สรุป คำถาม-คำตอบ-ข้อแนะนำ การฉีดวัคซีนโควิด 19
จากกรณีที่มีข้อกังวลของประชาชน ในเรื่องของข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ “ฉีด” หรือ “ไม่ฉีด” วัคซีนป้องกันโควิด 19 โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว กลุ่มประชาชนที่ต้องรับประทานยารักษาโรค กลุ่มสติมีครรภ์และอยู่ในระยะให้นมบุตร รวมถึงกรณีอื่น ๆ
TJA&Cofact ตรวจสอบข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบว่า ก่อนหน้านี้นโยบายของรัฐบาลในการวัคซีนป้องกันโควิด-19 เริ่มทำการฉีดให้กับ 4 กลุ่มนำร่องที่มีความจำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนก่อน ประกอบด้วย
- บุคลากรด่านหน้าและบุคลากรทางการแพทย์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว
- ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค
เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ หรือหากได้รับเชื้อแล้ว มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงได้
ในส่วนของกลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ซึ่งถือเป็นกลุ่มนำร่องที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อน ประกอบด้วย กลุ่มผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ดังนี้
- โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคอ้วน
- โรคมะเร็ง
- โรคเบาหวาน
ซึ่งกลุ่มโรคเหล่านี้เป็นกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือติดต่อ ผ่านตัวนำโรค (พาหะ) หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ แต่เป็นโรคที่เกี่ยวกับนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งโรคกลุ่มนี้จะค่อยๆสะสมอาการ ค่อยเกิด ค่อยทวีความรุนแรง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วจะเกิดการเรื้อรังของโรคตามมาด้วย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง ซึ่งผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มนี้ หากติดเชื้อ COVID-19 จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรงมากกว่าปกติ
TJA&Cofact ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบข้อมูลการรวบรวมข้อมูลคำถามและคำตอบ ในกรณีการฉีดวัคซีนโควิด จาก “งานบริบาลเภสัชกรรม กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลชลบุรี” ซึงรวบรวมข้อมูลและคำแนะนำอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ(ตามเอกสารแนบ) โดยกองบก. TJA&Cofact นำมาสรุปดังนี้
กลุ่มโรคประจำตัว
โรคหัวใจและหลอดเลือด
- ฉีดได้
โรคหลอดเลือดสมอง
- ฉีดได้ ยกเว้นผู้ป่วยที่อาการยังไม่คงที่หรือยัง มีอาการที่อันตรายต่อชีวิต
โรคลมชัก
- ฉีดได้
ไทรอยด์
- ฉีดได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคไทรอยด์แบบใดก็ตาม ได้แก่ มีก้อนที่ต่อมไทรอยต์ คอพอกไทรอยด์เป็นพิษหรือมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
โรคปอดอุดกั้น, โรคหอบหืด
- ฉีดได้
โรคมะเร็ง
- ฉีดได้ ยกเว้นผู้ป่วยมะเร็งที่กําลังได้รับการ ผ่าตัดหรือกําลังได้รับยาเคมีบําบัดควร ปรึกษาแพทย์ก่อน
- ผู้ป่วยมะเร็งระบบเลือด โดยเฉพาะกลุ่มที่ ได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ควรฉีดหลังจากรักษาครบ 3 เดือน และควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนทุกครั้ง
โรคเอดส์
- ฉีดไต้
วัณโรค
- ฉีดได้
กลุ่มที่ต้องรับประทานยารักษาโรคประจำตัว
On warfarin (ให้ยา วาฟาริน ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือที่เรียกกันว่ายาละลายลิ่มเลือด)
- ฉีดได้ (INR <3.0) ควรใช้เข็มขนาดเล็กกว่า 23G และไม่ ควรคลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีนและควรกดตําแหน่งที่ฉีดหลังการฉีดยานานกว่าปกติจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติ
ให้ยา On ASA(aspirin) , clopidogrel , cilostazol
- ฉีดได้ ไม่ต้องหยุดยา
- ควรใช้เข็มขนาดเล็กกว่า 23G และไม่ ควรคลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน และควรกดตําแหน่งที่ฉีดหลังการฉีดยานานกว่าปกติจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติ
On NOACS (ให้ยา Non-vitamin K antagonist oral anticoagulants)
- ฉีดได้ ไม่ต้องหยุดยา
- ควรใช้เข็มขนาดเล็กกว่า 23G และไม่ ควรคลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน และควรกดตําแหน่งที่ฉีดหลังการฉีดยานานกว่าปกติจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติ
ให้ยา Methotrexate
- ให้หยุดยา 1 สัปดาห์หลังการฉีดวัคซีนในแต่ละครั้งแล้วจึงให้ยาต่อตามปกติ (เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการคงที่) **ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนเสมอ**
- ให้พิจารณาหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีน ชนิดไวรัสเวคเตอร์และเลือกใช้วัคซีน ชนิดเชื้อตายชนิด mRNA หรือชนิด ส่วนประกอบของโปรตีน
ให้ยา Steroid
- ยา prednisolone ที่น้อยกว่า 20 mg/day หรือเทียบเท่า สามารถให้การฉีดวัคซีนโดยไม่ต้องหยุดยา
- สําหรับยา prednisolone ที่มากกว่า 20 20mg/day หรือเทียบเท่า ในผู้ป่วยที่อาการคงที่และอยู่ในช่วงที่กําลังลดปริมาณSteroidสามารถให้การฉีดวัคซีนได้เช่นกัน
- ให้พิจารณาหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์และเลือกใช้วัคซีน ชนิดเชื้อตายชนิด mRNA หรือชนิดส่วนประกอบของโปรตีน
ยากดภูมิคุ้มกัน azathioprine, mycophenolate ชนิดกิน
- สามารถให้การฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องหยุดยา
- ให้พิจารณาหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีน ชนิดไวรัสเวคเตอร์และเลือกใช้วัคซีน ชนิดเชื้อตายชนิด mRNA หรือ ชนิด ส่วนประกอบของโปรตีน
ข้อกังวลอื่น ๆ
การรับวัคซีนอื่น ไข้หวัดใหญ่ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก พิษสุนัขบ้า หัดเยอรมัน
- แนะนําให้ฉีดห่างกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน
- วัคซีนที่มีความจําเป็น เช่น เมื่อถูกสัตว์กัดให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้เลย โดยไม่ได้จําเป็นต้องทิ้งช่วงเวลา เนื่องจากความ เสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้ามีความสําคัญกว่า
การบริจาคเลือด
- กรณีได้รับวัคซีนขนิต mRNA หรือ วัคซีน ชนิดเชื้อตาย อาจเว้นระยะประมาณ 1 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนก่อนบริจาคเลือด
- หากได้รับวัคซีนชนิด live virus vaccine ควรเว้นระยะ 4 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนก่อนบริจาคเลือด
กําลังให้นมบุตร
- ฉีดได้
กําลังตั้งครรภ์
- ยังไม่มีการแนะนำให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ เว้นแต่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง และประเมินแล้วว่าวัคซีนให้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง
- ในหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ต่อภาวะรุนแรงจากโรคโควิด รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะติดโควิด แนะนําให้ฉีดเมื่ออายุ ครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ และแนะนําให้ฉีด วัคซีนขนิดเชื้อตาย
กําลังมีประจําเดือน
- ไม่ได้มีข้อห้าม แต่มีคําแนะนําจาก ผู้เชี่ยวชาญว่าควรหลีกเลี่ยงการฉีดในช่วงมี ประจําเดือนเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียง
เคยติดโควิดแล้ว สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่
- ควรฉีดหลังจากติดเชื้ออย่างน้อย 3-6 เดือน และอาจฉีดเพียง 1 เข็ม
ความเสี่ยง/ผลข้างเคียง ที่อาจพบได้หลังจากการฉีดวัคซีน
- ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย ง่วงนอน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวด เมื่อยลําตัว ผื่น / สามารถใช้วัคซีนชนิดเดิมซ้ำได้
- Anaphylaxis อาการแพ้ เฉียบพลัน โดยมีอาการ 2 ใน 4 ของทางระบบผิวหนัง ทางเดินหายใจ/มีการ เปลี่ยนแปลงของความดัน โลหิต/ทางเดินอาหาร **ห้ามให้วัคซีนชนิดเติมอีก แนะนําให้เปลี่ยนขนิดของวัคซีน
สามารถฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิดได้หรือไม่
- ขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษา จึงแนะนําให้ฉีดชนิดเดียวกัน
หากเคยฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วยังต้องมีการฉีดวัคซีนซ้ำหรือไม่
- ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับผลวัคซีนโควิด 19 ต่อระดับภูมิคุ้มกันโรคในระยะยาว จึงยังไม่มีคําแนะนําในขณะนี้
เคยมีประวัติแพ้ยา หรือ อาหารอย่างรุนแรง (anaphylaxis)
- พิจารณาฉีดได้ แต่ต้องมีการติดตามอาการใกล้ชิด อาจเกิดอาการแพ้เฉียบพลันได้
- อาจพิจารณาให้ non-sedative ก่อน
เลื่อนวันฉีดวัคซีนได้หรือไม่
- Sinovac สามารถเลื่อนนัดฉีด โดยห่างจาก เข็มแรกไม่เกิน 4สัปดาห์
ด้าน พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า
วัคซีนโควิด-19 กับผู้ที่มีโรคประจำตัว
ผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพียงร้อยละ 11 ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่ดูแลตัวเองเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิด-19 มีถึงร้อยละ 36 ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะรับวัคซีนโควิค-19 ดีหรือไม่ โดยมีเหตุผลสำคัญในเรื่องผลข้างเคียง ความปลอดภัย ผลกับโรคของตนเอง และประสิทธิภาพของวัคซีน แล้วยังพบว่า 44% มีน้ำหนักเพิ่มขั้น 30% หยุดออกกำลังกาย 22% พบว่ามีปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น และ 33% ปัญหาโรคเรื้อรังแย่ลงระหว่างการระบาด ผลสำรวจนี้คงไม่แตกต่างจากเมืองไทยสักเท่าไหร่
วันนี้เลยขอเอาประเด็นการรับวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวมาเขียนให้ดูกันครับทำไมผู้ที่มีโรคประจำตัวจึงควรได้รับวัคซีนโควิด-19
ผู้ที่มีโรคประจำตัว มักมีอาการรุนแรงเมื่อเป็น Covid-19 รวมทั้งอาจมีการกำเริบของโรคที่เป็นอยู่เมื่อมีการติดเชื้อ ทำให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้น และทำให้เสียชีวิตมากกว่าผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว ถึงแม้การศึกษาทางคลินิกของวัคซีนทุกตัวในปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวร่วมในการศึกษาไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในบุคลากรทางการแพทย์หรือประชาชนทั่วไป
ข้อมูลที่มีอยู่แสดงว่าวัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลงในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ แต่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกก็แนะนำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากผลดีจากวัคซีนในการลดความรุนแรงของโรคจะมากกว่าผลเสียที่เกิดขึ้นจากวัคซีน เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว
ผู้ที่มีโรคประจำตัวจะเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 มากขึ้นไหม
เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง เช่น อาการปวดบริเวณที่ฉีด อาการไข้ อาการปวดเมื่อยตามตัว ไม่ได้เพิ่มขึ้นในผู้มีโรคประจำตัวเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว และรายงานการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เช่นภาวะหลอดเลือดดำอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำหลังการฉีดวัคซีนที่มีรายงานในต่างประเทศประมาณ 1 ในแสนราย ส่วนใหญ่กลับพบในคนอายุน้อยที่ไม่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดอุดตันมาก่อนจึงสามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ หรือปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับความเครียด (ISRR) จากการฉีดวัคซีนกับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งทำให้มีอาการชา อ่อนแรง คลื่นไส้ วิงเวียน เป็นลม ตามัว พูดไม่ชัด เกร็ง ก็มักเป็นในผู้หญิงอายุน้อย เป็นกลุ่มก้อน โดยไม่พบความผิดปกติของสมอง ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือลมชัก ก็สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้
ผู้ที่มีโรคประจำตัวได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วโรคที่เป็นจะแย่ลงไหม
ยังไม่มีข้อมูลรายงานว่าเมื่อผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ โรคเอชไอวี โรคไทรอยด์ โรคผิวหนัง และโรคอื่น ๆ จะมีอาการแย่ลงหรือกำเริบหลังได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่มีข้อระมัดระวังสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวในการรับวัคซีนคือ ในช่วงที่รับวัคซีนจะต้องไม่มีการกำเริบของโรค เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการหอบมากขึ้นก่อนฉีด ผู้ป่วยโรคหัวใจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยหอบ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการเฉียบพลัน ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังอยู่ในช่วงได้รับเคมีบำบัดหรือมีไข้ก่อนให้วัคซีน และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤติ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและมีอาการกำเริบของโรคเหล่านี้ ควรได้รับการดูแลรักษาจนอาการกำเริบดีขึ้นแล้ว จึงสามารถฉีดวัคซีนได้
ลิงค์ข่าว https://www.tja.or.th/view/news/1331483