4 ข่าวลวงวนซ้ำ‘มาตรการเยียวยาประชาชนโดยรัฐ’ในสถานการณ์โควิด-19 : COFACT Special Report #36

บทความ
เนื้อหาเป็นจริง

บทความโดย : Zhang Taehun

ย้อนไปเมื่อเดือน ม.ค. 2564 โคแฟคเคยนำเสนอประเด็น “5 ข่าวลวงแชร์วนซ้ำเกี่ยวกับโควิด-19” ซึ่งในเวลานั้นเนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่จากไวรัสที่เพิ่งค้นพบครั้งแรก จึงนำไปสู่ความกังวลและพยายามหาวิธีป้องกันและรักษา ซึ่งหลายวิธีก็ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าใช้ไม่ได้จริง หรือการอ้างแหล่งข่าวคนมีชื่อเสียง บุคคลที่ถูกอ้างถึงก็ยืนยันว่าไม่ได้พูดเรื่องนั้น แต่ในเวลาต่อมา ข่าวลวงเหล่านี้ก็ยังถูกแชร์วนซ้ำอยู่เป็นระยะๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม นอกจากข่าวลวงด้านสุขภาพแล้ว “เศรษฐกิจ” ก็เป็นอีกประเด็นที่มีการแชร์ข่าวลวงแบบวนซ้ำในหลายเรื่อง โดยเฉพาะมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ดังนี้

1.กู้ยืมเงินผ่านแอปฯ เป๋าตัง : ปัจจุบันคนไทยคงคุ้นเคยกับแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่ดำเนินการโดย ธนาคารกรุงไทย เนื่องจากในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพอย่าง “คนละครึ่ง” นั้นใช้งานผ่านแอปฯ ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2565 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ออกมาเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวที่แชร์กันว่า “แอปพลิเคชันเป๋าตัง ให้ยืม 10,000 บาท ผ่อนเดือนละ 217 บาทต่อเดือน” เพราะเป็นข่าวที่ไม่เป็นความจริง

“จากกรณีที่มีผู้โพสต์ในเฟซบุ๊กระบุว่าแอปพลิเคชันเป๋าตัง ให้ยืม 10,000 บาท ผ่อนเดือนละ 217 บาทต่อเดือน ทางธนาคารกรุงไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ ธนาคารไม่มีบริการให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งเป็นการแอบอ้างนำโลโก้ของธนาคารไปใช้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความสับสน และแนบลิงก์สำหรับเพิ่มเพื่อนในไลน์ เพื่อเชิญชวนให้บริการกู้เงิน โดยธนาคารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตามที่แอบอ้างแต่อย่างใด” (คำชี้แจงเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2565)

เชื่อหรือไม่ว่าข่าวทำนองนี้มีมาแล้วหลายครั้ง ไล่ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค. 2564 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ กล่าวถึงการแชร์ข้อมูล “แอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถยืมเงินสดได้ 5,000 บาท ใช้ระยะเวลาอนุมัติเพียง 3 นาที” ว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากทางธนาคารกรุงไทย กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่าธนาคารไม่มีนโยบายให้สินเชื่อ หรือยืมเงินสดผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังแต่อย่างใด 

วันที่ 12 พ.ค. 2564 มาอีกแล้วกับ “แอปพลิเคชันเป๋าตังเปิดช่องทางไลน์ และเพจเฟซบุ๊ก ให้กู้เงินได้ทุกอาชีพ” ซึ่งทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ก็ได้สอบถามไปยัง ธ.กรุงไทย ได้รับคำตอบว่าไม่เป็นความจริงเช่นเคย เนื่องจากธนาคารไม่มีนโยบายให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง และไม่ได้เปิดเพจเฟซบุ๊ก หรือกลุ่ม และ Line Official เพื่อโฆษณาชี้ชวนการขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังแต่อย่างใด วันที่ 9 ส.ค. 2565 หายไปปีกว่าๆ ก็กลับมาอีกแล้วกับข่าวลวงเรื่องกู้เงินผ่านแอปฯ เป๋าตัง คราวนี้แชร์กันว่า “แอปพลิเคชันเป๋าตัง ให้ยืม 100,000 บาท สามารถถอนเงินจาก ATM ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” แน่นอนว่าไม่เป็นความจริงอีกแล้ว และวันที่ 16 ส.ค. 2565 คราวนี้อ้างไปถึง ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (TTB) อีกต่างหาก โดยระบุว่า “แอปเป๋าตัง ร่วมมือกับ TTB ให้ยืม 10,000 บาท ถอนได้เลยที่ ATM” ซึ่งทางธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบแอปฯ ก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าไม่เป็นความจริงและไม่มีนโยบายให้กู้ยืมเงินผ่านแอปฯ เป๋าตังแต่อย่างใด

2.กู้ยืมเงินกับธนาคารออมสินผ่านช่องทางออนไลน์ : แม้จะไม่ได้ดูแลแอปฯ กลางสารพัดประโยชน์แบบเป๋าตัง แต่ด้วยความที่ธนาคารออมสินนั้นเป็นสถาบันการเงินของรัฐเช่นเดียวกับธนาคารกรุงไทย จึงเป็นอีกธนาคารที่เจอข่าวลวงประเภทให้ประชาชนกู้ยืมเงินได้และต้องชี้แจงหลายต่อหลายครั้งว่าไม่เป็นความจริง เช่น ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2565 มีการแชร์ข้อความว่า “ธ. ออมสินปล่อยกู้ 5,000 – 300,000 บาท ผ่านไลน์” ผ่านเพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่ง ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้ชี้แจงดังนี้..

“กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าเพจดังกล่าวไม่ได้เป็นของธนาคาร เนื่องจากธนาคารไม่มีนโยบายให้แอดไลน์ หรือกดลิงก์ที่แนบมากับข้อความเชิญชวนให้กู้เงิน อีกทั้งเพจดังกล่าวยังแอบอ้างใช้สื่อโฆษณาของธนาคาร และตราสัญลักษณ์ของธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้หลงเชื่อว่าธนาคารมีส่วนเกี่ยวข้อง ส่งผลต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของธนาคารออมสิน เป็นการทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้” (คำชี้แจง 27 ส.ค. 2565)

ก่อนหน้านั้นมีข่าวลวงทำนองเดียวกันกับธนาคารออมสิน อาทิ 7 ก.พ. 2565 มีกรณีแชร์ข้อความ “ออมสิน ส่ง SMS ให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอสินเชื่อ GSB จำนวน 60,000 บาท” ซึ่งทางธนาคารได้ชี้แจงว่าไม่เป็นนความจริง โดยข้อความที่ปรากฎนั้น ไม่ใช่ข้อความที่ส่งไปจากธนาคารออมสิน และธนาคารยังพบอีกว่ามีข้อความสั้นหรือ SMS ที่แอบอ้างชื่อธนาคารออมสิน หรือ GSB ส่งข้อความลักษณะเชิญชวนให้คลิกลิงก์กลับส่งไปถึงประชาชนจำนวนมาก ซึ่งธนาคารขอยืนยันว่าไม่ใช่ข้อความที่ส่งไปจากธนาคารออมสิน และธนาคารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งข้อความลักษณะดังกล่าวแต่ประการใด (และข่าวลวงเรื่องออมสินส่ง SMS รับสิทธิ์นี้ก็กลับมาอีกครั้งในวันที่ 28 ต.ค. 2565 แถมคราวนี้เพิ่มจำนวนวงเงินเป็น 1 แสนบาทอีกต่างหาก…แน่นอนว่าก็ไม่เป็นความจริง) , 

นอกจาก SMS แล้ว แอปพลิเคชั่น “MyMo” ของธนาคารออมสิน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกอ้างว่ามีบริการปล่อยสินเชื่อ เช่น วันที่ 10 พ.ค. 2565 มีการกล่าวถึงข้อความที่แชร์กันว่า “ธ. ออมสินปล่อยสินเชื่ออิ่มใจ ผ่านแอปพลิเคชัน MyMo วงเงินสูงสุด 100,000 บาท” ซึ่งทางธนาคารชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เพราะธนาคารออมสินได้ทำการปิดให้บริการยื่นกู้สินเชื่ออิ่มใจไปตั้งแต่เมื่อปลายปี 2564 เนื่องจากได้ปล่อยกู้ครบตามวงเงินของโครงการแล้ว

ข่าวทำนองเดียวกันได้กลับมาอีกครั้งในวันที่ 25 ต.ค. 2565 กับข้อความว่า “ออมสินให้กู้ยืม วงเงิน 15,000 – 300,000 บาท ดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน” โดยเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “Mymo by gsb banking” อีกต่างหาก ซึ่งทาง ธ.ออมสิน ชี้แจงว่า นาคารออมสิน ไม่มีเพจเฟซบุ๊กชื่อ Mymo by gsb banking และเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับธนาคารแต่อย่างใด ซึ่งการนำตราสัญลักษณ์ของธนาคารออมสินไปใช้ประกอบสื่อโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นสร้างความเข้าใจผิดให้กับลูกค้า

แอปพลิเคชั่นไลน์ ยังเป็นอีกช่องทางที่ปัจจุบันองค์กรต่างๆ ใช้เป็นพื้นที่สื่อสารกับประชาชนหรือลูกค้า ทำให้หลายครั้งมีผู้แอบอ้างสร้างบัญชีปลอมของหน่วยงานขึ้นมา เช่น ในวันที่ 31 ส.ค. 2565 ธนาคารออมสิน ชี้แจงเรื่องบัญชีไลน์ “สินเชื่อออมสิน” ซึ่งลงทะเบียนเป็นบัญชีทางการ (Official) เพิ่มความน่าเชื่อถือ แต่ทางธนาคารยืนยันว่า ไลน์ดังกล่าวไม่ใช่ของธนาคารออมสิน ซึ่งทางธนาคารไม่มีไลน์ปล่อยสินเชื่อ และไม่มีนโยบายปล่อยกู้ผ่านไลน์ โดยไลน์ดังกล่าวได้นำภาพตราสัญลักษณ์ธนาคารออมสิน และภาพโลโก้ mymo GSB ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันทางการเงินของธนาคารไปแอบอ้าง โดยไม่ทราบเจตนาการนำไปใช้ ด้วยหวังสร้างความน่าเชื่อถือ หรือมีวัถุประสงค์เป็นอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับธนาคารออมสินแต่อย่างใด

3.รัฐบาลแจกเงินช่วยเหลือประชาชน: ในสถานการณ์โควิด-19 คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง กิจการปิดตัวบ้าง ตกงานบ้าง ในบางครั้งรัฐบาลจึงออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน เช่น “เราไม่ทิ้งกัน” จ่ายเงินสดผ่านบัญชีธนาคาร เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 หรือ “โครงการจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชากรวัยแรงงาน ผ่านกลไกประกันสังคม ทั้ง ม.33 ม.39 และ ม.40” โดยทยอยจ่ายให้แรงงานอาชีพต่างๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564-มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งแรงงานที่ลงทะเบียนและผ่านการตรวจสอบสิทธิ์แล้วจะได้เท่ากันเป็นเงินสดคนละ 5,000 บาท 

ถึงกระนั้น ยังคงมีข่าวลวงเรื่องรัฐบาลแจกเงินเยียวยาตามมาอยู่เป็นระยะๆ อาทิ ในวันที่ 12 พ.ค. 2565 ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (ในขณะนั้น) ต้องออกมาเตือนประชาชนว่า กรณีการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เรื่องผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, 40 ยังมีสิทธิรับเงินเยียวยาจากรัฐบาลอีกคนละ 5,000 บาท และสำนักงานประกันสังคม พร้อมโอนเงินเข้าบัญชีภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 ว่า ในเรื่องดังกล่าว สำนักงานประกันสังคม ขอชี้แจงว่า เป็นข้อมูลเท็จ ผู้ประกันตนอย่าหลงเชื่อเด็ดขาดสำนักงานประกันสังคมไม่มีนโยบายแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท ให้ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, 40 ดังกล่าวแล้ว

“ที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมได้เคยมีโครงการเยียวยาอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบ จากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด,โครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 และโครงการเยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิง และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ได้สิ้นสุดการดำเนินงานตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมาไปแล้ว” (คำชี้แจง 12 พ.ค. 2565)

ข่าวลวงเรื่องประกันสังคมกลับมาอีกครั้งในวันที่ 30 ส.ค. 2565 โดยทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ กล่าวถึงเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า สำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 โพสต์ข้อความระบุว่า ด่วนมาก รัฐบาลแจกเงินคนละ 15,000 บาท เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม กว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อสอบถามไปยังสำนักงานประกันสังคม ได้รับคำยืนยันกลับมาว่าไม่เป็นความจริง เพราะโครงการดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานประกันสังคม อีกทั้งเว็บไซต์ดังกล่าวยังแอบอ้างใช้สื่อโฆษณาของสำนักงานประกันสังคม โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้หลงเชื่อว่าสำนักงานประกันสังคมมีส่วนเกี่ยวข้อง ส่งผลต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของสำนักงานประกันสังคม เป็นการทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้

ในวันที่ 29 ต.ค. 2565 ยังมีข่าวการแชร์ข้อความ ลงทะเบียนรับค่าตอบแทนจากรัฐบาล 50,000 บาท เพื่อช่วยเหลือการว่างงานสำหรับทุกครอบครัว งานนี้ถึงขั้นทางตำรวจต้องออกมาเตือนเอง โดย พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษก ตร. อ้างถึง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ที่สอบถามไปยังสำนักงานประกันสังคม และได้รับการยืนยันว่าไม่เป็นความจริง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอม และผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจัง 

ยังมีอีกข่าวลวงที่ได้รับการยืนยันว่าไม่เป็นความจริงในเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นคือในวันที่ 1 ก.ย. 2565 ทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ออกมาชี้แจงกรณีมีการแชร์ข้อความบนโลกออนไลน์ว่า รัฐบาลแจกเงินคนละ 1,000 – 5,000 บาท สามารถกดเป็นเงินสดใช้ได้ โดยเรื่องดังกล่าวเป็นการแอบอ้างจากผู้ไม่หวังดี ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด 

4.ประกันสังคมให้กู้ยืมเงินได้ : นอกจากจะมีข่าวลวงเรื่องแจกเงินเยียวยาโควิด-19 แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกัน สำนักงานประกันสังคมยังเจอข่าวลวงเรื่องเป็นแหล่งเงินกู้สำหรับประชาชนด้วย โดยทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2565 ว่า มีเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งไปโพสต์ข้อความว่า ประกันสังคมปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ทุกอาชีพ คนละ 60,000 บาท ซึ่งสำนักงานประกันสังคม ยืนยันว่าเป็นการแอบอ้างไม่ใช่เรื่องจริง

ก่อนหน้านั้นในวันที่ 24 พ.ค. 2565 สำนักงานประกันสังคม ชี้แจงกรณีมีเพจเฟซบุ๊กแชร์ข้อมูลว่า ประกันสังคมเปิดโครงการรัฐ ม.40 ปล่อยสินเชื่อผ่อนสบายสูงสุด 36 เดือน ใช้บัตรประชาชนใบเดียวและไม่เช็คเครดิตบูโร ว่าไม่เป็นความจริง สำนักงานประกันสังคมไม่มีโครงการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 แต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเพจดังกล่าว โดยมีแต่เพียงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเท่านั้น

“สำนักงานประกันสังคม ได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 โดยได้ดำเนินการโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานระยะที่ 2 (พ.ศ. 2563 – 2564) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์ดังกล่าว สามารถนำเงินกู้ที่ได้รับจากการขอสินเชื่อไปรักษาการจ้างงานของลูกจ้างในสถานประกอบการ โดยมีเงื่อนไขให้สถานประกอบการรักษาจำนวนผู้ประกันตนให้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุสินเชื่อ” (คำชี้แจง 24 พ.ค. 2565)

ยังมีข่าวเรื่องประกันสังคมปล่อยสินเชื่อแต่เป็นข่าวลวง ถูกเปิดเผยในวันที่ 2 ส.ค. 2565 โดยมีการแชร์ข้อความว่า สำนักงานประกันสังคม ร่วมมือกับเอกชน ให้สินเชื่อเงินก้อน ต้านภัยโควิด ถูกกฎหมาย ให้กู้ 5,000-500,000 บาท อีกทั้งโพสต์ภาพโฆษณาชวนเชื่อด้วยว่า ไม่ต้องไปกู้นอกระบบ ถูกกฎหมายไม่โดนหลอก ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่า การลงทะเบียนดังกล่าวไม่ใช่โครงการของสำนักงานประกันสังคม

แม้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะคลี่คลายลงแล้ว แต่ตราบเท่าที่สภาพเศรษฐกิจยังซบเซาฝืดเคืองอยู่ มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐทั้งทางตรง (แจกเงินเยียวยา) และทางอ้อม (ให้สินเชื่อเงินกู้) เชื่อว่าคงจะยังเป็นความหวังของใครหลายคนต่อไป และแน่นอนว่าย่อมต้องมีผู้อาศัยประโยชน์จากความทุกข์อย่างแบบนี้สร้างข่าวลวงขึ้นมา ซึ่งผลร้ายอย่างเบาๆ ก็คงเป็นการเสียความรู้สึกเพราะตอนหลังรู้ว่าฝันสลายไม่ใช่เรื่องจริง แต่ที่อันตรายกว่านั้นคืออาจถูกล้วงข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว (เช่น ข้อมูลที่นำไปสู่การทำธุรกรรมทางการเงิน) หรือถูกหลอกให้โอนเงิน จนสูญเสียทรัพย์สินได้  ดังนั้นแล้ว “โปรดระวัง” มีสติ “เช็คก่อนเชื่อ (หรือแชร์)” ทุกครั้ง!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://blog.cofact.org/presscofact100164/ (โคแฟค เผย 5 ข่าวลวงโควิดวนซ้ำระบาดรอบใหม่ แนะสังคมร่วมสกัดไวรัสข่าวสารด้วยความจริงร่วม : 11 ม.ค. 2564)

https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1033997 (ข่าวปลอม! แอปพลิเคชันเป๋าตัง ให้ยืม 10,000 บาท ผ่อนเดือนละ 217 บาทต่อเดือน : กรุงเทพธุรกิจ 24 ต.ค. 2565)

https://mgronline.com/factcheck/detail/9640000043541 (ข่าวปลอม! แอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถยืมเงินสดได้ 5,000 บาท ใช้ระยะเวลาอนุมัติเพียง 3 นาที : ผู้จัดการ 6 พ.ค. 2564)

https://www.antifakenewscenter.com/การเงิน-หุ้น/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-แอปพลิเคชันเป๋าตังเปิดช่องทางไลน์-และเพจเฟซบุ๊ก-ให้กู้เงินได้ทุกอาชีพ/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! แอปพลิเคชันเป๋าตังเปิดช่องทางไลน์ และเพจเฟซบุ๊ก ให้กู้เงินได้ทุกอาชีพ : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 12 พ.ค. 2564)

https://www.antifakenewscenter.com/การเงิน-หุ้น/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-แอปพลิเคชันเป๋าตัง-ให้ยืม-100000-บาท-สามารถถอนเงินจาก-atm-ได้ตลอด-24-ชั่วโมง/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! แอปพลิเคชันเป๋าตัง ให้ยืม 100,000 บาท สามารถถอนเงินจาก ATM ได้ตลอด 24 ชั่วโมง (ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 9 ส.ค. 2565)

https://www.springnews.co.th/news/fact-check/828555 (ข่าวปลอม! แอปฯเป๋าตัง ร่วมมือกับ TTB ให้ยืม 10,000 บาท สามารถถอนเงินจาก ATM ได้ : สปริงนิวส์ 16 ส.ค. 2565)

https://www.antifakenewscenter.com/การเงิน-หุ้น/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ธ-ออมสินปล่อยกู้-5000-300000-บาท-ผ่านไลน์/(ข่าวปลอม อย่าแชร์! ธ. ออมสินปล่อยกู้ 5,000 – 300,000 บาท ผ่านไลน์ : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 27 ส.ค. 2565)

https://www.thaipost.net/economy-news/80354/ (อย่าแชร์! ข่าวปลอม ออมสิน ส่ง SMS ให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอสินเชื่อ GSB จำนวน 60,000 บาท : ไทยโพสต์ 7 ก.พ. 2565)

https://www.antifakenewscenter.com/การเงิน-หุ้น/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ออมสินส่ง-sms-ให้กดรับสิทธิ์จากลิงก์-เพื่อขอสินเชื่อ-gsb-จำนวน-100000-บาท/(ข่าวปลอม อย่าแชร์! ออมสินส่ง SMS ให้กดรับสิทธิ์จากลิงก์ เพื่อขอสินเชื่อ GSB จำนวน 100,000 บาท : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 28 ต.ค. 2565)

https://mgronline.com/factcheck/detail/9650000044234 (ข่าวปลอม! ธ. ออมสินปล่อยสินเชื่ออิ่มใจ ผ่านแอปพลิเคชัน MyMo วงเงินสูงสุด 100,000 บาท : 10 พ.ค. 2564)

https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1034274 (ข่าวปลอม! “ออมสิน” ให้กู้ยืม วงเงิน 15,000 – 300,000 บาท ดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน : กรุงเทพธุรกิจ 25 ต.ค. 2565)

https://www.thansettakij.com/finance/financial-banking/538629 (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ไลน์ Official สินเชื่อธนาคารออมสิน : ฐานเศรษฐกิจ 31 ส.ค. 2565)

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220512193923920 (เตือนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม หยุดแชร์ ผู้ประกันตน ม.33,39,40 รับเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 12 พ.ค. 2565)

https://www.bangkokbiznews.com/news/news_update/1023803 (ข่าวปลอม อย่าแชร์! รัฐบาลอนุมัติ แจกเงินคนละ 15,000 บาท : กรุงเทพธุรกิจ 30 ส.ค. 2565)

https://siamrath.co.th/n/395004 (ข่าวปลอม! ลงทะเบียนรับค่าตอบแทนจากรัฐบาล 50,000 บาท ช่วยเหลือการว่างงาน : สยามรัฐ 29 ต.ค. 2565)

https://www.antifakenewscenter.com/การเงิน-หุ้น/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-รัฐบาลแจกเงินคนละ-1000-5000-บาท-สามารถกดเป็นเงินสดใช้ได้/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! รัฐบาลแจกเงินคนละ 1,000 – 5,000 บาท สามารถกดเป็นเงินสดใช้ได้ : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 1 ก.ย. 2565)

https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ประกันสังคมปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ทุกอาชีพ/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ประกันสังคมปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ทุกอาชีพ : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 3 พ.ย. 2565)

https://mgronline.com/factcheck/detail/9650000049360 (ข่าวปลอม! ประกันสังคมเปิดโครงการรัฐ ม.40 ปล่อยสินเชื่อผ่อนสบายสูงสุด 36 เดือน : ผู้จัดการ 24 พ.ค. 2565)

https://www.antifakenewscenter.com/การเงิน-หุ้น/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-สำนักงานประกันสังคม-ร่วมมือกับเอกชน-ให้สินเชื่อเงินก้อน-ต้านภัยโควิด-ถูกกฎหมาย-ให้กู้-5000-500000-บาท/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! สำนักงานประกันสังคม ร่วมมือกับเอกชน ให้สินเชื่อเงินก้อน ต้านภัยโควิด ถูกกฎหมาย ให้กู้ 5,000 – 500,000 บาท : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 2 ส.ค. 2565