พรรคเป็นธรรม ในสมรภูมิวาทกรรม “แบ่งแยกดินแดน”
ทันทีที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลประกาศหลังชนะการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ว่าได้ทาบทามพรรคเป็นธรรมเข้าร่วมรัฐบาล โซเชียลมีเดียก็เริ่มปรากฏข้อความโจมตีพรรคเป็นธรรมว่า “เป็นพวกแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งโคแฟคตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นข้อกล่าวหาที่เกิดจากการตีความนโยบายแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และการกระจายอำนาจของพรรคเป็นธรรม ขณะที่บางกลุ่มอาจจงใจใช้วาทกรรมนี้โจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
ข้อกล่าวหานี้แพร่หลายในโซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่จำกัดอยู่แค่พรรคเป็นธรรมเท่านั้น แต่ยังพุ่งเป้าไปที่พรรคก้าวไกลและพรรคประชาชาติด้วย กระทั่งกลายเป็นประเด็นที่ผู้สื่อข่าวหยิบยกไปถามในการแถลงข่าวลงนามข้อตกลงร่วมจัดตั้งรัฐบาล (เอ็มโอยู) เมื่อ 22 พ.ค. 2566 โดยอ้างว่าเหตุที่ต้องถามจุดยืนในเรื่องนี้เพราะ “สัญญาณของการแบ่งแยกดินแดนค่อนข้างที่จะหนาหู…ประชาชนกังวลว่ารัฐบาลชุดใหม่จะทำให้ด้ามขวานทองหายไป”
พรรคเป็นธรรมในชายแดนใต้
พรรคเป็นธรรมเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่มีนายปิติพงศ์ เต็มเจริญ อดีต ส.ส. กทม. พรรคไทยรักไทยและอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 พรรคเป็นธรรมชูนโยบายเรื่องการ “สร้างสันติภาพในปาตานี” โดยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต 11 คนในกรุงเทพฯ นราธิวาส ยะลาและปัตตานี และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 9 คน
ผลการเลือกตั้ง พรรคเป็นธรรมได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเข้าสภา 1 คน คือ นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรค
พรรคเป็นธรรมถูกกล่าวหาว่ามีนโยบายสนับสนุน “การแบ่งแยกดินแดน” และ “โจรใต้” มาตั้งแต่ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ส่วนมากเป็นข้อความที่โพสต์ในเพจเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งโพสต์เนื้อหาลักษณะนี้ค่อนข้างถี่ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง เช่น
- เพจ “เปิดโปง BRN” (ผู้ติดตาม 11,000 บัญชี) โพสต์ข้อความว่าพรรคเป็นธรรม “สนับสนุนแนวคิดแบ่งแยกดินแดน” และ “หมกมุ่นแต่กับเอกราชในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
- เพจ “The Truth is Never Died” (ผู้ติดตาม 5,100 บัญชี) โพสต์ภาพป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. พรรคเป็นธรรมพร้อมข้อความว่า “พรรคเป็นธรรมกับนโยบายสนับสนุนผู้ก่อการร้าย”
- เพจ “กว่าจะรู้ เดียงสา” (ผู้ติดตาม 1,900 บัญชี) โพสต์ภาพที่มีโลโก้พรรคเป็นธรรมพร้อมข้อความว่า “นโยบายเอื้อประโยชน์ให้โจร” รวมทั้งเขียนวิจารณ์นโยบายของพรรคเป็นธรรมว่า “แสดงออกชัดเจนถึงการเอื้อประโยชน์ให้ผู้การร้ายในพื้นที่ในการก่อเหตุกับผู้บริสุทธิ์…อาจแฝงไปสู่การประกาศเอกราชเพื่อแบ่งแยกดินแดน”
นอกจากนี้ ในช่วงเดือนเมษายน 2566 คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดนราธิวาสยังได้ประสานให้ผู้สมัครของพรรคเป็นธรรมชี้แจงเกี่ยวกับป้ายหาเสียงของพรรคที่มีข้อความว่า “ปาตานีจัดการตนเอง” ซึ่งทางพรรคได้ทำหนังสือชี้แจงทั้งต่อ กกต. นราธิวาสและ กกต. กลางว่า ข้อความนี้หมายถึงนโยบายการกระจายอำนาจ ส่วนคำว่า “ปาตานี” เป็นคำเรียกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สื่อความหมายถึงอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์
โคแฟคตรวจสอบ
โคแฟคตรวจสอบข้อความที่โจมตีพรรคเป็นธรรมว่า “สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน” โดยโคแฟคอ้างอิงข้อมูลจากนโยบายของพรรคที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์นายกัณวีร์ เลขาธิการพรรคและว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม และการตอบข้อซักถามในการแถลงข่าวลงนามข้อตกลงร่วมจัดตั้งรัฐบาล (เอ็มโอยู) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 สรุปได้ดังนี้
1) นโยบายของพรรคเป็นธรรมด้านสันติภาพและความมั่นคงที่เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ได้แก่ นโยบายกระจายอำนาจหรือ “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งรวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด, นโยบาย “พาทหารกลับบ้าน” ซึ่งหมายถึงการถอนทหารออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้, ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทุกฉบับ รวมถึงกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และยกระดับกระบวนการสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจากการตรวจสอบของโคแฟคพบว่าไม่มีนโยบายที่ระบุถึงการแบ่งแยกดินแดน
2) นายกัณวีร์ให้สัมภาษณ์โคแฟคเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ยืนยันว่าพรรคเป็นธรรม “ไม่มีนโยบายเรื่องแบ่งแยกดินแดน” และวิเคราะห์ว่าเหตุที่พรรคถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนเพราะเสนอนโยบายที่บางฝ่ายมองว่าหมิ่นเหม่ต่อความมั่นคง โดยเฉพาะข้อเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง การถอนทหารออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเลือกใช้คำว่า “ปาตานี” ในการเรียกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของสงขลา ซึ่งฝ่ายความมั่นคงมองว่าเป็นคำที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนใช้
นายกัณวีร์อธิบายต่อว่า นโยบายจังหวัดจัดการตนเองเป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และคำว่า “ปาตานี” เป็นคำที่ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะใช้ได้ ไม่ได้เป็นภัยของความมั่นคง
“จังหวัดจัดการตนเองในความหมายของเราคือการบริหารจัดการหรือ management ทั้งด้านเศรษฐกิจและการศึกษา ไม่ใช่การปกครองตนเองหรือ governance ส่วนคำว่า ‘ปาตานี’ นั้นเป็นคำที่สื่อถึงประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ เป็นคำที่ได้รับการยอมรับทางวิชาการ และได้รับการยอมรับในคณะพุดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” นายกัณวีร์กล่าว
ส่วนนโยบายเรื่องการถอนทหารนั้น นายกัณวีร์ชี้แจงว่า “กระบวนการสร้างสันติภาพต้องมาก่อน…การถอนทหารคือตัวชี้วัดความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพ”
3) นายกัณวีร์ระบุว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พรรคเป็นธรรม “ถูกใส่ร้ายป้ายสี” ว่าสนับสนุนโจรใต้และการแบ่งแยกดินแดน เป็นเพราะผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเป็นธรรมหลายคนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางคนเห็นพ่อแม่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมต่อหน้า บางคนถูกดำเนินคดีอาญาจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชน และหลายคนเป็นอดีตนักกิจกรรมของสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าเป็นองค์กรนักศึกษาที่มีความเชื่อมโยงกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน แม้ว่า PerMAS จะประกาศยุติความเคลื่อนไหวตั้งแต่ 8 พ.ย. 2564 แล้วก็ตาม
4) ในการตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงจุดยืนของพรรคเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ระหว่างการแถลงข่าวการลงนามเอ็มโอยูร่วมจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายปิติพงศ์ หัวหน้าพรรคเป็นธรรมย้ำว่าพรรคของเขา “ไม่มีการพูดเรื่องการแบ่งแยกดินแดน และไม่มีความคิดที่จะแบ่งแยกดินแดน…ขอยืนยันตรงนี้ว่าพรรคเป็นธรรมไม่มีนโยบายด้านนี้” นายปิติพงศ์กล่าวด้วยว่า ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคที่ฝังตัวทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า “สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดคือการปกป้องสิทธิมนุษยชนและความช่วยเหลือจากภาครัฐในเรื่องคุณภาพชีวิต…มากกว่าที่จะต้องการแยกตัวออกมาเป็นอิสระ”
“แบ่งแยกดินแดน” ในมุมมองนักวิชาการ
ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิชาการประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายว่า ผู้ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มักถูกมองว่าเป็นฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพราะฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าฝ่ายขบวนการกำลังดำเนินการตาม “แผนบันได 7 ขั้น” ที่มีเป้าหมายขั้นสุดท้ายอยู่ที่การแบ่งแยกดินแดน ซึ่งการเรียกร้องสิทธิในการจัดการตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของแผนนี้
“นี่เป็นชุดความคิดที่ฝ่ายความมั่นคงเชื่อ แต่ในหลายพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เมื่อบรรลุข้อตกลงสันติภาพแล้ว ก็ไม่ได้นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน แม้จะเป็นความต้องการของฝ่ายหนึ่งก็ตาม เพราะ [การแบ่งแยกดินแดน] จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากประชาคมโลกซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่อยู่ด้วยกันไม่ได้จริง ๆ อย่างในกรณีของติมอร์ตะวันออกที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง จนสหประชาชาติต้องเข้าไปแทรกแซง และนำไปสู่การจัดประชามติ ซึ่งภาคใต้ของไทยยังห่างจากสถานการณ์ระดับนั้นมาก” ดร.รุ่งรวีกล่าว
ข้อสรุปโคแฟค
หากพิจารณาเฉพาะนโยบายด้านสันติภาพและความมั่นคงของพรรคเป็นธรรมที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมทั้งคำยืนยันจากผู้บริหารพรรคในการให้สัมภาษณ์กับโคแฟคและในการแถลงข่าวหลังลงนามข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พ.ค. สรุปได้ในชั้นนี้ว่า พรรคเป็นธรรมไม่มีนโยบายสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน อีกทั้งในความเป็นจริง การแยกตัวเป็นเอกราชก็ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ดังที่ ดร.รุ่งรวีให้ความเห็นกับโคแฟค
การตีความและการวิเคราะห์วิจารณ์นโยบายของพรรคการเมือง รวมถึงการเชื่อในชุดความคิดว่าด้วยการแบ่งแยกดินแดน ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ และประชาชนก็มีสิทธิที่จะตั้งคำถามหรือขอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายหรือจุดยืนของพรรคการเมืองในเรื่องนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่ามีการนำวาทกรรมแบ่งแยกดินแดนมาผลิตข่าวลวงและประทุษวาจา (hate speech) เพื่อโจมตี ใส่ร้ายป้ายสี และสร้างความเกลียดชังต่อพรรคการเมืองหรือนักการเมืองโดยเจตนาเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจึงไม่ควรแชร์เนื้อหาใด ๆ หากไม่มั่นใจในแหล่งที่มาหรือเจตนาของผู้เผยแพร่
เรื่องแนะนำ
- กกต.-ไอลอว์ ร่วมจับตาเลือกตั้ง 2566 กับการกลับมาของข้อกล่าวหา “อเมริกาแทรกแซงการเมืองไทย”
- 5 ประเด็นข่าวลวงการเมืองช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 2566
- เลือกตั้ง 2566: ตรวจสอบ 3 ประโยคของประยุทธ์บนเวทีปราศรัยรวมไทยสร้างชาติ
- พรรคก้าวไกลเสนอลดบำนาญข้าราชการ ข่าวลวงที่กลับมาช่วงเลือกตั้ง
- ข้อมูลเท็จเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์และภรรยานับถืออิสลาม ยอดภูเขาน้ำแข็งของ “อิสลามโมโฟเบีย”