คลิป “กัมพูชาซ้อมรบ” และ “ฮุน เซนขู่สงครามปะทุ” มาจากไหน เกี่ยวกับการเลือกตั้งของไทยอย่างไร

Top Fact Checks Political

ช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนหนึ่งได้โพสต์วิดีโอการซ้อมรบของกองทัพกัมพูชา และคลิปคำพูดของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เตือนว่าจะเกิดสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านหากเขาไม่ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งโคแฟคตรวจสอบพบว่า คลิปการซ้อมรบและคำพูดของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นคลิปเก่าที่ถูกนำมาเผยแพร่ใหม่โดยมีการบิดเบือนข้อมูล เพื่อหวังผลทางการเมืองในบริบทที่ไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. 2566

โคแฟคยังได้รับการยืนยันจากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ตรวจสอบแล้วพบว่า เนื้อหาที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการซ้อมรบนั้นไม่เป็นความจริง

คลิปวิดีโอซ้อมรบแสดงให้เห็นรถถังติดธงชาติกัมพูชาขับเคลื่อนและยิงปืนใหญ่ และการฝึกทางยุทธวิธีของทหาร บัญชีผู้ใช้ติ๊กต็อก @military4karmy โพสต์คลิปความยาวเกือบ 5 นาทีเมื่อ 11 เม.ย. พร้อมคำบรรยายว่า “กองทัพกัมพูชาระดมพลซ้อมรบครั้งใหญ่ที่ จ.พระตะบอง ห่างจากชายแดนเพียง 20 กว่ากิโล” มีผู้เข้ามาชมกว่า 7 แสนครั้ง ต่อมาผู้ใช้ทวิตเตอร์ @EVILSAGAGemini โพสต์คลิปที่มีภาพเดียวกันนี้เมื่อ 16 เม.ย. โดยเขียนบรรยายว่า “กองทัพกัมพูชาจัดการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่ จ.พระตะบอง ห่างจากชายแดนไทย 20 กว่ากิโลเมตร หลังจากฮุนเซนประกาศว่าถ้าตัวเองแพ้การเลือกตั้งจะเกิดสงคราม และอ้างว่าจะทวงคืนดินแดนจากไทยและเวียดนาม โดยอ้างว่าเป็นดินแดนของกัมพูชา (ใคร) บอกว่าเขาเลิกรบกันแล้ววะ”

ส่วนคลิปวิดีโอนายกฯ ฮุน เซน ความยาวประมาณ 1 นาที มีผู้เผยแพร่จำนวนมากในติ๊กต็อก เป็นภาพขณะที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวบนเวทีเป็นภาษาเขมร มีคำแปลภาษาไทยด้านล่าง ช่วงหนึ่งระบุว่า “เตรียมตีเอาดินแดนคืน ที่เคยเสียไป ทั้งสงครามกับเวียดนาม ทั้งกับไทย”

บัญชีผู้ใช้ติ๊กต็อก @like.sara12 โพสต์คลิปนี้เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ใส่คำบรรยายว่า “ฮุน เซนประกาศอาจมีสงครามเกิดขึ้นเพื่อทวงดินแดนจากเพื่อนบ้าน” วิดีโอนี้มียอดวิวกว่า 1.8 ล้านครั้ง ณ วันที่ 17 เม.ย. ผู้ใช้ติ๊กต็อกอีกคนหนึ่งนำคลิปนี้ไปเผยแพร่ต่อและบรรยายว่า “ฮุน เซนจะบุกเข้ามายึดแผ่นดินไทยและเวียดนาม”

โพสต์เหล่านี้ได้จุดชนวนการวิจารณ์นโยบายปฏิรูปกองทัพและข้อเสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารของพรรคก้าวไกล ผู้ที่เข้ามาให้ความเห็นหลายคนอ้างถึงการปราศรัยของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลบนเวทีหาเสียงที่ จ.กาญจนบุรี เมื่อ 18 มี.ค. ซึ่งนายพิธาที่ตั้งคำถามว่า “ทหารมีไว้ทำไม”

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวตอนหนึ่งว่า “คุณจะไปรบกับใคร สมมติจะมีคนมารุกรานคุณ ผมก็ไม่เชื่อว่าคุณจะรบชนะด้วย…ประเทศที่อยู่ใกล้ๆ เคยทะเลาะกันก็ไม่ทะเลาะกันแล้ว ทุกวันนี้ลดกองทัพได้ บางประเทศไม่ต้องมีกองทัพด้วยซ้ำ ถ้าผู้นำฉลาดพอ”

นอกจากนี้ ยังมีการนำคลิปวิดีโอที่อ้างว่าเป็นการซ้อมรบของกองทัพกัมพูชาและคำพูดของนายกรัฐมนตรีกัมพูชามาตัดต่อเข้ากับคำปราศรัยของนายพิธาเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจว่า นโยบายลดบทบาทและงบประมาณกองทัพที่พรรคก้าวไกลเสนอนั้นไม่สอดคล้องกับสถานการณ์

โคแฟคตรวจสอบ

จากการตรวจสอบของโคแฟคเมื่อ 17 เม.ย. โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ส่วน คือ คลิปวิดีโอซ้อมรบและคลิปคำพูดของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีรายละเอียดดังนี้

ประเด็นที่ 1: กองทัพกัมพูชาซ้อมรบประชิดชายแดนไทย

เมื่อนำ URL ของวิดีโอไปใส่ใน InVID-WeVerify ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ร่วมพัฒนาโดยสำนักข่าวเอเอฟพีเพื่อตรวจสอบเนื้อหาและที่มาของวิดีโอ ระบบจะแยกเฟรมภาพในวิดีโอเป็นภาพนิ่งและนำไปค้นหารูปภาพในกูเกิ้ล ไม่พบภาพหรือวิดีโอที่มีเนื้อหาเดียวกัน

โคแฟคจึงค้นหาต่อด้วยการใช้คำค้นภาษาไทยและภาษาอังกฤษในติ๊กต็อกและยูทูป พบวิดีโอหลายชิ้นที่มีภาพตรงกันกับวิดีโอที่กำลังตรวจสอบ ในติ๊กต็อกพบวิดีโอที่เผยแพร่โดยบัญชีผู้ใช้ @ninht3 เมื่อ 8 ก.พ. 2566 มีคำบรรยายสั้นๆ ว่า “T-55 CAMBODIA #Tank #Cambodia”

ในยูทูป พบวิดีโอที่เผยแพร่ในช่อง “Ma Nin” ความยาว 1.10 นาที อัพโหลดเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2563 มีภาพที่ตรงกับวิดีโอที่เผยแพร่โดยบัญชีผู้ใช้ติ๊กต็อก @military4karmy เกือบทั้งหมด แต่ไม่มีรายละเอียวเกี่ยวกับเนื้อหาของวิดีโอ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เจ้าของช่องยูทูปรายนี้ยังได้อัพโหลดคลิปวิดีโอการซ้อมรบอีกหลายชิ้น บางช่วงมีรถถังที่ติดธงชาติจีนอยู่ด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ในวิดีโอเหล่านี้เป็นการซ้อมรบร่วมของกองทัพจีนและกัมพูชาที่ชื่อว่า Golden Dragon ที่จัดขึ้นทุกปี สำหรับในปี 2020 เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Khmer Times รายงานว่าการซ้อมรบร่วมจัดขึ้นที่ จ.กัมปอต ระหว่างวันที่ 16-30 มี.ค.

แม้ในขั้นนี้จะระบุไม่ได้ว่าคลิปวิดีโอนี้เป็นเหตุการณ์ใดและเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ยืนยันได้ว่าภาพวิดีโอเหล่านี้เคยเผยแพร่ในยูทูปตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว จึงสรุปได้ว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทยได้นำคลิปการซ้อมรบนี้มาตัดต่อและเผยแพร่ซ้ำโดยให้ข้อมูลลวงเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันใกล้ชายแดนไทย

ประเด็นที่ 2 : นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเตือนสงครามกัมพูชา-ไทย

การสืบค้นที่มาของวิดีโอโดยใช้ InVID-WeVerify พบว่าวิดีโอนี้เป็นเหตุการณ์ที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวในพิธีจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Asia-Euro ในกรุงพนมเปญเมื่อ 23 ส.ค. 2565 ซึ่งคำพูดของเขาปรากฏอยู่ในรายงานข่าวของสื่อมวลชนหลายแห่ง

เว็บไซต์ Khmer Times รายงานว่า นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเตือนว่าหากพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party-CPP) ของเขาไม่ได้บริหารประเทศต่อไป “สงครามกับเวียดนามและไทยจะกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” เพราะพรรคการเมืองอื่น ซึ่งเขาไม่ได้ระบุชื่อ มีนโยบายที่จะทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทวงคืนดินแดนที่เสียไป

เว็บไซต์ ผู้จัดการ ก็รายงานข่าวนี้เมื่อ 24 ส.ค. 2565 ระบุว่านายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวว่า กัมพูชาอาจเข้าสู่ภาวะสงครามหากพรรคฝ่ายค้านก้าวขึ้นสู่อำนาจ

“ผมคิดว่าสงครามจะปะทุขึ้นหากพรรค CPP ไม่ได้ปกครองประเทศ ผมกล้าพูดเนื่องจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การใช้นโยบายของฝ่ายค้านที่ระบุว่าจะยึดทรัพย์จากคนรวยให้คนจน และกระบวนการทวงคืนดินแดนที่เสียไป ซึ่งด้วยวิธีเหล่านี้ สงครามจะปะทุขึ้นระหว่างกัมพูชาและเวียดนาม และกัมพูชากับไทยอย่างแน่นอน” ผู้จัดการรายงานคำพูดของผู้นำกัมพูชา  

จากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนหลายสำนัก สรุปได้ว่าเนื้อหาที่ปรากฏในวิดีโอเป็นคำพูดของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาจริง แต่การนำมาเผยแพร่ซ้ำโดยตัดคำพูดมาเพียงบางประโยค ขาดบริบทการเมืองกัมพูชา และนำมาเชื่อมโยงกับนโยบายที่พรรคการเมืองของไทยใช้หาเสียงในช่วงเลือกตั้ง แสดงถึงเจตนาที่จะสร้างความเข้าใจผิด

ข้อสรุปโคแฟค: เนื้อหาบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิด งดแชร์

ภาพการซ้อมรบของกองทัพกัมพูชาในคลิปวิดีโอเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี อาจเป็นการซ้อมรบร่วม Golden Dragon ของกองทัพจีนและกัมพูชาที่ จ.กัมปอต เมื่อเดือน มี.ค. 2563 ส่วนวิดีโอคำพูดของนายกฯ ฮุน เซนว่าจะเกิดสงครามกับไทยและเวียดนามหากเขาไม่ได้เป็นผู้นำประเทศ มีเนื้อหาตรงกับที่สื่อมวลชนรายงาน แต่บางคลิปได้ถูกตัดต่อและเขียนบรรยายให้เข้าใจผิดว่ากัมพูชากำลังจะสู้รบกับไทยและเวียดนามเพื่อทวงดินแดนคืน นอกจากนี้ยังไม่มีการตรวจสอบว่าข้อกล่าวหาที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาอ้างว่า พรรคฝ่ายค้านกัมพูชามีนโยบายทวงดินแดนคืนจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นเป็นความจริงหรือไม่

ทั้งไทยและกัมพูชากำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. และ 23 ก.ค. ตามลำดับ วาระการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเช่นนี้มีโอกาสที่จะเกิดข่าวลวงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ผู้รับสื่อจึงควรตรวจสอบและพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนเชื่อหรือส่งต่อ

เรื่องแนะนำ