กกต.-ไอลอว์ ร่วมจับตาเลือกตั้ง 2566 กับการกลับมาของข้อกล่าวหา “อเมริกาแทรกแซงการเมืองไทย”

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน

ข้อกล่าวหาเรื่องสหรัฐอเมริกาแทรกแซงการเมืองไทยโดยใช้องค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งทุนในสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือ กำลังกลับมาวนซ้ำในช่วงที่ไทยนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 หลังจากที่ข้อกล่าวหานี้เคยถูกเผยแพร่หลายมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ช่วงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2563 และก่อนหน้านี้มีมาเป็นระยะนับตั้งแต่ช่วงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยปี 2553

โคแฟคตรวจสอบพบว่า ข้อกล่าวหานี้มีต้นตอมาจากบทวิเคราะห์ของนายไบรอัน เบอร์เลติก (Brian Berletic) ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็นนักวิเคราะห์อิสระด้านภูมิรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่พำนักอยู่ในไทย และถูกนำมาเผยแพร่ต่อในโซเชียลมีเดียโดยสื่อมวลชนและองค์กรแสดงตัวชัดว่าสนับสนุนรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่น Top News และสถาบันทิศทางไทย

บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเมืองไทยของนายไบรอันมีทั้งบทความออนไลน์และวิดีโอในยูทูป เนื้อหาหลักเป็นการกล่าวหารัฐบาลสหรัฐฯ ว่าเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยเพื่อกำจัดรัฐบาลที่ขัดขวางผลประโยชน์และแทนที่ด้วยรัฐบาลที่ “พร้อมรับใช้” อเมริกา การแทรกแซงนี้กระทำผ่านการให้เงินสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เช่น โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ National Endowment for Democracy (NED) ซึ่งนายไบรอันเปรียบว่าเป็น “ซีไอเอภาคพลเรือน” ที่ใช้เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมาบังหน้าปฏิบัติการลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่าง ๆ  

เฟซบุ๊กสถาบันทิศทางไทยนำเนื้อหาจากบทวิเคราะห์ของไบรอัน เบอร์เลติก
มาเผยแพร่ต่อเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566

โคแฟคเห็นว่า ประเด็นเรื่องสหรัฐฯ แทรกแซงการเลือกตั้งของไทยผ่านเอ็นจีโอที่รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้นเป็นเพียงความคิดเห็นและข้อกล่าวหาที่ยังไม่มีบทสรุป หรือที่เรียกว่าทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory)  แม้การวิเคราะห์หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องที่บุคคลจะกระทำได้ แต่ประชาชนควรรับฟังอย่างมีวิจารณญาณ แยกแยะระหว่างเนื้อหาที่เป็นความคิดเห็นและข้อเท็จจริง พิจารณาข้อมูลให้รอบด้านก่อนเชื่อหรือแชร์ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งที่อาจมีการปล่อยข่าวลวงโน้มน้าวให้เชื่อข้อมูลบางอย่างที่บั่นทอนและทำลายกระบวนการเลือกตั้งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ “ไบรอัน เบอร์เลติก”

นายไบรอันให้สัมภาษณ์ในรายการ “Talk 2 Ways” ของ Top News เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 ว่าเขาเป็นอดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่เคยเดินทางมาประเทศไทยเพื่อฝึกซ้อมรบ ด้วยความที่ชอบประเทศไทยมาก หลังจากปลดประจำการจึงเดินทางมาอยู่ที่ไทยจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว โดยทำงานด้านการออกแบบอุตสาหกรรม และศึกษาค้นคว้าด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นงานอดิเรก ประเด็นที่สนใจและเชี่ยวชาญเป็นพิเศษคือสหรัฐฯ กับการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆ

ไบรอันบอกว่าเขาเริ่มสนใจบทบาทของสหรัฐฯ กับการเมืองไทยในปี 2553 ซึ่งมีการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดง จึงเริ่มเขียนแสดงความคิดเห็นโดยใช้นามปากกาว่า “โทนี คาตาลุชชี” (Tony Cartalucci) เผยแพร่ในเว็บไวต์วารสารออนไลน์ New Eastern Outlook ของรัสเซีย และ Land Destroyer ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เขาก่อตั้งและดูแลเอง

ไบรอันให้สัมภาษณ์ในรายการ Talk 2 Ways ทางสถานีโทรทัศน์ Top News เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564

โคแฟคตรวจสอบพบว่า ในเดือนกรกฎาคม 2562 เฟซบุ๊กได้ปิดเพจและลบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก กว่า 20 รายการ รวมทั้งเพจ/บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เผยแพร่บทวิเคราะห์ของนายไบรอัน หลังจากสอบสวนพบว่าเพจ/บัญชีผู้ใช้เหล่านี้ดำเนินการโดยเครือข่ายของผู้ที่ใช้ตัวตนปลอม (Coordinated Inauthentic Behavior) ซึ่งมักเผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความแตกแยกเกี่ยวกับการเมืองไทย การเคลื่อนไหวของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน การประท้วงในฮ่องกง เฟซบุ๊กยังพบด้วยว่าหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังกิจกรรมเหล่านี้ “เป็นบุคคลที่พำนักอยู่ในไทยและมีความเชื่อมโยงกับเว็บไซต์วารสารออนไลน์ New Eastern Outlook ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย”

นายไบรอันกล่าวว่าบัญชีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ทั้งหมดของเขาถูกลบจริง ซึ่งเขามองว่าเป็นการเซ็นเซอร์มากกว่าเหตุผลเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ตามที่เฟซบุ๊กอ้าง

ข้อกล่าวหาเดิมในบริบทใหม่

นายไบรอันเผยแพร่บทวิเคราะห์ว่าด้วยการแทรกแซงการเมืองไทยโดยสหรัฐฯ หลายครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมักจะเชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง

สำหรับการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 นายไบรอันได้เผยแพร่ข้อกล่าวหาเรื่องสหรัฐฯ แทรกแซงการเลือกตั้งของไทยมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 7 เม.ย. 2566 ซึ่งเขาโพสต์วิดีโอวิเคราะห์การเมืองไทยทางช่องยูทูป @TheNewAtlas บทวิเคราะห์นี้อ้างถึงบทความเรื่อง “Shut Out of Democracy Summit, Thailand Prepares for May Elections as Restrictive Laws Aim to Silence Youth Activists” ที่เขียนโดย น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ “ทนายจูน” ผู้ร่วมก่อตั้งและทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเผยแพร่บนเว็บไซต์ Just Security เมื่อ 28 มี.ค. 2566 โดยไบรอันตีความว่าบทความชิ้นนี้เป็นการเรียกร้องให้สหรัฐฯ แทรกแซงการเมืองไทยและกดดันรัฐบาลไทยให้ยกเลิกการตั้งข้อหาและการดำเนินคดีนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย เขาระบุว่าศูนย์ทนายฯ เป็นหนึ่งในองค์กรที่รับทุนจาก NED และกรณีนี้เป็นตัวอย่างของการที่สหรัฐฯ ใช้เอ็นจีโอเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงกิจการภายในของไทย  

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 นายไบรอันได้โพสต์วิดีโอทางยูทูป อ้างถึงรายงานข่าวเมื่อ 23 เม.ย.2566 ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมมือกับไอลอว์ในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยนายไบรอันตั้งคำถามว่า “ทำไม กกต. ถึงยอมทำอะไรก็ตามร่วมกับไอลอว์ ทั้งที่ไอลอว์เป็นองค์กรที่รับเงินสนับสนุนจากประเทศที่เข้ามายุ่งเหยิงกับกิจการภายในของไทยอย่างโจ่งแจ้ง” ก่อนสรุปในตอนท้ายว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. นี้ “ไม่ได้มาจากการกำหนดอนาคตตนเองของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวไทย แต่มาจากการแทรกแซงของต่างชาติ”

ในวิดีโอวิเคราะห์การเมืองไทยของนายไบรอัน เขามักนำเสนอภาพนี้ โดยบอกว่าเป็นรายชื่อองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก NED ของสหรัฐอเมริกา

บทวิเคราะห์ของนายไบรอันทั้ง 2 ชิ้น ซึ่งแต่ละคลิปมียอดการเข้าชมกว่า 5 หมื่นครั้ง ถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดย Top News และสถาบันทิศทางไทย ซึ่งระบุว่านายไบรอันเป็น “ผู้ชำนาญการด้านสถานการณ์ต่างประเทศของสถาบันทิศทางไทย” ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ให้ความเห็นทำนองเดียวกับนายไบรอันว่า “เตือนสติ กกต. ดึงต่างชาติแทรกแซงการเลือกตั้ง…มีตั้งหลายหน่วยงานทั้งเอกชนและรัฐออกมาช่วยกันตรวจสอบเลือกตั้งให้สุจริต กกต. ดันไม่สนใจ แต่ไปสนใจองค์กร NGO ที่รับเงินต่างประเทศ” พร้อมกับนำลิงก์วิดีโอยูทูปของนายไบรอันมาประกอบ

คำอธิบายจากไอลอว์

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า ไอลอว์ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก NED จริง โดยปีนี้เป็นปีที่ 9 ที่ NED ซึ่งเป็นแหล่งทุนอิสระของสหรัฐอเมริกาที่รับทุนจากสภาครองเกรสเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในโลก อนุมัติเงินทุนสนับสนุนไอลอว์ในการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย แต่ยืนยันว่า NED ไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายหรือกำกับการดำเนินงานของผู้รับทุน

“NED เป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นองค์กรใต้ดิน มีระบบการเสนอโครงการเพื่อขอรับทุน เราเป็นผู้เสนอโครงการไป ถ้าเขาอนุมัติเงินทุนให้ เราก็กลับมาดำเนินการตามโครงการที่เราเป็นผู้ริเริ่มเองทั้งหมด และมีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานว่าสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ เขาไม่ได้เข้ามาจี้หรือเป็นนายจ้าง ไม่ใช่ว่าทำงานสำเร็จแล้วเขาถึงจะจ่ายเงิน แต่เราเป็นคนคิดและทำทั้งหมด ซึ่งก็มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ” นายยิ่งชีพให้สัมภาษณ์โคแฟคทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566

ในส่วนของการทำงานร่วมกับ กกต. นั้น ผู้จัดการไอลอว์อธิบายว่า ไอลอว์ได้หารือและแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ กกต. 2-3 ครั้งในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2566 ตามคำเชิญของนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ซึ่งนายยิ่งชีพบอกว่า “นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ไอลอว์และ กกต.ได้สื่อสารกันโดยตรง”

วันที่ 14 ก.พ. 2566 นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ให้การต้อนรับตัวแทนจากไอลอว์ และ We Watch ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง และตัวแทนจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหารือแนวทางการประสานความร่วมมือในการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566

นายยิ่งชีพให้ข้อมูลว่าประเด็นที่ กกต. กังวลมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การซื้อเสียง ขณะที่ไอลอว์เป็นห่วงเรื่องการโกงผลการเลือกตั้งในช่วงนับคะแนน เลขา กกต. จึงได้ประสานให้ไอลอว์ประชุมร่วมกับ ร.ต.อ. มนูญ วิเชียรนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 3 ของ กกต. ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือกันถึงแนวทางการรับและตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการซื้อเสียง และได้ข้อสรุปว่าจะร่วมกันผลิตคลิปวิดีโอสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเกี่ยวกับกระบวนการร้องเรียน การแจ้งเบาะแส การคุ้มครองพยานและการให้รางวัลนำจับเพื่อสร้างแรงจูงใจและความมั่นใจให้ประชาชน 

“ความร่วมมือระหว่าง กกต.และไอลอว์เป็นเพียงการประสานงานกันในระดับผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความราบรื่นและสุจริต…ไอลอว์ไม่มีอำนาจใดที่จะแทรกแซงการทำงานของ กกต. ดังนั้นข้อกล่าวหาว่าการที่ กกต. ร่วมมือกับไอลอว์เป็นการเปิดประตูให้สหรัฐฯ แทรกแซงการเลือกตั้งของไทยจึงไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิง”  ผู้จัดการไอลอว์กล่าว

กกต. “พร้อมให้ความร่วมมือองค์กรภาคประชาสังคม”

ทางด้านสำนักงาน กกต. เผยแพร่เอกสารข่าวเมื่อ 26 เม.ย. 2566 ระบุว่า กกต.“มีความยินดีและพร้อมให้การสนับสนุน และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติภารกิจขององค์กรภาคประชาสังคมในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง” โดยพร้อมสนับสนุนทุกองค์กร ไม่เพียงไอลอว์และ We Watch ที่ประสานงานมาเท่านั้น เพราะเล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เพื่อทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย

เรื่องแนะนำ