ไขข้อข้องใจ “เราชนะ” ปรับกรอบโครงการ ไม่เปิดลงทะเบียนเพิ่ม
ภายหลังจากเกิดความสับสนถึงการดำเนินโครงการ “เราชนะ” หรือโครงการเยียวยาผู้ที่ได้รับจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านการจัดสรรเงินให้ผู้ได้รับสิทธิ์คนละ 7,000 บาท ซึ่งล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 เม..ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ขยายจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการอีก 2.4 ล้านคน พร้อมกับขยายวงเงิน เพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาท จนทำให้เกิดความเข้าใจว่า การขยายรายละเอียดโครงการครั้งนี้ รัฐบาลจะเปิดให้คนเข้ามาลงทะเบียนรับสิทธิ์ใหม่ใช่หรือไม่
กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ TJA&Cofact ได้ทำการตรวจสอบรายละเอียดของโครงการ ตามเอกสารของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่องผลการพิจารณาของ คกง. ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2564 และครั้งที่ 12/2564 ลงวันที่ 20 เม.ย.2564 พบว่า กรณีนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเท่านั้น นั่นคือ
เห็นชอบให้ขยายกลุ่มเป้าหมายและกรอบวงเงินของโครงการ จากเดิมกำหนดกลุ่มเป้าหมายเอาไว้ จำนวน 31.1 ล้านคน ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นการกำหนดกลุ่มเป้าหมายจำนวน 33.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคน ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 213,242 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาท พร้อมทั้งขยายเวลาการใช้จ่ายเงินจากสิ้นสุดในเดือนพ.ค.64 เป็นสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.64
เหตุผลสำคัญของการขยายเป้าหมาย วงเงิน และระยะเวลาออกไปนั้น ก็เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน/เข้าไม่ถึงระบบอินเตอร์เน็ต ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียน หรือเดินทางไปใช้จ่ายวงเงินที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ได้ รวมทั้งผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ เนื่องจากข้อมูลไม่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ขยายเวลาลงทะเบียนสำหรับคนกลุ่มนี้ถึงวันที่ 9 เม.ย.64
ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการมาเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ข้อมูล ณ วันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ได้รับสิทธิ์โครงการเราชนะแล้ว 33,126,355 คน เกินกว่ากลุ่มเป้าหมายเดิมที่ครม.อนุมัติไว้ 31.3 ล้านคน และปัจจุบันโครงการยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมีประชาชนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบคัดกรองข้อมูลอีก 8.6 หมื่นคน และยังเปิดรับลงทะเบียนในกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษอีก ดังนั้นจึงอาจมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเสนอที่ประชุมครม.เพื่อขยายรายละเอียดของโครงการออกมาให้รองรับคนกลุ่มนี้ โดยไม่ใช่การเปิดให้ลงทะเบียนใหม่
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า กรณีนี้ไม่ได้มีการเปิดรับสมัครลงทะเบียนเพิ่ม และปัจจุบันโครงการก็ได้ปิดรับลงทะเบียนไปแล้ว โดยจำนวน 2.4 ล้านคนที่ ครม.เห็นชอบ เป็นการอนุมัติในขั้นตอนของการใช้งบประมาณ เนื่องจากเมื่อมีการลงทะเบียนจริง พบว่า มีผู้สามารถรับสิทธิได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงต้องเสนอขอให้ขยายรายละเอียดโครงการ โดยเฉพาะการจัดสรรวงเงินเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น
สำหรับความคืบหน้าของโครงการเราชนะ ณ วันที่ 21 เม.ย.2564 มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการแล้ว รวมทั้งสิ้น 32.8 ล้านคน แบ่งเป็น 1.ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา 73,254 ล้านบาท 2. ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปฯ เป๋าตัง ในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และคนละครึ่ง และผู้ที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ .com ที่ได้รับสิทธิ์ 16.8 ล้านคน และ3. ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว 2.3 ล้านคน
ส่วนโครงการอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งโครงการที่เน้นการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น โครงการ “คนละครึ่ง” ที่ผ่านมาได้สิ้นสุดโครงการไปแล้ว 2 ระยะ ล่าสุดนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน แจ้งว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาทำโครงการนี้ในระยะที่ 3 เบื้องต้นคาดว่า จะออกมาได้ประมาณเดือนมิ.ย.นี้ ส่วน “เราเที่ยวด้วยกัน” ระยะที่ 3 จำนวน 2 ล้านสิทธิ์ และ “ทัวร์เที่ยวไทย” จำนวน 1 ล้านสิทธิ์ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังยืนยันเปิดให้คนร่วมลงทะเบียนร่วมโครงการในช่วงกลางเดือน พ.ค.64
นอกจากนี้ในส่วนของการเยียวยาผ่านโครงการ “เราชนะ” ได้ขยายเวลาการใช้จ่ายเงินจากสิ้นสุดในเดือนพ.ค.64 เป็นสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.64 ขณะที่ “ม33เรารักกัน” จะสิ้นสุดการใช้จ่ายเงินในเดือนพ.ค.64 ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ ยอมรับว่า กำลังพิจารณาต่ออายุโครงการรอบใหม่ และจะทำโครงการเพิ่มเติม คือ การช่วยเหลือข้าราชการผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะได้ข้อสรุปในเดือนพ.ค.นี้ และจะเริ่มต้นโครงการต่าง ๆ ได้ประมาณเดือน มิ.ย.64