ทำไมสื่อต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่น(Trust in Media)ในหลักวารสารศาสตร์
บทความนักคิดดิจิทัล
ทำไมสื่อต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่น(Trust in Media)ในหลักวารสารศาสตร์
ผู้เขียน กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ อดีตสื่อมวลชน ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย)
- รายงานขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติว่าหรือUNESCOเกี่ยวกับแนวโน้มของเสรีภาพในการแสดงออกเมื่อเดือนมีนาคมปี 2565 ได้ออกมาระบุว่าสื่อสังคมออนไลน์กำลังเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่รายงานข่าวหรือสำนักข่าวในปัจจุบัน โดยได้ถูกสื่อสังคมออนไลน์ และอัลกอริทึมช่วงชิงบทบาทในการเป็นผู้คัดกรองข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้สถิติรายได้ของสำนักข่าวต่าง ๆ ทั่วโลกได้ลดลงกว่าครึ่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่กูเกิ้ล (Google) และเมตา (ชื่อใหม่ของFACEBOOK) ได้รับสัดส่วนงบโฆษณาสื่อดิจิตอลไปเกือบครึ่ง ทาง UNESCO ยังได้ออกมาเตือนด้วยว่าโมเดลทางธุรกิจของสำนักข่าวในปัจจุบันทำให้สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนโดยได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะจากการที่สำนักข่าวต่าง ๆ มุ่งสร้างรายได้โฆษณาจากยอดคลิกหรือยอดคนอ่านจำนวนมากกว่าคุณภาพ
- รายงาน Edelman Trust Barometer 2022 ก็ได้ระบุแนวโน้มที่สอดคล้องกัน โดยจากการสำรวจความเห็นของประชาชนผ่านการสัมภาษณ์ออนไลน์ ใน 28 ประเทศ กว่า 36,000 คน พบว่า ความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาลและสื่อมวลชนที่ลดลงเป็นปัจจัยสำคัญพอๆกันที่ทำให้สังคมแตกแยกและติดอยู่ในวังวนของความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยที่ทั้งรัฐบาลและสื่อได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนและความแตกแยกที่เกิดขึ้นนั้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจ
- สงครามข้อมูลข่าวสารที่ปะทุขึ้นและเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน และการบิดกั้นข้อมูลข่าวสารจากคู่กรณีในสงครามรัสเซียยูเครนที่ผ่านมากว่า 2 เดือน ถือเป็นแนวรบที่ 4 นอกเหนือจากสงครามทางกายภาพ สงครามเศรษฐกิจและสงครามทางการทูตในเวทีระหว่างประเทศ ในสงครามเย็นยุค 4.0 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของวารศาสตร์ที่มีหลักการมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านแก่คนในสังคมต่อประเด็นการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กรณีของสังคมไทยเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือถูกปั่นกระแสเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความแยกในสังคมที่มีความขัดแย้งสูงอยู่แล้วให้รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่บรรยากาศทางการเมืองกำลังร้อนแรงขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นต้นปี พ.ศ. 2566 และย่อมส่งผลกระทบต่อการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยในการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ APEC Summit ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565 ซึ่งจะมีผู้นำจากสมาชิกเอเปค 22 ประเทศ รวมถึงสหรัฐ รัสเซียและจีน และสหภาพยุโรป เข้าร่วมการประชุม
Trust Media Project และความเคลื่อนไหวในของสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ความไว้วางใจมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่สับสนอันเกิดจากข้อมูลลวงและบิดเบือน วารสารศาสตร์ที่มีหลักการต้องก้าวออกมายืนอยู่แถวหน้าเพื่อเรียกความไว้วางใจจากสาธารณชนกลับคืนมา”
Trust Media Project เป็นความพยายามที่ริเริ่มโดย Sally Lehrman อดีตผู้สื่อข่าวสายวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ได้รับรางวัลด้านวารสารศาสตร์มากมายจากสถาบันวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชนขั้นนำในสหรัฐ และกลุ่มบรรณาธิการของสำนักข่าวแถวหน้าในตะวันตกที่ต้องการจะกู้ศรัทธาต่อบทบาทสื่อมวลชนกลับคืนมา ท่ามกลางความท่วมท้นและสับสนของข้อมูลข่าวสารที่เต็มไปเนื้อหาที่เป็นเท็จ หลอกลวงและเข้าถึงได้ง่ายผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ (หลังจากถูกกระแสโจมตีลดทอนความน่าชื่อถือจากวาทกรรม Fake News ที่สร้างขึ้นโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ และ ผลกระทบสำคัญจากข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนอันส่งผลให้อังกฤษตัดสินใจออกจากประชาคมยุโรป)
โดยเบื้องต้น คณะทำงานซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็น consortium หรือภาคีความร่วมมือของหลายภาคส่วน ได้รวบรวมคำตอบจากผู้ทำแบบสอบถามทั่วโลกว่าอะไรทำให้พวกเขาไว้วางใจหรือไม่ไว้ใจสื่อมวลชน โดยนำผลสำรวจเหล่านั้นมาประเมินและสรุปเป็นตัวชี้วัด 8 ประการ (ดูรายละเอียดในหน้าสาม) ที่ทำให้สื่อมีความน่าเชื่อถือ องค์กรสื่อที่เป็นภาคีจะต้องแสดงตัวชี้วัดเหล่านี้บนหน้าแรกของเว็ปหรือข่าวที่ตีพิมพ์
หลังจากเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 ได้มีการจัดทำแบบสำรวจความเห็นโดย Reach Plc ซึ่งเป็นสำนักสำรวจความเห็นของศูนย์การสร้างการมีส่วนร่วมในการสื่อสารของมหาวิทยาลัย Austin และผลสำรวจพบว่าผู้อ่านมีความไว้วางใจ The Mirror เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 8 รวมทั้งความไว้วางใจใจตัวผู้สื่อข่าวและแหล่งข่าวก็เพิ่มขึ้นในอัตราไล่เลี่ยกัน
ปัจจุบัน Trust Media Project มีเครือข่ายสำนักข่าวอยู่กว่า 200 แห่งทั่วโลก เช่น BBC, The Mirror, The Globe and Mail, DPA, La Republica, The Economist, Washington Post, Frontline, Toronto Start, CBA-Radio Canada, La Prensa, และ elPeriodico เป็นต้น ในทวีปเอเชียมีเพียงแห่งเดียวคือ South China Morning Post
ทาง Google, Facebook, Twitter และ Bing ได้แสดงเจตจำนงค์ที่จะให้ความร่วมมือผลักดันให้ตัวชี้วัดเหล่านี้ปรากฎอยู่บนข่าวที่คนดูเข้าไปดูหรือค้นหามากขึ้น
ต่อมาในปี 2563 ทาง BBC ก็ได้สร้างแนวร่วมในทำนองเดียวกันชื่อ Trusted News Initiative (TNI) เพื่อต่อต้านข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนในช่วงเริ่มต้นการระบาดของโควิด19 และ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี2563 นอกจากจะมีสำนักข่าวใหญ่ที่มีชื่อเสียงทั่วโลกและองค์กรเอ็นจีโอที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนมาเข้าร่วมเพิ่มมากขี้นแล้ว เช่น New York Times, Reuters, The Financial Times, The Wall Street Journal และ First Draft ยังกระชับความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีสื่อสารสารสนเทศอย่าง Google/Youtube และ Microsoft ในการสร้างระบบ Project Origin เพื่อแจ้งเตือนข้อมูลบิดเบือนหรือข้อมูลลวง โดยร่วมมือกันค้นหาต้นตอของข้อมูลที่บิดเบือนและแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง พร้อมกับการกำกับว่าเนื้อหาหรือข่าวใดเป็นเท็จหรือไม่มีความน่าเชื่อถือ
ส่วนความร่วมมือของสื่อมวลชน กับภาคประชาสังคมและบริษัทเทคโนโลยีการสื่อสารสารสนเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นรูปธรรมและเข้มข้น เริ่มจากการรวมตัวขององค์กรต่อต้านข้อมูลบิดเบือน อย่างเช่น Mafindo และสำนักข่าวต่างๆในประเทศอินโดนีเซียเพื่อต่อต้านข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนทั่วไป และ ช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2561 และก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Vera Files และ Rappler ก็ได้ริเริ่มโครงการต่อต้านข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนในฟิลิปปินส์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และล่าสุด สื่อมวลชนในฟิลิปปินส์ได้ร่วมมือกับภาคประชาสังคม FactsFirstPH เพื่อเตรียมต่อสู้กับสงครามข้อมูลข่าวสารก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม ศกนี้ สำหรับในประเทศไทย ความตื่นตัวในเรื่องการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนเริ่มจากช่วงสงครามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยมีภาคประชาสังคมเป็นแกนหลัก Cofact Thailand ส่วนสื่อมวลชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในภายหลังแต่ยังอยู่ในวงจำกัด
8 ตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือในสื่อมวลชน
- ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจและมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ (Best Practices)
- ความเชี่ยวชาญและความเป็นมืออาชีพของผู้สื่อข่าว ต้องเปิดเผยชื่อ ประวัติและความเชี่ยวชาญ ผลงานที่ผ่านมา (Journalist Expertise)
- ระบุประเภทของเนื้อหาข่าวให้ชัดเจน โดยแยกให้ชัดว่าเป็นรายงานข่าว บทความแสดงความคิดเห็น บทวิเคราะห์หรือบทความที่มีสปอนเซอร์ (Type of Work)
- ระบุแหล่งที่มาของข้อมูลในข่าว ในกรณี ข่าวสืบสวนสอบสวน หรือข่าวที่มีข้อถกเถียง ต้องระบุแหล่งข้อมูลตั้งต้นทีมาของข้อเท็จจริงและข้อโต้แย้งต่าง ๆ ที่อ้างอิงในข่าวหรือรายงานชิ้นนั้น (Citations and References)
- อธิบายกระบวนการทำข่าว เช่น ทำไมข่าวชิ้นนี้ถึงสำคัญ ถ้าเป็นข่าวสืบสวนสอบสวน หรือข่าวที่มีข้อโต้แย้ง ต้องระบุสาเหตุที่ติดตามข่าวนี้ ( Methods)
- เป็นข่าวที่ผู้สื่อข่าวรายงานมาจากท้องที่ ผู้สื่อข่าวมีความรู้เกี่ยวกับพื้นที่นั้น และมีข้อมูลเชิงลึกของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือพื้นที่นั้น ๆ (Locally Sourced)
- แสดงถึงความพยายามและมุ่งมั่นของกองบรรณาธิการที่จะนำเสนอข่าวรอบด้านในสังคมโดยให้ความสำคัญกับเสียง บทบาทหน้าที่และสถานะของคนทุกเพศ ทุกวัยและกลุ่มในสังคมอย่างเท่าเทียม (Diverse Voices)
- ให้พื้นที่ผู้อ่านในการโต้แย้ง เสนอแนะความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงงานข่าวในเชิงประเด็นที่ตอบโจทย์สังคมและให้มีคุณภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ (Actionable Feedback)
ในยุคที่ สื่อมวลชนตกอยู่ในวงล้อมดิจิทัล (Journalism under Digital Siege) หลักวารสารศาสตร์แห่งความจริงยิ่งสำคัญ โดยเฉพาะ วารสารศาสตร์ที่ปราศจากความเกรงกลัว และ ความลำเอียง (Journalism without Fear or Favor) ในการนำเสนอข้อเท็จจริง แม้จะเป็นสิ่งที่เป็นอุดมคติมาก แต่ก็เป็นภารกิจที่จำเป็นและท้าทายยิ่งในการธำรงหลักการความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนไม่ใช่เสื่อมถอยไปตามแรงบีบรัดทางเศรษฐกิจการเมืองและเทคโนโลยีดิจิทัล