เปิดตัว TJA&Cofact ดึง “นักข่าว” ร่วมตรวจสอบ Fake news ประเดิม 5 ข่าวปลอม ข่าวลวง ที่ถูกแชร์วนซ้ำ
วันที่ 1 เมษายน 2564 นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย(TJA) เปิดเผยว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมมือกับ “COFACT Thailand” หรือ ภาคีโคแฟคประเทศไทย ภายใต้ชื่อ TJA&Cofact ในการตั้งกองบรรณาธิการเฉพาะกิจ ที่ดึงนักข่าวมืออาชีพจากหลากหลายสายข่าว เข้ามาเป็น Fact-Checking ร่วมตรวจสอบ Fake news หรือ ข่าวลวง ข่าวปลอม ที่แพร่กระจายอยู่ในโซเชียลมีเดียด้วยวิธีการทำข่าวอย่างนักข่าวมืออาชีพ โดยจะมีการนำข่าวลวง ข่าวปลอม ไปสัมภาษณ์ขอข้อมูลจากบุคคลที่นักข่าวเรียกว่า “แหล่งข่าว” ในหน่วยงาน/องค์กร ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อยืนยันว่าข่าวว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
“TJA&Cofact จะเริ่มความร่วมมือตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นโครงการนำร่อง 3 เดือนก่อนในเบื้องต้น จะมีการแถลงความร่วมมือในวันที่ 2 เมษายน2564 สมาคมนักข่าวฯมีความยินดีที่ Cofact เชิญเข้าร่วมในภารกิจนี้ เพราะมองเห็นปัญหาข่าวลวง ข่าวปลอม ตรงกันว่า เป็นปัญหาสำคัญของโลกในปัจจุบัน แม้บางข่าวจะดูเป็นข้อความที่อาจจะไม่สำคัญ แต่หากเกี่ยวข้องสุขภาพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ก็อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ตามมาได้”
ด้าน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟคประเทศไทย (COFACT Thailand) กล่าวว่า วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวัน ตรวจสอบข่าวลวงโลก หรือ International Fact-Checking Day ที่กำหนดโดยเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากลหรือ IFCN เป็นการกำหนดวันต่อจากวันโหกหรือเอพริลฟูลเดย์ด้วย
ซึ่งในยุคดิจิทัลนี้ ทุกวันกลายเป็นวันเอพริลฟูลได้เพราะข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ คลิปลวง มีส่งต่อไวรัสกันตลอดเวลา ทำให้เกิดลกระทบหลายประการ ทางภาคีโคแฟคที่ได้สร้างนวัตกรรมไลน์แชทบอตและเว็บ Cofact.org ให้ประชาชนมาร่วมตรวจสอบข่าว แต่ก็ยังมีหลายข่าวที่ยังไม่ได้คำตอบ เราจึงมาทำงานร่วมทางสมาคมนักข่าวฯ เพื่อช่วยค้นหาข้อเท็จจริงในประเด็นต่าง ๆให้กระจ่างขึ้น อีกทั้งร่วมกับภาคีภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กรในการสร้างกลไกการตรวจสอบข้อมูลและส่งเสริมทักษะพลเมืองดิจิทัลให้ค้นข้อเท็จจริงก่อนจะเชื่อหรือแชร์ ซึ่งเราจะประกาศความร่วมมือในวันที่สองเมษายนนี้และจะทำงานรณรงค์ร่วมกันตลอดปี
และในโอกาสนี้ TJA&Cofact ได้รวบรวมข้อมูล “5 ข่าวปลอม แชร์ซ้ำ…วนไป-วนมา” ประเดิมความร่วมมือ เพื่อรู้ทัน หยุดการแชร์และช่วยบอกเตือนสังคมต่อไป โดยมีข้อมูลดังนี้
1.นั่งทางใน มโนดวงชะตา ‘แผ่นดินไหว-สึนามิ’
นับจากเหตุ ‘สึนามิ’ ปี 2547 ที่ทำให้ มีผู้เสียชีวิต 5,309 คน และผู้สูญหายจำนวนทั้งหมด 3,370 คน โศกนาฏกรรมครั้งนั้น ทำให้ทุกครั้งที่มีข่าว ‘แผ่นดินไหว’ ในมหาสมุทรอินเดีย ประชาชนมักให้ความสนใจ และหลายปีที่ผ่านมามี ‘เว็บไซต์ชื่อแปลกหู’ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ ลิ้งค์ clickbiat ชอบเขียนข่าว “ทำนายดวงชะตาจะเกิดสึนามิ” ประเด็นนี้ยืนยันได้ว่า “เป็นข่าวปลอม” เพราะ นักวิชาการแผ่นดินไหววิทยา “ไพบูลย์ นวลนิล” อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยืนยันหลายครั้งว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้
2.ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 10%
เป็นอีกหนึ่งข่าวปลอมสุดคลาสสิกที่ถูกนำมาแชร์กันต่อเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาใกล้สิ้นสุดปีงบประมาณของทุกปี แต่หากใครติดตามข่าวสารเป็นประจำก็จะรู้ได้ทันทีว่า “เป็นเรื่องปกติ” เพราะรัฐบาลจะต่ออายุการลดภาษี VAT เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยลดผลกระทบทั้งค่าครองชีพ และรักษาการบริโภคภายในประเทศ เพราะ ตามประมวลรัษฎากร “ภาษี VAT” มีอัตราการจัดเก็บที่ 10% แบ่งเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจริง 9% และภาษีท้องถิ่นอีก 1% แนวทางนี้กำหนดเอาไว้ตั้งแต่ปี 2535 แต่ไม่เคยจัดเก็บจริง เพราะทุก ๆ ปี จะมีการออกออก พ.ร.ก.ลดอัตราภาษี VAT ให้เหลือเพียง 7% แบ่งเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจริง 6.3% บวกภาษีท้องถิ่น 0.7% มาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มจัดเก็บในรูปแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ หากสภาพเศรษฐกิจยังไม่กลับมาขยายตัวได้ดีตามศักยภาพ
3.ประกาศแยก 5 จังหวัดภาคอีสาน
ข่าวการประกาศแยก 5 จังหวัดทางภาคอีสานเพิ่มรวมเป็น 83 จังหวัด เป็นข่าวที่ถูกแชร์ซ้ำ ๆตั้งแต่ปี 2558 โดยจังหวัดที่เพิ่มมา คือ จ.บัวใหญ่แยกจาก จ.นครราชสีมา , จ.เดชอุดมแยกจาก จ.อุบลราชธานี , จ.กันทรลักษ์แยกจาก จ.ศรีสะเกษ , จ.ชุมแพ แยกจาก จ.ขอนแก่น , จ.นางรอง แยกจาก จ.บุรีรัมย์ ยังไม่นับรวมข่าวช่วงก่อนปี 2558 ที่บอกว่า จะมี จ.แม่สอด ที่แยกจาก จ.ตาก , จ.พระนารายณ์ แยกจาก จ.ลพบุรี , และ จ.ฝาง แยกจาก จ.เชียงใหม่ ข่าวนี้ได้รับการชี้แจงจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มากกว่า 10 ครั้ง ยืนยันว่า ข่าวนี้ไม่เป็นความจริง ประเทศไทยมี 76 จังหวัด กับ 1 เขตการปกครองพิเศษ ซึ่งก็คือ กรุงเทพมหานคร
4.ปิดมือถือหนี “รังสีคอสมิก”
00.30 – 03.30 น. เป็น “ช่วงเวลาทอง” ของการปิดโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เนื่องจากดาวเคราะห์ของเราจะมีการแผ่รังสีที่สูงมาก “รังสีคอสมิก” จะผ่านเข้ามาใกล้โลก และอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้ ข่าวนี้ถูกส่งต่อมานานมาก เป็นหนึ่งในข่าวปลอมยุคดึกดำบรรพ์ที่เล่นตลกกับชีวิตเรามาก เพราะนอกจากจะสร้างความหวาดกลัวให้เราแล้วยังทำให้เราต้องตื่นมากลางดึกเพื่อปิดมือถืออีกด้วย ในความเป็นจริง “รังสีคอสมิก” เป็นแค่ “รังสีพลังงานสูง” ที่เกิดจากอนุภาคความเร็วเข้าใกล้ ส่วน “แสงดาวเคราะห์” ไม่ใช่แหล่งกำเนิดของรังสีคอสมิก โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เคยชี้แจงไว้ว่า รังสีคอสมิกเป็นแค่เศษส่วนเล็กน้อยของปริมาณรังสีที่มนุษย์ได้รับประจำในแต่ละปี และแม้ว่ารังสีคอสมิกอาจจะส่งผลต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ผลที่เกิดขึ้น “ไม่” สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายของมนุษย์
5. “น้ำมะนาว” ยาวิเศษแก้สารพัดโรค
ก่อนหน้านี้ “น้ำมะนาว” ถูกแชร์ต่อ ๆกันว่า เอาไปผสมโซดาแล้วจะช่วยฆ่าเชื้อมะเร็งได้ ยุคหลังๆมาบอกว่า “น้ำมะนาว” ช่วยฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ ไม่ว่าจะฆ่าเชื้อมะเร็ง หรือ ฆ่าเชื้อโควิด-19 ก็ได้รับการยืนยันจาก นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค รวมถึงคุณหมออีกหลายคน ที่พูดตรงกันว่า ข่าวนี้เป็นข่าวปลอม มะนาวเป็นผลไม้มีวิตามินซีสูง ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน ช่วยไม่ให้เชื้อโรคสามารถฝังเข้าไปในเซลล์ของทางเดินหายใจและปอดได้ง่ายเท่านั้น แต่ไม่สามารถฆ่าไวรัสได้