มองตัวอย่าง‘5 + 2 ข่าวลวงปี2566’ ปัจจัยเดิมทำ‘เชื่อ ชัง ชอบ- แชร์’ยังอยู่ แต่‘ข้อท้าทายใหม่’ทำตรวจสอบยากก็กำลังมา

COFACT Special Report 26-66

By : Zhang Taehun

วันคืนผ่านไปเร็วเหลือเกิน!..เผลอแปบเดียวปี 2566 ก็กำลังจะผ่านไปแล้ว หลายคนคงกำลังเตรียมวางแผนเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนหรือกลับไปพบหน้าครอบครัวในภูมิลำเนา แน่นอนว่าสำหรับ Cofact สิ่งที่ทำกันเป็นประเพณีช่วงท้ายปีแบบนี้คือการ “ทบทวน” กันว่าตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เราเจอ “ข่าวลวง” อะไรกันมาบ้าง สำหรับในปีนี้ก็มีหลายเรื่องเช่นกันจากหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ภาพที่ 1 : แชทไลน์อ้างเว็บไซต์กรมการปกครอง ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 เป็นเว็บไซต์ปลอม

– ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง (จากเว็บไซต์จริงแต่ถูกกล่าวหาว่าปลอม) : ปี 2566 นี้ สำหรับการเมืองไทยถือเป็นปีที่สำคัญเพราะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) โดยมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรกันในวันที่ 20 มี.ค. 2566 ก่อนหน้าครบวาระ 4 ปี เพียง 3 วัน (23 มี.ค. 2566) จากนั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศให้จัดการเลือกตั้ง สส. ในวันที่ 14 พ.ค. 2566

ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากทางสำนักงานเขตหรืออำเภอจะส่งเอกสารมาที่บ้าน อันเป็นขั้นตอนแบบดั้งเดิมแล้ว ทาง กกต. ได้จับมือกับ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ใช้เว็บไซต์ https://www.bora.dopa.go.th ของสำนักบริหารการทะเบียน ในการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเตรียมตัวให้พร้อม ดูว่าตนเองต้องไปลงคะแนนเสียงที่หน่วยเลือกตั้งใดจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปผิดสถานที่

แต่ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จู่ๆ ก็มีการแชร์กัน (ซึ่งจากตามภาพน่าจะเป็นการแชร์ทางแอปพลิเคชั่นไลน์) เป็นข้อความที่บอกว่า “ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้แล้วตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 อย่าตรวจนะ มันให้กรอกเลขบัตรประชาชน เดี๋ยวเขตส่งมาให้เราเอง (เว็บไซต์อันตราย)” อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จบลงได้รวดเร็ว เพราะ Link https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection/ ที่ถูกอ้างว่าเป็นเว็บไซต์ปลอมนั้น ได้รับการยืนยันจากทั้ง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมาย​ประชาชน (iLaw) ในวันที่ 21 เม.ย. 2566 ว่าเว็บนั้นเป็นของจริง สามารถเข้าไปตรวจสอบได้จริง

ภาพที่ 2 : Steepling Hands ท่ามือเสริมบุคลิก ถูกโยงว่าเป็นสัญลักษณ์ขององค์กรลับ “อิลลูมินาติ”

– เหล่าผู้นำระดับโลกล้วนเป็นสมาชิก อิลลูมินาติ” โดยดูได้จากท่ามือที่พวกเขาแสดง : เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ อิลลูมินาติ (Illuminati)” องค์กรลับที่ว่ากันว่าประกอบด้วยชนชั้นนำ (Elite) ในแวดวงต่างๆ ทั้งการเมือง ธุรกิจ สื่อมวลชน บันเทิง ฯลฯ เพื่อบงการความเป็นไปของโลกอยู่ในเงามืด นี่คือหนึ่งใน ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory)” ที่มีคนเชื่อมากที่สุดในโลก แม้ที่ผ่านมาจะไม่เคยมีหลักฐานใดๆ ที่ชื้ชัดได้เลยว่าองค์กรอิลลูมินาติมีอยู่จริงก็ตาม

สำหรับประเทศไทย ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 นอกจากจะเกิดเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดอย่าง พรรคก้าวไกล ได้ที่นั่ง สส. ในสภา มากเป็นอันดับ 1 แล้ว ชื่อขององค์กรอิลลูมินาติก็กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อมีการแชร์ภาพ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ในเวลานั้น) และภาพผู้นำของอีกหลายประเทศ เช่น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ , อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล , ประธานาธิบดีตุรกี (ทูร์เคีย) เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน เป็นต้น ทำท่ามือในลักษณะที่คล้ายกัน โดยอ้างว่านั่นเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างขององค์กรลับดังกล่าว

แต่จริงๆ ท่ามือที่เห็นไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร โดยมันถูกเรียกว่า The Hand Steeple (หรือ The Hand Steeple Gesture , Steepling Hands) และได้รับการอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและบุคลิกภาพ ว่าเป็นท่าที่บรรดาผู้นำทั้งแวดวงการเมืองและธุรกิจชอบใช้เพื่อแสดงความมั่นใจของตนเอง อาทิ บทความ 5 body language behaviors from a retired FBI agent to help improve your confidence เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2561 อ้างอิงเนื้อหาจากหนังสือ The Dictionary of Body Language (ฉบับแปลไทยใช้ชื่อว่า “พจนานุกรมอ่านคนตั้งแต่หัวจรดเท้า”)  

หนังสือเล่มดังกล่าวซึ่งเขียนโดย โจ นาวาร์โร (Joe Navarro) อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) ได้อธิบายความหมายของ The Hand Steeple ไว้ว่า The Hand Steeple คือการทำท่ามือโดยวางประกบปลายนิ้วของมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน กางฝ่ามือสองข้างออก แล้วงอมือเพื่อให้ปลายนิ้วมือดูเหมือนยอดแหลมของโบสถ์ นี่เป็นการแสดงความมั่นใจแบบสากลและมักใช้โดยผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำ และท่ามือนี้ยังเป็นท่าที่ อังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี มักใช้บ่อยครั้ง

หรือบทความ 7 HAND GESTURE BODY LANGUAGE TIPS TO INFLUENCE COMMUNICATION บนเว็บไซต์ sandygerber.com ของ แซนดี เกอร์เบอร์ (Sandy Gerber) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารชาวแคนาดา อธิบายไว้ว่า Steepling Hands เป็นคำที่บัญญัติโดย ศ.เรย์ เบิร์ดวิสเทล (Prof.Ray Birdwhistell) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาภาษากายของมนุษย์ ว่า เป็นท่าที่นิ้วของมือข้างหนึ่งกดเบาๆ กับนิ้วของมืออีกข้างและก่อตัวเป็นยอดแหลมของโบสถ์ 

โดย ศ. เบิร์ดวิสเทล ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่มองว่าตัวเองมีชื่อเสียงและอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงจะใช้ท่าทางที่เรียบง่าย และมักจะใช้ตำแหน่งนิ้วชี้ที่จำกัดเพื่อแสดงทัศนคติที่มั่นใจ อีกทั้ง ท่า The Hand Steeple ยังมี 2 รุปแบบ คือ “Raised Steeple” เมื่อยกนิ้วขึ้นที่ด้านหน้าของหน้าอก ผู้พูดกำลังแสดงความคิดเห็นและความคิด ขอแนะนำให้ใช้ท่านี้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากท่านี้อาจสื่อถึงความเย่อหยิ่งหรือทัศนคติที่รู้ทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากศีรษะของบุคคลนั้นเอียงไปด้านหลัง กับ “Lower Steeple” เมื่อนิ้วอยู่ในตำแหน่งท่อนล่างรอบเอว บุคคลนั้นมักจะฟังมากกว่าพูด ที่น่าสนใจคือ การวิจัยระบุว่าผู้หญิงมักจะใช้ท่า Lower มากกว่า Raised

ภาพที่ 3 : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง วอนหยุดแชร์ข่าวลวงวนซ้ำเรื่องแบคทีเรียกินเนื้อคน


– ระยองกับข่าวลวงวนซ้ำเรื่องแบคทีเรียกินเนื้อคน 
: อย่างที่ทราบกันดีว่าระยองเป็นหนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับคนรักการพักผ่อนริมชายหาดและกินอาหารทะเล และข้อมูลข่าวสารนั้นก็ถือเป็นเรื่องอ่อนไหวอาจกระทบต่อการท่องเที่ยวได้ ซึ่งในปี 2566 ทางสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองชี้แจงติดต่อกันทั้งในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากยังมีการแชร์วนซ้ำ

โดยเนื้อหาข่าวลวงนั้นคือ เชื้อ vibrio valnificus ระยองมีแล้ว 2 ราย เสียชีวิตทั้ง 2 ราย รพ.ระยอง 1 ราย รพ.แกลง 1 ราย แบคทีเรียในนํ้าทะเลกำลังบูม ช่วงนี้งดทานพวกหอยสดทุกชนิด โดยเฉพาะหอยนางรมสด หอยแครง และอาหารทะเลสุกๆดิบๆ พร้อมกับภาพผู้ป่วยดูน่าสยดสยอง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.ระยอง ก็ชี้แจงในวันที่ 13 ก.ย. และ 6 ต.ค. 2566 ย้ำว่า ภาพที่แชร์นั้นเป็นภาพผู้ป่วยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จากการถูกของทิ่มแทง ได้รับการรักษาช้าจนมีเนื้อเยื่อตาย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข่าวแบคทีเรียกินเนื้อคนของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) หรือสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบัน จ.ระยอง ยังไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อ vibrio valnificus ตามที่เป็นข่าว อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนที่มีบาดแผลเปิด งดลงเล่นน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด เพราะแผลอาจติดเชื้อได้

ส่วนที่มีการอ้างถึง CDC นั้น เนื่องจากในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (1 ก.ย. 2566) ทาง CDC ได้เผยแพร่บทความ Severe Vibrio vulnificus Infections in the United States Associated with Warming Coastal Waters : Emergency Preparedness and Responseเนื่องจากช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. 2566 สหรัฐฯ เผชิญกับอุณหภูมิพื้นผิวทะเลชายฝั่งที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยและคลื่นความร้อนที่แผ่กว้าง และบรรดามลรัฐชายฝั่งตะวันออกหลายแห่ง เช่น คอนเนตทิคัต นิวยอร์ก และนอร์ทแคโรไลนา พบรายงานการติดเชื้อ Vibrio valnificus ซึ่งจำนวนมากเกิดขึ้นหลังจากบาดแผลเปิดสัมผัสกับน่านน้ำชายฝั่ง หรือบางส่วนเกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารทะเลดิบหรือปรุงไม่สุก หรือมีสาเหตุที่ไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ประเทศไทย) ระบุว่า Vibrio valnificus เป็นเชื้อแบคทีเรีย อยู่ในตระกูล (Family) Vibrionaceae ติดสีแกรมลบ รูปร่างแท่ง เชื้อนี้ทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ พบอัตราการป่วยตายสูงถึงร้อยยละ 75 โดยธรรมชาติเชื้อนี้อาศัยอยู่ในน้ำทะเลและน้ำกร่อย ผู้ป่วยได้รับเชื้อจากการกินอาหารทะเลดิบ (โดยเฉพาะหอยนางรม) และทางบาดแผลที่สัมผัสกับเชื้อในแหล่งน้ำ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารทะเลดิบ และการสัมผัสน้ำทะเลและน้ำกร่อยเมื่อมีบาดแผล

 ภาพ 04 : หลากหลายเหตุการณ์ (ทั้งจริงและลวง) ที่อ้างว่าเกิดขึ้นพร้อมกันในวันที่ 3 ต.ค. 2566 
 

– “3 ตุลา 2566 วันสยาม (สแควร์) วิปโยคเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นพร้อมกัน : ตามภาพจะเห็นการแชร์กันถึง 5 เหตุการณ์ แต่ในความเป็นจริง มีเพียงเหตุกราดยิงที่สยามพารากอน เพียงเหตุการณ์เดียวเท่านั้นที่เกิดขึ้นในวันที่ 3 ต.ค. 2566 และเกิดขึ้นในสถานที่ที่ถูกเรียกว่าสยามสแควร์อย่างชัดเจนในขณะที่เหตุการณ์อื่นๆ ไล่ตั้งแต่ สามย่านมิตรทาวน์มีคนเอามีดไล่แทง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันอื่นก่อนหน้าวันที่ 3 ต.ค. 2566 , 

สยามไฟไหม้ ในวันที่ 3 ต.ค. 2566 ไม่มีสำนักข่าวใดรายงานข่าวนี้ มีเพียงกรณีที่ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง (MBK) ชี้แจงภาพกลุ่มควันบริเวณอาคารของห้างที่ถูกแชร์กันไปว่าเกิดไฟไหม้ ว่าเกิดจากการทำงานของเครื่อง Cooling Tower ที่ทำให้เกิดกลุ่มไอน้ำในอากาศ , สยามน้ำท่วม เรื่องนี้เป็นได้ทั้งข่าวลวง หรือจะว่าข่าวจริงบางส่วนก็ได้ เพราะคำว่าสยาม (หรือสยามสแควร์) ไม่ได้แหล่งข้อมูลใดระบุไว้ชัดเจนว่าครอบคลุมถึงไหนบ้าง 

โดยในวันดังกล่าว ทางสำนักงานเขตปทุมวัน ส่งเจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมขังในบริเวณ(1) ถนนพระรามที่ 4 ตั้งแต่เเยกมหานคร ถึงบ่อนไก่ (2) ถนนพระรามที่ 1 บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ (3) ถนนพญาไท บริเวณหน้าศูนย์การค้า MBK (มาบุญครอง) และ (4) ถนนสายรอง บริเวณซอยรองเมือง 5 , อินดอร์สเตเดียมหัวหมากถล่ม แม้จะเกิดขึ้นจริงในวันที่ 3 ต.ค. 2566 แต่สถานที่ดังกล่าวอยู่ในเขตบางกะปิ ไม่ใช่บริเวณที่ถูกเรียกว่าสยาม (หรือสยามสแควร์) ที่อยู่ในเขตปทุมวันแต่อย่างใด

ภาพ 05 : ‘สวีเดน’ บรรจุ ‘เซ็กซ์’ เป็นกีฬา ข่าวที่ลือกันสนั่นช่วงเดือนมิถุนายน 2566 แต่สุดท้ายแค่เข้าใจคลาดเคลื่อน

– เซ็กซ์” ก็เป็นกีฬาได้นะสวีเดนเขารับรองแล้ว : ย้อนไปในเดือน มิ.ย. 2566 มีข่าวที่ฮือฮากันมากคือ ประเทศสวีเดนบรรจุให้ เซ็กซ์ หรือการมีเพศสัมพันธ์ เป็นกีฬาแล้วอย่างเป็นทางการ โดยอ้างถึงการแข่งขันเซ็กซ์ชิงแชมป์ยุโรป (European Sex Championship) แถมมีการก่อตั้ง สหพันธ์เซ็กซ์แห่งสวีเดน (The Swedish Sex Federation หรือ Svenska Sexförbundet) เพื่อเป็นสมาคมกีฬาดังกล่าวของแดนไวกิ้งอีกต่างหาก จนเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชนไทยก็ยังแปลมาเผยแพร่ต่อ

อย่างไรก็ตาม แอนนา เซ็ทซ์แมน (Anna Setzman) โฆษกของสมาพันธ์กีฬาสวีเดน (Swedish Sports Confederation) องค์กรกลางในแวดวงกีฬาของสวีเดนที่รับจดทะเบียนสมาคมกีฬาชนิดต่างๆ (เช่นเดียวกับในไทยที่มีการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. เป็นองค์กรกลางรับจดทะเบียน) ที่ออกมายืนยันว่าข่าวดังกล่าวเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน และสวีเดนยังไม่มีการรับรองเซ็กซ์เป็นกีฬาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อน (Misinformation) เพราะด้านหนึ่งมีการจัดการแข่งขันที่ว่านี้ไหม? คำตอบคือมี แต่ถูกจัดโดยสหพันธ์เซ็กซ์แห่งสวีเดน ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์กีฬาสวีเดน (ให้อธิบายง่ายๆ คือมีองค์กรและองค์กรนั้นพยายามจัดแข่ง แต่องค์กรที่ว่าไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่) ส่วนความเข้าใจคลาดเคลื่อนก็น่าจะเกิดมาจากกรณี The Times of India หนังสือพิมพ์ชื่อดังฉบับหนึ่งในอินเดีย พาดหัวข่าว Sweden Will Soon Host the European Sex Championship ในวันที่ 4 มิ.ย. 2566 

ปัญหาคือบรรทัดแรกของข่าวนี้เริ่มบรรยายว่า Sweden has formally recognised sex as a sport and will stage its first-ever sex tournament the following week. (สวีเดนยอมรับการมีเพศสัมพันธ์เป็นกีฬาอย่างเป็นทางการและจะจัดการแข่งขันการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในสัปดาห์หน้า) มีการใช้คำว่า “formally” ที่แปลว่า “อย่างเป็นทางการ” ขยายความคำว่า “recognise” ที่แปลว่า “ยอมรับ” ซึ่งอาจทำให้ผู้รับสารเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าทางการสวีเดนยอมรับเซ็กซ์เป็นกีฬาแล้ว

“มิตซูบิชิ (Mitsubishi)” หรือ “มิตูบิชิ (Mitubishi)”

– รถไฟฟ้าทรงกลมๆ น่ารัก ไม่ได้ผลิตโดยมิตซูบิชิ : เรื่องนี้ขอแถมให้เพราะเป็นเรื่องที่ผู้เขียนค้นหาข้อมูลแล้วพบว่าซับซ้อนกว่าที่คิด (อ่านได้ที่บทความ ‘รถไฟฟ้า2ที่นั่งรูปทรงน่ารัก’ไม่ได้ผลิตโดย‘มิตซูบิชิ’ โปรดสังเกต‘โลโก้-ชื่อ’ดูให้ชัวร์ก่อนแชร์) เริ่องราวเริ่มต้นเมื่อสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งโพสต์ข้อความอ้างถึงงาน Motor Expo 2023 ว่า มิตซูบิชิเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 2 ที่นั่ง รัศมีการมอง 360 องศา สีหวานพาสเทล 

แน่นอนข่าวนี้ถูกแชร์ออกไปอย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งผู้เขียนเองยังเกือบแต่งตัวออกจากที่พักไปดูตัวจริงที่งาน แต่ก็สะดุดตากับตัวหนังสือเหนือโลโก้ และเมื่อลอง Crop ภาพมาซูมดู ก็พบว่า “ตัวอักษร S หลังตัวอักษร T” หายไป ดังนั้นแทนที่จะอ่านว่า “มิตซูบิชิ (Mitsubishi)” ก็เลยต้องอ่านว่า “มิตูบิชิ (Mitubishi)” แทน สุดท้ายเรื่องก็กระจ่างมาประการหนึ่งคือมิตซูบิชิไมได้ผลิตรถรุ่นนี้แน่นอน เพราะคงไม่มีผู้ผลิตรายใดยอมให้สะกดชื่อบริษัทตัวเองผิดแล้วนำสินค้ามาโชว์แบบนี้แน่ๆ 

อีกทั้งหากมาเปิดตัวจริง เพจเฟซบุ๊กของมิตซูบิชิ (ประเทศไทย) มีหรือจะไม่ถ่ายภาพมาโปรโมท เพราะก็บอกอยู่ว่าเปิดตัว และงานอย่าง Motor Expo ก็คือเวทีแสดงศักยภาพของบรรดาค่ายรถต่างๆ อยู่แล้ว และยิ่งชัดขึ้นเพราะสำนักข่าวออนไลน์แห่งนั้นน่าจะลบข่าวทิ้งไปแล้วเนื่องจากกลับไปไล่ค้นในเพจเฟซบุ๊กแต่ไม่เจอ (คงทราบภายหลังว่าเข้าใจผิด) เรื่องนี้สำหรับผู้เขียนมองว่าน่าสนใจใน 2 ประเด็น 

1.เป็นอุทาหรณ์ทั้งต่อสื่อมวลชนและคนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ก่อนจะแชร์อะไรคงต้องรอบคอบมากๆ ดูกันแบบละเอียดสุดๆ ซึ่งก็น่าเป็นห่วงเพราะปัจจุบันคนใช้อินเตอร์เน็ตผ่านจอโทรศัพท์มือถือมากกว่าจอคอมพิวเตอร์ ภาพตัวหนังสือจะดูเล็กกว่าการเปิดในเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้สังเกตสิ่งผิดปกติได้ยากกว่า กับ 2.การตรวจสอบข้อมูลจริง –ลวง มีแนวโน้มยากขึ้นในอนาคต เพราะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้การปลอมแปลงเนียนยิ่งขึ้น อย่างภาพรถคันนี้ก็มีการกล่าวอ้างว่าใช้ AI ทำขึ้น แต่ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบว่าจะตรวจสอบในประเด็นนี้ได้อย่างไร ยังดีว่าเขียนชื่อยี่ห้อผิดเลยรู้ว่าเป็นข่าวลวง ถ้าเขียนถูกขึ้นมานี่น่าเป็นห่วงเลยทีเดียว

นักการเมืองได้บำนาญเป็นกอบเป็นกำ (จริงหรือ?)

– บำนาญของนักการเมือง : เรื่องนี้ผู้เขียนไม่ได้ค้นหาข้อมูลเอง เป็นงานของคุณกุลธิดา สามะพุทธิที่ผู้เขียนอ่านแล้วน่าสนใจดีเลยอยากแถมให้อีกเรื่อง (ค้นหาได้ในชื่อบทความ “ชำแหละข่าวลวงวนซ้ำเรื่อง “บำเหน็จบำนาญ สส.” ตัวเลข (เท็จ) นี้มีที่มา) สรุปคร่าวๆ คือนี่เป็นหนึ่งในข่าวลวงที่ถูกแชร์วนซ้ำมากที่สุด (ซึ่งอาจเป็นเพราะภาพจำของนักการเมืองในสายตาคนไทยค่อนข้างไปทางลบอยู่แล้ว เลยอารมณ์ขึ้นทันทีเมื่อเห็นข้อมูลนี้แล้วก็อาจแชร์ต่อกันโดยไม่ตรวจสอบ) และที่น่าสนใจคือ เป็นข่าวที่ผสมกันระหว่างข้อมูลจริงกับเท็จ อย่างแนบเนียน

โดยข้อมูลตามภาพเป็นนำส่วนที่เป็นเรื่องจริง (เป็นกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้จริง) คือ พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ. 2555 มาผสมกับส่วนที่ไม่ใช่เรื่องจริง (เป็นเพียงร่างกฎหมายแต่ถูกตีตกไปแล้วไม่ได้ออกมาบังคับใช้) คือ “(ร่างพ.ร.ฎ.บำเหน็จบำนาญ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธาน และรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. .. ซึ่งร่างกฎหมายนี้มีสูตรคำนวณบำนาญนักการเมือง และเมื่อนำสูตรนี้ไปคำนวณจากรายได้ต่อเดือนตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ ก็ได้เป็นจำนวนบำนาญตามที่ปรากฏในข้อมูลที่แชร์กันนั่นเอง

บทสรุปจากตัวอย่าง 5 + 2 เรื่อง ที่ยกมานี้ ผู้เขียน (Zhang Taehun) มองเห็นทั้ง ข้อกังวลเดิม คือ ข่าวลวงจะเก่าแค่ไหน  แปลกเพียงใด ก็มีคนพร้อมจะแชร์เสมอหากเข้ากับอารมณ์ขณะนั้น ไม่ว่าความโกรธ – ความชัง (ข่าวที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น อิลลูมินาติ , เช็คสิทธิ์เลือกตั้ง , บำนาญนักการเมือง ซึ่งคนแชร์อาจไม่ชอบหรือไม่ไว้วางใจอยู่แล้ว เมื่อมีข่าวที่เห็นแล้วไม่พอใจเข้ามาก็แชร์ทันที) ความกลัว (ข่าวเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ กรณีโรคเนื้อเน่าที่ระยอง หรือข่าวเหตุร้ายต่างๆ แถวสยาม อาจแชร์ด้วยความห่วงใยคนที่รัก อยากให้ระมัดระวัง) แม้กระทั่งความสนุกสนานตลกขบขัน (ข่าวเรื่องสวีเดนรับรองเซ็กซ์เป็นกีฬา , ข่าวรถไฟฟ้ามิตซูบิชิ) 

แต่ขณะเดียวกันก็มี ความท้าทายใหม่” คือ “AI จะทำให้การปลอมแปลงข้อมูลทำได้แนบเนียนขึ้น” และเชื่อว่าหลังจากนี้คงเป็น งานหนัก  งานยาก” ของบรรดานักตรวจสอบข้อมูลทั้งหลายอย่างแน่นอน!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://ilaw.or.th/node/6428 (เลือกตั้ง 66: เปิดปฏิทินการเลือกตั้งอย่างช้า เมื่อนายกฯ ยุบสภา 20 มี.ค. : iLaw 20 มี.ค. 2566)

https://www.bbc.com/thai/articles/c108pq06mp8o(เลือกตั้ง 2566 : เปิดปฎิทินเลือกตั้ง หลัง กกต. เคาะ 14 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป : BBC 21 มี.ค. 2566)

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230417201557885 (กกต. แจ้งให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. สามารถตรวจสอบรายชื่อของตัวเองได้แล้ว ตั้งแต่ 18 เมษายนนี้ : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 17 เม.ย. 2566)

https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-อย่ากรอกข้อมูลตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง-เนื่องจากเว็บไซต์อันตราย/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! อย่ากรอกข้อมูลตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เนื่องจากเว็บไซต์อันตราย : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 21 เม.ย. 2566)

https://twitter.com/iLawclub/status/1649293737632358400 (ทวิตเตอร์ iLaw 21 เม.ย. 2566)

https://www.insider.com/body-language-how-to-improve-confidence-2018-8#hand-steepling-2 (5body language behaviors from a retired FBI agent to help improve your confidence : Insider 29 ส.ค. 2561)

https://sandygerber.com/7-hand-gesture-body-language-tips-to-influence-communication/ (7 HAND GESTURE BODY LANGUAGE TIPS TO INFLUENCE COMMUNICATION)

https://www.naewna.com/likesara/761237(‘สสจ.ระยอง’วอนโซเชียล หยุดแชร์ข่าวปลอม‘แบคทีเรียกินเนื้อคน’ : แนวหน้า 6 ต.ค. 2566)

https://www.facebook.com/Rayonghandmade/videos/1299717640907660/ (คลิปวีดีโอคำชี้แจงจาก นพ.สุนทร เหรียญภูมิการกิจ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ระยอง : เพจ รู้เรื่องเมืองระยอง 13 ก.ย. 2566)

https://www.dailynews.co.th/news/2715942 (ข่าวเก่า! ยันแชร์ว่อน ‘แบคทีเรียกินเนื้อ’ เป็นเรื่องจริง แต่เป็นเหตุการณ์เมื่อ 5 ปีก่อน : เดลินิวส์ 13 ก.ย. 2566)

https://emergency.cdc.gov/han/2023/han00497.asp(Severe Vibrio vulnificus Infections in the United States Associated with Warming Coastal Waters : Emergency Preparedness and Response , CDC 1 ก.ย. 2566)

http://nih.dmsc.moph.go.th/login/showimgdetil.php?id=866 (ภัยร้ายจากเชื้อ Vibrio vulnificus : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ก.ย. 2561)

https://blog.cofact.org/specialrrport18-66/ (‘3 ตุลาคม 2566’หลากหลายข่าวร้ายเกิดขึ้น แต่ก็มีทั้ง‘จริง’และ ‘ลวง’ : Cofact 4 ต.ค. 2566)

https://blog.cofact.org/specialreport6610/ (‘สวีเดน’ บรรจุ ‘เซ็กซ์’ เป็นกีฬา! จากเนื้อหาคลาดเคลื่อน (MISINFORMATION) สู่ข้อมูลผิดพลาดที่ถูกแชร์ไวแบบไฟลามทุ่ง : Cofact 21 มิ.ย. 2566)

https://factcheckthailand.afp.com/doc.afp.com.33JQ42C (สมาพันธ์กีฬาแห่งสวีเดนปฏิเสธคำขอให้เซ็กส์เป็นกีฬาอย่างเป็นทางการ : AFP 10 ก.ค. 2566)

https://blog.cofact.org/specialreport25-66/(‘รถไฟฟ้า2ที่นั่งรูปทรงน่ารัก’ไม่ได้ผลิตโดย‘มิตซูบิชิ’ โปรดสังเกต‘โลโก้-ชื่อ’ดูให้ชัวร์ก่อนแชร์ : Cofact 14 ธ.ค. 2566)

https://blog.cofact.org/fake-news-on-parliamentarians-pension/ (ชำแหละข่าวลวงวนซ้ำเรื่อง “บำเหน็จบำนาญ สส.” ตัวเลข (เท็จ) นี้มีที่มา : Cofact 25 ก.ย. 2566)