5 มายาคติที่ทำให้เข้าใจผิด เนื่องในวันพูดความจริง (ร่วม)
เขียนโดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง / วิลาสินี เย็นเชย
กราฟิก ทินวุฒิ ลิวานัค
เรียบเรียง ทีมกองบรรณาธิการ Modernist
‘มายาคติ’ คือสิ่งที่มีอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างช้านานและกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก และแน่นอนว่ามายาคตินั้นหมายถึง ‘ความเข้าใจผิดๆ’ ที่ถูกก่อร่างขึ้นโดยคนในสังคมเอง ซึ่งในปัจจุบันมีคนหลายกลุ่มมากๆ ที่ถูกกดทับด้วยมายาคติดังกล่าว และย่อมส่งผลต่อการถูกส่งต่อข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด ความเชื่อผิดๆ และบางครั้งก็มาในรูปของทัศนคติที่ผิดๆ แม้กระทั่งในยุคปัจจุบันที่ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการปล่อยข่าวลวงอีกด้วย
เนื่องในโอกาส “วันพูดความจริง (ร่วม)” หรือ Tell the Truth Day ซึ่งตรงกับวันที่ 7 กรกฎาคมของทุกปี วันนี้ Modernist และ Cofact Thailand จึงเชิญตัวแทน 5 กลุ่มคนที่ถูก ‘มายาคติ’ ของสังคมกดขี่ ไม่ว่าจะด้วยการสร้างความเข้าใจผิดหรือด้วยข่าวลวงเกี่ยวกับพวกเขา เราเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้ได้พูดถึง แบ่งปันประสบการณ์ และเสนอแนวทางแก้ไขมายาคติดังกล่าวด้วยความจริงจังและจริงใจ
ซึ่ง 5 ตัวแทนที่เราเชิญมาพูดคุยกันวันนี้ ได้แก่ ตัวแทนของชาวมุสลิม ตัวแทนผู้ติดเชื้อ HIV ตัวแทน LGBTQ ตัวแทนผู้ชาย และตัวแทนผู้หญิง ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพูดคุยเกี่ยวกับมายาคติที่สังคมมีต่อกลุ่มคนดังกล่าวในวัน “พูดความจริงร่วม” ครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่มากก็น้อย
มุสลิมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย
ชุมพล ศรีสมบัติ เครือข่ายมุสลิมเชียงใหม่ พูดถึงมายาคติที่ทั่วโลกมีต่อชาวมุสลิมว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ มายาคติดังกล่าวถุกส่งต่อผ่านสื่อ โซเชียลมีเดีย หรือแม้กระทั่งทฤษฎีเหมารวมที่กลุ่ม Islamophobia มีต่อชาวมุสลิมทั่วโลก “กระแสของ Islamophobia (โรคเกลียดกลัวอิสลาม) จะรุนแรงขึ้นก็ตอนเหตุการณ์ 911 ที่ตึก World Trade ถล่ม แล้วก็เริ่มมีปัญหา สร้างความรุนแรง มีผู้ก่อการร้ายมากขึ้น ตะวันออกกลางก็จะมีพวกอัลกออิดะฮ์ ISIS ตาลีบัน ภาพที่ชาวโลกเห็นแล้วน่ากลัว ส่วนในประเทศเราจะเป็นพวกโจรในชายแดนภาคใต้ เขาบอกว่าพวกนี้ฆ่าพี่น้องชาวพุทธ ก็เกิดความไม่ไว้วางใจกัน แล้วมันก็กระทบสู่พี่น้องมุสลิมทั่วพื้นที่เพราะจริงๆ”k
ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าชาวมุสลิมทุกคน ‘คลั่งศาสนา’ คุณชุมพลได้ให้คำตอบว่า “คำว่า “คลั่ง” กับ “เคร่ง” ต้องแยกกันให้ออก มันไม่ใช่ว่ามุสลิมทุกคนจะคลั่งศาสนา จริงๆ แล้วหลักธรรมคำสอนของอิสลามก็ไม่ได้สอนให้คลั่งหรือเคร่งครัดจนเกินไป แต่ให้มาในระดับสายกลาง เช่น คำสอนที่ว่า “จงทำดีกับเพื่อนบ้าน” “ศาสนาของท่านคือศาสนาของท่าน” คือต่างกันต่างอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมเราเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน”
และจากการเข้าใจผิดต่างๆ นี้เอง ทำให้ข่าวลวงเกี่ยวกับมุสลิมถูกส่งต่อมากมายจนทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติในระดับชุมชน ไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐ “ข่าวลวงที่ออกมาทำให้รู้สึกว่าเขาคิดกับเราเปลี่ยนไป เวลาคุยกับเราต่อหน้าเขาก็คุยอีกแบบหนึ่ง แต่เวลาเข้าไปอยู่ในโซเชียลมีเดียแล้วเขาเป็นอีกแบบหนึ่ง จากที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขก็มีความรู้สึกว่าเราถูกแบ่งแยกว่าไม่ใช่คนไทย หรือเราเป็นประชากรชั้นสอง นี่เป็นผลกระทบที่เราได้รับตั้งแต่ระดับชุมชน บางทีเขาบอกว่า “เฮ้ย ทำไมพวกนี้ไม่กลับใต้” เราเป็นคนเชียงใหม่แต่เขาให้เรากลับใต้”
เขาเสนอวิธีแก้ปัญหามายาคติที่สังคมมีต่อมุสลิม นั่นก็คือการพูดคุยถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา “คนเคยมีอคติต่ออิสลาม พอได้พูดคุยกันก็หมดอคติ มันจบด้วยการพูดคุยครับ วันนี้เราไม่เอาปัญหามาตั้งตรงกลาง เราเอาแพะมา โทษคนนั้นโทษคนนี้ แทนที่จะถามว่ามุสลิมมีปัญหาตรงนี้จริงไหม เขาเชื่อตามๆ กันไปโดยไม่ถาม”
คนมีเชื้อ HIV ไม่ใช่คนสำส่อนทางเพศ
เราเดินทางมาพูดคุยต่อกับ กฤตนัน ดิษฐบรรจง (ปังปอนด์) อดีตแกนนำกลุ่มเยาวชนอาสา ทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เกี่ยวกับความเข้าใจผิดที่สังคมมีต่อผู้ติดเชื้อ HIV มาอย่างช้านาน “จริงๆ แล้ว HIV ติดเชื้อได้ 3 ช่องทาง คือ จากแม่สู่ลูก อันที่ 2 คือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เช่น การใช้สารเสพติดหรือการเปลี่ยนถ่ายเลือด อันที่ 3 คือจากการมีเพศสัมพันธ์ ทีนี้คนจะเข้าใจว่าการติดจากการมีเพศสัมพันธ์จะติดเฉพาะชาย-ชายหรือเปล่า จริงๆ แล้วตอบได้เลยว่าไม่”
ซึ่งมายาคติของคนหลายคน มักจะมองว่า HIV เป็น “มะเร็งเกย์” และโรคของคนสำส่อนทางเพศ “มันมีมายาคติว่าคนติดเชื้อ HIV ต้องผอม ต้องโทรม ต้องดำ ต้องสำส่อน เป็น Sex Worker หรือ LGBT เท่านั้น เรารู้สึกว่าอันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะทุกคนมีโอกาสเป็นได้หมด เราไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่เดินผ่านหน้าเราใครติดเชื้อ HIV บ้าง”
ปังปอนด์ยังพูดถึงการเผยแพร่ภาพจำที่ผิดของผู้ติดเชื้อ HIV ใครเป็นผู้รับผิดชอบ “ทุกคนในสังคม แต่จริงๆ ถ้าจะโบ้ยแบบสุดแรงสะท้านมือก็ต้องเป็นภาครัฐก่อน เพราะภาครัฐในสมัย 30-40 ปีก่อนนั้นให้มายาคติกับ HIV ในทางที่ผิด แล้วพอคนรู้สึกไม่มีความหวังก็เริ่มมีข่าวลวงว่าการใช้ยาบางอย่างที่ไม่ใช่ยาต้านสามารถทำให้หายขาดจาก HIV ได้ เยอะมาก มีคนส่งต่อ มาถามเราเรื่อยๆ ว่ายาตัวนี้กินแล้วหายจริงเหรอ ซึ่งมันไม่มียาตัวไหนในโลก ณ ตอนนี้ที่สามารถรักษา HIV ให้หายขาดได้ครับ”
LGBTQ ไม่ใช่ตัวตลก
สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์ (อาร์ตี้) บรรณาธิการบริหาร Modernist และนักกิจกรรม Young Pride Club พูดคุยเกี่ยวกับมายาคติที่ทำให้สังคมมอง LGBTQ เป็น ‘ตัวตลก’ “ภาพในสื่อโทรทัศน์ที่เราเห็นมันก็จะขายว่ากะเทยต้องเป็นตัวสร้างเสียงหัวเราะ พยายามโวกเวกโวยวาย แต่ในความเป็นจริงเราก็มีเพื่อนหลายคนมากที่เป็นคนเงียบๆ เป็นคนเรียบร้อยหรือไม่ใช่คนที่ตลกขบขัน แต่หลายครั้งเราก็โดนยัดเหยียดเวลาไปกินข้าว คนก็จะบอกให้เราเต้นแรงๆ ให้ดูหน่อย เต้นโป๊ะๆ ไปยั่วผู้ชาย ทำอะไรให้มันตลกเกินจริง หรือเวลานั่งกินข้าวก็จะถูกล้อด้วยรูปลักษณ์ภายนอกบ้าง เรื่องการแต่งตัว เจ็บสุดคือการโดนล้อจากพวก LGBT ด้วยกันเอง ซึ่งมันควรเข้าใจด้วยกันเองหรือเปล่า”
หลายคนคิดว่า LGBTQ โหยหาการถูกยอมรับ แต่อาร์ตี้บอกกับเราว่า “เรารู้สึกการจะยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของเราไม่ต้องมีเงื่อนไข ซึ่งถ้ามันเป็นแบบนั้นจริงๆเราจะไม่เห็นสตอรี่ของ LGBT ที่พยายามผลักดันตัวเองให้หน้าตาดี ให้รูปลักษณ์ดี ให้มีฐานะทางการเงิน ฐานะทางสังคมและหน้าที่การงานที่ดี เรื่องแบบนั้นมันเป็นเรื่องที่หลายคนใฝ่หาอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็แล้วแต่ แต่เรารู้สึกว่าทำไมพวกฉันต้องถูกประโคมให้ทำแต่เรื่องแบบนู้นแบบนี้ เพื่อจะได้รับการยอมรับ เพื่อที่จะได้ปกปิดปมในใจว่าฉันไม่ได้ชอบเพศตามกรอบ ไม่ได้เกิดตามเพศที่กำเนิดที่ถูกต้อง”
“ทำไมฉันจะต้องมีงาน มีเงินในบัญชีเจ็ดหลัก ในขณะเดียวกันวันนี้ฉันขึ้นวินมอไซค์ ฉันกินอาหารข้างทาง เป็นมนุษย์เงินเดือนปกติแล้วไม่ได้หน้าตาดี ฉันจะเป็นคนที่ชีวิตเฮงซวยหรอก็ไม่ จะแก้มายาคติเกี่ยวกับ LGBTQ อย่างไร”
จะทำอย่างไรกับมายาคติที่สังคมมีต่อ LGBTQ ซึ่งอาร์ตี้ให้ข้อเสนอแนะมาว่า “การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือเราแค่อยากให้ทุกคนเปิดใจยอมรับ คิดว่าเราเป็นคนปกติคนหนึ่ง ถ้าเราจะบอกว่าทุกวันนี้อยากให้คนเท่าเทียมกันนะง่ายสุดเห็นคนเป็นคนทุกคน ไม่ว่าเขาจะมีอุปสรรคในชีวิตขนาดไหน เป็นคนพิการ เป็นคนติดเชื้อ HIV เป็นโควิด-19 เป็น LGBT เห็นคนเท่ากันทุกอย่างคือจบ”
มองในมุมกลับ ถ้าวันนี้ความรักของชายหญิงถูกมองว่าผิดแปลก และจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้สังคมยอมรับ ‘ความเป็นชาย’ และ ‘ความเป็นหญิง’ บ้าง คุณจะทำอย่างไร
ผู้ชายก็ร้องไห้เป็น
เราพามาพูดคุยกับ ณัฐภัทร มาเดช ศิษย์เก่าจากภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาการปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับมายาคติที่กดทับผู้ชายในสังคมให้เข้มแข็งทั้งกายและใจ การที่จะแสดงความอ่อนไหวให้สังคมเห็นจริงไม่ใช่เรื่องง่าย
“ผู้ชายถูกกดทับด้วยค่านิยมนักรบ ต้องแข็งแรง ส่วนผู้ชายที่ผอมหรือแรงน้อยก็จะถูกไม่ให้ค่า แล้ววันหนึ่งก็ต้องไปเล่นกล้าม ไปออกกำลังกายเพื่อให้ตัวเองแข็งแรงขึ้น แล้วเรื่องความแข็งแรงมันก็กดทับในแง่ที่เด็กวัยรุ่นผู้ชายต้องทำอะไรที่มันแข็งแรงเพื่อการยอมรับ เช่น กีฬาเป็นตัววัดความแข็งแรงของผู้ชาย แล้วกีฬาบางอย่างเช่น ฟุตบอล เป็นกีฬาที่รุนแรง หรือเราที่ชอบวิ่ง แต่การวิ่งมันดูไม่มีการปะทะ ไม่มีการใช้กำลัง เราก็ไม่ดู Masculine เท่าไหร่ มันก็มีบางจุดที่เราพยายามเล่นหรือดูบอลเพื่อให้รู้สึกว่า “ฉันเป็นชาย” แต่จริงๆ แล้วมัน Toxic”
และเมื่อผู้ชายร้องไห้ก็จะมีคนคอยบอกว่า “เฮ้ย เป็นผู้ชายอย่าร้องไห้นะ” แต่ณัฐภัทรก็ได้ปลดล็อคมายาคติดังกล่าวผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของละครเวที แต่มายาคตินี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับเพื่อนผู้ชายรอบตัวเขา “มันก็มีประสบการณ์ที่เพื่อนนักแสดงด้วยกันเข้าเวิร์คช็อปแล้วไม่กล้าร้องไห้ เพราะเรื่องความอ่อนแอ บวกกับผู้ชายถูกมองว่าเป็นเพศที่ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เพราะฉะนั้นผู้ชายหลายคนที่เข้ากระบวนการละครในช่วงแรกจะไม่เวิร์คเพราะรู้สึกว่าเป็นผู้ชายไม่ควรจะแสดงด้านอ่อนไหวออกมา”
มายาคติที่ว่าผู้ชายต้องไม่อ่อนแอ ส่งผลต่อปฏิกิริยาของผู้ชายที่เป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศด้วยเช่นกัน “ด้วยความที่ผู้ชายไม่กล้าแสดงความอ่อนแอของตัวเองออกมา มันทำให้ผู้ชายที่โดนกระทำไม่ค่อยออกมาอยู่แล้ว และภาพของการล่วงละเมิดทางเพศในสังคมมันมักจะมีมายาว่าผู้ชายเป็นผู้กระทำและผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำ เพราะฉะนั้นมันเลยรู้สึกว่าผู้ชายในสมัยก่อนจินตนาการไม่ได้กับการที่ต้องพูดว่า “ฉันก็โดนกระทำ” หรือบางทีเขาโดนกระทำอยู่เขาไม่รับรู้ว่าโดนกระทำอยู่”
ความเจ็บปวดที่ผู้หญิงไม่ได้เลือกเอง
สุดท้ายเราก็มาแลกเปลี่ยนแง่มุมกับ แภทริเซีย ดวงฉ่ำ จากกลุ่ม GIRLxGIRL เกี่ยวกับมายาคติที่สังคมมีต่อผู้หญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่กดทับพวกเขามาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเด็กผู้หญิงถูกปลูกฝังตั้งแต่ให้ไว้ผมยาว ใส่กระโปรง พูดไพเราะ และต้องมีบุคลิกเรียบร้อย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นบทบาทที่สังคมสร้างไว้จนกลายเป็น ‘ภาพจำ’ ของผู้หญิงที่ยากจะลบเลือน “เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย ทรงผม ผู้หญิงควรไว้ผมยาว ถ้าไว้ผมสั้นคืออยากเป็นผู้ชายหรือทอมบอย อย่างแพทชอบใส่กางเกง ถูกพี่ๆ ที่ทำงานถามว่าเราอยากเป็นผู้ชายหรือเปล่า ชอบผู้หญิงใช่ไหม ส่วนเรื่องกระโปรงก็มีผลต่อว่าถ้าใส่กระโปรงยาวจะเป็นผู้หญิงเรียบร้อยตามบทบาทที่สังคมปลูกฝังผู้หญิงมา มันเป็นบทบาทที่สังคมปลูกฝังมาให้เราตั้งแต่กำเนิดโดยที่เราไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วการเป็นผู้หญิงมันต้องเป็นไปตามที่สังคมกำหนดหรือเปล่า แล้วถ้าเราไม่ได้เป็นตามบทบาทที่สังคมกำหนดมันแสดงว่าเราไม่ใช่ผู้หญิงเหรอ”
ปวดท้องประจำเดือน ความเจ็บปวดที่ผู้หญิงไม่ได้เลือกเอง “เราบอกไม่ได้ว่าทุกคนที่ปวดท้องเป็นการโกหกหรือเรียกร้องความสนใจไหม แต่เราเข้าใจว่ามันเป็นอาการของร่างกายอย่างหนึ่งที่คุณไม่สามารถพิสูจน์ได้ถ้าคุณไม่ได้เป็นเขา เราก็อยากให้เคารพอาการที่เขาไม่ได้อยากให้เกิด แล้วมันเกิดทุกเดือนไม่ว่าจะเป็นในด้านอารมณ์ที่เปลี่ยนไป การปวดหัว หรือการขยายตัวของอวัยวะภายนอกอย่างหน้าอก เราก็อยากให้เข้าใจ เราไม่ได้อยากให้คุณมาปวดกับเรานะแต่อย่างน้อยก็เปิดใจว่าอาการป่วยทุกเดือนมันไม่ใช่สิ่งที่เราเลือกเอง”
อยากให้สังคมแก้ไขมายาคติที่มีต่อผู้หญิงอย่างไร “เราว่าการที่ผู้หญิงจะถูกรับเลือกให้ทำตำแหน่งสูงๆ นั้นยากกว่าผู้ชาย หลายบริษัทยังมีความกีดกันเรื่องเพศอยู่ อยากให้มีการเปิดรับมากขึ้น รวมถึงยอมรับความแตกต่างทางยุคสมัยที่พูดถึงผ้าพับไว้ของผู้หญิง อยากทลายมายาคติที่ผูกบทบาทกับเพศออกจากกันค่ะ ถ้ามันแยกออกจากกันปุ๊บเราจะเห็นความสามารถของผู้หญิงมากขึ้นค่ะ”
สุดท้ายแล้ว ปัญหามายาคติที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อการเข้าใจที่ผิด การบิดเบือนความจริง หรือแม้กระทั่งการส่งต่อข่าวลวงทั้งทางวาจาและออนไลน์ และย่อมส่งผลที่ไม่ดีต่อกลุ่มบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะใครก็แล้วแต่ เราต่างได้รับผลกระทบจากการเกิดอคติและมายาคติกันทั้งนั้น ฉะนั้นเนื่องในวันพูดความจริงร่วม เราจึงอยากให้ 5 ตัวแทนเสียงเหล่านี้เป็นตัวแทนคนไทยที่ตระหนักและเข้าถึงความเข้าใจเหล่านี้มากขึ้นนั่นเอง