ตรวจสอบข่าวลวง-ข่าวเท็จ สถานการณ์ในยูเครน COFACT Special Report #18

บทความ

English Summary

Russia invasion in Ukraine has been one of top topics in social media for the past week. It is very common to see misinformation spreading during a crisis like this. Many contents tend to provoke fears or have a political intention. We look as some of the misinformation contents, how to spot misinformation, and how to find the accurate information. 

ข่าวที่คนทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นการโจมตียูเครนของรัสเซีย สถานการณ์ที่ตึงเครียด มีความสูญเสียของทหารและประชาชน ทำให้มีภาพต่างๆ ที่ระบุว่าเป็นภาพในสถานที่เกิดเหตุถูกแชร์บนสื่อโซเชียลจำนวนมาก บางภาพและบางเนื้อหาเป็นการตกแต่งภาพ และเป็นการนำภาพเหตุการณ์เก่าจากพื้นที่อื่นมาแชร์ซ้ำเพื่อสร้างกระแส หรือบิดเบือนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่

ภาพเด็กผิวเปื้อนฝุ่นจากการโจมตีของรัสเซีย: ข่าวลวง

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาเราจะเห็นการรายงานข่าวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์โจมตียูเครนของรัสเซีย มีการแชร์ภาพเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุโจมตีเป็นจำนวนมาก แต่หลายภาพไม่ใช่ภาพที่เกิดขึ้นในยูเครน เช่น ภาพเด็กคนหนึ่งที่ตัวเปื้อนไปด้วยฝุ่น เว็บไซต์ India Today ตรวจสอบด้วยวิธีค้นหาภาพย้อนกลับบนกูเกิล พบว่าภาพนี้เป็นภาพเหตุการณ์ในเขตดอนบาส พื้นที่ที่กลุ่มกบฏยูเครนตะวันออกยึดครองตั้งแต่ปี 2014 ภาพนี้ปรากฎในคลิปวีดีโอบนยูทูบเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2015 ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บุกยูเครนโดยรัสเซียแต่อย่างใด 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่: https://www.indiatoday.in/fact-check/story/fact-check-image-from-music-video-falsely-shared-as-child-affected-by-russia-ukraine-conflict-1918044-2022-02-26 

ภาพเด็กได้รับบาดเจ็บจากการโจมตี: ข่าวเท็จ

อีกภาพที่พบการแชร์มากในสื่อโซเชียลคือภาพเด็กคนหนึ่งที่กำลังบาดเจ็บและนั่งอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล สำนักข่าวเอเอฟพีตรวจสอบที่มาของภาพนี้ด้วยการสังเกตลายน้ำที่อยู่บนภาพ ซึ่งมาจาก EPA หรือ European Pressphoto Agency เมื่อตรวจสอบกับเว็บไซต์ดังกล่าวพบว่าภาพนี้เป็นภาพเหตุการณ์สงครามในซีเรียเมื่อปี 2018 ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในยูเครนแต่อย่างไร

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่: https://factcheck.afp.com/doc.afp.com.323X8VQ 

จากรายงานของสหประชาชาติคาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตียูเครนของรัสเซียแล้วกว่า 400 ราย ในจำนวนนั้นมีเด็กเสียชีวิตจริง แต่ภาพที่เราเห็นในสื่อโซเชียลจำนวนไม่น้อยที่ไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นเราควรตรวจสอบกับสำนักข่าวชั้นนำที่น่าเชื่อถือได้ก่อนที่จะตัดสินใจแชร์ภาพเหล่านี้

ภาพเครื่องบินรบบินในน่านฟ้ายูเครน: ข่าวลวง

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมากองทัพรัสเซียเคลื่อนที่เข้ามายึดครองเมืองบริเวณชายแดนยูเครน และพยายามจะเข้ายึดเมืองหลักสองเมือง คือกรุงคีฟ และเมืองคาคีฟ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากกองกำลังของยูเครน และประชาชนจำนวนมากออกมาต่อสู้และขับไล่กองทัพรัสเซีย 

เป็นที่ทราบกันดีว่า รัสเซียมีศักยภาพทางทหาร และมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เมื่อมีข่าวว่ารัสเซียทำการโจมตียูเครน ภาพที่ถูกแชร์ออกไปอย่างกว้างขวางคือภาพเครื่องบินรบจำนวนกว่าสิบลำบินผ่านพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน ภาพเหล่านี้ถูกแชร์บนทวิตเตอร์จำนวนมาก โดยระบุว่ากองทัพรัสเซียส่งเครื่องบินรบเหล่านี้มายิงระเบิดใส่บ้านเรือนประชาชน

จากการตรวจสอบของสำนักข่าวเอเอฟพีพบว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะในกรุงมอสโกของรัสเซีย โดยคลิปวีดีโอต้นฉบับอยู่บนยูทูบ โพสเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2020

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: https://factcheck.afp.com/doc.afp.com.323T8CJ 

ภาพระเบิดในยูเครนภาพใดบ้างที่เป็นข่าวลวง?

หลายครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างประเทศ เราจะเห็นภาพเหตุระเบิดที่ถ่ายได้โดยโทรศัพท์มือถือ ภาพเหล่านี้มักจะถูกแชร์บนโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว แต่ภาพเหล่านี้จำนวนไม่น้อยที่เป็นภาพจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หรือเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

เช่น ภาพเหตุระเบิดบริเวณท่าเรือภาพนี้ ผู้โพสระบุว่าเกิดขึ้นในกรุงคีฟของยูเครน แต่ถ้าเราสังเกตในแผนที่จะพบว่า กรุงคีฟไม่มีพื้นที่ติดน้ำทะเล เราไม่จำเป็นถึงกับใช้เครื่องมือตรวจสอบภาพย้อนกลับก็พอจะรู้แล้วว่าภาพนี้ไม่ใช่ภาพในกรุงคีฟแน่นอน

ภาพจากทวิตเตอร์นี้เป็นภาพเหตุการณ์ระเบิดในคลังเก็บสินค้าในเบรุต เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2020

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: https://factcheck.afp.com/doc.afp.com.323W3V8 

ภาพต่อมาเป็นภาพเพลิงไหม้ที่ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งโพสคลิปนี้โดยระบุว่าเป็นเหตุระเบิดจากการโจมตีทางอากาศของรัสเซียใกล้กับโรงงานไฟฟ้า สิ่งที่ทำให้คนทั่วไปอาจจะหลงเชื่อภาพนี้มาจากการรายงานของสำนักข่าวบางแห่งระบุว่า โรงงานไฟฟ้าลูฮันสก์ ซึ่งเป็นโรงงานไฟฟ้าที่ถูกกล่าวอ้างในคลิปเสี่ยงที่จะต้องปิดทำการ เนื่องจากพบเพลิงไหม้จากการถูกล้อมปิด

แต่จากการตรวจสอบของสำนักข่าวเอเอฟพีพบว่า ภาพนี้เป็นภาพเหตุโรงงานระเบิดในเมืองเทียนจินในจีนเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2015 เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตกว่า 165 ราย และยังส่งผลให้สารพิษกระจายไปเป็นวงกว้าง

อ่านเพิ่มเติม: https://factcheck.afp.com/doc.afp.com.323U2TG

เช็คให้ชัวร์ว่าเป็นข่าวต้นฉบับที่มาจากสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ

ในสถานการณ์วิกฤติ หรือในช่วงที่มีข่าวที่มีกระแส เราจะเห็นภาพการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ภาพบางภาพที่มีการแชร์บนโลกโซเชียลโดยมีการกล่าวอ้างว่าเป็นการรายงานของสื่อช่องนั้นๆ หรือหัวนั้นๆ เราควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเนื้อหาต้นฉบับอยู่ในเว็บไซต์ของสื่อค่ายนั้นจริงๆ หรือไม่

ตัวอย่างที่พบเห็นบ่อยครั้งคือการเปลี่ยนพาดหัวข่าวที่ปรากฎบนหน้าจอโทรทัศน์ด้วยการตัดต่อภาพ เช่นในภาพนี้ที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนพาดหัวของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นจากเนื้อหาต้นฉบับ โดยพาดหัวที่ถูกแก้ไขเขียนว่า “ปูตินชะลอการบุกรุกจนกว่าสหรัฐฯ จะส่งอาวุธให้กับยูเครน จากนั้นกองทัพรัสเซียจะยึดอาวุธเหล่านั้น” สำนักข่าวเอเอฟพีตรวจสอบภาพดังกล่าวด้วยวิธีค้นหาภาพย้อนกลับบนกูเกิล และตรวจสอบซ้ำกับซีเอ็นเอ็น พบว่าเป็นภาพการนำเสนอข่าวการเจรจาทางการค้าระหว่างอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ กับปูติน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2017 ไม่ได้เกี่ยวกับการบุกรุกของรัสเซียแต่อย่างใด

ก่อนเชื่อ หรือแชร์ข่าวบนโซเชียล ควรตรวจสอบให้ดีก่อนว่า:

  1. มาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่ หากเป็นการแชร์แบบส่งต่อกันมา ควรเช็คก่อนว่ามีลิงค์เนื้อหาต้นฉบับหรือไม่ คนที่ให้ข่าวเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือสำนักข่าวที่ทำประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องหรือไม่
  2. ตรวจสอบภาพด้วยวิธีค้นหาย้อนกลับ ข่าวที่เป็นกระแสมักจะมีภาพเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก คุณสามารถเซฟภาพเหล่านั้นและเข้าไปในเว็บไซต์ Google Images จากนั้นกดที่ภาพกล้องถ่ายรูป อัพภาพที่เซฟมา แล้วกดค้นหา เราก็จะเห็นภาพลักษณะคล้ายๆ กัน จากหลายๆ แหล่งที่มา ให้เลือกดูแหล่งที่มาที่เป็นสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือเพื่อตรวจสอบว่าตรงกันกับภาพที่เราเซฟมาหรือไม่
  1. หากเห็นภาพที่แคปหน้าจอจากการรายงานของสำนักข่าว แต่ไม่มีเนื้อหา หรือลิงค์ของเนื้อข่าว ให้ค้นหาด้วยกูเกิล หรือเซิร์จเอนจิ้นต่างๆ ว่ามีเนื้อหาข่าวตามภาพหรือไม่ หรือลองใช้วิธีการค้นหาภาพย้อนกลับในข้อ 2 เพื่อดูว่าภาพข่าวนั้นมีจริงหรือไม่

เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com