ไขข้อข้องใจ ‘ห้ามนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปไต้หวัน’ ข่าวนี้มีที่มาอย่างไร? COFACT Special Report #35
บทความโดย : Zhang Taehun
“ไปไต้หวันอย่าพกมาม่า” เป็นข้อความเขียนบนภาพที่เพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่งเผยแพร่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2565 (เท่าที่สืบค้นได้) แล้วมีการส่งต่อกันอย่างต่อเนื่องพร้อมกับคำถามว่า “จริงหรือ?” ซึ่งก็ต้องบอกว่าข่าวนี้เป็น “ข่าวจริง” เนื่องจากไต้หวัน หรือจีนไทเปนั้นออกประกาศ “ห้ามนำเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากหมูของประเทศไทยเข้าไต้หวันโดยเด็ดขาด” เพจดังกล่าวจึงมีการโพสต์เพื่อแจ้งเตือนชาวไทยที่จะเดินทางไปไต้หวันทั้งไปเที่ยวและทำงาน
ที่มาที่ไปของการเตือนนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 เว็บไซต์ Focus Taiwan ซึ่งอยู่ในเครือ สำนักข่าวแห่งชาติไต้หวัน (CNA) เป็นองค์กรของรัฐที่มีภารกิจคล้ายกับสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ (PRD-NBT) ของไทย เสนอข่าวระบุว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินกลาง (CEOC) เกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) ออกประกาศเตือนว่า หากตรวจพบการนำเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมูจากประเทศไทยเข้าไต้หวัน จะถือว่ามีความผิดโดยจะถูกลงโทษปรับอย่างน้อย 2 แสนเหรียญไต้หวัน หรือ 7,218 เหรียญสหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2 แสนบาท) ตามมาตรการสกัดกั้นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่กำลังระบาดอยู่ในไทย
ก่อนหน้านั้นในวันที่ 9 ม.ค. 2565 เว็บไซต์ Taipei Times หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของไต้หวัน รายงานข่าวโดยอ้างคำเตือนของกระทรวงแรงงานไต้หวัน ระบุว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไต้หวัน หากถูกจับกุมข้อหานำเข้าผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์จากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร รวมถึงแรงงานที่ได้รับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วไม่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะถูกลงโทษปรับแล้ว ยังต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงานและส่งกลับประเทศด้วย
รายงานข่าวจาก Taipei Times กล่าวต่อไปว่า กุนเชียงหมูที่ส่งมาจากประเทศไทย ถูกพบโดยสำนักงานไปรษณีย์ไถหนานของไต้หวัน ว่าปนเปื้อนไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF หลังจากส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 และมีการยืนยันผลตรวจอีกครั้งในวันที่ 22 ธ.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดฐานลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ตามกฎหมายไต้หวันมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หรือปรับสูงสุด 3 ล้านเหรียญไต้หวัน หรือ 108,342 เหรียญสหรัฐ (หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3 ล้านบาท)
สำหรับพัสดุที่มีผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่ญาติหรือเพื่อนส่งมาให้จากต่างประเทศ ควรส่งไปที่สำนักตรวจสอบและกักกันสุขภาพสัตว์และพืช หรือสำนักงานคุ้มครองสัตว์ในท้องถิ่นเพื่อทำลาย หากฝ่าฝืนจะถูกปรับไม่เกิน 150,000 เหรียญไต้หวัน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.7 แสนบาท) ตามกฎหมายบริการจัดหางาน (the Employment Service Act) อีกทั้งยังกำชับให้นายจ้างไม่ส่งต่อเศษอาหารจากหอพักของแรงงานต่างด้าวไปยังฟาร์มเลี้ยงหมูด้วย ทั้งนี้ ไต้หวันยังมีกฎหมายกำหนดให้ขยะเศษอาหารจากครัว ต้องผ่านการอบไอน้ำที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 90 องศาเซลเซียสเพื่อฆ่าเชื้อ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง
ในวันที่ 11 ม.ค. 2565 Taipei Times ยังรายงานข่าวอีกว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินกลาง (CEOC) เกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) ออกประกาศห้ามนำผลิตภัณฑ์จากหมูที่มีแหล่งที่มาจากประเทศไทยเข้าไต้หวัน โดยผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษปรับ หากเป็นความผิดครั้งแรกค่าปรับจะอยู่ที่ 2 แสนเหรียญไต้หวัน หรือประมาณ 2 แสนบาท และหากกระทำผิดซ้ำโทษปรับจะเพิ่มเป็น 1 ล้านเหรียญไต้หวัน หรือประมาณ 1 ล้านบาท ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นชาวต่างชาติ หากไม่สามารถจ่ายค่าปรับได้จะถูกห้ามเข้าไต้หวันและถูกส่งตัวกลับประเทศทันที
ขณะที่ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 (แจ้งซ้ำอีกครั้งวันที่ 11 ก.พ. 2565 ) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ออกประกาศงดการฝากส่งเนื้อสุกร/ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร ที่อาจปนเปื้อนอหิวาต์แอฟริกาไปยังปลายทางไต้หวัน ยกเว้นผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรที่ผ่านการแปรรูปด้วยอุณหภูมิสูง และอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดผนึกหนาแน่น เช่น ในรูปแบบอาหารกระป๋องหรือ ถุง/ซองพลาสติกสุญญากาศ (Retort Pouch)
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 ส.ค. 2565 (แจ้งซ้ำอีกครั้งวันที่ 7 ก.ย. 2565) ไปรษณีย์ไทย ออกประกาศงดการฝากส่งเนื้อสุกร/ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรทุกรูปแบบไปยังปลายทางไต้หวัน (จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง) ซึ่งสืบเนื่องจาก ไปรษณีย์ไทย ได้รับแจ้งจากไปรษณีย์ไต้หวัน (Chunghwa Post) ให้งดฝากส่งเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากหมูดังกล่าว ตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยประกาศฉบับนี้ถือเป็นการ “ยกระดับความเข้มงวด” จากประกาศฉบับก่อนหน้าในเดือน ก.พ. 2565 ที่มีข้อยกเว้นผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรที่ผ่านการแปรรูปด้วยอุณหภูมิสูง และอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดผนึกหนาแน่น เป็นการงดผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรทุกรูปแบบ
ประกาศเรื่องงดการฝากส่งเนื้อสุกร/ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรทุกรูปแบบไปยังปลายทางไต้หวัน (จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง) ยังได้รับการกำชับเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. 2565 จาก ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ว่า จากกรณีที่การไปรษณีย์ไต้หวัน (Chunghwa Post) แจ้งงดการฝากส่งผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรทุกรูปแบบไปยังปลายทางไต้หวัน เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ African Swine Flu : ASF นั้น
ในส่วนของไปรษณีย์ไทย จึงขอประกาศงดฝากสิ่งของที่ภายในบรรจุเนื้อสุกร/ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรทุกรูปแบบ อาทิ กุนเชียง แคปหมู หมูกระจก หมูหยอง หมูแผ่น “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมู” “ผงปรุงรสหมู” ไปยังปลายทางไต้หวันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง หากตรวจพบสิ่งของที่บรรจุเนื้อสุกร/ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรทุกรูปแบบในเส้นทางการขนส่งของไปรษณีย์ระหว่างประเทศ จะถูกส่งคืนไปยังไปรษณีย์ที่ฝากส่ง
หากตรวจพบในขั้นตอนการนำเข้าจะถูกทำลายหรือกักโดยกรมตรวจสอบสุขอนามัย และการกักกันพืชและสัตว์ หรือ Bureau of Animal and Plant Health Inspection and Quarantine : BAPHIQ ของไต้หวัน ทั้งนี้ ผู้รับที่มีชื่อตามจ่าหน้าสิ่งของที่ฝากส่งจะต้องระวางโทษปรับ ในกรณีตรวจพบครั้งแรก อัตราค่าปรับสูงสุด 2 แสนเหรียญไต้หวัน หรือ ประมาณ 2.4 แสนบาท กรณีตรวจพบครั้งต่อไป อัตราค่าปรับสูงสุด 1 ล้านเหรียญไต้หวัน หรือ ประมาณ 1.2 ล้านบาท
ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ของไทย ระบุว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนแต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและควบคุมโรค ในขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิต และยิ่งกว่านั้นโรคนี้เป็นโรค ที่มีความความรุนแรงทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ 100%
โดยประเทศไทยนั้นเริ่มมีกระแสข่าวว่า พบผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูในไทยปนเปื้อนเชื้อก่อโรค ASF ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 ซึ่งเป็นรายงานจากไต้หวัน พบกุนเชียงเนื้อหมูปนเปื้อนเชื่อดังกล่าว แต่ในเวลานั้น กรมปศุสัตว์ของไทย ชี้แจงว่า เนื้อหมูที่นำมาใช้ผลิตกุนเชียงน่าจะมีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากยังไม่พบผลทางห้องปฏิบัติการจากการเฝ้าระวังภายในประเทศ กระทั่งวันที่ 11 ม.ค. 2565 จึงมีการรายงานยืนยัน พบเชื้อ ASF เป็นครั้งแรก จากตัวอย่างที่เก็บจากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.นครปฐม
สรุปแล้ว “ข่าวนี้เป็นเรื่องจริง” แต่ต้องระบุให้ชัดว่า “ห้ามนำมาม่า” หรือภาษาทางการคือ “ห้ามนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ในกลุ่ม “รสหมู” ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นหมูสับ หมูต้มยำ หมูน้ำตก ฯลฯ ไปไต้หวันโดยเด็ดขาด!!!
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
อ้างอิง
https://focustaiwan.tw/society/202201110028 (Fines to be imposed for bringing Thai pork into Taiwan : Taiwan Focus 11 ม.ค. 2565)
https://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2022/01/09/2003771016 (Illegal pork may lead to deportation, ministry warns : Taipei Times 9 ม.ค. 2565)
https://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/2022/01/13/2003771287 (Illegal Thai pork imports face NT$200,000 fine : Taipei Times 11 ม.ค. 2565)
https://international.thailandpost.com/thp_announcement_taiwan/ (ประกาศงดการฝากส่งเนื้อสุกร/ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร ที่อาจปนเปื้อนอหิวาต์แอฟริกา ไปยังปลายทางไต้หวัน ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป : 4 และ 11 ก.พ. 2565)
https://www.thailandpost.co.th/un/article_detail/product/550/24735 (ประกาศงดการฝากส่งเนื้อสุกร/ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรทุกรูปแบบไปยังปลายทางไต้หวัน จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง : 23 ส.ค. และ 7 ก.ย. 2565)
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1026228 (ปณท งดส่ง ‘หมู’ ปลายทางไต้หวันทุกผลิตภัณฑ์ : กรุงเทพธุรกิจ 12 ก.ย. 2565)
https://www.prachachat.net/ict/news-1042363 (“ไปรษณีย์ไทย” งดส่งเนื้อสุกร-ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร ไปไต้หวัน : 8 ก.ย. 2565)
https://dld.go.th/th/images/stories/hotissue/asf/ContingencyPlanAndCPG2.pdf (แผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Contingency plan) และแนวทางเวชปฏิบัติของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Clinical Practice Guideline) : กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
https://www.bangkokbiznews.com/business/979173 (ปศุสัตว์ ยันหมูไทยปลอด ASF ที่ไต้หวันเจอ คือ ลักลอบ : กรุงเทพธุรกิจ 24 ธ.ค. 2564)
https://www.prachachat.net/prachachat-top-story/news-839139 (อธิบดีปศุสัตว์ยอมรับเป็นทางการครั้งแรก พบโรค ASF ในหมู : 11 ม.ค. 2565)
https://dld.go.th/th/index.php/th/newsflash/341-news-hotissue/25151-hotissue-25650722-2 (“อธิบดีกรมปศุสัตว์แจงอภิปรายฝ่ายค้านชัดทุกประเด็น ชี้ ร่วมทุกภาคส่วนคุม ASF ในหมู อย่างเปิดเผย โปร่งใส มีประสิทธิภาพ” : 22 ก.ค. 2565)
https://www.taiwantourism.org/th/tourism-informations/visa/#menus
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-