อยู่กับโควิดแบบไม่ใส่แมสก์อย่างไรให้ปลอดภัย และเช็คมาตรการผ่อนคลายโควิดใหม่ COFACT Special Report #28

บทความ

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติเห็นชอบให้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สาระสำคัญคือการอนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยในพื้นที่โล่งแจ้ง รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง เช่นการไม่ต้องวัดอุณหภูมิก่อนเข้าใช้พื้นที่ต่างๆ และการไม่ต้องตรวจ ATK หากไม่มีอาการหรือไม่ใช่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการเหล่านี้มีเพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวกับความรุนแรงของโรคที่ลดลง และกลับมาใช้ชีวิตปกติให้ได้มากที่สุด

English Summary

The Centre for COVID-19 Situation Administration (CCSA) on June 17 agreed to lift the outdoor mask mandate, along with extending the closing hours of nightclubs and bars to 2 am. These measures come as the daily new COVID-19 cases are lower than the past few months and more people are getting their vaccine boosters. However, some Thais have skepticisms about the lifting of mask mandate and the loosening measures could bring the outbreak back. In this article, we explain what new measures could mean to you and the science behind them.

อย่างไรก็ตามการผ่อนคลายมาตรการเหล่านี้อาจจะทำให้บางคนรู้สึกไม่สบายใจอยู่บ้าง เนื่องจากมาตรการหลายอย่างเราใช้กันมาจนเคยชิน และบางคนอาจจะรู้สึกไม่มั่นใจว่าหากเราผ่อนคลายการปฏิบัติตัวแล้วจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือไม่

Q: ทำไมเวลาอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งจึงไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย?

A: ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นระบุตรงกันว่า พื้นที่โล่งแจ้งที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 ต่ำ ดังนั้นการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การวิ่งในสวนสาธารณะ หรือการเดินบนทางเท้าจึงไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย หากมีการเว้นระยะห่างที่เหมาะสม

Q: ถ้าฉันอยากสวมหน้ากากอนามัยต่อไปจะได้ไหม?

A: หากเรารู้สึกว่าการสวมหน้ากากอนามัยช่วยให้รู้สึกอุ่นใจก็สามารถสวมใส่ต่อได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายข้อใดระบุว่าประชาชนจะต้องถอดหน้ากากอนามัยในที่โล่งแจ้ง การสวมหน้ากากอนามัยในที่โล่งแจ้งมีข้อดีตรงที่สามารถกรองฝุ่นละออง และเชื้อโรคในอากาศได้ดี

Q: พื้นที่ไหนและกิจกรรมใดบ้างที่ ”ไม่ต้อง” สวมหน้ากากอนามัย?

A: ตามประกาศของ ศบค. ระบุว่า ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่โล่งแจ้ง หมายถึง พื้นที่ที่อยู่ภายนอกอาคาร หรือพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ใช่พื้นที่ปิด หรือพื้นที่ที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ส่วนกิจกรรมที่มีความจำเป็นต้องถอดหน้ากากอนามัย เช่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การแสดงศิลปะด้วยใบหน้า การถ่ายทำรายการโทรทัศน์, ภาพยนตร์ ประชาชนก็สามารถถอดหน้ากากอนามัยทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ แต่เมื่อเสร็จกิจกรรมแล้วควรสวมหน้ากากอนามัยตามเดิม

Q: พื้นที่ไหนและกิจกรรมแบบใดที่ควรต้องสวมหน้ากากอนามัยอยู่?

A: ศบค. ระบุว่า ประชาชนควรใส่หน้ากากอนามัยตามปกติเมื่อต้องเข้าใช้พื้นที่อาคารต่างๆ หรือสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก เช่น ขนส่งสาธารณะ งานแสดงคอนเสริตหรืองานที่จัดในห้องประชุมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก ตลาดนัด ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า และอาคารที่ใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

Q: ทำไมจึงยกเลิกการวัดอุณหภูมิตามสถานที่ต่างๆ?

A: ปัจจุบันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น โอมิครอน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักมีอาการไม่มาก หลายคนไม่มีไข้ การคัดกรองด้วยการวัดอุณหภูมิจึงไม่สามารถบอกได้ว่าบุคคลดังกล่าวติดเชื้อโควิด-19 จริง ซึ่งสถานประกอบการสามารถคัดกรองผู้เข้าใช้บริการด้วยวิธีอื่น เช่น การขอตรวจเอกสารการฉีดวัคซีน หรือการตรวจ ATK ได้อยู่หากจำเป็น

Q: ทำไมจึงมีการยกเลิกการตรวจ ATK เป็นประจำ?

A: ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง บวกกับยอดผู้ติดเชื้อที่ลดลง ดังนั้น การตรวจ ATK สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการ หรือไม่ใช่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจึงไม่มีความจำเป็น อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญยังคงแนะนำให้ประชาชนรักษาสุขอนามัย และหมั่นสังเกตอาการของตนเองเป็นประจำ หากรู้ตัวว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็ควรจะตรวจ ATK ด้วยตนเองและแยกตัวจากผู้อื่น

Q: มีการผ่อนคลายมาตรการถึงขนาดนี้แล้ว วัคซีนยังจำเป็นอยู่หรือไม่?

A: วัคซีนยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เราป่วยหนักจากการติดเชื้อโควิด-19 เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ชีวิตประจำวันของเราล้วนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อในระยะหลังๆ ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างโอมิครอนมีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ดังนั้นเพื่อให้การใช้ชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ตามปกติ ประชาชนควรได้รับการฉีดวัคซีน ถึงแม้วัคซีนจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็สามารถลดอาการป่วยหนักจากการติดเชื้อได้มาก หากประชาชนส่วนมากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เราก็ไม่ต้องกังวลว่าระบบสาธารณสุขจะรองรับผู้ป่วยหนักไม่ไหว เพราะคนที่ฉีดวัคซีนแล้วหากติดเชื้อก็สามารถรักษาตัวเองได้ที่บ้าน 

Q: ฉันควรต้องไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอีกหรือไม่?

A: ผลการศึกษาจากหลายประเทศระบุตรงกันว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพลดลงตามเวลา กระทรวงสาธารณสุขของไทยแนะนำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 3 เดือนขึ้นไปให้ไปรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) และ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอีกเข็ม (เข็มที่ 4) หลังจากฉีดเข็มที่ 3 ไปแล้ว 4 เดือนขึ้นไป โดยกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนเชื้อตาย (ซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม) ให้ฉีดเข็มกระตุ้นเป็นแอสตราเซเนกา หรือวัคซีน mRNA (ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา) ส่วนวัคซีนเข็มที่ 4 ควรเป็นวัคซีนประเภท mRNA หรือถ้าไม่สะดวกที่จะรับวัคซีนชนิดนี้ก็สามารถเลือกเป็นแอสตราเซเนกาก็ได้ (เฉพาะในกรณีที่เข็ม 3 เป็นแอสตราเซเนกามาก่อน) การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายมากขึ้น 

สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังระยะเวลาติดเชื้อ 3 เดือนขึ้นไป เนื่องจากเชื้อที่ได้จากธรรมชาติถึงแม้จะให้ภูมิคุ้มกันที่ดี แต่ภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็จะลดลงตามธรรมชาติเช่นกัน การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้น


ที่มา:

https://thaigov.go.th/news/contents/details/55826?fbclid=IwAR2CPBUZZRep-mxQm9RhvUAVnSI7NIgzPzOzo-U3CMdszP-UTvdbfyuBduE

https://www.bbc.com/thai/thailand-61064816

https://www.prachachat.net/general/news-907753

https://www.springnews.co.th/news/825839


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com