ระวัง false claim ภาพและวิดีโอเก่า จากข่าวไต้หวัน COFACT Special Report #34
เรียบเรียงจาก Taiwan Fact-Check Center
โดย ทีม บก.โคแฟค
ขณะที่ แนนซี เปโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เดินทางถึงไต้หวันในคืนวันที่ 2 ส.ค. 2565 ตามเวลาท้องถิ่นของไต้หวัน ความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับจีนก็เพิ่มขึ้น โดยในคืนวันเดียวกัน จีนประกาศว่า กองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ซึ่งเป็นกองทัพของจีน จะดำเนินการฝึกซ้อมทางทหารและซ้อมรบด้วยกระสุนจริงใน 6 ภูมิภาครอบๆ ไต้หวัน รวมถึงบริเวณช่องแคบไต้หวันด้วย
การเดินทางเยือนเอเชียของ เปโลซี และปฏิกิริยาตอบโต้ของจีนได้จุดชนวนให้เกิดการแพร่กระจายของข้อมูลที่คลาดเคลื่อนบนสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา และคาดการณ์ได้ว่าจะมีข้อมูลทำนองเดียวกันเพิ่มขึ้นอีกมากในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น ซึ่ง “ศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงในไต้หวัน (Taiwan FactCheck Center)” ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ส่งต่อบนอินเตอร์เน็ตที่พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ ดังนี้
1.คลิปวีดีโอที่อ้างว่าจีนเริ่มซ้อมรบรอบๆ ไต้หวันด้วยกระสุนจริง ตั้งแต่เริ่มมีข่าวว่า เปโลซี ประกาศจะเดินทางเยือนไต้หวัน : วันที่ 31 ส.ค. 2565 มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอพร้อมข้อความเป็นภาษาอังกฤษผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า จีนซ้อมรบด้วยการยิงปืนใหญ่โดยใช้กระสุนจริงบริเวณช่องแคบไต้หวัน ขณะที่ไต้หวันก็ส่งเครื่องบินขับไล่ออกจากฐานทัพอากาศเฉียอี้ (Chiayi Air Base) แต่เมื่อตรวจสอบแล้วกลับพบว่า คลิปวีดีโอดังกล่าวเป็นการซ้อมรบของกองทัพไต้หวัน ไม่ใช่กองทัพจีนแต่อย่างใด อีกทั้งเหตุการณ์ในคลิปยังเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2563 โดยอ้างอิงข้อมูลจากกองทัพไต้หวัน ที่ระบุว่า เป็นการซ้อมรับมือเมื่ออากาศยานของข้าศึกพยายามลงจอด
2.คลิปวีดีโอที่อ้างว่าเรือรบและอากาศยานทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ เข้าคุ้มกันการเยือนไต้หวันของ เปโลซีจากการถูกโจมตี ถูกแชร์ผ่านทวิตเตอร์และเทเลแกรม : วันที่ 2 ส.ค. 2565 บัญชีทวิตเตอร์สำนักข่าว Yahoo News ประจำประเทศญี่ปุ่น อ้างว่า เครื่องบินที่ เปโลซี ใช้เดินทางมาไต้หวันถูกยิง โดยสัญญาณการติดต่อหายไปขณะอยู่ที่ช่องแคบไต้หวัน และจีนถูกกล่าวหาว่ามีส่วนกับเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบกลับพบว่า บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวเป็น “บัญชีปลอม” ที่แอบอ้างว่าเป็นบัญชีของสำนักข่าว Yahoo News ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในระบบของทวิตเตอร์ บัญชีของบุคคลผู้มีชื่อเสียง ตลอดจนองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน หากเป็นบัญชีจริงจะมีเครื่องหมายวงกลมสีน้ำเงินกับเครื่องหมายถูกสีขาวอยู่ด้านหลังชื่อบัญชีเพื่อเป็นสัญลักษณ์รับรอง ซึ่งบัญชีปลอมดังกล่าวเริ่มสมัครเข้าระบบทวิตเตอร์ตั้งแต่ มี.ค. 2565
อีกทั้งเมื่อตรวจสอบเทียบกับบัญชีจริงของสำนักข่าว Yahoo News ญี่ปุ่น ก็ไม่พบข่าวเครื่องบินที่ เปโลซี ใช้เดินทางไปไต้หวัน ถูกโจมตีแต่อย่างใด รวมถึงสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันตกอย่าง รอยเตอร์ AFP นิวยอร์กไทมส์ ฯลฯ และฝั่งจีนอย่าง ซินหัว , CCTV , People’s Daily ตลอดจนเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานภาครัฐในสหรัฐฯ ทั้งทำเนียบขาว กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่มีข่าวนี้เช่นกัน
3.ทางการสหรัฐฯ ประกาศว่า เปโลซี ใช้เครื่องบิน “แอร์ฟอร์ซวัน” ไปเยือนไต้หวัน และระยะความปลอดภัยที่ต้องอยู่ห่างเครื่องบินดังกลาวคือ 185 กิโลเมตร หากล้ำเข้าไปอาจถูกยิงได้ : เรื่องนี้พบการโพสต์ในเว๋ยป๋อ (Weibo) สื่อสังคมออนไลน์ของจีนที่มีลักษณะคล้ายเฟซบุ๊ก (Facebook) ของตะวันตก เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2565 อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบกับทาง Flightradar24 ผู้ให้บริการแผนที่การบินของเที่ยวบินต่างๆ ทั่วโลกตามเวลาจริง (Real Time) พบว่า เครื่องบินที่ เปโลซี ใช้เดินทางคือ C-40 เป็นเครื่องบินขนส่งของกองทัพอากาศสหรัฐฯ
ในขณะที่ แอร์ฟอร์ซวัน (Air Force One) ถูกเรียกว่า VC-25A ซึ่งในเว็บไซต์ทางการของทำเนียบขาว ระบุว่า แอร์ฟอร์ซวันมีสถานะเป็น สำนักงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บนอากาศ โดย แอร์ฟอร์ซวัน เป็นชื่อเรียกเครื่องบินใดๆ ก็ตามของกองทัพอากาศที่มีการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษสำหรับการเดินทางของ ปธน.สหรัฐฯ โดยเฉพาะ ซึ่งรวมถึงเครื่องโบอิ้ง 747-200B 2 ลำ ที่มีรหัส 28000 และ 29000 ด้วย
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารในไต้หวันอย่าง หวังกวงเล่ย (Wang Guanglei) จาก Youth Daily หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของไต้หวัน ยังระบุว่า เครื่องบิน C-40 ที่ เปโลซี ใช้เดินทางนั้น เป็นการดัดแปลงมาจากเครื่องโบอิ้ง 737 และมีชื่อเรียกว่า SPAR19 เช่นเดียวกับ สือเสี่ยวเว่ย (Shi Xiaowei) จากสำนักข่าวในไต้หวันอย่าง Military & Aviation News ที่เน้นนำเสนอเนื้อหาด้านการทหารและการบิน ที่ย้ำว่า แอร์ฟอร์ซวันเป็นเครื่องบินสำหรับ ปธน.สหรัฐฯ เท่านั้น อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ยืนยันว่า ไม่เคยได้ยินสหรัฐฯ เตือนระยะปลอดภัยของ เปโลซี ไว้ที่ 185 กิโลเมตร
ทั้งนี้ Taiwan FactCheck Center จะเฝ้าระวังและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ส่งต่อกับบนโลกออนไลน์ เกี่ยวข้องกับการเยือนไต้หวันของ แนนซี เปโลซี อย่างต่อเนื่องต่อไป!!!
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
อ้างอิง
https://tfc-taiwan.org.tw/articles/7958