พบบัญชีผู้ใช้ TikTok เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายก อบจ.

Top Fact Checks Political

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน

โคแฟคตรวจสอบพบบัญชีผู้ใช้แอปพลิเคชัน TikTok เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) โดยล่าสุดเผยแพร่ข้อมูลเท็จว่าผู้สมัครจากพรรคประชาชนชนะการเลือกตั้งนายก อบจ. อุบลราชธานี “อย่างถล่มทลาย” ทั้งที่ในความเป็นจริงการเลือกตั้งนายก อบจ. อุบลราชธานียังไม่เกิดขึ้น

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. อุบลราชธานีในวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 8.00-17.00 น. โดยมีผู้สมัครทั้งหมด 4 คน คือ นายกานต์ กัลป์ตินันท์ (หมายเลข 1) อดีตนายก อบจ. อุบลราชธานี สังกัดพรรคเพื่อไทย, นายสิทธิพล เลาหะวนิช (หมายเลข 2) อดีตรองนายก อบจ. อุบลราชธานี สังกัดพรรคประชาชน, นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล (หมายเลข 3) ผู้สมัครอิสระ และ นายอธิปไตย ศุ้ย ศรีมงคล (หมายเลข 4) ผู้สมัครอิสระ

การเลือกตั้งนายก อบจ. อุบลราชธานี เป็นการแข่งขันที่เข้มข้นและถูกจับตามากที่สุดสนามหนึ่ง ในโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อใกล้ถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งโคแฟคพบบัญชีผู้ใช้ TikTok คนหนึ่งโพสต์คลิปวิดีโอเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งนายก อบจ. อุบลราชธานี มีเนื้อหาโดยสรุปว่า การเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานีได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ผลคือผู้สมัครจากพรรคประชาชนชนะผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยแบบขาดลอย

เมื่อตรวจสอบย้อนหลัง โคแฟคยังพบวิดีโอของผู้ใช้บัญชี TikTok รายนี้ เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย เช่น พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และอุดรธานี

โคแฟคตรวจสอบ

บัญชี TikTok นี้ใช้ชื่อว่า “พี่กันต์ นักปั่นทีมชาติ(หน้า)” มีผู้ติดตามมากกว่า 61,000 คน คลิปวิดีโอส่วนใหญมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองไทยและการขายสินค้าประเภทอาหารเสริม

วิดีโอที่มีเนื้อหาเท็จเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี มีความยาว 1.07 นาที เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 มียอดเข้าชมมากกว่า 666,000 ครั้ง (archived link ที่นี่) มีคนเข้ามาคอมเมนต์เกือบ 1,800 ครั้ง กดถูกใจกว่า 24,000 ครั้ง และแชร์ต่อเกือบ 600 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2567)

วิดีโอที่โพสต์ในแอปพลิเคชัน TikTok เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ระบุเนื้อหาเท็จเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี

โพสต์นี้มีข้อความแทรกในคลิปและเขียนคำบรรยายว่า “ช้างล้ม ส้มชนะ” ติดแฮชแทก #อบจอุบลราชธานี ผู้ใช้ TikTok รายนี้กล่าวในคลิปช่วงหนึ่งว่า “ขอแสดงความยินดีกับคนอุบลด้วยนะครับ เพราะว่าผลเลือกตั้ง อบจ. ออกมาแล้ว ตอนนี้ได้นับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว พรรคประชาชนเบอร์ 37 ชนะถล่มทลาย ได้ถึง 7 แสนคะแนน คู่แข่งได้แค่ 3-4 พันเอง ขอบคุณคู่แข่งที่เห็นค่าของผู้สมัครพรรคประชาชน…คนอุบลตาสว่างกันหมดแล้ว ดีใจกับด้อมส้มด้วย เขาเรียกว่า ช้างล้มส้มชนะ”

เนื้อหาดังกล่าวเป็นเท็จ ทั้งในส่วนของข้อมูลหมายเลขผู้สมัครของพรรคประชาชน ซึ่งที่ถูกต้องคือหมายเลข 2 ไม่ใช่หมายเลข 37 และผลการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น

เมื่อมีผู้เข้ามาทักท้วงว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง หรือมีคนแสดงความเห็นในลักษณะที่เชื่อว่าเป็นผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานีจริง เจ้าของคลิปปฏิเสธที่จะลบหรือแก้ไขเนื้อหาโดยอ้างว่าเขาได้ “เฉลย” ด้วยท่าทางในตอนท้ายคลิปแล้วว่าสิ่งที่เขาพูดมานั้นเป็น “ฝันกลางวัน” ถ้าดูจนจบก็จะรู้ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นไม่ใช่เรื่องจริง และตำหนิคนที่หลงเชื่อว่าเป็นเพราะไม่ยอมดูคลิปให้จบ   

หลายเนื้อหาเท็จเลือกตั้งนายก อบจ.

ก่อนหน้านี้ ผู้ใช้ TikTok รายนี้ได้โพสต์คลิปวิดีโอที่ให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายก อบจ. มาแล้วหลายครั้ง วิดีโอเหล่านี้ วิดีโอเหล่านี้ยังคงเข้าถึงได้ ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2567

  • วันที่ 18 ธันวาคม 2567 เผยแพร่วิดีโอที่มีเนื้อหาเท็จระบุว่า นายอัครเดช ทองใจสด ซึ่งเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งนายก อบจ. เพชรบูรณ์ เป็นผู้สมัครสังกัดพรรคประชาชน ได้คะแนน 7 แสนกว่าคะแนน พร้อมกับเขียนคำบรรยายว่า “ดีใจพรรคส้มของเราชนะ อบจ เพชรบูรณ์ ขาดลอย นำคู่แข่งหลายแสน” โดยพูดสั้น ๆ ในตอนท้ายคลิปว่า เขาเข้าใจผิดว่านายอัครเดชสังกัดพรรคประชาชน (จำนวนการเข้าชม 61.8 หมื่นครั้ง)

ความจริง: การเลือกตั้งนายก อบจ.เพชรบูรณ์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2567 มีผู้ลงสมัคร 3 คน ผู้ชนะคือนายอัครเดช ทองใจสด หมายเลข 1 อดีตนายก อบจ.เพชรบูรณ์ 6 สมัย เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่ได้สังกัดพรรคประชาชน โดยได้คะแนน 263,545 คะแนน

  • วันที่ 3 ธันวาคม 2567 เผยแพร่วิดีโอความยาว 1.10 นาที มีเนื้อหาเท็จที่ระบุว่า ผู้สมัครพรรคประชาชนชนะการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แบบขาดลอย (จำนวนการเข้าชม 159.4 แสนครั้ง)

ความจริง: การเลือกตั้งนายก อบจ. อุดรธานี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ผู้ชนะคือ นายศราวุธ เพชรพนมพร สังกัดพรรคเพื่อไทย ส่วนนายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครสังกัดพรรคประชาชนได้คะแนนเป็นอันดับ 2

  • วันที่ 2 ธันวาคม 2567 เผยแพร่วิดีโอความยาว 1.01 นาที มีเนื้อหาเท็จว่า ผู้สมัครหมายเลข 2 ซึ่งสังกัดพรรคประชาชนหรือ “พรรคส้ม” ชนะการเลือกตั้งนายก อบจ. กำแพงเพชร (จำนวนการเข้าชม 149.7 แสนครั้ง)

ความจริง: การเลือกตั้งนายก อบจ. กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 มีผู้สมัคร 2 คน ผู้ชนะคือ ผู้สมัครหมายเลข 1 นายสุนทร รัตนากร สังกัดพรรคเพื่อไทย ส่วนผู้สมัครหมายเลข 2 นายธานันท์ หล่าวเจริญ ได้คะแนนเป็นอันดับ 2

  • วันที่ 19 สิงหาคม 2567 เผยแพร่วิดีโอความยาว 0.43 นาที มีเนื้อหาเท็จว่า นางสิริพรรณ คุณประจักษ์นุกูล ผู้สมัครหมายเลข 3 สังกัดพรรคประชาชน ชนะการเลือกตั้งนายก อบจ. พิษณุโลก (จำนวนการเข้าชม 572.1 แสนครั้ง)

ความจริง: การเลือกตั้งนายก อบจ. พิษณุโลก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 มีผู้สมัคร 3 คน ผู้ชนะคือ นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ผู้สมัครหมายเลข 1 ส่วนนางสิริพรรณ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ได้คะแนนเป็นอันดับ 2

เป็นที่น่าสังเกตว่า วิดีโอที่มีเนื้อหาว่าด้วยผลการเลือกตั้งนายก อบจ. โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัครสังกัดพรรคประชาชน มีจำนวนการเข้าชมสูงมากกว่าวิดีโออื่น ๆ มาก คือมีการเข้าชมหลายแสนครั้ง เทียบกับวิดีโออื่น ๆ ที่มีการเข้าชมหลักพันหรือหลักหมื่น ซึ่งอาจเป็นเหตุจูงใจที่ทำให้บัญชีผู้ใช้ TikTok รายนี้ เผยแพร่เนื้อหาลักษณะนี้บ่อยครั้ง   

กกต.เตือนผิด พ.ร.บ.เลือกตั้งและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ร.ต.อ.ชนินทร์  น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. และสำนักกฎหมาย กกต. ให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า การเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 65 (5) ที่ห้ามผู้ใดหลอกลวง ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครใด และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการการะทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ข้อสรุปโคแฟค

การเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับตัวผู้สมัครและผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและส่งผลต่อคะแนนนิยมของผู้สมัคร การรายงานผลการเลือกตั้งเท็จทั้งที่การเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น เช่น กรณีการเลือกตั้งนายก อบจ. อุบลราชธานี อาจทำให้บางคนคิดว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นไปแล้ว จึงไม่ไปลงคะแนน เป็นต้น ขณะที่การรายงานผลการเลือกตั้งที่เป็นเท็จทำให้เกิดความสับสนในระยะยาว

แม้ว่าช่วงท้ายวิดีโอ ผู้พูดจะแสดงท่าทางหรือใช้คำพูดเพื่อ “เฉลย” ว่าสิ่งที่เขากล่าวมาทั้งหมดเป็นการล้อเล่น ไม่ใช่เรื่องจริง แต่ข้อความหรือท่าทางที่สื่อสารนั้นไม่มีความชัดเจน และธรรมชาติของผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่ใช้เวลาสั้น ๆ ในการชมเนื้อหา บ่อยครั้งไม่ได้ดูวิดีโอจนจบ อีกทั้งองค์ประกอบอื่น ๆ ของเนื้อหา เช่น ข้อความแทรกในคลิป คำบรรยาย และแฮชแท็กอาจทำให้มีคนหลงเชื่อว่าเป็นข้อมูลจริง ผู้ใช้บัญชี TikTok รวมทั้งผู้ติดตามบางส่วนอาจมองว่า เนื้อหาที่เผยแพร่เป็นการล้อหรือประชดเพื่อความบันเทิง แต่การล้อเลียน เสียดสีด้วยข้อมูลเท็จ จัดว่าเป็นข่าวลวง (disinformation) ประเภทหนึ่ง ยิ่งในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง สถานการณ์มีความเปราะบางล่อแหลม ข้อมูลเท็จใด ๆ อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งมากกว่าที่คาดคิด ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจึงควรหยุดเผยแพร่เนื้อหาเท็จ และประชาชนควรพิจารณาเนื้อหาต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ. ซึ่งจะจัดขึ้นหลายจังหวัดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ