สรุป 3 กลุ่มมาตรการเยียวยาโควิด จากการระบาดระลอกใหม่
ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แยกออกเป็น 3 กลุ่มมาตรการหลัก ทั้งมาตรการที่ทำได้ทันที มาตรการบรรเทาค่าใช้จ่าย และและมาตรการระยะต่อไป ใช้ทั้งเงินกู้และสินเชื่อกว่า 2.55 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมีติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการปิดสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเกิดผลกระทบกับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงสั่งให้กับทางกระทรวงการคลัง และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม และได้มีการนำมาเสนอให้กับที่ประชุมครม.พิจารณาในครั้งนี้
กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ TJA&Cofact ได้มีการตรวจสอบรายละเอียดจากเอกสารการประชุมเรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 ซึ่งเสนอโดย สศช. พบว่า มาตรการที่เสนอมานั้นแยกออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
ช่วยเงินกู้ฉุกเฉิน-ค่าน้ำค่าไฟ
1.มาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที (รวมวงเงินทั้งเงินกู้และสินเชื่อ 30,000 บาท) แยกออกเป็น 2 กลุ่มมาตรการย่อย คือ
(1) มาตรการด้านการเงิน ทั้ง สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินให้ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก
รวมทั้ง การพักชำระหนี้ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดย ขยายระยะเวลาพักชำระเงินหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อย ออกไปจนถึง 31 ธ.ค.2564 ตามความสมัครใจ โดยการพักชำระเงินต้น เพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราว และให้ลูกหนี้นำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปใช้เป็นสภาพคล่องในการดำเนินชีวิตประชำวัน
(2) มาตรการด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย แยกเป็น
ค่าไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก, ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก โดยจะดำเนินการในรอบบิลช่วงเดือนพ.ค. – มิ.ย. 2564
ค่าน้ำประปา เสนอให้ลดค่าน้ำประปาลง 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนพ.ค. – มิ.ย. 2564 โดยการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค จะได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการ ภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนของพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
เพิ่มเงินให้ “เราชนะ- ม33เรารักกัน”
2.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน กรอบวงเงิน 85,500 ล้านบาท แยกเป็น 2 โครงการย่อย คือ
(1) การเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 32.9 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิ.ย. 2564 วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท
(2) การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการ ม.33 เรารักกัน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 9.27 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิ.ย. 2564 วงเงินรวมประมาณ 18,500 ล้านบาท
สำหรับ 2 โครงการนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการจะเร่งนำเสนอโครงการให้พิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งผมได้กำหนดให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า
ทำ 4 โครงการอีก 1.4 แสนล้านบาท
3.มาตรการในระยะต่อไป ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเมื่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกเดือนเม.ย.2564 คลี่คลายลง มีกรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาท แยกเป็น 4 โครงการย่อย คือ
(1) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 13.6 ล้านคน โดยให้เงินความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ก.ค. – ธ.ค. 2564
(2) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2.5 ล้านคนโดยให้เงินความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ก.ค. – ธ.ค. 2564
(3) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน โดยรัฐจะสมทบเงินแบบลักษณธร่วมจ่าย (Co-Pay) 50% เป็นค่าซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป โดยสามารถใช้ได้วันละไม่เกิน 150 บาทต่อคน ในวงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน
(4) โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” โดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่ายและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้รัฐจะสนับสนุน e-Voucher ให้กับประชาชน ที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า และค่าอาหารเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยประชาชนใช้จ่ายจะได้รับการสนับสนุน e-Voucher จากภาครัฐในช่วง ก.ค. – ก.ย.2564 ไปใช้จ่ายในเดือน ส.ค. -ธ.ค.2564 โดยประเมินว่าจะมีประชาชนจะเข้าโครงการประมาณ 4 ล้านคน