Fake news อีกหนึ่ง Super Spreader ที่กำลังแพร่ระบาดในสังคมไทย

บทความ

นอกเหนือจากเชื้อไวรัสร้ายที่มองไม่เห็นกำลังแพร่กระจายในอากาศข้อมูลข่าวสารอันท่วมท้นล้นหลามก็ดูจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่กำลังแพร่อยู่ในอากาศ แต่เรามองไม่เห็น โดยเฉพาะ Fake News หรือข่าวปลอม

ในช่วงเทศกาลโควิด-19 นี้ สังคมไทยยังได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่อีกหนึ่งคำ คือ Infodemic หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เอ่ยถึงเมื่อไม่นานมานี้

Infodemic ที่มาจากคำว่า Information ผสมกับ Pandemic ถูกอธิบายว่าคือความสับสนอลหม่านของข้อมูลข่าวสารที่ไหล่บ่าท่วมท้น และมีความบิดเบี้ยวของสารที่ถูกส่งต่อแพร่กระจายอย่างรวดเร็วแข่งกับภัยโรคระบาดไปทั่ว จนทำให้คนเกิดความตื่นตระหนก และกังวล ซึ่งWHO ชี้ชัดว่า ข่าวปลอมเหล่านี้เป็นภัยร้ายต่อสุขภาพอย่างหนึ่ง

พีรพล อนุตรโสตถิ์ จากชัวร์ก่อนแชร์ เปรียบเทียบความรุนแรงของข่าวสารในสถานการณ์โควิดว่าไม่ต่างจากมหกรรมใหญ่ ระดับโอลิมปิค หรือ world expo ที่มีข่าวปลอมเกิดขึ้นทุกวันและจัดการได้ยาก และตรวจสอบยากขึ้น โดยในประเทศไทยนั้น ข่าวสารที่มีความอ่อนไหวที่สุด คือจุดที่มีเรื่องวิทยาศาสตร์มาเกี่ยวข้อง

“ข่าวปลอมเพิ่มเรื่อยๆ ตามความระบาดของโรค ส่วนหนึ่งเกิดจากความกระหายใคร่รู้ของข้อมูล ซึ่งปรากฏการณ์เรื่อง Infodemic เกิดทั่วโลก มาตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งสำหรับที่คนทำงานด้าน fact checking เมื่อก่อนข่าวเดียวก็เช็คหนักแล้ว แต่โควิดนี่เยอะจริง

เขาบอกที่มาของข่าวลวงนั้นเกิดทั้งด้วยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งเขาแบ่งออกเป็น 8  กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสื่อ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งที่เป็นแพทย์และไม่ใช่แพทย์ กลุ่มคนที่มีเป้าหมายต้องการขายสินค้า ประชาชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่เข้าใจสถานการณ์แล้วเป็นผู้แชร์ข่าวมา หน่วยงานและนักการเมืองที่มีความสับสนจากการทำงานไม่บูรณาการกัน กลุ่มคนที่ตั้งใจสร้างข่าวลวงที่เรียกว่า “เกรียน”  และเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากการสื่อสารที่ไม่ครบถ้วน

“ข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ เกิดจากความตื่นตระหนก ความเข้าใจผิด และที่สำคัญส่งผลต่อสุขภาพ นอกจากนั้นบางสื่อควรพาดหัว โดยคำนึงผลกระทบมากกว่าจะเน้นเฉพาะดึงดูดให้คนมาอ่าน ผมแนะนำว่าทุกข่าวเราควรหาต้นตอที่มา ตรวจสอบเนื้อหา สงสัยไว้ก่อน”

ขณะที่ กล้า ตั้งสุวรรณ ซีอีโอ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลอันดับ 1 ในประเทศไทย สะท้อนว่า เฟคนิวส์เกิดมาเพราะโซเชียลมีเดีย เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่มีคนเป็นพันล้านคนที่มารวมกัน ทั้งยังเป็นเรียลไทม์ ซึ่งเฟคนิวส์นั้นเกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่สถานการณ์ไวรัสโควิด ทำให้เกิดอิมแพคท์ค่อนข้างแรง และเป็นปัญหาที่ฟากฝั่งรัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับดูแลเอง ก็ยังตามไม่ทัน

ในมุมคิดของเขา เชื่อว่าปัญหานี้ควร ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ เพราะ “ถ้าใช้แรงงานคนคงไม่ทัน” จึงทำให้เป็นที่มาของการก่อตั้ง wisesite ของเขา โดยมีการนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับบิ๊กดาต้า เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารทั้งหมด แล้วนำมากรองด้วยฟิลเตอร์ง่ายๆ แล้ววิเคราะห์ ซึ่งสามารถทำให้ติดตามสถานการณ์ของข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์

“จากการวิเคราะห์ เราสังเกตพฤติกรรมว่า สถานการณ์เริ่มถูกพูดถึงตั้งแต่ วันที่ 24 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมา แต่ตอนนั้นยังมีการแชร์แค่หลักสิบ แต่พอหลัง 25 มกราคมปีนี้ การแชร์เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น และเหตุการณ์ที่เป็นช่วงที่มีการแชร์สูงสุด คือวันที่ 13-16 มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อ ก่อนที่รัฐบาลประกาศไม่ให้มีวันหยุดสงกรานต์ ซึ่งมีการแชร์เฉลี่ย 60,000-70,000 ส่วน engagement เป็นล้าน”

กล้าเผยต่อถึงพฤติกรรมการรับข่าวสารคนยุคนี้ว่า ปัจจุบันข้อมูลล้นมากจนเรารับไม่ทัน ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังคง เชื่อสื่อหลัก แต่สื่อหลักเองก็มีมากขึ้นกว่าในอดีต ขณะที่ข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดียก็มีทั้งนำสื่อหลักมาแชร์ต่อและบางข้อมูลก็ไม่มีที่มา ขาดความน่าเชื่อถือ

 “จริงๆ โซเชียลมีเดียทำให้เราโลกแคบลง เพราะเขาจะสกรีนแต่เรื่องที่เราสนใจมาให้เรา รูปแบบของเฟสบุ๊คมีการสื่อสารแบบเพื่อนบอกเพื่อน ไม่ใช่ทางการอีกต่อไป ทำให้เราไม่แน่ใจว่า ควรเชื่อได้แค่ไหน เพราะส่วนใหญ่มีแต่  opinion”

หนึ่งกรณีศึกษา ที่ถ่ายทอดประสบการณ์จริงของตนเอง ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ เผยว่าที่ผ่านมาทั้งตนเองและบิดา (ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ์) นั้น ต้องเผชิญกับเฟคนิวส์มาโดยตลอด

“เฟคนิวส์มันแพร่ไปได้เร็วมากกว่าข่าวจริง โดยเฉพาะเฟคนิวส์มีการใส่อารมณ์น้ำเสียง เล่นกับอารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์ จะยิ่งโดนแชร์ไปไกลและเยอะมาก”

เขามีความเห็นว่า นอกจากข่าวปลอมสามารถแพร่ระบาดไปได้เร็วกว่าข่าวจริงแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่สังคมควรตระหนัก หรือไม่ควรมองข้าม เช่น ยังมีกรณีที่ไม่ใช่เฟคนิวส์  แต่ข่าวจริงบางข่าว เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ก็จะมีข้อมูลจริงชุดใหม่มาลบล้างข้อมูลความจริงเก่า เช่น กรณีที่สหรัฐอเมริกาหรือหลายประเทศออกมาประกาศว่า ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากาก แต่มีการเปลี่ยนแปลงภายหลัง เมื่อผลปรากฏว่าการใส่หน้ากากทำให้เชื้อแพร่ระบาดช้ากว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงกับความเห็นที่ผู้รับสารจำเป็นต้องแยกแยะให้ได้

ด้าน สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เล่าถึงสถานการณ์ ผู้บริโภคในสามเดือนที่ผ่านมาว่ามีการร้องเรียนถึง  1055 ราย โดยปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือปัญหาข้อมูลสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องคืนค่าตั๋วเครื่องบิน ทัวร์ ทั้งมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ

“เนื่องจากช่วงนี้ ทุกคนมีซื้อสินค้าผ่านช่องทางมาร์เก็ตเพลสเพื่อหาซื้อสินค้าดูแลสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเข้าข่ายผิดกฎหมายหมด คนขายก็ผิด เพราะมีทั้งโฆษณาเกินจริง ข้อมูลเท็จ ขายเกินราคา หรือหลอกลวง อย่างหน้ากากอนามัยราคาขายแพงกว่าราคาจริง ซึ่งมาร์เก็ตเพลสเหล่านี้ไม่มีมาตรการควบคุม จึงทำให้ทำให้ราคายิ่งแพงหลายเท่าตัว แม้ทางผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลบางรายพยายามแบน แต่ผู้ซื้อก็สามาถเลี่ยงใช้คำอื่นแทนได้”

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมเสริมว่า ในเรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรค เกิดเป็นเฟคนิวส์เพราะบางคนอ่านมาไม่ครบถ้วน ทำให้ตีความผิดไป หรือทำให้ไขว้เขว ผู้นำเสนอข้อมูลเองก็มีการแย่งกันใครจะรายงานข่าวเร็ว ไวที่สุด แต่ในด้านความน่าเชื่อถือ ยังไม่มีกลไกเข้าไปช่วยตรวจสอบข้อมูล ซึ่งอาจต้องอาศัยเวลา

มองว่าอีกกลุ่มคนที่ควรโฟกัส เพราะมีบทบาทต่อความเชื่อถือของประชาชนในยุคนี้ คือ กลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์ ซึ่งบางครั้งเป็นผู้ชี้นำ ทำให้ประชาชนตระหนกตกใจกับข่าว

เมื่อการระบาดของข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดข่าวลวงข่าวปลอมแพร่กระจายในสื่อไปทั่วโลก รวมทั้งในไทย สร้างความเข้าใจผิด ๆ ในเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคระบาด และความปลอดภัยของประชาชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ChangeFusion Wisesight Open Dream Center for Humanitarian Dialogue (HD) มูลนิธิ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และองค์กรวิชาชีพสื่อ ได้ร่วมกันนำร่องกลไกที่จะเป็นจุดเริ่มในการจัดการกับเฟคนิวส์ ภายใต้โครงการโคแฟค (Collaborative Fact Checking : Cofact) เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมตรวจสอบข่าวลวงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะประเด็นโควิด-19

วสันต์ ภัยหลีกลี้ ในฐานะตัวแทนสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เอ่ยว่า แนวคิดโคแฟค คือพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนร่วมกันตรวจสอบ ในเรื่องที่ยังไม่กระจ่าง เรื่องที่ สงสัย ข่าวลวงข่าวปลอม เรื่องที่เราต้องการให้เกิดความชัดเจนขึ้น

“เราถือว่าประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์ ทุกคนมีส่วนร่วมกันในการที่จะตรวจสอบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในสังคม ทำให้ข้อมูลข่าวปลอมลดลงไป โดยไม่มีใครเป็นผู้ผูกขาด และมีส่วนผลักดันให้นิเวศน์สื่อดีขึ้น”

โคแฟคท์ เป็นกระบวนการผสมผสานใช้เทคโนโลยีของภาคพลเมืองอย่าง Civil Tech กับงานเชิงวารสารศาสตร์ ที่จะมีบรรณาธิการช่วยตรวจสอบข่าว และภาคประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบ จะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ โดยเน้นทำงานผ่านเว็บไซต์ cofact.org และโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติ (Chatbot) ไลน์ @cofact

ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ร่วมก่อตั้ง  เอ่ยว่า โครงการโคแฟค เป็นความร่วมมือที่มาแก้ปัญหาร่วมกัน ด้วยแนวคิด “ทุกคนควร Fact Checker” หรือคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวสารด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพียงภาระของคนใดคนหนึ่ง เป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้ทุกคนเปิดรับสื่ออย่างรู้เท่าทัน ร่วมตรวจสอบข่าว นำมาสู่การเรียนรู้และพัฒนาทักษะเท่าทันสื่อของพลเมืองดิจิทัล ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อและสังคมสุขภาวะ

หนึ่งในทีมคนทำงาน สุนิตย์ เชรษฐา จาก Change Cushion เล่าถึงผลจากการศึกษาเกี่ยวกับเฟคนิวส์ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เขาได้ข้อสังเกตว่า คุณลักษณะของเฟคนิวส์ คือเรามักไม่รู้ที่มา แต่สามารถแพร่ไปไว

“ข่าวลวงมีอาการคล้ายระบาดวิทยา ไม่ต่างกับซุปเปอร์สเปรดเดอร์ (Super Spreader) แต่ขณะเดียวกัน ในการศึกษาเรายังพบกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ช่วยตรวจสอบ (Corrector) ที่สามารถทำให้การแพร่กระจายข่าวลวงพวกนี้แผ่วลงได้ ผมจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็น super corrector”

ดังนั้นเป้าหมายของการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เรียกว่าโคแฟคท์นี้ เกิดจากแนวคิดที่อยากให้ประชาชนที่รับข่าวมา แล้วมีช่องทางตรวจสอบที่น่าเชื่อถือและไม่ต้องไปค้นหาในเสิร์ชเอ็นจิ้นต่างๆ เอง

“พอทำไปสักพัก เราเริ่มเห็นว่า ข้อมูลที่ส่งมา เราสามารถเห็นแพทเทิร์นการเผยแพร่ ว่าเกิดขึ้นมายังไง ขยายแพร่กระจายไป และมีแนวโน้มจะเป็นกระแสแบบไหน”

เสริมด้วย นพ.ไพโรจน์ที่ให้ความเห็นว่า

“การระบาดข้อมูล เราไม่ได้ดูแค่จัดการแค่สถานการณ์ แต่เรายังเข้าไปดูถึงปัจจัยกำหนด เพื่อเข้าไปจัดการให้ถูกต้องชอบธรรม ด้วยกลไกรัฐ กลไกสื่อ และผู้ตรวจสอบข่าวสาร ปัจจุบัน เรายังไม่สามารถเห็น ชัดเจนว่า infodemic มีผลกระทบแค่ไหน และอย่างไร ดังนั้นถ้าเรามีกลไกที่ทำให้เราสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ ตั้งแต่การรายงานผลต่อการจัดการในพื้นที่ได้ก็จะช่วยชี้เป้าถึงต้นตอปัญหาและแนวทางแก้ไข”

นพ.ไพโรจน์ เอ่ยทิ้งท้าย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/recommended/detail/2116