บทเรียนข่าวลวง จากเลือกตั้งไทยสู่เลือกตั้งใหญ่ในไต้หวัน-อินโดฯ COFACT Special Report 29/67

กุลชาดา ชัยพิพัฒน์

ที่ปรึกษาโคแฟค ประเทศไทย

การเลือกตั้งทั่วไปของไทยเมื่อกลางปี 2566 ผ่านไปพร้อมกับอารมณ์ที่ค้างคาของผู้คนจำนวนมากที่คาดหวังให้ผลของการเลือกตั้งฯ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อใจและประชาธิปไตย ทั้งยังทิ้งอาการกระอักกระอ่วนของการพัฒนา “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ไว้เป็นบทเรียน

ในมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบข้อมูลเท็จหรือข้อมูลบิดเบือนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถือว่าการปล่อยให้ข้อมูลเหล่านี้ทำงานโดยไม่มีกลไกคัดง้าง และถูกผู้ที่มีอำนาจใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปิดปากหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน หรือใช้เพื่อทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง ย่อมส่งผลเสียต่อประชาธิปไตยที่ถ่วงดุล ทำให้สังคมเกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน และไม่สามารถพูดคุยกันได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล 

ในขณะเดียวกัน หากดึงเอาอำนาจรัฐเข้าไปกำกับดูแลหรือแทรกแซงมากเกินไป ก็อาจไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ซ้ำร้ายอาจเป็นการสร้างแรงกดดันหรือบรรทัดฐานใหม่ที่ถูกนำมาใช้ เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงออกยิ่งขึ้นไปอีกได้เช่นกัน

“แล้วอย่างไรถึงจะเรียกว่าเหมาะสมและเพียงพอต่อสถานการณ์?” นี่คือคำถามและความท้าทายใหม่ที่ถกเถียงกันอย่างมากในเวทีพูดคุยในประเทศและต่างประเทศที่ “โคแฟค” ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ข่าวลวงในประเทศไทย และประสบการณ์การตรวจสอบข้อเท็จจริงตลอดปีที่ผ่านมา

ในเวที Bali Civil Society and Media Forum (BCSMF) ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นที่เกาะบาลี ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา มีการพูดคุยกันถึงสภาพปัญหาและมาตรการจัดการกับข้อมูลลวงอย่างจริงจัง โดยตัวแทนจาก ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการพัฒนาการเมืองและสังคม นักกิจกรรมทางการเมือง นักสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชน ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิก ต่างแสดงความวิตกกังวลต่อปัญหาข้อมูลลวงที่อาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลก รวมทั้งไต้หวันและอินโดนีเซียซึ่งจะจัดขึ้นวันเสาร์ที่ 13 มกราคม และวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ตามลำดับ

ก่อนหน้านี้ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้เผยแพร่รายงานผลสำรวจความเห็นของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ 8,000 คน ใน 16 ประเทศที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในปีนี้ ซึ่งจัดทำขึ้นร่วมกับ IPSOS ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญเรื่องการวิจัยการตลาดและความสำรวจเห็นสาธารณะทั่วโลก ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 87 ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีความกังวลว่าข่าวลวงจะส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้ง โดยในจำนวนนี้รู้สึก “กังวลมาก” ถึงร้อยละ 47 

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่าสื่อสังคมออไลน์เป็นแหล่งที่มีการเผยแพร่ข่าวลวงมากที่สุด และพบข้อความที่สร้างความเกลียดชังมากที่สุดในเฟซบุ๊ก

อีกประเด็นหนึ่งที่ความเห็นส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถามพูดถึง คือต้องการให้มีการกำกับดูแลแพลตฟอร์มร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในเรื่องความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มในช่วงการเลือกตั้ง

เวที BCSMF จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดย Westminster Democracy Foundation องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย โดยในครั้งนี้จัดขึ้นท่ามกลางรูปรอยของการเติบโตหรือการฟื้นคืนของอำนาจนิยมในหลายประเทศ หรือที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งเรียกว่า “กระแสประชาธิปไตยถดถอย”  ซึ่งในหลายๆกรณี กลุ่มการเมืองที่มีลักษณะอำนาจนิยมได้อาศัยการเลือกตั้งเป็นกลไกในการเข้าสู่อำนาจหรือรักษาอำนาจไว้ และมีการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ เพื่อให้ได้รับชัยชนะในระดับที่ส่งผลต่อความสุจริตการเลือกตั้ง

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองหลายชาติต่างแสดงความกังวลว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในไต้หวันและอินโดนีเซียจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลดีต่อประชาธิปไตย  เช่นในกรณีของไต้หวันนับเป็นการเลือกตั้งที่เดิมพันสูงมาก เพราะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2563 โดยพรรครัฐบาล Democratic Progressive Party (DPP) ซึ่งมีนโยบายแข็งกร้าวต่อจีน กับพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang) ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมคู่แข่งที่มีนโยบายส่งเสริมความสัมพันธ์แนบแน่นกับจีน มีคะแนนสูสีกันในโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทำให้เป็นที่วิตกกังวลกันว่า การปล่อยข้อมูลลวงหรือข้อมูลเท็จในเรื่องที่อ่อนไหวเกี่ยวกับความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง อาจทำให้คะแนนเสียงพลิกผันเทไปข้างใดข้างหนึ่งในพริบตา

ส่วนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียครั้งนี้ นอกจากความท้าทายในการจัดการกับปัญหาข้อมูลลวงซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ที่ความรู้เท่าทันสื่อและการสื่อสารดิจิตอลของประชาชนมีจำกัดและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ไม่เท่าเทียมกัน สืบเนื่องจากสภาพประเทศที่เป็นเกาะกว่า 18,000 เกาะและมีประชากรกว่า 280 ล้านคนในปี 2566 แล้ว กระแสความนิยมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จากพรรคฝ่ายอำนาจเก่า คือ นายพล ปราโบโว ซุเบียนโต รัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลผสมปัจจุบันของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด โดยปราศจากคู่แข่งที่สูสี 

หากนายพลปราโบโว ซึ่งในเป็นอดีตเคยผู้นำทหารในรัฐบาลเผด็จการของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตที่ลงจากอำนาจในปี 2541 และเสีบชีวิตในเวลาต่อมา ได้รับชัยชนะพร้อมกับกิบรัน รากาบูมิง รากา คู่สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดโซโลและบุตรคนโตของโจโควี ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมฟื้นคืนกลับสู่อำนาจอย่างเต็มรูปแบบ และอาจทำให้อินโดนีเซียสิ้นสุดยุคประชาธิปไตยแบบถ่วงดุล เนื่องจากระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลในสภาผู้แทนราษฎรก็ถูกกุมอำนาจโดยส.ส.จากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่อยู่เป็นทุนเดิม

จากประสบการณ์ของไทยสู่อินโดนีเซีย

ประเทศไทยมีบทเรียนในการจัดการกับข้อมูลลวงในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่น่าสนใจ คือ การตื่นตัวแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของภาคประชาสังคม ประชาชน และสื่อมวลชนในการตรวจสอบการทำการงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จับตาการทุจริตเลือกตั้งและข้อมูลลวง รวมทั้งบทบาทของแพลตฟอร์มทั้งในการให้ข้อมูลการเลือกตั้งที่ถูกต้องแก่ประชาชน และการเฝ้าระวังที่เข้มข้นมากขึ้นในการคัดกรองข้อมูลบนแพลตฟอร์มช่วงการเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราได้เห็นทั้งมาตรการเชิงรับและเชิงรุกของภาคประชาชน เช่น (1) การส่งอาสาสมัครลงพื้นที่ครบทุกหน่วยเลือกตั้งเพื่อสังเกตุการณ์การเลือกตั้งของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ (iLaw) และแนวร่วมทั้งในและต่างประเทศ (2) การตรวจสอบข่าวลวงการเมืองโดยโคแฟค การตรวจสอบการละเมิดจรรยาบรรณการใช้สื่อสังออนไลน์ในการหาเสียงที่พรรคการเมือง 37 พรรค ร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ลงนามไว้ก่อนการเลือกตั้ง โดยกลุ่มนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และสื่อสารมวลชน นักวิเคราะห์ข้อมูลดิจิตอลขนาดใหญ่จากทีม Digital Election Analytic Lab (DEAL) และทีมอาสาสมัครของกลุ่ม WeWatch และ (3) การติดตาม “สัญญาว่าจะทำ” ที่พรรคการเมืองให้ไว้เพื่อเรียกคะแนนเสียง โดยกลุ่ม WeVis ที่ทำงานรณรงค์ในเรื่อง open governance ทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเชิงรับ

สำหรับมาตรการเชิงรุกได้แก่ (4) การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะข่าวเชิงสื่อสารทางออกให้สังคม (solution journalism) ทั้งในการเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองต่างๆได้สื่อสารกับสังคมและชี้แจงนโยบายพรรคอย่างกว้างขวาง และ (5) การตื่นตัวในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชาวเน็ต โดยการใช้แพลตฟอร์มสื่อสารและติดตามการหาเสียงหรือตรวจสอบข่าวลวงที่หวังผลทำลายพรรคการเมืองและผู้สมัครที่ตนเองชื่นชม ยังเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้กระบวนการเผยแพร่ข้อมูลลวงตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงปลายผู้รับสาร ทางทำงานได้ยากขึ้น 

ด้วยมาตรการเหล่านี้ ประกอบกับกระแสความนิยมในพรรคก้าวไกลที่สูงมากอย่างต่อเนื่องในช่วงสามเดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ทำให้ผลกระทบของข้อมูลลวงที่มุ่งทำลายความสุจริตของการเลือกตั้งอยู่ในวงจำกัด และทำให้พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างท่วมท้นและคาดไม่ถึง

ข้อค้นพบที่สำคัญจากการตรวจสอบข้อมูลลวงและการหักล้างข้อเท็จจริงของโคแฟคและภาคประชาสังคมอื่น ๆที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ พรรคการเมืองหลักๆมีการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์เพื่อสร้างความนิยมให้กับพรรคและผู้สมัครของตนในระดับที่ต่างกัน แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อสกัดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลลวง ตลอดจนการสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลดิจิตอลเพื่อหาตัวผู้เผยแพร่ข้อมูลเท็จ รวมทั้งต้นตอของการกระทำนั้นและเนื้อหาที่ละเมิดมาตรฐานชุมชนของแพลตฟอร์มหรือจรรยาบรรณการหาเสียงฯ  ทำได้ยากในเวลาจำกัด และยังต้องอาศัยความร่วมมือจากแพลตฟอร์มทั้งในระดับนโยบายและภาคปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อสกัดกั้นหรือจำกัดการเผยแพร่ของข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที 

นอกจากนี้ บทบาทของสื่อมวลชนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเข้าสู่ระบบนิเวศน์การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งในการหักล้างข้อมูลเท็จยังทำได้จำกัดเนื่องจากกำลังคนที่ไม่เพียงพอและสภาวะการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองแบบสุดขั้ว (polarization) ในขณะที่ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์มีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งเรื่องเนื้อหา ผู้ใช้งาน และเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิตอลและการสร้างคอนเทนต์โดย AI (AI-generated content)[a] ที่จับเท็จได้ยากยิ่งขึ้น แต่แพร่ง่ายและรวดเร็ว เช่นกรณีการนำคลิปเสียงของผู้ที่วิจารณ์พรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรงมาปลอมเป็นเสียงของนายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยที่ทางโคแฟคได้ตรวจสอบไปในช่วงการเลือกตังปี ‘66’ อีกทั้งการตระหนักรู้ของประชาชนในการแยกแยะข้อมูลจริงหรือเท็จยังอยู่ในวงจำกัด

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทั้งบรรยากาศและภูมิทัศน์การเมืองภายหลังการเลือกตั้ง จากการติดตามข้อมูลลวงในโลกออนไลน์และตรวจสอบข้อเท็จจริงของโคแฟคและกลุ่มต่างๆ มีข้อสังเกตที่ตรงกันคือ ขบวนการและปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนให้ “ระบอบประยุทธ์” ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากว่า 8 ปี กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ถูกฉวยใช้อย่างเข้มข้นและเป็นระบบในจังหวะที่เหมาะสม ตลอดช่วงหลังการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการทางรัฐสภาและการใช้กฎหมายอาญาและความมั่นคงในการสกัดกั้น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น ไม่ให้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในที่สุด ทั้งยังส่งผลให้พรรคก้าวไกลในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้านเจออุปสรรคมากมายในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

‘ข้อมูลจริงที่เจตนาร้าย’

สิ่งท้าทายการตรวจสอบข้อมูลลวงทางการเมืองอย่างมาก คือ การใช้ข้อมูลจริงที่มีเจตนามุ่งร้ายต่อเป้าหมายของคนบงการ ผู้ผลิตข้อมูลและผู้เผยแพร่ หรือที่เรียกว่า “malinformation” ซึ่งร้ายลึกยิ่งกว่าข้อมูลบิดเบือน เพราะข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นข้อมูลส่วนบุคคล หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอดีต หรือเหตุการณ์ต่างกรรมต่างวาระ แต่ถูกขุดขึ้นมาและนำมาเชื่อมโยงกับความคิดเห็นและความเชื่อส่วนตัวหรือนำมาใช้ในบริบทที่บิดเบือนไป เพื่อทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของเป้าหมาย 

ตัวอย่างที่ชัดเจนของ malinformation คือโยงเอาข้อมูลต่างๆ มาสร้างเป็นทฤษฎีสมคบคิด เช่น กรณีการสร้างชุดข้อมูลเพื่อกล่าวหาว่า ทางการสหรัฐแทรกแซงการเลือกตั้งของไทยผ่านภาคประชาสังคมและพรรคก้าวไกล โดยมีขบวนการปล่อยข้อมูลอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง หรือหลังการเลือกตั้ง, กรณีการประโคมข่าว “ตั๋วปารีส” ซี่งเป็นชุดข้อมูลที่กล่าวหาว่าบุคคลในพรรคก้าวไกลและผู้ก่อตั้งพรรคมีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับการสนับสนุนจาก “ขบวนการล้มเจ้า” ในต่างประเทศ อันประกอบไปด้วยเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนแลประชาธิปไตย เพื่อมาเร่งแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

อีกทั้งยังมีกรณีการกล่าวอ้างว่า พรรคเป็นธรรม ซึ่งอยู่ในแนวร่วม 8 พรรคฝ่ายค้านเดิมที่จับมือกันจัดตั้งรัฐบาลในขณะนั้น มีนโยบายสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดงของกลุ่มมุสลิมติดอาวุธในภาคใต้  

กระบวนการในการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ มักมีขั้นตอนคล้ายๆกัน โดยเริ่มจากเพจหรือผู้ใช้งานเฟซบุ๊กและบัญชีทวิตเตอร์ (เอ็กซ์) ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ทั้งสายการเมืองและสายเอนเทอร์เทนที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม จากนั้นสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่มีแนวคิดเดียวกันก็จะนำไปขยายความหรือเผยแพร่ต่อ (หรือบางทีก็ดำเนินการกลับกัน)

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นการเปิดตัวของเพจ “วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร” และกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวต่อต้านพรรคก้าวไกล เช่นทีม Reach ทางเฟซบุ๊กในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งในระยะแรกดูเสมือนเป็นตัวแทนของ “แนวร่วมประชาชน” ที่รณรงค์ต่อต้านการกระทำรุนแรงต่อสตรี และส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยเน้นการแฉพฤติกรรมของส.ส.พรรคก้าวไกลที่ตกเป็นข่าวเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ก่อนจะขยายวงเป็นการติดตามและเปิดโปงพฤติกรรมส่วนตัวอื่นๆและพฤติกรรมทางการเมืองที่ไม่เหมาะสม เช่น การตั้งคนใกล้ชิดเป็นผู้ช่วยส.ส.

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เราได้เห็นรูปแบบและการกระบวนการผลิตข้อมูลในลักษณะ malinformation ที่แตกต่างไปจากเดิม มีการใช้ขุดข้อมูลส่วนตัวในโลกออนไลน์และเกาะติดการทำงานของส.ส.หรือทีมงานสนับสนุนของพรรคก้าวไกลอย่างใกล้ชิด เพื่อนำภาพหรือกิจกรรมของบุคลคนเหล่านี้มาเผยแพร่ในทางที่มุ่งทำลายภาพลักษณ์ของบุคคลและพรรค เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การตื่นตัวของภาคประชาสังคมและประชาชนเริ่มลดลงภายหลังการเลือกตั้ง และการจัดการกับข้อมูลประเภท malinformation ยังทำมีข้อจำกัดอยู่มาก ด้วยปัจจัยเรื่องทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่จะมาตรวจสอบข้อมูลประเภทนี้ นอกจากนี้วิธีการหักล้างข้อมูลที่มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับรูปแบบและความซับซ้อนของข้อมูลลวง เช่นการทำ “prebunking” ซึ่งเป็นการตรวจสอบข่าวลวงและการหักล้างข้อมูลที่ช่วยสกัดกั้นการแพร่ลุกลามของข้อมูลลวงที่ส่งผลในวงกว้างและมีประสิทธิภาพกว่าวิธีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั่วไป ยังมีผู้ชำนาญการอยู่น้อยมาก

ข้อท้าทายอีกประการที่สำคัญคือ ความขัดแย้งทางการเมืองขั้วตรงข้ามแบบสุดโต่งในสังคมไทย ทำให้มุมมองในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ยังเป็นข้อถกเถียงที่หาข้อสรุปไม่ได้

สมดุลของเสรีภาพกับความปลอดภัย 

การจัดการกับข้อมูลลวงที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะข้อมูลลวงที่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยทั้งมาตรการตอบโต้และป้องกันที่สมดุลกันและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เพียงเพื่อลดผลกระทบของข้อมูลลวงต่อความสุจริตของการเลือกตั้ง แต่เพื่อจัดการกับต้นตอของปัญหาเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นบ่อนทำลายความสงบสุขของสังคมยิ่งขึ้นไปอีก

ข้อเสนอที่สำคัญของที่ประชุม BCSMF คือ การจัดสรรทรัพยากรมาสนับสนุนการศึกษาให้กับประชาชนในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อและการสื่อสารในโลกดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันภาครัฐ ภาคประชาสังคมและเอกชน รวมทั้งสื่อมวลชนและแพลตฟอร์มต้องทำงานร่วมกันมากขึ้นเพื่อสร้างกลไกที่มีความยืดหยุ่นและเครื่องมือในการตรวจสอบข่างลวงและวิธีการตรวจสอบข้อเท็จที่ก้าวหน้าและเท่าทันเทคโนโลยี เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข้อมูลลวงหรือบิดเบือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เป้าหมายปลายทางที่สำคัญคือ การสร้างกลไกร่วมที่สอดคล้องกันในทุกภาคส่วน เพื่อยับยั้งต้นทางการผลิตข้อมูล มาตรการการคัดกรองข้อมูลของแพลตฟอร์มใช้งานได้จริง ในขณะเดียวกันเพื่อให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มีความชาญฉลาดในการเลือกใช้หรือรับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น และทำให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงสามารถดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่องในฐานะที่เป็นหน้าด่านของการต่อต้านข้อมูลลวง

ที่ประชุมยังเห็นพ้องต้องกันว่า ควรแยกให้ชัดเจนระหว่างการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหาเสียงเลือกตั้งที่ไม่ผิดมาตรฐานชุมชนหรือกฎหมาย ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก และการปั่นหรือบิดเบือนข้อมูล และการสร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์ ที่มุ่งทำลายหรือคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองหรือผู้นำชุมชนเพศหญิงที่เข้าสู่เส้นทางผู้นำทางการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไม่ควรเพิกเฉย

บทสรุปคือ การผดุงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางความคิด และมาตรฐานความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญควบคู่เท่ากัน ไม่สามารถตัดทิ้งอันใดอันหนึ่ง

ความท้าทายในปีนี้สำหรับประเทศไทยคือ ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนต้องไม่ “การ์ดตก” และต้องทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันมากยิ่งในการตรวจสอบข่าวลวง คอยกระตุ้นเตือนภาครัฐและแพลตฟอร์ม ให้ส่งเสริมการสื่อสารและการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัยและไว้ใจได้ พร้อมๆไปกับการติดอาวุธทางความคิดและเทคโนโลยีให้กับคนในสังคมเพื่อระวังภัยจากข้อมูลลวงและการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง และตั้งรับอย่างมีสติและความเข้าใจ

หมายเหตุ: ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากงานนำเสนอในที่ประชุม BCSMF ของผู้เขียน

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม:

Elections & social media: the battle against disinformation and trust issues 

The first nail-biter election of 2024: Taiwan

Indonesians head to the polls in February. Here are key issues dominating the elections

ข่าวลือข่าวลวงในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล : เป็นข่าวลือเรื่องอะไร กล่าวหาพรรคไหน ประเด็นใดมากที่สุด

เกิดอะไรในทวิตภพ DEAL พลเมืองรวมพลังจับตาพฤติกรรมชวนสงสัยเลือกตั้ง 66