“หมอเกศ” เกศกมล เปลี่ยนสมัย ทำอะไรใน กต.ตร.ทุ่งสองห้อง-บก.น.2-กระทรวงแรงงาน-กมธ.กฎหมาย?

Top Fact Checks Political

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน

โคแฟคตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติการทำงานของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งเขียนในเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร สว. และโพสต์ในโซเชียลมีเดียว่า เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร, ที่ปรึกษาเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) สน.ทุ่งสองห้องและกองบัญชาการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2)

จากการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งหรือ “ชักชวนมาช่วยงาน” และเอกสารบันทึกการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร โคแฟคพบว่า พญ.เกศกมลเคยมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานเหล่านี้จริงแต่ทำในช่วงเวลาไม่นานนัก และไม่ทราบบทบาทหน้าที่แน่ชัด อีกทั้งเนื้อหาที่ พญ.เกศกมลโพสต์ในโซเชียลมีเดียอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประวัติและประสบการณ์การทำงาน

พญ.เกศกมล เป็น 1 ใน 200 สว. ชุดที่ 13 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 โดยได้คะแนนสูงสุดของประเทศ 79 คะแนน ในรอบสุดท้ายคือรอบเลือกไขว้ระดับประเทศ

ในช่วงปี 2566-2567 สว. พญ.เกศกมลได้โพสต์คลิปวิดีโอ รูปภาพ และข้อความที่เกี่ยวกับการทำงานในโซเชียลมีเดีย เช่น TikTok @dr.kes_keskamol (ผู้ติดตาม 2.1 แสนบัญชี) และ Instagram @dr.kes.keskamol (ผู้ติดตาม 2.8 แสนบัญชี) จากโพสต์ที่โคแฟคเข้าถึงได้เมื่อวันที่ 17-18 ก.ค. 2567 พบว่าโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมีการอ้างถึงกระทรวงแรงงาน บก.น. 2 และ สน.ทุ่งสองห้อง เช่น

  • 14 มิ.ย. 2566 โพสต์ว่า ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กต.ตร.สน.ทุ่งสองห้อง
  • 29 มิ.ย. 2566 โพสต์ว่า ประชุม กต.ตร.บก.น. 2 โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรองผู้บังคับการ บก.น.2 และผู้กำกับสถานีตำรวจทุกสถานีในสังกัด บก.น.2
  • 9 ม.ค. 2567 โพสต์ว่า ทำงานวันแรกในตำแหน่งที่ปรึกษานายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  • 27 ก.พ. 2567 โพสต์ว่า ทำงานที่กระทรวงแรงงานในตำแหน่งคณะทำงานติดตามการดำเนินการตามนโยบายด้านส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
  • 19 มี.ค. 2567 โพสต์ว่าประชุมคณะกรรมาธิการติดตามการดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (คตร.)

เมื่อประมวลข้อมูลที่ พญ.เกศกมลระบุในเอกสาร สว.3 และจากโพสต์ที่เป็นสาธารณะในบัญชีโซเชียลมีเดีย สรุปได้ว่า พญ.เกศกมลได้อ้างถึงการทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับภาครัฐ 3 ส่วนคือ

  1. ที่ปรึกษากรรมาธิการการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
  2. ที่ปรึกษาเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะกรรมาธิการติดตามการดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (คตร.)
  3. กต.ตร.สน.ทุ่งสองห้อง และ กต.ตร.บก.น.2   

โคแฟคตรวจสอบ

● ที่ปรึกษากรรมาธิการการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

พญ.เกศกมลระบุประวัติการทำงานใน สว. 3 และแผ่นภาพแนะนำตัวที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กตั้งแต่ปี 2566 ว่ามีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (กมธ.กฎหมายฯ)

โคแฟคตรวจสอบฐานข้อมูลบันทึกการประชุม กมธ.กฎหมายฯ พบว่าในการประชุมเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 ซึ่งขณะนั้นนายสิระ เจนจาคะ เป็นประธาน บันทึกการประชุมระบุว่า “ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ นางสาวเกศกมล เปลี่ยนสมัย เป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป”

นายสิระ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐให้สัมภาษณ์โคแฟคเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 ว่า กมธ. ในสมัยที่ตนเป็นประธานได้แต่งตั้ง พญ.เกศกมลเป็นที่ปรึกษาประจำคณะ กมธ. จริง เพราะมีกรรมาธิการเสนอชื่อมา แต่จำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้เสนอ ซึ่งที่ประชุมก็ให้ความเห็นชอบ โดย พญ.เกศกมลได้ค่าตอบแทนรายเดือนสำหรับการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคณะ กมธ.

โคแฟคตรวจสอบระเบียบรัฐสภา ว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของรัฐสภาฯ ระบุว่า ที่ปรึกษา กมธ. ที่มิได้เป็นข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 10,000 บาท

นายสิระซึ่งเป็นประธาน กมธ. ระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.2563-21 ธ.ค.2564 ก่อนจะพ้นตำแหน่งเพราะสิ้นสุดสมาชิกภาพ สส. กล่าวด้วยว่า พญ.เกศกมล “เข้าร่วมประชุม กมธ. ทุกครั้งหลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา” แต่จากการตรวจสอบบันทึกการประชุม โคแฟคพบว่า พญ.เกศกมลมีชื่อเข้าร่วมการประชุมเพียงครั้งเดียวในวันที่ 18 พ.ย. 2564 จนกระทั่งที่ประชุม กมธ. ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 ให้ พญ.เกศกมลพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 เป็นต้นไป รวมเวลาที่ พญ.เกศกมลมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาคณะ กมธ.กฎหมายฯ 7 เดือน

โคแฟคติดต่อ พญ.เกศกมลเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการรับค่าตอบแทนในฐานะที่ปรึกษา กมธ. และประวัติการทำงานทั้งใน กมธ. กฎหมายฯ กระทรวงแรงงาน และ กต.ตร.สน.ทุ่งสองห้อง แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ

● กต.ตร.สน.ทุ่งสองห้อง

เอกสารที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ สน.ทุ่งสองห้อง ให้ข้อมูลว่าคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตํารวจ (กต.ตร.) เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบติดตามการบริหารงานของตำรวจในทุกระดับ และให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงกิจการตำรวจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 กำหนดให้แบ่ง กต.ตร. ออกเป็น 3 ระดับคือ กต.ตร.กรุงเทพมหานคร, กต.ตร.ระดับจังหวัดและ กต.ตร.ระดับสถานีตํารวจ (กต.ตร.สน.)

กต.ตร.สน. มีจำนวน 8-19 คน ประกอบด้วยข้าราชการตำรวจ ข้าราชการอื่น ๆ เช่น ผู้อำนวยการเขต และประชาชนที่มาสมัครและได้รับเลือกโดยตำรวจแต่ละ สน.

วันที่ 22 ส.ค.2566 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ลงนามแต่งตั้ง กต.ตร.สน.ทุ่งสองห้อง 13 คน ซึ่งไม่มีชื่อ พญ.เกศกมล ต่อมา กต.ตร.สน.ชุดนี้ได้ลงมติเลือกนางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ เป็นประธาน

นางสรัลรัศมิ์ให้สัมภาษณ์โคแฟคทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2567 ว่า พญ.เกศกมลไม่ได้มีตำแหน่งเป็น กต.ตร.สน.ทุ่งสองห้อง จึงไม่มีชื่ออยู่ในเอกสารแต่งตั้งที่ลงนามโดย ผบ.ตร. แต่มีตำแหน่งเป็น “ที่ปรึกษา” ซึ่งตนในฐานะประธานเป็นผู้แต่งตั้งให้มาช่วยงาน เพราะเห็นว่ามีความสามารถและเคยเป็นที่ปรึกษา กมธ. กฎหมายฯ ของสภาผู้แทนราษฎร

● กต.ตร.บก.น.2

วันที่ 23 และ 29 มิ.ย. 2566 พญ.เกศกมลโพสต์ภาพและข้อความในอินสตาแกรมว่าได้เข้าร่วมประชุม กต.ตร.บก.น.2 และตรวจเยี่ยมข้าราชการตำรวจร่วมกับ พล.ต.ต.อรรถพล อนุสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 และ พญ.อัจจิมา สุวรรณจินดา ประธานอนุกรรมการ กต.ตร.บก.น.2

โคแฟคตรวจสอบกับ พล.ต.ต.อรรถพล ได้รับคำยืนยันว่า พญ.เกศกมล อยู่ในอนุกรรมการฯ กต.ตร.บก.น.2 จริง แต่ต้องยุติบทบาทในคณะอนุกรรมการฯ หลังจากมีตำแหน่งทางการเมือง เมื่อสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้ง พญ.เกศกมล พล.ต.ต.อรรถพลขอวางสายโดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจ

โคแฟคติดต่อไปยัง พญ.อัจจิมา ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานอนุกรรมการ กต.ตร.บก.น.2 เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ พญ. เกศกมล ในอนุกรรมการ กต.ตร.บก.น.2 แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ

● ที่ปรึกษาเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมาธิการติดตามการดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (คตร.)

พญ.เกศกมล โพสต์ อินสตาแกรมเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 ว่า “วันนี้ทำงานวันแรก กับตำแหน่ง ที่ปรึกษาเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ท่านอารี ไกรนรา ขอให้เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานนะคะ” หลังจากนั้นในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 2567 พญ.เกศกมลได้โพสต์ภาพและคลิปวิดีโอพร้อมคำบรรยายว่าเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการติดตามการดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (คตร.) ที่กระทรวงแรงงาน

โคแฟคตรวจสอบกับนายอารี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) นายอารียอมรับว่า พญ.เกศกมลเคยเป็นที่ปรึกษาของตนในช่วงสั้น ๆ ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนที่เธอจะสมัคร สว. เนื่องจาก “เป็นพรรคพวกของน้องในทีม” โดยนายอารีมอบหมายให้ช่วยงานใน คตร.

“ผมแต่งตั้งในนามส่วนตัว ไม่ได้แต่งตั้งเป็นทางการ ไม่มีค่าตอบแทนและไม่ได้ให้เขาทำอะไรเป็นกิจลักษณะ และผมก็ให้เขาออกไปแล้ว” นายอารีกล่าว

นายอารี ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ปัจจุบันสังกัดพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงสมัคร สว. ของ พญ.เกศกมลและไม่ได้ติดต่อพูดคุยมานานแล้ว

ข้อสรุปโคแฟค

  • พญ.เกศกมลเคยเป็นที่ปรึกษา กมธ.กฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 โดยความเห็นชอบของ กมธ. ซึ่งมีนายสิระ เจนจาคะ เป็นประธาน โดยดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2564 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 แต่การที่ พญ.เกศกมลให้ข้อมูลต่อสาธารณะโดยไม่ระบุช่วงเวลาดำรงตำแหน่งที่ชัดเจน อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ายังคงมีตำแหน่งใน กมธ.ชุดนี้
  • นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ประธาน กต.ตร.สน.ทุ่งสองห้อง ชุดปัจจุบัน ตั้ง พญ.เกศกมลเป็น “ที่ปรึกษา” กต.ตร.สน. เพื่อช่วยงานของประธาน แต่ในโพสต์ทางอินสตาแกรม เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2566 พญ.เกศกมลเขียนว่า “ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กต.ตร.สน.ทุ่งสองห้อง” ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าเป็น กต.ตร. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  • ผู้บังคับการ บก.น. 2 ระบุว่า พญ.เกศกมล อยู่ในอนุกรรมการ กต.ตร. บก.น.2 จริง แต่โคแฟคยังไม่สามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ว่าใครเป็นผู้แต่งตั้ง แต่งตั้งเมื่อไหร่และมีบทบาทหน้าที่อะไร
  • นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยอมรับว่าเคยแต่งตั้งให้ พญ.เกศกมลเป็นที่ปรึกษาของตนอย่างไม่เป็นทางการ จากการแนะนำของคนในทีมงาน แต่เป็นการทำงานในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่ได้รับค่าตอบแทน และไม่ได้มอบหมายภารกิจที่สำคัญ

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *