ตรวจสอบภาพลวง ด้วยวิธี “ค้นหาย้อนกลับ” ง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ COFACT Special Report#24

บทความ

ภาพถ่ายและภาพข่าวต่างๆ ที่ถูกแชร์บนโลกโซเชียล ที่เราเห็นกันทั่วไปนั้น บ่อยครั้งมักจะเป็นภาพตัดต่อ หรือภาพลวงที่สร้างความเข้าใจผิด บางภาพถูกบิดเบือนจากเหตุการณ์จริง บางภาพเป็นการสร้างเหตุการณ์สมมุติ หลายครั้งภาพเหล่านี้เป็นภาพสะเทือนขวัญ หรือมีเนื้อหาหวือหวาชวนให้เรากดแชร์​หรือส่งต่อไปให้กับเพื่อนๆ และญาติพี่น้อง ก่อนที่เราจะเชื่อในภาพเหล่านั้น เราควรตรวจสอบภาพให้ดีเสียก่อนว่าที่มาของภาพมาจากไหน เป็นภาพต้นฉบับหรือไม่ และเป็นภาพที่นำเสนอจากสื่อที่น่าเชื่อถือได้ มีความเป็นไปได้จริงๆ หรือไม่ที่จะเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น

English Summary

Many online misinformation comes with a form of manipulated photos and videos. Reverse image search is one of the several tools we can use to verify image sources or find out where are similar images on the internet. Google, Yandex, Microsoft Bing provide reverse image search function in their search engine, and they are free to use. This article will guide you how to reverse image search using these search engines, and tips to get the best result out of these tools.

วิธีหนึ่งที่จะช่วยเราสืบหาที่มาของภาพต้นฉบับ หรือภาพที่คล้ายๆ กัน ก็คือการค้นหาภาพแบบย้อนกลับ หรือ Reverse Image Search เป็นวิธีที่เราใช้ไฟล์ภาพที่เรามีบนอุปกรณ์ หรือภาพที่เราเจอบนอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการค้นหา โดยเว็บเซิร์จเอนจิ้นที่มีฟังค์ชั่นนี้จะช่วยค้นหาภาพที่มีลักษณะคล้ายกันว่ามีในเว็บไซต์ไหนอีกบ้าง นอกจากนี้ระบบยังอาจช่วยระบุได้ด้วยว่าสิ่งของ สถาปัตยกรรม หรือบุคคลในภาพเป็นใคร ชื่ออะไร และตั้งอยู่ที่ไหน ช่วยให้เรารู้ถึงต้นตอและที่มาของภาพได้ง่ายขึ้น

ค้นหาภาพแบบย้อนกลับด้วย Google

เว็บไซต์เซิร์จเอนจิ้นยอดนิยม Google มีฟังค์ชั่นค้นหาภาพย้อนกลับ วิธีการใช้งานเริ่มจากการเข้าไปยังเว็บไซต์ images.google.com หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ google.com แล้วคลิกเมนู Images

ในหน้าของ Google Images เราจะเห็นช่องที่เราสามารถพิมพ์คำค้นหา บริเวณด้านขวาของช่องเราจะเห็นปุ่มกล้องถ่ายรูป เมื่อเราคลิกที่ปุ่มนั้น เราจะเห็นคำสั่งให้เราอัพโหลดไฟล์ภาพจากคอมพิวเตอร์ หรือใส่ URL ของรูปภาพที่ต้องการจะค้นหา

หากเราต้องการจะค้นหาย้อนกลับภาพสักภาพที่เราเจอบนโซเชียลมีเดีย เราสามารถกดเซฟภาพนั้นลงบนเครื่อง จากนั้นก็ไปที่ Google Images แล้วอัพโหลดภาพนั้นที่ปุ่มกล้องถ่ายรูป หรือคัดลอก URL ของภาพโดยกดคลิกขวาที่รูป จากนั้นเลือก Copy Image URL แล้วเอาไปวางที่ปุ่มกล้องถ่ายรูปบน Google Images ตามที่ปรากฏในภาพ

เมื่อเรากดปุ่มค้นหา ระบบก็จะค้นหาภาพลักษณะคล้ายๆ กัน พร้อมกับเว็บไซต์ที่ปรากฎภาพเหล่านั้น นอกจากนี้เรายังสามารถดูผลการค้นหาประเภทรูปภาพเพื่อดูว่าภาพเหล่านี้มีความคล้าย หรือแตกต่างจากภาพที่เราเจอมากน้อยแค่ไหน 

อย่างไรก็ตามการใช้ฟังค์ชั่นนี้อาจจะไม่ได้นำคุณไปสู่ภาพต้นฉบับโดยตรง คุณจะต้องใช้วิจารณญาณ และประสบการณ์ส่วนตัวในการวิเคราะห์ว่าเว็บไซต์เหล่านี้มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน เป็นเว็บที่นำเสนอข้อมูลถูกต้องรอบด้านหรือไม่ เพราะ Google ไม่สามารถให้คำตอบแบบสูตรสำเร็จว่าภาพที่คุณได้มาเป็นภาพจริงหรือภาพปลอม คุณจะต้องใช้วิจารณญาณของคุณเองในการตรวจสอบว่าผลการค้นหาที่ปรากฎนั้นสอดคล้อง หรือขัดแย้งกับภาพที่เราค้นหา

Yandex เซิร์จเอนจิ้นรัสเซียใช้ค้นหาภาพย้อนกลับได้ดี

Yandex เว็บไซต์เซิร์จเอนจิ้นจากรัสเซียเป็นอีกเว็บที่มาพร้อมฟังค์ชั่นตรวจสอบภาพย้อนกลับ คุณสมบัติเด่นของ Yandex คือความแม่นยำในการตรวจสอบภาพใบหน้าบุคคล และรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง และยังมีคลังข้อมูลภาพขนาดใหญ่ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก

เมื่อเราเข้าไปใน Yandex.com แล้วกดปุ่ม Images เราจะเห็นไอคอนกล้องถ่ายรูปข้างๆ กับปุ่ม Search ให้เรากดปุ่มดังกล่าวเพื่อเข้าสู่ฟังค์ชั่นค้นหาภาพแบบย้อนกลับ เราสามารถเลือกอัพโหลดไฟล์ภาพจากคอมพิวเตอร์ หรือวางลิงค์ภาพบริเวณ Enter Image URL คล้ายๆ กับบน Google Images 

แต่ฟังค์ชั่นพิเศษของ Yandex ที่ Google ไม่มีก็คือการเลือกครอปบริเวณพื้นที่ในรูปที่เราต้องการค้นหาโดยเฉพาะ เช่น ถ้าเราอยากค้นหาเฉพาะรูปตึก หรือบุคคลในภาพคนใดคนหนึ่งในภาพหมู่ เราสามารถเลือกครอปบริเวณใบหน้าของคนคนนั้น หรือตึกตึกนั้น โดยไม่จำเป็นต้องเซิร์จทั้งรูป

การตรวจสอบภาพในหลายๆ เว็บไซต์เป็นสิ่งสำคัญ

นอกจาก Google และ Yandex แล้ว เว็บไซต์เซิร์จเอนจิ้นอย่าง Microsoft Bing และ Baitu (จากประเทศจีน) ก็มีฟังค์ชั่นค้นหาภาพแบบย้อนกลับเช่นกัน ทั้งสองเว็บมาพร้อมกับฟังค์ชั่นที่คล้ายๆ กัน เราสามารถทดลองค้นหาภาพย้อนหลับจากหลายๆ เว็บไซต์ เพื่อเปรียบเทียบผลการค้นหา บางเว็บไซต์ เช่น Baitu และ Yandex อาจจะค้นหาภาพที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียและจีนได้ดีกว่า Google และ Bing ดังนั้นเราจึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับรูปภาพที่เราต้องการจะตรวจสอบ

การใช้เครื่องมือตรวจสอบภาพถึงแม้จะช่วยให้เราทราบที่มาของภาพได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการใช้วิจารณญาณของเราในการคิด วิเคราะห์ผลการค้นหาของภาพนั้นๆ เพราะเครื่องมือเหล่านี้ไม่สามารถตอบเราได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าภาพที่เราตรวจสอบเป็นภาพจริงหรือภาพปลอม บางครั้งเราอาจจะต้องอ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับภาพ รวมทั้งตรวจสอบว่าใครเป็นผู้ถ่ายภาพนั้น รวมทั้งองค์ประกอบต่างๆ ในภาพว่าตรงกับสถานที่ที่มีการแอบอ้างหรือไม่ ดังนั้นการเป็นคนช่างสังเกต บวกกับการใช้เครื่องมือตรวจสอบภาพ จะช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com