‘งานออนไลน์รายได้ดี’ เรื่องน่าปวดหัวของ ‘ประกันสังคม’ ถูกมิจฉาชีพแอบอ้างสร้าง ‘ข่าวลวง’ วนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
By : Zhang Taehun
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างจากมิจฉาชีพอยู่บ่อยครั้งจริงๆ ก่อนหน้านี้โคแฟค (ประเทศไทย) ได้เคยเขียนถึงไปแล้วในบทความ “4 ข่าวลวงวนซ้ำ‘มาตรการเยียวยาประชาชนโดยรัฐ’ในสถานการณ์โควิด-19” ว่าด้วย สปส. กับข่าวลวงที่วนมาเรื่อยๆ เรื่องแจกเงินช่วยเหลือประชาชนบ้าง ให้สินเชื่อกับผู้ประกันตนบ้าง แต่นอกจากนั้นยังมีเรื่องของ “การทำงานออนไลน์” ที่มีมิจฉาชีพไปตั้งเพจเฟซบุ๊กให้เหมือนเพจของ สปส. แล้วอ้างว่ารับคนทำงานจากที่บ้าน (Work from Home)
ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ มีการแชร์ภาพโฆษณา “ประกันสังคม เปิดรับพนักงาน part-time คุณแม่อยู่บ้านอยากมีรายรับ ทำได้ที่บ้าน ไม่ต้องเดินทาง 400-1600 ต่อวัน *เพศหญิงพิจารณาพิเศษ” อีกทั้งยังอ้างชื่อหน่วยงาน “ศูนย์สารนิเทศ ฝ่ายข่าว สำนักงานประกันสังคม” ซึ่งก็สามารถฟันธงได้เลยว่า “อย่าหลงเชื่อ” เพราะย้อนไปเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2566 ทาง สปส. ก็ได้ฝากผ่าน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาเตือนเรื่องนี้แล้วครั้งหนึ่ง โดยอ้างถึงภาพเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งระบุข้อความว่า “สำนักงานประกันสังคม สมัครฟรี เปิดรับพนักงาน รับงานอาชีพอิสระ ทำที่บ้านหรือนอกบ้านก็ได้ 350-1200 ต่อวัน เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด” รวมถึงระบุด้านใต้ภาพว่า “ศูนย์สารนิเทศ ฝ่ายข่าว สำนักงานประกันสังคม” ซึ่งในครั้งนั้นมีคำชี้แจงว่า
4“จากกรณีประเด็นการประกาศรับสมัครงานโดยระบุว่า สำนักงานประกันสังคม รับสมัครพนักงาน ทำงานที่บ้าน รายได้ 400 – 900 บาทต่อวัน และเปิดรับสมัครพนักงานอาชีพอิสระ รายได้ 350 – 1,200 บาทต่อวันนั้น ทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า สำนักงานประกันสังคมไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่การประชาสัมพันธ์ อีกทั้งก็ไม่มีการเปิดรับสมัครงานตามที่กล่าวอ้าง ข้อมูลดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสำนักงานประกันสังคมทั้งสิ้น เป็นการกระทำชวนเชื่อของมิจฉาชีพที่แอบอ้างนำโลโก้ของสำนักงานประกันสังคมไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต”
ก่อนหน้านั้น 2 วัน ในวันที่ 10 มี.ค. 2566 บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้ออกมาเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้นำตราสัญลักษณ์ หรือ โลโก้ สำนักงานประกันสังคม นำไปใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชนหลงเชื่อและแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ เช่น ประกันสังคมรับสมัครงานโครงการ WFH การันตีรายได้ ส่งข้อความเพื่อตรวจสอบสิทธิ์เยียวยาโควิด สิทธิประกันสังคมสร้างรายได้สำหรับคุณแม่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน หรือให้กรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อรับสิทธิประโยชน์ เป็นต้น
นายบุญสงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพบเห็นการชักชวน ทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ในลักษณะดังกล่าว โปรดอย่าหลงเชื่อ เพราะอาจถูกหลอกให้เสียค่าใช้จ่ายในการสมัครงาน หรือหลอกลวงขอข้อมูลส่วนบุคคลและนำไปสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือนำไปสวมตัวตนสมัครแอปพลิเคชันทางการเงิน หรือแม้กระทั่งนำไปหลอกลวงผู้อื่นต่อ ทั้งนี้ “ผู้แอบอ้างจะมีความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” ซึ่งต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
รวมถึง “ความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482” ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายราชการ เว้นแต่หน่วยราชการที่กำหนดเครื่องหมายนั้นจะอนุญาต และ ห้ามมิให้ผู้ใดปลอมหรือเลียนแบบเครื่องหมายราชการ ไม่ว่าจะเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใด ๆ หรือทำให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ ก็ตาม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท
แต่ก็ต้องบอกว่า “ดูเหมือนคำเตือนจะเอาไม่อยู่จริงๆ” เพราะหากลองใส่คำค้นว่า “ประกันสังคม” เข้าไปในฐานข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ จะพบว่ามีข่าวแบบเดียวกันเกิดขึ้นเป็นระยะๆ แม้แต่ขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ในช่วงค่ำของวันที่ 10 เม.ย. 2566 เมื่อลองค้นว่า “ประกันสังคม” ในเว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ก็ยังพบว่ายังมีข้อมูลล่าสุดเรื่องมิจฉาชีพแอบอ้าง สปส. รับสมัครทำงานออนไลน์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2566 หรือ 1 วันก่อนหน้าการเขียนบทความนี้
สำหรับข่าวลวง สปส. รับสมัครทำงานออนไลน์ วันที่ 9 เม.ย. 2566 เป็นเพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่งระบุข้อความว่า “สิทธิ์ประกันสังคม สำหรับคุณแม่อยากมีงานทำหลังลูกน้อยหลับ ยินดีแบ่งปัน 400-1800 ต่อวัน” พร้อมกับภาพผู้หญิงและเด็กมีข้อความประกอบว่า “เลี้ยงอยู่อยู่บ้านอย่างไรมีรายได้หลักแสน/ด. wfh ฟรี-ไม่มีค่าใช้จ่าย” แน่นอนว่าทาง สปส. ยืนยันว่า “ไม่เป็นความจริง” เช่นเคย
ในการค้นหาคำว่าประกันสังคม ณ วันที่ 9 เม.ย. 2566 พบข่าวที่เกี่ยวข้อง 150 เรื่อง “ในช่วง 9 วันแรกของเดือน เมษายน 2566 พบข่าวลวงเรื่อง สปส. รับสมัครคนทำงานออนไลน์ 4 เรื่อง” อาทิ ปกส. ชวนคุณแม่สมัครงานรายได้ 1,800 บาท/วัน (9 เม.ย. 2566) , ประกันสังคมประกาศจ้างงาน WFH วันละ 300 บาท (8 เม.ย. 2566) , ประกันสังคมเปิดโครงการพิเศษสำหรับผู้ที่อยากมีรายได้เพิ่ม (7 เม.ย. 2566) , มาตรการช่วยเหลือจากปกส. จัดโครงการ WFH ทั่วประเทศ รายได้ 450 – 1600 บาท/วัน (2 เม.ย. 2566)
“เดือนมีนาคม 2566 พบ 7 เรื่อง” อาทิ ปกส. รับสมัครงาน รายรับ 700 – 1,500 บาท/วัน (27 มี.ค. 2566) สำนักงานประกันสังคมรับสมัครคนเลี้ยงลูกอยู่บ้าน รายได้เสริม 1200-3200 ต่อวันทำงานเวลาว่าง เวลาทำงาน 10-15 นาที (22 มี.ค. 2566) , สำนักงานประกันสังคมประกาศเปิดรับสมัครงาน 350-1200 บาท/วัน (12 มี.ค. 2566) , สำนักงานประกันสังคมเปิดรับสมัครพนักงาน สำหรับกลุ่มหางานออนไลน์ (11 มี.ค. 2566) , สำนักงานประกันสังคม รับสมัครพนักงาน ไม่จำกัดวุฒิ ไม่ต้องมีประสบการณ์ รายได้ 300-1000 (8 มี.ค. 2566) , สิทธิประกันสังคมสำหรับคุณแม่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน สามารถสร้างรายรับ 1,500 – 3,500 บาท/วัน (6 มี.ค. 2566) , ปกส. จัดโครงการ WFH การันตีรายได้ 300 – 1,500 บาท/วัน (5 มี.ค. 2566) “เดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบ 1 เรื่อง” คือ สำนักงานประกันสังคม รับสมัครพนักงาน รายได้ 400 – 1200 บาทต่อวัน (24 ก.พ. 2566)
ส่วนหน่วยงาน “ศูนย์สารนิเทศ ฝ่ายข่าว สำนักงานประกันสังคม” จากการค้นหา ณ วันที่ 10 เม.ย. 2566 “ไม่พบว่ามีเพจดังกล่าวในระบบของเฟซบุ๊ก” อย่างไรก็ตาม พบเพจชื่อ “ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน” หรือ URL ชื่อ https://www.facebook.com/profile.php?id=100069066824933 ซึ่งเป็น “เพจเผยแพร่ข้อมูลข่าวประชาสัมพันธ์ของ สปส. แต่เพจดังกล่าวไม่มีความเคลื่อนไหวมาหลายปีแล้ว” โดยโพสต์สุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2558
ทั้งนี้ เว็บไซต์ที่ถูกต้องของสำนักงานประกันสังคม คือ https://www.sso.go.th และเมื่อเข้าไปแล้ว ด้านซ้ายของ URL จะมีรูป “แม่กุญแจ” อันเป็นใบรับรองความปลอดภัยหรือเป็นเว็บไซต์จริงของหน่วยงาน ขณะที่เพจเฟซบุ๊กของ สปส. ที่ถูกต้องคือ “สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน – Social Security Office” หรือ https://www.facebook.com/ssofanpage ซึ่งเพจนี้ยังคง update ข้อมูลข่าวสารสม่ำเสมอในปัจจุบัน
โดยสรุป ณ ขณะนี้ ก็คงต้องบอกว่า “เจอข่าวประกันสังคมรับสมัครงานออนไลน์ให้ระวังไว้ก่อนว่าอาจตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ” อย่าหลงเชื่อ (และไม่ต้องแชร์ต่อ) หากมีข้อสงสัยก็ให้สอบถามได้ที่เพจจริงของ สปส. ตามเว็บไซต์และชื่อเพจข้างต้น หรือสอบถามที่หมายเลขโทรศัพท์ 1506 สายด่วนประกันสังคม!!!
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
อ้างอิง
https://blog.cofact.org/special-report-36/ (4 ข่าวลวงวนซ้ำ‘มาตรการเยียวยาประชาชนโดยรัฐ’ในสถานการณ์โควิด-19 : COFACT SPECIAL REPORT #36 : 18 พ.ย. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-สำนักงานประกันสังคมประกาศเปิดรับสมัครงาน/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! สำนักงานประกันสังคมประกาศเปิดรับสมัครงาน : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 12 มี.ค. 2566)
https://www.posttoday.com/business/691637 (“สำนักงานประกันสังคม” เปิด 4 รายชื่อเว็บปลอมหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว : โพสต์ทูเดย์ 10 มี.ค. 2566)
https://www.antifakenewscenter.com/#searchall (ระบบค้นหาข้อมูลข่าวจริง-ข่าวลวง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ปกส-ชวนคุณแม่สมัครงานรายได้-1800-บาท-วัน/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ปกส. ชวนคุณแม่สมัครงานรายได้ 1,800 บาท/วัน : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 9 เม.ย. 2566)