ธรรมศาสตร์บังคับ นศ. ใส่เสื้อสีส้มเข้างานปฐมนิเทศ เป็นข้อมูลเท็จ

Top Fact Checks Political
เนื้อหาเป็นเท็จ

กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ปฏิเสธข้อมูลในโซเชียลมีเดียที่ระบุว่า มธ. บังคับให้นักศึกษาใหม่ทุกคนเข้าร่วมงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ประจำปีการศึกษา 2566 ที่มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นแขกรับเชิญ และบังคับให้นักศึกษาใส่ชุดสีดำ-ส้มเท่านั้น โดยยืนยันว่างานนี้เปิดให้นักศึกษาเข้าร่วมด้วยความสมัครใจและไม่มีข้อบังคับเรื่องการแต่งกาย

งานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ มธ. ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ที่ มธ.ศูนย์รังสิต มีนักศึกษาใหม่เข้าร่วมทั้งหมด 7,802 คน ถูกวิจารณ์จากศิษย์เก่าและประชาชนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการเชิญนายพิธามาเป็นแขกรับเชิญและกล่าวสุนทรพจน์กับนักศึกษาใหม่

นอกจากเสียงวิจารณ์แล้ว ยังมีการกล่าวหา มธ. ว่าบังคับให้นักศึกษาใหม่ทุกคนเข้าร่วมงานนี้และบังคับให้ใส่เสื้อสีดำหรือสีส้ม ซึ่งเป็นสีประจำพรรคก้าวไกล

ข้อกล่าวหานี้มีที่มาจากผู้ใช้ติ๊กต็อกที่ใช้ชื่อว่า “ยายขิ่น” ซึ่งโพสต์วิดีโอในบัญชีติ๊กต็อก @yaaikinV9 เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 ระบุว่า “มีเด็กนักศึกษาใหม่ที่เข้าปฐมนิเทศในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในครั้งนี้เล่าให้พ่อเขาฟังว่า ทางมหาวิทยาลัยบังคับให้ใส่เสื้อดำหรือเสื้อสีส้มโดยมีการถ่ายคอนเทนต์ให้ดูว่ามีคนสนับสนุน มีคนฟังเยอะ เด็กบอกว่าบังคับให้ใส่และบังคับให้ฟัง อันนี้เด็กเป็นคนเล่าเอง”

ในวิดีโอนี้ “ยายขิ่น” ยังได้แสดงภาพข้อความที่บุคคลที่อ้างว่าเป็นผู้ปกครองนักศึกษา ส่งให้เธอทางแอปพลิเคชันไลน์ ระบุว่า “ลูกเราโทรมาบอกว่าโดนบังคับให้ลูกสวมชุดดำ+ส้ม ไปนั่งฟังพิธาพูดตลอดวันเลย มีถ่ายคอนเทนต์ด้วยจะได้เอามาโชว์ว่ามีคนมาฟังและสนับสนุนเยอะ คือบังคับให้ใส่ บังคับให้ฟัง”

ณ วันที่ 8 ส.ค. 2566 วิดีโอนี้มีผู้ชมในติ๊กต็อกเกือบ 3 แสนครั้ง และยังถูกนำไปเผยแพร่ต่อทั้งในติ๊กต็อก ทวิตเตอร์และยูทูปของช่อง Top News ซึ่งมียอดผู้เข้าชมแล้วกว่า 122,000 ครั้ง

โคแฟคตรวจสอบ

วันที่ 8 ส.ค. 2566 โคแฟคตรวจสอบเรื่องนี้โดยการสัมภาษณ์นายคเณศ สัตตานุสรณ์ รักษาการแทนหัวหน้างานยุทธศาสตร์กิจการนักศึกษา กองกิจการนักศึกษา มธ. ผู้รับผิดชอบการจัดงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ประจำปีการศึกษา 2566 รวมทั้งตรวจสอบสื่อประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่โดยกองกิจการนักศึกษา รวมทั้งสอบถามผู้ปกครองและนักศึกษา มธ. ที่เข้าร่วมงานปฐมนิเทศ ได้ข้อมูลดังนี้

ประเด็นที่ 1: มธ. บังคับให้นักศึกษาเข้าร่วมงานปฐมนิเทศ?

  • นายคเณศกล่าวกับโคแฟคว่างานนี้เปิดให้นักศึกษาเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ ไม่ได้เป็นการบังคับ โดยทางกองกิจการนักศึกษา ได้เปิดให้นักศึกษาที่ประสงค์จะร่วมงานลงทะเบียน 2 รอบ คือ 15-20 ก.ค. และ 30 ก.ค.  “งานปฐมนิเทศไม่ใช่กิจกรรมบังคับ เราให้ลงทะเบียนล่วงหน้าเข้ามา เป็นการประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาเข้าร่วมเฉย ๆ…และไม่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกิจกรรมจนจบด้วย ใครมีความประสงค์หรือเหตุจำเป็นจะต้องออกจากห้องประชุมตอนไหนก็สามารถแจ้งรุ่นพี่ประจำจุดได้เลย” นายคเณศกล่าว
  • เพจเฟซบุ๊ก “ธรรมศาสตร์สุดสุด” ซึ่งเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ของ มธ. โพสต์ข้อความเชิญชวนให้นักศึกษาใหม่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานพร้อมคิวอาร์โค้ดเข้าระบบลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2566
  • ผู้ปกครองนักศึกษาใหม่ มธ. คนหนึ่งที่เข้าร่วมงานปฐมนิเทศ ยืนยันกับโคแฟคว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้บังคับให้เข้าร่วม และไม่ได้บังคับให้ใส่ชุดสีดำ-ส้ม

ประเด็นที่ 2: มธ.บังคับให้นักศึกษาทุกคนแต่งกายด้วยสีดำ-ส้ม?

  • นายคเณศยืนยันกับโคแฟคว่าทาง มธ. ไม่ได้บังคับเรื่องเครื่องแต่งกายของนักศึกษาที่เข้าร่วมงานปฐมนิเทศ ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไรก็เข้าร่วมงานได้ แต่โดยธรรมเนียมแล้ว แต่ละคณะจะขอความร่วมมือให้นักศึกษาใหม่ใส่เสื้อตามสีประจำคณะ เช่น คณะศิลปศาสตร์-สีส้ม คณะรัฐศาสตร์-สีดำ คณะพยาบาลศาสตร์-สีขาว คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี-สีฟ้า เป็นต้น
  • ข้อความและโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ที่กองกิจการนักศึกษา เผยแพร่ทางเฟจเฟซบุ๊ก “ธรรมศาสตร์สุดสุด” และอินสตาแกรมเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ระบุว่า “สำหรับการแต่งกายเข้าร่วมกิจกรรม ไม่ได้มีการกำหนดให้ใส่ชุดนักศึกษา สามารถใส่ชุดสุภาพที่คล่องตัวต่อการทำกิจกรรม หรือเสื้อที่คณะนัดหมายให้ใส่เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมได้เลย”   
  • โคแฟคตรวจสอบภาพงานปฐมนิเทศวันที่ 4 ส.ค. 2566 ที่มีการเผยแพร่โดยทั่วไปในโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชน เห็นได้ชัดว่านักศึกษาที่ร่วมงานใส่เสื้อหลากหลายสี ไม่ได้มีเฉพาะสีส้มหรือดำ

ข้อสรุปโคแฟค: ข้อมูลเท็จ หยุดแชร์

คำชี้แจงจากกองกิจการนักศึกษา มธ. รวมทั้งภาพและข้อความที่ มธ. เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียก่อนงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ 4 ส.ค. 2566 สามารถพิสูจน์และยืนยันได้ว่า เนื้อหาในโซเชียลมีเดียที่ระบุว่า มธ. บังคับให้นักศึกษาใหม่ทุกคนเข้าร่วมงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่และทุกคนต้องแต่งกายด้วยสีดำ-ส้มเท่านั้น เป็นข้อมูลเท็จที่อาจเกิดจากความเข้าใจผิด แต่ถูกนำมาถ่ายทอดโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เพื่อเจตนาให้เกิดความเสียหายทางใดทางหนึ่งกับ มธ. ผู้ผลิตและเผยแพร่ข้อมูลนี้ควรนำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ และผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่พบเห็นข้อมูลไม่ควรเผยแพร่ต่อ

เรื่องแนะนำ