เปิดวงถก‘SDGs’เป้าหมายสู่โลกที่ดีขึ้น กับความท้าทายในการปฏิบัติและติดตามผลจนบรรลุ

กิจกรรม

21 ก.ย. 2567 มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (มูลนิธิ สกพ.) จัดเสวนา “Bangkok Dialogue City : SDGs เทคโนโลยี ธุรกิจ การศึกษา ศาสนาและสื่อ” ถ่ายทอดสดเผ่นเพจเฟซบุ๊ก “พระมหานภันต์ สกพ. – Ven.Napan IBHAP” และเพจ “มูลนิธิ สกพ. – IBHAP Foundation” โดยมี จณัญญา บารมีชัย ผู้อำนวยการสายปฏิบัติการ บริษัท ฟอร์เวิร์ด ฟรีแลนซ์ จำกัดเป็นผู้ดำเนินรายการ

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากมองโลกตามความเป็นจริง มักเกิดคำถามว่า เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน  (Sustainable Development Goals : SDGs)จะเป็นไปได้หรือ? แต่มนุษย์ก็ต้องมีความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลง มีปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น แต่ใช่ว่าเราจะสิ้นหวัง ทั้งนี้จากประสบการณ์ทำงานมา 3 ทศวรรษ ประเทศไทยมีกลไกกฎหมายต่างๆ รวมถึงมีจำนวนสื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ถึงกระนั้นสื่อก็ยังถูกตั้งคำถามว่าทำหน้าที่ได้ดีพอแล้วหรือยัง

หรืออย่างในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสถิติเผชิญกับการหลอกลวงของมิจฉาชีพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย จึงเป็นตัวชี้วัดว่าต้องมีอะไรที่ผิดปกติดังนั้นทางแก้ก็ต้องดูทั้ง 2 ทาง ด้านหนึ่งกลไกกฎหมายมีข้อบกพร่องหรือไม่ เช่น การแพร่หลายของเครื่องมือที่ใช้กระทำผิดอย่างบัญชีม้าหรือซิมบ็อกซ์ เป็น SDGs ในมุมกฎหมายที่ต้องแก้ไขกันต่อไป

แต่อีกด้านหนึ่งที่อาจหลงลืมไปในขณะพยายามผลักดันกลไกกฎหมาย คือมิติทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมทั้งสื่อ การศึกษา ศาสนาและจิตวิญญาณ หรือก็คือการยกระดับการเรียนรู้ของคนไปด้วย จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนภาคีโคแฟค เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในอีกรูปแบบหนึ่ง การคิดวิเคราะห์ การตั้งคำถาม เพื่อ 1.ให้เกิดการรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ กับ 2.ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ได้อย่างมีสันติสุขในใจมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า คนแต่ละกลุ่มจะมีความทุกข์จากการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์แตกต่างกันไป เช่น หากเป็นผู้สูงอายุอาจมีปัญหาถูกหลอกลวงกันมาก ส่วนคนวัยทำงานเจอปัญหาการซื้อสินค้าประเภทได้ของไม่ตรงปก ซึ่งแต่ละปีมีการสูญเสียเม็ดเงินในส่วนนี้เป็นจำนวนมาก ขณะที่เด็กและเยาวชนจะมีปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง คือภาวะซึมเศร้า การถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) จึงรู้สึกว่าหากมาทำเรื่องการส่งเสริมความเข้าอกเข้าใจกันในโลกออนไลน์ ลดถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ซึ่งรวมไปถึงระดับโลกที่ยังอาจมีความไม่เข้าใจกัน ยังมีความเกลียดชังจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ-ศาสนา ต้องทำอย่างไรในการรับมือ

จากความพยายามที่ผ่านมา ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงตัวชี้วัดเรื่องการไปสู่สันติภาพ เพราะในโลกจริงยังมีสงครามมีการสู้รบกันอยู่ พอเข้ามาในโลกออนไลน์ก็มีแต่ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง คำถามคือเราจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ทางออกจึงอยู่ทั้ง 2 ด้าน นโยบาย กฎหมาย จนถึงหน้าที่ของแพลตฟอร์มก็ต้องดูแลกันต่อไปว่าต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง แต่ปัจเจกบุคคลก็ต้องช่วยกันสร้างระบบนิเวศของสื่อให้น่าอยู่มากขึ้น

ทั้งนี้ ในรายงาน Global Risk ความเสี่ยงของโลกยุคใหม่ ในเวที World Economic Forum ปี 2567 อันดับ 1 คือเรื่อง Mis & Disinformation (ข้อมูลบิดเบือน-คลาดเคลื่อน) หรือคนถูกหลอกจากข้อมูลลวงในโลกออนไลน์ ยิ่งทำให้กลับมาให้ความสำคัญกับงานของโคแฟคมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทำงานได้โดดเดี่ยวเพราะจะไปไม่ถึงไหน จึงต้องร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งด้านสื่อ ศาสนา การศึกษาและสังคม เพื่อแสวงหาปัญญารวมหมู่ในการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา

อันดับ 1 คือข้อมูลลวง รองลงมาคือเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Changeและมีอีกเรื่องที่น่าสนใจ เป็นอันดับต้นๆ เหมือนกัน คือ สังคมแบ่งขั้ว (Social Polarization) คือการแบ่งแยกแตกขั้วของคนในสังคม จึงเป็นที่มาของวงที่เราจัดในวันนี้ คือ Bangkok Dialogue City หรือ การเชื่อมต่อ (Interface หรือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน  (Intercultural จะกลายเป็นงานสำคัญที่จะรับมือกับ Global Risk หรือภัยคุกคามของโลกในยุคนี้ สุภิญญา กล่าว

สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Toolmorrow กล่าวว่า ระยะเวลาประมาณ 10 ปี ของ Toolmorrow ช่วงแรกๆ เป็นการสร้างความตระหนักในเรื่องความเชื่อหรือความเข้าใจต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาของการศึกษา เยาวชนและครอบครัว เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็เริ่มมีคำถามว่า ทำอย่างไรจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ กระทั่งได้มาทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งตั้งปลายทางไว้ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ครอบครัวอบอุ่นมีความสุขมากขึ้น จึงเริ่มไปหาโปรแกรมออกแบบกันในโลกออนไลน์

เมื่อ Toolmorrow ทำงานร่วมกับ สสส. ในชื่อโครงการ คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน พบว่ามียอดการรับชมถึง 10 ล้านครั้ง มีผู้สนใจสมัครเข้ามาในระบบการเรียนรู้ได้ถึงหลักหมื่นคน เกินเป้าจากที่ตั้งไว้ตอนแรกว่าจะมีผู้สนใจเพียงหลักพันคน แต่ความสำคัญคือคนที่เรียนรู้แล้วยังสามารถกลายเป็นคนสอนต่อไปได้ด้วย และเมื่อเห็นว่าโครงการนี้เป็นต้นแบบที่ดี จึงพยายามสร้างขึ้นมาและกระจายกันใหม่ 

ปัจจุบัน Toolmorrow เปลี่ยนคำขวัญจากแต่ก่อนจะเน้นไปในทางทำลายความเชื่อผิดๆ เป็นจากคนดูสู่ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง (Turn Viewer to Change Maker) คือคาดหวังมากกว่าการรับรู้ แต่อยากให้มาลงมือทำอะไรบางอย่าง โดย Toolmorrow มีระบบ Learning Management System (LMS – ระบบจัดการการเรียนรู้) ร่วมกับ สสส. ผลิตแพลตฟอร์ม “Share & Care” ขึ้นมาให้องค์กรทางสังคมได้เช่าใช้ และสร้างเครือข่ายเพิ่มขึ้น จากประเด็นครอบครัวขยายสู่เรื่องการเงิน สุขภาพ ฯลฯ 

ปัญหาที่เจอขององค์กรภาคสังคม คือเวลาสร้างการตระหนักรู้แล้วก็ทำการอบรม ในเชิงพื้นที่ส่วนใหญ่เราจะติดตามลำบากเพราะว่าจะเป็นการอบรมครั้งเดียวแล้วจบ แต่ถ้าเกิดสามารถปรับกระบวนการให้อยู่ในระบบแล้วสามารถติดตามผลได้ หรือสามารถวิเคราะห์ว่าใครจะมีศักยภาพขึ้นมาเป็น Change Maker ได้ เพื่อพัฒนาเขาต่อ จะทำให้คนไม่หายไปจากการอบรม ซึ่งเราลองระบบแบบนี้แล้วพยายามจะทำงานนี้ขึ้นมา ฉะนั้นถามว่า Toolmorrow ทำงานอะไรที่เกี่ยวข้องกับ SDGs บ้าง? ก็คือเรื่องของการศึกษา แล้วเราให้ความรู้เพื่อให้ Well-being (คุณภาพชีวิต) เขาดีขึ้น สุรเสกข์กล่าว

ดร.ณัฐวุฒิ สุขโสมนัส ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) ทำการศึกษาเกี่ยวกับ SDGs โดยสอบถามภาคธุรกิจทั่วโลกว่า 1.รู้จัก SDGs หรือรู้จักคำว่าความยั่งยืน (Sustainability) หรือไม่? พบว่ามีที่รู้ประมาณร้อยละ 60-65 แต่เมื่อถามต่อไปว่า2.ได้กำหนด SDGs เป็นนโยบายขององค์กรหรือไม่? พบว่ามีที่กำหนดอยู่ราวร้อยละ 40 จากนั้น 3.ได้ลงมือทำตามแนวทางของ SDGs หรือไม่? พบว่ามีเพียงร้อยละ 10-15 ขององค์กรทั่วโลกเท่านั้นที่ลงมือทำ

และสุดท้ายถามว่า 4.ลงมือทำแล้วได้ติดตามผลและประกาศต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องหรือไม่? ซึ่งมีองค์กรธุรกิจทั่วโลกเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้นที่ดำเนินการมาถึงขั้นนี้ แม้ภาคธุรกิจต้องทำรายงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Report) แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีกฎตายตัวชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่องค์กรหรือบริษัทดำเนินการจึงเป็นเพียงการบอกว่าได้ไปทำอะไรมาเท่านั้น เช่น บริษัทแห่งหนึ่งทำ CSR เรื่องปลูกป่าทุกปี ก็มีคำถามขึ้นมาว่าเหตุใดบริษัทนี้ต้องปลูกป่าที่เดิมติดต่อกันหลายปีแล้ว ซึ่งก็จะเป็นอย่างที่ทราบกันคือมาถ่ายรูปแล้วก็กลับ แต่ไม่มีใครไปดูหลังจากนั้นว่าแล้วเกิดอะไรขึ้นกับป่าที่ปลูกบ้าง 1 ปีผ่านไปต้นไม้ตายไปเท่าไร? จะแก้ปัญหาอย่างไร? จึงเป็นเพียงการทำซ้ำไปเรื่อยๆ และหากยังเป็นกันแบบนี้ ไม่ต้องคิดถึง 6-7 ปีข้างหน้า เพราะต่อให้ผ่านไปอีก 10 ปีก็แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่มีทางไปถึงเป้าหมาย

สมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย เครื่องมือที่เราใช้วัดในการประเมิน เราเรียกว่า SROI (Social return on investment –  ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนซึ่งเป็นเครื่องมือสากล เขาทำมา 20-30 ปีแล้ว ต้นกำเนิอยู่ที่อังกฤษ แล้วตอนนี้มีหลายสิบประเทศทั่วโลกที่ใช้เครื่องมือนี้อยู่ ก็สามารถใช้ประเมินได้เพราะเป็นหลักการที่เขาคิดกันขึ้นมาดร.ณัฐวุฒิ กล่าว

พระมหานภันต์ สันติภัทโท ประธานกรรมการมูลนิธิ สกพ. และผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2558 ตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายไว้ที่ปี 2573 ดังนั้นปัจจุบันถือว่ามาเกินครึ่งทาง เหลืออีก 6 ปีที่จะต้องบรรลุ อย่างไรก็ตาม ข่าวล่าสุดเหมือนจะมีผลวิจัยออกมาว่าสำเร็จไปเพียงร้อยละ 16 ของเป้าหมายทั้งหมด

ในประเด็นเกี่ยวกับสื่อ สิ่งที่คงจะเห็นตรงกันคือสื่อเป็นผู้คัดกรอง (Gatekeeper) กำหนดเรื่องราวที่จะนำเสนอ (Agenda) แต่โลกยุคปัจจุบันที่ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยี บางครั้งกลับกลายเป็นปัจเจกบุคคลที่เป็นผู้กำหนดเรื่องราวที่จะนำเสนอแล้วสื่อก็มานำไปขยายความต่อ ในมุมนี้อาจยังไม่มีข้อสรุป แต่อยากให้เห็นว่าทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมกับ SDGs ได้ และแม้การวัดของ SDGs เหมือนจะยาก แต่การวัดก็ทำให้รู้สถานการณ์ปัจจุบันว่าเราอยู่ตรงไหน และรู้ว่าเป้าหมายจะไปถึงอะไร 

เรื่องข่าวลวงมีอยู่ในหลายๆ มิติ เช่น เป้าหมายที่ 16  สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง(Peace, Justice and Strong Institutions) จะมีตัวชี้วัดที่สำคัญ ขณะที่การทำงานของทั้งภาคีโคแฟคและ Toolmorrow พบคำสำคัญคือ ความร่วมมือ (Collaborative)” ที่อาจใช้เป็นวลีว่า “Collab before Collapse” หมายถึงควรจะร่วมมือกันก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลายลง ทั้งนี้ SDGs เป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคน เช่น เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education) , เป้าหมายที่ 6 มีน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี (Clean Water and Sanitation) 

โดยให้ลองนึกภาพว่าหลายพื้นที่ยังมีคนที่เข้าไม่ถึงโอกาสที่จะมีสิ่งเหล่านี้ ซึ่ง SDGs มีขึ้นมาเพื่อให้ทั้งโลกช่วยทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ส่วนคำถามที่ ดร.ณัฐวุฒิ ยกตัวอย่างมาก็น่าสนใจ เพราะก่อนจะมี SDGs ก็เริ่มมองเห็นแล้วว่าการพัฒนาแบบเดิมๆ เน้นแต่ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทำให้สิ่งแวดล้อมและสังคมเสื่อมโทรม แต่เมื่อพยายามจะเปลี่ยนก็ยังไม่มีการวัดเป็นรูปธรรม

กระทั่งในปี 2558 จึงเป็น SDGs ขึ้นมา อย่างน้อยก็เพื่อสร้างความตระหนักว่าจะวัดผลอย่างไร ซึ่ง SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย แต่ละเป้าหมายมีตัวชี้วัดที่ค่อนข้างละเอียดพอสมควร แต่ก็ถือเป็นความท้าทาย เช่น มูลนิธิ สกพ. ทำเรื่องความร่วมมือกันเพื่อเป้าหมาย (Partnerships for the Goals – เป้าหมายที่ 17) ไปชวนใครต่อใครมาร่วมมือกัน แต่การสร้างการเปลี่ยนแปลงกับคนไม่ได้มีการติดตาม หรือแม้แต่เมื่อจะติดตามก็แล้วตัวชี้วัดที่ถูกต้องควรเป็นแบบใด

“Social return on investment ชวนว่าในโครงการพัฒนาที่เราคิดทำกันตามปกติ ยกตัวอย่างสมมติว่าเราจะลดการใช้พลาสติก ทำเรื่องของการจัดการขยะ รีไซเคิลขยะ แต่บางทีหากเรามองแต่ภาพของการรีไซเคิลพลาสติก แต่ไม่ได้คิดถึงว่ามีคนที่เป็นกลุ่มเปราะบางกลุ่มหนึ่งที่เขาอาศัยเก็บขวดพลาสติกเลี้ยงชีพ ฉะนั้นเวลาทำโครงการก็ต้องนึกถึง Stakeholders (ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย) เหล่านี้ด้วย แล้วทำอย่างไรที่ไม่ใช่เราจัดการสิ่งแวดล้อม แต่ว่าเราทำให้คนกลุ่มหนึ่งลำบากกว่าเดิม และทำให้ความลำบากนั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทำบางอย่างที่ไม่ดี เพราะไนเมื่อหากินลำบากอาจเป็นมิจฉาชีพไปเลย สามารถเกิดขึ้นได้ พระมหานภันต์กล่าว

สำหรับ SDGs (Sustainable Development Goals) หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดขึ้นจากมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2558 เพื่อให้ประเทศต่างๆ นำไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จภายในปี 2573 โดยมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ประกอบด้วย 1.ขจัดความยากจน (No Poverty) 2.ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) 3.สุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี (Good Health and Well-being) 4.การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education) 5.ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)6.มีน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี (Clean Water and Sanitation) 7.พลังงานสะอาดในราคาที่เข้าถึงได้ (Affordable and clean energy)8.งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี(Decent Work and Economic Growth)9.อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure) 10.ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities) 11. เมืองและชุมชนยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) 12.การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production) 13.การปฏิบัติการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) 14.การใช้ทรัพยากรในมหาสมุทรอย่างยั่งยืน (Life Below Water) 15.การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน (Life on land) 16.สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง (Peace, Justice and Strong Institutions) และ 17.ความร่วมมือกันเพื่อเป้าหมาย (Partnerships for the Goals)

หมายเหตุ : สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/tiknapan/videos/887643456124118/

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-