วารสารศาสตร์แห่งความจริง : บทเรียนของสื่อที่ต้องทำงานในยุคโควิด-19
เมื่อวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2564 ภาคีโคแฟค ประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วน จัดกิจกรรมเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ประจำปี 2564 โดยในงานได้มีการเสวนาเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 15 (Digital Thinkers Forum) ในประเด็น “วารสารศาสตร์แห่งความจริงในยุคโควิด : บทเรียนและอุปสรรค” โดยมีสื่อมวลชนและประชาชนได้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับชมและถกเถียงผ่านการถ่ายทอดสดใน Facebook Page : Cofact เป็นจำนวนมาก
สำหรับประเด็นในงานเสวนาครึ่งแรกนี้ เป็นการพูดคุยของสื่อมวลชนหลากหลายแขนง ร่วมกับผู้ตรวจสอบข่าวลวงในประเทศไทย ซึ่งส่องสื่อได้สรุปข้อมูลมาฝากกันครับ ติดตามจากบทความสรุปนี้ได้เลยครับ
รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเริ่มต้นว่า สื่อมวลชนมักจะโหยหาความจริงในการนำเสนอข่าว และประชาชนก็ต้องการเช่นกัน โดยในต่างประเทศที่ได้ทำการสำรวจล่าสุด (2020) พบว่าประชาชนได้ให้ความน่าเชื่อถือกับสื่อกระแสหลักร้อยละ 40 ซึ่งกลับมามองที่ประเทศไทยกับต่างประเทศที่สถานการณ์ใกล้เคียงกัน ก็พบว่าสื่อทั่วโลก เช่น ฟิลิปปินส์ เดลี่ ก็ต้องปรับให้เข้ากับ Digital Disruption มากขึ้น ทิ้งสื่อสิ่งพิมพ์ เปลี่ยนโฉมมาทำเป็น Podcast แทน เน้นทำประเด็นเชิงลึกมากขึ้น หรือสื่อของไต้หวัน สถานีวิทยุจัดบริการ Phone-In ให้กลุ่มคนรุ่นใหม่โทรเข้ามาปรึกษาเรื่องต่างๆ ได้ ฉะนั้น สื่อกระแสหลักยังสามารถเป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
ในขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญของสื่อมวลชนคือจะต้องผลิตสิ่งที่มีคุณค่าในเชิงข่าวสาร มีคุณภาพ เน้นความถูกต้องของข่าวอีกด้วย ซึ่งการนำเสนอของสื่อก็ควรจะมีการแยกระหว่างความจริงกับความคิดเห็นออกมา ในขณะเดียวกันการให้สื่อมีอิสรภาพ ไม่ใช่แค่การรับข้อมูลจากรัฐมานำเสนอ แต่ต้องขุดคุ้ยมากขึ้น ซึ่งทำให้ขจัดข่าวลวงออกมาได้มากขึ้นด้วย
แล้วสื่อมวลชนจะก้าวข้ามต่อไปได้อย่างไร? อาจารย์ได้ให้ข้อเสนอไว้ว่าต้องเปิดใจในการรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะรัฐบาล ประชาชน และสื่อมวลชน รวมถึงการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น และการถอดบทเรียนในการทำงาน เพื่อที่จะสามารถทำงานต่อไปในอนาคต ไม่ซ้ำรอยกับบทเรียนเดิมได้นั่นเอง
นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการข่าวออนไลน์เวิร์คพอยท์ ทูเดย์ กล่าวว่า การทำงานข่าวในปัจจุบันนี้ เมื่อไหร่ที่เรานำเสนอข่าวก็มักจะมีความเห็นในการนำเสนอข่าวสารแบบทันที แถมด้วยการที่สื่อถูกแบนเป็นจำนวนมาก ในขณะที่คนที่อยากมาทำสื่อมักจะเป็นคนที่อยากพูดและอยากตอบคำถามกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งในอดีตนั้นสื่อมวลชนสามารถนำเสนอข่าวสารได้อย่างมีเสรีภาพ กลับกันในปัจจุบันสื่อมวลชนไม่สามารถพูดถึงในหลายประเด็นได้ และสื่อไม่ได้ทำหน้าที่ขุดคุ้ยมากขึ้น ส่งผลกระทบทำให้สื่อนำเสนอในสิ่งที่ไม่ได้น่าสนใจ
นอกเหนือจากนั้น การที่คนรุ่นใหม่ได้เข้าร่วมกลุ่มหนีออกจากประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงความรู้สึกต่อคนไทยมากกว่า 500,000 คนที่มีต่อประเทศไทย สื่อมวลชนจึงเป็นความหวังในการต่อยอดปัญญา ซึ่งพอสื่อมวลชนไม่สามารถทำได้แล้ว จึงส่งผลทำให้คนที่กำลังจะไปเป็นสื่อไม่อยากเข้ามาทำงานสื่อ เบนไปทำงานด้านอื่นแทน ไม่นับเรื่องของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีข่าวลวงจำนวนมาก ส่งผลทำให้ชีวิตของผู้คนตกอยู่ในอันตราย สื่อมืออาชีพจึงเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะในเรื่องของทักษะเชิงลึก ทักษะทางออนไลน์ และทักษะทางการแพทย์ด้วย
หลายครั้งที่สื่อมวลชนไปแตะหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐ มักจะถูกรัฐพูดว่าสื่อมวลชนสร้างความกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ซึ่งสิ่งที่สื่อนำเสนอคือข้อเท็จจริงซึ่งล้วนเป็นการนำเสนอภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่การนำเสนอความคิดเห็นของสื่อมวลชนเองก็ทำให้ประชาชนสามารถถกเถียงได้ ซึ่งในโลกยุคปัจจุบันทุกคนต้องกลับไปอยู่ในสังคม ฉะนั้นในวันนี้เราไม่จำเป็นต้องใช้แค่กรอบนิเทศศาสตร์ในการคุยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้หลากหลายกรอบในการร่วมถกเถียงในการทำงานมากขึ้นด้วย และที่สำคัญสื่อมวลชนและประชาชนก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
ในส่วนที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงการนำเสนอข่าวการนำเข้าวัคซีนของทาง Pfizer ว่าเป็นการนำเสนอที่เป็นข่าวลวงหรือไม่นั้น นภพัฒน์จักษ์กล่าวว่าเวิร์คพอยท์ ทูเดย์ทำงานภายใต้หลักจรรยาบรรณของสื่อมวลชน มีการแยกแยะระหว่างความเห็นกับข่าวสารออกจากกัน ซึ่งในกรณีการนำเสนอเรื่องการนำเข้าวัคซีนของ Pfizer ซึ่งเป็นการนำเสนอตามหลักการว่า “นักการเมืองพูดอย่างไร นำเสนอตามนั้น” และมีสื่อมวลชนนำเสนอทุกสำนักเลยก็ว่าได้ ในขณะเดียวกันเวิร์คพอยท์ ทูเดย์ก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับรัฐแต่อย่างไร กลับกันเวิร์คพอยท์ ทูเดย์ นำเสนอข้อมูลที่รัฐล้มเหลวในการนำเสนอข้อมูลได้
จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนในหลายปีที่ผ่านมา พบว่าสื่อมวลชนได้รับผลกระทบและกลายเป็นผู้ว่างงานกว่า 800 คน จากการถูก Digital Disruption ทำให้สื่อต้องการคนจำนวนที่น้อยลง ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สื่อมวลชนได้รับผลกระทบจากการทำงานภายใต้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงการ Lockdown ในรอบแรกองค์กรสื่อก็ได้มีการพูดคุยกับ ศบค. และรัฐบาลในการผ่อนปรนในการดำเนินการขนส่งและผลิตข่าว
นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา องค์กรสื่อก็ได้พูดคุยกับทาง ศบค. ถึงจุดอ่อนในการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น โดยได้ให้ข้อเสนอไปว่าต้องชัดเจนในการสื่อสารมากขึ้น นอกจากนั้นคือการให้ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ไม่ใช่แค่รอในช่วงเวลา 11.30 น. นอกจากนี้ในส่วนของเสรีภาพสื่อมวลชนในปัจจุบันก็ตกยากลำบากในการขอข้อมูลและนำเสนอข้อมูล รวมถึงการสัมภาษณ์ซึ่งส่งผลทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถซักถามแบบโทรศัพท์หรือเห็นหน้าตาคุยกันได้เลย
ข้อมูลบางส่วนที่เป็นข้อมูลลวง ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการคลาดเคลื่อนในการให้ข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งหน่วยงานรัฐก็มักจะโทษสื่อมวลชนเสมอ ๆ เกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่แท้ที่จริงแล้วรัฐก็ควรที่จะสะกิดกันเองในกรณีที่นำเสนอข้อมูลไม่ตรงกันให้ได้ และต้องกล้าที่จะสะกิด
ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนกระแสหลักก็ควรที่จะต้องนำ Big Data มาดัดแปลงกับความเป็นนักข่าว ให้กลายเป็นนักข่าวเชิงข้อมูลมากขึ้น โดยจะต้องผสมผสานความเป็น Content Creator ซึ่งสื่อมวลชนบางสำนักก็ได้รับผลกระทบจากการจัดกิจกรรมไม่ได้ สื่อมวลชนก็ต้องปรับตัวในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่ใช้ Digital เข้ามาช่วยได้มากขึ้น สามารถแตกประเด็น ต่อยอด และแสวงหาข้อเท็จจริงได้มากขึ้น ประชาชนต้องการข้อมูลหลากหลายด้านเพื่อที่จะใช้วิจารณญาณในการเสพข้อมูลต่างๆ รวมไปถึงสามารถกอบกู้ความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนได้อีกด้วย และจะส่งต่อไปยังการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการได้ต่อไป โดยสื่อมวลชนเป็นคนหยิบข้อมูลมาไว้บนโต๊ะเท่านั้นเอง
ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล ภาคีโคแฟค ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำงานของภาคีโคแฟคในช่วงที่ผ่านมาก็พบว่าข่าวลวงเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ตลอดจนการอ้างอิงคนที่มีอยู่จริงต่อเรื่องวัคซีนโควิด-19 ในการปล่อยข่าวลวงในเรื่องของวัคซีนและการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทำให้มีคนแชร์จำนวนมาก
การแชร์ข้อมูลข่าวลวงในปัจจุบันนี้มักจะมีการส่งต่อผ่านกลุ่มไลน์ของเพื่อน ญาติ และครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดกการไม่รู้เท่าทันสื่อ พอเกิดการส่งต่อแล้วก็มีโอกาสที่จะเชื่อในข่าวลวงนั้น นอกเหนือจากนี้หน่วยงานภาครัฐที่ให้ข้อมูล ประชาชนก็ไม่ไว้วางใจ จนส่งผลทำให้เกิดการเชื่อข่าวลวงนั้นๆ มากขึ้นไปอีก ซึ่งมีการวิจัยในไนจีเรียว่ามีการส่งต่อข่าวลวงเรื่องโควิด-19 เป็นจำนวนมาก จนทำให้เข้าใจผิด ซึ่งส่งต่อภายใต้พื้นฐานความเป็นห่วง หรือความหวังดีนั่นเอง
UNESCO กล่าวว่าสื่อมวลชนในปัจจุบันทำงานภายใต้ภาวะที่ล่อแหลมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดจนคนรับสื่อมีการหั่นซอยข้อมูลและบิดข้อมูลแหล่งข่าว ไม่มีข้อมูลแหล่งข่าว ทำให้ตรวจสอบได้ยากมากขึ้นอีกด้วย ภาคีเครือข่ายด้านสื่อจึงทำงานอย่างหนักและต้องสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ข้อมูลต้องได้รับการตรวจสอบภายใต้ความมีคุณภาพ ข้อมูลเที่ยงตรงและถูกต้อง และการปลูกฝังการรู้เท่าทันสื่อของประชาชนที่จะส่งผลให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากขึ้น ภายใต้แนวคิดในการทำงานที่ต้องน่าเชื่อถือ เที่ยงตรง เป็นความจริงทั้งหมด และอัพเดตตลอดเวลา
ในสหรัฐอเมริกาเองรัฐบาลก็สร้างความสับสนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร สื่อมวลชนจึงเป็นหน่วยงานที่ประชาชนโหยหาและต้องการในการหาความจริงที่ถูกกลั่นกรองมาแล้วว่ามีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ซึ่งประชาชนและสื่อมวลชนต้องรู้เท่าทันสื่อ สามารถค้นคว้าข้อมูลได้ และประเมินสุขภาวะทางการรับข้อมูลข่าวสาร สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลนี้ลงเมื่อไหร่ และต้องอัพเดตตลอดเวลา เพราะความจริงมักจะไหลไปตามเวลาเสมอ
Content Creator
กฤตนัน ดิษฐบรรจง
บรรณาธิการบริหาร MODERNIST Studio : ชอบดูทีวี สนใจเรื่องราวของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อทีวีและวิทยุ ชอบเขียนบทความ เป็นเด็กค่าย #YWC16