ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ “กัญชา” COFACT Special Report #31

บทความ

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสการบริโภคกัญชา ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคดอกหรือใบเพื่อสุขภาพกำลังเป็นที่นิยม กฎหมายควบคุมยาสูบฉบับใหม่ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทหนึ่ง ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้เองที่บ้านอย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตามประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังมีความเชื่อว่ากัญชาเป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์ แต่การใช้กัญชาโดยไม่ผ่านการปรึกษากับเภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คุณคิด

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2022 ระบุถึง 5 ความเชื่อเกี่ยวกับกัญชาที่หลายคนอาจเข้าใจผิดดังนี้ 

1) กัญชาเป็นจุดเริ่มต้นของการติดยาเสพติดประเภทอื่น?

ก่อนหน้าที่การแพทย์แผนปัจจุบันจะให้ความสนใจในการใช้กัญชาเพื่อการรักษาพยาบาลอย่างแพร่หลาย นักการเมืองและผู้มีอำนาจหลายประเทศมักใช้ทฤษฎีที่ระบุว่า ผู้ที่เคยสูบกัญชามาก่อนจะมีพฤติกรรมลองสารเสพติดประเภทอื่นๆ ทำให้กัญชาถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ที่ติดสารเสพติดในระยะยาว แต่ผลการศึกษาพบว่าการบริโภคกัญชาไม่มีความเชื่อมโยงกับการใช้สารเสพติดประเภทอื่น นอกจากนี้ผลการสำรวจของ Smart Approaches to Marijuana ยังพบว่า ถึงแม้ผู้ที่ติดสารเสพติดบางส่วนจะเคยบริโภคกัญชามาก่อน แต่ก็เหมือนกันกับผู้ที่ติดสารเสพติดบางคนสูบบุหรี่ หรือดื่มสุราเช่นกัน ดังนั้นความเชื่อนี้จึงไม่สมเหตุสมผล

2) กัญชาทำให้ประสาทหลอน คนที่ประสาทหลอนมักจะก่ออาชญากรรม ดังนั้นคนเสพกัญชาจึงมักจะก่ออาชญากรรม?

เป็นที่ทราบกันดีว่า สาร THC ในกัญชาทำให้เกิดอาการประสาทหลอนได้หากใช้ในปริมาณมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากระบุว่าอาการประสาทหลอนจากกัญชาไม่ได้ส่งผลให้ผู้เสพก่ออาชญากรรมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในทางกลับกัน กัญชามีประสิทธิภาพในการผ่อนคลายในผู้มีโรคทางระบบประสาทหากใช้อย่างเหมาะสม และผลการศึกษาโดยกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ พบว่า กัญชาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาะรัฐที่มีกฎหมายกัญชาเสรีก็ไม่พบว่ามีการก่ออาชญากรรมโดยผู้ที่เสพกัญชาอย่างมีนัยสำคัญ และผู้ที่เสพกัญชามีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมน้อยกว่า เนื่องจากกัญชาจะออกฤทธิ์ทางระบบประสาทไปในทางผ่อนคลายมากกว่ากระตุ้นให้เกิดความคึกคะนอง

3) กัญชาที่ปลูกกันในปัจจุบันสามารถสกัดสาร THC ได้มากกว่ากัญชาในสมัยก่อน?

เป็นเรื่องจริง ผลการเก็บข้อมูลของหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ นับตั้งแต่มีการออกกฎหมายให้กัญชาเป็นยาเสพติดต้องห้ามในช่วงยุคปี 1960 ผู้ที่ลักลอบปลูกกัญชาจะคัดเลือกสายพันธุ์ที่สามารถสกัดสาร THC ได้ในปริมาณมาก เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าการสกัดสาร THC ในปริมาณมากจะช่วยให้ผู้สูบสามารถสูบในปริมาณที่น้อย แต่มีอาการมึนเมาได้เร็วกว่าการสูบกัญชาที่สกัดสาร THC ได้น้อย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเตือนว่าความเชื่อนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ถึงแม้ปัจจุบันหลายรัฐเริ่มเปิดกัญชาเสรี แต่กัญชาสายพันธุ์ที่สกัดสาร THC ความเข้มข้นสูงยังคงสามารถหาได้แพร่หลายอยู่ 

ผลการศึกษาจากสำนักงานสาธารณสุขรัฐโคโลราโด สหรัฐฯ เมื่อปี 2020 พบว่าผู้ที่สูบกัญชาที่มีสาร THC ที่มีความเข้มข้นสูงเกินไปจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทมากกว่าผู้ที่สูบกัญชาที่มีประมาณความเข้มข้นของสาร THC ต่ำ ดังนั้นการออกกฎหมายกำหนดปริมาณความเข้มข้นของสาร THC สำหรับการสูบเพื่อสันทนาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ

4) กัญชาแต่ละสายพันธุ์ออกฤทธิ์ต่อร่างกายไม่เหมือนกัน?

ในสหรัฐฯ และหลายประเทศที่มีการเปิดให้มีการบริโภคกัญชาเสรี มักจะมีโฆษณาปรากฎตามที่ต่างๆ ถึงคุณสมบัติเด่นของกัญชาแต่ละสายพันธุ์ และกัญชาสายพันธุ์พิเศษที่มีการผสมข้ามสายพันธุ์ เช่น หากบริโภคแล้วจะรู้สึกหลับสบาย รู้สึกร่างกายสดชื่น หรือเป็นยาสารพัดประโยชน์ โดยอ้างว่าสรรพคุณเหล่านี้มาจากการผสมกัญชาสายพันธุ์พิเศษ ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าก่อนที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อกัญชาควรศึกษาให้ดี และควรตั้งคำถามกับการโฆษณาเกินจริง เนื่องจากผลการศึกษาหลายฉบับยังไม่มีการฟันธงว่ากัญชาแต่ละสายพันธุ์มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันเป็นพิเศษ ผลการศึกษาเมื่อปี 2019 พบว่าการผสมข้ามพันธุ์ของกัญชาสองสายพันธุ์หลักอย่าง Indica และ Sativa ไม่พบความแตกต่างทางพันธุกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ผลที่ได้คือกัญชาที่มีการผสมข้ามพันธุ์ก็ยังคงให้คุณสมบัติที่คล้ายคลึงกัญชาทั่วไป นั่นก็คือสาร THC ที่ออกฤทธิ์ทางระบบประสาท ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ถ้าบริโภคมากเกินไปก็จะออกอาการประสาทหลอนได้ 

ถึงกระนั้นนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากบอกว่า สารประกอบทางเคมีหลายประเภทในกัญชายังคงเป็นปริศนาที่ยังต้องใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้า ดังนั้นผู้บริโภคควรศึกษาถึงคุณสมบัติต่างๆ ของกัญชาจากผู้เชี่ยวชาญ และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่อ้างอิงได้ก่อนจะตัดสินใจซื้อ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีที่โฆษณาคุณสมบัติกัญชาเกินจริง

5) อัตราการเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มสูงขึ้นหากเปิดกัญชาเสรี?

บทวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสระบุว่า หนึ่งในเหตุผลของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายกัญชาเสรีก็คือการอ้างผลเสียต่อสุขภาพเกินจริง เช่นการเสพเกินขนาดทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น กัญชาทำให้จำนวนผู้ติดยาเสพติดเพิ่มสูงขึ้น หรือกัญชาจะทำให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับกับจำนวนผู้ป่วยจากการติดสารเสพติดได้ เรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์จาก Montana State University และ The University of Colorado ในสหรัฐฯ ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีนับตั้งแต่บางรัฐในสหรัฐฯ มีกฎหมายเสรีกัญชา พวกเขาพบว่าผู้ที่บริโภคกัญชาจะลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาสุราแล้วขับรถในรัฐดังกล่าวยังคงสูงกว่าผู้ที่สูบกัญชาแล้วขับรถ ที่สำคัญผู้ที่สูบกัญชาจะหลีกเลี่ยงไม่ขับรถมากกว่าผู้ที่ดื่มสุรา แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงผลสำรวจเฉพาะในรัฐที่มีการเปิดกัญชาเสรีเท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในระดับสากลที่บ่งชี้อย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูบกัญชากับสมรรถภาพในการขับขี่ยานพาหนะ

หลังจากที่หลายๆ รัฐในสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายมาตรการการบริโภคกัญชา รวมถึงผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่เริ่มพูดถึงคุณประโยชน์ของกัญชามากขึ้น ทำให้ภาพลักษณ์ในด้านลบของกัญชาในสังคมของสหรัฐฯ เริ่มลดน้อยลง อย่างไรก็ตามการบริโภคกัญชาในปริมาณมากเกินไปก็ยังคงส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนั้นการศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจบริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เพียงแต่กัญชาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้ยา และสมุนไพรอื่นๆ ด้วย


ที่มา:

https://www.washingtonpost.com/outlook/five-myths/five-myths-about-marijuana/2021/07/14/7cc2046a-e426-11eb-8aa5-5662858b696e_story.html

https://www.leafly.com/news/cannabis-101/sativa-indica-and-hybrid-differences-between-cannabis-types

https://www.forbes.com/sites/petersuciu/2020/02/07/cannabis-misinformation-spreading-on-social-media/?sh=70ebef292345


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com