ประชาชน “สังเกตการณ์” เลือก สว. 2567 ได้หรือไม่

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน
เกือบหนึ่งเดือนเต็มนับตั้งแต่กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เริ่มต้นขึ้นหลังจากพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. มีผลบังคับใช้เมื่อ 11 พ.ค. 2567 หลายคนคงได้เห็นแล้วว่าการเลือก สว. ครั้งนี้เต็มไปด้วยความสับสน การเปลี่ยนแปลงระเบียบและแนวปฏิบัติ หนึ่งในนั้นคือเรื่องการเปิดให้ประชาชนทั่วไปสังเกตการณ์ ณ สถานที่เลือก สว.
ล่าสุดวันนี้ (7 มิ.ย. 2567) หรือเพียงสองวันก่อนการเลือก สว. ระดับจังหวัดจะมีขึ้นในวันที่ 9 มิ.ย. นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวยืนยันว่าเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำหนังสือขอเข้าสังเกตการณ์ รวมทั้งประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตการณ์การเลือก สว. ในบริเวณที่จัดเตรียมไว้ให้ได้
ขณะที่นายวีระ ยี่แพร รองเลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์โคแฟคในวันเดียวกันว่า ประชาชนสามารถเดินทางไปสังเกตการณ์การเลือก สว. ได้ แต่หากไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าไปก่อน จะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่เป็นราย ๆ ไป พร้อมกับยืนยันว่าจุดสังเกตการณ์จะมองเห็นทุกขั้นตอน
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือการเลือกตั้งท้องถิ่น การสังเกตการณ์ที่หน่วยเลือกตั้ง ตั้งแต่เปิดหีบจนถึงการนับคะแนนที่หน่วย เป็นภารกิจสำคัญบนหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการประชาธิปไตย สร้างความชอบธรรมให้กระบวนการเลือกตั้ง และยังช่วยป้องกันปัญหาการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นตามมา

แต่การเลือก สว. 2567 ไม่ใช่การ “เลือกตั้ง” หากเป็นการ “เลือกกันเอง” ของผู้สมัคร พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. สว.) มาตรา 37 จึงกำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่ผู้สมัครเข้าไปในสถานที่เลือก เว้นแต่จะเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกหรือผู้ซึ่งได้รับอนุญาต…” ขณะที่ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ก็ไม่ได้กำหนดวิธีการและขั้นตอนในการขออนุญาตสังเกตการณ์การเลือก สว. ไว้อย่างชัดเจน ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมที่เกาะติดการเลือก สว. ในนาม “Senate 67” นำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และเครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) ตีความว่า “กฎหมายไม่เปิดช่องให้ประชาชนทั่วไปเข้าสังเกตการณ์ได้ ยกเว้นต้องได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี” และเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ กกต. เปิดพื้นที่และส่งเสริมให้ประชาชนเข้าสังเกตการณ์การเลือก สว. ได้อย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ ในทุกกระบวนการและทุกพื้นที่
กกต. เคลื่อนไหวในโค้งสุดท้าย
ที่ผ่านมา กกต. ไม่เคยมีท่าทีชัดเจนต่อสาธารณะต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 3 มิ.ย. กกต. ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ว่าด้วยการกำหนดสถานที่เลือก สว. ระดับอำเภอและระดับจังหวัด มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ควรเป็นสถานที่ที่ประชาชนสามารถมองเห็นและสังเกตการณ์ในกระบวนการเลือกได้” และประชาชนสามารถ “ร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการเลือกระดับอำเภอ วันที่ 9 มิ.ย. 2567 และการเลือกระดับจังหวัด วันที่ 16 มิ.ย. 2567 ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกกำหนด”
ช่วงเวลาเดียวกัน เฟซบุ๊กสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดบางแห่ง เช่น อุดรธานี อำนาจเจริญ แพร่ ราชบุรี ได้เผยแพร่โปสเตอร์และข้อความเชิญชวนให้ประชาชนสังเกตการณ์การเลือก สว. โดยมีแบบฟอร์มออนไลน์ให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนล่วงหน้า บางแห่งรับจำนวนจำกัดเพราะข้อจำกัดด้านสถานที่
ต่อมาวันที่ 6 มิ.ย. เพจเฟซบุ๊กทางการของสำนักงาน กกต. ได้เผยแพร่ อินโฟกราฟิก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสังเกตการณ์การเลือก สว. มีข้อความว่า “ในการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา กกต. จะจัดให้มีการเลือกที่โปร่งใสในทุกขั้นตอน ประชาชนหรือสื่อมวลชนจะมีส่วนร่วมสังเกตการณ์ได้ดังนี้ (1) สังเกตการณ์การเลือก สว. ระดับต่าง ๆ บริเวณจุดที่ผู้อำนวยการการเลือกกำหนดไว้ด้านหน้าของสถานที่เลือก (2) สังเกตการณ์การลงคะแนนผ่านโทรทัศน์วงจรปิดที่เชื่อมสัญญาณจากระบบการบันทึกภาพและเสียงกระบวนการเลือก ณ บริเวณที่ผู้อำนวยการการเลือกได้จัดเตรียมไว้”

เลขา กกต. สรุปจบ “ประชาชนสังเกตการณ์ได้”
ในการแถลงข่าวเนื่องในวันครบรอบ 26 ปี วันสถาปนาสำนักงาน กกต. ในวันนี้ (7 มิ.ย.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ถือโอกาสชี้แจงประเด็นที่ยังมีความสับสนหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือก สว. รวมถึงเรื่องการสังเกตการณ์ของประชาชนด้วย
“สามารถสังเกตการณ์ได้” เลขา กกต. กล่าว “เราได้แจ้งไปยังสถานที่เลือกทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ให้เตรียมสถานที่สำหรับประชาชนและสื่อมวลชนสังเกตการณ์ สมมติว่าสถานที่เลือกอยู่ให้หอประชุม ก็จะจัดที่ไว้ให้ในนั้น สามารถดูการทำงานของเจ้าหน้าที่และผู้สมัครในนั้นได้ และ กกต. ได้มีหนังสือตอบกลับไปยังหน่วยงานและองค์กรอย่าง iLaw และ We Watch ที่ขอส่งคนเข้ามาสังเกตการณ์ เราก็ให้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร รวมทั้งประชาชนจะเข้าไปสังเกตการณ์ก็ได้”
ในส่วนของการเลือกระดับประเทศ ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 26 มิ.ย.ที่อิมแพค เมืองทองธานี นายแสวงกล่าวว่า กกต. ได้จัดเตรียมสถานที่ให้เอกชน ทูตานุทูต องค์กรภาคประสังคม และประชาชน เข้าสังเกตการณ์ได้หลายร้อยคน

นายวีระ ยี่แพร รองเลขาธิการ กกต. ซึ่งกำกับดูแลด้านการพัฒนาเครือข่ายการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์โคแฟคในรายละเอียดเกี่ยวกับการสังเกตการณ์การเลือก สว. สรุปข้อมูลได้ดังนี้
- กกต. มีมติเมื่อ 14 พ.ค. 2567 ให้ผู้อำนวยการเลือก สว. ระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ จัดบริเวณเพื่อให้ผู้สังเกตการณ์มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและสังเกตการณ์การเลือกได้อย่างใกล้ชิด โดยไม่กระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการการเลือก และไม่ขัดมาตรา 37 ของ พ.ร.ป. สว. จากนั้นได้แจ้งมตินี้ไปยังผู้อำนวยการการเลือกในทุกระดับเพื่อให้ดำเนินการ
- ประชาชนทั่วไปและอาสาสมัครขององค์กรภาคประชาสังคมที่ต้องการเข้าไปสังเกตการณ์จะต้องลงทะเบียนล่วงหน้าและเข้ารับการอบรมกับ กกต. แต่หากลงทะเบียนล่วงหน้าไม่ทัน ให้ขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์กับผู้อำนวยการการเลือก สว.
- นอกจากองค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วไปแล้ว ยังมีผู้สังเกตการณ์ที่เป็นตัวแทนจากภาคีเครือข่ายของ กกต. เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ร่วมสังเกตการณ์การเลือก สว. ด้วย
- หากพื้นที่สังเกตการณ์เต็ม ประชาชนที่สนใจสามารถสังเกตการณ์ได้จากโทรทัศน์ที่เชื่อมสัญญาณจากกล้องบันทึกภาพภายในสถานที่เลือก
- พื้นที่สังเกตการณ์ที่จัดเตรียมไว้ สามารถเห็นกระบวนการเลือก การนับคะแนน การขานบัตรดี-บัตรเสียได้อย่างชัดเจน
ปลดล็อก
สำหรับเครือข่ายภาคประชาชน Senate 67 ความเคลื่อนไหวของ กกต. ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกระดับอำเภอ นับได้ว่าเป็นการ “ปลดล็อก” ในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าบริเวณที่จัดให้สังเกตการณ์จะเป็นอย่างไร หรือจะได้เห็นอะไรบ้าง แต่เครือข่ายฯ ก็ถือว่าเป็นการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกระบวนการเลือก สว. มากขึ้น และได้เริ่มเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการสังเกตการณ์การเลือก สว. ณ สถานที่เลือกใดก็ได้ที่สะดวก พร้อมขอความร่วมมือให้ช่วยส่งรายงานการสังเกตการณ์เข้ามาในระบบของ We Watch ที่ https://forms.gle/fgKCfwvnYWiNK6N26

iLaw ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำจดหมายถึง กกต. ขอส่งตัวแทนเข้าสังเกตการณ์การเลือก สว. เปิดเผยด้วยว่า กกต. ได้ส่งหนังสือตอบกลับมาวันนี้ (7 มิ.ย.) ว่าได้แจ้งให้สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดจัดบริเวณเพื่อให้สามารถสังเกตการณ์การเลือกได้อย่างใกล้ชิด โดยไม่กระทบและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการเลือก และให้ iLaw ส่งรายชื่อผู้สังเกตการณ์ให้สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดล่วงหน้า
We Watch ส่งผู้สังเกตการณ์กว่า 200 คน เน้น “พื้นที่สีแดง”
วศิน พงษ์เก่า ผู้ประสานงาน We Watch ให้สัมภาษณ์โคแฟคว่า We Watch ได้ประสานกับ กกต. เรื่องการขอเข้าสังเกตการณ์การเลือก สว. มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่ง กกต. ได้ตอบรับแต่มีเงื่อนไขว่าผู้สังเกตการณ์จะต้องผ่านการอบรมกับ กกต. ก่อน ซึ่ง We Watch ได้ส่งรายชื่ออาสาสมัครจำนวน 234 คน ให้ กกต. แล้ว และบางส่วนผ่านการอบรมแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจุดสังเกตการณ์ในสถานที่เลือกแต่ละแห่งจะเป็นเช่นไร หรือจะได้เข้าสังเกตการณ์ครบทั้ง 234 คนที่ส่งรายชื่อไปหรือไม่
วศินเปิดเผยด้วยว่า We Watch ส่งผู้สังเกตการณ์มากที่สุดใน 5 จังหวัดที่จัดเป็น “พื้นที่สีแดง” ได้แก่ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ เพชรบุรี สตูล มุกดาหาร เนื่องจากวิเคราะห์ว่าเป็นพื้นที่น่าจับตาเนื่องจากมีจำนวนผู้สมัครเกินค่าเฉลี่ย และ/หรือ มีข่าวเรื่องการ “ฮั้ว” หรือ “จัดตั้งผู้สมัคร”