เคล็ดลับการตรวจสอบตัวตนผู้ใช้งานบนสื่อโซเชียล COFACT Special Report#27
ปัจจุบันข่าวลวงจำนวนมาถูกเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ หรือ สื่อโซเชียล (Social Media) โดยผู้ใช้งานที่อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการ หรือผู้ที่มีนัยแอบแฝง ชื่อผู้ใช้งาน (User Name) บางคนเป็นชื่อที่อาจจะไม่ได้สร้างขึ้นจากผู้ใช้งานจริง แต่เป็นการสร้างอวตารขึ้นมาเพื่อใช้ในการปล่อยข้อมูลลวง หรือใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยเฉพาะ
English Summary
Often we see misinformation coming from unverified social media accounts. This article will guide readers step-by-step on verifying who is behind the social media account they see. Basic tools such as reverse image searches and search engines are free tools readers can use to get to the primary sources, then verify whether the account they see is a real person or not.
การอ่านเนื้อหาของผู้โพสเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอที่เราจะทราบได้ว่าผู้โพสเป็นบุคคลจริง นำเสนอเนื้อหาจริงหรือไม่ เราอาจจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมก่อนที่จะเชื่อเนื้อหาเหล่านั้น
หากเป็นบุคคลสาธารณะ หรือสื่อมวลชน ควรเป็นชื่อบัญชีที่ได้รับการยืนยันแล้ว
โดยปกติ บุคคลสาธารณะ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ สามารถขอรับการยืนยันชื่อบัญชีของตนเองได้ เราจะสังเกตเครื่องหมายถูก หรือเครื่องหมายวงกลมท้ายชื่อ นั่นหมายถึงชื่อบัญชีนั้นได้รับการยืนยันตัวตนแล้วว่าเป็นบุคคล หรือองค์กรนั้นจริง ดังนั้นก่อนจะแชร์ข้อมูลใดๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นข้อมูลข่าว ควรแชร์จากชื่อบัญชีของสำนักข่าวที่ได้รับการยืนยันแล้ว หรือถ้าเป็นบุคคลสำคัญๆ เช่นนักการเมือง ก็ควรมาจากชื่อบัญชีที่ได้รับการยืนยันแล้วเช่นกัน
ความสมเหตุสมผลของเนื้อหา กับตัวเจ้าของบัญชี
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกบัญชีที่จะได้รับเครื่องหมายยืนยันจากแพลตฟอร์ม หากเราต้องการตรวจสอบชื่อบัญชีที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน เราสามารถดูได้หลายวิธี วิธีแรกก็คือการดูเนื้อหาย้อนหลังของเจ้าของบัญชีที่โพสลงบนแพลตฟอร์มนั้นว่ามีความเกี่ยวข้องกับงานที่เขาทำอยู่หรือใหม่ เช่น เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ก็ควรโพสด้วยเจ้าของบัญชีที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือถ้าเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพ ก็ควรโพสด้วยบุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ทั้งนี้เราก็ควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองข้อมูลด้วยว่าสิ่งที่เขาโพสเป็นข้อเท็จจริง หรือความเห็น ซึ่งเราสามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้นเพิ่มเติมจากการค้นหาบนเซิร์จเอนจิ้น เช่น Google
ระยะเวลาที่เจ้าของบัญชีเปิดใช้งาน
สิ่งที่จะช่วยระบุได้ว่าชื่อบัญชีที่เราเห็นมีเจ้าของจริง หรือเป็นชื่อบัญชีปลอม เราสามารถดูได้จากระยะเวลาที่ชื่อบัญชีนี้เปิดใช้งาน หากเป็นชื่อบัญชีที่เปิดใช้งานมาไม่นาน โพสข้อความเพียงไม่กี่ข้อความ และเมื่อเราตรวจสอบเนื้อหาแล้วเป็นข่าวลวง เราควรตั้งข้อสงสัยว่าชื่อบัญชีนี้อาจเข้าข่ายชื่อบัญชีปลอม หลายครั้งเราจะพบว่าชื่อบัญชีเหล่านี้มักแอบอ้างว่าเป็นสำนักข่าว หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง โพสข้อความเพียงไม่กี่ครั้ง ต่อมาโพสเนื้อหาที่เป็นกระแส (ไวรัล) แล้วก็ลบชื่อบัญชีนั้นไป ดังนั้นหากเราพบสัญญาณเหล่านี้ เราควรไม่หลงเชื่อ และไม่แชร์ตั้งแต่แรก
ตรวจสอบภาพโปรไฟล์ด้วยการค้นหาภาพย้อนกลับ
อีกวิธีการตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้บัญชีโซเชียลก็คือการใช้เทคนิคตรวจสอบภาพย้อนกลับ (Reverse Image Search) ตรวจสอบภาพโปรไฟล์ของเจ้าของบัญชี หลายครั้งเรามักจะเห็นการสวมรอยนำภาพของบุคคลอื่นมาใช้สร้างบัญชีโซเชียลใหม่ เราสามารถใช้เทคนิคนี้ตรวจสอบบน Google Images หรือ Yandex เพื่อให้ทราบว่าภาพบุคคลดังกล่าวในโปรไฟล์เป็นใครกันแน่ เป็นบุคคลชื่อเดียวกันกับบัญชีโซเชียลนั้นหรือไม่ เมื่อตรวจสอบแน่ชัดแล้วว่าใบหน้าดังกล่าวเป็นบุคคลใด เราก็เอาชื่อของบุคคลนั้นไปค้นหาบนเซิร์จเอนจิ้น เช่น Google อีกครั้งเพื่อดูว่าบัญชีโซเชียลหลักที่เขาใช้มีอะไรบ้าง ตรงกับหน้าโปรไฟล์ที่เราเปิดอ่านแต่แรกหรือไม่
เจ้าของบัญชีมีบัญชีโซเชียลอื่นๆ อีกหรือไม่
โดยปกติแล้ว บุคคลที่มีชื่อเสียง หรือสำนักข่าวชั้นนำ มักจะมีชื่อบัญชีโซเชียลมากกว่า 1 บัญชี ดังนั้นการตรวจสอบชื่อบัญชีที่หลากหลายจะช่วยให้เราระบุตัวตนของผู้ใช้งานคนดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น วิธีการค้นหาเพียงเข้าไปในเซิร์จเอนจิ้น พิมพ์ชื่อของบุคคลดังกล่าว แล้วต่อด้วยคำว่า Facebook, Twitter, Instagram, หรือ TikTok แล้วดูว่ารูปภาพใบหน้าหรือเนื้อหามีความสอดคล้องกันในแต่ละแพลตฟอร์มหรือไม่ เรายังสามารถใช้วิธีที่ระบุก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบว่าแต่ละแพลตฟอร์มเปิดใช้งานมานานแค่ไหน ค้นหาภาพโปรไฟล์ย้อนกลับ หรือแม้แต่การตรวจสอบยอดผู้ติดตามของแต่ละแพลตฟอร์มว่ามีมากน้อยแค่ไหน หากเป็นบุคคลสาธารณะ หรือหน่วยงานที่มีชื่อเสียง ชื่อบัญชีโซเชียลควรจะต้องมียอดผู้ติดตามจำนวนมาก หากเป็นบัญชีที่เปิดใช้งานมาไม่นาน ไม่มีการโพสเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำ หรือยอดผู้ติดตามไม่มาก เราอาจจะสันนิษฐานคร่าวๆ ว่าบัญชีนี้เป็นบัญชีปลอม และหลีกเลี่ยงที่จะแชร์เนื้อหาจากบัญชีนั้นไปให้กับผู้อื่น หรือบนบัญชีโซเชียลของเราเอง
สิ่งสำคัญเมื่อเราเห็นเนื้อหาใดๆ ก็ตามที่แชร์จากบัญชีโซเชียล หากเราสงสัยหรือไม่มั่นใจว่าเป็นเนื้อหาจริงหรือไม่ เราควรตรวจสอบจากแหล่งที่มาอื่นๆ ให้แน่ใจก่อนเสมอ เช่น การค้นหาเนื้อหาที่คล้ายกันในแพลตฟอร์ม หรือเว็บไซต์อื่นๆ การตรวจสอบภาพย้อนกลับไปยังที่มาของภาพต้นฉบับ หรือแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือได้ การค้นหาข้อมูลแบบนี้ทำได้ง่ายๆ ผ่านเซิร์จเอนจิ้นอย่าง Google, Bing, และ Yandex เป็นต้น
เกี่ยวกับผู้เขียน
ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand
ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com