เคลียร์ข้อสงสัย “สายด่วน 1668” ภารกิจบริหารจัดการเตียงโควิด-19

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

TJA&Cofact ตรวจสอบข้อมูลภายในศูนย์ประสานงานของสายด่วน 1668 กรมการแพทย์ พบว่า จะมีเจ้าหน้าที่ สหสาขา ของกรมการแพทย์ และแพทย์ชำนาญการประจำ ที่ผลัดเปลี่ยน หมุนเวียน มาเป็นอาสาสมัครให้บริการประชาชน ซึ่งแต่ละคนล้วนมีหน้าที่ประจำจากงานหลัก ซึ่งการทำงานในส่วนนี้จะเป็นทีมที่3 ทำหน้าที่ติดตามผู้ติดเชื้อที่ถูกแบ่งตามระดับอาการจากการติดเชื้อโควิด-19

นอกจากข้อปฏิบัติสาธารณสุขที่เจ้าหน้าที่ แพทย์ จะให้คำแนะนำแก่ผู้ติดเชื้อแล้ว ยังต้องคอยให้กำลังใจ และรับฟังข้อกังวลใจของผู้ติดเชื้ออีกด้วย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อมีความสบายใจ และผ่อนคลาย ทำให้แต่ละสายที่เจ้าหน้าที่รับนั้น ใช้ระยะเวลาพูดคุย อย่างน้อย 15 นาที จึงเป็นสาเหตุที่ว่า สายด่วนโทรติดยาก และไม่ว่าง

โดยเรื่องนี้ “ผศ.พญ.พัชรินทร์ บึงเมืองแก้ว นายแพทย์ปฏิบัติการ สถาบันเวชศาสตร์ฯ กรมการแพทย์” บอกกับ TJA&Cofact ว่า สายด่วน 1668 ทางอธิบดีกรมการแพทย์ ได้วางแผน คิด ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยมีการจัดตั้งระบบ และเตรียมทีมตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน โดยตนทำหน้าที่ติดตามประสานตรวจเยี่ยมคนไข้ตามสีต่างๆ โดยจะดูแลในกลุ่มคนไข้ผู้ติดเชื้อสีแดงและก็สีเหลืองที่มีอาการ โดยจะดูแลผู้ติดเชื้อแบบองค์รวม คือ ดูแลทางด้านร่างกาย สุขภาพ เช่น ไอ เหนื่อยหอบถ่ายเหลว แล้วก็เรื่องจิตใจ ความเครียดความวิตก กังวล ในเรื่องอาการของตัวเอง

“ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อจะกังวลถึงเรื่องเตียงที่จะเข้ารับการรักษา ที่ยังไม่ได้ เป็นห่วงครอบครัว กลัวครอบครัวจะติดเชื้อไปด้วย ปัญหาความกังวลที่พบบ่อย คือ บางคนอยู่ในคอนโด อยู่ในชุมชนที่คนภายในชุมชนหรือภายในคอนโด อยากให้ผู้ติดเชื้อออกจากพื้นที่ ผู้ติดเชื้อก็จะเครียดรวมถึงเครียดในเรื่องของการประกอบอาชีพหลังจากติดเชื้อ”

สำหรับสายด่วน 1668 หลังจากปิดรับเรื่อง เวลา 18.00 น. จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่ทีมงานทั้งหมด ถึงปัญหาต่างๆที่เจอ อันดับ1. คือเรื่องการรอเตียง และตอนนี้กำลังเฝ้าจับตาในเรื่องของอาการคนไข้จากกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการในตอนแรก แต่เมื่อโทรไปสอบถามอาการ 1-2 วัน ก็พบว่า มีอาการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น

ผศ.พญ.พัชรินทร์ บอกอีกว่า การทำงานของสายด่วน 1668 จะแบ่งออกเป็น 3 ทีม มี 20 คู่สาย เจ้าหน้าที่ที่รับสาย จะต้องมีความรู้ในระดับหนึ่ง ซึ่งผ่านการอบรมจากแพทย์ในการให้คำปรึกษาผู้ติดเชื้อ โดยการทำงาน เจ้าหน้าที่ ส่วนหนึ่งจะทำงานอยู่ที่ สถาบันโรคทรวงอก และอยู่ที่ทำงานของแต่ละคน รวมถึงอยู่ที่บ้าน โดยระบบสายด่วน จะมีการโอนสายเข้าไปมือถือของเจ้าหน้าที่สามารถรับสายจากที่บ้านได้ทันที

เมื่อได้ข้อมูลผู้ติดเชื้อ ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำเข้าระบบกลาง ซึ่งทีมที่ 2 จะเป็นส่วนตรวจสอบข้อมูล ส่งต่อข้อมูลให้กับทีมที่ 3 เพื่อติดตามประเมินอาการ และจัดสรรเตียงในการเข้ารับการรักษา

หากเป็นผู้ติดเชื้ออยู่ในกลุ่มสีแดง คือ ผู้ป่วยวิกฤต จะมีแพทย์ประจำภายในศูนย์ฯ โทรไปสอบถามอาการทุก 4 ชั่วโมง ระหว่างที่รอเตียง ส่วนผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเหลือง ที่เริ่มมีอาการ เจ้าหน้าที่จะโทรเยี่ยมผู้ติดเชื้อทุกวันวันละ 1 ครั้ง และผู้ติดเชื้อสีเขียวจะโทรเยี่ยมทุก 2 วัน

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยอมรับว่า ปัญหาส่วนหนึ่งผู้ติดเชื้อ ปฏิเสธเข้ารับการรักษา ยังโรงพยาบาลที่เจ้าหน้าที่จัดหาให้ จึงทำให้การเข้ารับการรักษาล่าช้า

“ส่วนใหญ่พี่น้องให้ความร่วมมือดี จากการที่โทรเข้ามาสายด่วน 1668 กว่า 200 ปัญหาที่พบ คือ เมื่อเจ้าหน้าที่หาเตียงได้ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี แต่จะมีกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธไม่อยากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่เจ้าหน้าที่จัดหาให้ เช่นล่าสุด ได้รับการรายงานเจ้าหน้าที่ ว่า ได้มีการจัดให้ผู้ติดเชื้อไปอยู่ยังโรงพยาบาลของรัฐแต่ประชาชนไม่อยากไปโรงพยาบาลดังกล่าว แต่อยากไปโรงพยาบาลเอกชน ฝากทำความเข้าใจกับประชาชนตอนนี้สิ่งสำคัญคือสุขภาพไม่ใช่ความสะดวกสบาย”

ตอนนี้มีการแบ่งกลุ่มตามสี คือ สีเขียว ถ้ามาจากการค้นหาเชิงรุก จากหน่วยเคลื่อนที่ลงไปในพื้นที่ทำการตรวจคัดกรองทางกรุงเทพฯ จะเป็นเจ้าภาพหลักในการดูแล โดยกลุ่มสีเขียว คือ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ทางกรุงเทพฯจะนำผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้เข้ายางโรงพยาบาลสนาม ซึ่งได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไว้แล้ว ถ้าเป็นสีเขียวจากระบบบริการ คือ ผู้ติดเชื้อไปตรวจยังห้องปฏิบัติการของเอกชน หรือไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลเอกชนแล้วไม่มีเตียง แล้วโทรมายังสายด่วน 1668 ในส่วนนี้จะพยายามนำเข้า hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม แล้วแต่กรณีว่ามีที่ไหนว่าง ถ้าเป็นสีเหลือง กับ สีแดง คือ มีอาการปานกลาง หรือ อาการหนัก กลุ่มนี้จะบริหารจัดการอย่างรวดเร็วผ่าผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ไปแอดมิดที่โรงพยาบาลทันที

สำหรับตอนนี้ผู้ติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มสีเหลือง ที่อยู่ระหว่างการประสานเตียงมีอยู่ประมาณ 40- 50 คน โดยกลุ่มนี้จะต้องอยู่ในโรงพยาบาล ที่จริงแล้วเตียงใน hospitels มีแต่ไม่อยากให้ไปนอน เนื่องจากเป็นห้องแยก จะติดตามดูอาการยาก กลัวว่าอาการจะหนักมากขึ้น

“เบื้องต้นได้สั่งการให้จัดหาตึกคลังยาเสพติดที่รังสิต ปทุมธานี จะทำเป็นหอผู้ป่วยสำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อสีเหลือง เนื่องจากเตียงของโรงเรียนแพทย์ขณะนี้ค่อนข้างเต็ม ซึ่งได้มีการพูดคุยกับทางโรงเรียนแพทย์ว่า ให้เอากลุ่มผู้ติดเชื้อสีเขียว ที่อาการดี ย้ายออกจากโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ เพราะโรงเรียนแพทย์จะมีสศักยภาพเยอะ โดยจะให้รับกลุ่มผู้ติดเชื้อสีเหลืองเข้ม หรือสีแดง เพื่อเป็นการลดการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต” อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว

ด้าน นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. บอกว่า ขณะนี้เตียงของโรงพยาบาลสนามมีทั้งหมด 1,656 เตียง ซึ่งจะรับผู้ป่วยจากการการค้นหาเชิงรุก 1,275 เตียง เหลืออีก 381 เตียง และจะเปิดเพิ่มที่หน่วยทหารบกอีก 200 เตียง แต่ปัญหา คือ ประชาชนไม่พร้อมเข้ารับบริการ

นอกจากนี้ กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เทศกิจอบรมกับกรมการแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อให้ทำงานร่วมกันกับ สพฉ. ช่วยดูแลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย