ผ่าปม ลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีน ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ น่ากังวลเพียงใด?

Editors’ Picks
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 (ภาพโดยมหาวิทยาลัยมหิดล)

โดย ธีรนัย จารุวัสตร์ สมาชิก Cofact

ถึงแม้บริษัทผู้ผลิตวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” จะยอมรับกับศาลอังกฤษว่าวัคซีนของตนมีผลในการเกิดภาวะลิ่มเลือดหัวใจอุดตันจริง แต่นักวิชาการและวงการแพทย์เห็นตรงกันว่าความเสี่ยงจากอาการนี้ยังถือว่าหายากมาก ขณะที่ประโยชน์จากวัคซีนในการป้องกันโรคก็สูงมากกว่าหลายเท่าตัว

เมื่อปลายเดือนเมษายน วัคซีนต้านโรคโควิด 19 ของบริษัท “แอสตร้าเซนเนก้า” กลับมาเป็นที่สนใจสื่อในไทยและต่างประเทศจำนวนมากอีกครั้ง หลังสำนักข่าว Telegraph รายงานว่า แอสตราเซเนก้าได้ยอมรับในเอกสารต่อศาลในสหราชอาณาจักรว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าสามารถก่อให้เกิด “ภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันและมีเกล็ดเลือดต่ำ” (Thrombosis with Thrombocytopenia Syndrome หรือ TTS) 

เอกสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้คดีกันระหว่างแอสตร้าเซนเนก้า กับผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากอาการลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในช่วงที่โรคโควิดกำลังระบาดเมื่อปี 2561 ทำให้รวมตัวกันเพื่อฟ้องร้องและเรียกค่าชดเชยจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีน

รายงานข่าวเรื่องนี้ ได้สร้างความฮือฮามากพอสมควรไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย เพราะวัคซีนของแอสตร้าเซนเนเก้าถือเป็นวัคซีนหลักตัวหนึ่ง ที่ได้ส่งออกไปยังหลายประเทศ รวมกันกว่า 3 พันล้านโดส 

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็มีรายงานข่าวอีกเรื่องตามมาติดๆ เมื่อบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าระบุว่า ได้ยุติการผลิตวัคซีน และถอนการขอใบอนุญาตเพื่อรับรองวัคซีนจากตลาดต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้านสื่อมวลชนหลายสำนักได้เชื่อมโยงว่า อาจจะเกี่ยวข้องกับการยอมรับในศาลในประเด็นเรื่องภาวะลิ่มเลือดหรือไม่ 

ข่าวดังกล่าวคงสร้างความกังวลใจให้กับหลายคนที่เคยรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 แต่ความจริงแล้ว เรื่องนี้น่าวิตกมากน้อยเพียงใดกันแน่? 

ย้อนรอย แอสตร้าเซนเนก้ากับอาการ TSS 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2564 ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิด 19 ที่ระบาดไปทั่วโลก จนคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว อีกทั้งยังสร้างความปั่นป่วนให้แก่เศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนนับพันล้านคน 

หลังจากการระบาดเกิดขึ้น นักวิจัยและบริษัทยาชั้นนำต่างเร่งผลิตวัคซีนเพื่อต่อกรกับโคโรน่าไวรัส นำไปสู่บรรดาวัคซีนที่เราคุ้นชื่อกันดีทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ โมเดิร์นน่า และแอสตร้าเซนเนก้าด้วย ถึงแม้วัคซีนในระยะแรกจะมีความแตกต่างกันบ้างในตัวเลขของประสิทธิภาพ แต่หลักฐานและข้อมูลทางการแพทย์ในระยะยาวต่างๆ ยืนยันตรงกันว่า ทุกวัคซีนล้วนช่วยให้ตัวเลขการเจ็บป่วยและเสียชีวิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนหลายประเทศค่อยๆ เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ขณะที่การแจกจ่ายวัคซีนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีรายงานข่าวในสหราชอาณาจักรว่าบางคนมีอาการป่วยจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ก่อนจะมีกรณีคล้ายกันในประเทศอื่นๆแถบยุโรปด้วย และมีบางกรณีผู้ป่วยถึงกับเสียชีวิตโดยฉับพลัน ทำให้เกิดคำถามว่า อาการเหล่านี้เป็นผลมาจากวัคซีนหรือไม่ 

ในช่วงแรก ทั้งบริษัทผู้ผลิตวัคซีน หน่วยงานด้านสาธารณสุขอย่าง “องค์การอนามัยโลก” (WHO) และรัฐบาลต่างๆ ที่นำเข้าแอสตร้าเซนเนก้า (รวมถึงรัฐบาลไทยในขณะนั้นด้วย) ยืนยันว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อมโยงว่าอาการป่วยเหล่านั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจริง ซึ่งเป็นการประเมินจากหลักฐานที่มีอยู่ขณะนั้น ประกอบกับอาการลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้น มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

แต่เมื่อเวลาผ่านไปและมีหลักฐานทางการแพทย์ละเอียดมากขึ้น หน่วยงานต่างๆ จึงยืนยันอย่างเป็นทางการว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับภาวะลิ่มเลือดอุดตันจริง พร้อมกับค่อยๆ ปรับเปลี่ยนคำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีนไปตามหลักฐานที่ปรากฎขึ้น

เมื่อมีคำยืนยันเช่นนี้ กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันและครอบครัวของผู้เสียชีวิต จึงดำเนินการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากแอสตร้าเซนเนก้า นอกเหนือจากค่าชดเชยที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรจ่ายให้แล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัวระบุว่า ไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้น 

ถึงแม้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจะต่อสู้คดีด้วยการปฏิเสธในช่วงแรกว่า วัคซีนของตนไม่เกี่ยวข้องกับอาการลิ่มเลือดอุดตัน (TSS) แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทได้ยอมรับต่อศาลสูงอังกฤษในที่สุด ก่อนที่เรื่องนี้จะได้รับการรายงานครั้งแรกในปลายเดือนเมษายน โดยสำนักข่าว Telegraph เป็นผู้เปิดเผย ดังที่กล่าวมาแล้วตอนต้น

ข้อมูลเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน ไม่ใช่ “ข้อมูลใหม่” 

ดังนั้น การยอมรับของแอสตร้าเซนเนก้าในศาลอังกฤษ จึงไม่ใช่ข้อมูลใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นที่ทราบในวงการแพทย์ทั่วโลกมาระยะหนึ่งแล้ว และหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้เฝ้าระวังความเสี่ยงของภาวะ TSS มาตลอด ตามที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติของประเทศไทยได้ชี้แจงไว้ในแถลงการณ์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมว่า:

“ข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่เป็นข้อมูลที่ได้รับจากการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีการใช้วัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในวงกว้าง ซึ่งจากข้อมูลทั่วโลก พบว่า ภาวะ TTS ที่เกิดขึ้นภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ เป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบได้น้อยมาก

โดยรายงานการเกิดภาวะ TTS ภายหลังการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่มาจากสหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพยุโรป (EU) และจากรายงานทั่วโลกพบว่า อุบัติการณ์ของภาวะ TTS ภายหลังการฉีดวัคซีน มีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์อย่างมาก โดยมีรายงานน้อยมากที่มาจากประเทศนอกยุโรป…

ทั้งนี้ ข้อมูลความเสี่ยงของภาวะดังกล่าว ได้ถูกเพิ่มเติมในเอกสารกำกับยาของวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า หัวข้อ “คำเตือนพิเศษ และข้อควรระวังในการใช้ยา” ตั้งแต่ วันที่ 8 ก.ย.2564 ภายหลังจากที่มีข้อมูลภายหลังการใช้วัคซีนในวงกว้างมากขึ้น ทำให้หลังจากนั้นสามารถติดตามเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการฉีดวัคซีน และสามารถให้การรักษาภาวะดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม”

สอดคล้องกับ Mansoor Amiji ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม ในสหราชอาณาจักร ที่ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ในเชิงวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด สิ่งที่เปลี่ยนไปคือก่อนหน้านี้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าสู้คดีมาตลอดว่า ภาวะ TSS อาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคประจำตัว หรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ จนกระทั่งบริษัทหันมายอมรับต่อหลักฐานในที่สุด แต่วงการแพทย์ได้ทราบและศึกษาความเชื่อมโยงนี้มาตลอดอยู่แล้ว

ลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีน ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ 

แม้ในปัจจุบันจะมีหลักฐานถึงความเชื่อมโยงระหว่าง TSS กับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า บรรดานักวิชาการ และหน่วยงานด้านสาธารณสุข ต่างพูดตรงกันว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดจากวัคซีนมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับคนทั่วไปน้อยมาก 

“จากข้อมูลของสหราชอาณาจักร (ณ วันที่ 14 มิ.ย.2564) และสหภาพยุโรปคาดการณ์ว่า ความเสี่ยงในการเกิด TTS ของประชากรในภูมิภาคอยู่ที่ประมาณ 1 ราย ต่อ 100,000 ประชากร  ในขณะที่ ฐานข้อมูลความปลอดภัยระดับโลกของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า พบว่า อัตราการรายงาน TTS ต่อประชากร 1,000,000 คน อยู่ระหว่าง 0.2 (ในประเทศแถบเอเชียและบราซิล) ถึง 17.6 (ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก)” สถาบันวัคซีนแห่งชาติอธิบาย 

“สำหรับประเทศไทย มีการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ทั้งหมด 48,730,984 โดส พบผู้สงสัยหรือยืนยันภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำจำนวน 7 คน อัตราการเกิดภาวะ TTS เท่ากับ 0.014 ต่อ 100,000 ประชากร หรือ จะพบผู้มีภาวะดังกล่าวได้ 1 คน ในผู้ได้รับวัคซีนจำนวน 10,000,000 คน”

เช่นเดียวกับ ศาสตราจารย์ Amiji ก็ได้ระบุว่า ในปัจจุบันวงการแพทย์ได้ศึกษากลไกของภาวะ TSS อย่างละเอียดแล้ว ซึ่งยืนยันข้อค้นพบว่าภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นกับ “เศษเสี้ยว” เดียวของประชากรส่วนใหญ่ และไม่ได้พบข้อกังวลหรือผลข้างเคียงใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ยังมีเสียงยืนยันจากนักวิชาการอื่นๆว่า ความเสี่ยงของผลข้างเคียงจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ถึงแม้จะฟังดูน่ากลัวในสายตาคนทั่วไปหรือสื่อมวลชน แต่ยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากไม่ยอมฉีดวัคซีน เพราะโอกาสที่จะป่วยหนักหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มีมากกว่าหลายเท่าตัว 

นอกจากนี้ Aziz Sheikh นักวิจัยเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากวัคซีนในสก็อตแลนด์ ยังระบุด้วยว่าภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ไม่ได้เกิดขึ้นจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างเดียว แต่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากโรคโควิด 19 ด้วย เพราะงานวิจัยพบว่าความเป็นไปได้ที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มคนที่ติดเชื้อโควิด กับกลุ่มคนที่รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีอัตราส่วนราว 12,614 ต่อ 66 คนเลยทีเดียว

พูดง่ายๆ คือ “ประโยชน์” ที่วัคซีนช่วยในการป้องกันและบรรเทาโรคโควิด-19 มีมากกว่า “ความเสี่ยง” ของผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น ดังที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติของไทยได้สรุปไว้:

“ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย มีระบบกำกับดูแลความปลอดภัยของการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมากกว่าความเสี่ยงที่ได้รับอย่างดีที่สุด”

การถอนวัคซีนจากตลาด ไม่ใช่เรื่องแปลก

ส่วนประเด็นที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้ายุติการผลิตและส่งออกวัคซีนไปทั่วโลกนั้น ก็ไม่ชัดเจนว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับข่าวเรื่องที่บริษัทยอมรับเกี่ยวกับความเสี่ยงของ TSS ในศาลอังกฤษหรือไม่ เพราะข่าวดังกล่าวปรากฏขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายเดือนเมษายน 

แต่แอสตร้าเซนเนก้า ได้เริ่มกระบวนการขอถอนใบอนุญาตและยุติการจำหน่ายวัคซีนตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว จนเพิ่งได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการในต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ในแง่หนึ่ง ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะวัคซีนบางยี่ห้อได้ยุติการผลิตและส่งออกเป็นที่เรียบร้อย ท่ามกลางสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ที่ได้เข้าสู่ภาวะปกติมาระดับหนึ่งแล้ว เช่น วัคซีนซิโนแวคยุติการผลิตเมื่อเดือนมกราคมนี้ ส่วนวัคซีนต้านโควิดของ Johnson & Johnson ก็ได้ยุติการผลิตตั้งแต่กลางปีที่แล้วเช่นกัน  

ด้านแอสตร้าเซนเนก้าระบุว่า เหตุผลที่ถอนวัคซีนออกจากตลาดเนื่องมาจากในปัจจุบันมีวัคซีนใหม่ๆ ผลิตออกมาเพื่อรับมือกับสายพันธ์ใหม่ๆของ โรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าลดตามลงมาด้วย 

ทั้งนี้ นักวิชาการด้านสาธารณสุขต่างเห็นตรงกันว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนเก้มีส่วนช่วยในการบรรเทาการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมหาศาล โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่วัคซีนมีจำนวนจำกัด 

“วัคซีนตัวนี้ได้ช่วยชีวิตคนไว้หลายล้านคน และเราไม่ควรลืมข้อเท็จจริงนี้” Catherine Bennett  ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาในออสเตรเลีย กล่าวให้สัมภาษณ์

อ่านเพิ่มเติม

สถาบันวัคซีน แจงเกิดภาวะลิ่มเลือด-เกล็ดเลือดต่ำ จากวัคซีน AstraZeneca มีน้อย

Should You Be Worried About AstraZeneca Vaccines? 

A study confirms a small risk of blood clots after vaccines, but not as high as the risk Covid brings.