‘อนามัยโลก’ ปลด ‘โควิด’ พ้นสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ ‘ข่าวปลอม’ ยังคงถูกแชร์

By : Zhang Taehun

(1) พยาบาลศิริราชส่งไลน์มาค่ะ ด่วน ด่วน ด่วน อ.หมอประสิทธิ์ ออกประกาศให้ประชาชนปิดพื้นที่ (lockdown) ครอบครัวของตนเอง ไวรัสระบาดหนัก หมอจะเอาไม่อยู่แล้ว อ่านแล้วส่งต่อออกไปกันมากๆ หน่อย เหตุเกิดที่มีนบุรี น่าจะเป็นสายพันธุ์แลมบ์ดา กำลังระบาด อาการไอเป็นเลือดแล้วเสียชีวิตแล้ว มีเพื่อนกี่คน มีกลุ่มไลน์กี่กลุ่มส่งไปให้หมดเลยนะคะ ช่วยกันเพื่อตัวเราเองและเพื่อนร่วมโลก

(2) “* ประกาศ **ด่วนที่สุดและสำคัญมาก!!!! คุณหมอที่โรงพยาบาลรามา แนะนำว่า ต่อไปนี้ออกจากบ้านต้องสวมหน้ากากซ้อนกัน 2 ชั้นให้แนบสนิท ทุกครั้งที่ออกจากบ้านเลยนะ และห้ามถอดออกเด็ดขาด อาจารย์บอกว่า ยอดคนที่ติดเชื้อแล้วแต่ไม่ออกอาการ ไม่น่าเชื่อว่า..จะมีจำนวนสูงมากขนาดนี้ หมอบอกว่า มันน่ากลัวแล้วล่ะทีนี้ เวลาเราเดินสวนกับคนอื่นๆ ที่ไม่ออกอาการ สามารถเจอได้ทั่วไป ตามห้าง ตลาด ท้องถนน อาคารสำนักงาน รถโดยสาร โดยที่เราไม่ทันระวังตัว เพราะด้วยความไม่รู้หรือประมาท 

คิดว่าไม่เป็นไรหรอก คุณคิดผิดจะบอกว่าไม่จำเป็นอย่าไปพบปะกับใครนอกบ้าน ห้ามคนนอกครอบครัวเข้ามาในบ้านเราเด็ดขาด อันนี้ขอเลย ไม่ต้องนัดให้ใครมาหาที่บ้าน ระบบของโรงพยาบาลที่ช่วยเหลือโควิด มันแน่นและแทบจะทะลักอยู่แล้ว ถ้าทุกคนไม่ให้ความร่วมมือตามคำแนะนำ จะเกิดความสูญเสียที่มหาศาลในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ต้องร่วมใจกัน สถานการณ์ตอนนี้มันหนักขึ้นกว่าเดิม

(3) “###คำแนะนำในโรงพยาบาลกักกัน (เราสามารถนำไปใช้ที่บ้านได้) ยาที่ดำเนินการในโรงพยาบาลกักกัน 1.วิตามินซี –1000 2.วิตามินอี (E) 3.เวลา 10.00-11.00 น. นั่งตากแดด 15-20 นาที 4.อาหารไข่วันละครั้ง 5.พักผ่อน/นอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง 6.ทุกวันเราดื่มน้ำ 1.5 ลิตร 7.อาหารทุกมื้อต้องทานแบบร้อน (ไม่เย็น) นี่คือสิ่งที่เราทำในโรงพยาบาลเพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

(4) “โปรดทราบว่า ค่าความเป็นด่างหรือค่า pH ของ COVID-19 อยู่ระหว่าง 5.5-8.5 ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำเพื่อกำจดไวรัส คือการกินอาหารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง และเป็นกรดมากกว่าโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เช่น สัปปะรด มะนาวเขียว มะนาวเหลือง ส้มโอ ส้ม มังคุด มะปราง”

(5) คุณรู้ได้อย่างไรว่าคุณติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่? 1.คันคอ 2.คอแห้ง 3.อาการไอแห้ง 4.อุณหภูมิร่างกายสูง 5.หายใจถี่ 6.การสูญเสียกลิ่น ก่อนที่ไวรัสจะติดเชื้อในปอด น้ำอุ่นผสมมะนาวสามารถกำจัดไวรัสได้

ข้อความทั้ง 5 ข้างต้นเป็น ข้อความยาวชุดเดียวกัน ที่ถูกแชร์ผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นสนทนา (Chat) ยอดนิยมของคนไทย โดยผู้ส่งได้ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า อย่าเก็บข้อมูลนี้ไว้ใช้เอง กรุณาส่งต่อไปยังครอบครัวและเพื่อนของคุณซึ่งทั้งหมดเป็นคำเตือนเกี่ยวกับ การระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้ที่ติดตามข่าวสารของสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลกในปี 2563-2565 อย่างต่อเนื่อง ผู้เขียนมั่นใจว่าหลายท่านที่ได้เห็นข้อความนี้คงรู้แล้วว่า นี่มันข่าวปลอม (Fake News) ชัดๆ ที่นอกจากตนเองจะต้องไม่แชร์ต่อแล้วยังควรบอกคนใกล้ชิดที่ได้รับข้อความนี้แล้วว่าอย่าเชื่อ-อย่าแชร์ด้วย ซึ่งสามารถอ้างอิงได้จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ดังนี้

(1) หมอประสิทธิ์กับการเตือนภัยโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดาในพื้นที่มีนบุรี และให้แต่ละคนล็อคดาวน์ตัวเอง : ย้อนไปในเดือนส.ค. 2564 คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเปิดเผยว่าข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง อีกทั้งยังย้ำด้วยว่าเคยมีการเผยแพร่ข่าวปลอมเรื่องทำนองเดียวกันโดยอ้างคลิปเสียงของ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อยู่หลายครั้ง 

ขอยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวทั้งในรูปแบบข้อความ และคลิปเสียง ไม่ได้เป็นข้อมูลที่มาจาก ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแต่อย่างใด ซึ่งหากมีการแนะนำหรือข้อพึงระวังเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะทำการแถลงผ่านสื่อออนไลน์เป็นวิดีโอที่จะปรากฏทั้งใบหน้าและเสียง โดยไม่มีการเผยแพร่ข้อความหรือคลิปเสียงเพียงอย่างเดียว เพื่อป้องกันการแอบอ้าง” 

อย่างไรก็ตาม ข่าวปลอมเดียวกันยังมีรายงานการแชร์วนซ้ำ ตามรายงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อาทิ วันที่ 22 ต.ค. 2564 หรือวันที่ 17 พ.ย. 2565 พบกรณีคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นของ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง ซึ่งในกรณีนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้เคยชี้แจงไว้ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 

สำหรับไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์แลมบ์ดา (Lambda Variant) ข้อมูลจากองค์กรกาวี (GAVI) หน่วยงานความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน เพื่อจัดหาวัคซีนให้กับประเทศยากจน ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 ระบุว่า ถูกพบครั้งแรกในกรุงลิมา ประเทศเปรู เมื่อเดือน ส.ค. 2563 จากนั้นในเดือน เม.ย. 2564 ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักของประเทศ โดยตรวจพบสายพันธุ์นี้มากถึงร้อยละ 97 ของไวรัสโควิดทั้งหมดที่พบในประเทศเปรูในช่วงเวลาดังกล่าว 

จากนั้นในวันที่ 14 มิ.ย. 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้สายพันธุ์แลมบ์ดาอยู่ในสถานะ สายพันธุ์ที่น่าสนใจ (global variant of interest)” เพราะผบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์นี้แล้วใน 29 ประเทศ ตามด้วยกระทรวงสาธารณสุขประเทศอังกฤษ ระบุในวันที่ 23 มิ.ย. 2564 ว่าเป็น สายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการสืบสวน (variant under investigation)” เนื่องจากการขยายตัวของการแพร่กระจายไวรัสระหว่างประเทศและการกลายพันธุ์ที่น่าทึ่งหลายประการ โดยเวลานั้น มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อในอังกฤษแล้ว 8 ราย ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ

และแม้จะมีความกังวลจากลักษณะการกลายพันธุ์ที่อาจส่งผลให้เชื้อแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น แต่หลักฐานในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่อาจบ่งชี้ได้ว่า ไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์แลมบ์ดา ทำอันตรายต่อร่างกายมนุษย์มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้าแต่อย่างใด กระทั่งในเวลาต่อมาก็เป็นทราบกันว่า ไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา (Delta Variant) กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกในช่วงเดือนก.ย. 2564 ตามด้วยการมาของไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron Variant) ในช่วงปลายปี 2564 (ในเวลานั้นสื่อไทยหลายสำนักเรียกว่าสายพันธุ์โอไมครอน) และปัจจุบันก็ยังคงเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ที่เป็นสายพันธุ์หลัก เพียงแต่มีการแตกเป็นสายพันธุ์ย่อยที่ต้องติดตามกันต่อไป

(2) คุณหมอ รพ.รามาธิบดี กล่าวถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงมาก แนะนำไม่จำเป็นอย่าออกจากบ้านและอย่าให้บุคคลภายนอกเข้ามาในบ้าน แต่หากจำเป็นต้องออกจากกบ้านก็ให้สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น : ข่าวนี้ผู้เขียนไม่สามารถสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตได้ว่ามีการเผยแพร่และส่งต่อกันในช่วงเวลาใด เช่นเดียวกับไม่พบรายงานข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบความถูกต้องของข่าวนี้ทั้งจากสื่อมวลชนและจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ รวมถึงไม่พบคำชี้แจงจากผู้ถูกพาดพิงคือ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (เมื่อเทียบกับทางคณะแทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต้องชี้แจงกรณีคณบดีเตือนโควิดระบาดหลายครั้ง) 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรง อาทิ ในเดือน ส.ค. 2564 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา มีคำแนะนำจาก กรมควบคุมโรค ระบุว่า ควรสวมหน้ากากตลอดเวลา ทั้งขณะอยู่ในบ้านและนอกบ้าน โดยยึดหลัก 3 ถูก ถูกเวลา ถูกวิธี ถูกชนิด ในบ้านเป็นพื้นที่ปิด สามารถใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 1 ชั้นก็เพียงพอ แต่หากต้องไปในแหล่งชุมชน เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ซูเปอร์มาร์เก็ต ขอให้ใส่ 2 ชั้น โดยใส่หน้ากากทางการแพทย์ไว้ด้านใน และสวมหน้ากากผ้าไว้ด้านนอก จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและป้องกันเชื้อได้ดียิ่งขึ้น

(3) คำแนะนำในโรงพยาบาลกักกัน , (4) กินอาหารกรด-ด่าง กับการกำจัดเชื้อโควิด-19 , (5) น้ำอุ่นผสมมะนาวสามารถกำจัดไวรัสโควิด-19 : ทั้ง 3 เรื่องนี้ ล่าสุด กรมควบคุมโรค เพิ่งชี้แจงว่าเป็นข่าวปลอม เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 (วันเดียวกับที่ผู้เขียนสืบค้นข้อมูลเพื่อเขียนบทความนี้) ได้ตรวจสอบประเด็นคำแนะนำการดูแลตนเองเมื่อติดเชื้อโควิด 19 เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน แล้ว พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ กรมควบคุมโรคขอชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการสร้างข้อมูลเท็จนำมาเผยแพร่ซ้ำเพื่อสร้างความเข้าใจผิด ปัจจุบันยังไม่มีรายงาน ข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ใดๆ ใดยืนยันว่า ข้อแนะนำดังกล่าวเป็นข้อแนะนำที่ถูกต้อง

สำหรับการป้องกันตนเองจากโรคโควิด 19 ที่ดีที่สุดขณะนี้ คือ ลดการสัมผัสที่ไม่จำเป็น หมั่นล้างมือให้สะอาด ควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรือไปในที่สาธารณะ และหากป่วยด้วยอาการทางเดินหายใจ ให้ตรวจ ATK รวมทั้งหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 (กลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว เช่นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง,โรคหัวใจและหลอดเลือด,โรคไตวายเรื้อรัง,โรคหลอดเลือดสมอง,โรคอ้วน, โรคมะเร็ง,โรคเบาหวาน เป็นต้น และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เมื่อตรวจพบผลบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากาก และสังเกตอาการ หากมีอาการมากให้ไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม สำหรับข่าวปลอมที่แชร์กันเรื่องกินอาหารเป็นด่างกับการกำจัดเชื้อโควิด-19 เคยมีการชี้แจงกันมาแล้วหลายครั้ง โดยที่คำชี้แจงที่เก่าที่สุดเท่าที่สืบค้นได้ คือช่วงเดือน เม.ย. 2563 อันเป็นช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดเป็นระลอกแรก สำหรับการกินอาหารเป็นกรดกับโควิดนั้น เท่าที่สืบค้นได้ไม่พบว่ามีการแชร์ข่าวและคำชี้แจงก่อนหน้าวันที่ 26 พ.ค. 2566 โดยกรมควบคุมโรค ดังที่กล่าวไปข้างต้น ในขณะที่การดื่มน้ำอุ่นผสมมะนาวฆ่าเชื้อโควิด-19 เคยมีคำชี้แจงตั้งแต่เดือนต.ค. 2563 โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ว่าไม่เป็นความจริง โดยเวลานั้นมีการแชร์ข่าวว่าดื่มน้ำมะนาวร้อนทำลายเชื้อโควิด-19

แม้ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกจะยุติการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 ในระดับโลกแล้ว แต่โรคดังกล่าวก็ไม่ได้หายไปไหนและพร้อมกลับมาระบาดเป็นระยะๆ ดังนั้นจึงยังมีคำเตือน การ์ดอย่าตกให้แต่ละคนยังคงรักษามาตรการที่เคยปฏิบัติมา เมื่อทุกคนอยากลดความเสี่ยงและสามารถสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมี ข่าวปลอมถูกแชร์ปะปนไปด้วย แม้บางข่าวจะเคยตรวจสอบแล้วว่าไม่จริงแต่ก็ยังถูกแชร์วนซ้ำ ดังนั้นจึงต้องย้ำกันเสมอว่า เช็คให้ชัวร์ก่อนเชื่อ (และแชร์)โดยเฉพาะในกลุ่มปิด (เช่น กลุ่มแชทในแอปพลิเคชันไลน์) ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมักเป็นคนที่รู้จักจึงอาจเกรงใจไม่กล้าเตือนกัน!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.si.mahidol.ac.th/th/hotnewsdetail.asp?hn_id=2685 (ข่าวปลอม อย่าแชร์! หมอประสิทธิ์ คณบดีศิริราช แจ้งข่าวพบสายพันธุ์แลมบ์ดาระบาดในเขตมีนบุรี และขอให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง : คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 1 ส.ค. 2564)

https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-โควิด19-สายพันธุ์แลมบ์ดาระบาดหนักในเขตมีนบุรี-หมอประสิทธิ์-ขอให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! โควิด19 สายพันธุ์แลมบ์ดาระบาดหนักในเขตมีนบุรี หมอประสิทธิ์ ขอให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 22 ต.ค. 2564)

https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-โควิด19-2/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! โควิด19 สายพันธุ์แลมบ์ดาระบาดหนักในเขตมีนบุรี หมอประสิทธิ์ ขอให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 17 พ.ย. 2565)

https://www.si.mahidol.ac.th/th/hotnewsdetail.asp?hn_id=2676 (ข่าวปลอม อย่าแชร์! คลิปเสียงจากคณบดีศิริราช ขอความร่วมมือให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง : คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 29 มิ.ย. 2564)

https://www.gavi.org/vaccineswork/covid-lambda-variant-now-29-countries-what-evidence-do-we-have-its-more-dangerous?gclid=EAIaIQobChMI3KLfx_yS_wIVEzQrCh0c7AwuEAAYASAAEgKbxfD_BwE (COVID: lambda variant is now in 29 countries, but what evidence do we have that it’s more dangerous? : GAVI 13 ก.ค. 2564)

https://mgronline.com/around/detail/9640000094266 (แรงจริง!WHOชี้’เดลตา’ครองโลก กลบไวรัสโควิด19สายพันธุ์อื่นๆมิด : ผู้จัดการ 23 ก.ย. 2564)

https://thaipublica.org/2021/12/who-tedros-warns-of-tsunami-omicron-delta-cases/ (WHO เตือนสึนามิยอดติดเชื้อโควิด จากโอไมครอน-เดลตา : Thaipublica 29 ธ.ค. 2564)

https://www.matichon.co.th/foreign/news_3525988 (WHO ชี้ ‘โอมิครอน’ ครองโลก สัดส่วนระบาด 99% : มติชน 25 ส.ค. 2565)

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230507112711391 (สหรัฐฯ เฝ้าระวังเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย เอ็กซ์บีบี.1.16 ที่ยังคงระบาดอย่างรวดเร็ว : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 7 พ.ค. 2566)

https://www.thairath.co.th/news/local/2694074 (มรสุม! โอมิครอน สุ่มเสี่ยงลองโควิด : ไทยรัฐ 16 พ.ค. 2566) 

https://www.pptvhd36.com/health/news/3343 (ไทยพบแล้ว1 คน! ทั่วโลกจับตาโอมิครอน FU.1(XBB.1.16.1.1)ลูกหลาน XBB.1.16 : PPTV 17 พ.ค. 2566)

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1733923853460493&id=470988516420706&locale=th_TH&paipv=0&eav=AfZH8egSkowzqVoh4JPtYmbxS2TCnYmZv1u0CzYOPkrBI1-t7fEBdWi0zeNge8hI-9M&_rdr (กรมควบคุมโรค แนะนำเคร่งครัด ใส่แมสก์ 2 ชั้น เข้าแหล่งชุมชน : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 5 ส.ค. 2564)

https://www.facebook.com/photo/?fbid=566802322265429&set=a.249595710652760 (ข่าวปลอม อย่าแชร์!! กรมควบคุมโรคได้ตรวจสอบประเด็น “คำแนะนำการดูแลตนเองเมื่อติดเชื้อโควิด 19 เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน” แล้ว พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 26 พ.ค. 2566)

https://www.thairath.co.th/news/society/1823321 (ข่าวปลอม อย่าแชร์ กินอาหารเป็นด่าง ฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้ : ไทยรัฐ 17 เม.ย. 2563) 

https://mgronline.com/factcheck/detail/9630000126476 (ข่าวปลอม! กินผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ : ผู้จัดการ 10 ธ.ค. 2563)

https://www.dtam.moph.go.th/index.php/th/trust-news/6186-trust0003 (ดื่มน้ำมะนาวร้อนทุกวัน ทำลายเชื้อ ไม่ติดโควิด-19แน่นอน : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 13 ต.ค. 2563)

https://www.bbc.com/thai/articles/ce9x7rew95po (โควิด : องค์การอนามัยโลกประกาศยุติสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 : BBC ไทย 5 พ.ค. 2566)

https://www.hfocus.org/content/2023/05/27609 (สธ.เผย WHO ยุติ “โควิด19” จากภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขโลก แต่ยังเป็นโรคประจำถิ่น พร้อมเฝ้าระวังต่อเนื่อง : Hfocus 6 พ.ค. 2566)

https://blog.cofact.org/cofact-press-may-27-21/ (งานวิจัยพบ‘ข่าวลวง’เสี่ยงระบาดหนักใน‘กลุ่มปิด’ แนะแพลตฟอร์มหาวิธีแก้ไข-สร้างอาสาฯร่วมตรวจสอบ : Cofact 27 พ.ค. 2564)