ฉายภาพอุดมคติสวนทางความจริง สังคมคาดหวังสูงเรื่องจริยธรรมกับสื่อที่ต้องดิ้นรนให้รอดทางธุรกิจ

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

วงเสวนาฉายภาพอุดมคติสวนทางความจริง สังคมคาดหวังสูงเรื่องจริยธรรมกับสื่อที่ต้องดิ้นรนให้รอดทางธุรกิจ

20 ธ.ค. 2565 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาองค์กรของผู้บริโภค สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ChangeFusion Centre for Humanitarian Dialogue (HD) และ มูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) จัดงาน Year End Forum ผลสำรวจประเด็นสำคัญในรอบปี ณ ชั้น 31 อาคาร G Tower รัชดา พระรามเก้า (ฝั่งเหนือ) กรุงเทพฯ

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการคุ้มครองผู้บริโภคหลากหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการได้รับบริการสื่อสารรวมถึงข่าวสารต่างๆ บนเป้าหมายที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องได้ความคุ้มครอง มีความปลอดภัยในการได้รับข้อมูลข่าวสาร จากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติภายใต้คณะกรรมการชุดปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการทำให้สื่ออาชีพมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งทุกวันนี้ผู้บริโภคก็มีข้อสงสัย ในฐานะเป็นองค์กรกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรรมสื่อมวลชน ก็คงต้องเน้นทำงานในส่วนนี้มากขึ้น ซึ่งการนำเสนอผลการศึกษาในครั้งนี้ว่าด้วยประชาชนเชื่อใจสื่อมาก-น้อยเพียงใด จะเพื่อนำไปสู่การแก้ไข รวมถึงยังมีการนำเสนอเรื่องนโยบายการสื่อสารที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน และมีข้อเสนอต่อรัฐ สื่อและสังคมด้วย

“วันนี้ยังคงมีประเด็นที่สื่อได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการนำเสนอข่าวมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เป็นครั้งคราว แม้ในส่วนสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติจะมีข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน และแนวปฏิบัติต่างๆ ที่คอยย้ำเตือนสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกไม่ให้ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน ตรงนี้ก็คงจะเป็นเรื่องของการทบทวนข้อเสนอที่ให้เราทำงานได้อย่างรอบคอบมากขึ้น” ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าว

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า การสื่อสารในยุคดิจิทัลมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ด้านหนึ่งคือการสื่อสารทำได้ง่ายและเร็วขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นมลภาวะ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบิดเบือน สับสน ไม่ถูกต้อง หรือเนื้อหาที่กระทบสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและสตรี ตลอดจนผู้เสียชีวิตหรือใครก็ตามที่ตกเป็นข่าว  เรื่องเหล่านี้ต้องพูดคุยกันเสมอเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างเสรีภาพในการสื่อสารกับความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งที่เป็นสื่อมวลชนและประชาชนทุกคนด้วย

“ในยุคนี้ไม่ใช่เป็นแค่สื่อมวลชนเท่านั้น แต่ทุกคนก็ยังเป็น บก. ด้วยตัวเอง แล้วก็เป็นคนแชร์ข่าว หรือเป็นคนให้ความเห็น เพราะฉะนั้นไม่เฉพาะสื่อมวลชน แต่พลเมืองผู้บริโภคทุกคนก็ต้องตื่นตัว ตื่นรู้ และเป็นพลเมืองยุคดิจิทัลที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน ซึ่งทางคณะผู้จัดงานก็หวังว่า เนื้อหาในวันนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งการทำงานในเชิงนโยบายและในเชิงปฏิบัติของทุกหน่วยงานต่อไป” น.ส.สุภิญญา กล่าว

จากนั้นเป็นการเผยแพร่ผลการสำรวจในหัวข้อ เรื่องร้องเรียนจริยธรรมสื่อในรอบปี และการนำเสนอข่าวที่ผู้บริโภคไม่เชื่อใจโดยผู้นำเสนอท่านแรกคือ นายชาย ปถะคามินทร์ ผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวถึงภาพรวมของการสำรวจ ว่า ประเด็นข่าวในปี 2565 ที่ใช้ในการสำรวจมีทั้งสิ้น 11 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ข่าวการฆ่าตัวตายของ ไมเคิล พูพาร์ท ดาราดัง เหตุเกิดวันที่ 21 ม.ค. 2565 ซึ่งพบว่า สื่อนำเสนออย่างละเอียดทั้งคลิปเสียง จดหมายลาตายและแรงจูงใจของการฆ่าตัวตาย ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วมองว่าการละเมิดจริยธรรมยังไม่ชัดเจน

2.ข้อร้องเรียน นสพ.ไทยรัฐ พาดหัวข่าวไม่เป็นจริง กรณีพาดหัวข่าวว่า นักท่องเที่ยวหนีทะเลน้ำมัน เกาะเสม็ดเจ๊ง รีสอร์ท เรือ ร้านอาหารโวยได้รับผลกระทบหนักซึ่งสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 เนื่องจากประชาชนชาว จ.ระยอง ไม่พอใจอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ทาง นสพ.ไทยรัฐ ได้ส่งหลักฐานมาชี้แจง ซึ่งพบว่าเป็นการรายงานข่าวตามข้อเท็จจริง เรื่องนี้จึงยุติไป

3.ข่าว แตงโม-นิดา (ภัทรธิดา) พัชรวีระพงษ์ ดาราดัง ตกน้ำเสียชีวิต เหตุเกิดวันที่ 24 ก.พ. 2565 เป็นกรณีที่สื่อนำเสนอข่าวแบบต่อเนื่องยาวนานนับเดือน 

4.ข่าวอุบัติเหตุ หมอกระต่าย-พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ถูกนายตำรวจยศสิบตำรวจตรีขี่มอเตอร์ไซค์ชนเสียชีวิต บริเวณทางม้าลายหน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เหตุเกิดวันที่ 21 ม.ค. 2565 กรณีนี้และรวมถึงกรณีของแตงโม-นิดา การนำเสนอข่าวของสื่อนอกจากรายงานเหตุการณ์หรือข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนแล้ว ยังสามารถให้ความรู้หรือกระตุ้นเตือนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติการป้องกันและแก้ไขเพื่อลดความสูญเสีย เช่น กรณีข่าวหมอกระต่าย ประชาชนระมัดระวังในการขับขี่ผ่านทางม้าลายมากขึ้น หรือทางม้าลายในกรุงเทพฯ ถูกทาสีให้เห็นชัดเจนขึ้น

5.ข่าวผู้นำยูเครนสวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของลัทธินาซี ซึ่ง นสพ.ไทยโพสต์ ถูกร้องเรียนว่านำเสนอข่าวไม่ตรงกับความจริง กรณีนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบในวันที่ 24 มี.ค. 2565 ต่อมาทาง นสพ.ไทยโพสต์ ได้ลบข่าวดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ แต่ไม่มีการชี้แจงใดๆ กลับมาที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 

6.การนำเสนอข่าวหลวงปู่แสงของ นสพ.ไทยรัฐ กรณีนี้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในการประชุมกรรมการจริยธรรม เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 เหตุการณ์นี้เนื่องจากมีคณะสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนา เดินทางไปที่สำนักสงฆ์ดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร หลังมีเรื่องร้องเรียนกรณีพระเกจิดังอายุร่วม 100 ปี มีพฤติกรรมลวนลามหญิงสาว

 ซึ่งเรื่องนี้สื่อมวลชนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเพราะเป็นการทำข่าวพระสงฆ์ที่มีประชาชนนับถือมาก ประเด็นนี้ทาง นสพ.ไทยรัฐ ยอมรับว่ามีผู้สื่อข่าวหญิงเดินทางไปจริง โดยไม่ได้แจ้งหัวหน้าข่าวและกองบรรณาธิการทราบ ทำให้เกิดการผิดพลาดขึ้น เบื้องต้นมีการสั่งพักงานผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว 7 วัน พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนหัวหน้างานตามลำดับสายงาน ต่อมาสำหรับผู้สื่อข่าวและโปรดิวเซอร์รายการที่ไปทำข่าว มีบทลงโทษให้ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนบรรณาธิการของไทยรัฐทีวีให้ตักเตือนและกำชับให้ระมัดระวังให้มากกขึ้น

7.เว็บไซต์แห่งหนึ่งร้องเรียนสำนักข่าวสปริงนิวส์ คัดลอกข่าวไปใช้โดยไมได้รับอนุญาตและไม่มีการอ้างถึงต้นทาง จากการตรวจสอบยังพบสำนักข่าวอื่นๆ ที่นำเนื้อหาดังกล่าวมาใช้ ประกอบด้วย เดลินิวส์ ไทยพีบีเอส และโพสต์ทูเดย์ แต่ในเวลาต่อมาพบว่าสำนักข่าวกลุ่มนี้ได้ทำหนังสือขอโทษไปแล้ว 

8.สถานีโทรทัศน์ช่องเวิร์คพอยต์นำเสนอข่าวนักเรียนชาย-หญิงมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในร้านกาแฟ เบื้องต้นได้แจ้งไปยังสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งทางสภาวิชาชีพฯ ได้นำเข้าเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในสัปดาห์นี้

9.ข่าวกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ จ.หนองบัวลำภู เหตุเกิดวันที่ 6 ต.ค. 2565 เรื่องนี้ทั้งสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ หารือและร่วมกันออกแถลงการณ์กำชับให้สื่อระมัดระวังการนำเสนอข่าว การใช้ภาพและการตั้งคำถามที่อาจไปซ้ำเติมความเศร้าโศกของญาติผู้สูญเสียไม่ว่าเหยื่อหรือผู้ก่อเหตุ หรือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ตกเป็นข่าว

10.ข่าวการทำร้ายร่างกายนาย ศรีสุวรรณ จรรยา ขณะเดินทางไปร้องเรียนให้ตรวจสอบ โน้ส-อุดม แต้พานิช และข่าว เค ร้อยล้าน ทำร้ายร่างกาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาในวันที่ 26 ต.ค. 2565 มีมติให้นำเสนอในรายการวิทยุ รู้ทันสื่อ ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในหัวข้อ บทบาทสื่อในการลดความรุนแรงและความเกลียดชัง ทางคลื่น FM100.5 อสมท. 

และ 11.กรณีสำนักข่าวดาราเดลี พาดหัวข่าวล่อแหลม ส่อเสียด ไม่เป็นความจริง และไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ กรณีดาราสาวเจอคนโรคจิตคุกคาม และยังเจอความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยพาดหัวมีการใช้คำว่า ขาย… ซึ่งถูกมองว่านำเสนอแบบสองแง่สองง่าม เร้าอารมณ์และไม่ตรงกับเนื้อหาข่าว ซึ่งแม้ต้นทางจะยอมรับความผิดพลาดและลบข่าวดังกล่าวออกไปแล้ว แต่ทางคณะกรรมการก็ได้ทำหนังสือตักเตือนเรื่องการนำเสนอข่าวอย่างผิดจริยธรรม

ส่วนผู้นำเสนออีกท่านคือ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวถึงการสำรวจทางออนไลน์ด้วยวิธี Google Form ระหว่างวันที่ 2-17 ธ.ค. 2565 มีการตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 248 ครั้ง ซึ่งแม้จะดูน้อยแต่ความน่าสนใจคือการให้ความเห็นเพิ่มเติมของผู้ตอบแบบสอบถาม นอกเหนือจากคำถามหลักที่กำหนดให้ต้องตอบ มีข้อค้นพบ 

1.ข่าวแตงโม-นิดา ตกน้ำเสียชีวิต ถูกมองว่าการทำงานของสื่อเข้าข่ายละเมิดจริยธรรมมากที่สุด รองลงมาเป็นข่าวกราดยิงศูนย์เด็กเล็กที่ จ.หนองบัวลำภู และข่าวหลวงปู่แสง 

นอกจากนั้นยังมีข่าวอื่นๆ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามเพิ่มเติมเข้ามา เช่น การนำเสนอข่าวของสำนักข่าวบางแห่งที่อิงการเมือง ข่าวปลากุเลา ข่าวหมอนวดหลอนยา ฯลฯ 

2.สื่อถูกมองว่าละเมิดความเป็นส่วนตัว/สิทธิเด็ก/สิทธิสตรีมากที่สุด รองลงมาคือการนำเสนอข่าวแบบหวือหวา ดราม่า ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และการนำเสนอเนื้อหา ภาพและเสียงที่ไม่เหมาะสม (อนาจาร อุจาด ละเมิดสิทธิ) รองลงไปเป็นการนำเสนอแบบมีอคติไม่รอบด้าน ข้อมูลบิดเบือนคลาดเคลื่อน ไม่ใช้วิธีการตรงไปตรงมาเพื่อให้ได้ข่าว และทำให้สังคมตื่นตระหนก

3.ข้อเรียกร้องต่อสื่อให้ปรับปรุงมากที่สุด คือการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม สร้างความเกลียดชัง รองลงมาคือการนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และมี 2 เรื่องที่เสียงสะท้อนใกล้เคียงกัน คือการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่รอบด้านและไม่เป็นความจริง และการไม่คำนึงถึงกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิง ผู้สูงวัย ผู้บกพร่องทางร่างกาย นอกจากนั้นยังมีเรื่องแฝงประโยชน์ทางธุรกิจ-รายได้ ไม่ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส สุจริต ตรงไปตรงมา และมีอคติทางการเมือง

4.มาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม เป็นสิ่งที่จะทำให้สื่อได้รับความไว้วางใจจากสังคมมากที่สุด รองลงมาคือการจัดพื้นที่ให้ผู้รับสารได้เสนอแนะเพื่อปรับปรุงการทำงานของสื่อ ระบุแหล่งที่มาของข้อมูลในข่าว โดยเฉพาะข่าวสืบสวนสอบสวนหรือข่าวที่เป็นข้อถกเถียง ส่วนเสียงสะท้อนอื่นๆ เช่น กองบรรณาธิการมีความพยายามและความมุ่งมั่นในการรายงานข่าว แยกให้ชัดเจนระหว่างข่าวกับบทความหรือบทวิเคราะห์ ผู้สื่อข่าวควรรายงานมาจากพื้นที่หรือมีความรู้เกี่ยวกับพื้นที่นั้น สื่อต้องมีความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ อธิบายกระบวนการทำข่าว โดยเฉพาะข่าวสืบสวนสอบสวนหรือข่าวที่เป็นข้อถกเถียง เปิดเผยชื่อ ประวัติและความเชี่ยวชาญในผลงานที่นำเสนอ

5.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นองค์กรที่ถูกนึกถึงมากที่สุดเมื่อจะร้องเรียนสื่อ ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นการร้องเรียนสื่อโทรทัศน์ รองลงมาคือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเหตุผลคือน่าจะเป็นสมาคมที่อยู่มานาน จึงได้รับการนึกถึงแม้จะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับสื่อหนังสือพิมพ์ในแบบสอบถามน้อยก็ตาม จากนั้นจะเป็นกลุ่มที่ใกล้เคียงกัน เช่น สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์?ไทย และนอกจากสมาคมวิชาชีพสื่อ ผู้ตอบแบบสอบถามยังนึกถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงกรมประชาสัมพันธ์

ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับความคิดเห็นอื่นๆ นอกเหนือจากคำถามที่กำหนดให้ต้องตอบ สามารถแบ่งได้ 7 กลุ่มดังนี้ 1.ด้านกฎหมาย ให้มีการปฏิรูปสื่อ มีกฎหมายรองรับและเพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้น 2.ด้านจริยธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อที่คุ้นเคยกันดี ทั้งเรื่องความถูกต้อง สมดุล ไม่อคติ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ฯลฯ รวมถึงมีข้อเรียกร้องให้คนจะทำงานสื่อต้องผ่านการอบรมและสอบจริยธรรม และต้องต่ออายุทุกปี

3.ด้านการทำหน้าที่ของสื่อ มีเสียงสะท้อนว่าสื่อทำหน้าที่ได้ด้อยลงทั้งคุณภาพข่าว การนำเสนอ ภาษาและจริยธรรม ไม่มีนักข่าวมีแต่นักเล่าข่าว และเชิญชวานสื่อให้ไม่สนับสนุนสำนักข่าวที่นำเสนอข่าวที่อย่างขัดต่อจริยธรรม หลอกลวงเพื่อเรตติ้ง และข่าวบันเทิงที่ไม่มีสาระประโยชน์ ในทางกลับกัน สิ่งที่สื่อควรทำคือ ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนนำเสนอ พยายามรักษาจริยธรรมและมาตรฐานการทำข่าวด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ 

ข่าวที่ดีต้องถูกต้องคือ ตรงไปตรงมา ไม่ชี้นำ ไม่สร้างกระแส ไม่นำมาเป็้นเครื่องมือทำมาหากินสร้างเรตติ้ง นำเสนอข่าวตรงไปตรงมา ไม่โน้มเอียงไปฝ่ายใดหรือทำให้ประชาชนเข้าใจผิด นำเสนอข่าวที่สร้างสรรค์เป็นประโยชน์ ถูกต้อง เป็นธรรม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ส่วนสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น ความมักง่าย นำเรื่องราวจากพื้นที่ออนไลน์มานำเสนอ นำเสนอความอาชญากรรมแบบลงรายละเอียดมากซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อพฤติกรรมเลียนแบบ นำเสนอข่าวความรุนแรง ข่าวสร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวไร้สาระ เป็นต้น

4.ด้านการนำเสนอของแพลตฟอร์ม มีไม่มากนักแต่ค่อนข้างละเอียด โดยเฉพาะเรื่องของเพจย่อยตามแพลตฟอร์มต่างๆ ของสื่อหลัก มีทั้งการพาดหัวแรงให้เข้าใจผิด ใส่อคติ เน้นขัดแย้ง ใส่ความเป็นตัวตนของนักข่าวหวังเรตติ้ง พาดหัวกับเนื้อหาข่าวไปคนละทาง ยัดเยียดโฆษณาในข่าว อยากให้จัดการกับสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่เนื้อหาเรื่องเท็จ หยาบคายหรือไม่เหมาะสม ให้มีมาตรการกำกับการนำเสนอข่าวออนไลน์ที่ถูกต้อง ไม่เน้นแข่งขันความเร็วและเรตติ้ง นอกจากนั้นมีความเห็นว่า กสทช. ไม่ทำหน้าที่ 

5.ด้านการกำกับดูแล-การลงโทษ ไล่ตั้งแต่ควรมีกฎหมายควบคุมอย่างจริงจัง ความคุมการออกอากาศของสื่อโทรทัศน์ให้ปฏิบัติตามระเบียบ ซึ่งปัจจุบันพบการโฆษณาแฝงและโฆษณาเกินเวลา ตั้งองค์กรรับเรื่องร้องเรียนสื่อและมีบทลงโทษอย่างจริงจังกับสื่อที่ไร้จริยธรรม บิดเบือน อคติ คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน ไปจนกระทั่งกำหนดให้คนจะทำงานเป็นสื่อต้องผ่านการสอบจริยธรรมไม่ต่างจากแพทย์ วิศวกร สถาปนิก และต่ออายุทุกปี เป็นต้น

6.ด้านองค์กรวิชาชีพสื่อ มีตั้งแต่เสียงเรียกร้องให้จัดอบรมบ่อยๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำหน้าที่ อบรมจริยธรรมก่อนให้มาทำหน้าที่สื่อ เก็บประวัติและพิจารณาการต่ออายุเหมือนวิชาชีพอื่นๆ องค์กรวิชาชีพควรประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องเรียนและแสดงบทบาทในการกำกับดูแลกันเองของสื่อที่เป็นสมาชิกให้มากกว่านี้ และอย่าทำตัวเป็นเสือกระดาษ 

และ 7.ด้านความเห็นต่อแบบสอบถาม เช่น ดีใจที่มีการพูดถึงจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อ โดยเฉพาะออนไลน์ที่มีการแข่งขันสูงทำให้จริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อต่ำเตี้ยลงทุกวัน รวมถึงมีเสียงสะท้อนเรื่ององค์กรตรวจสอบสื่อ ว่าไม่ต้องการเลือกองค์กรใดเลยเพราะไม่มีองค์กรใดพึ่งได้อย่างแท้จริง

ในช่วงท้ายมีการให้ความเห็นจากหลายท่าน อาทิ นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็ก เยาวชน และสตรี สะท้อนภาพการนำเสนอข่าว เช่น กรณีคดีน้องชมพู่ที่สถานีโทรทัศน์บางช่องนำเสนอแบบขยี้เสียจนไม่รู้ว่าทำหน้าที่เป็นสื่อหรืออะไรกันแน่ การใช้ภาพกราฟฟิกแอนิเมชั่นจำลองเหตุการณ์ที่มีทั้งการชี้นำ ก่อดราม่าและ และเกินจริงโดยอ้างว่าไม่ได้ไปยุ่งกับคนจริงๆ ซึ่งหากนำไปพิจารณาในชั้นเรียนด้านสื่อจะมีกฎเหล็กเต็มไปหมดว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ แต่กลับปล่อยขึ้นหน้าจอได้แบบที่คนดูก็สงสัยว่าแบบนี้ทำได้ด้วยหรือ

ขณะที่กลไกการกำกับดูแล ไล่ตั้งแต่องค์กรวิชาชีพสื่อไปจนถึงองค์กรอิสระของรัฐอย่าง กสทช. ก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก ไม่เช่นนั้นคงไม่เห็นนำเสนอในลักษณะนี้ รวมถึงนักเล่าข่าวที่ใส่อารมณ์ความรู้สึก นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างคดีเด็กหญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยครู ในช่วงที่เกิดคดีใหม่ๆ เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่โต ที่ผ่านมาได้เข้าไปช่วยเสริมพลังให้เด็กกล้าให้การต่อศาล โดยล่าสุดคาดว่าในปี 2566 ศาลจะอ่านคำพิพากษา ซึ่งสื่อก็คงจะหยิบเรื่องนี้มานำเสนออีกครั้ง แน่นอนว่าก็ต้องเข้าไปเสริมพลังกับเด็กอีกครั้งด้วยเช่นกัน

ดังนั้นอยากชวนคิดในเชิงอุดมคติเรื่อง สิทธิที่จะถูกลืม ของคนที่ตกเป็นข่าวโดยเฉพาะข่าวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนคนั้นตลอดไป เช่น การถูกกระทำล่วงละเมิด แต่ในความเป็นจริงในหลายๆ กรณี สื่อไม่รู้จักเรื่องนี้ และแม้ว่ายังไม่มีกฎหมายระบุไว้ แต่เรื่องนี้เป็นสำนึก หากผู้ถูกกระทำเป็นญาติพี่น้องของเรา ลองคิดว่าเราจะต้องการให้มีสิทธินี้หรือไม่ หากต้องการก็ทำได้เลยโดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมาย เพราะสื่อนอกจากจะเป็นกระจกแล้วยังต้องเป็นแสงสว่างด้วย แต่เอาเข้าจริงๆ สุดท้ายสื่อก็ยังมองผลประโยชน์และเรตติ้งเป็นหลัก

อีกด้านหนึ่ง มีตัวอย่างจากข่าวคนทำงานด้านสิทธิเด็กกลายเป็นผู้ละเมิดสิทธิเด็กเสียเอง ประเด็นนี้ให้ข้อสังเกตที่ในมูลนิธิแห่งนั้นมีคนจบมหาวิทยาลัยด้านต่างๆ มากมาย ถามว่าไม่มีใครรู้เห็นเหตุการณ์เลยหรือ? จริงอยู่เรื่องนี้เข้าใจได้เรื่องปัจเจกชนอาจคิดว่าต้องอยู่ให้เป็น แต่ก็น่าคิดอีกเช่นกันว่าสถาบันการศึกษาจะทำอย่างไรให้ปัจเจกกล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าเพียงการให้ความรู้ ซึ่งรวมถึงสถาบันที่ผลิจคนทำงานสื่อด้วย 

ความรู้ที่ปราศจากความกล้าหาญมันจะมีประโยชน์อะไร มันแค่เอาให้คนคนหนึ่งมีอาชีพ เอาตัวรอด แต่มันไม่ได้เป็นที่พึ่งของคนที่เปราะบางเลย ดังนั้นเวลาเราตั้งคำถามเรื่องพวกนี้มันก็จะวนไป-มา ระหว่างปัญหาในระดับปัจเจกกับในระดับโครง ในระดับระบบ ซึ่งเราก็อยากให้สถาบันที่ดูแลสื่อลองวิเคราะห์ตัวเองแบบและทะลุทะลวงว่าทำอย่างไรให้ความเป็นปัจเจกของเขายังกล้าหาญต่อไป ในขณะเดียวกันทำอย่างไรกับระบบที่ไม่มันเอื้อต่อปัจเจกให้มันออ่อนแอกว่านี้ ไม่ใช่ให้มาจัดการกับคนได้ง่ายๆ นางทิชา กล่าว

นายคมกฤช ลำเจียก ตัวแทนสื่อมวลชน ยกตัวอย่างข่าวแตงโม-นิดา ตกน้ำเสียชีวิต ข้อมูลที่รวบรวมมาจากเพจข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 โดยเหตุการณ์แตงโม-นิดา ตกน้ำ เกิดขึ้นวันที่ 24 ก.พ. 2565 เปรียบเทียบระหว่างเดือน ม.ค. 2565 มียอดรับชมคลิปวีดีโอของเพจ 61.3 ล้านนาที เดือน ก.พ. 2565 มียอดรับชม 103.5 ล้านนาที เดือน มี.ค. 2565 มียอดรับชม 163.3 ล้านนาที และเดือน เม.ย. 2565 มียอดรับชม 23 ล้านนาที ข้อมูลข้างต้นนี้ชี้ว่า แค่นำเสนอข่าวแตงโม-นิดา อย่างเดียวก็ไม่ต้องไปทำอย่างอื่นแล้วเพราะได้ยอดผู้รับชมมาจำนวนมาก 

และแม้จะสรุปอะไรไม่ได้มาก เพราะยังต้องไปหาข้อมูลเรตติ้งจากสื่อหรือเพจอื่นๆ เพิ่มเติม แต่ก็พอจะสะท้อนภาพที่ว่า การทำงานข่าวแบบง่ายๆ คือการนำเสนอเรื่องราวที่คนสนใจอยู่แล้ว ซึ่งแทบจะไม่ต้องทำอะไรเพิ่มอีก ได้ทั้งยอดผูุ้้ชม เรตติ้ง และรวมไปถึงรายได้จากผู้สนับสนุน ในทางกลับกันการผลิตข่าวที่มีสาระและน่าสนใจทำได้ยากกว่า เช่น ในขณะที่รายงานข่าว แตงโม-นิดา ตกน้ำ ก็ลองไปการค้นสถิติอุบัติเหตุคนตกน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในขณะที่รายงานข่าว แตงโม-นิดา ตกน้ำ ซึ่งต้องใช้เวลาและไม่ทันออกอากาศ 

ดังนั้น ในขณะที่เรียกร้องกันให้ผลิตข่าวอย่างหลัง หากลองคิดว่าป็นคนทำงานสื่อแล้วถามตนเองดูก็คงจะมีคำตอบว่าจะเลือกทำข่าวแบบใด ซึ่งก็อาจจะมีคนทำงานสื่อบางคนมีวิธีคิดว่าถ้าเป็นข่าวยากก็ไม่ทำดีกว่า โดยข่าวแตงโม-นิดา ตกน้ำ มีการนำเสนอกันยาวนานนับเดือน จนเริ่มค่อยๆ ลดลงในช่วงที่มีพิธีศพ จากนั้นก็มีประปรายเรื่องการขึ้นโรงขึ้นศาลในทางคดีความ และเอาเข้าจริงๆ แล้ว การที่สื่อเลิกนำเสนอข่าวดังกล่าวก็ไม่ได้มาจากสื่อเอง แต่มาจากกระแสสังคมที่ส่งสัญญาณว่าน่าจะพอได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้รับสารให้ความสนใจกับข่าวประเภทหวือหวามากกว่าข่าวที่มีสาระประโยชน์ ซึ่งเปรียบเหมือนคนที่มักมีนิสัยชอบกินเนื้อสัตว์แต่ไม่ชอบกินผัก แต่คนทำอาหารก็ต้องหาทางให้ผักแทรกเข้าไปอยู่ในอาหารที่มีเนื้อสัตว์เหล่านั้นให้ได้ เช่นเดียวกับช่วงเวลาเสนอข่าว แม้จะนำเสนอข่าวหวือหวาก็ควรหาทางแทรกข่าวที่มีสาระประโยชน์ด้วย หากทำได้สำนักข่าวนั้นก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนในภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเราไปคาดหวังกับจริยธรรมสื่อมวลชนสูงเกินไป แน่นอนเราคาดหวังให้อาชีพหมอมีจรรยาบรรณแพทย์ อาชีพทนายมีจรรยาบรรณทนาย อาชีพตำรวจ-ทหารมีจรรยาบรรณ แล้วเราก็มาเห็นว่าสิ่งที่มันสะท้อนว่าจรรยาบรรณของอาชีพเหล่านั้นมันลดลงเพราะความเป็นอยู่ของอาชีพเหล่านั้นมันไม่ได้ Cover (คุ้มครอง) ชีวิตเขา พูดง่ายๆ ก็คือรายได้ของอาชีพสื่อมันไม่ได้สัมพันธ์กับความรับผิดชอบของสื่อ สื่อมีความรับผิดชอบที่สูงมากตามอุดมคติ เราต้องรับผิดชอบต่อสังคม โน่นนี่นั่น มีจริยธรรม 

แต่ถ้าไปถามพนักงานใหม่ๆ ที่เป็นสื่อเข้ามาทำงาน รายได้เท่าไร? น้อยกว่าพนักงานออฟฟิศด้วยซ้ำ หน้าที่รับผิดชอบในการทำงานก็มีแล้วยังต้องรับผิดชอบต่อสังคมอีก ดังนั้นผมรู้สึกว่าเราคาดหวังกับสื่อในแง่การรับผิดชอบต่อสังคมอาจจะสูงเกินไปนิด สุดท้ายถ้าเขาต้องเลือกระหว่างความดีกับการอยู่รอดในอาชีพเพราะว่ามันต้องมีเรตติ้ง มันก็เลือกยากนะ นายคมกฤช ระบุ

ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการเสนอข้อมูลข่าวสารด้วย แต่เมื่อใดที่ทำแล้วเกิดการละเมิดก็จะมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น แต่คำถามคือในทางปฏิบัติมีผู้เสียหายใช้ช่องทางกฎหมายเหล่านี้มาก-น้อยเพียงใด ขณะเดียวกัน หลายวิชาชีพมีกระบวนการเข้ามาดูแลเรื่องจริยธรรม ไม่ว่าแพทย์ วิศวกร แม้แต่ข้าราชการการเมือง (นักการเมือง) และข้าราชการประจำ แต่สื่อนั้นเป็นเรื่องยาก 

เช่น คนที่มีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ (Influencer) ที่ยอดผูุ้้ติดตามอาจจะมากกว่าสื่อกระแสหลัก ถามว่าคนเหล่านี้เป็นสื่อหรือไม่ และใครจะเป็นผู้กำกับดูแล ส่วนสื่อที่เป็นวิชาชีพเองก็มีรูปแบบพิเศษที่ต่างจากแพทย์หรือวิศวกร กลไกการกำกับดูแลจึงอาจต้องมีรูปลักษณ์เฉพาะ ทั้งนี้ เมื่อพูดว่าจะมีตั้งคณะกรรมการอะไรสักอย่าง ก็กังวลว่ารัฐจะเข้ามาลิดรอนหรือจำกัดสิทธิ แต่การปล่อยให้สื่อควบคุมกันเองก็มีคำถามอีกเช่นกันว่าควบคุมกันได้จริงหรือ

ทั้งนี้ มีร่างกฎหมายฉบับหนึ่งคือ ร่าง “พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …” ซึ่งมองเห็นข้อดีหลายอย่างในการกำกับดูแลและยกระดับมาตรฐาน แต่ในความเป็นจริงกฎหมายหลายฉบับตอนร่างในชั้นกฤษฎีกาก็ออกแบบไว้ดี แต่เมื่อเข้าสภาแล้วผ่านออกมากลับกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตคาม ไม่ว่าร่างกฎหมายนี้จะผ่านออกมาใช้จริงได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีเสียงคัดค้านจากคนในแวดวงสื่อจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเสียงคัดค้านจากคนในแวดวงสื่อจำนวนมาก แต่ก็ต้องมีเครื่องมืออะไรสักอย่างหนึ่งมากำกับดูแลจริยธรรมสื่อ  

โดยหากดูจากเสียงสะท้อนจากผลสำรวจที่นำเสนอไปข้างต้น อย่างหนึ่งคือข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสื่อ มีกฎหมายรับรองและเพิ่มบทลงโทษ ประเด็นนี้เข้าใจได้ว่าคนที่คิดเช่นนั้นคงมองว่าสิ่งที่กระทำกับบทลงโทษที่ได้รับไม่ได้สัดส่วน รวมถึงข้อเรียกร้องให้กำหนดว่าคนที่จะทำงานเป็นสื่อได้ต้องผ่านการทดสอบเรื่องจริยธรรมและมีการประเมินเพื่อต่ออายุใบอนุญาตทุกปี 

ผมเข้าใจว่ากระพี้หรือเปลือก คือไม่ว่ามันจะเป็น พ.ร.บ. หรือไม่มันไม่ใช่สาระสำคัญหลัก แก่นต่างหากที่เป็นสาระสำคัญ คุณจะมีโครงสร้างตามที่รัฐกำหนด หรือคุณจะมีโครงสร้างในลักษณะ Social Sanction (การคว่ำบาตรโดยสังคม) หรือคุณจะมีโครงสร้างในลักษณะสื่อกำกับกันเอง จะเป็นโครงสร้างใดก็ได้แต่ขอให้มันเกิด มันเหมือนกับระบบการปกครองเหมือนกัน ระบบการปกครองที่ดีที่สุดคือระบบการปกครองที่ประชาชนอยู่ด้วยกันและมีความสุขที่สุดในการจะใช้ชีวิตร่วมกัน มันไม่สามารถบอกได้ว่าเปลือกมันจะถูกรายรอบไปด้วยอะไรได้บ้าง แต่จเราจะทำอย่างไรได้ให้บ้างในสิ่งที่ผมนำเสนอ คือแก่นมันจะต้องเกิดไม่ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบไหน ดร.มาร์ค กล่าว

ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย กรรมการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในความเป็นจริงประเทศไทยมีข่าวที่มีสาระอยู่เป็นจำนวนมาก แต่คำถามคือคนไทยสนใจข่าวประเภทใด ซึ่งการที่คนสนใจข่าวที่ถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิก็เพราะเป็นเรื่องสนุก โดยเฉพาะในยุคออนไลน์ที่คนก็สนุกสนานไปเรื่อย ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของคนที่สนใจข่าวแบบนั้น แต่ก็ทุกวันนี้คนก็อยากมีส่วนร่วมเป็นนักข่าว อยากให้ความเห็นไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม บางเรื่องไม่ควรพูดก็พูดแล้วก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่สื่อด้วยกันก็ทำให้เรื่องพวกนี้ยิ่งสนุกกันไปมากขึ้น เห็นได้จากหลายรายการมีคนดูจำนวนมาก

ส่วนการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพนั้นมีข้อจำกัดคือไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เป็นเพียงสัญญาสุภาพบุรุษ (Gentlemen Agreement) แต่พอจะออกเป็นกฎหมายมีอำนาจรัฐเข้ามาสื่อก็กังวลว่าจะถูกละเมิดแทรกแซง อนึ่ง จากประสบการณ์ไปดูงานที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งวงการสื่อมีปัญหายิ่งกว่าไทยแต่ก็พยายามปรับแก้ อย่างหนึ่งคือเมื่อคนมีปัญหากับสื่อแล้วจะไปแจ้งความกับตำรวจหรือฟ้องคดีต่อศาล จะได้รับคำแนะนำให้ไปพูดคุยกับองค์กรวิชาชีพสื่อก่อน และหากองค์กรวิชาชีพไม่รับรองก็ไม่สามารถไปสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างตำรวจหรือศาลได้ 

ตัวอย่างของอินโดนีเซียคือให้อำนาจกับองค์กรวิชาชีพสื่อ ขณะที่ในเมืองไทยคนไม่เชื่อมั่นในองค์กรวิชาชีพสื่อเพราะไม่มีอำนาจบังคับ พอตำหนิสื่อใดมากๆ เข้าสื่อนั้นก็อาจจะลาออกจากความเป็นสมาชิกโดยไม่ต้องสนใจเพราะอย่างไรเสียก็มีคนพร้อมสนับสนุน ทั้งนี้ หลายเรื่องที่สื่อทำไม่ใช่ไม่รู้ว่าผิด แต่ที่ทำเพราะรู้ว่าขายได้ การมีศักดิ์ศรี (Dignity) แต่อดอยากไปไม่รอดมนุษย์ก็คงไม่ยอม เพราะสื่อก็คืออาชีพหนึ่ง ถ้าไม่มีเงินก็ไปต่อไมได้

เวลาด่าสื่อคุณด่าตัวเองสิว่าคุณเลือกดูอะไร ถามว่ามันมีของดีอยู่ไหม? มี แต่ของไม่ดีมันก็มี แต่ผมหมายถึงว่าถ้าคุณจะด่าคุณก็ต้องดูด้วยว่าคุณไปสนับสนุนสื่อพวกนี้ด้วยหรือเปล่า ดร.เฉลิมชัย กล่าว

รศ.รุจน์ โกมลบุตร อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า แม้สิ่งที่พูดกันในวงเสวนาครั้งนี้จะเป็นเรื่องเดิมๆ แต่จริงๆ แล้วบางด้านก็ดีขึ้น เช่น เมื่อเทียบกับเหตุกราดยิงใน จ.นครราชสีมา กับที่ จ.หนองบัวลำภู กระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์สื่อก็ช่วยหยุดยั้่งบางเรื่องได้ โดยมีนักศึกษาไปทำวิจัยมา พบเหตุกราดยิงใน จ.หนองบัวลำภู การนำเสนอข่าวแบบละเมิดสิทธิลดลงเมื่อเทียบกับที่ จ.นครราชสีมา

แต่คำถามที่ว่าจะออกจากวังวนของปัญหาอย่างไร เรื่องนี้คงไม่มีคำตอบสุดท้ายเพราะต้องประกอบจากหลายส่วน ไล่ตั้งแต่คนทำงานสื่อเองต้องมีสำนึก เช่น ระยะหลังๆ มีความพยายามบอกว่าสื่อคือธุรกิจ แต่ในอดีตสอนกันว่าการเป็นสื่อไม่ใช่เป็นนักธุรกิจ แม้จะเป็นอาชีพหารายได้แต่ก็ต้องตระหนักในหน้าที่ ขณะที่กลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ก็ยังไม่ค่อยถูกใช้มากนัก ซึ่งหากใช้กันมากๆ ความคืบหน้าก็จะเกิดขึ้น แต่หลายคนอาจจะไม่อยากไปขึ้นศาล ส่วนกลไกควบคุมกันเองนั้นอยากให้ทำให้สำเร็จ เพราะไม่อยากให้กฎหมายเข้ามายุ่งมากนักเนื่องจากกจะกระทบต่อเสรีภาพสื่อ

ทั้งนี้ ตัวอย่างจากประเทศสวีเดน กลไกกำกับดูแลจริยธรรมสื่อ สัดส่วนกรรมการองค์กรวิชาชีพจะเป็นบุคคลภายนอกที่เป็นภาคประชาชนมากกว่าคนในวงการสื่อด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหา แมลงวันไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน หรือสื่อไม่จัดการกันเอง ซึ่งประเทศไทยยังมีสภาพแบบนี้อยู่ เช่น จากประสบการณ์ที่เคยไปนั่งเป็นอนุกรรมการในองค์กรวิชาชีพสื่อ เมื่อสื่อทำผิดตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียน อนุกรรมการคนอื่นๆ ที่เป็นคนในวงการสื่อจะไม่พูดอะไรเอง แต่จะส่งสัญญาณมาให้ตนในฐานะที่เป็นอาจารย์เป็นคนพูด

สุดท้ายคือเรื่องผู้บริโภค ฟังดูก็เหมือนว่าถ้าผู้บริโภคชอบก็ทำอย่างนี้ต่อไป ซึ่งมองแง่หนึ่งก็ถูก แต่มองอีกแง่หนึ่งผมก็รู้สึกว่าก็เป็นเรื่องท้าทายสื่อหรือเปล่า คนทำสื่อต้องผลิตงานอย่างใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยไม่ละเมิดกฎหมายและไม่ละมิดจริยธรรม ผมว่าการรักษากฎหมาย การรักษาจริยธรรม เป็นหน้าที่พลเมืองทุกคน ทุกคนทุกที่อาชีพต้องมีอันนี้ประกอบอยู่ แล้วการที่ล้ำเส้นออกมาแล้วต้องกลายเป็นอะลุ้มอล่วย ผมรู้สึกว่าอาจเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ รศ.รุจน์ กล่าว

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ยังมีการนำเสนอผลการสำรวจประเด็น นโยบายการสื่อสารที่กระทบสิทธิมนุษยชน ข้อเสนอต่อรัฐ สื่อ และสังคมโดย ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมการให้ความเห็นโดย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย)!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-