ตรวจสอบข้อเท็จจริง โควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 อันตรายแค่ไหน COFACT Special Report #32

บทความ

ไทยและหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 โดยสายพันธุ์ที่กำลังแพร่กระจายอย่างกว้างขวางคือสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน โดยสหรัฐฯ ยุโรป และหลายประเทศในเอเชียกำลังประสบกับการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์นี้เหมือนๆ กัน ขณะที่ประชาชนจำนวนมากเริ่มรู้สึกวิตกกังวลกับการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาดทั่วโลกมองว่าปัจจุบันเรามีเครื่องมือที่พร้อมสำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์นี้ ดังนั้นประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป

โอมิครอน BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็วที่สุดในบรรดาสายพันธุ์ย่อยทั้งหมด

ผลการศึกษาในสหรัฐฯ และยุโรประบุตรงกันว่า โอมิครอน BA.5 แพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยก่อนหน้านี้หลายเท่า ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อในช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งสองทวีป รวมทั้งในประเทศที่พบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ติดเชื้อมีทั้งผู้ที่ไม่เคยเป็นโควิดมาก่อน และผู้ที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้วก็มีสิทธิ์ที่จะติดเชื้อโอมิครอน BA.5 เช่นกัน เพียงแต่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้วจะมีอาการของโรคน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีน

โอมิครอน BA.5 หลบภูมิคุ้มกันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ารุนแรงกว่า

ผลการศึกษาในยุโรป สหรัฐฯ และแอฟริกาใต้ระบุตรงกันว่า โอมิครอน BA.5 มีคุณสมบัติหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ รวมทั้งยังแพร่กระจายได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในหลายพื้นที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผลการศึกษาดังกล่าว โดยเฉพาะในแอฟริกาใต้พบว่า BA.5 ไม่ได้ก่อให้เกิดอาการรุนแรงไปกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันมาก่อนและติดเชื้อสายพันธุ์นี้ก็มีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ มาก่อนอยู่ดี แต่เมื่อเราดูจากยอดผู้ป่วยหนักและต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของบางประเทศ เช่น โปรตุเกส พบผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลอันเนื่องมาจากการติดเชื้อโอมิครอน BA.5 จำนวนมาก รวมทั้งในสหรัฐฯ บางรัฐก็พบยอดผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้ามาดูปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะพบว่า โปรตุเกสมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าแอฟริกาใต้ และในสหรัฐฯ บางรัฐมียอดการฉีดวัคซีนต่ำ สองปัจจัยนี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งสิ้น ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากจึงยังไม่สามารถสรุปหรือฟันธงได้ว่า BA.5 จะมีความรุนแรงจนส่งผลเสียต่อระบบสาธารณสุขเหมือนการแพร่ระบาดครั้งก่อนๆ เพราะปัจจัยชี้วัดในปัจจุบันกับอดีตแตกต่างกัน

หลายประเทศยังยืนยันว่ายอดผู้ป่วยหนัก-เสียชีวิตจาก BA.5 ยังต่ำ

นพ.แอนโธนี ฟัลชี หัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขประจำทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ระบุว่า ถึงแม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.5 จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยอดผู้เสียชีวิตกลับไม่เพิ่มขึ้นตาม และเมื่อเปรียบเทียบกับยอดผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจากระลอกก่อนๆ ก็พบว่าระลอกนี้ตัวเลขต่ำกว่าจริง ดังนั้นประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกถึงจำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่สูง แต่ให้ดูศักยภาพของระบบสาธารณสุขว่าสามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้หรือไม่ ขณะที่หลายๆ ประเทศที่พบการแพร่ระบาดของ BA.5 มาก่อนไทย โดยเฉพาะในยุโรป ก็ยังไม่พบรายงานว่าระบบสาธารณสุขของประเทศเหล่านั้นไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยหนักจาก BA.5 

ความเข้าใจเรื่องโควิดในปัจจุบันเปลี่ยนไป ยารักษา+วัคซีน คือตัวเปลี่ยนเกม

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดในหลายประเทศระบุตรงกันว่า ถึงแม้โอมิครอน BA.5 จะเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วที่สุด ผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มขึ้นมากที่สุด แต่ปัจจุบันเรามีอาวุธที่จะช่วยต่อกรกับมัน นั่นก็คือการเพิ่มภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น เราทราบดีว่าวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ป้องกันไม่ให้เราติดเชื้อ แต่มันช่วยป้องกันไม่ให้เราป่วยหนักและเสียชีวิต ผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่า วัคซีนที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะวัคซีนประเภท mRNA มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ถึงแม้ BA.5 จะเป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ที่แพร่กระจายได้รวดเร็วกว่า หลบภูมิได้ดีกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนในปัจจุบันจะไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิต ดังนั้นการเพิ่มภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นย่อมดีกว่าการไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 

นอกจากนี้ บริษัทผู้พัฒนาวัคซีนหลายเจ้า เช่น โมเดอร์นา ก็กำลังเตรียมยื่นขออนุมัติวัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้นสำหรับโอมิครอนโดยเฉพาะ ซึ่งผลการศึกษาพบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนัก และการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ดีกว่าวัคซีนรุ่นเก่า คาดว่าเราจะสามารถใช้วัคซีนตัวนี้ได้ภายในปลายปีนี้

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอน BA.5 ในปัจจุบันก็มีตัวเลือกทางการรักษาที่หลากหลาย ในผู้ป่วยทั่วไปที่อาการไม่รุนแรงสามารถรับประทานยาตามอาการจนอาการหายดีเป็นปกติ ส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรงปานกลาง และผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ ก็สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาต้านไวรัส เช่น โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) หรือ แพซโลวิด (Paxlovid) ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก FDA ของสหรัฐฯ ว่าสามารถใช้รักษาโควิด-19 ได้ โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะต้องรับประทานยาในปริมาณเท่าใด 

การใช้ชีวิตอย่างสมดุล จะช่วยให้เราผ่านวิกฤตินี้ไปได้

หน่วยงานสาธารณสุขในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ต่างระบุตรงกันว่า ปัจจุบันโอมิครอน BA.5 กำลังกลายเป็นโควิดสายพันธุ์หลักที่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ด้วยความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนการติดเชื้อก่อนหน้า ยิ่งทำให้ BA.5 มีความน่ากังวล แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญยังคงยืนยันก็คือ การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยหนักและเสียชีวิต รวมทั้งการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีในปัจจุบันนั้นช่วยให้ยอดผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตนั้นไม่เยอะจนเกินประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ ซึ่งเราทุกคนมีส่วนช่วยให้ประเทศและสังคมเดินต่อไปได้โดยไม่กลับไปเหมือนเมื่อ 1-2 ปีที่แล้วด้วยการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะการฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัย ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention อย่างที่เราเคยทำกันมา 


ที่มา:

https://www.nytimes.com/2022/07/12/us/politics/ba5-omicron-variant-white-house.html

https://www.cnbc.com/2022/07/12/covid-hospitalizations-have-doubled-since-may-as-omicron-bapoint5-sweeps-us-but-deaths-remain-low.html

https://www.nbcboston.com/news/local/clearing-up-misconceptions-about-the-omicron-ba-5-subvariant/2769042/

https://health.ucdavis.edu/coronavirus/news/headlines/how-to-protect-yourself-from-covid-subvariant-ba5/2022/07

https://www.healthline.com/health-news/omicron-ba-5-experts-see-increase-in-mild-cases-vaccines-continue-to-be-effective#The-bottom-line:

https://time.com/6187762/ba-4-ba-5-omicron-subvariants-symptoms-risk/


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com