‘เด็ก’เรื่องไม่เล็ก! จากยุคแอนะล็อกถึงเอไอ ภัยเก่ายังมี-ใหม่ก็มา กฎหมายต้องปรับให้ทัน-สร้างสังคมตระหนักรู้
8 ส.ค. 2567 ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับเครือข่ายภาคี จัดงาน “Digital Thinkers Forum #27 เวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 27 ทบทวนการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากยุคแอนะล็อกถึงยุคปัญญาประดิษฐ์” ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ และถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก ไทยพีบีเอสและ Cofact โคแฟค
มัทนา ถนอมพันธุ์ หอมลออ ประธานกรรมการกำกับทิศทาง แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีความตระหนักว่า ทำอย่างไรจะให้คนไทยมีสภาพแวดล้อม วิถีชีวิต และมีโอกาสอยู่ในสังคมสุขภาวะที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงเห็นร่วมกันเป็นพันธกิจ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่ากลไกในการตรวจสอบข่าวสารที่แข็งแรง
โดยการจัดเวทีในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งอยากให้ทำความรู้จักเด็ก 2 กลุ่ม คือ 1.เจ็นอัลฟา (Gen Alpha) ซึ่งเกิดในปี 2553 จนบัดนี้อายุได้ 14 ปี เป็นกลุ่มที่ในโลกยุคนี้เราได้กล่าวขวัญถึง มีความพิเศษเพราะเกิดในยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวไปรอบตัว คืออยู่กับเทคโนโลยีตลอด 24 ชั่วโมง เด็กกลุ่มนี้ไม่เหมือนเด็กติดเกมในอดีต แต่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้คล่องแคล่ว มีความเป็นอิสระ มีค่านิยมของตนเอง คิดถึงโลก มีเพื่อนรอบโลกจากการเล่นเกม ใช้เกมเป็นสื่อการเรียน ใช้แอปพลิเคชั่นการในเลือกร้านอาหาร ช่วยหาเส้นทางในการเดินทาง ฯลฯ
รวมถึงการทำงานก็จะคิดถึงอาชีพที่แตกต่างไปจากอาชีพเก่าๆ ที่เราคุ้นเคย ดังนั้นพลเมืองโลกที่เรียกว่า Digital Nomad หรือคนที่ทำงานออนไลน์จากที่ใดก็ได้ จะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรุ่นลูกหลานของเรา กับอีกกลุ่มคือ 2.เจ็นเบตา (Gen Bata) ที่จะเริ่มเกิดในปี 2568 ซึ่งจะยิ่งฉลาดขึ้นไปอีก คำถามคือ เราจะอยู่ร่วมกันระหว่างรุ่น ที่มีตั้งแต่เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) เจ็นเอ็กซ์ (Gen X) เจ็นวาย (Gen Y) เจ็นแซด (Gen Z) กับเจ็นใหม่ดังกล่าว จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ระบบสื่อสาร การเคลื่อนตัว การใช้ชีวิต จะประสานเชื่อมโยงกันได้อย่างไร
“ในท่ามกลางสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงติดอันดับโลก เราอยู่ท่ามกลางสิ่งที่เรียกว่าจนกระจาย-รวยกระจุก การเข้าไม่ถึง AI (ปัญญาประดิษฐ์) ความเห็นที่แตกต่างกลายเป็นประเด็นทางสังคม สิ่งเหล่านี้ในฐานะท่านทั้งหลายเข้ามาร่วมวง คิดว่าวิทยากรของเราซึ่งมาจากความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา คงจะทำให้เราได้เห็นประเด็นที่เป็นประเด็นห่วงใย และเฝ้ามองว่า ก้าวต่อไปการทำงานของเราที่หน้างานของเราต้องทำร่วมกับเด็ก เราจะมองเขาอย่างไร” มัทนากล่าว
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ในขณะที่กฎหมายข่มขืน กระทำอนาจาร พรากผู้เยาว์ เป็นการกระทำแบบถึงเนื้อถึงตัว แต่ปัจจุบันคนร้ายคุยกับเด็กผ่านกล้อง โน้มน้าวให้เด็กเปลือยกายแล้วถ่ายรูปหรือคลิปวีดีโอไว้ ก่อนใช้เพื่อข่มขู่ให้เด็กออกมาเจอแล้วล่วงละเมิดทางเพศจริงๆ หรือหนักกว่านั้นยังถูกข่มขู่ให้ไปหลอกเพื่อนมาอีก ดังนั้นบนโลกออนไลน์เด็กต้องได้รับความคุ้มครอง
ซึ่งพื้นฐานสิทธิเด็ก 4 ประการ 1.สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ 2.ได้รับการเติบโตพัฒนาไปในทางที่ถูกที่ควร 3.ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอันตรายหรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ อันเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคน และ 4.การมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในสิ่งที่ตนเองเกี่ยวข้อง การที่ต้องมาพูดคุยกันเรื่องนี้ก็เพราะทุกคนอยู่กับดิจิทัล เราไม่พูดแล้วว่าอินเตอร์เน็ตเหมาะกับเด็กเล็กหรือคนทุกคนหรือไม่ แต่จะอยู่กับมันอย่างไร เพราะแม้จะบอกว่าไม่เหมาะหรือมีด้านลบก็ไม่สามารถตัดออกจากชีวิตได้
ทั้งนี้ Children Online: Research and Evidenceระบุความเสี่ยงที่จะมาถึงเด็กใน 4 ช่องทาง 1.เนื้อหา (Content) บนอินเตอร์เน็ตมีทั้งสิ่งผิดกฎหมาย หรือไม่ถึงกับผิดกฎหมายแต่มีความเสี่ยง เช่น สื่อลามกอนาจาร ยาเสพติด การพนัน ข่าวลวง การเลียนแบบพฤติกรรมเสี่ยง การซื้อ-ขายสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น เหล็กดัดฟัน เลนส์ตา
2.การติดต่อ (Contact) มีผู้ใหญ่ที่มีรสนิยมทางเพศกับเด็กอายุน้อยๆ (Pedophile) ซึ่งจะพยายามล่อลวงเด็ก ดังนั้นทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและตัวเด็กเองก็ต้องตระหนักด้วยว่า ข้อมูลออนไลน์ต่างๆ สามารถตกแต่งได้ เช่น อ้างว่าเรียนอยู่ที่นั่น หรืออ้างว่าอายุเท่ากัน ใช้การพูดคุยสร้างความไว้วางใจ (Grooming) 3.พฤติกรรม (Conduct) บางครั้งความเสี่ยงก็มาจากตัวเด็กเอง เช่น เข้าไปยังเว็บไซต์การพนัน ติดเกม เลียนแบบความรุนแรง เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมากๆ ที่ทำให้มิจฉาชีพติดตามเข้ามาได้
และ 4.การทำสัญญา (Contract) เรื่องนี้ไม่เฉพาะแต่เด็ก เพราะทุกคนเมื่อเข้าเว็บไซต์ต้องกรอกข้อมูลลงทะเบียน ต้องให้ความยินยอม คำถามคือข้อมูลเหล่านั้นไปอยู่ที่ใดและปลอดภัยหรือไม่ บางครั้งข้อมูลอาจถูกขายหรือถูกโจรกรรมได้ แล้วก็นำพามิจฉาชีพเข้ามาหา หรือแม้แต่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ-AI) ที่ป้อนแต่ข้อมูลที่เราสนใจ จนท้ายที่สุดก็เชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องจริง
อนึ่ง ในการสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 2565 โดยมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) กรมกิจการเด็กและเยาวชน มีกลุ่มตัวอย่างอายุ 9-18 ปี รวม 31,965 คน พบร้อยละ 81 ใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ร้อยละ 64 ใช้อินเตอร์เน็ตที่บ้าน หรือแม้แต่ไปยังสถานที่ราชการต่างๆ ก็มีอินเตอร์เน็ตฟรีให้ใช้ ตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง แต่การใช้มากก็มีความเสี่ยงมากไปด้วย เช่น มีเด็กประถมถึงร้อยละ 12 ถูกจีบทางออนไลน์
“ยังมีภัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของภัยละเมิดทางเพศ ที่เด็กตอบเองว่าเคยเจอเคยเห็นเคยทำมาแล้ว 47% พบโฆษณาเว็บ Link ต่างๆ เข้าพนันออนไลน์ และในนี้ 7% เคยเล่นพนันออนไลน์แล้ว เด็กที่เล่นพนันตอนนี้อายุต่ำสุดคือ 7 ขวบ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งตอนนี้เราจะเห็นจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าเขาก็เข้าถึงสิ่งเหล่านี้จากโลกออนไลน์แนะนำ มือใหม่งบน้อยควรจะซื้อบุหรี่ไฟฟ้าที่ไหน ราคาเท่าไร เดี๋ยวนี้มี Toy Pod (บุหรี่ไฟฟ้าที่ออกแบบให้มีหน้าตาเหมือนตุ๊กตาหรือของเล่น) มีหลายเรื่องมากที่เด็กโดนละเมิด” ดร.ศรีดา ระบุ
จากนั้นเป็นวงเสวนาหัวข้อ “ทบทวนการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากยุคแอนะล็อกถึงยุคปัญญาประดิษฐ์” ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) มีวิทยากร 5 ท่าน โดย ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า DSI ทำงานในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กมาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายป้องกันและปราบรามการค้ามนุษย์ รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
โดยจุดกำเนิด ณ เวลานั้น DSI มีการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และความร่วมมือทางคดีอาญากับต่างประเทศ ซึ่งภาพที่คิดไว้คือ เรื่องที่ได้รับการประสานน่าจะเป็นคดียาเสพติดหรืออาชญากรรมอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงคือได้รับการประสานงานเรื่องคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กมาเป็นจำนวนมากลำดับต้นๆ ในรูปแบบการท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก (Sex Tourism) และการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารเด็ก ทั้งนี้ ร้อยละ 70 ของเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหายจะไม่เล่าเรื่องให้ใครฟัง
จนกระทั่งในปี 2558 ซึ่งมีการออกกฎหมายว่าด้วยสื่อลามกอนาจารเด็ก (พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2558) ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทยในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถสืบสวนคดีได้ทันทีโดยไม่ต้องรอเด็กให้ปากคำ แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเด็กต้องเรียนออนไลน์ เห็นได้จากพบตัวเลขสถิติเฉพาะแพลตฟอร์มของสหรัฐอเมริกา สูงขึ้นราวร้อยละ 68 ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็ชี้ให้เห็นว่าเหตุใดภัยเรื่องการละเมิดต่อเด็กทางออนไลน์จึงเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ AI ตนเคยพยายามผลักดันเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อ 3-4 ปีก่อน ด้วยหลักคิดว่า ในอนาคตอันใกล้ AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตนก็คิดว่า ในเมื่อคนร้ายยังใช้ AI เพื่อหลอกลวงผู้เสียหาย แล้วเหตุใดเจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้ AI ในการกระชากหน้ากากคนร้าย ทำให้คนร้ายเผยตัวตนออกมาได้มาก ถูกถูกคัดค้านโดยนักวิชาการด้านกฎหมายอาญา ที่บอกว่าผู้เสียหายต้องเป็นคนเท่านั้นไม่ใช่ AI ตามหลักของกฎหมายไทย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ก็คัดค้านเช่นกัน แต่หากมีโอกาสก็จะนำเสนอใหม่ ว่าสิ่งที่ตนพูดไว้เมื่อ 4 ปีก่อน ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
“การล่อลวงเด็ก การชักจูงเด็กไปในทางไม่เหมาะสม การส่งข้อความทางเพศที่ไม่เหมาะสม การขู่กรรโชก กฎหมายประเทศไทยเรายังไปไม่ถึง อันนี้คือการตัดไฟแต่ต้นลม ปรากฎว่าเราต้องมารอให้เด็กถูกคุกคามให้เกิดอันตรายแบบแตะเนื้อต้องตัวก่อน ให้มาถึงเนื้อตัวร่างกายก่อน ถ้าเราคิดถึงขั้นบันไดที่เรากำลังเดินไปถึงจุดสูงสุด คือเด็กถูกกระทำชำเรา บางรายอาจถึงบาดเจ็บหรือล้มตาย เราจะต้องรอให้ถึงบันไดขั้นสุดท้ายตรงนั้นหรือเปล่า แทนที่เราจะสามารถสกัดตั้งแต่คุณไม่ต้องขึ้นบันไดขั้นแรกแล้วมันจบตรงนั้น นี่คือกระบวนการทางกฎหมายที่มันอาจจะยังไปไม่ถึง” ร.ต.อ.เขมชาติกล่าว
พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย รองจเรตำรวจ สำนักงานจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า โทรศัพท์มือถือเป็นประตูไปสู่ได้ทั้งสวรรค์และนรก เราค้นหาอะไรในอินเตอร์เน็ตก็จะได้รับสิ่งนั้นเข้ามา รวมถึงแอปพลิเคชั่นที่มีความสุ่มเสี่ยง เคยไปบรรยายที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง พบว่าเด็กรู้จักแอปฯ เหล่านี้ไปไกลกว่าที่ตนรู้ เช่น มีแอปฯ ที่ให้ผู้หญิงในสภาพโป๊เปลือยมาเต้นโชว์ ตนก็อยากถามว่าคนพัฒนาแอปฯ มีจุดประสงค์อะไร
ดังนั้นควรมีสื่อประชาสัมพันธ์ให้ทางโรงเรียนหรือพ่อแม่ผู้ปกครองรับรู้ว่าหากมีแอปฯ ทำนองนี้อยู่ในโทรศัพท์มือถือของเด็ก ก็เป็นการป้องกันได้ อย่างตนมีลูกสาวอายุ 17 ปี ก็เอาข้อมูลตรงนี้บอกให้ภรรยาช่วยดู และไม่ใช่มีแต่เด็กผู้หญิงที่ตกเป็นหยื่อ แม้แต่ผู้ชายก็มีเช่นกัน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเรื่องนี้แล้วต้องดูสิ่งที่คนร้ายทำกับเหยื่อถึงกับต้องหาเวลาไปบำบัดจิต
ขณะที่เมื่อดูบทบาทของผู้เกี่ยวข้อง หน่วยงานแรกที่ต้องยอมรับว่ามีปัญหาก็คือตำรวจ เช่น พนักงานสอบสวนไม่ยอมรับคดี ในช่วงที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ จ.ชลบุรี มีการขายบริการทางเพศ ซึ่งวันหนึ่งมีหญิงขายบริการมาแจ้งความว่าถูกล่วงละเมิด แต่ร้อยเวรไม่รับแจ้งความเพราะเห็นว่าผู้เสียหายทำงานแบบนั้นอยู่แล้ว จนต้องสั่งตั้งกรรมการสอบสวนไป เพราะจริงอยู่ที่บุคคลนั้นเป็นโสเภณี แต่วันดังกล่าวเขาไม่ได้ทำงาน ไม่ได้อยากมีเพศสัมพันธ์ซึ่งก็ถือเป็นสิทธิ์ นอกจากนั้น การสอบสวนของตำรวจยังมีปัญหาการตั้งคำถามที่เป็นการทำร้ายผู้เสียหายซ้ำ
หน่วยงานต่อมาที่ต้องพูดถึงคือ กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ยอมเปิดรับความเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งตำรวจพยายามอย่างยิ่งที่จะขอเข้าไปพบปะพูดคุยหรือสื่อสารข้อมูลในโรงเรียน เพราะจริงๆ แล้วเด็กที่ถูกละเมิดในโรงเรียน เช่น มีเพศสัมพันธ์แลกกับผลการเรียนเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้ เด็กแต่ละช่วงวัยจะมีพัฒนาการการรับรู้ไม่เหมือนกัน โดยอายุ 8 ปี เป็นช่วงที่เริ่มมีความเสี่ยงถูกล่วงละเมิด ก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์รูปแบบหนึ่ง หรือช่วงอายุ 12-16 ปี ต้องสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง เรื่องเหล่านี้ยังขาดการประชาสัมพันธ์
“เรื่องหนึ่งที่ผมอยากนำเสนอ ขอให้ทุกอาชีพหรือทุกหน่วยอะไรก็แล้วแต่ ตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง ผมว่างานเดินไปได้ ทุกวันนี้ผมบอกตรงๆ เลยว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ ขอใช้คำว่าผู้บังคับบัญชาก็แล้วกัน มองว่าเป็นเรื่องเด็ก เดี๋ยวนี้มาจับละเมิดเด็กเหรอ? ผมก็บอกว่าใช่ แต่ถ้ามาดูในรายละเอียดจริงๆ แล้ว มันยากกว่า ลัก-วิ่ง-ชิง-ปล้น อีกนะ” พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ กล่าว
ดร.ศุภธิดา พรหมพยัคฆ์ กรรมการบริหาร สถาบันเอส เคิร์ฟ อะคาเดมี่ (SCA) และ กรรมการสมาคมสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย (TOSF) กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำวิจิยเรื่องความฉลาดทางดิจิทัล (DQ) ในช่วงปี 2554 โดยประมาณ หากลองคิดในมุมของคนที่อยากเข้ามาทำสิ่งที่ไม่ดีในประเทศไทย จะพบปัจจัยเอื้อต่อการกระทำผิดมากมายตั้งแต่กฎหมายไม่แข็งแรง ไม่มีองค์ความรู้ แม้กระทั่งหน่วยงานการศึกษาก็ยังไม่มีหลักสูตรป้องกันภัย ในขณะที่เวลานั้น ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่คุณภาพของอินเตอร์เน็ตดีมาก จึงถือว่าไทยเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจในการก่อการไม่ดี
จำได้ว่าในเวลานั้นพยายามนำข้อค้นพบไปบอกผู้หลักผู้ใหญ่ กลับถูกห้ามไม่ให้นำเสนอ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนั้นไม่ว่าจะดีหรือร้ายล้วนเล่นกับอารมณ์ของมนุษย์ ในการนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ อย่างผู้สูงอายุหลายคนก็คงไม่ได้อยากจะมาใช้ไลน์ แต่ก็ต้องใช้เพราะกลัวจะไม่ได้ติดต่อพุดคุยกับลูกหลาน ดังนั้นการมีสติอยู่กับตัว ไม่หลงไปกับอารมณ์
แม้แต่ผู้ใหญ่หากลองสำรวจตนเองดูว่าแต่ละวันใช้อินเตอร์เน็ตกันกี่ชั่วโมง โดยในรอบ 10 ปี ไทยไม่เคยหลุดจากกลุ่มประเทศที่ผู้คนใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตสูงมากอันดับต้นๆ ของโลก ขณะที่ตนยังมีโอกาสแนะนำเครื่องมือที่ช่วยในการสอนออนไลน์และการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง ดังนั้นจึงอยู่ที่โจทย์ หลายคนอาจมองว่าเราดูอะไร เข้าถึงอย่างไร แต่สำหรับตนที่อยู่ในองค์กรด้านเทคโนโลยี จะถูกสอนให้ตั้งคำถามว่าเข้าไปเพื่ออะไร แต่หากเด็กยังคิดไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร
ประการต่อมา คนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 9-10 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่ประเทศอย่างเดนมาร์กหรือญี่ปุ่น อยู่ที่ไม่เกิน 5 ชั่วโมงต่อวัน เพราะเราไม่เคยพูดภึงการควบคุม ซึ่งหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย การจะใช้โทรศัพท์มือถือเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในกลุ่มเด็ก ไม่ว่าซื้อเองหรือรัฐแจกให้ มีมาตรการควบคุม เช่น ห้ามใช้ในช่วงดึกเพราะเป็นเวลานอนของเด็ก มีช่องทางติดต่อกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและสามารถติดตามได้กรณีเด็กเข้าเว็บไซต์ที่ไม่พึงประสงค์
“สิ่งที่อยากจะมองก็คือมันต้องสมดุลกันระหว่างคำว่าประเทศเราต้องเดินต่อ แล้วเราก็อยากที่จะให้เยาวชนมีคำว่าสมรรถนะอันประกอบไปด้วย Knowledge (ความรู้) ด้วย Skill (ทักษะ) ซึ่งมันต้องอาศัยการเข้าภึงองค์ความรู้นี้ มีการฝึกนี้ แต่อันสุดท้ายคือการประคับประคองในวัยที่เขายังไม่ได้ อาจจะต้องเป็นบทบาทหน้าที่ของพวกเรา” ดร.ศุภธิดา กล่าว
วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า จริงๆ แล้วอินเตอร์เน็ตหรือเทคโนโลยีมีคุณมาก ทำให้โลกเรากว้างขึ้น เด็กรุ่นใหม่วิสัยทัศน์กว้างขวางขึ้น แต่ก็ทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงตัวเราได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะเด็ก แม้จะมีเติบโตมากับเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีได้คล่อง แต่คนร้ายก็จะหาวิธีล่อลวงหรือทำร้ายเด็ก เช่น หลอกเด็กที่อยากเป็นนางแบบหรือดารา โดยทำให้ดูเหมือนเป็นโมเดลลิง หลอกให้เปิดเผยเนื้อตัวร่างกาย จนถึงนำคลิปที่ถ่ายไว้มาข่มขู่กรรโชกใม่ว่าเพื่อการล่วงละเมิดทางเพศหรือเพื่อเรียกเอาทรัพย์สินเงินทอง
ขณะที่ผู้ตกเป็นเหยื่อไม่ได้มีแต่เด็กโรงเรียนต่างจังหวัดห่างไกล แต่โรงเรียนในเมืองหรือแม้แต่โรงเรียนดังๆ ก็มีเช่นกัน และแม้จะมีหน่วยงานที่ดูแล แต่สิ่งที่พยายามทำคือการสร้างความตระหนักว่าในโลกอินเตอร์เน็ตก็มีพิษภัยอยู่มาก จะต้องระมัดระวังอย่างไรบ้าง อีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามผลักดันกฎหมายเพื่อให้การกระทำเหล่านี้เป็นความผิดและลงโทษผู้กระทำได้ จากที่กฎหมายเดิมมีเฉพาะความผิดที่ต้องถึงเนื้อถึงตัว
“กรรมการสิทธิ์สนใจติดตามเรื่องนี้ แต่เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เข้ามาไม่มาก แต่เราก็คิดว่าการแก้ไขปัญหามันก็ทำได้ทั้งการป้องกันและแก้ปัญหาเชิงระบบ ดังนั้นเห็นด้วยกับการที่จะขับเคลื่อนให้มีกฎหมายในการคุ้มครองเด็กตรงนี้ และกรรมการสิทธิ์ก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ในการที่จะป้องกันและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นและเป็นพิษเป็นภัยน้อยลง” วสันต์ กล่าว
ดร.สุจิตรา แก้วสีนวล อาจารย์ประจำคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้กล่าวว่า หากบอกว่าอินเตอร์เน็ตเป็นได้ทั้งประตูสู่สวรรค์หรือนรก ในความเป็นจริงทั้ง 2 ด้านก็ไม่ได้แยกจากกัน เช่น ในขณะที่ครูสั่งการบ้าน เด็กก็สามารถเห็น Pop Up บางอย่างที่เป็นความเสี่ยง คำถามคืออะไรจะทำให้อยู่และเผชิญกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร เพราะ ณ จุดนั้นไม่มีใครคุ้มครอง กฎหมายเข้าไม่ถึง พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่หวังดีก็เข้าไปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม จากที่เคยทำงานอยู่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก สรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ทำงานด้านสิทธิเด็ก และเป็นที่ปรึกษางานวิจัยที่ตนเคยทำ ได้ให้คำหนึ่งไว้ว่า Cognitive Responsibility หมายถึงกระบวนการรับผิดชอบภายใต้การรู้คิด หากมีกฎหมายมากเกินไปอาจเกิดความกลัว ทั้งที่อินเตอร์เน็ตเป็นโอกาส การเข้าไปจัดการโดยมองว่าเป็นความหวังดี แต่หากควบคุมมาก การเผชิญกับความจริงหรือสถานการณ์ที่เรามองไม่เห็นอีกทั้งมีทั้งดีและร้ายอยู่ด้วยกัน เด็กจะใช้อะไรพัฒนาตนเองหรือพัฒนากระบวนการรู้คิดในการจัดการกับสิ่งเหล่านั้น
ถึงกระนั้น การเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองเผชิญความเสี่ยง ก็ต้องเป็นความเสี่ยงเรารู้ว่าจะสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างไร เช่น เด็กวิ่งแล้วหกล้มแล้วเราเข้าไปอุ้มหรือพยายามปกป้องอยู่ตลอดเวลา เด็กก็จะไม่รู้ว่าจะลุกขึ้นได้อย่างไร ซึ่งการเรียนรู้ที่จะลุกขึ้นยืนต้องใช้ความคิดก่อนว่าจะใช้แขน-ขาส่วนไหนให้ยืนขึ้นได้ เหมือนกับระบบอินเตอร์เน็ตที่เด็กเข้าไป หากมีหลักสูตรหรือห้องเรียนที่สามารถทำให้เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ว่าเมื่อเผชิญกับภัยอันตราย เขาจะจัดการกับมันอย่างไร อีกทั้งวิธีการยังหลากหลายขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่หรือเด็กแต่ละคน
“ความหวังที่สำคัญมากก็คือผู้ใหญ่ที่เอื้ออาทรกับเด็กจริงๆ ในจำนวนครูที่มีจำนวนมาก ที่เรารู้สึกว่าครูอาจจะมีข่าวว่าต้องทำเอกสารทางวิชาการหรือใดๆ แต่เราก็พบว่ามีคุณครูที่เขามีความเมตตากรุณา และบางครั้งเป็นครูยุคใหม่ หรือแม้แต่ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นคนที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีมากเลย แต่ก็เป็นครูรุ่นใหม่ที่สามารถมีความรู้สึกที่อยากเข้าไปช่วยเหลือเด็ก อยากเข้าไปพัฒนาเขา เราพบมากในทุกๆ พื้นที่ จึงอยากจะบอกทุกท่านว่าอย่าหมดหวัง” ดร.สุจิตรา กล่าว
“ความหวังที่สำคัญมากก็คือผู้ใหญ่ที่เอื้ออาทรกับเด็กจริงๆ ในจำนวนครูที่มีจำนวนมาก ที่เรารู้สึกว่าครูอาจจะมีข่าวว่าต้องทำเอกสารทางวิชาการหรือใดๆ แต่เราก็พบว่ามีคุณครูที่เขามีความเมตตากรุณา และบางครั้งเป็นครูยุคใหม่ หรือแม้แต่ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นคนที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีมากเลย แต่ก็เป็นครูรุ่นใหม่ที่สามารถมีความรู้สึกที่อยากเข้าไปช่วยเหลือเด็ก อยากเข้าไปพัฒนาเขา เราพบมากในทุกๆ พื้นที่ จึงอยากจะบอกทุกท่านว่าอย่าหมดหวัง” ดร.สุจิตรา กล่าว
ในช่วงท้าย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวปิดงาน สรุปการเสวนาบนเวทีว่าได้เห็นสภาพปัญหาที่เกี่ยวกับเด็ก ซึ่งอาจเน้นไปที่เรื่องเพศ แต่จริงๆ แล้วการคุกคามเด็กยังมีเรื่องแรงงาน สวัสดิการ ความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม นอกจากความเข้มแข็งของหน่วยงานต่างๆ แล้ว สิ่งที่ต้องสร้างคือวัฒนธรรมที่คิดว่าเด็กเป็นคนที่ต้องได้รับการดูแลไม่ใช่เฉพาะจากครอบครัวหรือโรงเรียนเท่านั้น แต่ต้องจากสังคมทั้งหมด
“สิ่งที่สำคัญที่สุดเรื่องเด็ก นอกเหนือจากการช่วยกันในเรื่องไซเบอร์แล้ว คิดว่าความเอาใจใส่ การเห็นความสำคัญของเด็ก การไม่ได้มองว่าเด็กเป็นสมบัติของตัวเอง จำนวนไม่น้อยครอบครัวละเมิดเด็กเพราะคิดว่าเด็กเป็นสมบัติของตัวเอง เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่ทัศนคติต่อเด็ก แล้วการระวังในเรื่องที่เห็นเด็ก คิดว่าสังคมไทยต้องพัฒนาในเรื่องนี้เยอะ” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว