วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกยุคโควิด วารสารศาสตร์แห่งความจริงยิ่งสำคัญ

บทความ

ทุกวันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปีถือเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกหรือ #WorldPressFreedomDay  ที่กำหนดโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) แต่ละปีจะมีการกำหนดวาระที่จะรณรงค์ โดยแต่ละประเทศหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในการจัดสัมมนาใหญ่ ปีนี้แน่นอนต้องงดกิจกรรมรวมตัวแต่ก็มีการรณรงค์ออนไลน์ทั่วโลกนำโดยองค์การสหประชาชาติ องค์การยูเนสโก และ องค์กรสื่อมวลชนทั่วโลก

ปีนี้ทางองค์การยูเนสโก กำหนดธีมวันเสรีภาพสื่อในยุคโรคระบาดโควิด19ว่า   

วารสารศาสตร์ที่ปราศจากความกลัวและความลำเอียง” (Journalism without Fear or Favor)

หมายถึงการเน้นในเรื่องของการรายงานข้อเท็จจริงรวมถึงการสืบค้นหาความจริง

องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นออกมากล่าวในทวิตเตอร์ว่า 

“พยาบาล หมอ และ ข้อเท็จจริง คือผู้ช่วยชีวิต”

ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด โดยสนับสนุนแนวคิดของยูเนสโกที่ว่า ในยุคนี้เราต้องการข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่นเดียวกับเสรีภาพในการทำงานของสื่อในการแสวงหาความจริง

รณรงค์เรื่องการสื่อสารในยุควิกฤตโควิดว่าเราต้องใช้แนวคิดในการตั้งคำถาม

*อย่าปล่อยข่าวลือ * ร่วมค้นหาความจริงด้วยการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารเป็นช่วงเวลาที่ต้องการความจริงเป็นห้วงเวลาของเสรีภาพสื่อในการค้นหาความจริงยิ่งกว่าเดิม

เอกสารเผยแพร่ขององค์การยูเนสโกสรุปประเด็นสำคัญในเรื่องเสรีภาพการแสดงออกและพัฒนาการของสื่อในยุคโควิดไว้ดังนี้1

  1. ข้อมูลลวงด้านโรคระบาดที่อันตรายเกิดขึ้นมาซ้ำเติมปัญหาโรคระบาดให้หนักหน่วงขึ้น
  2. มีองค์กรสื่ออิสระเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวสารลวงที่ท้าทายและจำเป็นมากยิ่งขึ้น
  3. บรรษัทแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียลุกขึ้นมาช่วยแก้ปัญหา แต่สังคมก็เรียกร้องความโปร่งใสในปฏิบัติการมากขึ้น
  4. กฎกติกาของรัฐนำไปสู่มาตการที่กระทบสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น
  5. การทำงานของนักข่าวที่ต้องการเปิดเผยข้อเท็จจริงให้คนรับรู้ ทำให้มีความเสี่ยงต่อชีวิต
  6.  ผลกระทบจากโรคระบาดโควิดในทางเศรษฐกิจอาจส่งผลต่อความอยู่รอดขององค์กรสื่อ
  7. ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้น ยังมีโอกาสในการยืนหยัดของหลักการด้านวารสารศาสตร์

ทีมงานโคแฟค ( Cofact.org ) ขอสรุปความบางส่วนจากเอกสารขององค์การยูเนสโกว่าด้วยด้วยปัญหาข่าวลวงในยุคโรคระบาด และ บทบาทของแพลตฟอร์มในการแก้ปัญหา ดังนี้

ตั้งแต่การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไปเกือบทุกประเทศทั่วโลก การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จก็แพร่เร็วไม่แพ้เชื้อไวรัสเช่นกัน  ข้อมูลลวงเหล่านั้นมีผลต่อเส้นทางการติดเชื้อ ทำให้เกิดความสับสนในการรับมือโรคระบาดระดับโลกของแต่ละสังคมด้วย

ด้วยตระหนักถึงอันตรายนี้ ทางนายอังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ จึงได้ออกมาเตือนว่าการแพร่กระจายของข้อมูลลวงถือเป็นศัตรูใหญ่ในการรับมือกับโรคระบาด เช่นเดียวกับทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ให้คำนิยามโรคระบาดข้อมูลข่าวสารว่าเป็นโรคอันดับสองรองจากโรคระบาดโควิด19 การระบาดของข้อมูลข่าวสารหรือ “Infodemic” (อินโฟเดอมิก)  คือสภาวะความท่วมท้นของข้อมูลที่แพร่กระจายรวดเร็วทั้งจริงบ้างลวงบ้าง ส่งผลให้ผู้คนไม่สามารถหาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือและไว้ใจได้เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องใช้  ดังนั้นหลักการทางวารสารศาสตร์จึงเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้มีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ในยุคโรคระบาดข้อมูลข่าวสารนี้ เพื่อจะต่อสู้กับมายาคติ ข่าวลือทั้งหลาย ป้องกันไม่ให้ข้อมูลลลวงแพร่กระจายต่อไปวงกว้าง

การระบาดของข้อมูลลวง เป็นไปทั้งแบบที่จงใจทำให้เกิดความเข้าใจผิดทั้งกระบวนการผลิตเนื้อหาแล้วเผยแพร่ด้วยเจตนาไม่ดี หรือ การส่งต่อไปด้วยความไม่รู้ของผู้คนที่หลงเชื่อและเข้าใจผิด  อย่างไรก็ตามในบริบทของโรคระบาดโควิดนี้ การเผยแพร่ข้อมูลลวงทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจล้วนส่งผลอันตรายอย่างร้ายแรงเช่นกัน  ด้วยปริมาณที่มากและความเร็วของข้อมูลยิ่งตอกย้ำปัญหาของ “disinfodemic” หรือการบิดเบือนโรคระบาดข่าวสารทั้งแบบจงใจหรือไม่ได้เจตนา 

โดยหลักการแล้วข่าวสารช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ผู้รับสารมีข้อมูล แต่การบิดเบือนข้อมูลในยุคโรคระบาดกลับทำให้เกิดความอ่อนแอลงได้เช่นกัน ส่งผลต่ออันตรายของชีวิต และ ความสับสนอลหม่านของผู้คนได้

เนื่องจากการเก็บสถิติและย้อนค้นข้อมูลการแพร่ของข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนช่วงโรคระบาดยังมีข้อจำกัด แต่ตัวเลขการสำรวจที่มีพบว่าข้อมูลลวงแพร่กระจายไปมากมายทีเดียว   จากการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยนักวิจัยจากมูลนิธิ Bruno Kessler พบว่ามีถึงร้อยละ 40 ของข้อความที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดโควิดแล้วมีการเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์กว่า 112 ล้านโพสต์ 64 ภาษา แต่ไม่มีแหล่งอ้างอิงของข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่นเดียวกับอีกกรณีศึกษาของมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดโควิดพบกว่า กว่าร้อยละ 42 ของ 178 ล้านทวีตที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดนั้นมีการเผยแพร่โดย “บอท” หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์อัตโนมัติและร้อยละ 40 พบว่าข้อมูลนั้นไม่น่าเชื่อถือเลย

การศึกษาของสถาบันรอยเตอร์ (Reuter Institute) ที่สำรวจในจำนวนหกประเทศพบว่าประมาณหนึ่งในสามของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์รายงานว่าได้พบเห็นข้อมูลเท็จ หรือ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ส่วนงานวิจัยของสถาบันพิว (PEW) ในสหรัฐอเมริกาบอกว่าคนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นหลักมีแนวโน้มจะได้รับข้อมูลลวง 

เดือนมีนาคมที่ผ่านมามีข้อมูลพบว่าประมาณ 40 ล้านโพสต์ในเฟซบุ๊คที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดโควิดเป็นปัญหาจริงซึ่งทางเฟซบุ๊กแจ้งว่าได้ลบหลายแสนข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตออกไปแล้ว

ประมาณ 19 ล้านจากเกือบ 50 ล้านทวีต (ราว 38%) ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด ที่วิเคราะห์โดย Blackbird.AI ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์  พบว่าเป็น “เนื้อหาที่มีการจัดการ” (manipulated content)  

องค์กร Newsguard ระบุว่าจำนวน 191 เว็บไซต์ในยุโรปและอเมริกาเหนือที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัส

กลุ่มพันธมิตรตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องไวรัสโคโรน่าหรือ  CoronaVirusFacts Alliance ค้นพบและได้พิสูจน์หักล้างเนื้อหาที่มีข้อมูลเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดถึงมากกว่า 3,500 เรื่อง ในจำนวนกว่า 70 ประเทศที่เผยแพร่มากกว่า 40 ภาษา

ข้อมูลลวงยุคโรคระบาดนี้ยังมาในนามของความกลัวทั้งในแง่การเหยียดเชื้อชาติและความเกลียดชัง  ปัญหาคือไม่ใช่แค่เรื่องปริมาณของข้อมูลเท็จ แต่มาครบทั้งในแง่อารมณ์ความรู้สึกปนเปกับเนื้อหาและข้อเท็จจริงที่เผยแพร่ผ่านบุคคลที่มีอิทธิพลชี้นำความคิดได้ด้วย

บรรษัทแพลทฟอร์มทั้งด้านสื่อสังคมออนไลน์ แอพการพูดคุย หรือ การค้นหาข้อมูล มีส่วนช่วยให้ผู้คนนับพันล้านทั่วโลกค้นพบและแบ่งปันข้อมูลกัน แต่แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อการระบาดของข้อมูลข่าวสารเช่นกัน เพราะรูปแบบธุรกิจของพวกเขาออกแบบมาเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ใช้และรวบรวมข้อมูลสำหรับการโฆษณาให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย จึงทำให้เกิดข้อกังขาถึงการแก้ปัญหาการระบาดข้อข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโฆษณาในแพลตฟอร์ม

อย่างไรก็ตามบรรษัทใหญ่ทั้งหลายด้านการสื่อสารต่างออกมาดำเนินการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและจริงจังกว่าหลายปรากฎการณ์ข่าวลวงก่อนหน้านี้   เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2020 ตัวแทน Facebook, Google, LinkedIn, Microsoft, Reddit, Twitter และ YouTube ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของพวกเขาในการต่อสู้กับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในยุคโรคระบาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ด้วยมาตรการให้แพลตฟอร์มเข้ามาจัดการดูแลเนื้อหามากขึ้น เช่น การลบ การลดการเข้าถึง หรือ การติดป้ายว่าเป็นข้อมูลลวง ผ่านระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนโดยปัญญาประดิษฐ์ ระบบนี้เดิมมีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น แต่บางครั้งก็มีความผิดพลาดในการลบหรือกระทบเนื้อหาที่ถูกต้องหายไปด้วย

นอกจากนั้นบรรษัทด้านไอทีเหล่านี้บอกว่าได้สนับสนุนงบประมาณให้กับสื่อและองค์กรที่ทำงานด้านตรวจสอบข้อมูลข่าวสารและชี้นำผู้ใช้บริการของแพลตฟอร์มไปสู่ข้อมูลด้านสุขภาพอย่างเป็นทางการโดยเฉพาะที่มีการร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศและองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงการแนะนำผู้ใช้ให้เข้าถึงศูนย์ข้อมูลทางการผ่านระบบฟีดข่าวหรือเวลาใช้คำค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เป็นต้น  

ด้านนโยบายการโฆษณา บริษัทแพลตฟอร์มด้านการสื่อสารได้ห้ามโฆษณาที่มีการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด แต่ยังคงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยใช้ระบบการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มกระจายความเท็จเพื่อหาประโยชน์

บริษัทด้านโทรคมนาคมทั่วโลกใช้กว่า 190 มาตรการเพื่อขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตรวมถึงการระงับการจำกัดเพดานการใช้ช้อมูลผ่านเน็ต (data caps) ให้แบนด์วิดธ์เพิ่มเติม การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะด้านสุขภาพได้โดยคิดอัตราเรตศูนย์ และ สนับสนุนการใช้ไวไฟให้กับบุคคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

อย่างไรก็ตามในเอกสารเผยแพร่ขององค์การยูเนสโกตั้งคำถามว่าสิ่งที่แพลทฟอร์มทำนั้นเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากเราไม่มีสถิติที่ครอบคลุมมากพอจากภาคเอกชน จึงยากที่จะประเมินนัยยะสำคัญจากตัวเลขที่บริษัทไอทีชี้แจงออกมาดังนี้คือ

  1. สัดส่วนของข้อมูลลวงกับเนื้อหาและโฆษณาทั้งหมดยังไม่ชัดเจนมากพอ
  2. ขอบเขตของการหมุนเวียนของข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะถูกระบุว่าเป็นเท็จและบทบาทของ “ผู้แพร่กระจายโรคระบาดข้อมูลข่าวสารขั้นรุนแรง” หรือ ‘Super Spreader’ ในห่วงโซ่ของระบบนั้นผู้ให้บริการแพลทฟอร์มยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ
  3. Avaaz เครือข่ายรณรงค์ออนไลน์ พบว่า 41% ของข้อมูลเท็จที่ได้รับความสนใจและตรวจสอบโดยเฟซบุ๊ก ยังคงอยู่ในระบบโดยไม่มีป้ายเตือนอย่างที่เฟซบุ๊กแถลงว่าจะดำเนินการ  ซึ่งใน 65% ของข้อมูลลวงเหล่านี้คือได้รับการตรวจสอบจากองค์กรที่ทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและเป็นพันธมิตรของเฟซบุ๊กด้วยนั่นเอง
  4. สถาบันรอยเตอร์สุ่มตัวอย่างจำนวน 225 ข้อความเท็จในทวิตเตอร์ และพบว่าราว 59% ที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าเป็นเท็จโดยกลุ่มองค์กรที่ทำงานตรวจสอบข่าวจริง (fact checkers)  แต่เนื้อหาเหล่านั้นยังคงปรากฎและเผยแพร่อยู่ในแพลตฟอร์ม  ส่วนใน YouTube คิดเป็น 27% และใน Facebook 24% ของเนื้อหาที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าเป็นข้อมูลลวงแต่ยังคงเผยแพร่อยู่และไม่มีการขึ้นข้อความเตือนแต่อย่างใด
  5. ส่วนการสนับสนุนงบประมาณจากบรรษัทแพลตฟอร์มระดับโลกไปยังองค์กรสื่อมวลชนและหน่วยงานตรวจสอบข่าวลวงในแต่ละประเทศถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเทียบสัดส่วนของรายได้ของบรรษัทแพลตฟอร์มทั้งหลายแล้วถือว่ายังน้อยมาก อีกทั้งบริษัทดังกล่าวไม่ได้ชดเชยการสูญเสียรายได้โฆษณาขององค์กรสื่อในแต่ละประเทศซึ่งลดลงมาตั้งแต่ก่อนหน้าวิกฤติโควิด (เนื่องเพราะรายได้โฆษณาถูกจ่ายตรงไปที่ผู้ให้บริการแพลทฟอร์มระดับโลกนั่นเอง)

นายอังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ บริษัทแพลตฟอร์มด้านโซเชียลมีเดียต้องทำมากขึ้นกว่านี้เพื่อลดทอนความเกลียดชังและกำกับเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อชีวิตผู้คนอันเกี่ยวเนื่องกับโรคระบาดโควิด19  ทั้งนี้ยังคงต้องอยู่ภายใต้บริบทและแนวทางขององค์การสหประชาชาติที่ระบุไว้ในด้านด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน  บริษัทด้านสื่ออินเทอร์เน็ตทั้งหลายควรปรับแนวทางปฏิบัติของพวกเขาให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนโดยต้องธำรงเสรีภาพในการแสดงออกเป็นพื้นฐาน ส่วนข้อยกเว้นในการจำกัดการสื่อสารนั้นต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด

นายเดวิด เคย์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติในด้านเสรีภาพการแสดงออกและความคิดเห็นกล่าวสรุปว่า 

“แพลทฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ควรเป็นเป็นผู้ตัดสินความจริงหนึ่งเดียว แต่พวกเขายังคงสามารถยืนหยัดอย่างชัดเจนในการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่ได้รับการตรวจสอบแล้วทั้งในรูปแบบของเนื้อหา โฆษณา และ บริการค้นหาข้อมูลต่างๆนั่นเอง”

นายเดวิด เคย์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ

Cofact.org ร่วมแสดงเจตจำนงสนับสนุนแนวทางและข้อเสนอขององค์การสหประชาชาติและยูเนสโกในเรื่องดังกล่าวในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปี ค.ศ.2020 พร้อมทั้งทำงานเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมในเมืองไทยร่วมกันตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนในภาวะที่โรคระบาดโควิด19ยังคงดำเนินต่อไป  เพราะเราก็เชื่อมั่นในวารสารศาสตร์แห่งความจริง นั่นคือการไม่เชื่ออะไรโดยง่ายแต่ต้องมีการสืบค้นข้อมูลว่าอะไรจริงอะไรเท็จ เพื่อสุขภาวะร่วมของสังคม   เราทุกคนต้องตั้งสติในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ดังคำขวัญรณรงค์ของยูเนสโกที่ว่า “เราต้องไม่ปิดตา(จากความจริง)เพื่อปกป้องตัวเราเองจากไวรัสข้อมูลข่าวสาร”  (แม้ว่าจะต้องใส่หน้ากากเพื่อปิดจมูกและปากเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนานั่นเอง)


1 Journalism, Press Freedom and COVID19, UNESCO