWADEE” วิเคราะห์เบื้องหลังการชุมนุมของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ถ.ราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2567 เพื่อเรียกร้องให้ทางการไทยใช้ “บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “บัตรสีชมพู” เพียงใบเดียวในการรับรองว่าแรงงานข้ามชาติคนนั้นอยู่ในไทยอย่างถูกกฎหมาย โดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองสถานะบุคคล (Certification of Identity – CI) หรือ “เอกสารเล่มเขียว” ที่ออกให้โดยประเทศต้นทางควบคู่กัน 

ภาพประกอบบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ใน THE STATES TIMES

บทวิเคราะห์นี้ ซึ่งถูกแชร์ไปเกือบ 300 ครั้ง กล่าวถึง “บัตรสีชมพู” และข้อเรียกร้องของแรงงานชาวเมียนมาใน 3 ประเด็นหลัก คือ

  1. บัตรสีชมพู “ทำได้ง่าย” ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในไทยอย่างผิดกฎหมาย เพราะหวังว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะได้กลายเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายเมื่อได้บัตรประจำตัว
  2. ระบบการออกบัตรสีชมพูของกระทรวงมหาดไทยมีความหละหลวม ทำให้แรงงานข้ามชาติที่บัตรหมดอายุหรือสูญหายและไม่มีเอกสารอื่นยืนยันตัวตน ขอออกบัตรใหม่ได้ด้วยการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลและปลอมแปลงข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล
  3. บัตรสีชมพูจะทำให้ลูกของแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในเมืองไทยมีสิทธิขอสัญชาติไทย เมื่อได้สัญชาติไทยก็จะมีสิทธิเลือกตั้งและสามารถครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้

โคแฟคตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติโดยการออก “บัตรสีชมพู” และการได้สัญชาติของลูกแรงงานข้ามชาติที่เกิดในไทย โดยสัมภาษณ์แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยที่รับผิดชอบเรื่องนโยบายผู้อพยพและหลบหนีเข้าเมืองพบว่าทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อมาตรการขึ้นทะเบียนแรงงาน การได้สัญชาติไทยของลูกแรงงานข้ามชาติ และสร้างทัศนะคติเชิงลบ/ความหวาดระแวงแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะชาวเมียนมา

โคแฟคตรวจสอบ

● บัตรสีชมพูคืออะไร?

บัตรสีชมพูมีชื่อทางการตามกฎหมายทะเบียนราษฎรว่า “บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย” ที่กรมการปกครองออกให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อยู่และมีถิ่นพำนักในประเทศเกิน 6 เดือน แต่คนทั่วไปมักเข้าใจว่าบัตรสีชมพูเป็นบัตรประจำตัวแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะ เนื่องจากสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาที่ไม่มีเอกสารถูกต้อง (Undocumented migrant workers) อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย หากมาขึ้นทะเบียนทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือบัตรสีชมพูกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง โดยช่วงเวลาการเปิดให้แรงงานทั้ง 3 สัญชาติมาทำบัตรสีชมพูนั้นจะต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนด เช่น ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีมติ ครม. ผ่อนผันแรงงานฯ หลายครั้ง เพราะแรงงานไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยอธิบายว่า โดยทั่วไปบัตรสีชมพูมีอายุ 10 ปี แต่อายุของบัตรสีชมพูไม่ใช่ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศ ที่จะต้องยึดจากใบอนุญาตทำงาน (work permit) เป็นหลัก แม้ว่าบัตรสีชมพูยังไม่หมดอายุ แต่ถ้าใบอนุญาตทำงานหมดอายุแล้ว แรงงานก็ต้องกลับประเทศ ดังนั้นบัตรสีชมพูจะต้องใช้ควบคู่กับใบอนุญาตทำงานเสมอ ปัจจุบัน มีแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารถูกต้องแต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยได้ตามมติ ครม. โดยถือบัตรสีชมพูทั้งหมดประมาณ 2.4 ล้านคน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นชาวเมียนมา และคาดว่าเร็ว ๆ นี้รัฐบาลจะมีมติ ครม. ผ่อนผันแรงงานฯ ออกมาอีกครั้ง เพื่อให้แรงงานทั้ง 3 สัญชาติที่อยู่ในไทยโดยไม่มีเอกสารที่ถูกต้องมาทำบัตรประจำตัวสีชมพู

ตัวอย่างเอกสารคนต่างด้าว เผยแพร่ทางเว็บไซต์กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

● “เอกสารเล่มเขียว” หรือ “CI” คืออะไร?

หนังสือรับรองสถานะบุคคล (Certification of Identity – CI) เป็นเอกสารที่ทางการเมียนมาและลาวออกให้พลเมืองของตนที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทยเพื่อยืนยันสัญชาติ ซึ่งทางการไทยกำหนดให้แรงงานที่ขึ้นทะเบียนแล้วขอเอกสารนี้จากประเทศต้นทางเพื่อรับรองสัญชาติของตน

ในแถลงการณ์ของแรงงานชาวเมียนมาที่ชุมนุมหน้า UNESCAP เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2567 โดยใช้ชื่อกลุ่ม “Bright Future” เรียกร้องให้ทางการไทยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติใช้บัตรสีชมพูเป็นบัตรประจำตัวเพียงใบเดียวในการอยู่ในประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย โดยไม่ต้องใช้ CI โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาทำให้การขอเอกสารยากและใช้เวลานาน อีกทั้งรัฐบาลทหารเมียนมายังบังคับให้แรงงานที่ทำงานในต่างประเทศส่งเงินกลับประเทศจำนวนร้อยละ 25 ของรายได้โดยต้องโอนเงินผ่านระบบธนาคารที่รัฐบาลเมียนมารับรอง ซึ่งแรงงานเมียนมาคัดค้านข้อบังคับนี้

เจ้าหน้าที่มหาดไทยให้ข้อมูลว่า CI เป็น “เอกสารลำดับรองจากหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต” มีความสำคัญเพราะทำให้ประเทศต้นทางรู้ว่ามีพลเมืองของตนมาอยู่ในประเทศไทยจำนวนเท่าไหร่และทางการไทยก็จะได้มีข้อมูลยืนยันตัวตนแรงงานที่มาทำงานในประเทศเรา ซึ่งเป็นข้อมูลที่จำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง อาชญากรรมและอื่น ๆ

ภาพจากวิดีโอประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการทำหนังสือรับรองสถานะบุคคลของเมียนมา เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก Myanmar Labour Attache Office ประจำประเทศไทย

ทางการไทยเห็นว่า การที่แรงงานมีหนังสือรับรองสถานะบุคคลจากประเทศของตน ย่อมเป็นผลดีต่อคนต่างด้าวเอง เพราะหากไม่มีเอกสารรับรองจากประเทศต้นทางเลย จะสุ่มเสี่ยงต่อการกลายเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

“ที่ผ่านมา เราทราบดีว่าเมียนมามีปัญหาภายในประเทศ ทำให้การขอ CI ยาก ในทางปฏิบัติ เราจึงผ่อนผันให้แรงงานเมียนมาที่ไม่มี CI ใช้บัตรสีชมพูอย่างเดียวอยู่แล้ว แต่เราจำเป็นต้องคงนโยบายให้ใช้ CI ควบคู่กับบัตรชมพูไว้และต้องแจ้งทางการเมียนมาให้ช่วยมาตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงาน ทั้งนี้เพื่อรักษาสิทธิของแรงงานเอง” แหล่งข่าวระบุ

●  แรงงานเปลี่ยนชื่อ-ปลอมแปลงอัตลักษณ์เพื่อขอบัตรสีชมพูใหม่ แทนการต่ออายุ?

บทวิเคราะห์ของ THE STATES TIMES ระบุว่าระบบการออกบัตรสีชมพูของกระทรวงมหาดไทยมีความหละหลวม ทำให้แรงงานข้ามชาติต่ออายุบัตรสีชมพูได้ด้วยการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลและข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลเพื่อขอบัตรใหม่ได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยยืนยันว่ากรณีนี้ “เป็นไปไม่ได้เลย” เพราะการทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยจะมีการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (biometrics) เช่น บันทึกลายนิ้วมือ ภาพถ่ายใบหน้า ซึ่งไม่สามารถปลอมแปลงได้

“แรงงานที่ทำบัตรสีชมพูไปแล้ว ถ้าบัตรหายหรือบัตรหมดอายุแล้วมาขอทำบัตรใหม่ด้วยการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล หรือแจ้งวันเดือนปีเกิดที่ไม่ตรงกับข้อมูลเดิม เพื่อปลอมแปลงอัตลักษณ์ สร้างตัวตนใหม่ จะทำไม่ได้เลย เพราะฐานข้อมูลทำบัตรทะเบียนราษฎรบันทึกอัตลักษณ์บุคคลไว้หมดแล้ว” อย่างไรก็ตาม เขาไม่ปฏิเสธว่า ที่ผ่านมามีแรงงานข้ามชาติที่พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์เพื่อทำบัตรสีชมพูใหม่อยู่บ้าง ซึ่งจะทำได้สำเร็จก็ต่อเมื่อมีเจ้าหน้าที่ร่วมทุจริตด้วยเท่านั้น คือ ลบฐานข้อมูลเดิมของแรงงานคนนั้นออกจากระบบแล้วใส่ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลใหม่มาสวมสิทธิ

●  บัตรสีชมพู ทำให้แรงงานข้ามชาติทะลักเข้าไทยอย่างผิดกฎหมาย หวัง “ฟอกตัว” เป็นแรงงานถูกกฎหมาย?

การผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารที่ถูกต้องมาทำบัตรประจำตัวสีชมพู ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้แรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายมากขึ้น เพราะทางการไทยไม่ได้เปิดให้ทำบัตรสีชมพูตลอดเวลา กรมการปกครองจะเปิดให้ทำก็ต่อเมื่อมีมติ ครม. ออกมาเมื่อสถานการณ์มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น สถานการณ์โควิด สถานการณ์ความขัดแย้งและปัญหาเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้านที่ทำให้เกิดการลักลอบเข้าประเทศ หรือเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เคยได้รับอนุญาตให้ทำงานกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายเพราะการขออนุญาตทำงานไม่ครบขั้นตอนหรืออยู่ในไทยเกินกำหนดเพราะไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้

กรมการปกครองจัดทำทะเบียนประวัติและออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้แก่แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เมื่อปี 2563

● บัตรสีชมพูทำให้ลูกของแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในเมืองไทยได้รับสัญชาติไทย?

ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้ใช้ “หลักดินแดน” ในการให้สัญชาติ ดังนั้นไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่เกิดในประเทศไทยจะได้สัญชาติไทยโดยทันที แต่การได้สัญชาติต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.สัญชาติ ซึ่งมีรายละเอียดมากมาย ดังนั้น ลูกของแรงงามข้ามชาติที่ถือบัตรประจำตัวสีชมพูที่เกิดในไทย จึงไม่ได้สัญชาติไทยหรือพัฒนาสิทธิเป็นคนไทยได้โดยอัตโนมัติ “ลูกแรงงานข้ามชาติที่เกิดในไทย เมื่อถึงวัยเรียนเราก็ให้เข้าเรียน แต่จะเด็กอยู่ในไทยได้นานเท่าที่พ่อแม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานที่นี่เท่านั้น เมื่อสิทธิของพ่อแม่หมด ลูกก็ต้องกลับด้วย หรือถ้าเขาต้องการได้สัญชาติไทยก็ต้องดำเนินการขอแปลงสัญชาติตามกฎหมายสัญชาติ ซึ่งมีเงื่อนไขมากมายและเป็นเงื่อนไขเดียวกันกับคนต่างด้าวทุกกรณีที่ขอสัญชาติไทย” แหล่งข่าวให้ข้อมูลและตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการได้สัญชาติไทยของลูกแรงงามข้ามชาติที่เกิดในไทย น่าจะมาจากความสับสนเรื่องการให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นกลุ่มคนไร้สัญชาติที่ตกหล่นจากการสำรวจมานาน แต่หลายภาคส่วนเข้าใจผิดว่าคนกลุ่มนี้กับลูกของแรงงานข้ามชาติที่เกิดในไทยเป็นกลุ่มเดียวกันและสามารถพัฒนาสิทธิของสถานะบุคคลได้เหมือนกัน ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ข้อสรุปโคแฟค

บทวิเคราะห์เรื่อง “ฟอกสัญชาติ !! แฉ !! แผนระยะยาวต่างชาติเคลมไทย ชุบตัวต่างด้าว ให้สิทธิเลือกตั้ง-ครองที่ดิน” ที่เผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊ก THE STATES TIMES ที่อ้างว่าเป็น “สำนักข่าวออนไลน์สำหรับคนรุ่นใหม่” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือ “บัตรสีชมพู” ที่มีความคลาดเคลื่อน ตามที่แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงมหาดไทยชี้แจงข้างต้น

แม้จะเป็นการ “วิเคราะห์” ของผู้เขียน แต่บทวิเคราะห์จะต้องอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้อง การให้ข้อมูลบิดเบือนโดยเฉพาะในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนอย่างเรื่องแรงงานข้ามชาติอาจส่งผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางในหลายมิติ ทั้งการอยู่ร่วมกันของคนไทยกับแรงงานข้ามชาติ เศรษฐกิจ ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

บทวิเคราะห์ชิ้นนี้ทิ้งท้ายว่า มีพรรคการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการเรียกร้องให้ใช้บัตรสีชมพูใบเดียวของแรงงานเมียนมา โดยมีแผนระยะยาวที่จะได้คะแนนเสียงจากลูกของแรงงานที่ได้สัญชาติไทยและมีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานประกอบ ทำให้น่าสงสัยว่าผู้เขียนบทวิเคราะห์นี้ว่ามีเจตนาสร้างความเข้าใจผิดเพื่อโจมตีพรรคการเมืองใดหรือทำลายความชอบธรรมของกลุ่มแรงงานเมียนมาที่ออกมาเรียกร้องหรือไม่

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ